คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบต่อขอบเขตหน้าที่ (TOR) ของคณะทำงานด้านเทคนิค เพื่อเตรียมการเสนอตัวร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี ค.ศ. 2034 (พ.ศ. 2577) (คณะทำงานด้านเทคนิคฯ) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนถ้อยคำในขอบเขตหน้าที่ (TOR) ของคณะทำงานด้านเทคนิคดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบไว้ ให้ กก. โดยกรมพลศึกษา ดำเนินการได้โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ความเห็นชอบต่อขอบเขตหน้าที่ (TOR) ของคณะทำงานด้านเทคนิคฯ ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เสนอ
2.1 วัตถุประสงค์ กำหนดประเทศสมาชิกอาเซียนที่จะร่วมเป็นเจ้าภาพฯ โดยจัดทำและเตรียมเอกสารข้อตกลงและข้อเสนอของการเสนอตัวร่วมเป็นเจ้าภาพฯ รวมทั้งจัดส่งเอกสารและข้อเสนอดังกล่าวภายในเวลา ที่ FIFA กำหนด (ปี ค.ศ.2026 หรือ 2569)
2.2 หน้าที่และความรับผิดชอบ อาทิ ทบทวนและปรับปรุงผลการศึกษาความเป็นไปได้ที่ประเทศมาเลเซียจัดทำขึ้นในปี พ.ศ. 2559 นำเสนอเจ้าหน้าที่อาวุโสสาขากีฬาอาเซียนและเมื่อเจ้าหน้าที่อาวุโสสาขากีฬาอาเซียนเห็นพ้องให้เสนอตัวร่วมเป็นเจ้าภาพจึงดำเนินการ ดังนี้ 1) จัดทำงบประมาณ ทั้งหมดสำหรับการเสนอตัว 2) ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาแนวทางเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ 3) กำหนดการแบ่งหน้าที่และการสนับสนุนของประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นเจ้าภาพฯ และไม่เป็นเจ้าภาพฯ รวมทั้ง รัฐบาลและสหพันธุ์ฟุตบอลอาเซียน/สหพันธุ์ฟุตบอลแห่งชาติ 4) ยืนยันการปฏิบัติตามมาตรฐานทั้งหมดในรายงานผลการประเมินด้านเทคนิคที่ FIFA กำหนด ซึ่งประกอบด้วย โครงสร้างพื้นฐาน ร้อยละ 70 ได้แก่ สนามแข่งขัน สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับทีมและผู้ตัดสิน ที่พัก การคมนาคมและการเดินทางระบบเทคโนโลยีและสารสนเทศและข้อเสนอสถานที่สำหรับการจัดกิจกรรม FIFA Fan Fest รายรับและต้นทุน ร้อยละ 30 (ประมาณการรายรับจากการขายสื่อและลิขสิทธิ์ด้านการตลาดรายได้จากการขายบัตรเข้าชมและแพคเกจ และต้นทุนการดำเนินงาน) หรือมาตรฐานการประเมินอื่น ๆ ที่ FIFA กำหนดในปัจจุบัน
2.3 องค์ประกอบ ประกอบด้วย 1.ประธานคณะทำงาน (ประเทศไทย) โดยมีอธิบดีกรมพลศึกษา (เจ้าหน้าที่อาวุโสสาขากีฬาอาเซียนของประเทศไทย) ซึ่งจะปฏิบัติหน้าที่ประธานคณะทำงานด้านเทคนิคฯ จนถึงการส่งเอกสารเสนอตัว (ค.ศ.2026) หรือตามที่ FIFA กำหนด 2. คณะทำงานหลัก 4 ประเทศ ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศมาเลเซีย ประเทศสิงค์โปร์ และประเทศเวียดนาม 3. คณะทำงานสนับสนุน (ประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ) 4. ผู้แทนจากสหพันธ์ฟุตบอลอาเซียน ซึ่งแต่ละประเทศมอบหมายผู้แทนอย่างน้อยระดับผู้อำนวยการ เพื่อทำหน้าที่ในการประสานงาน ดังนี้ 1. เจ้าหน้าที่อาวุโสสาขากีฬาอาเซียน (ผู้ประสานงานหลัก) 2. สมาคมฟุตบอลแห่งชาติ
2.4 การประชุมของคณะทำงานด้านเทคนิคฯ คณะทำงานด้านเทคนิคฯ จะต้องประชุมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้เกิดความ
คืบหน้าในการส่งเอกสารการเสนอตัวร่วมเป็นเจ้าภาพในช่วง ค.ศ. 2025-2026 (พ.ศ. 2568-2569) โดย FIFA ได้กำหนดเวลาและการดำเนินการต่าง ๆ ของการเสนอตัวร่วมเป็นเจ้าภาพฯ ดังนี้
ปี ค.ศ. 2019 - 2022/2023 (พ.ศ. 2562-2566)
กำหนดการ
หารือและเตรียมการสำหรับการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ
การดำเนินงาน
- ปรับปรุงรายงานการศึกษาความเป็นไปได้
- ยืนยันการเป็นเจ้าภาพฯ ของประเทศสมาชิกอาเซียน
- แบ่งบทบาทหน้าที่ของประเทศสมาชิกอาเซียน (ที่เป็นเจ้าภาพและไม่ได้เป็นเจ้าภาพ)
- หารือเกี่ยวกับข้อตกลงและเอกสาร
ปี ค.ศ. 2024 (พ.ศ. 2567)
กำหนดการ
ประเทศสมาชิกแสดงความประสงค์
การดำเนินงาน
- ยื่นหนังสือแสดงความประสงค์ของอาเซียนอย่างเป็นทางการ
- จัดทำร่างสุดท้านของข้อตกลงและเอกสาร
ปลายปี ค.ศ. 2025 (พ.ศ. 2568) - ต้นปี ค.ศ. 2026 (พ.ศ. 2569)
กำหนดการ
จัดส่งข้อตกลงและเอกสาร
การดำเนินงาน
- กลั่นกรองข้อตกลงและเอกสาร
- จัดส่งข้อตกลงและเอกสารอย่างเป็นทางการ
กลางปี ค.ศ. 2026 (พ.ศ. 2569)
กำหนดการ
การประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ ซึ่งจัดคู่ขนานกับการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี ค.ศ. 2026
การดำเนินงาน
- พิจารณาประเทศที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี ค.ศ. 2034
- ประกาศผลการพิจารณา
หากเป็นไปได้ ควรจัดคู่ขนานกับการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสสาขากีฬาอาเซียนหรือการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้องกับสหพันธ์ฟุตบอลแห่งชาติ โดยสามารถจัดการประชุมเฉพาะกิจได้ตามความจำเป็น
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 มีนาคม 2564