ร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ

ข่าวการเมือง Wednesday March 31, 2021 08:56 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบ ดังนี้

1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง โดยให้รับความเห็นของกระทรวงแรงงาน สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. และธนาคารแห่งประเทศไทย ไปประกอบการพิจาณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้

2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว รวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

3. ให้กระทรวงการคลังรับความเห็นของสำนักงบประมาณ กระทรวงการพัฒนาสังคมและ ความมั่นคงของมนุษย์ และธนาคารแห่งประเทศไทยไปพิจารณาดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติรวม 2 ฉบับ ที่ กค. เสนอ เป็นการกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (คนบ.) โดยมีหน้าที่และอำนาจในการจัดทำนโยบายระบบบำเหน็จบำนาญของประเทศในภาพรวมเพื่อให้สอดคล้องและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน รวมทั้งเป็นการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ซึ่งเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับแก่ลูกจ้างในระบบ โดยให้ได้รับผลประโยชน์เป็นบำเหน็จหรือบำนาญ และกำหนดให้มีคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติทำหน้าที่กำกับดูแลการบริหารกิจการกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. ร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. .... เป็น การตั้งคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (คนบ.) มีองค์ประกอบ 13 คน มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นกรรมการและเลขานุการ โดยมีอำนาจหน้าที่เสนอแนะนโยบาย แผนแม่บท และแนวทางการพัฒนาระบบบำเหน็จบำนาญให้ครอบคลุมผู้พ้นวัยทำงานทั้งหมด ให้เพียงพอ ต่อการดำรงชีพ รวมทั้งกำกับดูแลให้มีการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบบำเหน็จบำนาญ เพื่อให้มีการเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลของภาครัฐและเอกชน และเพื่อให้นโยบายด้านบำเหน็จบำนาญเป็นไปในแนวทางเดียวกัน และให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลังทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการ

2. ร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. .... มีสาระสำคัญดังนี้

2.1 กำหนดบทนิยาม เช่น ?สมาชิก? ?เงินสะสม? ?เงินสมทบ? ?ค่าจ้าง? ?ลูกจ้าง? ?นายจ้าง? ?บำเหน็จ? ?บำนาญ? เป็นต้น

2.2 กำหนดให้จัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) เป็นหน่วยงานของรัฐและ มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิก และเพื่อเป็นหลักประกันการจ่ายบำเหน็จบำนาญแก่สมาชิก รวมทั้งเป็นศูนย์กลางในการบูรณาการ รับ เก็บรวบรวม แลกเปลี่ยน เชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับระบบบำเหน็จบำนาญทั้งระบบ ทั้งนี้ รายได้ของ กบช. ไม่ต้องนำส่งคลัง

2.3 กำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการ กบช. และกำหนดคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม วิธีการแต่งตั้ง และวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการผู้รับบำนาญ กรรมการฝ่ายนายจ้าง กรรมการฝ่ายลูกจ้าง หรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ กบช.

2.4 กำหนดหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ กบช. เช่น กำหนดนโยบาย และออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ และคำสั่งในการบริหารกิจการของ กบช. กำหนดนโยบายการลงทุนของ กบช. และกำกับดูแลการบริหารกิจการของ กบช. เป็นต้น

2.5 กำหนดหลักเกณฑ์การเข้าเป็นสมาชิก กบช. รายละเอียดการจ่ายเงินสะสมของลูกจ้าง และการส่งเงินสมทบของนายจ้าง โดยให้ส่งเงินสมทบแต่ละฝ่ายในอัตราร้อยละ 3 ของค่าจ้างสูงสุด แต่ไม่เกิน 1,800 บาทต่อเดือน และกำหนดสิทธิประโยชน์ของสมาชิกกองทุน

2.6 ในกรณีที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ สาธารณภัย หรือเหตุการณ์ใดที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศกำหนดประเภทธุรกิจ ระยะเวลา หรือเงื่อนไขใด เพื่อให้ลูกจ้างหรือนายจ้างงด ลดหย่อน หรือเลื่อนการส่งเงินสะสมหรือเงินสมทบเข้า กบช. ได้คราวละไม่เกินหนึ่งปี

2.7 กำหนดหลักเกณฑ์กรณีสมาชิกสิ้นสมาชิกภาพ และหลักเกณฑ์การจ่ายเงินแก่บุคคล ผู้จะพึงได้รับเงินจาก กบช.

2.8 กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเงินและการบัญชีของ กบช. รวมทั้งการตรวจสอบและรายงานฐานะการเงินของ กบช. โดยให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชีของ กบช. หรืออาจมอบหมายให้ผู้สอบบัญชีซึ่งสำนักงาน ก.ล.ต. ให้ความเห็นชอบเป็นผู้สอบบัญชีของ กบช. ก็ได้

2.9 กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มีอำนาจสอบสวน เช่น เข้าไปในสถานประกอบการ หรือสถานที่ทำงานของลูกจ้าง เพื่อตรวจสอบให้การเป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ มีหนังสือสอบถามหรือเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำ หรือให้ส่งเอกสาร ค้นสถานที่เพื่อตรวจสอบเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวกับการจ้าง การจ่ายค่าจ้าง ทะเบียนลูกจ้าง การจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบ รวมทั้งเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้อง ยึดหรืออายัดเอกสารหรือหลักฐาน เป็นต้น

2.10 กำหนดบทกำหนดโทษ เช่น กรณีนายจ้างไม่ยื่นแบบรายการต่อ กบช. ภายในกำหนด หรือยื่นแบบรายการอันเป็นเท็จ และกรณีขัดขวางพนักงานเจ้าหน้าที่ตามร่างพระราชบัญญัตินี้ เป็นต้น

2.11 กำหนดบทเฉพาะกาล เช่น ให้รัฐบาลจัดสรรเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของ กบช. ในวาระเริ่มแรก กำหนดระยะเวลาใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้แก่นายจ้าง ลูกจ้าง บุคคล สถานประกอบการ และหน่วยงานต่าง ๆ กำหนดให้นายจ้างและสมาชิกจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบเข้า กบช. ตามอัตราที่กำหนด เป็นต้น

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 30 มีนาคม 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ