ผลการพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณามีมติให้รับฟังความคิดเห็นของนักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชน และประชาชน สภาผู้แทนราษฎร

ข่าวการเมือง Wednesday April 7, 2021 18:51 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณามีมติให้รับฟังความคิดเห็นของนักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชน และประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทราบต่อไป

เรื่องเดิม

1. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (สผ.) ได้เสนอรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณามีมติให้รับฟังความคิดเห็นของนักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชน และประชาชน สภาผู้แทนราษฎร มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญมีข้อสังเกตต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎรและคณะกรรมาธิการวิสามัญที่มีหน้าที่และอำนาจที่เกี่ยวข้องควรเปิดโอกาส และรับฟังความคิดเห็นจากนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน เพื่อนำข้อมูลไปประกอบการพิจารณา คณะรัฐมนตรีควรเปิดพื้นที่ให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน เพื่อแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระสร้างสรรค์และอยู่ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ อว. ควรเปิดพื้นที่ให้นักเรียน และบุคลากรในโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา เพื่อแสดงความคิดเห็นในโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา สร้างความรู้ ความเข้าใจด้านการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หน้าที่ความเป็นพลเมือง ตลอดทั้งคุณธรรมและจริยธรรม กำหนดมาตรการความปลอดภัยให้กับนักเรียน นิสิต นักศึกษาในการคัดกรองบุคคลภายนอกที่เข้า ? ออก โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาเพื่อความปลอดภัยและป้องกันการแทรกแซงจากบุคคลภายนอก และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) ควรปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนการชุมนุมที่กฎหมายกำหนดและการบังคับใช้กับผู้ชุมนุม ต้องไม่ใช้ความรุนแรง และควรคำนึงถึงหลักรัฐศาสตร์มาประกอบการพิจารณากับหลักนิติศาสตร์ด้วย นอกจากนี้ ควรชี้แจงว่าปัจจุบันการชุมนุมในที่สาธารณะนั้นจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558

2. รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ อว. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมทั้งข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ตามข้อ 1. ไปพิจารณาร่วมกับ ศธ. กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ตช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานพร้อมทั้งข้อสังเกตดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

ข้อเท็จจริง

อว. เสนอว่า ได้ร่วมพิจารณากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามข้อ 2. แล้ว ซึ่งเห็นด้วยต่อรายงานการพิจารณาศึกษาดังกล่าว โดยเห็นว่าการเปิดโอกาสให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชน และประชาชนได้แสดงความคิดเห็นในการแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม ย่อมเป็นแนวทางหนึ่งในการรับทราบข้อมูลและความต้องการของประชาชน การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ เป็นหน้าที่ของรัฐและสถานศึกษาที่ต้องดำเนินการ นอกจากนี้ การบังคับใช้พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ควรเป็นไปภายใต้หลักการของรัฐธรรมนูญ การดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิดควรคำนึงถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและบทบัญญัติของกฎหมายร่วมกับหลักนิติรัฐเพื่อความเป็นธรรมโดยไม่สร้างเงื่อนไขความขัดแย้งทางสังคม และได้เสนอข้อคิดเห็นในประเด็นตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญดังกล่าว โดยสรุปผลการพิจารณาได้ดังนี้

ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ
1. สผ. กมธ. วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติม รธน. 60 กมธ. การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน และ กมธ. การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ควรเปิดโอกาสและรับฟังความคิดเห็นจากนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน เพื่อนำข้อมูลไปประกอบการพิจารณา

ผลการพิจารณา

เห็นด้วยกับข้อสังเกตดังกล่าว โดยมีข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ควรมีการจัดกิจกรรมเสวนาระหว่างคณะผู้แทนราษฎร และนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน และจัดรับฟังความคิดเห็นในรูปแบบช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) เพื่อให้สามารถเข้าถึงได้ทุกกลุ่มและทุกพื้นที่ หรือการจัดประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ณ สถานศึกษา ที่สามารถตอบโต้แลกเปลี่ยนระหว่างกันได้ 2. คณะรัฐมนตรีควรเปิดพื้นที่ให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชน และประชาชน เพื่อแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระสร้างสรรค์ และอยู่ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย

ผลการพิจารณา

เห็นด้วยกับข้อสังเกตดังกล่าว โดยคณะรัฐมนตรีควรเปิดโอกาสให้เยาวชนและประชาชนแสดงความคิดเห็นให้กว้างและมากขึ้นกว่านี้เพื่อลดปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่น การใช้ความรุนแรงในการระงับเหตุการณ์ชุมนุม 3. ศธ. และ อว. ควรเปิดพื้นที่ให้นักเรียน และบุคลากรในโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา เพื่อแสดงความคิดเห็นในโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา สร้างความรู้ ความเข้าใจด้านการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งกำหนดมาตรการความปลอดภัยให้กับนักเรียน นิสิต นักศึกษา ในการคัดกรองบุคคลภายนอกที่เข้า ? ออกโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาเพื่อความปลอดภัยและป้องกันการแทรกแซงจากบุคคลภายนอก

ผลการพิจารณา

  • เห็นด้วยกับข้อสังเกตดังกล่าว โดยมีข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันนักเรียนและนักศึกษา ให้ความสนใจในสังคมและรัฐบาล สถาบันการศึกษาจึงเป็นส่วนสำคัญหนึ่งที่สามารถรับฟัง ให้ความรู้ และแก้ไขปัญหาให้กับนักเรียน นิสิตและนักศึกษาได้อย่างชัดเจน ครูหรืออาจารย์ มีหน้าที่รับฟังความคิดเห็นต่าง ๆ แนะนำความถูกต้องและความปลอดภัยในการจัดกิจกรรมชุมนุม และรับฟังการอภิปรายนักเรียน นิสิตและนักศึกษาให้อยู่ในขอบเขต รวมทั้งไม่ควรใช้กระบวนการทางวินัยมาดำเนินการแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษาที่แสดงความคิดเห็นในการแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมทางสังคม และสถาบันการศึกษาไม่ควรปิดกั้นความคิดเห็น หากมีการจัดกิจกรรมชุมนุมภายในสถาบันการศึกษา
  • ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ได้มีการกำหนดรายวิชาเกี่ยวกับหน้าที่พลเมือง โดยจัดเป็นรายวิชาเพิ่มเติมในกลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับรัฐศาสตร์ กฎหมายและจริยธรรมสื่อสารมวลชนในหลักสูตรทุกระดับชั้นตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐานจนถึงระดับอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาค่านิยม ทักษะ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้เป็นพลเมืองดีของสังคมไทย ที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องประวัติศาสตร์ความเป็นไทย รักชาติ ศาสนา และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในสิทธิและหน้าที่การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ผ่านโครงการ ?ส่งเสริมวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหาษัตริย์ทรงเป็นประมุข?
4. ตช. ควรปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนการชุมนุมที่กฎหมายกำหนดและการบังคับใช้กับผู้ชุมนุมต้องไม่ใช้ความรุนแรง และไม่มีการคุกคามหรือข่มขู่ผู้ชุมนุมหรือการกระทำที่มีลักษณะเป็นการคุกคามหรือข่มขู่ผู้ชุมนุม ควรคำนึงถึงหลักรัฐศาสตร์มาประกอบการพิจารณากับหลักนิติศาสตร์ด้วย

ผลการพิจารณา

เห็นด้วยกับข้อสังเกตดังกล่าว โดย ตช. ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และอำนวยความสะดวกด้านการจราจร และรักษาความปลอดภัยให้แก่ผู้ชุมนุม เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรง หรือกลุ่มผู้ไม่หวังดีเข้ามาใช้โอกาสในการสร้างสถานการณ์ มีการบังคับใช้กฎหมายต่อแกนนำ หรือกลุ่มผู้ชุมนุมดำเนินการด้วยความระมัดระวังและรอบคอบเป็นไปตามหลักการสากล โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับการอบรมการปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมเพื่อลดความสูญเสียของเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ชุมนุม ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มีการแจ้งเส้นทางการจราจรหรือระบบการขนส่งสาธารณะเพื่อให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการใช้เส้นทางดังกล่าว และเป็นไปตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคตามที่ทางราชการกำหนด

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 เมษายน 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ