คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางใน การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษส่งผลกระทบต่อประชาชน ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และแจ้งให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษว่า การพัฒนาโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษใน 6 พื้นที่ ได้แก่ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม ส่งผลกระทบต่อประชาชนและชุมชนในพื้นที่โครงการ
2. กสม. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมีขั้นตอนการดำเนินนโยบายในบางพื้นที่ขาดกระบวนการให้ข้อมูลและการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเพียงพอ อันเป็นการกระทบ ต่อความเป็นอยู่และสิทธิของประชาชนในพื้นที่ดำเนินการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ การประเมินศักยภาพพื้นที่เพื่อใช้เป็นพื้นที่พัฒนาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษโดยไม่คำนึงถึงสิทธิของประชาชนอย่างเพียงพอ และการชดเชยเยียวยาให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างไม่เป็นธรรมถือเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนผู้ได้รับผลกระทบในบางพื้นที่ จึงได้มีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการป้องกัน หรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนและส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อคณะรัฐมนตรี โดยคณะรัฐมนตรีควรมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเกี่ยวกับ (1) การป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน และ (2) การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
3. รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งมอบหมายให้ กค. เป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) สำนักงบประมาณ (สงป.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว โดยให้ กค. สรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
1.1 ให้กรมธนารักษ์พิจารณาคืนสภาพให้กับที่ดินของรัฐแปลงที่กรมธนารักษ์ไม่อาจนำที่ดินที่เพิกถอนสภาพตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ( หน.คสช.) ที่ 17/58 ลว. 15 พ.ค. 58 เรื่อง การจัดหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และคำสั่งที่ 74/59 ลว. 20 ธ.ค. 59 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่ง หน.คสช. ที่ 17/58 ไปให้หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ภายในระยะเวลา อันเหมาะสม หรือในกรณีที่ดินที่มีการเพิกถอนสภาพนั้นไม่มีความเหมาะสมในการพัฒนาเป็นพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษอีกต่อไป เพื่อนำกลับไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์เดิมที่ได้มีการสงวนเป็นที่ดินของรัฐไว้ เช่น การถอนสภาพที่ดินของรัฐในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย เป็นต้น
ความเห็น/ผลการพิจารณา/ผลการดำเนินงาน
1. การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ในการจัดหาที่ดิน ตามคำสั่ง หน.คสช. ดังกล่าวจะต้องนำเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) เพื่อพิจารณา สำหรับกรณีเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร หากจะนำพื้นที่กลับมาเป็นเขตปฏิรูปที่ดิน จะมีปัญหาอุปสรรคในข้อกฎหมาย และการประกาศให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินจะใช้ระยะเวลานาน
2. กนพ. ในการประชุมครั้งที่ 2/60 เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 60 มีมติมอบให้ กค. และ อก. พิจารณาปรับแนวทางและมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อกระตุ้นการค้า การลงทุน และการบริการให้มากขึ้น ซึ่งกรมธนารักษ์ได้ประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและให้จังหวัดมุกดาหารและหนองคายจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น โดยเห็นควรเพิ่มเติมด้านสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนและเร่งรัดด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
3. กรมธนารักษ์จะดำเนินการเปิดประมูลเพื่อ
สรรหาผู้ลงทุนพัฒนาในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหารและหนองคาย เมื่อร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. .... มีผลบังคับใช้
1.2 ให้กรมธนารักษ์ร่วมกับจังหวัดสงขลาพิจารณาแนวทางให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ยังอาศัยอยู่ในที่ราชพัสดุแปลงพิพาทที่กำหนดเป็นพื้นที่พัฒนาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลาโดยอาจจัดหาที่ดินราชพัสดุบางส่วนให้เช่าหรือให้ความช่วยเหลือค่าใช้จ่ายตามความเหมาะสมให้สอดคล้องกับสิทธิในที่อยู่อาศัยที่ได้รับการรับรองโดยปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ต่อไป
ความเห็น/ผลการพิจารณา/ผลการดำเนินงาน
- กรมธนารักษ์ร่วมกับจังหวัดสงขลาได้ชี้แจงสร้างความเข้าใจ และเจรจากับราษฎรผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลาให้รื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ราชพัสดุ จำนวน 128 ราย ปัจจุบันคงเหลือราษฎรที่ไม่ยินยอมจำนวน 37 ราย โดยได้จัดสรรที่ราชพัสดุแปลง สข. 2516 เพื่อรองรับให้ราษฎรที่ยินยอมรื้อถอนเช่าเพื่ออยู่อาศัยรายละประมาณ 50 ตารางวา และจังหวัดสงขลาได้รับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 งบกลาง วงเงิน 9,997,000 บาท โดยได้ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วยการขยายระบบไฟฟ้า ระบบประปา ถนนและคูระบายน้ำในที่ราชพัสดุแปลงดังกล่าว พร้อมทั้งได้จัดสรรเงินช่วยเหลือค่ารื้อถอนให้กับราษฎรที่ยินยอมรื้อถอนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรแล้ว จำนวน 91 ราย เป็นเงิน 2,996,720.22 บาท
1.3 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบจากคำสั่ง หน.คสช. ดังกล่าวในทุกพื้นที่ที่มีการประกาศเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาและเยียวยาผลกระทบแก่ประชาชนในแต่ละพื้นที่ให้เกิดความเท่าเทียม สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนตามความเหมาะสมต่อไป
ความเห็น/ผลการพิจารณา/ผลการดำเนินงาน
1. คณะอนุกรรมการด้านการจัดหาที่ดินและบริหารจัดการ ในการประชุมครั้งที่ 2/58 เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.58 เห็นชอบในหลักการจ่ายค่าชดเชย ค่าเยียวยาในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยให้จังหวัดเป็นหน่วยงานสำรวจ รวบรวม และรายงานให้ มท. ตรวจสอบกลั่นกรอง และให้กรมธนารักษ์รับผิดชอบในการตั้งงบประมาณ ซึ่ง กนพ. ในการประชุมครั้งที่ 4/58 เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 58 มอบหมายให้ มท. แต่งตั้งคณะทำงานเพื่ออำนวยการหรือปฏิบัติการ หรือแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาที่ดินและบริหารจัดการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และ ครม. ได้มีมติ (10 พ.ย. 58) รับทราบและเห็นชอบแล้ว ทั้งนี้ มท. ได้มีหนังสือมอบหมายให้จังหวัดแต่งตั้งคณะทำงานระดับพื้นที่ เพื่อประชาสัมพันธ์ ชี้แจง ทำความเข้าใจกับราษฎร และผู้ที่เกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบจากการเพิกถอนสภาพที่ดินให้ตกเป็นที่ราชพัสดุเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ พร้อมทั้งสำรวจรวบรวมข้อมูล ขอบเขต ระยะเวลา รายละเอียดของราษฎร หน่วยงานที่ใช้ประโยชน์ ข้อมูลสิ่งปลูกสร้าง พืชผล ในที่ดินแต่ละแปลง และกำหนดค่าเยียวยา ชดเชย ค่ารื้อถอน ฯลฯ โดยอ้างอิงหลักเกณฑ์ วิธีการเช่นเดียวกับหน่วยงานราชการอื่น และรายงาน มท. ตรวจสอบกลั่นกรอง 2. รัฐได้มีมาตรการให้ความช่วยเหลือดูแลราษฎรที่ได้รับผลกระทบ โดยจ่ายค่าขนย้าย (ที่ดิน) ค่ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และค่าพืชผล เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน อีกทั้งคณะทำงานของจังหวัดได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ ชี้แจงทำความเข้าใจ เจรจาสำรวจตรวจสอบและรวบรวมข้อมูล พร้อมทั้งกำหนดค่าขนย้าย (ที่ดิน) ค่ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และค่าพืชผลโดยอ้างอิงตามหลักเกณฑ์ของส่วนราชการอื่น ทั้งนี้ ในการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษได้มีมาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยากับ ผู้ได้รับผลกระทบตามความเหมาะสมในทุกพื้นที่แล้ว ดังนี้
ตาก
- ได้จัดสรรที่ราชพัสดุบางส่วนให้ราษฎรผู้ได้รับผลกระทบเช่าเพื่ออยู่อาศัยและประกอบการเกษตร
- จ่ายเงินให้ความช่วยเหลือให้ราษฎรผู้ได้รับผลกระทบเป็นค่าขนย้าย (ที่ดิน) ค่ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและพืชอาสิน จำนวน 87 ราย เป็นเงิน 438,308,965 บาท
มุกดาหาร
- จ่ายค่าเยียวยาให้ราษฎรผู้ได้รับผลกระทบจำนวน 5 ราย เป็นเงิน 880,000 บาท
- จ่ายค่ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างให้หน่วยงาน เป็นเงิน 154,793 บาท
สงขลา
- จัดสรรที่ราชพัสดุให้ราษฎรผู้ได้รับผลกระทบที่ยินยอมรื้อถอนเช่าเพื่ออยู่อาศัย รายละประมาณ 50 ตารางวา
- จ่ายค่ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างให้ราษฎรผู้ได้รับผลกระทบที่ยินยอมรื้อถอน จำนวน 91 ราย เป็นเงิน 2,996,720.22 บาท สำหรับส่วนที่เหลือ จำนวน 37 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการของคณะทำงานจังหวัดสงขลา
นครพนม
- จ่ายค่ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและตัดฟันต้นไม้ให้ราษฎรผู้ได้รับผลกระทบ จำนวน 12 ราย เป็นเงิน 101,980 บาท
กาญจนบุรี
- จ่ายเงินให้ความช่วยเหลือให้ราษฎรผู้ได้รับผลกระทบเป็นค่าขนย้าย (ที่ดิน) ค่ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและพืชผล จำนวน 115 ราย เป็นเงิน 82,987,191.45 บาท ขณะนี้ดำเนินการจ่ายแล้ว จำนวน 66 ราย เป็นเงิน 47,358,312.09 บาท สำหรับส่วนที่คงเหลืออยู่ระหว่างการดำเนินการจ่ายเงินให้ความช่วยเหลือดังกล่าว โดยมอบให้สำนักงานธนารักษ์ พื้นที่กาญจนบุรีเป็นผู้ดำเนินการ
คณะรัฐมนตรีควรพิจารณาทบทวนการกำหนดพื้นที่พัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ประเภทกิจการเป้าหมายและกิจการที่ได้รับการสนับสนุนมาตรการส่งเสริมการลงทุน หรือการพัฒนาโครงการหรือกิจกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่อาจมีผลกระทบต่อประชาชน คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัยคุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับชุมชนเพื่อให้การดำเนินนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเป็นไปตามแนวนโยบายแห่งรัฐในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่ดิน รวมทั้งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และปฏิญญาว่าด้วยสิทธิในการพัฒนาที่มุ่งเน้นให้รัฐเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสได้รับประโยชน์จากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และยั่งยืน และเพื่อให้ประเทศไทยมุ่งไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในกรอบสหประชาชาติหลังปี 2558 ถึง 2573 โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 16 ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมสังคมที่สงบสุขเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรม โดยการสร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบครอบคลุม เสริมสร้างความแข็งแกร่งของการมีส่วนร่วมในทุกระดับการตัดสินใจ รวมทั้งการสร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยเป็นไปตามกฎหมายภายในและความตกลงระหว่างประเทศ
ความเห็น/ผลการพิจารณา/ผลการดำเนินงาน
1. การจัดหาที่ดินของรัฐเพื่อมาเพิกถอนสภาพให้ตกเป็นที่ราชพัสดุเพื่อใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่พัฒนาในเขตเศรษฐกิจพิเศษและการบริหารจัดการที่ดินในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนั้นเป็นการดำเนินการตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ คำสั่ง และมติการประชุมที่เกี่ยวข้อง ภายใต้คณะอนุกรรมการด้านการจัดหาที่ดินและบริหารจัดการ ซึ่งเป็นคณะอนุกรรมการที่ กนพ. แต่งตั้ง โดยมีการดำเนินการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน อาทิ แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการด้านการบริหารจัดการที่ดินในพื้นที่ โดยมีตัวแทนราษฎรผู้ได้รับผลกระทบ ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น ร่วมเป็นคณะทำงานฯ จัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจกับราษฎรที่ได้ผลกระทบ และประกาศรายชื่อราษฎรที่ผู้รับผลกระทบจากการจัดหาที่ดิน รวมถึง การให้ความช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตามหลักสิทธิมนุษยชน
2. ตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้พัฒนาพื้นที่เพื่อการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งผ่านความเห็นชอบ กนพ. แล้ว ได้กำหนดให้ผู้พัฒนาเสนอแผนการพัฒนาพื้นที่ที่ขอลงทุนในการจัดทำผังพัฒนาพื้นที่โครงการ โดยจัดทำแนวคิดแผนแม่บทเบื้องต้นให้มีกิจกรรมที่สอดคล้องกับการใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎหมายผังเมือง เน้นความเป็นอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ สอดรับกับการพัฒนาท้องถิ่นและชุมชนกับองค์กรหรือหน่วยงานท้องถิ่นโดยรอบให้เจริญเติบโตไปด้วยกันภายใต้กำกับดูแลสิ่งแวดล้อมที่ดี และสอดคล้องกับแผนแม่บทในระดับจังหวัด อีกทั้งดำเนินการตามกรอบหลักการสิทธิมนุษยชนในการประกอบธุรกิจของสหประชาชาติ ให้เป็นตามหลักการพื้นฐาน อาทิ การให้ความช่วยเหลือจ้างแรงงานผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่พัฒนา ตลอดจนจะต้องจัดทำพื้นที่สีเขียวคิดเป็นร้อยละ 30 ของพื้นที่โครงการ เพื่อให้ความสำคัญด้านระบบนิเวศน์อย่างยั่งยืน รวมทั้งจะต้องจัดทำพื้นที่ชุมชนและสันทนาการ คิดเป็นร้อยละ 10 ของพื้นที่โครงการ เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับส่วนรวมใช้ประโยชน์ร่วมกัน
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 มีนาคม 2564