การขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร

ข่าวการเมือง Wednesday March 31, 2021 09:50 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ ทั่วราชอาณาจักร ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 และสิ้นสุดในวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ

เรื่องเดิม เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 10) ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2564 และสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2564 เพื่อขยายระยะเวลาการบังคับใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ในประเทศ

การดำเนินการที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564 สำนักงานฯ ได้จัดการประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อประเมินความเหมาะสมในการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปเป็นคราวที่ 11 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 โดยมีเหตุผลและความจำเป็น ตามสรุปผลการประชุม ดังนี้

1. ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด ? 19) ในภาพรวมทั่วโลกยังพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากในหลายภูมิภาค โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมประมาณ 120 ล้านคน ทั่วโลก และปัจจุบันมีความน่ากังวลเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ชนิดกลายพันธุ์ในสหราชอาณาจักรซึ่ง

มีความรุนแรงสามารถแพร่ระบาดได้ง่าย และทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่าสายพันธุ์เดิมประมาณร้อยละ 30 นอกจากนี้ สถานการณ์ในหลายประเทศมีการเตรียมประกาศปิดเมือง (Lock Down) เพิ่มเติมเพื่อควบคุมสถานการณ์ในห้วงเทศกาลอีสเตอร์ในช่วงต้นเดือนเมษายน เช่น ประเทศอิตาลี และประเทศญี่ปุ่นมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินบริเวณกรุงโตเกียวและพื้นที่โดยรอบ

2. สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด ?19) ในประเทศ

เพื่อนบ้านของไทย แม้ว่าจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงแต่ยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ เนื่องจากในประเทศกัมพูชายังพบ ผู้ติดเชื้อในจังหวัดพระสีหนุและบริเวณชายแดนติดกับเวียดนามอีกทั้งตรวจพบชาวกัมพูชาที่หลบหนีเข้ามาในประเทศไทย ติดเชื้อโควิด ? 19 นอกจากนี้ สถานการณ์ในประเทศเมียนมาภายหลังการรัฐประหารทำให้มีการชุมนุมเพื่อประท้วงรัฐบาล รวมถึงมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่และการใช้ความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลให้มีผู้ลักลอบข้ามแดนมายังประเทศไทยในเดือนมีนาคมสูงขึ้นถึงร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับช่วงเดือนกุมภาพันธ์ อีกทั้งการผละงานเพื่อประท้วงรัฐบาลของบุคลากรด้านสาธารณสุขของเมียนมาทำให้ไม่สามารถตรวจสอบจำนวนผู้ติดเชื้อที่แน่นอนได้ ในขณะที่ประเทศมาเลเซีย แม้ว่าสถานการณ์โดยภาพรวมมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังเนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อใน 4 รัฐ ที่ติดกับชายแดนประเทศไทยยังคงมีจำนวนเพิ่มขึ้น

3. สถานการณ์ในประเทศไทยห้วงเดือนมีนาคมยังคงพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อน (Cluster) หลายจุด ที่สำคัญได้แก่ ตลาดบางแค ตลาดพรพัฒน์ และตลาดสุชาติ ประกอบกับการแพร่ระบาดของโรคภายในประเทศในแหล่ง ที่พักอาศัยและในชุมชนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในประเทศอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อในหลายพื้นที่เป็นวงกว้าง นอกจากนี้ แม้ว่าในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยจะมีการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนแล้ว แต่จากข้อมูลทางการแพทย์พบว่าการได้รับวัคซีนไม่สามารถป้องกัน การติดเชื้อ เพียงแต่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการที่ไม่รุนแรงหรืออาจไม่แสดงอาการแต่ยังสามารถแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่นได้

4. มติของที่ประชุม ที่ประชุมมีความเห็นพ้องกันว่ายังมีความจำเป็นจะต้องใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต่อไป เพื่อเฝ้าระวังและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเทศกาลสงกรานต์ที่มีคนไทยจากต่างประเทศและชาวต่างชาติแจ้งความประสงค์จะเดินทางเข้าประเทศเป็นจำนวนมาก และจะมีการเดินทางข้ามจังหวัดในห้วงวันหยุดยาว ซึ่งเป็นพฤติการณ์ที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค จึงเห็นควรให้มีการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปจนถึงเดือนพฤษภาคมเพื่อประโยชน์ในการบูรณาการการปฏิบัติงานให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจอย่างเพียงพอในการดำเนินมาตรการที่จำเป็นในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 1) การเฝ้าระวังและสอบสวนโรคเพื่อหาแหล่งที่มาของการติดเชื้อ 2) การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคภายในประเทศได้อย่างรวดเร็วและเท่าทันต่อสถานการณ์ และ 3) การคัดกรองบุคคลที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นคงและปลอดภัยในระบบสาธารณสุขของประเทศเพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าว ควบคู่กับการเตรียมผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ด้านการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ

5. สำนักงานฯ ได้นำผลการประชุมดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด ? 19) ครั้งที่ 4/2564 ในวันที่ 19 มีนาคม 2564 เพื่อพิจารณา ซึ่งที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบผลการประชุม และมีมติให้นำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรต่อไป

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 30 มีนาคม 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ