(ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2564 – 2565)

ข่าวการเมือง Wednesday March 31, 2021 09:14 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมและพัฒนาองค์กร ภาคประชาสังคม ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2564 ? 2565) [(ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ] และมอบหมายส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติต่อไป ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ

สำหรับภาระค่าใช้จ่ายที่อาจจะเกิดขึ้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เห็นควรให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องคำนึงถึงความครอบคลุมของงบประมาณ โดยพิจารณาแหล่งเงินที่จะใช้ในการดำเนินการเป็นลำดับแรก ส่วนกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่าย ก็เห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ โอนเงินจัดสรรหรือเปลี่ยนแปลงเงินจัดสรรแล้วแต่กรณี ตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ. 2562 ในโอกาสแรก สำหรับค่าใช้จ่ายในปีต่อไป เห็นควรให้จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอน ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

สาระสำคัญของเรื่อง
1. พม. ได้จัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ (พ.ศ. 2561 - 2564) เสนอคณะกรรมการส่งเสริมและ พัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม (คสป.) ซึ่งในการประชุม คสป. ครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2561 โดยมี พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) เป็นประธาน มีมติเห็นชอบในหลักการ พม. จึงได้เสนอ (ร่าง) แผนปฏิบัติการดังกล่าวต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่ง สศช. แจ้งว่า สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒนาฯ) ได้ประชุมเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2562 มีมติเห็นชอบในหลักการ โดยให้ปรับระยะเวลาการดำเนินงานของ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ให้อยู่ในช่วงปี พ.ศ. 2563 - 2565 เพื่อให้สอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 5 ปีแรก (พ.ศ. 2561 - 2565) โดยมีประเด็นข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่

(1) ควรมีการจัดหมวดหมู่ฐานข้อมูลองค์กรภาคประชาสังคมที่สอดคล้องกับประเด็นทางสังคม ศักยภาพ ความเชี่ยวชาญขององค์กรทั้งในส่วนกลางและระดับพื้นที่/จังหวัด

(2) ควรให้ความสำคัญกับพลังสังคมออนไลน์ และ

(3) ควรพิจารณาความเหมาะสมของการส่งเสริมการมีส่วนร่วมขององค์กรภาคประชาสังคม ซึ่งอาจดำเนินการภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาองค์กร ภาคประชาสังคม พ.ศ. 2558 โดยไม่มีความจำเป็นต้องตราเป็นพระราชบัญญัติ ซึ่ง พม. ได้ปรับปรุง (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ตามความเห็นของสภาพัฒนาฯ และนำเสนอต่อ คสป. ในการประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยที่ประชุมมีมติรับทราบแล้ว 2. ต่อมา พม. ได้พิจารณาทบทวน (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และปรับระยะเวลาการดำเนินงานให้อยู่ในช่วงปี พ.ศ. 2564 ? 2565 ซึ่งไม่กระทบต่อสาระสำคัญตามที่ คสป. และสภาพัฒนาฯ ได้มีมติเห็นชอบไว้แล้ว 3. สาระสำคัญของ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ สรุปได้ ดังนี้

กรอบแนวคิด

กระแสการพัฒนาโลกให้ความสำคัญกับองค์กรภาคประชาสังคมในการเป็นหุ้นส่วน การพัฒนามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและขับเคลื่อนงานระดับพื้นที่ โดยเฉพาะเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ที่ 17 ซึ่งทุกประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยได้ยอมรับที่จะร่วมกันทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายภายในปี ค.ศ. 2030 จึงถือเป็นโอกาสที่สำคัญขององค์กรภาคประชาสังคมไทยได้ร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ ในการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา ทั้งหน่วยงานภาครัฐ องค์การพัฒนาเอกชนและภาคธุรกิจ

วัตถุประสงค์

1) เพื่อสนับสนุนองค์กรภาคประชาสังคมให้มีศักยภาพและมีบทบาทเป็นหุ้นส่วน การพัฒนาประเทศ

2) เพื่อศึกษาและยกร่างข้อเสนอด้านกฎหมาย นโยบาย กลไก ที่เกี่ยวข้องกับ การส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคมให้เกิดความเข้มแข็ง

3) เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการจัดการความรู้และพัฒนาฐานข้อมูลองค์กร ภาคประชาสังคม

4) เพื่อสร้างกรอบทิศทางการส่งเสริมองค์กรภาคประชาสังคม ให้ภาคีภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคมใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงาน

เป้าหมาย

1) องค์กรภาคประชาสังคมมีขีดความสามารถเป็นองค์กรธรรมาภิบาล สามารถเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาประเทศ ขับเคลื่อนสังคมให้เป็นธรรมและยั่งยืน

2) มีกฎหมาย นโยบาย และกลไกที่สนับสนุนการส่งเสริมและพัฒนาองค์กร ภาคประชาสังคมให้เกิดความเข้มแข็ง

3) เกิดนวัตกรรมการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งองค์กรภาคประชาสังคม

4) ภาคีทุกภาคส่วนสนับสนุนให้เกิดการสื่อสารสังคม เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจถึงความสำคัญของบทบาทภาคประชาสังคมในการพัฒนาประเทศ

ตัวชี้วัดตามเป้าหมาย

1) จำนวนองค์กรภาคประชาสังคมที่เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการร่วมกับภาครัฐทุกระดับ ซึ่งมีบทบาทในการพัฒนาชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน

2) จำนวนงบประมาณและทรัพยากรที่องค์กรภาคประชาสังคมได้รับการสนับสนุน จากภาครัฐ ภาคธุรกิจ สถาบันวิชาการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

3) จำนวนกฎหมาย/ระเบียบ/มาตรการที่ได้รับการปรับปรุง และมีการพัฒนากฎหมายให้เอื้อต่อการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคมให้เกิดความเข้มแข็ง

4) มีระบบบริหารงาน ระบบพัฒนาบุคลากร ระบบฐานข้อมูล ระบบการระดมทุนโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมขององค์กรภาคประชาสังคม

5) มีกลไกและรูปแบบการรวมตัวขององค์กรภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งและสอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลง

หน่วยงานรับผิดชอบ

หน่วยงานรับผิดชอบหลัก : พม. โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ

หน่วยงานร่วม : กระทรวงการคลัง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวงมหาดไทย สศช. สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

การติดตามและประเมินผล

ระดับชาติ : คสป. รับผิดชอบในการติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการโดยการจัดทำโครงการติดตามประเมินผล รวมทั้งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อทำหน้าที่ติดตามประเมินผล โดยใช้หลักการประเมินเพื่อพัฒนาศักยภาพ รวมทั้งกำกับ ติดตามความก้าวหน้าในทุก ๆ ครึ่งปี ครึ่งระยะเวลาแผนและสิ้นสุดแผน นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่สร้างความเข้าใจในหน่วยปฏิบัติตามแผนงานให้เข้าใจหลักการติดตามและประเมินผลที่สามารถแสดงถึงความก้าวหน้า ข้อจำกัด ผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบของการดำเนินงานตามแผนคู่ขนานร่วมด้วย

ระดับจังหวัด : มีกลไกของเครือข่ายศูนย์ประสานส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคมระดับจังหวัด ตามนโยบายจิตอาสาประชารัฐ (E6) ที่รัฐบาลได้สนับสนุนให้จัดตั้งขึ้นมา และกลไกองค์กรภาคประชาสังคมระดับจังหวัด ที่สนับสนุนโดย สสส. และ สช. โดยใช้หลักการประเมินผลเพื่อพัฒนาศักยภาพ เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคีที่เกี่ยวข้อง และพัฒนาศักยภาพไปพร้อมกัน และรายงานความก้าวหน้ามายัง คสป.

ทุกปี โดยเปรียบเทียบผลที่ได้จากการดำเนินงานตามตัวชี้วัดที่ตั้งไว้

ผลที่คาดว่าจะได้รับ(ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ฉบับนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยทำให้องค์กรภาคประชาสังคมมีขีดความสามารถเป็นองค์กรธรรมาภิบาล สามารถเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาประเทศ ขับเคลื่อนสังคมให้เป็นธรรมและยั่งยืน ตลอดจนการผลักดันกฎหมาย นโยบาย กลไกที่สนับสนุนการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคมให้เกิดความเข้มแข็ง รวมถึงการเกิดนวัตกรรมการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมเพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งองค์กรภาคประชาสังคม อันเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยเพิ่มโอกาสให้ทุก ภาคส่วนเข้ามาเป็นกำลังของการพัฒนาประเทศในทุกระดับ 4. แผนงาน โครงการที่สำคัญ หน่วยงานรับผิดชอบ ภายใต้ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ สรุปได้ ดังนี้

แผนงาน/โครงการที่สำคัญ/หน่วยงานรับผิดชอบ

แผนงานที่ 1 พัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถขององค์กรภาคประชาสังคมให้มี ความเข้มแข็ง และมีธรรมาภิบาล

1) โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลออนไลน์องค์กรภาคประชาสังคม และฐานข้อมูลนักวิจัย/นักวิชาการด้านการพัฒนาศักยภาพประชาสังคม เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้พัฒนาศักยภาพ และ ขีดความสามารถองค์กรภาคประชาสังคมให้เกิดความเข้มแข็ง (หน่วยงานหลัก : พม. หน่วยงานรอง : ดศ. สศช. สกสว. วช. สช.)

2) โครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำองค์กรบุคลากรในองค์กรภาคประชาสังคมให้มีความเข้มแข็ง โดยใช้ระบบออนไลน์และสร้างบุคลากรกลุ่มใหม่ที่มีจิตอาสาพร้อมปฏิบัติงานเพื่อส่วนรวม (หน่วยงานหลัก : สช. พม. หน่วยงานรอง : สสส.)

3) โครงการศึกษาและพัฒนาเกณฑ์สมรรถนะขั้นพื้นฐานขององค์กรภาคประชาสังคม (หน่วยงานหลัก : พม. หน่วยงานรอง : สช.)

4) โครงการถอดบทเรียนผู้นำและบุคลากรในองค์กรภาคประชาสังคมที่ผ่านการพัฒนาศักยภาพและมีการดำเนินงานเป็นเลิศ (best practice) [หน่วยงานหลัก : สช. หน่วยงานรอง : สสส. พม. สกสว. มท. ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชนในกำกับดูแลของกระทรวงวัฒนธรรม)]

แผนงานที่ 2 พัฒนากฎหมาย นโยบาย กลไก มาตรการ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมองค์กร ภาคประชาสังคม

1) โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนากฎหมาย กลไก มาตรการเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมองค์กร ภาคประชาสังคมให้เกิดความเข้มแข็ง การมีส่วนร่วม และธรรมาภิบาล [หน่วยงานหลัก : พม. หน่วยงานรอง : สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) มท. (กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น : สถ.) วช.]

2) โครงการเวทีบูรณาการปัญหาความต้องการและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายของภาคประชาสังคมต่อรัฐบาล (หน่วยงานหลัก : พม. หน่วยงานรอง : สศช. สช. ศูนย์คุณธรรม สสส. สกสว.)

3) โครงการศึกษามาตรการทางภาษีการเงินการคลังเพื่อการสนับสนุนองค์กรภาคประชาสังคม [หน่วยงานหลัก : พม. หน่วยงานรอง : กค. (กรมสรรพากร) สกสว. มท. (สถ.)]

4) โครงการศึกษาการบริหารจัดการกองทุนหมุนเวียนเพื่อส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม [หน่วยงานหลัก : พม. หน่วยงานรอง : กค. มท. (สถ.) สกสว. วช.]

แผนงานที่ 3 พัฒนาองค์ความรู้ การศึกษาวิจัยเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาความเข้มแข็งองค์กรภาคประชาสังคม

1) โครงการศึกษาและถอดบทเรียนรูปแบบการพัฒนาศักยภาพและการบริหารจัดการองค์กร ภาคประชาสังคม (หน่วยงานหลัก : สช. สสส. พม. หน่วยงานรอง : สกสว. มท. ศูนย์คุณธรรม)

2) โครงการสำรวจความคิดเห็นของภาคส่วนต่าง ๆ ต่อบทบาทภาคประชาสังคมในการพัฒนาประเทศ (หน่วยงานหลัก : สช. สสส. พม. หน่วยงานรอง : สกสว. มท. ศูนย์คุณธรรม)

3) โครงการสร้างและพัฒนานักวิจัยชุมชนด้านการพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมความเข้มแข็ง ภาคประชาสังคม (หน่วยงานหลัก : สกสว. หน่วยงานรอง : สช. สสส.)

แผนงานที่ 4 ส่งเสริม สนับสนุน องค์กรภาคประชาสังคมให้เป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาประเทศ และเชื่อมโยงการทำงานในระดับภูมิภาคและประชาคมโลก

1) โครงการสื่อสารสังคมให้เห็นความสำคัญขององค์กรภาคประชาสังคมในการเป็นหุ้นส่วนรัฐพัฒนาประเทศและสร้างความสัมพันธ์กับภาคส่วนต่าง ๆ (หน่วยงานหลัก : พม. สช. หน่วยงานรอง : สสส.)

2) โครงการสนับสนุนกิจกรรมรณรงค์ของภาคประชาสังคมในพื้นที่ (หน่วยงานหลัก : พม. หน่วยงานรอง : สช. สสส. สกสว.)

3) โครงการสร้างความร่วมมือ ภาควิชาการ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคมในการขับเคลื่อนงานภาคประชาสังคม (หน่วยงานหลัก : พม. สช. สสส. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานรอง : - )

4) โครงการประสานความร่วมมือทางสังคมและวัฒนธรรมในกลุ่มประเทศอาเซียน(หน่วยงานหลัก : พม. กต. สช. สสส. หน่วยงานรอง : สกสว. มท. ศูนย์คุณธรรม)

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 30 มีนาคม 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ