รายงาน Country Survey Instrument for SDG Indicator 6.5.1 และ Reporting on global SDG Indicator 6.5.2

ข่าวการเมือง Tuesday March 9, 2021 19:13 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงาน Country Survey Instrument for SDG Indicator 6.5.1 และ Reporting on global SDG Indicator 6.5.2 ตามรายละเอียดที่เสนอ ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติด้วยแล้ว ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

1. สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติในฐานะหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบและประสานงานหลักการขับเคลื่อนเป้าหมาย SDG 6 สร้างหลักประกันเรื่องน้ำและการสุขาภิบาลให้มีการจัดการอย่างยั่งยืนและมีสภาพพร้อมใช้สำหรับทุกคน ได้รับการประสานจาก UNEP เพื่อร่วมตรวจสอบข้อมูลติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการขับเคลื่อน และให้มีการทบทวนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 6 ของประเทศ โดยในเบื้องต้นขอให้จัดทำรายงานความก้าวหน้าตัวชี้วัด SDG 6.5.1: Degree of integrated water resources management implementation และรายงานตัวชี้วัด SDG 6.5.2: Proportion of transboundary basin area with an operational arrangement for water cooperation เพื่อใช้ในการปรับฐานข้อมูล (Baseline) การพัฒนาด้านน้ำของประเทศ ซึ่งจะเผยแพร่ใน The UN Water SDG 6 Data Portal ปี 2021

2. สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านน้ำ เลขานุการคณะกรรมการลุ่มน้ำและผู้มีส่วนได้เสีย จัดทำร่างรายงาน Country Survey Instrument for SDG Indicator 6.5.1 และ Reporting on global SDG Indicator 6.5.2 ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และตามแบบฟอร์มที่กำหนด สรุปสาระสำคัญของร่างรายงาน ดังนี้

2.1 รายงาน Country Survey Instrument for SDG 6.5.1: Degree of integrated water resources management implementation ใช้กลไกกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียร่วมประเมิน ได้แก่ หน่วยงานรัฐ คณะกรรมการลุ่มน้ำ และผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ ประเด็นข้อคำถาม 4 ส่วนหลัก และรายละเอียดภาคผนวก คือ

1) สภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวย (Enabling Environment) ได้แก่ นโยบาย กฎหมาย และแผนงาน

2) กลไกเชิงสถาบัน และการมีส่วนร่วม (Institutions and Participation) ได้แก่ ศักยภาพของหน่วยงาน การประสานงานระหว่างภาคส่วน การสนับสนุนจากภาคเอกชน การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย และความเท่าเทียมทางเพศ

3) เครื่องมือในการบริหารจัดการ (Management Instruments) ได้แก่ ระบบติดตามด้านน้ำ การใช้น้ำอย่างยั่งยืน การควบคุมมลพิษ ระบบนิเวศที่เกี่ยวกับน้ำ การจัดการภัยพิบัติ การแลกเปลี่ยนข้อมูลและข่าวสาร

4) การเงิน (Financing) ได้แก่ การลงทุน ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ และรายรับ ส่วนสุดท้าย ภาคผนวก A ? D ซึ่งประกอบด้วย วิธีการคำนวณคะแนนตัวชี้วัด นิยามศัพท์ คำอธิบายเกี่ยวกับคำถามด้านความร่วมมือข้ามพรมแดน ซึ่งเชื่อมโยงกับการรายงานตัวชี้วัดย่อย SDG 6.5.2 ปัญหาอุปสรรค เครื่องมือ และขั้นตอนต่อไป เพื่อการดำเนินงาน Integrated Water Resources Management (IWRM) ให้มากขึ้น และระดับความท้าทายเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำด้านต่าง ๆ สามารถสรุปคะแนน ดังนี้

หัวข้อหลัก / คะแนนเฉลี่ย / ระดับ

1) สภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวย / 60 / ปานกลาง ? สูง

2) กลไกเชิงสถาบันและการมีส่วนร่วม / 59 / ปานกลาง ? สูง

3) เครื่องมือในการบริหารจัดการ / 41 / ปานกลาง ? ต่ำ

4) การเงิน (Financing) / 50 / ปานกลาง ? ต่ำ

คะแนน SDG Indicator 6.5.1 / 53 / ปานกลาง ? สูง

2.2 Reporting on global SDG Indicator 6.5.2: TEMPLATE of the second cycle for reporting โดยมีการหารือร่วมกับหน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงกลาโหม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพลังงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อรวบรวมข้อมูลแต่ละขั้นตอน ดังนี้

1) คำถามที่ 1 ระบุลุ่มน้ำผิวดินข้ามพรมแดน และชั้นน้ำบาดาลข้ามพรมแดนคัดเลือกลุ่ม น้ำโขง (Mekong River Basin) ซึ่งมีข้อตกลงความร่วมมือและอยู่ภายใต้การสนับสนุนของ UNECE สำหรับลุ่มน้ำที่มีการเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ ยังไม่ได้รายงานผลเนื่องจากไม่มีข้อตกลงที่ครอบคลุมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบ

2) คำถามที่ 2 ข้อมูลของแต่ละลุ่ม/แอ่ง หรือกลุ่มของลุ่มน้ำ/แอ่ง แม่น้ำ ทะเลสาบ หรือชั้นน้ำบาดาล ข้ามพรมแดน มี 4 เกณฑ์ ได้แก่

  • เกณฑ์ที่ 1: คณะกรรมาธิการสำหรับความร่วมมือระหว่างพรมแดนตามกรอบความตกลงร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน กำหนดให้มีคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ประกอบด้วย องค์กรบริหารถาวร 3 องค์กร ได้แก่ คณะมนตรี คณะกรรมการร่วม และสำนักงานเลขาธิการ
  • เกณฑ์ที่ 2: มีการติดต่อสื่อสารอย่างเป็นทางการสม่ำเสมอ อย่างน้อย 1 ครั้งต่อปี ระหว่างเทศภาคีในรูปแบบการประชุม
  • เกณฑ์ที่ 3: มีวัตถุประสงค์ กลยุทธ์ แผนการบริหารจัดการ หรือแผนปฏิบัติการร่วมกัน ซึ่งได้รับการตกลงยินยอมโดยประเทศภาคี
  • เกณฑ์ที่ 4: มีการแลกเปลี่ยนช้อมูลและข่าวสารอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 1 ครั้งต่อปี

3) คำถามที่ 3 การบริหารจัดการน้ำในระดับประเทศ ได้แก่ มีกฎหมายระดับชาติ นโยบาย กลยุทธ์ และแผนปฏิบัติการ มาตรการเพื่อคุ้มครอง ควบคุมและลดผลกระทบข้ามพรมแดน มีมาตรการควบคุมมลพิษทางน้ำ และระบบนิเวศแหล่งน้ำ

4) คำถามที่ 4 คำถามสุดท้าย ได้แก่ ความท้าทายและผลสำเร็จของประเทศไทยในการดำเนินความร่วมมือด้านน้ำข้ามพรมแดน เช่น การขับเคลื่อนตามกรอบความร่วมมือ และการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความกังวลเกี่ยวกับอธิปไตยของประเทศ ข้อจำกัดด้านทรัพยากร เป็นต้น

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 มีนาคม 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ