ผลการพิจารณาการรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การส่งเสริม เพิ่มขีดความสามารถและสร้างความเป็นธรรมทางการแข่งขันของธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

ข่าวการเมือง Wednesday March 31, 2021 09:47 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ผลการพิจารณาการรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การส่งเสริม เพิ่มขีดความสามารถและสร้างความเป็นธรรมทางการแข่งขันของธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ของคณะกรรมาธิการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การส่งเสริม เพิ่มขีดความสามารถ และสร้างความเป็นธรรมทางการแข่งขันของธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป

เรื่องเดิม

1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การส่งเสริม เพิ่มขีดความสามารถ และสร้างความเป็นธรรมทางการแข่งขันของธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม เห็นว่าระบบการค้าในประเทศไทยได้ปรับเปลี่ยนจากระบบการค้าแบบเดิม (traditional) เป็นระบบการค้ารูปแบบใหม่ (modern trade) โดยมีการพัฒนาของเทคโนโลยีให้เป็นการค้าผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ซึ่งมีการขยายตัวอย่างกว้างขวาง และมีมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเพื่อให้การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ จึงมีข้อเสนอแนะว่าควรเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย และเพิ่มโอกาสของผู้ผลิต เกษตรกรและผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางให้มีช่องทางในการขยายตลาดและเพิ่มรายได้ให้แก่เศรษฐกิจของชุมชน ควรสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการไทยและส่งเสริมธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ควรพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมหรือปรับปรุงพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และควรศึกษาติดตามแนวทางการจัดเก็บภาษีรายได้จากการประกอบการที่ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้มีการจัดเก็บรายได้จากผู้ประกอบการแพลตฟอร์มต่างประเทศ

2. รองนายกรัฐมนตรี (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ พณ. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการดังกล่าว ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

ข้อเท็จจริง
1. พณ. เสนอว่าได้ดำเนินการรวบรวมข้อเสนอแนะของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กค. ดศ. อก. สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า สคบ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และได้พิจารณาข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ แล้ว โดยในภาพรวมไม่มีข้อขัดข้อง แต่มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สรุปผลการพิจารณาได้ ดังนี้

1. การสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการไทย เช่น ควรพิจารณากำหนดแนวปฏิบัติ (Guideline) การประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) เพื่อความโปร่งใสและสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการ

ผลการพิจารณาตามข้อเสนอแนะฯ

  • เห็นว่าการส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าเป็นประเด็นที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากจะช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างทั่วถึงและยั่งยืนขึ้น อย่างไรก็ดี การกำหนดแนวปฏิบัติสำหรับการประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ควรตั้งอยู่บนหลักไม่เลือกปฏิบัติและใช้บังคับเป็นการทั่วไปทั้งผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศ

2. การแก้ไขกฎหมาย หรือระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง เช่น ปรับปรุงพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 และพิจารณายกร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ตามความมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2562

ผลการพิจารณาตามข้อเสนอแนะฯ

  • เห็นว่าการตราพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อาศัยอำนาจตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 ควรตั้งอยู่บนหลักการไม่เลือกปฏิบัติและหลีกเลี่ยงการออกมาตรการที่จะนำไปสู่การสร้างภาระให้กับผู้ประกอบธุรกิจซึ่งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) อยู่ระหว่างการศึกษากฎหมายของต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแล Digital Service Platform รวมถึง e-Commerce Platform ทั้งนี้ หากมีการตราพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พณ. โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีความเห็นว่า 1) การขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการควรเป็นการรับแจ้งข้อมูลการประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และให้มีการต่ออายุการประกอบธุรกิจ และไม่ควรมีค่าธรรมเนียมในการขึ้นทะเบียนเพื่อให้ข้อมูลเป็นปัจจุบัน 2) ช่องทางการขึ้นทะเบียนและต่ออายุการประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ให้ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด 3) กรณีผู้ประกอบการไม่แจ้งการขึ้นทะเบียนจะไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการสนับสนุนให้เข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน

3. การส่งเสริมธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ของคนไทย เช่น สนับสนุนและส่งเสริมแพลตฟอร์มของคนไทยทั้งที่เป็นแพลตฟอร์มกลาง โดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน

ผลการพิจารณาตามข้อเสนอแนะฯ

  • ปัจจุบันได้มีการพัฒนาความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม SME โดยมีข้อสังเกตดังนี้

1. การอบรม SME ให้ความรู้เรื่อง e-Commerce บางหลักสูตรมีผู้เรียนที่มีศักยภาพต่างกันเข้ามาเรียนร่วมกันทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ไม่เท่าทันกัน ผู้เรียนบางคนก็ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ด้วยตัวเอง

2. การอบรม SME ให้ความรู้เรื่อง e-Commerce ควรได้มีการติดตามผลว่า SME แต่ละรายเมื่อนำสินค้าขึ้นขายของในออนไลน์แล้วสามารถขายได้จริงหรือไม่

3. การที่ยอดขาย e-Commerce ของประเทศไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จำเป็นต้องมีการติดตามว่าการขายของที่เป็นสินค้าไทยหรือของ SME มีสัดส่วนเท่าไร เพื่อให้มั่นใจว่าการเติบโตของยอดขายที่เกิดขึ้นจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทย

4. การจัดเก็บรายได้จากผู้ประกอบการที่ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ต่างประเทศ เช่น ควรมีการศึกษาและติดตามแนวทางการจัดเก็บภาษีรายได้จากการประกอบการที่ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากองค์การระหว่างประเทศ

ผลการพิจารณาตามข้อเสนอแนะฯ

  • กค. โดยกรมสรรพากรได้เข้าร่วมการประชุม Inclusive Framework on BEPS (Inclusive Framework) ของ OECD และ G20 เพื่อร่วมกันกับประเทศสมาชิกจำนวน 137 ประเทศ เพื่อพิจารณาแนวทางการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการในเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) เมื่อได้ข้อยุติแล้ว จะนำมาพิจารณาแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติระหว่างประเทศต่อไป ทั้งนี้ ประเด็นการจัดเก็บรายได้กรณีการนำเข้าสินค้าผ่านแดนที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท นั้น กค. โดยกรมศุลกากรอยู่ระหว่างการกำหนดแนวทางและรูปแบบที่เหมาะสมต่อไป

ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม

  • กลไกการคุ้มครองผู้บริโภค ปัจจุบันการซื้อขายสินค้าออนไลน์เป็นที่นิยมของผู้บริโภค ส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาเรื่องราวร้องทุกข์ของผู้บริโภค เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจบางส่วนมีเว็บไซต์อยู่ต่างประเทศ การนำสินค้ามาขายไม่มีกระบวนการตรวจสอบคุณภาพ ไม่ทราบแหล่งที่มาของสินค้า จึงมีความยุ่งยากในการสืบสวนและติดตามผู้ประกอบธุรกิจมาแสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ จึงเห็นควรมีกลไกการแก้ไขปัญหาการซื้อขายสินค้าออนไลน์ ดังนี้

1.) สร้างความรับรู้ให้กับร้านคู่ค้าเกี่ยวกับแนวทางการโฆษณาส่งเสริมการขายทางสื่ออินเทอร์เน็ตและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

2.) จัดทำฐานข้อมูลแอปพลิเคชัน OCPB CONNECT เชื่อมโยงฐานข้อมูลกับหน่วยงานต่าง ๆ

3.) การบังคับใช้กฎหมาย โดยใช้กลไกการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทจนได้ข้อยุติ และดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อเปรียบเทียบปรับความผิดทางอาญา รวมทั้งดำเนินคดีแพ่งแทนผู้บริโภค

4.) การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ โดยจัดทำฐานข้อมูลและข่าวสารเพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่ผู้บริโภคผ่านช่องทางหลากหลาย เช่น Facebook, Line, Website และ YouTube เป็นต้น

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 30 มีนาคม 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ