คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการ (ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2563 - 2565 [(ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลฯ] ตามที่คณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลเสนอ เพื่อกำหนดกรอบและทิศทางการบริหารงานภาครัฐและการจัดทำบริการสาธารณะในรูปแบบของเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการพัฒนาประเทศต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
คณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลรายงานว่า
1. สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลได้จัดทำ (ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลฯ เพื่อสนับสนุนการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานและการให้บริการภาครัฐของประเทศไทย ซึ่งเป็นไปตามนัยพระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 รวมทั้งสอดคล้องและเชื่อมโยงกับนโยบายและแผนระดับชาติต่าง ๆ เช่น แผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูปประเทศ ซึ่ง (ร่าง) แผนดังกล่าวมีวิสัยทัศน์ ?รัฐบาลดิจิทัล เปิดเผย เชื่อมโยง และร่วมกันสร้างบริการที่มีคุณค่าให้ประชาชน? และให้ความสำคัญ ใน 6 ประเด็น ได้แก่ การศึกษา สุขภาพและการแพทย์ การเกษตร ความเหลื่อมล้ำทางสิทธิสวัสดิการประชาชน การมีส่วนร่วม โปร่งใสและตรวจสอบได้ของประชาชน และการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME)
2. (ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
วัตถุประสงค์
- เพื่อบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน
- เพื่อให้มีกรอบการขับเคลื่อนกิจกรรม/โครงการที่ชัดเจนมุ่งสู่จุดหมายเดียวกัน
-เพื่อกำหนดกรอบการขับเคลื่อนการบูรณาการรัฐบาลดิจิทัลที่สำคัญ สำหรับกำหนดประเด็นแผนบูรณาการประจำปีงบประมาณ
- เพื่อกำหนดหน่วยงานหลักและหน่วยงานรองในการขับเคลื่อนประเด็นที่เกี่ยวข้องพร้อมกรอบงบประมาณในการดำเนินงาน
- เพื่อเป็นกรอบแนวทางให้หน่วยงานภาครัฐจัดทำแผนการดำเนินงานที่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562
เป้าหมาย - ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการและสวัสดิการของประชาชน
- เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทย
- การทำงานของภาครัฐมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้
- สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาและกำหนดนโยบายสำคัญของประเทศ
งบประมาณ
รวมทั้งสิ้น 6,504.69 ล้านบาท
แนวทางการดำเนินงาน
ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 ยกระดับคุณภาพการให้บริการแก่ประชาชนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
จำนวนมาตรการ/ แผนงาน/โครงการ
4 มาตรการ 7 แผนงาน 17 โครงการ
ตัวอย่างกลไก/มาตรการ
- เพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่ประชาชนเข้าถึงได้
- พัฒนานวัตกรรมดิจิทัลภาครัฐในการให้บริการประชาชน
ตัวอย่างโครงการ
- การพัฒนาแพลตฟอร์มการให้บริการประชาชนแบบเบ็ดเสร็จ
- การพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐ
- การพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับจัดเก็บข้อมูลสิทธิสวัสดิการประชาชนในพื้นที่
- การพัฒนาระบบฐานข้อมูลเกษตรกร
งบประมาณ 4,879.87 ล้านบาท
หน่วยงานรับผิดชอบเช่น กระทรวงการคลัง สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
ยุทธศาสตร์ที่ 2 อำนวยความสะดวกภาคธุรกิจไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
จำนวนมาตรการ/ แผนงาน/โครงการ5 มาตรการ 6 แผนงาน 8 โครงการ
ตัวอย่างกลไก/มาตรการ
- จัดให้มีระบบดิจิทัลอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการ
- ทบทวน ปรับปรุง และพัฒนากฎหมาย กฎ ระเบียบ มาตรการ ที่เอื้อต่อผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจ
ตัวอย่างโครงการ- ระบบรับคำขออนุญาตเพื่ออำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจ
- ศูนย์พัฒนานวัตกรรมดิจิทัลภาครัฐ เพื่อการบริการดิจิทัลสำหรับภาคธุรกิจ
งบประมาณ518.46 ล้านบาท
หน่วยงานรับผิดชอบเช่น สำนักงาน ก.พ.ร. สพร. และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
ยุทธศาสตร์ที่ 3 ผลักดันให้เกิดธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐในทุกกระบวนการทำงานของภาครัฐ จำนวนมาตรการ/ แผนงาน/โครงการ3 มาตรการ 4 แผนงาน 11 โครงการ
ตัวอย่างกลไก/มาตรการ
- จัดให้มีระบบดิจิทัลสนับสนุนการเปิดเผย แลกเปลี่ยน เชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐอย่างบูรณาการ
- พัฒนากลไกการเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้โปร่งใสป้องกันการทุจริตทุกขั้นตอน
ตัวอย่างโครงการ- การพัฒนาศูนย์กลางการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ
- การพัฒนาแพลตฟอร์มสนับสนุนการบริหารจัดการหน่วยงานภาครัฐ
งบประมาณ946.36 ล้านบาท
หน่วยงานรับผิดชอบเช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และ สพร.
ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนากลไกการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล
จำนวนมาตรการ/ แผนงาน/โครงการ3 มาตรการ 3 แผนงาน 5 โครงการ
ตัวอย่างกลไก/มาตรการ
- จัดให้มีระบบดิจิทัล เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้แสดงความคิดเห็นต่อการพัฒนาประเทศ
- เปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาธารณะของหน่วยงานรัฐในรูปแบบดิจิทัล
ตัวอย่างโครงการ- การพัฒนาระบบรับฟังความคิดเห็นประชาชนผ่านช่องทางดิจิทัล
- การปรับปรุงหรือแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจนโยบายของรัฐ
งบประมาณ160 ล้านบาท
หน่วยงานรับผิดชอบเช่น สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงาน ก.พ.ร. และ สพร.
แนวทางการขับเคลื่อนและติดตามประเมินผล
- กลไกเชิงนโยบาย โดยคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลและอนุกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้ง
- กลไกการดำเนินงานและการพิจารณากลั่นกรองงบประมาณ ผ่านการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล
- กลไกการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานภาคีและภาคเอกชน
- กลไกการปรับปรุงโครงสร้างระบบราชการด้านบุคลากรภาครัฐ
3. สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 11/2563 เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลฯ เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับกำหนดทิศทาง และบูรณาการการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศ โดยมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า เนื่องจากกรอบระยะเวลาของ (ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลฯ ที่กำหนดไว้คือปี พ.ศ. 2563 - 2565 ซึ่งขณะนี้กระบวนการพิจารณางบประมาณในปี พ.ศ. 2563 และ พ.ศ. 2564 ได้เสร็จสิ้นไปแล้ว ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปได้ในทางปฏิบัติ สพร. ควรพิจารณาคัดเลือกโครงการที่มีความสำคัญที่จำเป็นต้องได้รับการจัดสรรงบประมาณในปี พ.ศ. 2565 และเห็นควรให้ สพร. เริ่มกระบวนการยกร่างแผนฉบับต่อไป โดยควรกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสม ไม่สั้นเกินไป เช่น 5 ปี เป็นต้น เพื่อให้สามารถดำเนินการอย่างต่อเนื่องและทันกับช่วงเวลาของกระบวนการงบประมาณ โดยมีข้อสังเกตในการยกร่างแผน เช่น ควรศึกษาความครอบคลุมของการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลและออกแบบแผนให้มีบริบทที่ครบองค์ประกอบมากขึ้น ควรจัดลำดับความสำคัญของโครงการที่มีจุดมุ่งเน้นตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ให้ชัดเจน ควรกำหนดรายละเอียดให้ชัดเจนว่ามีแนวทางและขั้นตอนการดำเนินการอย่างไร และไม่ควรมองมิติเฉพาะเรื่องการนำเทคโนโลยีมาใช้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ทั้งนี้ สพร. ได้ปรับปรุง (ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลฯ ตามข้อสังเกตดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 30 มีนาคม 2564