1. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ?. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอรัฐสภาต่อไป โดยให้แจ้งประธานรัฐสภาทราบด้วยว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามร่างพระราชบัญญัติดงกล่าว ตามที่ สปน. เสนอ
แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 โดยกำหนดให้มีสถานะเป็นกฎหมายกลาง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการที่เป็นข้อมูลข่าวสารสาธารณะซึ่งอยู่ในความครอบครองหรือควบคุมดูแลของหน่วยงานของรัฐ กำหนดมาตรการคุ้มครองข้อมูลความมั่นคงของรัฐและข้อมูลอันเป็นความลับของราชการ กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลและการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าว กำหนดหลักเกณฑ์การส่งมอบ เก็บรักษา และเปิดเผยเอกสารจดหมายเหตุ และกำหนดระยะเวลาการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยจดหมายเหตุแห่งชาติ รวมทั้งปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ และคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้มีความเหมาะสม เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รายละเอียดดังนี้
1. กำหนดให้กฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการมีสถานะเป็นกฎหมายกลาง
2. แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า ?ข้อมูลข่าวสารของราชการ? ?หน่วยงานของรัฐ? และ ?ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล? เพิ่มบทนิยามคำว่า ?ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ? และยกเลิกบทนิยามคำว่า ?บุคคล?
3. กำหนดให้คนต่างด้าวและบุคคลผู้ได้รับแต่งตั้งให้กระทำแทนคนต่างด้าวมีสิทธิเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารของราชการตามพระราชบัญญัตินี้เพียงใด ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง
4. กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องส่งข้อมูลข่าวสารสาธารณะอย่างน้อยดังต่อไปนี้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา
(1) โครงสร้างและการจัดองค์กรในการดำเนินงาน
(2) สรุปอำนาจหน้าที่ที่สำคัญและวิธีการดำเนินงาน
(3) กฎ มติคณะรัฐมนตรี ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หนังสือเวียน ระเบียบแบบแผน นโยบาย หรือการตีความ ทั้งนี้ เฉพาะที่จัดให้มีขึ้นโดยสภาพอย่างกฎ เพื่อให้มีผลเป็นการทั่วไปต่อเอกชนที่เกี่ยวข้อง
5. กำหนดให้หน่วยงานของรัฐเผยแพร่หรือเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาธารณะผ่านระบบดิจิทัล ทั้งนี้ เมื่อคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัลได้กำหนดมาตรฐานหรือหลักเกณฑ์การเผยแพร่ หรือเปิดเผยข้อมูลข่าวสารแล้ว ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการ
6. กำหนดให้หน่วยงานของรัฐผู้รับผิดชอบจะไม่จัดหาข้อมูลข่าวสารให้ก็ได้ หากปรากฏอย่างชัดแจ้งหรือมีพฤติการณ์ของผู้ยื่นคำขอว่า ผู้นั้นขอข้อมูลเป็นจำนวนมาก หรือบ่อยครั้งโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือมีลักษณะเป็นการก่อกวนการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐ หรือมีผลเป็นการสร้างภาระจนเกินสมควรแก่หน่วยงานของรัฐ หรือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
7. กำหนดให้ผู้ใดเห็นว่าหน่วยงานของรัฐไม่ประกาศข้อมูลข่าวสาร หรือไม่จัดข้อมูลข่าวสารไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้ หรือไม่จัดหาข้อมูลข่าวสารให้แก่ตน หรือไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมาธิการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า หรือเห็นว่าตนไม่ได้รับความสะดวกโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้มีสิทธิร้องเรียนต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ รวมถึงกรณีที่หน่วยงานของรัฐส่งข้อมูลข่าวสารสาธารณะไปลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแต่ถูกปฏิเสธ
8. กำหนดให้ข้อมูลข่าวสารของราชการที่หากเปิดเผยแล้วอาจมีการนำไปใช้ในทางที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และข้อมูลด้านการถวายความปลอดภัยจะเปิดเผยไม่ได้
9. กำหนดให้ข้อมูลข่าวสารของราชการที่เป็นข้อมูลความมั่นคงของรัฐด้านการทหารและการป้องกันประเทศ ด้านการข่าวกรอง ด้านการป้องกันและปราบปรามการก่อการร้ายด้านการต่างประเทศที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ ด้านการรักษาความปลอดภัยบุคคลและข้อมูลความมั่นคงของรัฐด้านอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีประกาศกำหนด จะเปิดเผยไม่ได้
10. กำหนดให้การพิจารณาคดีในศาลในเรื่องที่เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารที่ห้ามเปิดเผย ให้ศาลพิจารณาเป็นการลับ และห้ามเปิดเผยเนื้อหาสาระของข้อมูลและวิธีการได้มาซึ่งข้อมูลทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในคำพิพากษาหรือคำสั่ง ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของรัฐ แต่ให้ศาลรับฟังข้อมูลข่าวสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้
11. กำหนดให้ข้อมูลข่าวสารของราชการที่หากเปิดเผยจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือความมั่นคงในทางเศรษฐกิจหรือการเงินการคลังของประเทศหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจมีคำสั่งมิให้เปิดเผยก็ได้
12. การพิจารณาเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารของราชการที่มีคำสั่งมิให้เปิดเผยในกรณีที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และข้อมูลด้านการถวายความปลอดภัย และในกรณีข้อมูลข่าวสารของราชการที่เป็นข้อมูลความมั่นคงของรัฐด้านการทหาร และการป้องกันประเทศ ด้านการข่าวกรอง ด้านการป้องกันและปราบปรามการก่อการร้าย ด้านการต่างประเทศที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ ด้านการรักษาความปลอดภัยบุคคลและข้อมูลความมั่นคงของรัฐด้านอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีประกาศกำหนด จะต้องดำเนินกระบวนการพิจารณาเป็นการลับ ส่วนการพิจารณาที่เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารที่มีคำสั่งมิให้เปิดเผยตามมาตรา 15 ให้ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยมิให้ข้อมูลข่าวสารนั้นเปิดเผยแก่บุคคลอื่นใดที่ไม่จำเป็นแก่การพิจารณา
13. กำหนดให้ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐมีคำสั่งไม่ให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารใดตามมาตรา 13/1 มาตรา 13/2 หรือมาตรา 15 หรือมีคำสั่งไม่รับฟังคำคัดค้านของผู้มีประโยชน์ได้เสีย ตามมาตรา 17 ผู้นั้นอาจอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง
14. กำหนดให้โอนหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญและพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เฉพาะที่เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่อยู่ในความครอบครองหรือควบคุมดูแลของหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งการพิจารณาเรื่องร้องเรียน การไกล่เกลี่ย การสั่งลงโทษปรับทางปกครอง และการดำเนินการอื่นที่จำเป็นเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารดังกล่าว มาเป็นของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการหรือคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารแล้วแต่กรณี
15. กำหนดให้มีคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการโดยมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแล ให้คำแนะนำ และคำปรึกษาเกี่ยวกับการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐ หรือตอบข้อหารือแก่ประชาชนเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ เสนอแนะในการตราพระราชกฤษฎีกาและการออกกฎกระทรวงหรือระเบียบ เสนอความเห็นต่อนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีในการกำหนดนโยบายหรือปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลข่าวสารของราชการ พิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องร้องเรียน จัดทำรายงานเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้เสนอคณะรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ และดำเนินการเรื่องอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย
16. กำหนดให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาต่าง ๆ ตามความเหมาะสม โดยมีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร คำสั่งไม่รับฟังคำคัดค้าน คำสั่งไม่แก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือลบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล และอำนาจหน้าที่อื่นตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ และในกรณีที่ผู้อุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ผู้อุทธรณ์อาจฟ้องคดีต่อศาลปกครองชั้นต้นภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบหรือถือว่าทราบคำวินิจฉัยนั้น คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นให้เป็นที่สุด แต่คู่กรณีอาจคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นได้โดยทำเป็นคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์ไปพร้อมกับคำอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ทั้งนี้ ให้รอการปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นไว้จนกว่าจะพ้นระยะเวลาขออนุญาตอุทธรณ์ หรือศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งไม่อนุญาตให้อุทธรณ์ แล้วแต่กรณี
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 มีนาคม 2564