เรื่อง ขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดทำโครงการ Organizational Quarantine (OQ) สำหรับแรงงานต่างด้าวและผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมือง ของกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ภายในกรอบวงเงิน 438,075,800 บาท สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดทำโครงการ Organizational Quarantine (OQ) สำหรับแรงงานต่างด้าวและผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมือง ของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บช.ตชด.) ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
ตช. รายงานว่า
1. จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ภาคการผลิตในด้าน ต่าง ๆ มีความต้องการแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก ส่งผลให้มีการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง โดยศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศปก.ศบค.) ซึ่งมีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นประธาน ได้มีการประชุมและมีมติเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวสรุปได้ดังนี้
วันที่ 19 มกราคม 2564
รายละเอียด
ให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) หารือร่วมกับสำนักงบประมาณ (สงป.) กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ ตช. (บช.ตชด.) เพื่อพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมในการจัดสรรงบประมาณ สำหรับการจัดเตรียมสถานที่ทำโครงการ OQ ในพื้นที่ของกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดน (กองร้อยฯ) เพื่อรองรับแรงงานต่างด้าวที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทยในระยะต่อไป เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ดีขึ้น
วันที่ 20 มกราคม 2564
ให้ ตช. (บช.ตชด.) เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการปรับปรุงพื้นที่กองร้อยฯ และใช้พื้นที่โรงนอนของกองร้อยฯ เป็น OQ และสามารถยกระดับเป็นโรงพยาบาลสนามได้ เมื่อ สธ. ร้องขอ โดยดำเนินการปรับปรุงใช้พื้นที่ว่างเปล่าในกองร้อยฯ จัดตั้งโรงพยาบาลสนามแบบเต็นท์ เพื่อใช้เป็นสถานที่กักกันตัวสำหรับบุคคลที่ลักลอบเข้าเมืองทุกประเภท ทั้งนี้ ให้จัดลำดับความสำคัญของพื้นที่ภาคตะวันตก ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามลำดับ โดยเน้นย้ำที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จังหวัดเชียงราย จังหวัดระนอง จังหวัดสงขลา จังหวัดจันทบุรี จังหวัดสระแก้ว และจังหวัดหนองคาย
2.1 วัตถุประสงค์
2.1.1 เพื่อเป็นการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขของผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ทั้งคนไทยและคนต่างด้าวทั้งระบบ (ควบคุม/คัดกรอง/ป้องกัน) จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
2.1.2 เพื่อเป็นการควบคุมดูแลและป้องกันคนไทยในประเทศจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จากกรณีคนต่างด้าวเดินทางเข้ามาในประเทศไทย
2.1.3 เพื่อเป็นการปรับปรุงพื้นที่หน่วยตำรวจตระเวนชายแดนทางกายภาพให้สามารถปรับเป็นโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อได้ในอนาคตและเป็นการสนับสนุนโรงพยาบาลที่ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้อย่างเพียงพอ
2.2 แนวทางการปฏิบัติ ดังนี้
องค์ประกอบด้านสถานที่กักกันโรค
สาระสำคัญ
1. ปรับปรุงหน่วยระดับกองร้อยฯ ให้มีลักษณะเป็นที่พักให้เหมาะสมไม่แออัด(ไม่ควรเกิน 50 คน) เพื่อเตรียมความพร้อมในการควบคุมแรงงานต่างด้าวและคนไทยที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย รวมถึงแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (บันทึกความเข้าใจฯ) ที่ประเทศไทยได้ทำกับลาว เมียนมา และกัมพูชา ทั้ง 3 ฉบับ
2. จัดหาเต็นท์สนามขนาด 250 เตียง เพื่อรองรับการควบคุมกักบริเวณแรงงานต่างด้าวและคนไทยที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย รวมถึงแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยตามบันทึกความเข้าใจข้างต้น ซึ่งเต็นท์สนามมีลักษณะสำคัญ เช่น (1) เป็นอาคารโครงสร้างเหล็กสำเร็จรูปชนิดพิเศษ Prefabricated structure โดยผนังอาคารทั้งหมดกรุด้วยฉนวนกันความร้อนปิดทับด้วยเหล็กแผ่นเคลือบสีพิเศษชนิด Medical grade ที่ใช้ในห้อง clean room และโรงพยาบาล (2) ตัวอาคารมีขนาด 1,650 ตารางเมตร 1 ชั้น ประกอบด้วย ห้องน้ำและห้องพักกักกัน ซึ่งใช้ผนังฉนวนสำเร็จรูปสูง 1.50 เมตร เป็นตัวกั้นกันติดเชื้อระหว่างเตียงสู่เตียง และ (3) พื้นเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กและหลังคาเป็นทรงจั่วขนาดใหญ่ และมีระบบประปา สุขาภิบาล ระบบไฟฟ้าส่องสว่าง พัดลมดูดอากาศ และช่องระบายอากาศ ตะแกรงมุ้งลวดกันแมลง ประตูฉุกเฉิน 2 บาน ซึ่งหากมีการหลบหนีจะมีสัญญาณเตือนทั้งเสียงและไฟเตือน มีกล้องวงจรปิด 16 จุด ทั้งภายในและภายนอกรวมกัน และมีระบบขอความช่วยเหลือฉุกเฉินติดตั้งไว้ทุกเตียงหากผู้เข้ากักกันต้องการความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่
3. จัดทำแนวเขตแสดงอาณาบริเวณพื้นที่ควบคุม (รั้วลวดหนาม, ช่องทางเข้าออกทางเดียว) และระบบรักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง (เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย กล้อง CCTV และไฟฟ้าส่องสว่าง) เพื่อป้องกันการหลบหนีการควบคุม
4. พื้นที่บริการด้านการแพทย์และการบริหารจัดการในพื้นที่ควบคุม ได้แก่ เต็นท์บริการด้านการแพทย์ เต็นท์กองอำนวยการ/ศูนย์ประสาน เต็นท์เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เต็นท์ประกอบอาหาร เป็นต้น
5. พื้นที่ประกอบอาหารให้กับผู้เข้ารับการกักกันและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและการบริการน้ำดื่มที่เพียงพอต่อความต้องการ
6. ระบบสาธารณูปโภครองรับผู้เข้ารับการกักกันที่เพียงพอ ได้แก่ ระบบน้ำดื่มน้ำใช้ ห้องน้ำห้องส้วมและรถสุขาเคลื่อนที่ เครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต และการบริการอื่น ๆ
7. มีการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม การบำบัดน้ำเสีย และการจัดการขยะติดเชื้อที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
องค์ประกอบของเจ้าหน้าที่ประจำสถานที่กักกัน
สาระสำคัญ
1. ผู้บังคับกองร้อยฯ เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ และปลัดอำเภอในพื้นที่และสาธารณสุขอำเภอ เป็นรองผู้บัญชาการเหตุการณ์
2. เจ้าหน้าที่ติดตามและบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข
3. เจ้าพนักงานโรคติดต่อและเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประจำสถานที่กักกันตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกำหนดมอบหมาย
4. เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย
แผนการปฏิบัติและหน่วยรับผิดชอบการปฏิบัติงานในสถานที่กักกันโรค
สาระสำคัญ
1. การรักษาความปลอดภัยสถานที่ กองร้อยฯ รับผิดชอบจัดกำลังเจ้าหน้าที่
รักษาความปลอดภัยบริเวณโดยรอบสถานที่กักกันโรค แยกเป็น (1) อาคารกองร้อยฯ จำนวน 3 จุด และช่องทางเข้าออก จำนวน 1 จุด รวมเป็น 4 จุด ใช้กำลังพลจำนวน 12 นาย/วัน (2) เต็นท์สนาม จำนวน 3 จุด และช่องทางเข้าออกจำนวน 1 จุด รวมจำนวน 4 จุด ใช้กำลังพล จำนวน 24 นาย/วัน
2. การปฏิบัติด้านการแพทย์และสาธารณสุข : สาธารณสุขอำเภอในพื้นที่รับผิดชอบจัดทีมติดตามและบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข รับผิดชอบติดตาม ตรวจสอบ ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และงานด้านการแพทย์ (หมุนเวียนสับเปลี่ยนวงรอบ 8 ชั่วโมง/ผลัด)
3. ชุดล่ามแปลภาษา : แรงงานจังหวัดรับผิดชอบจัดเจ้าหน้าที่ชุดล่ามแปลภาษาประจำสถานที่กักกันโรคตลอด 24 ชั่วโมง
4. การสนับสนุนการปฏิบัติด้านอื่น ๆ : อำเภอและหน่วยงานในพื้นที่จัดเจ้าหน้าที่ติดต่อประสานงานประจำศูนย์ประสานงานกักกันโรคหมุนเวียนสับเปลี่ยนในวงรอบ 8 ชั่วโมง/ผลัด
2.3 ระยะเวลาดำเนินโครงการ 6 เดือน (เมษายน ? กันยายน 2564)
2.4 งบประมาณรวมทั้งสิ้น 438,075,800 บาท (งบดำเนินงาน 223,587,200 บาท และงบลงทุน 214,488,600 บาท) สรุปได้ ดังนี้
รายการ
1. การปรับปรุงอาคารกองร้อยกำลัง จำนวน 14 แห่ง/กองร้อยฯ* วงเงิน (บาท) 52,863,000
2. การจัดหาเต็นท์สนาม ขนาด 250 เตียง จำนวน 14 แห่ง/กองร้อยฯ* วงเงิน (บาท) 385,212,800
รวมทั้งสิ้น วงเงิน (บาท) 438,075,800
หมายเหตุ * โครงการ OQ จะดำเนินการในพื้นที่ 14 แห่ง/กองร้อยฯ รองรับพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตาก จังหวัดเชียงราย จังหวัดระนอง จังหวัดสงขลา จังหวัดจันทบุรี จังหวัดสระแก้ว และจังหวัดหนองคาย 3. สงป. แจ้งว่า นายกรัฐมนตรีเห็นชอบให้ ตช. ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ภายในกรอบวงเงิน 438,075,800 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ OQ สำหรับแรงงานต่างด้าวและผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองในพื้นที่กองร้อยฯ สำหรับอัตราค่าใช้จ่ายในการขอรับการจัดสรรในครั้งนี้ในส่วนที่เป็นการบริหารจัดการโครงการดังกล่าวที่เป็นลักษณะงบดำเนินงาน ให้เป็นไปตามการพิจารณาความเหมาะสมของค่าใช้จ่ายจากกระทรวงการคลัง (กค.) ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการขอให้งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อแก้ไขหรือเยียวยาความเดือดร้อนเสียหายในบางกรณี พ.ศ. 2559 และเมื่อสถานการณ์คลี่คลายลงและเสร็จสิ้นภารกิจแล้ว ขอให้ ตช. (บช.ตชด.) พิจารณาปรับใช้ประโยชน์จากการปรับปรุงอาคารและการจัดหาเต็นท์สนามดังกล่าว เพื่อรองรับภารกิจอื่น ๆ ของ บช.ตชด. หรือประโยชน์อื่นตามความเหมาะสมต่อไป
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 มีนาคม 2564