เรื่อง ขอความเห็นชอบการจัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับสหรัฐอเมริกาด้านความร่วมมือเพื่อป้องกัน ตอบโต้ และตอบสนอง ต่อการก่อการร้ายที่ใช้วัสดุนิวเคลียร์และวัสดุกัมมันตรังสี
คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบการจัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) กับสหรัฐอเมริกาด้านความร่วมมือเพื่อป้องกัน ตอบโต้ และตอบสนอง ต่อการ ก่อการร้ายที่ใช้วัสดุนิวเคลียร์และวัสดุกัมมันตรังสี (บันทึกความเข้าใจฯ) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย ให้กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำเสนอให้คณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง พร้อมอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามในเอกสารแจ้งการตอบรับไปยังอาเซียน ตามที่กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอ
ร่างบันทึกความเข้าใจฯ เป็นผลสืบเนื่องมาจากความประสงค์ที่จะยกระดับความร่วมมือระหว่างกระทรวงพลังงานแห่งสหรัฐอเมริกากับอาเซียน โดยร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าว มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
จุดมุ่งหมายหลักเพื่อเป็นกรอบความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสหรัฐอเมริกาในด้านความมั่นคงปลอดภัยเพื่อป้องกัน ตอบโต้ และตอบสนองต่อการก่อการร้ายที่ใช้วัสดุนิวเคลียร์และวัสดุกัมมันตรังสี
ขอบเขตความร่วมมือ - เสริมสร้างวัฒนธรรมความมั่นคงปลอดภัย ความตระหนักรู้ และความร่วมมือของประเทศสมาชิก ผ่านรูปแบบการฝึกอบรม การบริการ การแลกปลี่ยน ทางเทคนิค การประชุมเชิงปฏิบัติการ และเสริมสร้างขีดความสามารถในการป้องกัน ตอบโต้ และตอบสนองต่อการก่อการร้ายทางรังสีและนิวเคลียร์ โดยจัดฝึกอบรมในด้านต่าง ๆ ดังนี้
(1) ด้านการป้องกัน เช่น หน้าที่การกำกับดูแลความปลอดภัย ได้แก่ การอนุญาต การตรวจสอบ และการบังคับใช้กฎหมาย ข้อมูลภัยคุกคามที่สามารถออกแบบป้องกันได้ การฝึกอบรมและวิธีการตอบสนองต่อการก่อวินาศกรรมและลักทรัพย์ การจัดการวัสดุกัมมันตรังสีที่เลิกใช้งาน การพัฒนาแนวคิดการดำเนินการ ระบบตรวจวัดทางรังสี เป็นต้น
(2) ด้านการตอบสนอง เช่น การบริหารจัดการผลจากเหตุฉุกเฉินทางรังสี ระบบและมาตรการด้านความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ การค้นหาวัสดุนิวเคลียร์และวัสดุกัมมันตรังสีที่อยู่นอกเหนือการกำกับดูแล เป็นต้น
(3) การเชื่อมโยงกับหัวข้ออื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ วัฒนธรรมความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ เป็นต้น
3. การดำเนินการ การแก้ไข และระยะเวลา- การดำเนินกิจกรรมตามบันทึกความเข้าใจฯ มีระยะเวลา 3 ปี หลังจากภาคีทั้ง 2 ฝ่าย ได้ลงนาม และจะถูกต่ออายุอัตโนมัติทุกปีหลังจากระยะเวลา 3 ปีแรก หากไม่มีการยกเลิก ทั้งนี้ สามารถปรับแก้ไขและยกเลิกบันทึกความเข้าใจฯ ได้ เมื่อเห็นตรงกันทั้ง 2 ฝ่าย ด้วยการยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษร และจะมีผลเมื่อมีการลงนามโดยทั้ง 2 ฝ่าย หากมีการประสงค์ขอยกเลิก ให้แจ้งอีกฝ่ายเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้า 90 วัน
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 มีนาคม 2564