เรื่อง การบรรจุลูกจ้างประจำของกระทรวงสาธารณสุขในตำแหน่งอัตราข้าราชการตั้งใหม่ เพื่อรองรับภาวะฉุกเฉินในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด ? 19
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามมติคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ในการประชุมครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2563 เรื่อง การบรรจุลูกจ้างประจำของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในตำแหน่งอัตราข้าราชการตั้งใหม่ เพื่อรองรับภาวะฉุกเฉินในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด ? 19 ตามที่สำนักงาน ก.พ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการร่วมคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) เสนอ
1. ให้ สธ. พิจารณาบรรจุบุคลากรกลุ่มพนักงานราชการ พนักงาน สธ. หรือลูกจ้างชั่วคราว ที่ยังตกค้างหรืออยู่ระหว่างแก้ไขปัญหาหรือข้อร้องเรียนในตำแหน่งว่างที่เหลือจากการบรรจุทั้ง 3 ระยะ ให้แล้วเสร็จก่อน โดยดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่ ก.พ. กำหนดไว้เดิม
2. หากมีตำแหน่งว่างคงเหลือจากการดำเนินการตามข้อ 1 คณะอนุกรรมการสามัญประจำกระทรวงสาธารณสุข (อ.ก.พ. สธ.) อาจพิจารณาบรรจุบุคลากร สธ. ที่ปฏิบัติงานในสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด - 19 ได้ตามเหตุผลความจำเป็น โดยคำนึงถึงความเป็นธรรม เป็นที่ยอมรับ และการป้องกันผลกระทบอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นภายหลัง ตามหลักเกณฑ์ที่ ก.พ. กำหนดไว้เดิม และให้รายงาน คปร. เพื่อทราบ นับแต่วันที่ อ.ก.พ. สธ. มีมติและบรรจุบุคลากรแล้วเสร็จภายใน 30 วัน
ทั้งนี้ ให้ สธ. ชี้แจงทำความเข้าใจกับบุคลากร สธ. ที่จะได้รับการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการให้ทราบและเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ อย่างถูกต้องตามข้อสังเกตของผู้แทนกรมบัญชีกลาง1 และเมื่อได้ดำเนินการบรรจุบุคลากรครบถ้วนตามที่ได้รับจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ จำนวน 38,105 อัตรา แล้ว ให้ สธ. รายงานผลการดำเนินการตลอดจนแจ้งการยุบเลิกตำแหน่งที่จ้างงานด้วยรูปแบบอื่นให้ คปร. ทราบเมื่อสิ้นไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 (เดือนมีนาคม 2564) ด้วย
[1] ผู้แทนกรมบัญชีกลางได้ให้ข้อสังเกตว่า ลูกจ้างประจำเป็นบุคลากรภาครัฐประเภทหนึ่งที่ได้รับสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ใกล้เคียงกับข้าราชการ การจะเปลี่ยนสถานะการจ้างลูกจ้างประจำมาเป็นข้าราชการจึงมีสิ่งที่ต้องพิจารณา 2 ประเด็น คือ ลักษณะงานและสิทธิประโยชน์ รวมทั้งการเปลี่ยนสถานะดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการคำนวณบำเหน็จบำนาญซึ่งไม่สามารถนับระยะเวลาต่อเนื่องได้ ดังนั้น หาก สธ. จะพิจารณาเปลี่ยนสถานะการจ้างงานจากลูกจ้างประจำเป็นข้าราชการ จึงควรชี้แจงทำความเข้าใจกับลูกจ้างประจำผู้ที่อยู่ในกรณีจะได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้ทราบเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่มีความแตกต่างกันกับการบรรจุบุคลากรใน 3 กลุ่มแรกที่ คปร. มีมติไว้แล้ว ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหรือข้อร้องเรียนภายหลัง
สำหรับภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรหากส่วนราชการมีความจำเป็นต้องสรรหาอัตราบุคลากรตั้งใหม่และสามารถบรรจุได้ทันภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ขอให้ส่วนราชการพิจารณาปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้แล้วในแผนงานบุคลากรภาครัฐไปดำเนินการเป็นลำดับแรก หรือขอโอนงบประมาณรายจ่ายบุคลากรตามระเบียบว่าด้วยการโอนงบประมาณรายจ่ายบูรณาการและงบประมาณรายจ่ายบุคลากรระหว่างหน่วยรับงบประมาณ พ.ศ. 2562 แล้วแต่กรณี โดยขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป ส่วนภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรในปีต่อ ๆ ไป ขอให้ส่วนราชการจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ การบรรจุบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ ก.พ. กำหนดไว้เดิม และไม่ก่อให้เกิดภาระงบประมาณเพิ่มเติมอย่างเคร่งครัด ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2563
ระยะที่ 1 (เดือนพฤษภาคม 2563)
(อัตรา)
ข้าราชการตั้งใหม่ 25,051
บรรจุแล้ว 23,202
คงเหลือตำแหน่งว่าง 1,849
ระยะที่ 2 (เดือนสิงหาคม 2563)
(อัตรา)
ข้าราชการตั้งใหม่ 5,616
บรรจุแล้ว 5,016
คงเหลือตำแหน่งว่าง 600
ระยะที่ 3 (เดือนพฤศจิกายน 2563)
(อัตรา)
ข้าราชการตั้งใหม่ 7,438
บรรจุแล้ว 6,708
คงเหลือตำแหน่งว่าง 730
รวม
(อัตรา)
ข้าราชการตั้งใหม่ 38,105
บรรจุแล้ว 34,926
คงเหลือตำแหน่งว่าง 3,179
หมายเหตุ : ข้อมูลอ้างอิงจากสำนักพัฒนาระบบจำแนกตำแหน่งและค่าตอบแทน ฝ่ายเลขานุการร่วม คปร.
จากข้อมูลข้างต้นพบว่า สธ. สามารถบรรจุบุคคลเข้ารับราชการได้จำนวน 34,926 อัตรา แต่ยังคงมีปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการ จึงทำให้ไม่สามารถบรรจุบุคคลเข้ารับราชการในอัตราข้าราชการตั้งใหม่ได้ครบทั้ง 38,105 อัตรา ตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบไว้ เช่น (1) มีคุณสมบัติไม่ตรงตามคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง 478 ราย (2) มีชื่อตำแหน่งที่ได้รับการจ้างงานอยู่เดิมไม่ตรงกับชื่อตำแหน่งในสายงานที่จะเข้ารับการคัดเลือกและบรรจุเข้ารับราชการ 575 ราย และ (3) มีการเปลี่ยนสถานที่ทำงานหรือเปลี่ยนประเภทการจ้าง ทำให้ไม่สามารถบรรจุในตำแหน่งที่ได้รับจัดสรร เนื่องจากคุณสมบัติของบุคลากรไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ 18 ราย ดังนั้น สธ. จึงมีตำแหน่งว่างคงเหลือจากการบรรจุในระยะที่ 1 - 3 จำนวน 3,179 อัตรา และเป็นเหตุให้ สธ. มีคำขอให้กลุ่มลูกจ้างประจำสามารถเข้ารับการคัดเลือกและบรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งว่างดังกล่าว 2. คปร. ในการประชุม ครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2563 ได้พิจารณาเรื่อง การบรรจุลูกจ้างประจำของ สธ. ในตำแหน่งอัตราข้าราชการตั้งใหม่ เพื่อรองรับภาวะฉุกเฉินในสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด - 19 มีมติ ดังนี้
2.1 เห็นควรให้ สธ. พิจารณาบรรจุบุคลากรกลุ่มพนักงานราชการพนักงาน สธ. หรือลูกจ้างชั่วคราว ที่ยังตกค้างหรืออยู่ระหว่างแก้ไขปัญหาหรือข้อร้องเรียนในตำแหน่งว่างที่เหลือจากการบรรจุทั้ง 3 ระยะ ให้แล้วเสร็จก่อน โดยดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่ ก.พ. กำหนดไว้เดิม
2.2 หากมีตำแหน่งว่างคงเหลือจากการดำเนินการตามข้อ 2.1 อ.ก.พ. สธ. อาจพิจารณาบรรจุบุคลากร สธ. ที่ปฏิบัติงานในสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด ? 19 ได้ตามเหตุผลความจำเป็น โดยคำนึงถึงความเป็นธรรม เป็นที่ยอมรับ และการป้องกันผลกระทบอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นภายหลัง ตามหลักเกณฑ์ที่ ก.พ. กำหนดไว้เดิม และให้รายงาน คปร. เพื่อทราบ นับแต่วันที่ อ.ก.พ. สธ. มีมติและบรรจุบุคลากรแล้วเสร็จภายใน 30 วัน
ทั้งนี้ ให้ สธ. ชี้แจงทำความเข้าใจกับบุคลากร สธ. ที่จะได้รับการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการให้ทราบและเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ อย่างถูกต้องตามข้อสังเกตของผู้แทนกรมบัญชีกลาง และเมื่อได้ดำเนินการบรรจุบุคลากรครบถ้วนตามที่ได้รับจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ จำนวน 38,105 อัตรา แล้ว ให้ สธ. รายงานผลการดำเนินการตลอดจนแจ้งการยุบเลิกตำแหน่งที่จ้างงานด้วยรูปแบบอื่นให้ คปร. ทราบเมื่อสิ้น ไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 (เดือนมีนาคม 2564) ด้วย
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 มีนาคม 2564