คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปผลการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2564 และเห็นชอบข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัยทางถนนของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ตามที่ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เสนอ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ศปถ. รายงานว่า ได้ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2564 ภายใต้ชื่อ ?ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ? ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2563-4 มกราคม 2564 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ 1. ภาพรวมการดำเนินงาน
1.1 สถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2564 (รวม 7 วัน)
(1) เกิดอุบัติเหตุทางถนน 3,333 ครั้ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 3,326 ราย และผู้เสียชีวิต 392 ราย
(2) สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ เกิดจากการขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด 1,120 ครั้ง ดื่มแล้วขับ 1,102 ครั้ง และขับรถตัดหน้าในระยะกระชั้นชิด 541 ครั้ง
(3) ประเภทรถที่เกิดอุบัติเหตุ เป็นรถจักรยานยนต์ 2,957 คัน รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล (รถปิคอัพ) 213 คัน และรถยนต์นั่งส่วนบุคคล (รถเก๋ง) 105 คัน
(4) ประเภทถนนที่เกิดอุบัติเหตุ เกิดบนถนนกรมทางหลวง 1,260 ครั้ง ถนนทางหลวงชนบท 355 ครั้ง และถนนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 1,676 ครั้ง
(5) สภาพบริเวณจุดเกิดเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต เป็นทางตรง 255 ครั้ง ทางโค้ง 68 ครั้ง และทางแยก 35 ครั้ง
(6) พฤติกรรมเสี่ยงของผู้เสียชีวิตที่เกิดจากการไม่ใช้อุปกรณ์ด้านความปลอดภัย ไม่สวมหมวกนิรภัย 180 ราย และไม่คาดเข็มขัดนิรภัย 32 ราย
(7) สถานะของผู้เสียชีวิต เป็นผู้ขับขี่ 308 ราย ผู้โดยสาร 55 ราย และคนเดินถนน 29 ราย
(8) ช่วงอายุของผู้เสียชีวิต ได้แก่ 1) 1-14 ปี (เด็ก) 10 ราย 2) 15-24 ปี (เยาวชน) 90 ราย 3) 25-59 ปี (วัยแรงงาน) 230 ราย และ 4) 60 ปีขึ้นไป (ผู้สูงอายุ) 62 ราย
1.2 จัดตั้งด่านชุมชน 16,925 ด่าน มีเจ้าหน้าที่ประจำด่านเฉลี่ยวันละ 116,138 คน
1.3 ผลการดำเนินการตามตัวชี้วัดตามแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2564 เปรียบเทียบกับสถิติการเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่เฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง ดังนี้ 1) สถิติการเกิดอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บ (admit) ลดลง 2) จำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุในอำเภอเสี่ยงที่เป็นสีแดงลดลง 3) การเกิดอุบัติเหตุใหญ่ลดลง 4) สถิติการเกิดอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บ (admit) ที่เกิดบนถนนในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม (คค.) ลดลง 5) การเสียชีวิต ณ ที่เกิดเหตุ ลดลง 6) จำนวนผู้ถูกดำเนินคดีขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด และดื่มแล้วขับลดลง เมื่อเทียบกับสถิติในช่วงเทศกาลปีใหม่เฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง และ 7) การเกิดอุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะเท่ากันกับค่าเฉลี่ยช่วงเทศกาลปีใหม่ย้อนหลัง 3 ปี 2. ผลการวิเคราะห์ข้อมูลผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2564 พบว่า การเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ฯ โดยรถโดยสารสาธารณะลดลง ร้อยละ 30 เนื่องจากประชาชนได้มีการเดินทางล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2563 และปริมาณการเดินทางเข้า-ออกกรุงเทพมหานครลดลง ร้อยละ 13 ประกอบกับในช่วงเวลาดังกล่าวหน่วยงานทุกภาคส่วนได้มีการบูรณาการการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนควบคู่กับมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อย่างไรก็ตาม พบว่า จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2563 เนื่องจากประชาชนได้ปรับเปลี่ยนมาใช้รถส่วนบุคคลมากขึ้น และดัชนีความรุนแรงของอุบัติเหตุช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2564 เพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ขับขี่ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนดมากที่สุด ร้อยละ 45.91 รองลงมาคือ ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 25.76 โดยผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการขับขี่และโดยสารรถจักรยานยนต์มากที่สุด ร้อยละ 73.21 และอุบัติเหตุเกิดบนถนนกรมทางหลวงมากที่สุด ร้อยละ 37.80 และถนนองค์การบริหารส่วนตำบล ร้อยละ 35.67 โดยเฉพาะบริเวณทางตรง ทางโค้ง และทางแยก โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน (อายุระหว่าง 25-59 ปี) ร้อยละ 58.67 3. ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัยทางถนน ดังนี้
1) ด้านการบริหารจัดการ
ให้ ศปถ. ขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยให้ ศปถ. อำเภอ และ อปท. เป็นเจ้าภาพขับเคลื่อนการดำเนินงานในชุมชนและหมู่บ้าน เน้นการลดปัจจัยเสี่ยงด้านพฤติกรรมการขับขี่ ด้านมาตรฐานความปลอดภัยของถนน และด้านความปลอดภัยของยานพาหนะโดยเฉพาะรถจักรยานยนต์
2) ด้านผู้ใช้รถใช้ถนนให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) คค. กระทรวงมหาดไทย (มท.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) บังคับใช้กฎหมายควบคู่กับการรณรงค์ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย ตลอดจนปรับเปลี่ยนทัศนคติผู้ขับขี่ให้มีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนอย่างยั่งยืน
3) ด้านถนน
ให้ คค. และ อปท. ปรับปรุงแก้ไขถนนให้มีมาตรฐานความปลอดภัย โดยให้ความสำคัญในการปรับปรุงแก้ไขบริเวณที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งให้มีมาตรฐานความปลอดภัย เช่น ทางโค้ง ทางร่วม ทางแยก และทางคับขัน เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุให้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งให้กำหนดแนวทางการลดความเร็วของยานพาหนะในถนนที่มีลักษณะทางตรงระยะยาวให้สอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัยของถนนแต่ละประเภท
4) ด้านยานพาหนะ
ให้ คค. กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการขอใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์เพิ่มเติม นอกจากการทดสอบทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ และเพิ่มกระบวนการการสร้างความตระหนักรู้ให้ผู้ที่จะได้รับใบอนุญาตขับรถได้เห็นผลที่จะเกิดขึ้นต่อบุคคลอื่น ๆ ถ้ามีการขับขี่โดยไม่มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 มีนาคม 2564