การให้สิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิเด็กและบุคคลที่เรียนอยู่ในสถานศึกษา ครั้งที่ 2

ข่าวการเมือง Wednesday March 31, 2021 09:24 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการการให้สิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุข (สิทธิฯ) กับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิเด็กและบุคคลที่เรียนอยู่ในสถานศึกษา ครั้งที่ 2 ที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้ตรวจสอบความซ้ำซ้อนและกำหนดเลขประจำตัว 13 หลัก เรียบร้อยแล้ว และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ตรวจสอบคัดกรองข้อมูล จำนวน 5,203 คน ซึ่งครอบคลุมบริการด้านสาธารณสุข ได้แก่ การสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพ นับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

สธ. รายงานว่า

1. สธ. ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (วันที่ 23 มีนาคม 2553 วันที่ 20 เมษายน 2558 และวันที่ 22 กันยายน 2563) ในการตรวจสอบข้อมูลเพื่อยืนยันความถูกต้องและรับรองการขึ้นทะเบียนของกลุ่มบุคคลกลุ่มอื่น ๆ ที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้เพราะขาดหลักฐานซึ่งจำนวนที่แท้จริงยังไม่ชัดเจนและอาจมีความซ้ำซ้อนของข้อมูล โดยในส่วนของกลุ่มบุคคลดังกล่าวที่เป็นเด็กและบุคคลที่เรียนอยู่ในสถานศึกษา สธ. ได้ประสานกับ มท. เพื่อขอข้อมูลกลุ่มเป้าหมายเด็กและบุคคลที่เรียนอยู่ในสถานศึกษาที่ได้รับการกำหนดเลขประจำตัว 13 หลักเรียบร้อยแล้ว ซึ่ง สธ. ได้คัดกรองรายชื่ออีกครั้งหนึ่งเพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกับผู้ที่เคยได้รับสิทธิฯ หรือได้รับสัญชาติไทยแล้ว โดยข้อมูลกลุ่มเด็กและบุคคลที่เรียนอยู่ในสถานศึกษาที่ได้รับการคัดกรองแล้วในครั้งนี้มีจำนวน 5,203 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 13 มกราคม 2564)

2. สธ. เห็นว่าการจัดระบบสวัสดิการด้านสาธารณสุขให้กับเด็กและบุคคลที่เรียนอยู่ในสถานศึกษาจะทำให้เด็กและบุคคลที่เรียนอยู่ในสถานศึกษาที่ประสบปัญหาการเข้าไม่ถึงระบบหลักประกันสุขภาพเพื่อให้ได้รับบริการสาธารณสุขที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต จะช่วยแก้ปัญหาภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของหน่วยบริการที่ต้องให้การบริการด้านสาธารณสุขที่จำเป็นตลอดจนช่วยควบคุมและป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวตามที่ สธ. เสนอในครั้งนี้ ต้องใช้งบประมาณ จำนวน 12,767,901.85 บาท โดยกำหนดกรอบวงเงินตามจำนวนผู้มีสิทธิในอัตรางบประมาณเหมาจ่ายรายหัวเท่ากับสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 (อัตรา 2,453.95 บาทต่อคน x 5,203 คน) โดยใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ทั้งนี้ สธ. รายงานเพิ่มเติมว่าสิทธิฯ ที่กลุ่มเป้าหมายจะได้รับครอบคลุมบริการด้านสาธารณสุข เช่น บริการผู้ป่วยนอกทั่วไป บริการผู้ป่วยนอกเจ็บป่วยฉุกเฉิน การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม การให้ยารักษาผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ และกรณีผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นต้น1

1/ข้อมูลจากเอกสาร แนวทางการดำเนินงานกองทุนประกันสุขภาพบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 30 มีนาคม 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ