คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอรัฐสภาต่อไป โดยให้แจ้งประธานรัฐสภาทราบด้วยว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ เป็นการกำหนดให้มีกฎหมายกลางในการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อส่งเสริมให้การทำงานและการให้บริการของภาครัฐปรับเปลี่ยนไป สู่ระบบดิจิทัลและสามารถใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักได้ และเพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 258 ข. ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน (1) ที่บัญญัติให้มีการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินและการจัดทำบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินและเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน รวมทั้งแผนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับปรับปรุง) กิจกรรมปฏิรูปที่ 1 กำหนดให้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารงานและการบริการภาครัฐไปสู่ระบบดิจิทัลโดยแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคให้เอื้อต่อการพัฒนาหน่วยงานของรัฐไปสู่องค์กรดิจิทัล และส่งเสริมให้เกิดระบบข้อมูลดิจิทัลของภาครัฐ ตลอดจนเป็นการดำเนินการให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (8 ธันวาคม 2563)
ให้มีกฎหมายกลางในการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมให้การทำงานและ การให้บริการของภาครัฐปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิทัลและสามารถใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักได้ รายละเอียดดังนี้
1. กำหนดขอบเขตการใช้บังคับของร่างพระราชบัญญัติฯ ให้ใช้บังคับแก่หน่วยงานของรัฐทุกหน่วย เว้นแต่
(1) รัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด
(2) หน่วยงานของรัฐในฝ่ายนิติบัญญัติ
(3) หน่วยงานของรัฐในฝ่ายตุลาการ
(4) องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ
(5) องค์กรอัยการ และ
(6) หน่วยงานอื่นของรัฐที่กำหนดในกฎกระทรวง
ทั้งนี้ ในกรณีที่จะใช้ร่างพระราชบัญญัตินี้แก่หน่วยงานตาม (2) (3) (4) หรือ (5) ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา โดยพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวจะกำหนดให้ใช้แก่หน่วยงานนั้นทั้งหมดหรือบางหน่วยงาน หรือ งานบางประเภทก็ได้
2. กำหนดบทนิยามคำว่า ?หน่วยงานของรัฐ? หมายความว่า ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นของรัฐทุกหน่วย แต่ไม่รวมถึงรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด
3. เมื่อพระราชบัญญัติใช้บังคับแล้ว การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ดำเนินการ ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยไม่ต้องปฏิบัติตามหมวด 4 ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 เว้นแต่คณะรัฐมนตรีจะมีมติกำหนดเป็นอย่างอื่น
4. กำหนดให้ประชาชนสามารถยื่นคำขอ จ่ายเงิน หรือติดต่อราชการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยให้ถือว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมาย และเจ้าหน้าที่ของรัฐจะปฏิเสธไม่รับคำขอนั้นเพียงเพราะเหตุที่ผู้ขออนุญาตใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์มิได้
5. กำหนดให้หน่วยงานของรัฐอาจกำหนดวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ผู้ยื่นคำขอทางอิเล็กทรอนิกส์ปฏิบัติเพิ่มเติมด้วยก็ได้ แต่วิธีการดังกล่าวต้องเป็นไปเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน หรือ เพื่อการยืนยันตัวตน เช่น การสร้างแบบฟอร์มคำขออิเล็กทรอนิกส์ให้ประชาชนสามารถกรอกในระบบและยื่นทางอิเล็กทรอนิกส์ได้โดยไม่ต้องเขียนในแบบที่เป็นกระดาษแล้วสแกนส่งทางอีเมล เป็นต้น
6. ในกรณีที่ประชาชนได้ยื่นคำขอหรือติดต่อกับหน่วยงานของรัฐโดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ การติดต่อหรือออกเอกสารหลักฐานใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้นั้น ให้หน่วยงานของรัฐทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เว้นแต่ผู้นั้นจะได้ระบุไว้เป็นประการอื่นในการยื่นคำขอหรือในการติดต่อ
7. กำหนดให้หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่จัดทำสำเนาและรับรองความถูกต้องของสำเนานั้นเองโดย ไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายใด ๆ จากประชาชน และจะอาศัยเหตุที่ต้องจัดทำสำเนาดังกล่าวมาเป็นข้ออ้างในความล่าช้ามิได้
8. ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้ผู้รับอนุญาตต้องแสดงใบอนุญาตใดไว้ในที่เปิดเผย ผู้รับอนุญาตจะแสดงใบอนุญาตนั้นโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามที่ผู้อนุญาตประกาศกำหนดก็ได้ และหน่วยงานผู้อนุญาตต้องเปิดเผยข้อมูลการอนุญาตที่เป็นปัจจุบันให้ประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้โดยสะดวกโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากนั้นประชาชนสามารถแสดงภาพทางอิเล็กทรอนิกส์ของใบอนุญาตหรือเอกสารหลักฐานที่ต้องพกติดตัวเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบก็ได้
9. กำหนดให้การติดต่อระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกัน และระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ได้กระทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ถือว่าชอบด้วยกฎหมายและใช้เป็นหลักฐานตามกฎหมายได้ ซึ่งรวมถึงการใช้เป็นหลักฐานในการเบิกจ่ายเงินแผ่นดินด้วย
10. กำหนดให้คณะรัฐมนตรีจะมีมติให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจัดทำและเผยแพร่ ราชกิจจานุเบกษาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์แทนการจัดพิมพ์เป็นเล่มก็ได้ และให้ สคก. จัดให้มีและปรับปรุงฐานข้อมูลทางกฎหมายและระบบการสืบค้นกฎหมายโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว และง่ายต่อการเข้าถึงของประชาชนโดยเร็ว
11. กำหนดให้คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งรวมถึงมาตรฐานข้อมูล ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่หน่วยงานของรัฐจะต้องใช้และปฏิบัติตามร่างพระราชบัญญัตินี้ ให้สอดคล้องกันและเชื่อมโยงถึงกันได้ โดยให้สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ร่วมกันจัดทำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายใน 240 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
12. กำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อเร่งรัดการดำเนินการต่าง ๆ ที่จำเป็นตามร่างพระราชบัญญัตินี้ เช่น การประกาศช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ประชาชนสามารถติดต่อหน่วยงานของรัฐนั้น ๆ ได้ การกำหนดระบบภายในหน่วยงานสำหรับการปฏิบัติราชการของเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนั้น ได้กำหนดให้คณะรัฐมนตรีพิจารณากำหนดหน่วยงานที่มีหน้าที่แจ้งเตือน ติดตาม และเร่งรัดให้หน่วยงานของรัฐต่าง ๆ ดำเนินการตามร่างพระราชบัญญัตินี้
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 30 มีนาคม 2564