การขอความเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 25

ข่าวการเมือง Wednesday March 31, 2021 09:58 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การขอความเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 25 (Joint Statement of the Twenty-Fifth ASEAN Socio-Cultural Community (ASCC) Council)

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการต่อร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 25 (Joint Statement of the Twenty-Fifth ASEAN Socio-Cultural Community (ASCC) Council) โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ดำเนินการได้ โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก และหลังจากนั้นให้รายงานผลเพื่อคณะรัฐมนตรีทราบต่อไป รวมทั้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 25 ร่วมรับรองร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 25 ในวันที่ 31 มีนาคม 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video conference) ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ

สาระสำคัญ

ร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 25 มีสาระสำคัญ ดังนี้

1. การสนับสนุนประเด็นสำคัญและแผนงานหลัก 3 ประการของการเป็นประธานอาเซียนของประเทศบรูไนดารุสซาลาม ภายใต้แนวคิดหลัก ?เราห่วงใย เราเตรียมพร้อม เราก้าวหน้า? ได้แก่ (1) การสร้างประชาคมที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและมีภูมิคุ้มกัน โดยส่งเสริมให้มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (ประชาคมที่ห่วงใย) (2) การเตรียมความพร้อมและปรับตัวสำหรับโอกาสและความท้าทายในอนาคตเพื่อทำให้แน่ใจว่าอาเซียนจะดำรงความสำคัญและภูมิคุ้มกันเพื่อเอาชนะความท้าทายและภัยคุกคามในปัจจุบันและในอนาคตต่าง ๆ ได้ (ประชาคมที่เตรียมพร้อม) และ (3) การสร้างโอกาสและประโยชน์ให้แก่ประชาชนผ่านแผนงานที่ส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าที่ยั่งยืนของภูมิภาค (ประชาคมที่ก้าวหน้า)

2. การรับทราบเกี่ยวกับคำมั่นของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนในการดูแลห่วงใยประชาชนอาเซียน โดยการใช้ประโยชน์จากโอกาสที่มีอยู่ในปัจจุบันและในอนาคตและการจัดการกับข้อท้าทายต่าง ๆ ตลอดจนการสนับสนุนข้อเสนอของประเทศบรูไนดารุสซาลามในการจัดตั้งกลยุทธ์และแผนงานริเริ่มแบบองค์รวมในการเชื่อมโยงการตอบสนองของอาเซียนกับเหตุฉุกเฉินและภัยพิบัติเพื่อให้ประชาคมอาเซียนในภาพรวมมีการประสานงาน มีภูมิคุ้มกัน และมีความพร้อม เพิ่มมากขึ้นสำหรับอนาคต

3. การชื่นชมผลการประเมินผลครึ่งแผนของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ซึ่งเป็นการดำเนินการที่เป็นประโยชน์ต่อการประเมินความก้าวหน้าทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคเกี่ยวกับการบรรลุความมุ่งมั่นของแผนงานประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน พ.ศ. 2568 และการรับทราบข้อเสนอของประเทศ บรูไนดารุสซาลาม ในการติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานตามปฏิญญากรุงฮานอยว่าด้วยวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลังปี ค.ศ. 2025 ผ่านการจัดตั้งคณะทำงานระดับสูงและการจัดทำเอกสารแผนที่นำทาง (Roadmap)

4. การขยายบทบาทของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนให้ครอบคลุมถึงความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจาและหุ้นส่วนความร่วมมือของอาเซียน ผ่านกลไกความร่วมมืออาเซียนบวก 1 และบวก 3 และ การจัดตั้งกลไกการเสวนาเพื่อเสริมสร้างนวัตกรรม (Innovation Platform Dialogue) 5. การพัฒนากรอบความร่วมมือเศรษฐกิจใส่ใจที่ครอบคลุม โดยให้ความสำคัญกับแนวนโยบายด้านศักยภาพของเศรษฐกิจใส่ใจและเพื่อปรับนโยบายของอาเซียนให้มีความคลุมและเอื้ออำนวยมากขึ้น

6. การเตรียมความพร้อมสำหรับโครงการ ASEANWalk ค.ศ. 2021 เพื่อเสริมสร้างจิตวิญญาณของการเป็นอาสาสมัคร และการจัดตั้ง ASEAN Aid เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนอาเซียนมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับวาระการดำเนินงานในระดับภูมิภาคและเกี่ยวกับการพัฒนาของอาเซียน

7. ความคืบหน้าในการจัดทำเอกสารผลลัพธ์สำคัญต่าง ๆ ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 38 ในเดือนตุลาคม 2564 ซึ่งรวมถึงกรอบนโยบายระดับภูมิภาคว่าด้วยการส่งเสริมความเข้าใจและความรู้สึกของการเป็นวาระระดับภูมิภาคที่มากขึ้นในหมู่ประชาชนอาเซียน และการดำเนินงานตามปฏิญญากรุงฮานอยว่าด้วยวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลังปี ค.ศ. 2025 ผ่านการจัดตั้งคณะทำงานระดับสูงและการจัดทำเอกสารแผนที่นำทาง (Roadmap)

8. การรับรองแผนงานขององค์กรอาเซียนเฉพาะสาขาภายใต้ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (Programme) ค.ศ. 2021 ? 2025 ซึ่งจะมีการเสนอให้ผู้นำอาเซียนรับทราบในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 38

9. การรับทราบกำหนดการเยือนติมอร์ ? เลสเตของคณะค้นหาข้อเท็จจริงจากประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน และความก้าวหน้าของการจัดส่งเจ้าหน้าที่เสาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนประจำการที่คณะผู้แทนถาวรประจำอาเซียน

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 30 มีนาคม 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ