ร่างพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. ....

ข่าวการเมือง Wednesday March 24, 2021 09:03 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ร่างพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. .... และมาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบร่างพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. .... และข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) พร้อมทั้งมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

2. เห็นชอบมาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องที่เสนอ

3. เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยจำนวน 4 ฉบับ

4. มอบหมายให้กรมสรรพากรพิจารณาดำเนินการออกกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องโดยเร็วต่อไป

สาระสำคัญ

ร่างพระราชกำหนดฯ และมาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง มีรายละเอียด ดังนี้

1. ร่างพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. ....

ร่างพระราชกำหนดฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) กำหนดมาตรการเสริมสภาพคล่องและแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมแก่ผู้ประกอบธุรกิจที่เหมาะสม คุ้มค่า และสอดคล้องกับสภาวะและสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันเพื่อป้องกันไม่ให้ภาคธุรกิจเกิดสภาวะขาดสภาพคล่องและให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนให้ทั่วถึงและเพียงพอยิ่งขึ้นและ (2) กำหนดมาตรการลดภาระหนี้ของผู้ประกอบธุรกิจเป็นการชั่วคราวสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่อาจยังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ เนื่องจากไม่สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้หรือดำเนินธุรกิจได้เต็มศักยภาพให้สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ รวมถึงเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจ รักษาการจ้างงาน และเพิ่มความสามารถในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง พร้อมทั้งกำหนดกรอบระยะเวลาให้กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พัฒนากลไกการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจผ่านสถาบันการเงินและ SFIs เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการช่วยเหลือของผู้ประกอบธุรกิจในสถานการณ์วิกฤติได้อย่างครอบคลุม มีประสิทธิผลและทันการณ์ในอนาคต โดยสรุปสาระสำคัญของร่างพระราชกำหนดฯ การรับฟังความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแผนการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรอง รวมทั้งประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

1.1 สรุปสาระสำคัญของร่างพระราชกำหนดฯ

(1) ให้กระทรวงการคลัง ธปท. และ บสย. มีหน้าที่และอำนาจดำเนินการตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในร่างพระราชกำหนดฯ เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอันเกิดจากการระบาดของโควิด-19 หรือจากมาตรการที่ภาครัฐกำหนดเพื่อระงับ ยับยั้ง และแก้ไขปัญหาจากการระบาดของโควิด-19 (ร่างมาตรา 3 และ 4)

(2) ธปท. สามารถให้กู้ยืมแก่สถาบันการเงินตามร่างพระราชกำหนดฯ ซึ่งได้แก่ธนาคารพาณิชย์และ SFIs เป็นการชั่วคราวภายในวงเงินไม่เกิน 350,000 ล้านบาท เพื่อใช้ประโยชน์ตามที่กำหนดในร่างพระราชกำหนดฯ โดยมิให้นำบทบัญญัติมาตรา 9 (4) แห่ง พ.ร.บ. ธปท.ฯ มาบังคับใช้แก่การให้กู้ยืมเงินของ ธปท. ตามร่างพระราชกำหนดฯ ทั้งนี้ การให้กู้ยืมเงินอาจทำโดยวิธีการรับซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินที่สถาบันการเงินผู้กู้เป็นผู้ออกก็ได้ (ร่างมาตรา 5)

(3) หมวด 1 มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (มาตรการสนับสนุนสินเชื่อฯ)

มาตรการสนับสนุนสินเชื่อฯ กำหนดกลไกการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 แต่ยังมีศักยภาพให้เข้าถึงสินเชื่อในอัตราที่เหมาะสมผ่านกลไกการลด Credit Risk ของภาครัฐ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มดังกล่าวสามารถประคับประคองธุรกิจและรักษาการจ้างงาน รวมทั้งปรับปรุงธุรกิจเพื่อให้สอดรับกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากการระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง ซึ่งทำให้ภาคธุรกิจสามารถฟื้นตัวได้เร็วและไม่กระทบต่อศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ดังนี้

(3.1) ให้ ธปท. สามารถให้กู้ยืมแก่สถาบันการเงินภายในวงเงินไม่เกิน 250,000 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี เพื่อให้นำไปให้กู้ยืมแก่ผู้ประกอบธุรกิจที่ 1) มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาท หรือผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินแห่งหนึ่งแห่งใด ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 โดยวงเงินสินเชื่อดังกล่าวไม่รวมวงเงินสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคที่ ธปท. ประกาศกำหนด และ 2) ไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามตามที่ ธปท. กำหนด ทั้งนี้ ธปท. โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีอาจให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงินเพิ่มเติมได้แต่เมื่อรวมกับวงเงินให้กู้ยืมเพื่อวัตถุประสงค์อื่นตามร่างพระราชกำหนดฯ แล้วต้องไม่เกิน 350,000 ล้านบาท (ร่างมาตรา 7 8 และ 10)

(3.2) ให้สถาบันการเงินยื่นคำขอกู้ยืมเงินต่อ ธปท. ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ ธปท. กำหนด ภายใน 2 ปี นับแต่ร่างพระราชกำหนดฯ มีผลบังคับใช้ ทั้งนี้ ธปท. โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีจะขยายระยะเวลาดังกล่าวออกไปอีก 1 ปีก็ได้ในกรณีที่ยังมีวงเงินเหลืออยู่ และมีความจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือต่อไป หรือยุติมาตรการสนับสนุนสินเชื่อฯ ก่อนระยะเวลาที่กำหนดได้ โดยสถาบันการเงินต้องชำระคืนเงินที่ได้กู้ยืมพร้อมดอกเบี้ยแก่ ธปท. ภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้รับเงินกู้จาก ธปท. (ร่างมาตรา 9 และ 12)

(3.3) สถาบันการเงินต้องนำสินเชื่อที่ได้จากข้อ 1.1 (2) ไปปล่อยให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจที่มีคุณสมบัติตามข้อ 1.1 (3) (3.1) โดยมีเงื่อนไขดังนี้

(3.3.1) สำหรับกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจมีวงเงินสินเชื่ออยู่กับสถาบันการเงินแต่ละแห่ง ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 วงเงินสินเชื่อตามร่างพระราชกำหนดฯ ต้องไม่เกินร้อยละ 30 ของวงเงินสินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 หรือ ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่าแต่ต้องไม่เกิน 150 ล้านบาท ทั้งนี้ รวมถึงวงเงินสินเชื่อที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับตาม พ.ร.ก. Soft Loan แต่ไม่รวมถึงวงเงินสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคที่ ธปท. ประกาศกำหนด

(3.3.2) สำหรับกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่มีวงเงินสินเชื่ออยู่กับสถาบันการเงินแห่งหนึ่งแห่งใด ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 วงเงินสินเชื่อตามร่างพระราชกำหนดฯ ต้องไม่เกิน 20 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ในแต่ละขณะได้ คณะรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของ ธปท. สามารถขยายวงเงินสินเชื่อดังกล่าวได้

ทั้งนี้ ให้สถาบันการเงินคิดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยตลอดอายุสัญญาในช่วงที่ได้รับสินเชื่อจาก ธปท. ตามข้อ 1.1 (2) ตามที่ ธปท. กำหนด แต่ต้องเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี ทั้งนี้ ในช่วงระยะเวลา 2 ปีแรกของสัญญาให้คิดอัตราดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี (ร่างมาตรา 9 และ 11)

(3.4) เพื่อช่วยลดภาระดอกเบี้ยของผู้ประกอบธุรกิจให้สถาบันการเงินไม่เรียกเก็บดอกเบี้ยจากผู้ประกอบธุรกิจเป็นระยะเวลา 6 เดือนแรก นับแต่วันที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับสินเชื่อของการยื่นขอสินเชื่อแต่ละคราว โดยรัฐบาลจะรับภาระดอกเบี้ยในส่วนนี้แทนผู้ประกอบธุรกิจ ทั้งนี้ เมื่อครบ 2 ปี 6 เดือนนับแต่วันที่ร่างพระราชกำหนดฯ มีผลบังคับใช้ ให้ ธปท. เริ่มทยอยดำเนินการคำนวณเงินที่รัฐบาลต้องรับภาระดังกล่าว และเสนอต่อกระทรวงการคลังเพื่อดำเนินการจ่ายเงินชดเชยดอกเบี้ยดังกล่าวให้แก่ ธปท. เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป (ร่างมาตรา 11)

(3.5) ให้สถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจ และเจ้าของทรัพย์สินหลักประกันได้รับลดหย่อนค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน การจำนองอสังหาริมทรัพย์และอาคารชุด และได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมทุกประเภทที่เกี่ยวกับการจดทะเบียน สัญญาหลักประกันทางธุรกิจ จากการให้กู้ยืมเงินตามมาตรการสนับสนุนสินเชื่อฯ ภายใต้ร่างพระราชกำหนดฯ

(3.6) ให้มีกลไกการค้ำประกันสินเชื่อที่สถาบันการเงินปล่อยให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจตามข้อ 1.1 (3) (3.3) โดยมีระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี และให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมโดยเฉลี่ยได้ไม่เกินร้อยละ 1.75 ต่อปี ของวงเงินสินเชื่อภายใต้กลไกการค้ำประกันนี้ โดยให้กระทรวงการคลังชดเชยค่าธรรมเนียมดังกล่าวโดยเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 3.5 ต่อปีของวงเงินสินเชื่อภายใต้กลไกการค้ำประกันนี้

ทั้งนี้ ให้กระทรวงการคลังโดยคำแนะนำของ ธปท. ประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของกลไกการค้ำประกัน ซึ่งรวมถึงการกำหนดวงเงินวงเงินของกลไกการค้ำประกันย่อยภายใต้กลไกการค้ำประกันดังกล่าวรวมถึงหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และวงเงินของกลไกการค้ำประกันย่อยดังกล่าว ทั้งนี้ การชำระหนี้ตามภาระการค้ำประกันข้างต้นให้แก่สถาบันการเงินแต่และแห่งต้องไม่เกินร้อยละ 40 ของยอดค้ำประกันสินเชื่อที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับ ตามข้อ 1.1 (3) (3.3) จากสถาบันการเงินแต่ละแห่ง และให้ บสย. มีอำนาจและหน้าที่ดำเนินกลไกการค้ำประกันนี้และให้มีการบันทึกบัญชีการดำเนินการดังกล่าวแยกจากบัญชีการดำเนินธุรกรรมตามปกติของ บสย. (ร่างมาตรา 13)

(3.7) เมื่อชำระหนี้จากการค้ำประกันสินเชื่อตามข้อ 1.1 (3) (3.6) แล้ว ให้ บสย. เข้ารับช่วงสิทธิในสิทธิเรียกร้องที่สถาบันการเงินมีต่อผู้ประกอบธุรกิจรวมถึงหลักประกันที่มีอยู่กับสิทธิเรียกร้องนั้นและบริหารสินทรัพย์และบริหารจัดการสิทธิเรียกร้องดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของ ธปท. โดยรายได้ทั้งหมดที่เกิดจากการบริหารจัดการสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้ บสย. นำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ทั้งนี้ ให้ บสย. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการที่จำเป็นเพื่อให้กลไกการค้ำประกันตามข้อ 1.1 (3) (3.6) เป็นไปตามวัตถุประสงค์แห่งพระราชกำหนดฯ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินและสภาพคล่องของ บสย. ในแต่ละปี (ร่างมาตรา 14 และ 15)

ทั้งนี้ เนื่องจากร่างพระราชกำหนดฯ ให้อำนาจหน้าที่ บสย. ชั่วคราวในการดำเนินกลไกการค้ำประกันสินเชื่อ รวมทั้งบริหารสินทรัพย์และบริหารจัดการสิทธิเรียกร้องที่ได้รับจากการค้ำประกันสินเชื่อ ซึ่งเป็นการดำเนินการเพิ่มเติมจากภารกิจของ บสย. ตามกฎหมายจัดตั้ง บสย. ดังนั้น ขอให้ บสย. สามารถนำค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามร่างพระราชกำหนดฯ บวกกลับกำไรสุทธิเพื่อการคำนวณโบนัสของพนักงานได้และให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจปรับปรุงบันทึกข้อตกลงประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจของ บสย. ในปี 2564 และนำการดำเนินงานตามภารกิจของ บสย. ตามร่างพระราชกำหนดฯ ไปพิจารณากำหนดข้อตกลงการประเมินผลการดำเนินการรัฐวิสาหกิจของ บสย. ในแต่ละปีเพื่อให้การดำเนินการตามร่างพระราชกำหนดฯ เป็นไปตามวัตถุประสงค์และมีประสิทธิภาพ

2. มาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง

2.1 มาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินและตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุดเพื่อสนับสนุนมาตรการสนับสนุนสินเชื่อฯ

(1) วัตถุประสงค์ : ลดภาระค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนสินเชื่อฯ เพื่อบรรเทาภาระให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด - 19 และส่งเสริมให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อภายใต้มาตรการสนับสนุนสินเชื่อฯ ได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอมากขึ้น

(2) กลุ่มเป้าหมาย :

(2.1) สถาบันการเงินตามร่างพระราชกำหนดฯ ที่ปล่อยสินเชื่อภายใต้ร่างพระราชกำหนดฯ ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ

(2.2) ผู้ประกอบธุรกิจที่มีคุณสมบัติตามร่างพระราชกำหนดฯ ในส่วนมาตรการสนับสนุนสินเชื่อฯ

(3) ระยะเวลาดำเนินงาน : สอดคล้องกับระยะเวลามาตรการสนับสนุนสินเชื่อฯ ภายใต้ร่างพระราชกำหนดฯ

(4) วิธีดำเนินงาน : ตรา 1) ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นพิเศษตามประมวลกฎหมายที่ดิน สำหรับการดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ ตามกฎหมายว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด จำนวน 1 ฉบับ และ 2) ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด สำหรับการดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ ตามกฎหมายว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือพื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด จำนวน 1 ฉบับ สำหรับการดำเนินการภายใต้มาตรการสนับสนุนสินเชื่อฯ โดยมีสาระสำคัญให้ลดค่าจดทะเบียนการจำนองเหลือร้อยละ 0.01 สำหรับการจำนองอสังหาริมทรัพย์และอาคารชุดที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดภายใต้มาตรการสนับสนุนสินเชื่อฯ ภายใต้ร่างพระราชกำหนดฯ

อย่างไรก็ดี หากร่างพระราชกำหนดฯ ครบกำหนด 2 ปีแล้ว และคณะรัฐมนตรีพิจารณาขยายระยะเวลามาตรการสนับสนุนสินเชื่อฯ ในกรณีที่มีวงเงินสินเชื่อภายใต้มาตรการเหลืออยู่และยังมีความจำเป็นในการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจไปอีก 1 ปี จะต้องจัดทำร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวใหม่อีกจำนวน 2 ฉบับ เพื่อให้มีผลใช้บังคับสอดคล้องกับระยะเวลามาตรการดังกล่าว

(5) สูญเสียรายได้ : 2,475 ล้านบาท

(6) ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ : สถาบันการเงินผู้ให้สินเชื่อและผู้ประกอบธุรกิจตามมาตรการสนับสนุนสินเชื่อฯ ในภาพรวมมีต้นทุนในการปล่อยสินเชื่อดังกล่าวลดลง ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถเข้าถึงสินเชื่อตามมาตรการสนับสนุนสินเชื่อฯ เพื่อดำเนินธุรกิจ และพื้นฟูกิจการในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด - 19

2.2 มาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์ฯ

(1) วัตถุประสงค์ : ลดภาระภาษีอากรและค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้น จากการดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์ฯ ของสถาบันการเงินผู้ให้กู้ และผู้ประกอบธุรกิจผู้กู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด - 19 และใช้เวลานานในการฟื้นฟูธุรกิจสามารถตีโอนทรัพย์ที่ใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อชำระหนี้เพื่อลดภาระต้นทุนทางการเงินเป็นการชั่วคราว และผู้ประกอบธุรกิจมีภาระลดลงในกรณีที่มีความประสงค์ที่จะซื้อทรัพย์สินคืนจากสถาบันการเงิน

(2) กลุ่มเป้าหมาย :

(2.1) สถาบันการเงินตามร่างพระราชกำหนดฯ ที่เข้าร่วมมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์ฯ ภายใต้ร่างพระราชกำหนดฯ

(2.2) ผู้ประกอบธุรกิจที่มีคุณสมบัติตามร่างพระราชกำหนดฯ ที่เข้าร่วมมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์ฯ ภายใต้ร่างพระราชกำหนดฯ

(3) ระยะเวลาดำเนินงาน : สอดคล้องกับระยะเวลามาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์ฯ ภายใต้ร่างพระราชกำหนดฯ

(4) วิธีดำเนินงาน :

(4.1) ตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อดำเนินการ ดังนี้ (1) ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ลูกหนี้สำหรับเงินได้ที่ได้จากการปลดหนี้ของเจ้าหนี้ และ (2) ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่ลูกหนี้และเจ้าหนี้สำหรับเงินได้ที่ได้จากการโอนทรัพย์สิน และการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์ฯ ภายใต้ร่างพระราชกำหนดฯ

ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

(4.2) ออกกฎกระทรวงผ่อนปรนหลักเกณฑ์การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้สำหรับหนี้ที่เจ้าหนี้ปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ โดยไม่ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ปกติ สำหรับการดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์ฯ ภายใต้ร่างพระราชกำหนดฯ

(4.3) ออกคำสั่งกรมสรรพากรเพื่อกำหนดให้การโอนทรัพย์และการเช่าทรัพย์ระหว่างสถาบันการเงิน และผู้ประกอบธุรกิจตามมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์ฯ ภายใต้ร่างพระราชกำหนดฯ อาจมีมูลค่าต่ำกว่าอัตราตลาดให้ถือเป็นเหตุอันควร ดังนี้

(4.3.1) การโอนทรัพย์จากผู้ประกอบธุรกิจให้สถาบันการเงินเป็นระยะเวลาสองปีนับตั้งแต่วันที่ร่างพระราชกำหนดฯ มีผลบังคับใช้

(4.3.2) การเช่าทรัพย์ที่ตีโอนของผู้ประกอบธุรกิจ นับตั้งแต่วันที่ร่างพระราชกำหนดฯ มีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2571

(4.3.3) การโอนทรัพย์กลับให้ผู้ประกอบธุรกิจในกรณีที่มีการซื้อคืนนับตั้งแต่วันที่ร่างพระราชกำหนดฯ มีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2571

(4.4) ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นพิเศษตามประมวลกฎหมายที่ดิน สำหรับการดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิซื้อทรัพย์สินนั้นคืนในภายหลัง ตามกฎหมายว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด จำนวน 1 ฉบับ และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด สำหรับการดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิซื้อทรัพย์สินนั้นคืนในภายหลัง ตามกฎหมายว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด จำนวน 1 ฉบับ โดยให้เรียกเก็บค่าจดทะเบียนการโอนและจำนองอสังหาริมทรัพย์และห้องชุดทั้งหมดในอาคารชุดซึ่งจดทะเบียนอาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุดและห้องชุดในอาคารชุดซึ่งจดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด ร้อยละ 0.01 สำหรับการดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์ฯ ภายใต้ร่างพระราชกำหนดฯ ในกรณีดังต่อไปนี้

(4.4.1) กรณีผู้ประกอบธุรกิจโอนอสังหาริมทรัพย์หรือห้องชุดหลักประกันเพื่อชำระหนี้ให้แก่สถาบันการเงิน ภายใน 2 ปีนับตั้งแต่ประกาศกระทรวงมหาดไทยมีผลบังคับใช้

(4.4.2) กรณีสถาบันการเงินโอนอสังหาริมทรัพย์หรือห้องชุดที่ได้รับโอนมาตามข้อ 2.2 (4) (4.4) (4.4.1) ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจตามข้อ 2.2 (4) (4.4) (4.4.1) ภายใน 7 ปีนับตั้งแต่ประกาศกระทรวงมหาดไทยมีผลบังคับใช้

4.4.3) กรณีการจำนองอสังหาริมทรัพย์หรือห้องชุดระหว่างผู้ประกอบธุรกิจตามข้อ 2.2 (4) (4.4) (4.4.1) กับสถาบันการเงิน โดยจดทะเบียนจำนองอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวเป็นหลักประกันในคราวเดียวกันกับการโอนตามข้อ 4.2.2 (4) (4.4) (4.2)

อย่างไรก็ดี หากร่างพระราชกำหนดฯ ครบกำหนด 2 ปีแล้ว และคณะรัฐมนตรีพิจารณาขยายระยะเวลามาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์ฯ ในกรณีที่มีวงเงินสินเชื่อภายใต้มาตรการเหลืออยู่และยังมีความจำเป็นในการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจไปอีก 1 ปี จะต้องจัดทำร่างกฎหมายลำดับรองข้างต้นใหม่ เพื่อให้มีผลบังคับใช้สอดคล้องกับระยะเวลามาตรการดังกล่าว

(5) สูญเสียรายได้ : คาดว่าจะสูญเสียรายได้ภาษีประมาณ 12,000 ล้านบาท และรายได้ค่าธรรมเนียมประมาณ 3,727.50 ล้านบาท

(6) ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ : ผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มดังกล่าวมีภาระทางการเงินลดลงและมีโอกาสที่จะซื้อสินทรัพย์คืนเพื่อดำเนินธุรกิจต่อไปในราคาที่ไม่สูงเกินจริงเพื่อดำเนินธุรกิจต่อเมื่อสถานการณ์การระบาดของโควิด - 19 คลี่คลายลง อีกทั้งเป็นการลดโอกาสที่ผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มดังกล่าวถูกกดราคาทรัพย์สินในกรณีที่มีความต้องขายทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่กลุ่มทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อชำระหนี้แก่สถาบันการเงิน

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 มีนาคม 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ