คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2562 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนในเชิงนโยบายต่อไป ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ โดยให้ พม. รับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณาดำเนินการด้วย
1.1 ทบทวนและคำนึงถึงความยั่งยืน และภาระทางด้านงบประมาณอย่างจริงจังต่อการจัดสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุผ่านโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ เช่น การให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่เป็นหนึ่งในสวัสดิการด้านการทำงานและการมีรายได้สำหรับผู้สูงอายุ แม้ว่าจะช่วยบรรเทาความทุกข์ยากทางการเงินให้แก่ผู้สูงอายุเฉพาะหน้า แต่ขณะเดียวกันความท้าทายของภาระทางด้านงบประมาณของประเทศและวิธีการนำเงินที่ได้รับเพื่อไปสร้างประโยชน์หรือต่อยอดเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาชีพและการดำรงชีวิตส่วนบุคคลในระยะยาวยังเป็นสิ่งที่ภาครัฐและสังคมต้องพิจารณาด้วย
1.2 ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ เกี่ยวกับปรัชญาในการจัดสวัสดิการสังคมให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงในบริบทของสังคม และมีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น ด้วยการก้าวให้พ้นจากแนวคิดที่มุ่งเน้น ?การสงเคราะห์? ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายที่ค่อนข้างเฉพาะเจาะจงเพื่อเดินหน้าไปสู่การยอมรับแนวคิดการจัดสวัสดิการสังคมบนพื้นฐานของ ?สิทธิพลเมือง? ดังนั้น ในฐานะที่เป็นพลเมืองไทยไม่ว่าจะเป็นเพศใด วัยใด หรือมีเศรษฐฐานะใดต่างควรมีสิทธิในการเข้าถึงและได้รับการจัดสวัสดิการสังคมขั้นพื้นฐาน ทั้งจากภาครัฐและทุกภาคส่วนในสังคมอย่างทั่วถึง และถ้วนหน้า
1.3 กระจายความรับผิดชอบในการจัดสวัสดิการสังคมผ่านการสร้าง ?หุ้นส่วน? ด้วยการให้ภาคส่วนต่าง ๆ ที่มีศักยภาพในสังคม ทั้งจากครอบครัว อาสาสมัคร ชุมชน ท้องถิ่น สถาบันศาสนา และภาคประชาสังคม รวมถึงภาคเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมและสนับสนุนการจัดสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุอย่างเป็นรูปธรรม การลดบทบาทการเป็น ?เจ้าของ? และ การเพิ่มบทบาทการเป็น ?เจ้าภาพ? ในการจัดสวัสดิการของรัฐไม่เพียงจะช่วยแบ่งเบาภาระงบประมาณของภาครัฐ แต่ยังเป็นการส่งเสริมขีดความสามารถในการจัดสวัสดิการสังคมของประเทศไทยให้เป็นไปตามแนวนโยบาย ?สวัสดิการแห่งรัฐ? 2. ส่วนที่ 1 : สถานการณ์ทั่วไป
สถานการณ์โลก
- ปี 2562 โลกมีผู้สูงอายุครบ 1,000 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 13 ของประชากรทั้งโลก
- ประชากรโลกกำลังเพิ่มขึ้นด้วยอัตราที่ช้าลง แต่ประชากรสูงอายุกลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ?ศตวรรษิกชน? หรือคนที่มีอายุ 100 ปีขึ้นไป กำลังมีสัดส่วนสูงขึ้นอย่างเร็วมาก
สถานการณ์ในภูมิภาค- ทวีปเอเชียมีผู้สูงอายุมากที่สุด 586 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 13 ของประชากรทั้งทวีป
- รองลงมาทวีปยุโรปมีผู้สูงอายุ 189 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 19 ของผู้สูงอายุทั้งโลก
- อาเซียนมีประชากรสูงอายุ 70 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 11 ของประชากรอาเซียน
- ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีอัตราผู้สูงอายุสูงสุดในโลก คิดเป็นร้อยละ 34 จากประชากรทั้งหมด 127 ล้านคน
สถานการณ์ในไทย
- ประชากรผู้สูงอายุไทยมีจำนวน 11.6 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 17.5 ของประชากรทั้งหมด
- ภาคเหนือเป็นภาคที่มีอัตราผู้สูงอายุสูงสุดถึงร้อยละ 22
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 20
- ภาคกลางและภาคใต้มีอัตราผู้สูงอายุต่ำสุด ร้อยละ 15
- ปี 2565 ไทยจะเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ คือ มีประชากรสูงอายุร้อยละ 20
- ปี 2576 ไทยจะเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอด คือ มีประชากรสูงอายุร้อยละ 28
1) การศึกษา เช่น โรงเรียนผู้สูงอายุ โดยมีการกำหนดเนื้อหาที่เหมาะสมเพื่อเป็นแนวทางในการเรียนรู้ 4 มิติ คือ มิติสุขภาพ มิติสังคม มิติเศรษฐกิจ และมิติสภาพแวดล้อมและบริการสาธารณะที่สถาบัน หน่วยงาน หรือชุมชนจัดตั้งขึ้น โดยมีโรงเรียนผู้สูงอายุ 1,555 แห่งทั่วประเทศ
2) สุขภาพอนามัย เช่น สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง โดยมีผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงได้รับการดูแล จำนวน 219,518 คน
3) สวัสดิการด้านที่อยู่อาศัย มีการปรับปรุงซ่อมบ้านให้แก่ผู้สูงอายุ 3,200 หลัง และสถานที่สาธารณะให้เอื้อต่อการเข้าถึงบริบทของผู้สูงอายุและคนทุกวัย 20 แห่ง
4) การทำงานและการมีรายได้ รัฐบาลออกมาตรการจูงใจเพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนจ้างแรงงานผู้สูงอายุเข้าทำงานมากขึ้น เช่น มีศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศพอส.) 1,489 แห่ง การสนับสนุนเงินทุนกู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพผู้สูงอายุผ่านกองทุนผู้สูงอายุ 8,991 คน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 9.09 ล้านคน การจ่ายเงินช่วยเหลือเพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ประมาณ 4 พันล้านบาทและสวัสดิการขั้นพื้นฐานอีกรูปแบบหนึ่งคือ บำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนการออมแห่งชาติ
5) นันทนาการ เป็นบริการที่เกี่ยวกับการสร้างความรู้สึกส่วนหนึ่งของสังคมให้แก่ผู้ใช้บริการ โดยมีการจัดการแข่งขันกีฬาอาวุโสแห่งชาติ การส่งเสริมกีฬาสำหรับผู้สูงอายุ และการท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงอายุ
6) กระบวนการยุติธรรม โดยการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม รวมทั้งปกป้องและคุ้มครองผู้สูงอายุจากการทารุณกรรม หรือ แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือถูกทอดทิ้ง
7) บริการทางสังคม เช่น การช่วยเหลือการจัดการศพผู้สูงอายุตามประเพณี การช่วยเหลือผู้สูงอายุในภาวะยากลำบาก อีกทั้งมีกลไกในระดับพื้นที่ให้บริการ คือ อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม. เชี่ยวชาญด้านผู้สูงอายุ) และอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่น 4. ส่วนที่ 3 : สถานการณ์เด่นในรอบปี 2562
4.1 คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ได้ประกาศเกียรติคุณยกย่องให้นายแพทย์บรรลุ ศิริพานิช เป็นผู้สูงอายุแห่งชาติ พุทธศักราช 2562 เพื่อเป็นเกียรติและแบบอย่างที่ดีให้กับผู้อื่นเจริญรอยตาม
4.2 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้ประกาศแต่งตั้งศิลปินแห่งชาติเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติ จำนวน 12 คน เป็นศิลปินแห่งชาติประจำปี 2562 โดยทั้ง 12 คน เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งควรค่าแก่การศึกษาต่อเยาวชนรุ่นหลัง
4.3 กรอบแนวคิดธนาคารเวลา ได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อรองรับส่งเสริมให้คนในสังคมดูแลซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะดูแลกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือ เช่น ผู้สูงอายุ และเด็ก
4.4 นวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุ ได้แก่ 1) แอปพลิเคชัน เช่น สูงวัย Fighting FFC Airsync 4.0 และ Young Happy และ 2) สิ่งประดิษฐ์ เช่น อุปกรณ์ตรวจจับการล้มของผู้สูงอายุ และรถเข็นแบบปรับยืนได้
4.5 การใช้อินเทอร์เน็ตของผู้สูงอายุในเขตเทศบาลสูงกว่านอกเขตเทศบาล 3 เท่าตัว ในปี 2561 และในหมู่ผู้สูงอายุที่ใช้อินเทอร์เน็ต มีผู้สูงอายุใช้อินเทอร์เน็ตเป็นประจำทุกวันเพิ่มจากร้อยละ 31 ในปี 2551 คิดเป็นร้อยละ 88 ในปี 2561
4.6 ผู้สูงอายุใช้สื่อสังคมออนไลน์ เช่น ยูทูป เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก และ อินสตาแกรม เป็นช่องทางเผยแพร่เรื่องราว ความสามารถ และธุรกิจของตนเอง เช่น ?ตาแก้ว ยายเสริม-ตายายสอนหลาน? ?ป้าเกษ-สูงวัยลุยไปทั่ว? ?ลุงใจกับอ้ายแซม-ศิลปินเพลงพื้นบ้าน? ?มนุษย์ต่างวัย? และ ?คุณป้าปอมปอม-ครัวมนุษย์ป้า? รวมทั้งมีรายการโทรทัศน์ที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับผู้สูงอายุ เช่น ?ลุยไม่รู้โรย? ?SUPER 60+ ซุปเปอร์ซิกตี้ อัจฉริยะพันธุ์เก๋า? และ ?เดอะวอยซ์ ซีเนียร์ The voice senior?
4.7 ภาวะสมองเสื่อมโดยสภาพร่างกายที่เสื่อมถอยเมื่ออายุเพิ่มขึ้นภาวะสมองเสื่อมเป็นอีกโรคหนึ่งที่พบว่า ยิ่งอายุยืนมากก็ยิ่งเสี่ยงอาการสมองเสื่อม ไม่ใช่การเจ็บป่วยทั่วไป แต่เป็นการที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ดังนั้น การมีกลไกการดูแลช่วยเหลือในชุมชนจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ช่วยให้ทั้งผู้สูงอายุสมองเสื่อมและผู้ดูแลมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
4.8 ศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชน เป็นไปตามแนวคิดของการดูแลระยะกลางมุ่งให้ผู้สูงอายุที่มีข้อจำกัดในการทำหน้าที่ของร่างกายจากสาเหตุต่าง ๆ ได้รับการฟื้นฟูสุขภาพในศูนย์บริการที่ดี ตั้งอยู่ในชุมชนใกล้บ้าน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผุ้สูงอายุและครอบครัว ซึ่งเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของชมรมผู้สูงอายุกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่
4.9 การดูแลแบบประคับประคองเพื่อผู้ป่วยจากไปอย่างสงบและสมศักดิ์ศรี มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ป่วยและญาติสามารถใช้ชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ทางร่างกายและจิตใจ จนกระทั่งจากไปอย่างสงบ
4.10 รถพุ่มพวงตลาดที่เคลื่อนเข้าถึงบ้านผู้สูงอายุ คือตลาดเคลื่อนที่ในรูปแบบของรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่นำสินค้าอาหารสดและอาหารแห้งนานาชนิดไปยังบ้านของผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ผู้สูงอายุอาศัยอยู่ในที่เดิมให้นานที่สุด เพื่อลดปัญหาและอุปสรรคในการเดินทางของผู้สูงอายุ 5. ส่วนที่ 4 : งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการสังคมเพื่อผู้สูงอายุไทย ได้แก่ การพัฒนาระบบสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม การวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การประเมินผลระบบการให้บริการการดูแลระยะกลาง (Intermediate Care) ข้อเสนอการพัฒนาการดำเนินงานส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุ และข้อเสนอเชิงนโยบายการพัฒนาระบบหลักประกันถ้วนหน้าการดูแลระยะยาวในประเทศไทย
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 30 มีนาคม 2564