ผลการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (นัดพิเศษ)

ข่าวการเมือง Wednesday March 24, 2021 09:23 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ ดังนี้

1. รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (นัดพิเศษ) เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2564 ตามที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เสนอ

2. มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมติคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และข้อสั่งการของประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติในการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (นัดพิเศษ) เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2564 และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงบประมาณและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย

3. ในส่วนของการดำเนินแผนงาน/โครงการที่มีวงเงินงบประมาณตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ให้หน่วยงานเจ้าของแผนงาน/โครงการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีอย่างครบถ้วนด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง
กนช. รายงานว่า ในการประชุม กนช. (นัดพิเศษ) เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2564 โดยมี รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธานการประชุมฯ มีผลการประชุมสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. เรื่องเพื่อทราบ (3 เรื่อง)

1.1 รายงานสถานการณ์น้ำปัจจุบัน เช่น สถานการณ์น้ำจากแหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำ 48,558 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 59 โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 24,456 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 42 และแผนและผลการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งปี 2563/64 มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง และมีแผนการจัดสรรน้ำทั้งฤดูแล้งปี 2563/64 รวมทั้งประเทศ 11,749 ล้านลูกบาศก์เมตร

ความเห็น/ข้อสั่งการของประธาน/มติที่ประชุม

ความเห็นของฝ่ายเลขานุการ กนช. : เนื่องจากสถานการณ์ปริมาณน้ำในพื้นที่ภาคเหนือ และปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลัก ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้อยกว่าร้อยละ 10 ของปริมาณน้ำใช้การได้จนถึงต้นเดือนมิถุนายน 2564 จึงควรคำนึงถึงการใช้น้ำอย่างประหยัด และพิจารณาการนำน้ำมาใช้ผลักดันน้ำเค็ม รวมทั้งกำหนดมาตรการที่ชัดเจนและดำเนินการลงทะเบียนสำหรับผู้ที่เพาะปลูกพืชในฤดูแล้งอย่างเป็นทางการ

มติที่ประชุม : รับทราบรายงานสถานการณ์น้ำปัจจุบัน

1.2 การจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการแผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (11,524 รายการ วงเงิน 172,795.92 ล้านบาท) และความก้าวหน้าการเบิกจ่ายงบประมาณ แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 (3,310 โครงการ วงเงิน 65,548.68 ล้านบาท)

ความเห็น/ข้อสั่งการของประธาน/มติที่ประชุม

มติที่ประชุม : รับทราบการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการฯ และความก้าวหน้าการเบิกจ่ายงบประมาณฯ

1.3 ผลการดำเนินงานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ครั้งที่ 1/2564

1) เรื่องที่คณะอนุกรรมการฯ รับทราบ 2 เรื่อง ได้แก่ 1.1) แผนงานและโครงการด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่มีวงเงินงบประมาณ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป รวม 12 โครงการ และ 1.2) การจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (ในส่วนของโครงการขนาดใหญ่)

2) เรื่องที่คณะอนุกรรมการฯ เห็นชอบ 3 เรื่อง ได้แก่ 2.1) หลักเกณฑ์และแนวทางการพิจารณาโครงการขนาดใหญ่ (กรณีที่เสนอคณะรัฐมนตรีขอตั้งงบประมาณแต่ยังไม่ผ่าน กนช.) 2.2) โครงการขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ 5 โครงการ และ 2.3) ความเห็นและข้อเสนอแนะจากการประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ

ความเห็นของคณะอนุกรรมการฯ :

1) โครงการใดมีความเหมาะสมตามหลักเกณฑ์ให้ดำเนินการตามขั้นตอนและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

2) โครงการใดที่คณะอนุกรรมการฯ และ กนช. ยังไม่ได้มีการพิจารณา หรือให้ความเห็น ข้อเสนอแนะในการจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติม ต้องชะลอการขอตั้งงบประมาณ จนกว่าจะมีความชัดเจน และขอให้สำนักงบประมาณ (สงป.) รับความเห็นของคณะอนุกรรมการฯ และ กนช. ไปประกอบการพิจารณาการจัดสรรงบประมาณให้กับส่วนราชการต่อไป

3) ให้กรมชลประทานดำเนินการตามแผนดำเนินงาน (Road Map) ที่เสนอ

4) สำหรับโครงการระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้แสดงรายละเอียดความเชื่อมโยงระบบการระบายน้ำทั้งในและนอกพื้นที่ และโครงการที่ส่งผลกระทบในภาพรวม โดยจัดทำแผนหลักการบรรเทาอุทกภัยและการจัดการน้ำท่วมในพื้นที่ กทม. พร้อมทั้งจัดลำดับความสำคัญ

ความเห็น/ข้อสั่งการของประธาน/มติที่ประชุม

ข้อสั่งการของประธาน : ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการฯ ให้ครบถ้วน

มติที่ประชุม : รับทราบผลการดำเนินงานฯ และให้ สงป. นำมติของคณะอนุกรรมการฯ ไปประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณต่อไป

2. เรื่องเพื่อพิจารณา (4 เรื่อง)

2.1 โครงการขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมเสนอขอตั้งงบประมาณปี พ.ศ. 2565 จำนวน 5 โครงการ

1) โครงการของ กทม. 4 โครงการ ได้แก่

1.1) โครงการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. (สมอยึดด้านหลัง) คลองบางไผ่ จากบริเวณคลองพระยาราชมนตรีถึงบริเวณสุดเขต กทม. ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 20 ตารางกิโลเมตร และสามารถรองรับปริมาณน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของ กทม. ให้ระบายผ่านคลองบางไผ่ไปยังคลองทวีวัฒนาหรือไปทางคลองพระยาราชมนตรี เพิ่มปริมาตรเป็นแก้มลิงสามารถกักเก็บน้ำเพิ่มได้อีก 186,300 ลูกบาศก์เมตร แล้วระบายน้ำลงสู่โครงการแก้มลิง คลองมหาชัย-คลองสนามชัยได้สองทาง ระยะเวลาดำเนินงาน 4 ปี (พ.ศ. 2565-2568) วงเงิน 1,028.30 ล้านบาท

1.2) โครงการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. พร้อมระบบรวบรวมน้ำเสียคลองแสนแสบ จากบริเวณประตูระบายน้ำมีนบุรีถึงบริเวณประตูระบายน้ำหนองจอก มีความยาว 47.50 กิโลเมตร ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนแล้ว 9.72 กิโลเมตร และอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง 24.08 กิโลเมตร สามารถรองรับปริมาณน้ำหลากจากพื้นที่ฝั่งตะวันออกของ กทม. ระบายน้ำไปยังแม่น้ำบางปะกง ได้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 479,500 ลูกบาศก์เมตร มีระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี (พ.ศ. 2565-2569) วงเงิน 1,799.90 ล้านบาท

1.3) โครงการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. คลองบางนา จากคลองเคล็ดถึงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา รวม 14.50 กิโลเมตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่เขตบางนาและเขตประเวศครอบคลุมพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 25 ตารางกิโลเมตร มีระยะเวลาดำเนินงาน 4 ปี (พ.ศ. 2565-2568) วงเงิน 1,981.50 ล้านบาท

1.4) โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อจากถนนรัชดาภิเษกถึงคลองลาดพร้าว ความยาวประมาณ 1,700 เมตร พร้อมทั้งสร้างอาคารรับน้ำแห่งใหม่ที่คลองลาดพร้าวจะสามารถรับน้ำจากคลองลาดพร้าวได้สูงสุด 38 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี (พ.ศ. 2565-2567) วงเงิน 1,759.40 ล้านบาท

ความเห็นของฝ่ายเลขานุการ กนช. : มีความเห็นเหมือนกันกับคณะอนุกรรมการฯ ในข้อ 1)-3) และมีความเห็นต่อรายโครงการที่ กทม. เสนอ ดังนี้

1) โครงการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. (สมอยึดด้านหลัง)ฯ ให้ กทม. จัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำที่สอดคล้องกับโครงการอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองทวีวัฒนาและอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองพระยาราชมนตรีและคลองอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่ชัดเจน

2) โครงการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. พร้อมระบบรวบรวมน้ำเสียคลองแสนแสบฯ เห็นควรให้ กทม. นำโครงการเขื่อน ค.ส.ล. พร้อมระบบรวบรวมน้ำเสียคลองแสนแสบเข้าสู่แผนปฏิบัติการในคณะอนุกรรมการบริหาร พัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูคลองแสนแสบ ซึ่งจะแต่งตั้งต่อไป

3) โครงการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. คลองบางนาฯ ให้ กทม. จัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำที่สอดคล้องกับการระบายน้ำของพื้นที่ จ.สมุทรปราการ เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่ชัดเจน

4) โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายอุโมงค์ฯ ให้ กทม. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการการระบายน้ำให้สอดคล้องกันทั้งระบบ เพื่อประสิทธิภาพในการระบายน้ำในภาพรวม

ข้อสั่งการของประธาน : ให้ กทม. วางแผนการใช้งบประมาณรายได้ของ กทม. เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ กทม. และดำเนินการตามความเห็นของคณะอนุกรรมการฯ และฝ่ายเลขานุการ กนช. ต่อไป

มติที่ประชุม : เห็นชอบโครงการของ กทม. 4 โครงการ และให้ กทม. ดำเนินการตามความเห็นของคณะอนุกรรมการฯ ฝ่ายเลขานุการ กนช. และข้อสั่งการประธาน กนช. และดำเนินการตามระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

ความเห็นของคณะอนุกรรมการฯ :

1) ให้ กทม. จัดทำแผนหลักการบรรเทาอุทกภัยและการจัดการน้ำท่วมพื้นที่ กทม. เสนอต่อคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อพิจารณาความสอดคล้องเชื่อมโยงและลดการซ้ำซ้อนโครงการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

2) เห็นควรสนับสนุนงบประมาณสำหรับโครงการของ กทม. ที่มีความเชื่อมโยงหรือสนับสนุนแผนหลักการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาหรืองานนโยบายของรัฐบาล หากเป็นโครงการที่เป็นคลองซอยเพื่อการระบายน้ำในพื้นที่เขต กทม. ให้ กทม. ใช้งบประมาณรายได้ของ กทม. ในการดำเนินโครงการ

3) ให้ สงป. ร่วมกับ กทม. กำหนดสัดส่วนเงินงบประมาณ เนื่องจาก กทม. เป็นหน่วยงานที่มีรายได้ของตนเอง

4) ให้ทุกหน่วยงานที่เสนอโครงการขนาดใหญ่ต้องแสดงรายละเอียดสมมุติฐาน การคำนวณผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ให้ชัดเจน เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ

5) ให้กรมชลประทานเร่งปรับปรุงคลองสนามชัย-คลองมหาชัย รวมถึงคันป้องกันตลิ่งที่ได้มีการศึกษาไว้แล้ว เพื่อเชื่อมโยงระบบระบายน้ำที่ กทม. ได้วางแผนไว้

2) สถานีสูบน้ำดิบพร้อมระบบท่อส่งน้ำเพื่อรองรับการพัฒนาเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน จังหวัดปัตตานี โดยดำเนินการก่อสร้างในพื้นที่ของกรมชลประทานโดยใช้น้ำจากเขื่อนปัตตานีและได้นำเสนอต่อคณะอนุกรรมการฯ ในการประชุม ครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2563 ซึ่งจังหวัดปัตตานี ได้นำความเห็นและข้อสั่งการของที่ประชุมมาดำเนินการทบทวนและปรับปรุงรายละเอียดโครงการ ได้แก่ 1) ปรับผู้รับผิดชอบการดำเนินโครงการจากจังหวัดปัตตานี เป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี (อบจ. ปัตตานี) 2) ปรับลดวงเงินงบประมาณจากเดิม 1,230.9654 ล้านบาท เป็น 1,030.9653 ล้านบาท และ 3) ที่ตั้งโครงการใช้ที่ดินในบริเวณโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปัตตานี (ไม่มีค่าจัดหาที่ดิน 200 ล้านบาท) มีระยะเวลาดำเนินงาน 2 ปี (พ.ศ. 2565-2566)

ความเห็นของคณะอนุกรรมการฯ : ให้กรมชลประทาน และ อบจ. ปัตตานี จัดทำแผนการจัดสรรน้ำให้ชัดเจน และในการเชื่อมต่อระบบประปาและการดูแลบำรุงรักษาเห็นควรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้เงินรายได้ตนเองในการดำเนินการต่อไป

ความเห็นของฝ่ายเลขานุการ กนช.

1) ให้ อบจ. ปัตตานี ขอรับการจัดสรรงบประมาณในแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเร็ว

2) สำหรับการเชื่อมต่อกับระบบประปาหมู่บ้านให้ท้องถิ่นเตรียมความพร้อมและเป็นผู้ดำเนินการเพื่อให้โครงการเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

3) ให้เร่งรัดการขออนุญาตใช้น้ำ การจัดสรรน้ำ และการใช้พื้นที่ก่อสร้างจากกรมชลประทานก่อนเริ่มดำเนินโครงการ

ผู้แทน สงป. แจ้งว่าแต่โครงการนี้ยังไม่ได้นำเสนอคณะรัฐมนตรี และการจัดทำคำขอตั้งงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ได้ครบกำหนดไปแล้ว เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2564

[สทนช. ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในส่วนของโครงการสูบน้ำดิบฯ ที่มีวงเงินเกินกว่า 1,000 ล้านบาท ยังไม่ได้นำเสนอ ครม. ตามมติการประชุม กนช. โดยมีกระทรวงมหาดไทย (มท.) เป็นเจ้าของเรื่องข้อมูล ณ วันที่ 5 มีนาคม 2564]

ข้อสั่งการของประธาน : ให้ อบจ. ปัตตานี รับความเห็นของ สงป. ไปพิจารณา และดำเนินการตามความเห็นของคณะอนุกรรมการฯ และฝ่ายเลขานุการ กนช. ต่อไป

มติที่ประชุม : เห็นชอบสถานีสูบน้ำดิบฯ และให้ อบจ. ปัตตานี ดำเนินการตามความเห็นของคณะอนุกรรมการฯ สงป. ฝ่ายเลขานุการ กนช. และข้อสั่งการของประธาน กนช. และดำเนินการตามระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

ความเห็นของคณะอนุกรรมการฯ :

1) ให้ กทม. จัดทำแผนหลักการบรรเทาอุทกภัยและการจัดการน้ำท่วมพื้นที่ กทม. เสนอต่อคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อพิจารณาความสอดคล้องเชื่อมโยงและลดการซ้ำซ้อนโครงการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

2) เห็นควรสนับสนุนงบประมาณสำหรับโครงการของ กทม. ที่มีความเชื่อมโยงหรือสนับสนุนแผนหลักการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาหรืองานนโยบายของรัฐบาล หากเป็นโครงการที่เป็นคลองซอยเพื่อการระบายน้ำในพื้นที่เขต กทม. ให้ กทม. ใช้งบประมาณรายได้ของ กทม. ในการดำเนินโครงการ

3) ให้ สงป. ร่วมกับ กทม. กำหนดสัดส่วนเงินงบประมาณ เนื่องจาก กทม. เป็นหน่วยงานที่มีรายได้ของตนเอง

4) ให้ทุกหน่วยงานที่เสนอโครงการขนาดใหญ่ต้องแสดงรายละเอียดสมมุติฐาน การคำนวณผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ให้ชัดเจน เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ

5) ให้กรมชลประทานเร่งปรับปรุงคลองสนามชัย-คลองมหาชัย รวมถึงคันป้องกันตลิ่งที่ได้มีการศึกษาไว้แล้ว เพื่อเชื่อมโยงระบบระบายน้ำที่ กทม. ได้วางแผนไว้

2.2 การกำหนดให้ประธานกรรมการ กรรมการและอนุกรรมการได้รับเบี้ยประชุม ค่าพาหนะ ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พัก และค่าใช้จ่ายอย่างอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 มาตรา 22 และมาตรา 36 โดย สทนช. เห็นควรกำหนดหลักเกณฑ์ ดังนี้

1) อัตราค่าเบี้ยประชุมคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ ได้แก่

1.1) กนช. ให้ได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายเดือนเฉพาะเดือนที่เข้าร่วมประชุม โดยประธานกรรมการให้ได้รับเบี้ยประชุม ในอัตรา 10,000 บาทต่อเดือน รองประธานกรรมการ ให้ได้รับเบี้ยประชุมในอัตรา 9,000 บาทต่อเดือน และกรรมการ ที่ปรึกษาเลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการ ให้ได้รับเบี้ยประชุมในอัตรา 8,000 บาทต่อเดือน

1.2) คณะอนุกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งจาก กนช. โดยมีรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า เป็นประธาน ให้ได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายเดือน เฉพาะเดือนที่เข้าร่วมประชุม โดยประธานอนุกรรมการ ให้ได้รับเบี้ยประชุมในอัตรา 5,000 บาทต่อเดือน รองประธานอนุกรรมการให้ได้รับเบี้ยประชุม ในอัตรา 4,500 บาทต่อเดือน และอนุกรรมการ ที่ปรึกษา เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการให้ได้รับเบี้ยประชุม ในอัตรา 4,000 บาทต่อเดือน

1.3) คณะอนุกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งจาก กนช. โดยที่ประธานอนุกรรมการ มิใช่รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า ให้ได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายครั้ง เฉพาะผู้ที่มาประชุม ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) กำหนด

1.4) คณะกรรมการลุ่มน้ำ ให้ได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายเดือนเฉพาะเดือนที่เข้าร่วมประชุม โดยประธานกรรมการ ให้ได้รับเบี้ยประชุม ในอัตรา 6,250 บาทต่อเดือน รองประธานกรรมการ ให้ได้รับเบี้ยประชุม ในอัตรา 5,625 บาทต่อเดือน และกรรมการ ที่ปรึกษา เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการ ให้ได้รับเบี้ยประชุม ในอัตรา 5,000 บาทต่อเดือน

1.5) คณะอนุกรรมการที่แต่งตั้งจากคณะกรรมการลุ่มน้ำ ให้ได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายครั้ง เฉพาะผู้ที่มาประชุม ตามที่ กค. กำหนด

2) ค่าพาหนะ ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พักและค่าใช้จ่ายอย่างอื่น ให้เป็นไปตามที่ กค. กำหนด

มติที่ประชุม : เห็นชอบการกำหนดให้ประธานกรรมการ กรรมการ และอนุกรรมการได้รับเบี้ยประชุม ค่าพาหนะ ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พัก และค่าใช้จ่ายอย่างอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 มาตรา 22 และมาตรา 36 และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป

2.3 การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหาร พัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูคลองแสนแสบ เพื่อปรับปรุงแนวทางเสริมสร้างความปลอดภัยการสัญจรทางน้ำของประชาชน รวมทั้งปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ แก้ไขปัญหามลภาวะและคุณภาพน้ำ ให้สามารถดำเนินการได้อย่างครอบคลุม และบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีองค์ประกอบ 38 คน มีรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธานอนุกรรมการ และมีรองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และรองปลัด กทม. ที่ได้รับมอบหมายเป็นอนุกรรมการและเลขานุการร่วม

มติที่ประชุม : เห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ

2.4 การมอบหมายคณะอนุกรรมการภายใต้ กนช. และหน่วยงานดำเนินการตามความเห็นและข้อเสนอแนะจากการประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 ได้แก่ ประเด็นที่ 1 โครงการขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถดำเนินการได้ทั้งที่ได้รับงบประมาณไปแล้ว เนื่องจากติดปัญหาการจ่ายค่าชดเชยและการเวนคืนที่ดินที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ขอให้ สทนช. เป็นเจ้าภาพในการดำเนินการแก้ไขปัญหา ประเด็นที่ 2 ควรมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกับกรมชลประทานด้วย ประเด็นที่ 3 ให้กรมชลประทานเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพระบบชลประทานเพื่อให้มีการใช้น้ำในระบบลดลงมีปริมาณน้ำในแหล่งน้ำเพิ่มขึ้น และ ประเด็นที่ 4 ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ปรับมาตรการการลดพื้นที่การปลูกข้าวเป็นการเปลี่ยนพันธุ์ข้าวให้มีความเหมาะสมกับการใช้ปริมาณน้ำน้อยและตรงตามความต้องการของตลาด

มติที่ประชุม : เห็นชอบการมอบหมายคณะอนุกรรมการภายใต้ กนช. และหน่วยงานดำเนินการตามความเห็นและข้อเสนอแนะจากการประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติครั้งที่ 1/2564 ดังนี้

  • ประเด็นที่ 1 ให้คณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองกฎหมายด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเป็นหน่วยพิจารณา
  • ประเด็นที่ 2 มีคณะทำงานภายใต้คณะอนุกรรมการฯ ดำเนินการอยู่แล้ว
  • ประเด็นที่ 3 ให้กรมชลประทานรับความเห็นและพิจารณาจัดทำแผนหลักเสนอต่อคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำต่อไป
  • ประเด็นที่ 4 ให้ กษ. รับความเห็น และพิจารณาจัดทำแผนหลักเสนอต่อคณะอนุกรรมการฯ ต่อไป

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 มีนาคม 2564

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ