เรื่อง ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนของประชาชนในระดับฐานรากอย่างยั่งยืน ของคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนของประชาชนในระดับฐานรากอย่างยั่งยืน ของคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนของประชาชนในระดับฐานรากอย่างยั่งยืน ของคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนของประชาชนในระดับฐานรากอย่างยั่งยืน ดังนี้ 1) ระดับปฏิบัติการ ควรขยายพื้นที่การดำเนินงานให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ขยายพันธมิตรความร่วมมือโดยกระตุ้น ชักชวนความร่วมมือกับองค์กรชุมชนที่มีบริการในระดับชุมชน และ 2) การพัฒนาในระดับนโยบาย ควรแก้ปัญหาความยากจนและเศรษฐกิจชุมชน ด้วยกลไกความร่วมมือแบบสอดประสานโดยสนับสนุนจากภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งพัฒนาบทบาทของสถาบันเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น เพื่อทำหน้าที่เป็นองคาพยพในการเพิ่มพูนทักษะ ประสบการณ์ และการจัดการความรู้ให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
2. รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ มท. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานพร้อมข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
มท. ได้ดำเนินการตามคำสั่งรองนายกรัฐมนตรีตามข้อ 2 โดยสรุปผลการพิจารณาได้ ดังนี้
ผลการพิจารณาศึกษา
เห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ดังนี้
1.1 การขยายผลการจัดตั้งศูนย์จัดการกองทุนชุมชนในพื้นที่ เพื่อให้มีผลการดำเนินงานที่เข้มแข็งและยั่งยืน ควรคำนึงถึงความพร้อมและศักยภาพของพื้นที่และการสนับสนุนงบประมาณในการจัดตั้ง
1.2 ควรบูรณาการกองทุนชุมชนในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการหนี้ร่วมกัน และให้หน่วยงานภาคีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องสนับสนุนให้ความรู้ เพิ่มทักษะที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการหนี้แก่คณะกรรมการศูนย์จัดการกองทุนชุมชนเพื่อให้สามารถถ่ายทอดกระบวนการไปสู่ครัวเรือนเป้าหมายให้สำเร็จ
1.3 ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย/ระเบียบ/ข้อบังคับของแต่ละกองทุนที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกศูนย์จัดการกองทุนชุมชน เพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบกระบวนการบริหารจัดการหนี้และไม่ขัดต่อระเบียบ/ข้อบังคับของแต่ละกองทุนที่จะเข้ามารับผิดชอบการปรับโครงสร้างหนี้ของกลุ่มเป้าหมายเพื่อเข้าสู่กระบวนการ 1 ครัวเรือน 1 สัญญา 2. การพัฒนาในระดับนโยบาย ควรแก้ปัญหาความยากจนและเศรษฐกิจชุมชน ด้วยกลไกความร่วมมือแบบสอดประสานโดยสนับสนุนจากภาครัฐ และภาคเอกชน รวมทั้งพัฒนาบทบาทของสถาบันเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น
ผลการพิจารณาศึกษา
เห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ โดยมีการดำเนินการ ดังนี้
2.1 วางระบบติดตาม ประเมินผล โดยระบบพี่เลี้ยง กรมการพัฒนาชุมชนมีการติดตาม สนับสนุนการดำเนินงานศูนย์จัดการกองทุนชุมชนโดย ?ทีมที่ปรึกษาแก้หนี้? ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นระบบพี่เลี้ยงในทุกระดับ โดยมีกลไกในการติดตาม สนับสนุนการดำเนินการของพัฒนาการจังหวัด/ผู้อำนวยการกลุ่มงาน/พัฒนาการอำเภอ รวมทั้งกำชับเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบให้ความสำคัญในการดำเนินการขับเคลื่อนการดำเนินงาน และควบคุมให้มีคุณภาพ
2.2 ผลักดันให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาความยากจน และ
ลดความเหลื่อมล้ำตามนโยบายรัฐบาล ขณะนี้รัฐบาลได้กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำในทุกพื้นที่ของประเทศเพื่อให้มีกลไกเชิงนโยบายในการดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจน
ลดความเหลื่อมล้ำและการพัฒนาทุกช่วงวัย โดยใช้ข้อมูลจากระบบ Thai People Map and Analytics Platform : TPMAP (ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า) เป็นหลัก และเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การบรรลุวิสัยทัศน์และเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติอย่างบูรณาการและเป็นรูปธรรม
2.3 บูรณาการความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันการศึกษาและสถาบันการเงินในท้องถิ่น ให้กรมการพัฒนาชุมชนร่วมกับสถาบันทางการเงิน และสถาบันการศึกษาในท้องถิ่นเป็นกลไกขับเคลื่อนและสนับสนุนการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนของศูนย์จัดการกองทุนชุมชน รวมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยการนำเอาบทเรียนและประสบการณ์ของศูนย์จัดการกองทุนชุมชนไปร่วมกันจัดการความรู้หาตัวแบบความสำเร็จ (Best Practice) เพื่อนำไปพัฒนาเป็นหลักสูตร เพิ่มพูนความรู้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระดับชุมชนและท้องถิ่น
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 เมษายน 2564