เรื่อง รายงานเสนอต่อคณะรัฐมนตรีที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (เรื่อง ขยะพลาสติกในทะเลไทย)
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานกรณีที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 พร้อมข้อเสนอแนะ เรื่อง ขยะพลาสติกในทะเลไทย ตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผผ.) เสนอ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมทั้งความเห็น ข้อสังเกต และข้อเสนอแนะเพิ่มเติมของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสำนักงบประมาณไปประกอบการพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
2.1 การจัดการขยะพลาสติก
ปัญหา
ประเทศไทยยังขาดการจัดการขยะพลาสติกอย่างเป็นระบบที่ครอบคลุมตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การบริโภค และการจัดการปลายทางเนื่องจากคุณสมบัติของพลาสติกที่มีความยืดหยุ่นสามารถขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง จึงถูกนำมาใช้เป็นผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์เพื่อทดแทนวัสดุอื่นมากขึ้น ไม่มีมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม และพลาสติกจึงยังเป็นที่ต้องการของตลาดในปริมาณมากในขั้นตอนการบริโภค เช่น ถุงพลาสติกหูหิ้ว ถุงร้อน แก้วพลาสติก และหลอดพลาสติก อีกทั้งในปัจจุบันผู้บริโภคมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เน้นความสะดวกสบายมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจบริการส่งอาหาร และการสั่งซื้อด้วยระบบออนไลน์ ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดขยะพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์จากกิจกรรมเหล่านี้เพิ่มขึ้น ตลอดจนการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยังไม่แพร่หลายและมีราคาแพงในขั้นตอนการจัดการปลายทางหลังจากบริโภค
2.2 การขาดจิตสำนึกของประชาชน
ปัญหา
การบริหารจัดการขยะของประเทศไทยไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร คือ ประชาชนขาดจิตสำนึกในการดูแลใส่ใจสิ่งแวดล้อม ยังพบปัญหาการไม่ทิ้งขยะตามจุดที่หน่วยงานจัดไว้ให้ และการขาดจิตสำนึกในการคัดแยกขยะ โดยประชาชนยังขาดความตระหนักถึงผลเสียของการไม่คัดแยกขยะที่จะทำให้ขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้เกิดการปนเปื้อน และยังมีความเข้าใจว่า แม้ตนเองจะคัดแยกขยะในครัวเรือน แต่สุดท้ายขยะจะถูกนำไปรวมปะปนกันในขั้นตอนการเก็บขน จึงไม่ให้ความร่วมมือเท่าที่ควร 3. ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 230 (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกอบมาตรา 22 (3) และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 เสนอรายงานการแสวงหาข้อเท็จจริงกรณีที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 พร้อมข้อเสนอแนะ เรื่อง ขยะพลาสติกในทะเลไทย ดังนี้
1) ให้มีการนำระบบมัดจำค่าขวดพลาสติกมาใช้
การมัดจำค่าขวดพลาสติกเป็นมาตรการหนึ่งที่ต่างประเทศนำมาใช้ในการกระตุ้นให้ผู้บริโภคนำขวดพลาสติกมาคืนเพื่อนำไปรีไซเคิล โดยค่ามัดจำขวดจะกำหนดรวมอยู่ในราคาสินค้า ดังนั้น ไทยควรศึกษาถึงกระบวนการและนวัตกรรมเครื่องรับคืนขวดเพื่อนำมาปรับใช้ต่อไป
2) ให้มีการส่งเสริม สนับสนุนการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
รัฐควรสนับสนุนการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะมุ่งเน้นธุรกิจบริการส่งอาหาร และการสั่งซื้อสินค้าด้วยระบบออนไลน์อาจทำให้การลดขยะพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์ทำได้ค่อนข้างยาก โดยอาจใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ เช่น การลดหย่อนภาษี การยกเว้นภาษี การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การให้สินเชื่อที่มีเงื่อนไขพิเศษสำหรับผู้ประกอบการที่มีการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
3) ให้มีการส่งเสริม สนับสนุนการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม ในรูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน
(Circular Economy)
ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจในรูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน มีการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน โดยภาครัฐควรมีมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจในรูปแบบดังกล่าว เช่น การลดหย่อนภาษี และการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี
4) ให้มีการออกกฎหมายกำหนดให้ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบในการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ที่ตนผลิต
ประเทศญี่ปุ่นและสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีมีการบังคับใช้กฎหมายโดยกำหนดให้ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ที่ตนผลิต หรือจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับองค์กรที่ดำเนินการแทน กฎหมายดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการความรับผิดชอบของผู้ผลิต เพื่อส่งเสริมการนำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่และเป็นแรงจูงใจให้ผู้ผลิตลดการใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ให้น้อยชิ้นที่สุด ดังนั้น หากไทยมีการออกกฎหมายดังกล่าวอาจมีส่วนช่วยแก้ปัญหาการเก็บ ขน และกำจัดขยะของ อปท. ที่มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการขยะได้ไม่คุ้มต้นทุน ซึ่งอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการดำเนินงาน
5) ให้มีการออกกฎหมายกำหนดให้ประชาชนในฐานะผู้ทำให้เกิดขยะมีหน้าที่ในการคัดแยกขยะ
การขาดจิตสำนึกของประชาชนเป็นปัญหาประการหนึ่งที่ทำให้การบริหารจัดการขยะของไทยไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ดังนั้น การออกกฎหมายกำหนดให้ประชาชนในฐานะผู้ทำให้เกิดขยะมีหน้าที่ในการคัดแยกขยะควบคู่กับการรณรงค์สร้างจิตสำนึกอาจมีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาดังกล่าวได้
6) ให้ อปท. พัฒนาการดำเนินงานในการเก็บ ขน และกำจัดขยะ ให้เป็นระบบ มีประสิทธิภาพ และครอบคลุมทั่วถึงเขตพื้นที่รับผิดชอบของตน โดยเฉพาะ ?ทางน้ำ? ในเขตพื้นที่
อปท. ซึ่งมีหน้าที่ในการเก็บ ขน และกำจัดสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยในเขตพื้นที่ตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ควรมีการพัฒนาการเก็บ ขน และกำจัดขยะให้เป็นระบบและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และควรดำเนินการให้ครอบคลุมทั่วถึงเขตพื้นที่รับผิดชอบของตน โดยเฉพาะ ?ทางน้ำ? เนื่องจากหากมีการจัดเก็บ และกำจัดขยะในแม่น้ำ ลำคลอง ตลอดจนท่อระบายน้ำที่มีประสิทธิภาพแล้ว จะส่งผลให้ปริมาณขยะ โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่จะไหลลงสู่ทะเลลดน้อยลงด้วย
7) ให้มีการส่งเสริม สนับสนุน การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากขยะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และปลอดภัยต่อชุมชนรอบข้าง
อปท. ในหลายพื้นที่ประสบปัญหาพื้นที่ในการทำหลุมฝังกลบขยะไม่เพียงพอ การเผาขยะเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานจึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการกำจัดขยะ โดยการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ ดังนั้น รัฐควรส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากขยะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และปลอดภัยต่อชุมชนรอบข้างโรงไฟฟ้ามากที่สุด
8) ให้มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดให้มีเรือเก็บขยะเพียงพอสำหรับการปฏิบัติงานในจังหวัดชายฝั่งทะเล และส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีในการจัดเก็บขยะในน้ำเพื่อให้เรือเก็บขยะสามารถปฏิบัติงานได้ ทั้งในแม่น้ำ ลำคลอง และทะเล อย่างมีประสิทธิภาพ
รัฐควรจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดให้มีเรือเก็บขยะเพียงพอสำหรับการปฏิบัติงานในพื้นที่ 24 จังหวัดชายฝั่งทะเล (ปัจจุบันกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมีเรือเก็บขยะ 2 ลำ ประจำการอยู่ในพื้นที่จังหวัดระยองและพังงา ที่ผ่านมาประสบปัญหาการขนขยะจากเรือขึ้นบนฝั่ง เนื่องจากเรือดังกล่าวไม่มีเครนที่ใช้ยกขยะขึ้นฝั่ง) ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนากำลังเครื่องยนต์ของเรือ รูปแบบของเรือ การเพิ่มเครนยก หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่จำเป็นเพื่อให้เรือเก็บขยะสามารถปฏิบัติงานได้ ทั้งในแม่น้ำ ลำคลอง และทะเล ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
9) ให้หน่วยงานของรัฐบูรณาการการจัดการขยะพลาสติกกับองค์กรภาคเอกชนและประชาชน ตลอดจนรณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างจิตสำนึกในการลดการใช้พลาสติกและการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี
นอกจากการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดแล้ว ความร่วมมือของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน หรือประชาชน ในการจัดการขยะที่มีความเป็นเอกภาพอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ควบคู่กับการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ สร้างจิตสำนึกให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการลดการใช้พลาสติก การคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก็เป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะส่งผลให้การแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกในทะเลไทยประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 มีนาคม 2564