ผลการประชุมรัฐมนตรีหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ ครั้งที่ 1

ข่าวการเมือง Tuesday March 2, 2021 18:21 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐอเมริกา (สหรัฐฯ) ครั้งที่ 1 และพิจารณามอบหมายส่วนราชการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

1. ที่ประชุมได้รับรองถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ (ถ้อยแถลงร่วมฯ) ซึ่ง มีสาระสำคัญไม่แตกต่างจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2563 อย่างไรก็ตาม มีการเพิ่มประเด็น ดังนี้

1.1 การขยายสาขาความร่วมมือด้านการบริหารจัดการน้ำและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนให้รวมถึงการอนุรักษ์และปกป้องสิ่งแวดล้อม และด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้รวมถึงการศึกษาและ การส่งเสริมบทบาทสตรี

1.2 การแสดงความยินดีต่อถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีญี่ปุ่น-สหรัฐฯ ว่าด้วยหุ้นส่วนพลังงานลุ่มน้ำโขง ญี่ปุ่น-สหรัฐฯ ค.ศ. 2020 ซึ่งทั้งสองประเทศได้รับรองเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2563

1.3 การยืนยันจำนวนเงิน 153.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่สหรัฐฯ ประกาศสำหรับ การดำเนินกิจกรรมและโครงการเพื่อประโยชน์ร่วมกันในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยเน้นด้านการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ ความร่วมมือด้านพลังงาน และโครงสร้างพื้นฐาน

ทั้งนี้ ถ้อยแถลงร่วมฯ มีเอกสารผนวก 2 ฉบับ ได้แก่ (1) เอกสารแนวคิดการจัดตั้งหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ ซึ่งระบุภาพรวมความคืบหน้าของการดำเนินการภายใต้ข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่างในช่วงที่ผ่านมา และเหตุผล หลักการความร่วมมือ วัตถุประสงค์สาขาความร่วมมือหลัก และโครงสร้าง/กลไกการประชุมระดับต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือภายใต้หุ้นส่วนลุ่มน้ำโขงสหรัฐฯ ในระยะต่อไป และ (2) ถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีญี่ปุ่น-สหรัฐฯ เรื่องหุ้นส่วนพลังงานลุ่มน้ำโขง ญี่ปุ่น-สหรัฐฯ ซึ่งแสดงเจตนารมณ์ที่จะทำให้ตลาดพลังงานในอนุภูมิภาค มีความเชื่อมโยงและยั่งยืนมากขึ้น รวมทั้งจัดทำแผนปฏิบัติการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี

2. สาระสำคัญของถ้อยแถลงของผู้แทนประเทศต่าง ๆ

สหรัฐฯ ยินดีต่อการยกระดับความร่วมมือหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมบทบาทและเชิดชูอธิปไตยและหลักนิติธรรมของประเทศสมาชิก และจัดการกับความท้าทายต่าง ๆ ปัญหาภัยแล้งและ การบริหารจัดการน้ำ โดยที่สาธารณรัฐประชาชนจีนได้สร้างเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำ ซึ่งส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหาร น้ำ และพลังงานของประเทศลุ่มน้ำโขง ดังนั้น สหรัฐฯ จึงสนับสนุนคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงในเรื่องความร่วมมือ เพื่อแบ่งปันข้อมูลน้ำและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับน้ำ การสอดประสานความร่วมมือ สหรัฐฯ สนับสนุนกรอบความร่วมมือที่ประเทศลุ่มน้ำโขงมีบทบาทนำ เช่น ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง และพร้อมร่วมมือกับหุ้นส่วนการพัฒนาอื่น ๆ ของอนุภูมิภาค เช่น ญี่ปุ่น สาธารณรัฐอิตาลี สาธารณรัฐอินเดีย และสาธารณรัฐเกาหลี

ประเทศสมาชิกอื่น ๆ ขอบคุณสหรัฐฯ ที่ให้การสนับสนุนอนุภูมิภาคมาโดยตลอด รวมทั้งใน การรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ยินดีต่อการยกระดับความร่วมมือระหว่างลุ่มแม่น้ำโขงและสหรัฐฯ โดยมีความเห็นเพิ่มเติม เช่น (1) ควรต่อยอดความสำเร็จของกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ ซึ่งตอบสนองความต้องการของประเทศในอนุภูมิภาค (2) ควรจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนแนวทางความร่วมมือภายใต้หุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ และจัดตั้งกลไกทางการเงินเพื่อสนับสนุนโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ อย่างชัดเจน และ (3) ควรให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านสาธารณสุขและการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจเป็นอันดับแรก

เลขาธิการอาเซียน ยินดีที่ความร่วมมือ 4 สาขาภายใต้หุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ ได้แก่ (1) ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ (2) การบริหารจัดการน้ำและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และการอนุรักษ์และปกป้องสิ่งแวดล้อม (3) ความมั่นคงรูปแบบใหม่ และ (4) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เกื้อหนุนแผนงานประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 และแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน รวมทั้งเห็นว่าหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ จะสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนในยุคหลังโควิด-19 - เสนอให้ร่วมมือกันส่งเสริมห่วงโซ่อุปทาน ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศและส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน

3. ประเด็นที่ประเทศไทยให้ความสำคัญ เช่นความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจส่งเสริมความเชื่อมโยงในทุกมิติ การสอดประสานกันด้านกฎระเบียบ และการใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุน พลังงาน สนับสนุนการดำเนินการภายใต้หุ้นส่วนพลังงานลุ่มน้ำโขง ญี่ปุ่น-สหรัฐฯ เพื่อส่งเสริมการบูรณาการด้านพลังงานและการพัฒนาตลาดพลังงานในอนุภูมิภาคอย่างยั่งยืน โดยยินดีร่วมมือกับสหรัฐฯ เพื่อส่งเสริมการกระจายแหล่งพลังงานและประเภทพลังงานให้มีความหลากหลาย เหมาะสม และยั่งยืน รวมถึงการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนความมั่นคงรูปแบบใหม่ เน้นการดำเนินงานด้านสาธารณสุข โดยเห็นว่า สหรัฐฯ มีความพร้อมที่จะส่งเสริมความแข็งแกร่งของอนุภูมิภาคในการรับมือกับโควิด-19 และโรคระบาดอุบัติใหม่ ทั้งนี้ ไทยพร้อมที่จะแบ่งปันประสบการณ์และแนวปฏิบัติเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อาสาสมัครหมู่บ้าน และร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการเสริมสร้างขีดความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาวัคซีนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ควร เร่งพัฒนาให้อนุภูมิภาคสามารถปรับตัวสู่ภาวะปกติใหม่และปกติต่อไป เช่น นวัตกรรม เศรษฐกิจดิจิทัล และการเรียนแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นสาขาที่สหรัฐฯ มีความเชี่ยวชาญและสามารถร่วมมือกับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอื่น ๆ ยินดีต่อการยกระดับความร่วมมือหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ ยินดีต่อข้อเสนอของสหรัฐฯ ที่จะส่งเสริมบทบาทของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงและธรรมาภิบาลด้านการบริหารจัดการและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ย้ำความสำคัญของการสอดประสานกับกรอบความร่วมมืออื่น ๆ ที่ประเทศสมาชิกหลายประเทศเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา

ทั้งนี้ การดำเนินการตามถ้อยแถลงร่วมฯ สอดคล้องกับนโยบายการต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทยในการส่งเสริมและกระชับความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ผ่านการดำเนินกิจกรรมและโครงการด้านต่าง ๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ความเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และการลดความเหลื่อมล้ำทางการพัฒนา จึงมีประเด็นมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 มีนาคม 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ