คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้งที่ 11/2564 และครั้งที่ 12/2564 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2564 และวันที่ 16 เมษายน 2564 ที่ได้พิจารณากลั่นกรองข้อเสนอแผนงานหรือโครงการเพื่อขอใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พระราชกำหนดฯ) และพิจารณากลั่นกรองความเหมาะสมของการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ และการพิจารณากำหนดแนวทางการกลั่นกรองและติดตามประเมินผลโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 รวมทั้งจัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ เป็นรายประเด็นตามผลการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินกู้ ตามพระราชกำหนดฯ และข้อเสนอแนะของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาตามมาตรา 8 (1) ของพระราชกำหนดฯ ข้อ 18 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินการ ตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 พ.ศ. 2563 (ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ) และมาตรา 4 (1) แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 รวมถึงมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ (คณะกรรมการฯ) เสนอ ดังนี้
1. อนุมัติโครงการสร้างรายได้ด้วยแฟรนไชส์ฝ่าโควิด-19 ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ วงเงิน 68 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงานที่ 3.3 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ ระยะเวลาดำเนินงาน 8 เดือน (พฤษภาคม - ธันวาคม 2564) และมอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการและดำเนินการตามความเห็นของคณะกรรมการฯ
2. อนุมัติให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ปรับปรุงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการเราชนะ และรับทราบแนวทางจัดการเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับผลการทบทวนสิทธิ์ที่อาจคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงและการกำหนดกรอบระยะเวลารับเรื่องร้องเรียนกรณีดังกล่าว โดยเห็นควรให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ได้รับแจ้งจากประชาชนภายในวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ พร้อมทั้งให้รับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ ไปประกอบการดำเนินโครงการฯ โดยเคร่งครัด
3. รับทราบแนวทางการพิจารณากลั่นกรองและติดตามประเมินผลโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก และมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติตามแนวทางที่คณะกรรมการฯ กำหนดไว้ต่อไป
4. รับทราบรายงานสรุปผลการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ เป็นรายประเด็นตามผลการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ และข้อเสนอแนะต่อการพิจารณากลั่นกรองโครงการ และการกำกับดูแลการดำเนินงานตามแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน พร้อมทั้งมอบหมายให้หัวหน้าหน่วยงานรับผิดชอบทั้ง 8 โครงการ รับข้อเสนอแนะของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาปรับปรุงแนวทางการดำเนินโครงการให้เป็นไปอย่างเหมาะสมต่อไป
1. โครงการสร้างรายได้ด้วยแฟรนไชส์ฝ่าโควิด-19 ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
1) วัตถุประสงค์ ประกอบด้วย (1) เพื่อช่วยเหลือและสร้างอาชีพแก่คนว่างงานและ คนตกงาน (2) เพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูธุรกิจแฟรนไชส์ และธุรกิจ SMEs ขนาดเล็ก ให้กลับมาดำเนินธุรกิจในตลาดเป็นปกติ (3) เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์และการขยายการลงทุนในธุรกิจให้กับ Franchisee มากขึ้น และ (4) เพื่อเพิ่มช่องทางการหารายได้และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไทย
2) เป้าหมาย ประกอบด้วย (1) เกิดการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การสร้างรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และเพิ่มการขยายธุรกิจด้วยระบบแฟรนไชส์ (2) เกิดการสร้างอาชีพให้แก่ประชาชนและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดไวรัสโควิด-19 รวมทั้งการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ (3) ธุรกิจแฟรนไชส์ขยายร้านสาขาแฟรนไชส์เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจมีความมั่นคงเข้มแข็งและยั่งยืน (4) เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ เกิดการสร้างอาชีพ ทำให้เกิดการจ้างงาน และกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ลดอัตราการว่างงาน และ (5) ธุรกิจในระบบแฟรนไชส์ขยายตัวและสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศเพิ่มขึ้น
3) กิจกรรม ระยะเวลาดำเนินงาน 8 เดือน (กุมภาพันธ์ 2564 ? กันยายน 2564) ดังนี้
3.1) กิจกรรมที่ 1 จัดงานแฟรนไชส์สร้างอาชีพ Road Show 2021 ในภูมิภาค รวม 15 ครั้ง (15 จังหวัด) (ประมาณเดือนละ 2 จังหวัด) เป้าหมาย 100 ธุรกิจ และประสานงานการเข้าถึงแหล่งเงินทุนระหว่างเจ้าของแฟรนไชส์ (Franchisor) และสถาบันการเงินของรัฐและธนาคารพาณิชย์ที่มีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ให้แก่ผู้ที่ต้องการทำธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchisee) ได้มีเงินลงทุนเพื่อประกอบอาชีพได้ง่ายขึ้น
3.2) กิจกรรมที่ 2 จัดงาน DBD Franchise & SME Expo 2021 ส่วนกลาง 1 ครั้งเป้าหมาย 400 ธุรกิจ และประสานงานการเข้าถึงแหล่งเงินทุนระหว่างเจ้าของแฟรนไชส์ (Franchisor) และสถาบันการเงินของรัฐและธนาคารพาณิชย์ที่มีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ให้แก่ผู้ที่ต้องการทำธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchisee) ได้มีเงินลงทุนเพื่อประกอบอาชีพได้ง่ายขึ้น
4) วงเงินและแหล่งเงิน จำนวน 68 ล้านบาท โดยขอใช้จ่ายเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดฯ (แผนงานที่ 3.3)
5) ผลที่คาดว่าจะได้รับ ประกอบด้วย (1) ธุรกิจแฟรนไชส์ 500 ราย ได้นำเสนอธุรกิจเป็นทางเลือกในการสร้างรายได้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 และ (2) ผู้ว่างงาน ผู้ต้องการลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ และแฟรนไชส์ซีที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ได้ร่วมกิจกรรมแฟรนไชส์สร้างอาชีพ จำนวน 10,000 ราย
2. การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการเราชนะ เพื่อให้ผู้ที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของโครงการฯ สามารถได้รับความช่วยเหลือตามโครงการฯ และสามารถใช้จ่ายวงเงินที่ได้รับภายในระยะเวลาที่เหมาะสมตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้
1) ขยายกลุ่มเป้าหมายและกรอบวงเงินของโครงการฯ จาก กลุ่มเป้าหมายจำนวนประมาณ 31.1 ล้านคน กรอบวงเงินไม่เกิน 210,200 ล้านบาท เป็น กลุ่มเป้าหมายจำนวนประมาณ 33.5 ล้านคน กรอบวงเงินไม่เกิน 213,242 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3,042 ล้านบาท
2) ขยายระยะเวลาใช้วงเงินสนับสนุนสำหรับผู้ได้รับสิทธิ์ตามโครงการฯ จาก สามารถใช้จ่ายได้ไม่เกินวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 เป็น ใช้จ่ายได้ไม่เกินวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ทั้งนี้ ให้กรมบัญชีกลางอนุมัติเบิกจ่ายเงินให้แก่ผู้ประกอบการ/ร้านค้า/บริการที่เข้าร่วมโครงการฯ ตามที่ผู้ได้รับสิทธิ์ตามโครงการฯ ได้ใช้จ่ายจริง เป็นรายวัน โดยวิธีการเบิกจ่ายเงินแทนกัน และกรณีที่กรมบัญชีกลางโอนเงินให้แก่ผู้ประกอบการ/ร้านค้า/บริการไม่สำเร็จ ให้ดำเนินการติดตามเพื่อโอนเงินซ้ำภายในวันที่ 24 กันยายน 2564
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 เมษายน 2564