คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ. .... (ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2564) และร่างพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ. .... (ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2564) ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาเป็นการล่วงหน้าแล้ว และให้ดำเนินการต่อไปได้
สลค. เสนอว่า ตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ. 2564 ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2564 ประธานรัฐสภาจึงได้มีคำสั่งให้นัดประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ 1 (สมัยวิสามัญ) วันพุธที่ 17 มีนาคม 2564 และครั้งที่ 2 (สมัยวิสามัญ) วันพฤหัสบดีที่ 18 มีนาคม 2564 และได้มีพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ. 2564 ตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2564 นั้น
สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแจ้งว่า ในการประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ. 2564 ได้มีการพิจารณาเรื่องด่วน ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) และร่างพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. .... ในวาระที่สามเสร็จสิ้นแล้ว และได้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. .... ในวาระที่สองเพียงบางมาตรา โดยที่ประชุมไม่ได้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. .... ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด และร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ในวาระที่สองและวาระที่สามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแต่อย่างใด
ดังนั้น เพื่อให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. .... ร่างพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. .... ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด และร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ในวาระที่สองและวาระที่สามให้แล้วเสร็จ เพื่อประโยชน์แห่งรัฐตามมาตรา 122 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงมีความจำเป็นในการเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภาในช่วงระหว่างวันพุธที่ 7 และวันพฤหัสบดีที่ 8 เมษายน 2564 เพื่อให้รัฐสภาได้ประชุมร่วมกันพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 มีนาคม 2564