คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ และให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอร่างประมวลจริยธรรมดังกล่าวต่อคณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรม แล้วดำเนินการต่อไปได้
1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 76 วรรคสาม บัญญัติให้รัฐพึงจัดให้มีมาตรฐานทางจริยธรรม เพื่อให้หน่วยงานของรัฐใช้เป็นหลักในการกำหนดประมวลจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานนั้น ๆ ซึ่งต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าว ประกอบกับพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 มาตรา 6 วรรคสอง บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีเป็นองค์กรผู้จัดทำประมวลจริยธรรมสำหรับข้าราชการการเมือง
2. โดยที่ระเบียบคณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดทำประมวลจริยธรรม ข้อกำหนดจริยธรรม และกระบวนการรักษาจริยธรรมของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2563 กำหนดแนวทางให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคล องค์กรตามมาตรา 6 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรมฯ และหน่วยงานของรัฐใช้ระเบียบดังกล่าวเป็นหลักเกณฑ์สำหรับการจัดทำประมวลจริยธรรมและข้อกำหนดจริยธรรม รวมทั้งกำหนดกระบวนการรักษาจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และข้อ 6 ของระเบียบฯ กำหนดให้องค์กรที่มีหน้าที่จัดทำประมวลจริยธรรมดำเนินการจัดทำประมวลจริยธรรมให้แล้วเสร็จ ภายใน หนึ่งร้อยแปดสิบวันนับตั้งแต่วันที่ระเบียบฉบับนี้มีผลใช้บังคับ (ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 6 เมษายน 2564)
3. นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้ยกร่างประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว และสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้จัดโครงการ ?การรับฟังความคิดเห็นต่อร่างประมวลจริยธรรมสำหรับข้าราชการการเมือง? ระหว่างวันที่ 19 ? 28 กุมภาพันธ์ 2564 โดยมีผู้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ 56 ราย ซึ่งประเด็นสำคัญที่เห็นว่าควรเพิ่มเติม คือ ควรมีบทลงโทษ หากมีการกระทำผิดประมวลจริยธรรมฯ ควรมีการปฏิบัติ ตามประมวลจริยธรรมฯ อย่างเคร่งครัด และควรเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ประชาชน
4. นายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้นำร่างประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ. .... เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
จึงได้เสนอร่างประมวลจริยธรรมดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการ
กำหนดหลักเกณฑ์ในการประพฤติปฏิบัติอย่างมีคุณธรรมของข้าราชการการเมือง รายละเอียดดังนี้
1. กำหนดนิยามคำว่า ข้าราชการการเมือง หมายความว่า ข้าราชการการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง และให้หมายความรวมถึงกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีด้วย
2. กำหนดให้ข้าราชการการเมืองต้องยึดมั่นในสถาบันหลักของประเทศอันได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
3. กำหนดให้ข้าราชการการเมืองต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีจิตสำนึกที่ดีและรับผิดชอบต่อหน้าที่
4. กำหนดให้ข้าราชการการเมืองต้องกล้าตัดสินใจและกระทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม
5. กำหนดให้ข้าราชการการเมืองต้องยึดถือประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม และมีจิตสาธารณะ
6. กำหนดให้ข้าราชการการเมืองต้องปฏิบัติหน้าที่โดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน โดยต้องดำรงตน ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ
7. กำหนดให้ข้าราชการการเมืองต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ
8. กำหนดให้ข้าราชการการเมืองต้องดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดีและรักษาภาพลักษณ์ของทางราชการ
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 30 มีนาคม 2564