ร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ

ข่าวการเมือง Tuesday March 16, 2021 17:12 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด 19

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบดังนี้

1. เห็นชอบในหลักการร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้

2. ให้ รง. รับความเห็นของ กค. สำนักงบประมาณ และ สปสช. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

ทั้งนี้ รง. เสนอว่า

1. สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (31 มีนาคม 2563) เห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 [Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)] เห็นชอบให้กองทุนของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายดังกล่าว ดำเนินการจ่ายค่าใช้จ่ายในอัตราตามบัญชีแนบท้ายหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายฯ และเห็นชอบให้กองทุนของส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่มีวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดบริการด้านการแพทย์หรือสาธารณสุขดำเนินการแก้ไขปรับปรุง กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายดังกล่าว

2. ประกอบกับพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 มาตรา 13 (1) บัญญัติให้คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์มีอำนาจกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้าง และมาตรา 13 วรรคสอง บัญญัติให้มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างดังกล่าว เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ให้ใช้บังคับแก่รัฐวิสาหกิจทุกแห่ง ประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 53 กำหนดให้คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ มีอำนาจกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ค่าทำศพกรณีตาย อันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ค่าช่วยเหลือบุตรและค่าช่วยเหลือการศึกษาของบุตร และมาตรฐานขั้นต่ำดังกล่าวเมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้วให้ใช้บังคับแก่รัฐวิสาหกิจทุกแห่ง ประกาศคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง หลักเกณฑ์การจ่ายค่ารักษาพยาบาลกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ค่าทำศพกรณีตายอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ค่าช่วยเหลือบุตร และค่าช่วยเหลือการศึกษาของบุตร ลงวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2534 และร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เกี่ยวกับมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ รวม 3 ฉบับ ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (17 พฤศจิกายน 2563) เห็นชอบในหลักการและอยู่ระหว่างดำเนินการให้มีผลใช้บังคับ นั้นยังไม่ครอบคลุมถึงกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19

3. ดังนั้น เพื่อให้หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลในรัฐวิสาหกิจ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 31 มีนาคม 2563 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 [Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)] ลงวันที่ 3 เมษายน 2563 รง. จึงได้ยกร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 เพื่อรองรับให้รัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการจ่ายค่าใช้จ่ายในอัตราตามบัญชีแนบท้าย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายฯ

4. ในการประชุมคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ครั้งที่ 6/2563 เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 มีมติเห็นชอบร่างประกาศตามข้อ 3.

5. รง. ได้จัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้ และประโยชน์ที่จะได้รับตามมาตรา 7 และมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยประมาณการรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา เป็นไปตามประมาณการค่ารักษาพยาบาลของแต่ละรัฐวิสาหกิจที่กำหนดไว้ในปี 2564 จำนวน 6,230 ล้านบาท คาดว่าจะไม่เพิ่มขึ้นจากเดิม ซึ่งร่างประกาศฉบับนี้จะส่งผลให้พนักงานรัฐวิสาหกิจทั้งหมดรวมกว่า 285,598 คน ได้รับการคุ้มครอง และทำให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ที่รัฐวิสาหกิจต้องจ่ายให้แก่สถานพยาบาลได้โดยเร็ว

จึงได้เสนอร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 มาเพื่อดำเนินการ

สาระสำคัญของร่างประกาศ

1. กำหนดนิยามคำว่า ?ค่าใช้จ่าย? ?ผู้ป่วย? และ ?สถานพยาบาล?

2. กำหนดสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันโรคโดยให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการและค่าใช้จ่ายอื่นสำหรับตนเอง คู่สมรส หรือบุตร ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่ สธ. กำหนด

3. กำหนดสิทธิการรักษาพยาบาลต่อเนื่อง กรณีผลการตรวจยืนยันว่าไม่ติดเชื้อ แต่ยังมีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินตามกฎหมายว่าด้วยการแพทย์ฉุกเฉิน โดยกำหนดให้สิทธิในการได้รับเงินค่ารักษาพยาบาล ให้นำประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง หลักเกณฑ์การจ่ายค่ารักษาพยาบาลกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ค่าทำศพกรณีตาย อันมิใช่เนื่องจากการทำงานมาใช้บังคับ

4. กำหนดสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายจากการรักษาพยาบาลสำหรับตนเอง คู่สมรสหรือบุตร กรณีได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ

5. กำหนดให้กรณีลูกจ้าง คู่สมรส หรือบุตร หรือญาติ ปฏิเสธการส่งต่อผู้ป่วยไปรับการดูแลรักษายังสถานพยาบาลอื่น ผู้ป่วยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเอง

6. กำหนดให้เมื่อ สปสช. หรือหน่วยงานที่มีหน้าที่กำหนดค่าใช้จ่ายกรณีการเจ็บป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ แจ้งค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลให้นายจ้างทราบแล้ว ให้นายจ้างจ่ายค่าใช้จ่ายตามแนวทางที่ สธ. กำหนด ให้แก่สถานพยาบาลภายในสิบห้าวัน นับจากวันที่ สปสช. หรือหน่วยงานดังกล่าวแจ้ง

7. กำหนดให้สถานพยาบาลมีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายแทนลูกจ้าง

8. กำหนดให้กรณีรัฐวิสาหกิจใดมีข้อกำหนดให้สิทธิการรักษาพยาบาลแก่บิดา มารดาของลูกจ้าง ให้บิดามารดาของลูกจ้างดังกล่าว มีสิทธิตามประกาศนี้

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 มีนาคม 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ