ขออนุมัติผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินขั้นต่ำที่ภาครัฐจะได้รับของโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F

ข่าวการเมือง Wednesday April 7, 2021 18:17 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินขั้นต่ำที่ภาครัฐจะได้รับจากโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F ตามมติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2564 [ค่าสัมปทานคงที่เท่ากับมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ที่ 29,050 ล้านบาท และค่าสัมปทานผันแปรที่ 100 บาทต่อทีอียู] ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เสนอ

เรื่องเดิม
คณะรัฐมนตรีมีมติ (30 ตุลาคม 2561) อนุมัติในหลักการโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในรูปแบบ PPP Net Cost ตามมติ กพอ. ในคราวประชุมครั้งที่ 4/2561 โดยในส่วนของท่าเรือ F (ท่า F1 และ F2) มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ดำเนินการออกแบบและก่อสร้างในส่วนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) และงานออกแบบ ก่อสร้าง ให้บริการ และบำรุงรักษาท่าเทียบเรือชายฝั่งและท่าเรือบริการ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง โดยภาคเอกชนดำเนินการในงานส่วนของท่าเทียบเรือ (Superstructure) และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงระบบจัดการตู้สินค้าแบบอัตโนมัติ รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น โดยมีระยะเวลาร่วมลงทุน 35 ปี
2. กทท. กำหนดผลตอบแทนทางการเงินขั้นต่ำที่ภาครัฐจะได้รับจากเอกชน ดังนี้ (1) ค่าสัมปทานคงที่ คำนวณบนสมมติฐานมูลค่าเงินลงทุนของ กทท. ที่จัดสรรให้กับท่าเทียบเรือ F ซึ่งคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ประมาณ 32,225 ล้านบาท1 (อัตราคิดลดร้อยละ 4.2) รวมตลอดระยะเวลาการร่วมลงทุนกับเอกชน และ (2) ค่าสัมปทานผันแปรผลตอบแทนต่อปริมาณตู้สินค้าขั้นต่ำกำหนดไว้ที่ 100 บาทต่อทีอียู บนสมมติฐานมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ประมาณ 4,454 ล้านบาท (อัตราคิดลดร้อยละ 4.2)

[1]คำนวณโดยใช้มูลค่าการลงทุนของ กทท. ที่จัดสรรให้กับท่าเทียบเรือ F (15,954.83 ล้านบาท) รวมกับอัตรากำไรบนมูลค่าของการลงทุนของ กทท. ที่ร้อยละ 8 จำนวน 33 ปี (เนื่องจาก กทท. ได้อนุญาตให้ Grace Period ในช่วง 2 ปีแรก) และนำมาคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ด้วยอัตราคิดลดร้อยละ 4.2 (ต้นทุนเงินของ กทท.)

สาระสำคัญของเรื่อง

สกพอ. รายงานว่า
1. ผลการเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนครั้งที่ 1 มีเอกชนยื่นเอกสารข้อเสนอ 1 ราย แต่ขาดหลักประกันซอง คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) จึงมีมติว่า ไม่ผ่านการประเมิน
2. ผลการเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนครั้งที่ 2

2.1 มีเอกชนยื่นเอกสารข้อเสนอ 2 ราย และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้พิจารณาประเมินข้อเสนอซองที่ 1 (ซองเอกสารหลักฐานการยื่นข้อเสนอ) และซองที่ 2 (ซองคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ) โดยมีผู้ผ่านการประเมิน 1 ราย คือ กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ต่อมาคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้มีมติให้กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ผ่านการประเมินข้อเสนอ ซองที่ 3 (ข้อเสนอทางเทคนิคและแผนการลงทุนในโครงการฯ)

2.2 การประเมินข้อเสนอซองที่ 4 (ข้อเสนอด้านผลประโยชน์ตอบแทน) เนื่องจากกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ได้เสนอให้ค่าสัมปทานคงที่คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ที่ 12,051 ล้านบาท และค่าสัมปทานผันแปรที่ 100 บาทต่อทีอียู ซึ่งค่าสัมปทานคงที่ตามข้อเสนอต่ำกว่าผลประโยชน์ตอบแทนที่รัฐคาดหมายตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 ตุลาคม 2561 คณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงได้เจรจาผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินที่ภาครัฐจะได้รับกับกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC จำนวน 6 ครั้ง สรุปได้ ดังนี้

2.2.1 ในช่วงเดือนเมษายน - มิถุนายน 2563 จำนวน 4 ครั้ง โดยกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC เสนอผลตอบแทนค่าสัมปทานคงที่เพิ่มขึ้น เป็น 28,000 ล้านบาท ส่วนค่าสัมปทานผันแปรยังเสนอคงเดิม (100 บาทต่อทีอียู)

2.2.2 กพอ. ในคราวประชุมครั้งที่ 5/2563 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2563 มีมติรับทราบผลการดำเนินงานของ กทท. และ สกพอ. และให้รับความเห็นของที่ประชุม เช่น (1) ให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ เร่งเจรจากับเอกชนในส่วนผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินที่ภาครัฐจะได้รับให้ดีที่สุดต่อภาครัฐ (2) ให้ กทท. และ สกพอ. เร่งทำความเห็นต่อผลการเจรจาข้างต้น โดยอย่างน้อยต้องประกอบด้วยรายละเอียดวิธีการหรือสมมติฐานทางการเงิน และปัจจัยเรื่องผลกระทบเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ไปดำเนินการ และเร่งให้นำเสนอผลการเจรจาพร้อมความเห็นของ กทท. และ สกพอ. ต่อ กพอ. เพื่อพิจารณาต่อไป

2.2.3 คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้เจรจาเพิ่มเติมอีก 2 ครั้ง ในเดือนมกราคม 2564 โดยกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ได้ยื่นข้อเสนอและยืนยันว่าเป็นข้อเสนอสุดท้าย คือ ค่าสัมปทานคงที่ 29,050 ล้านบาท ส่วนค่าสัมปทานผันแปรยังเสนอคงเดิม (100 บาทต่อทีอียู)

2.2.4 กทท. และ สกพอ. ได้ดำเนินการตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง การประกาศเชิญชวนวิธีการประกาศเชิญชวน วิธีการคัดเลือกของคณะกรรมการคัดเลือก หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน รายละเอียดของเอกสารการคัดเลือกเอกชน และข้อกำหนดมาตรฐานของร่างสัญญาร่วมลงทุน พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 18 วรรคสอง โดยได้ร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริงและจัดทำความเห็นต่อคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพิเศษภาคตะวันออกพิจารณากลั่นกรองในคราวประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งต่อมาเห็นชอบให้เสนอ กพอ. พิจารณา โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

1. เงื่อนไขในเอกสารการคัดเลือกเอกชน

ได้ระบุไว้ว่า ?ข้อเสนอสัมปทานคงที่ที่ต่ำกว่าผลประโยชน์ตอบแทนที่ภาครัฐคาดหวังจะได้รับ ตามที่ระบุไว้ในหลักการโครงการฯ ซึ่งคณะรัฐมนตรีเคยอนุมัติไว้จะไม่ถูกตัดสิทธิ์และไม่ถือว่าข้อเสนอนั้นไม่ผ่านการพิจารณา?

2. ผลตอบแทนโครงการฯ เฉพาะส่วนของท่าเทียบเรือ F

มีอัตราผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) อยู่ที่ร้อยละ 11.01 และมีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) อยู่ที่ 30,032 ล้านบาท และหากนำมูลค่าที่ดินของ กทท. มาคำนวณเป็นมูลค่าสุดท้าย (Terminal Value) จะมีอัตราผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) อยู่ที่ร้อยละ 11.54 และมีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) อยู่ที่ 39,959 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับที่ดีสำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่

3. ความเสี่ยงด้านผลตอบแทนต่อเงินลงทุนของ กทท.

เนื่องจากมูลค่าเงินลงทุนก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3ต่ำกว่าวงเงินลงทุนที่ได้ประมาณการไว้ รวม 5,161.06 ล้านบาท ทำให้มูลค่าการลงทุนท่าเทียบเรือ F เหลือ 13,786.67 ล้านบาท (จาก 15,954.74 ล้านบาท) ส่งผลให้ต้นทุนของการลงทุนของ กทท. ในส่วนของท่าเทียบเรือ F ตามหลักการการคำนวณ เป็น 27,845 ล้านบาท ดังนั้น ข้อเสนอค่าสัมปทานคงที่ของเอกชน จึงครอบคลุมความเสี่ยงด้านผลตอบแทนต่อเงินลงทุนของ กทท. ได้

4. ผลกระทบหากมีการคัดเลือกเอกชนใหม่

4.1 จะมีผลกระทบต่อการเปิดดำเนินการท่าเทียบเรือ F โดยอาจล่าช้าประมาณ 2 ปี ส่งผลให้มีความเสี่ยงที่ท่าเรือแหลมฉบังจะไม่สามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าได้ รวมถึงข้อจำกัดในการรองรับเรือสินค้าขนาดใหญ่ของท่าเรือในปัจจุบัน และกรณีที่มีการถมทะเลแล้วเสร็จแต่ไม่มีการร่วมลงทุนสร้างท่าเทียบเรือได้ทันที จะทำให้ กทท. ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาและซ่อมบำรุงโครงสร้างในส่วนดังกล่าว

4.2 ภาครัฐมีความเสี่ยงที่จะไม่มีเอกชนยื่นข้อเสนอหรือเสนอผลตอบแทนต่ำกว่าเดิม เนื่องจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด - 19

2.2.5 กพอ. ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2564 ได้มีมติเห็นชอบผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินขั้นต่ำที่ภาครัฐจะได้รับเป็นค่าสัมปทานคงที่เท่ากับมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ที่ 29,050 ล้านบาท และค่าสัมปทานผันแปรที่ 100 บาทต่อทีอียู และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 เมษายน 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ