โครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีและย่านนวัตกรรมโยธี

ข่าวการเมือง Wednesday April 7, 2021 18:12 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยมหาวิทยาลัยมหิดลดำเนินการโครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีและย่านนวัตกรรมโยธี ภายในกรอบวงเงิน 11,629.65 ล้านบาท เป็นเงินงบประมาณ จำนวน 7,764.00 ล้านบาท และเงินนอกงบประมาณ จำนวน 3,865.65 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี โดยให้มหาวิทยาลัยมหิดลจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณตามความพร้อมและความสามารถในการใช้จ่ายให้สอดคล้องกับแผนการย้ายโรงงานพระราม 6 ขององค์การเภสัชกรรม เพื่อใช้พื้นที่ว่างดังกล่าวในการเตรียมการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีและย่านนวัตกรรมโยธี สำหรับชั้นความสูงของอาคารให้พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายควบคุมอาคารที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้อง ครบถ้วน และเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ และให้ อว. ดำเนินการขออนุญาตก่อสร้างตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร และข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ก่อนดำเนินการต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมได้เสนอโครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีและย่านนวัตกรรมโยธี โดยเป็นการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีอาคารใหม่เพื่อทดแทนอาคารเดิมที่ใช้งานมากว่า 50 ปี มีสภาพแออัดคับแคบ โครงสร้างของอาคารและระบบสาธารณูปโภคเสื่อมสภาพอย่างชัดเจน โครงสร้างอาคารบางส่วนไม่สามารถซ่อมแซมแก้ไขได้ และส่งผลกระทบต่อการให้บริการทางการแพทย์ของหน่วยงานและประชาชนผู้ใช้บริการ โดยใช้พื้นที่บางส่วนที่ได้ว่างลงขององค์การเภสัชกรรม จำนวน 16 ไร่ 3 งาน 30 ตารางวา (บริเวณตรงข้ามคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี) ซึ่งเป็นเครือข่ายความร่วมมือย่านนวัตกรรมโยธี ที่มีแผนจะจะสร้างโรงงานผลิตยาแห่งใหม่เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตยาที่สาขาธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ร่วมกับแผนยุทธศาสตร์การเตรียมย้ายโรงงานพระราม 6 ออก (Exit strategy) ซึ่งสภามหาวิทยาลัยมหิดล ในการประชุมครั้งที่ 563 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563 มีมติอนุมัติโครงการฯ เรียบร้อยแล้ว ประกอบกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตในการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีและย่านนวัตกรรมโยธี ซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตด้วยแล้ว

โครงการฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

วัตถุประสงค์

1) เสริมสร้างเครือข่ายและขับเคลื่อนความร่วมมือของย่านนวัตกรมโยธี (Yothi Medical Innovation District: YMID) เพื่อใช้ประโยชน์พื้นที่ให้เกิดคุณูปการแก่ส่วนร่วมและประเทศชาติ และเชื่อมโยงสถาบันทางการแพทย์ต่าง ๆ ให้เกิดเป็นเครือข่ายที่จะใช้ทรัพยากรร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด สามารถสร้างนวัตกรรมด้านการรักษาพยาบาลและพัฒนาเป็นเครือข่ายในการพัฒนาวิทยาการและนวัตกรรมทางการแพทย์ของประเทศและภูมิภาคได้อย่างแท้จริง

2) เพื่อใช้ดำเนินพันธกิจของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ทดแทนอาคารหลักที่ใช้ในการบริการสุขภาพประชาชนทั่วไปให้เข้าถึงการบริการสุขภาพรักษาโรคซับซ้อนระดับตติยภูมิ รวมไปถึงการเรียนการสอนผลิตบัณฑิตแพทย์ พยาบาล การฝึกอบรมบุคลากรทางสาธารณสุขและด้านการสร้างงานวิจัยเพื่อประโยชน์แก่สังคม

ที่ตั้งและรูปแบบโครงการ
  • ใช้ที่ดิน 16 ไร่ 3 งาน 30 ตารางวา ด้านหน้าขององค์การเภสชักรรมที่ตั้งอยู่ตรงข้ามคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งเป็นที่ให้เช่าของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ โดยจะเชื่อมโยงกันผ่านทางยกระดับ (Skywalk) ซึ่งมีอยู่แล้ว ทั้งนี้ คณะแพทยศาสตร์ต้องขอเช่าต่อจากองค์การเภสัชกรรมซึ่งจะย้ายออกทั้งหมดภายในปี 2573 ตามขั้นตอนทางกฎหมายในการขออนุญาตใช้ที่ดินของทางราชการต่อไป
  • ก่อสร้างอาคารจำนวน 4 อาคาร รวมพื้นที่ก่อสร้างทั้งสิ้น 275,000 ตารางเมตร ประกอบด้วย

1) อาคารโรงพยาบาลมีความสูง 28 ชั้น ชั้นใต้ดิน 2 ชั้น พื้นที่ 191,000 ตารางเมตร โดยมีการใช้งานพื้นที่ ดังนี้

1.1) พื้นที่การให้บริการสุขภาพแก่ประชาชนทั่วไป ได้แก่ พื้นที่สำหรับหน่วยเวชระเบียน ประชาสัมพันธ์ แผนกพยาธิวิทยา แผนกรังสีวิทยา นิติเวชวิทยา แผนกผ่าตัด หน่วยตรวจผู้ป่วยนอก หอผู้ป่วยในสามัญ หอผู้ป่วยพิเศษ และหอผู้ป่วยวิกฤต รวมมีขนาดประมาณ 800 เตียง

1.2) พื้นที่ย่านนวัตกรรมโยธี เป็นพื้นที่ที่เปิดให้เครือข่ายความร่วมมือมาใช้ประโยชน์ร่วมกันเพื่อร่วมกันพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศตามแผนยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย

1.2.1) ศูนย์พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ (MIND CENTER: Medical Innovations Development Center) อันเป็นความร่วมมือกันระหว่าง คณะภายในมหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะวิทยาศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์

1.2.2) Co Working space เป็นพื้นที่ในการทำงานร่วมกันกับเครือข่ายความร่วมมือในลักษณะยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบตามความเหมาะสมของการใช้งาน สามารถใช้ในการดำเนินโครงการที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างเครือข่าย YMID

1.2.3) Clinical research center เป็นพื้นที่สำหรับการบริหารจัดการการทำวิจัยทางคลินิก

1.2.4) สำนักงานบริหารจัดการ (Administrative office) เป็นพื้นที่เพื่อบริหารจัดการใช้ประโยชน์และอำนวยความสะดวกแก่เครือข่าย YMID หรือคู่ความร่วมมือจากภายนอก

2) อาคารสาธารณูปโภคสูง 4 ชั้น พื้นที่ 8,000 ตารางเมตร เป็นพื้นที่สนับสนุนการให้บริการสุขภาพ ได้แก่ ฝ่ายสารสนเทศ ฝ่ายโภชนาการ หน่วยปลอดเชื้อ และงานผ้า

3) อาคารจอดรถสูง 10 ชั้น พื้นที่ 40,000 ตารางเมตร จอดรถได้ประมาณ 1,200 คัน

4) อาคารสำนักงานสูง 10 ชั้น (อาคาร Buffer) พื้นที่ 36,000 ตารางเมตร เพื่อรองรับพื้นที่ใช้สอยเดิมขององค์การเภสัชกรรม ได้แก่ สำนักงาน สหกรณ์ออมทรัพย์ พื้นที่สวัสดิการต่าง ๆ และอื่น ๆ ก่อนย้ายออกไปใช้พื้นที่ใหม่ที่จังหวัดปทุมธานีในปี 2573

ระยะเวลาดำเนินโครงการ

6 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 - 2570

ผลที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการ

1) ส่งเสริมนวัตกรรมด้านการแพทย์ ชีวการแพทย์ (Biomedical Platform) และการดูแลสุขภาพพร้อมสร้างเครือข่ายการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยใช้พื้นที่ร่วมกันในย่านนวัตกรรมโยธีให้เกิดนวัตกรรมด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพที่สามารถนำไปต่อยอดและเป็นประโยชน์ทางด้านสาธารณสุข และวิทยาศาสตร์สุขภาพของประเทศ

2) ผลิตบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มีความรู้และเชี่ยวชาญระดับสูงให้มีศักยภาพสูงในการดูแลสุขภาพของประชากรไทยและสามารถแข่งขันกับนานาชาติรวมทั้งเป็นส่วนที่สำคัญของนโยบาย Medical Hub ของรัฐบาล

3) ประชาชนสามารถเข้าถึงการบริการสาธารณสุขระดับตติยภูมิที่มีโรคซับซ้อนมากมีโอกาสเข้ารับการรักษาเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

4) โรงพยาบาลสามารถให้บริการผู้ป่วยนอกได้ จำนวน 2,500,000 รายต่อปี ผู้ป่วยใน จำนวน 55,000 รายต่อปี และผลิตนักศึกษา จำนวน 950 คนต่อปี

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 เมษายน 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ