ขอเพิ่มวงเงินงบประมาณโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 และโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2563/64

ข่าวการเมือง Tuesday March 9, 2021 18:57 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ดังนี้

1. การปรับเพิ่มวงเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 จากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2563 จำนวน 46,807.35 ล้านบาทโดยขอเพิ่มเติมอีก จำนวน 3,838.92 ล้านบาท เป็น 50,646.27 ล้านบาท จำแนกเป็น

วงเงิน (ล้านบาท)

วงเงินเดิม

1. ค่าดำเนินการชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาประกันกับราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง โดยใช้แหล่งเงินทุนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)45,754.98

2. ค่าใช้จ่ายในการชดเชยต้นทุนเงิน ธ.ก.ส. (อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนของ ธ.ก.ส. + 1 เท่ากับร้อยละ 2.20)1,029.49

3. ค่าบริหารจัดการ ธ.ก.ส. (รายละ 5 บาท)22.88

รวม46,807.35

ขอเพิ่มเติม

1. ค่าดำเนินการชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาประกันกับราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง โดยใช้แหล่งเงินทุนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)3,754.83

2. ค่าใช้จ่ายในการชดเชยต้นทุนเงิน ธ.ก.ส. (อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนของ ธ.ก.ส. + 1 เท่ากับร้อยละ 2.20)82.60

3. ค่าบริหารจัดการ ธ.ก.ส. (รายละ 5 บาท)1.49

รวม3,838.92

รวม

1. ค่าดำเนินการชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาประกันกับราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง โดยใช้แหล่งเงินทุนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)49,509.81

2. ค่าใช้จ่ายในการชดเชยต้นทุนเงิน ธ.ก.ส. (อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนของ ธ.ก.ส. + 1เท่ากับร้อยละ 2.20)1,112.09

3. ค่าบริหารจัดการ ธ.ก.ส. (รายละ 5 บาท)24.37

รวม50,646.27

2. การขยายปริมาณข้าวเปลือก วงเงินงบประมาณ และระยะเวลาดำเนินโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2563/64 จากที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ปริมาณ 1.50 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินงบประมาณ 19,826.76 ล้านบาท เพิ่มเติมอีก 0.32 ล้านตันข้าวเปลือก เป็น 1.82 ล้านตันข้าวเปลือก และงบประมาณเพิ่มเติมอีก จำนวน 4,504.27 ล้านบาท เป็น 24,331.03 ล้านบาท จำแนกงบประมาณเพิ่มเติมได้ ดังนี้

วงเงิน (ล้านบาท)

วงเงินเดิม

1. วงเงินสินเชื่อ โดยใช้แหล่งเงินทุนของ ธ.ก.ส. 15,284.00

2. วงเงินจ่ายขาด 4,542.76

2.1 ค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าว 2,250.00

2.2 ค่าใช้จ่ายในการชดเชยต้นทุนเงิน ธ.ก.ส. (อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน ของ ธ.ก.ส. + 1 เท่ากับร้อยละ 2.20) 394.52

2.3 ค่าบริหารโครงการฯ ธ.ก.ส. 152.84

2.4 ค่าใช้จ่ายกรณีที่มีการระบาย ได้แก่ ค่าขนย้ายข้าวเปลือก ต้นทุนเงินค่าขนย้ายข้าว และส่วนต่างภาระขาดทุนจากการระบายข้าว 1,745.40

รวม 19,826.76

ขอเพิ่มเติม

1. วงเงินสินเชื่อ โดยใช้แหล่งเงินทุนของ ธ.ก.ส. 3,500.50

2. วงเงินจ่ายขาด 1,003.77

2.1 ค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าว 480

2.2 ค่าใช้จ่ายในการชดเชยต้นทุนเงิน ธ.ก.ส. (อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน ของ ธ.ก.ส. + 1 เท่ากับร้อยละ 2.20) 88.67

2.3 ค่าบริหารโครงการฯ ธ.ก.ส. 35.01

2.4 ค่าใช้จ่ายกรณีที่มีการระบาย ได้แก่ ค่าขนย้ายข้าวเปลือก ต้นทุนเงินค่าขนย้ายข้าว และส่วนต่างภาระขาดทุนจากการระบายข้าว 400.09

รวม 4,504.27

รวม

1. วงเงินสินเชื่อ โดยใช้แหล่งเงินทุนของ ธ.ก.ส. 18,784.50

2. วงเงินจ่ายขาด 5,546.53

2.1 ค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าว 2,730.00

2.2 ค่าใช้จ่ายในการชดเชยต้นทุนเงิน ธ.ก.ส. (อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน ของ ธ.ก.ส. + 1 เท่ากับร้อยละ 2.20) 483.19

2.3 ค่าบริหารโครงการฯ ธ.ก.ส. 187.85

2.4 ค่าใช้จ่ายกรณีที่มีการระบาย ได้แก่ ค่าขนย้ายข้าวเปลือก ต้นทุนเงินค่าขนย้ายข้าว และส่วนต่างภาระขาดทุนจากการระบายข้าว 2,145.49

รวม 24,331.03

และขยายระยะเวลาจัดทำสัญญากู้โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2563/64 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564 (ภาคใต้ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2564)

ทั้งนี้ ให้ ธ.ก.ส. ทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ (สงป.) และขอจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และปีถัด ๆ ไป

สาระสำคัญของเรื่อง

พณ. รายงานว่า
1. คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ในการประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 มีมติ ดังนี้

1.1 โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 รอบที่ 1

1.1.1 รับทราบตามที่กรมส่งเสริมการเกษตรรายงานข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 มีจำนวนทั้งสิ้น 4,686,319 ครัวเรือน เนื้อที่ปลูก 62,113,037 ไร่ มากกว่าที่นำเสนอ นบข. เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 และคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2563 ซึ่งมีจำนวน 4,576,586 ครัวเรือน เนื้อที่ปลูก 56,063,350 ไร่ (มากกว่าประมาณการเดิม 0.11 ล้านครัวเรือน พื้นที่ปลูก 6.05 ล้านไร่) เนื่องจากข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ระบบทะเบียนเกษตรกรจะปิดระบบบันทึกข้อมูล และระบบบันทึกผลการตรวจสอบข้อมูล สำหรับภาคอื่น ๆ จนถึงวันที่ 15 มกราคม 2564 และสำหรับภาคใต้จนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2564 และยังมีช่วงระยะเวลาสำหรับตรวจสอบความซ้ำซ้อนของแปลงปลูกข้าวทั้งที่ดินที่มีเอกสารสิทธิและไม่มีเอกสารสิทธิ จนได้ข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนในภาคอื่น ๆ จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2564 และสำหรับภาคใต้จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ซึ่งเมื่อตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นแล้วกรมส่งเสริมการเกษตรจึงจะรายงานความคืบหน้าผลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในแต่ละงวดให้คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว เพื่อรับทราบความคืบหน้าการดำเนินการ และจัดส่งให้ ธ.ก.ส. เพื่อจ่ายเงินชดเชยต่อไป ทั้งนี้ เนื่องจากภาวะฝนแล้งในช่วงต้นฤดูเพาะปลูก ทำให้เกษตรกรเริ่มเพาะปลูกล่าช้า (ในช่วงสิ้นเดือนธันวาคม 2563) กรมส่งเสริมการเกษตรจึงยังไม่สามารถยืนยันตัวเลขเพาะปลูกที่แท้จริงได้

1.1.2 รับทราบตามที่คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ได้มีมติเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564เห็นชอบตามที่กรมส่งเสริมการเกษตรเสนอให้ขยายระยะเวลาการขึ้นทะเบียนเพาะปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 จากเดิมภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นถึงวันที่ 15 มีนาคม 2564 ของเกษตรกรในพื้นที่อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมขัง ไม่สามารถเพาะปลูกข้าวได้ และคาดการณ์ว่าจะไม่สามารถขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวกับกรมส่งเสริมการเกษตรได้ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ตามกรอบระยะเวลาการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2563/64 ของกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 590 ครัวเรือน เนื้อที่ปลูก 7,850 ไร่

1.1.3 เห็นชอบการปรับเพิ่มกรอบวงเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 จากที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2563จำนวน 46,807.35 ล้านบาท เพิ่มเติมอีก จำนวน 3,838.92 ล้านบาท เป็น 50,646.27 ล้านบาท

1.2 โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2563/64

1.2.1 รับทราบผลการดำเนินโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2563/64 ณ วันที่ 25 มกราคม 2564 ธ.ก.ส. จ่ายสินเชื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 210,488 ราย สินเชื่อจำนวน 10,449.67 ล้านบาท ปริมาณข้าวเปลือกจำนวน 1.04 ล้านตัน คงเหลือวงเงินสินเชื่อจำนวน 4,834.33 ล้านบาท ปริมาณข้าวเปลือกจำนวน 0.46 ล้านตัน และ ธ.ก.ส. สาขาในพื้นที่รายงานข้าวเปลือกรอเข้าร่วมโครงการฯ คงเหลือจำนวนประมาณ 0.78 ล้านตัน (เกินจากจำนวนที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ 0.32 ล้านตัน)

1.2.2 เห็นชอบการขยายเป้าหมายโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2563/64 จากที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563ปริมาณ 1.50 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินงบประมาณ 19,826.76 ล้านบาท เพิ่มเติมอีก 0.32 ล้านตันข้าวเปลือก เป็น 1.82 ล้านตันข้าวเปลือก และงบประมาณเพิ่มเติมอีก จำนวน 4,504.27 ล้านบาท (แบ่งเป็นวงเงินสินเชื่อ 3,500.50 ล้านบาท และวงเงินจ่ายขาด 1,003.77 ล้านบาท) เป็น 24,331.03 ล้านบาท

1.2.3 เห็นชอบการขอขยายระยะเวลาจัดทำสัญญากู้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564 (ภาคใต้ ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2564) โดยให้ ธ.ก.ส. ขอจัดสรรวงเงินจากงบประมาณปี 2565 และปีถัด ๆ ไป

1.3 มอบหมาย ธ.ก.ส. และ พณ. จัดทำรายละเอียดโครงการฯ ตามข้อ 1.1 และ 1.2 และงบประมาณให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และให้ พณ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ นบข. นำเสนอคณะรัฐมนตรีตามระเบียบต่อไป ทั้งนี้ ให้ ธ.ก.ส. ทำความตกลงกับ สงป. และขอจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565และปีถัด ๆ ไป

1.4 ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ดังนี้

1.4.1 มอบหมายสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สงป. กระทรวงการคลัง (กค.) พิจารณาร่วมกับ พณ. กษ. กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมปฏิรูปการขับเคลื่อนภาคการเกษตร เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน ลดภาระงบประมาณรัฐบาลในการช่วยเหลือเกษตรกรต่อไปในอนาคต

1.4.2 มอบหมาย กค. ร่วมกับ พณ. และ กษ. พิจารณาภาระงบประมาณการช่วยเหลือเกษตรกร เนื่องจากงบประมาณดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี เพื่อให้การใช้งบประมาณมีความเหมาะสม มีประสิทธิภาพ ไม่ซ้ำซ้อน และประเมินผลการดำเนินโครงการด้วย

1.4.3 มอบหมายฝ่ายเลขานุการ นบข. จัดทำข้อมูลสถานการณ์ข้าวไทยเพิ่มเติม ได้แก่ การบริโภค การค้าและสต๊อกปลายปี เช่นเดียวกับสถานการณ์ข้าวโลกรวมทั้งข้อมูลข้าวตลาดเฉพาะ เช่น ข้าวอินทรีย์ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาแนวทางในการเพาะปลูกข้าวที่เหมาะสมตรงตามความต้องการของตลาดและสร้างการรับรู้สถานการณ์ตลาดข้าวให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้รับทราบและขับเคลื่อนการผลิตข้าวให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

1.4.4 มอบหมายกรมส่งเสริมการเกษตร กษ. ติดตามสถานการณ์การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่เพิ่มขึ้นจากเป้าหมายทุกปี โดยวิเคราะห์ถึงพื้นที่เพาะปลูกข้าวแต่ละชนิด รวมทั้งจัดระบบการตรวจสอบกำกับดูแลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรให้มีความรัดกุม เพื่อให้การบริหารจัดการงบประมาณมีประสิทธิภาพสูงสุด

1.4.5 มอบหมาย พณ. ร่วมกับ กษ. จัดประชุมสัมมนาหน่วยงานในส่วนภูมิภาค เพื่อสร้างการรับรู้การดำเนินนโยบายของรัฐบาลของหน่วยงานราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน รับรู้แนวทางการปฏิบัติงานของรัฐบาล ข้อมูลการดำเนินงานในระดับพื้นที่ที่รัฐบาลต้องการ รวมทั้งประสานความร่วมมือในการทำงานสะท้อนภาพรวมจากพื้นที่ถึงระดับนโยบาย

1.4.6 มอบหมาย กษ. พณ. ร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย สมาคมโรงสีข้าวไทย ร่วมกันจัดทำตารางประสานสอดคล้องกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อการดำเนินการ บูรณาการร่วมกันของหน่วยงานต่าง ๆ ตามยุทธศาสตร์ ได้แก่ (1) การลดพื้นที่เพาะปลูก โดยใช้ความเหมาะสมของพื้นที่ (2) การลดต้นทุนการผลิต (3) การบริหารจัดการแหล่งน้ำให้มีความสัมพันธ์กับ Agri Map และ (4) การตลาดต่างประเทศและในประเทศ

1.4.7 มอบหมาย พณ. นำโมเดลเศรษฐกิจ Bio Circular Green (BCG) มาขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ข้าวไทยด้านผลิตภัณฑ์แปรรูปและนวัตกรรมจากข้าวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ด้วยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และบูรณาการการทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและภาคเอกชนในการ บูรณาการการทำงานตั้งแต่การผลิต รวมทั้งการแปรรูปสินค้าข้าวด้วยนวัตกรรมให้ไปสู่ BCG การผลิตที่ยั่งยืน

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 มีนาคม 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ