คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอกรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) (แผนพัฒนาฯ) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ 1. กรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 การวางกรอบทิศทางการพัฒนาประเทศไทย (ไทย) ในระยะของแผนพัฒนาฯ มีจุดประสงค์ที่จะพลิกโฉมประเทศให้เท่าทันและสอดคล้องกับพลวัตและบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อนำไทยไปสู่ประเทศที่มี ?เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน? โดยมีองค์ประกอบที่ต้องดำเนินการ 4 ด้าน สรุปได้ ดังนี้
องค์ประกอบ
เศรษฐกิจมูลค่าสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากการพัฒนา ต่อยอด และใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยการปรับทิศทางของภาคการผลิตเดิมที่มีความสำคัญและส่งเสริมภาคการผลิตที่ไทยมีศักยภาพสอดรับกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลก
สังคมแห่งโอกาสและความเสมอภาค เพื่อให้ทุกกลุ่มคนในประเทศมีโอกาสเลื่อนสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างเต็มศักยภาพ และประเทศมีความเหลื่อมล้ำลดลงในทุกมิติ
วิถีชีวิตที่ยั่งยืน เพื่อส่งเสริมรูปแบบการดำเนินชีวิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เอื้อให้เกิดความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศ และสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อมุ่งจัดการกับปัญหาที่เป็นภัยคุกคามสำคัญทั้งในไทยและในระดับโลก เช่น มลพิษทางอากาศ และก๊าซเรือนกระจก
ปัจจัยสนับสนุนการพลิกโฉมประเทศ เพื่อพัฒนาปัจจัยสนับสนุนที่มีความสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่การเป็น ?เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน?
หมุดหมาย
1. ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง
2. ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณค่าและความยั่งยืน
3. ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน
4. ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง
5. ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนและจุดยุทธศาสตร์ทาง โลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค
6. ไทยเป็นฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและบริการดิจิทัลของอาเซียน
7. ไทยมีผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูง และสามารถแข่งขันได้
8. ไทยมีพื้นที่และเมืองหลักของภูมิภาคที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจ ทันสมัย และน่าอยู่
9. ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลงและคนไทยทุกคนมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ เหมาะสม
10. ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ
11. ไทยสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
12. ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต
13. ไทยมีภาครัฐที่มีสมรรถนะสูง
2. การระดมความเห็นต่อกรอบแผนพัฒนาฯ สศช. อยู่ระหว่างจัดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วนในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2564 ผ่าน 3 ช่องทางหลัก ได้แก่ (1) การประชุมระดมความเห็นระดับกลุ่มจังหวัดทั้ง 18 กลุ่มจังหวัด (2) การประชุมระดมความเห็นกลุ่มเฉพาะ เช่น กลุ่มหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ กลุ่มภาคเอกชน และกลุ่มเยาวชน และ (3) การระดมความเห็นผ่านสื่อออนไลน์และสื่อสาธารณะ
3. การดำเนินงานในระยะต่อไป สศช. จะนำกรอบแผนพัฒนาฯ ที่ผ่านการระดมความคิดเห็นไปดำเนินการยกร่างแผนพัฒนาฯ ตามกระบวนการที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2561 ให้แล้วเสร็จตามขั้นตอนต่อไป
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 เมษายน 2564