คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการออกใบอนุญาตประกอบกิจการยาง พ.ศ. ?. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงฯ ที่ กษ. เสนอ เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาต การออกใบอนุญาต การขอต่อใบอนุญาต และการขอรับใบแทนใบอนุญาต ในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร หรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ซึ่งต้นยาง ดอก เมล็ด หรือตาของต้นยาง หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของต้นยางที่อาจใช้เพาะพันธุ์ได้ การขนย้ายยางเข้าใน ผ่าน หรือออกจากเขตควบคุมการขนย้ายยาง การขยายพันธุ์ต้นยางเพื่อการค้า การค้ายาง การตั้งโรงทำยาง การนำยางเข้าหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร และการเป็นผู้จัดให้มีการวิเคราะห์หรือทดสอบคุณภาพยาง เพื่อให้การควบคุมกำกับดูแลในเรื่องของการนำเข้าและส่งออกต้นยาง ดอก เมล็ด หรือตาของต้นยาง หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของต้นยางสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
1. ยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2511) ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2518) ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2527) และฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2536) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมยาง พุทธศักราช 2481
2. กำหนดให้การนำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งยาง ต้นยาง ดอก เมล็ด หรือตาของต้นยาง หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของต้นยางที่อาจใช้เพาะพันธุ์ได้ การขนย้ายยางเข้าใน ผ่าน หรือออกจากเขตควบคุมการขนย้ายยาง การค้ายางและตั้งโรงทำยาง การเป็นผู้จัดให้มีการวิเคราะห์หรือการทดสอบคุณภาพยาง ต้องขอรับใบอนุญาตต่อผู้อนุญาต และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอใบอนุญาต
3. กำหนดให้การขยายพันธุ์ต้นยางเพื่อการค้าจะต้องเป็นการขยายพันธุ์ต้นยางโดยวิธีการผลิตกิ่งตายาง ผลิตต้นตอตายาง ผลิตต้นยางชำถุง รวมทั้งกำหนดให้การขยายพันธุ์ต้นยางเพื่อการค้าต้องขอรับใบอนุญาตต่อ ผู้อนุญาต และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอใบอนุญาต
4. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอต่ออายุใบอนุญาต การอนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาต การขอรับใบแทนใบอนุญาต และการออกใบแทนในอนุญาตตามข้อ 2. ? 3.
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 เมษายน 2564