คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการทางการบริหารเพื่อประสิทธิภาพในการดำเนินการทางวินัยและจริยธรรม เพื่อให้การดำเนินการทางวินัยและจริยธรรมข้าราชการฝ่ายพลเรือนในการนำมาตรการทางบริหารมาใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินการทางวินัยมีมาตรฐานเดียวกัน และลดความลักลั่นในการใช้ดุลพินิจเกี่ยวกับการพิจารณาความผิดและกำหนดโทษ ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ
ก.พ. ในการประชุมครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2564 ก.พ. ได้หยิบยกประเด็นที่สื่อมวลชนเสนอข่าวเกี่ยวกับการกระทำที่ไม่เหมาะสมของข้าราชการในเรื่องชู้สาว การล่วงละเมิดทางเพศ หรือการคุกคามทางเพศ รวมถึงการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการกระทำการล่วงละเมิดทางเพศ หรือการคุกคามทางเพศดังกล่าว ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นความผิดวินัยและจริยธรรมอย่างร้ายแรง ขึ้นอภิปราย โดยมีข้อสังเกตว่าเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาที่ต้องเร่งรัดดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและพิจารณาดำเนินการทางวินัยโดยรวดเร็ว ทั้งนี้ ก.พ. เห็นว่า มาตรฐานการดำเนินการทางวินัยและจริยธรรมของข้าราชการประเภทต่าง ๆ มีความแตกต่างกัน ทั้งในเรื่องของการนำมาตรการทางการบริหารมาใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินการทางวินัยตลอดจนมาตรฐานการลงโทษที่ลักลั่นกัน ซึ่งทำให้การดำเนินการขาดประสิทธิภาพและไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการดำเนินการทางวินัย ที่ว่า ?ยุติธรรม เป็นธรรม รวดเร็ว? ซึ่งอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น
1) ผู้บังคับบัญชา ไม่นำมาตรการทางการบริหาร เช่น การสั่งพักราชการหรือการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน การสั่งให้ประจำส่วนราชการ การสั่งสำรองราชการ หรือการสั่งการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน มาใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินการ หรือละเลยไม่ติดตามหรือละเลยไม่ดำเนินการทางวินัย มีการใช้ดุลยพินิจในเรื่องการพิจารณาความผิดและการกำหนดโทษไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน
2) ผู้ปฏิบัติงาน บางส่วนราชการอาจขาดบุคลากรที่มีความรู้ ความชำนาญ ในเรื่องการดำเนินการทางวินัย
3) ผู้ถูกกล่าวหา ในกรณีที่เป็นข้าราชการระดับสูงอาจมีอิทธิพลต่อคณะกรรมการสอบสวน พยานบุคคล หรือผู้ให้ข้อมูลต่าง ๆ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการค้นหาความจริง
4) ข้อเท็จจริงของเรื่องที่ดำเนินการ บางเรื่องมีความยุ่งยาก ซับซ้อน เนื่องจากมีผู้เกี่ยวข้องหลายระดับ ต่างกรม ต่างกระทรวง หรือมีพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก
5) โครงสร้างการบริหาร การบังคับบัญชา และมาตรการทางการบริหาร ระหว่างการดำเนินการทางวินัยที่แตกต่างกัน เช่น ข้าราชการตำรวจมีการสำรองราชการ การสั่งพักราชการ และการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ต่างจากข้าราชการพลเรือนสามัญและข้าราชการครู ที่มีเพียงการสั่งพักราชการและการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน เป็นต้น
1) ให้สำนักงาน ก.พ. เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคลประเภทต่าง ๆ นำมาตรการทางการบริหารที่เกี่ยวข้องกับวินัยและจริยธรรมร้ายแรงของแต่ละองค์กรกลางบริหารงานบุคคล เช่น การสั่งพักราชการหรือการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน การสั่งให้ประจำส่วนราชการ การสั่งสำรองราชการ หรือการสั่งการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ที่มีอยู่มาใช้ในการดำเนินการทางวินัยกับข้าราชการที่ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมชู้สาวหรือล่วงละเมิดทางเพศ หรือคุกคามทางเพศ รวมถึงการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการกระทำการล่วงละเมิดทางเพศ หรือการคุกคามทางเพศดังกล่าว เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการดำเนินการในเรื่องที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชน หรือเรื่องที่มีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของส่วนราชการ โดยกำชับผู้บังคับบัญชาให้เร่งรัด การดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว หากผู้บังคับบัญชาละเลยไม่ปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยไม่สุจริต ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัย
2) ให้ ก.พ. จัดให้มีการประชุมเพื่อหารือร่วมกันระหว่างองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของข้าราชการฝ่ายพลเรือนประเภทต่าง ๆ ทำการศึกษาวิเคราะห์กฎหมายว่าด้วยการบริหารงานบุคคลเพื่อกำหนดมาตรฐานหรือหลักเกณฑ์กลาง ตามนัยมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 เช่น การนำมาตรการทางการบริหารมาใช้เพื่อให้การดำเนินการทางวินัยรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ การกำหนดมาตรฐานการลงโทษ และการดำเนินการทางวินัยที่เกี่ยวเนื่องกับจริยธรรม
ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการทางวินัยและจริยธรรมข้าราชการฝ่ายพลเรือนเป็นมาตรฐานเดียวกันและสัมฤทธิ์ผล
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 มีนาคม 2564