คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การส่งออกข้าวภายใต้โควตาภาษีไปสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร พ.ศ. ?. และร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมพิเศษในการส่งออกข้าวไปสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร พ.ศ. ?. รวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน โดยให้รับข้อสังเกตของกระทรวงการต่างประเทศและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
1. เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2563 รัฐสภาได้เห็นชอบร่างความตกลงระหว่างสหภาพยุโรปกับประเทศไทย ตามมาตรา 28 ของความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (แกตต์) 1994 ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขข้อผูกพันสำหรับสินค้าที่มีโควตาภาษีในตารางข้อผูกพันของสหภาพยุโรป อันเป็นผลเนื่องมาจากการออกจากสมาชิกภาพสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร และต่อมาเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563 ไทยได้ลงนามความตกลงกับสหราชอาณาจักรในรูปแบบหนังสือแลกเปลี่ยน (Exchange of Letter) เกี่ยวกับการจัดสรรปริมาณสินค้าที่มีโควตาภาษีของสหราชอาณาจักรกรณีการจัดทำตารางข้อผูกพันภายใต้องค์การการค้าโลกของสหราชอาณาจักร
2. เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงบรัสเซลส์ได้แจ้งปลัดกระทรวงพาณิชย์ว่า เนื่องจากการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564) ทำให้ในปี 2564 ไทยได้รับจัดสรรโควตาสินค้าข้าวขาวปริมาณ 17,728 ตัน และข้าวหักปริมาณ 48,729 ตัน ต่อมากรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้แจ้งกรมการค้าต่างประเทศว่าเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563 สหราชอาณาจักรได้ออกระเบียบเลขที่ 1432 เรื่อง Exiting The European Union Customs: The Custom (Tariff Quotas) (EU Exit) Regulation 2020 No. 1432 (ระเบียบเลขที่ 2020/1432) ระบุมาตรการบริหารและจัดการปริมาณโควตาสินค้าที่มีโควตาภาษีของสหราชอาณาจักร โดยไทยได้รับจัดสรรโควตาสินค้าข้าวขาวปริมาณ 3,727 ตัน และข้าวหักปริมาณ 3,271 ตัน
3. พณ. พิจารณาแล้วเห็นว่า ประกาศกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการส่งสินค้าออกไป นอกราชอาณาจักร (ฉบับที่ 76) พ.ศ. 2539 และประกาศกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการกำหนดค่าธรรมเนียมพิเศษ ในการส่งออกสินค้าข้าวไปสหภาพยุโรป พ.ศ. 2539 กำหนดให้เฉพาะกรณีการส่งออกข้าวภายใต้โควตาข้าวสหภาพยุโรปเป็นสินค้าที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมพิเศษในการส่งออก โดยมิได้ครอบคลุมกรณีที่สหราชอาณาจักรได้ออกจากสมาชิกภาพสหภาพยุโรป และการเสียค่าธรรมเนียมพิเศษในการส่งออกไปสหราชอาณาจักร ประกอบกับสหราชอาณาจักรได้กำหนดให้การยกเว้นภาษี หรือลดหย่อนภาษี สำหรับการนำเข้าข้าวบางประเภทจากไทยต้องมีหนังสือรับรองการส่งออก (Export Certificate) จากกรมการค้าต่างประเทศไปประกอบการขอใบอนุญาตนำเข้า (Import License) เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีหรือลดหย่อนภาษี ดังนั้น เพื่อเป็นการรองรับเงื่อนไขดังกล่าว พณ. โดยกรมการค้าต่างประเทศ จึงเห็นควรปรับปรุงประกาศกระทรวงพาณิชย์ดังกล่าว โดยได้ยกร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การส่งออกข้าวภายใต้โควตาภาษีไปสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร พ.ศ. ?. เพื่อกำหนดให้ข้าวขาวและข้าวหักที่ส่งออกไปสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรเป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรอง การส่งออก (Export Certificate) ที่ออกโดยกรมการค้าต่างประเทศ ไปประกอบการขอใบอนุญาตนำเข้า (Import License) เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี และกำหนดให้การส่งออกข้าวขาวไปสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรต้องเสียค่าธรรมเนียมพิเศษ
4. ประกอบกับเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 กรมการค้าต่างประเทศร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยได้ประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณา การเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษการส่งออกข้าวขาวภายใต้โควตาภาษีไปสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร และเห็นชอบแนวทางการคำนวณอัตราค่าธรรมเนียมพิเศษ โดยพิจารณาจากการแบ่งผลประโยชน์ที่ผู้ส่งออกจะได้รับจากการขายข้าวภายใต้โควตาภาษี ดังนี้
ประเทศ สหภาพยุโรป
อัตราภาษีนำเข้าข้าวขาว 175 ยูโร/ตัน
การคำนวณ
1) ผลประโยชน์ฝ่ายละครึ่ง
- ผู้ส่งออก 87.5 ยูโร
- ผู้นำเข้า 87.5 ยูโร
2) แบ่งครึ่งหนึ่งของผู้ส่งออกเข้ากองทุนฯ
= 43.75 ยูโร x อัตราแลกเปลี่ยน (36.5 บาท : 1 ยูโร)
= 1,596.88 บาท
หมายเหตุ :
1) อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยเดือนมกราคม 2564
2) ปัดเศษเหลือ 1,500 บาท/ตัน
อัตราค่าธรรมเนียมพิเศษ (บาท/ตัน) 1,500
ประเทศ สหราชอาณาจักร
อัตราภาษีนำเข้าข้าวขาว 121 ปอนด์สเตอร์ลิง/ตัน
การคำนวณ
1) ผลประโยชน์ฝ่ายละครึ่ง
- ผู้ส่งออก 60.5 ปอนด์สเตอร์ลิง
- ผู้นำเข้า 60.5 ปอนด์สเตอร์ลิง
2) แบ่งครึ่งหนึ่งของผู้ส่งออกเข้ากองทุนฯ
= 30.25 ปอนด์ x อัตราแลกเปลี่ยน (41 บาท : 1 ปอนด์)
= 1,240 บาท
หมายเหตุ :
1) อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยเดือนมกราคม 2564
2) ปัดเศษเหลือ 1,200 บาท/ตัน
อัตราค่าธรรมเนียมพิเศษ (บาท/ตัน) 1,200
5. พณ. พิจารณาแล้วจึงได้ยกร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมพิเศษในการส่งออกข้าวไปสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร พ.ศ. ?. เพื่อกำหนดค่าธรรมเนียมพิเศษสำหรับการส่งออกข้าวไปสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร และให้สอดคล้องกับมติที่ประชุมดังกล่าวตามข้อ 4. โดยการเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษในอัตราใหม่จะทำให้กรมการค้าต่างประเทศเก็บเงินเข้ากองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้ปีละประมาณ 31 ล้านบาท ลดลงจากเดิมที่เคยเก็บได้ปีละประมาณ 53 ล้านบาท (เดิมเคยเรียกเก็บในอัตรา 2,500 บาท/ตัน) แต่จะช่วยให้การส่งออกข้าวไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกมากยิ่งขึ้น
1. ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การส่งออกข้าวภายใต้โควตาภาษีไปสหภาพยุโรปและ สหราชอาณาจักร พ.ศ. ?. มีสาระสำคัญ ดังนี้
1.1 กำหนดยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร (ฉบับที่ 76) พ.ศ. 2539
1.2 กำหนดให้ข้าวขาวตามพิกัดอัตราศุลกากรที่ 1006.30 และข้าวหักตามพิกัดอัตราศุลกากรที่ 1006.40 ที่ส่งออกไปสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร เป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรองการส่งออก (Export Certificate) ที่ออกโดยกรมการค้าต่างประเทศไปประกอบการขอใบอนุญาตนำเข้า (Import License) เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี และกำหนดให้การส่งออกข้าวขาวไปสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรต้องเสียค่าธรรมเนียมพิเศษ
2. ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมพิเศษในการส่งออกข้าวไปสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร พ.ศ. ?. มีสาระสำคัญ ดังนี้
2.1 กำหนดยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมพิเศษในการส่งออกสินค้าข้าวไปสหภาพยุโรป (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2548
2.2 กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมพิเศษสำหรับข้าวขาว ข้าวขาวหอม และข้าวนึ่งชนิด 100% ตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 1006.30 ที่ส่งออกไปสหภาพยุโรปในอัตราตันละ 1,500 บาท
2.3 กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมพิเศษสำหรับข้าวขาว ข้าวขาวหอม และข้าวนึ่งชนิด 100% ตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 1006.30 ที่ส่งออกไปสหราชอาณาจักรในอัตราตันละ 1,200 บาท
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 27 เมษายน 2564