ขอบเขตพื้นที่เมืองเก่า และแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าอุทัยธานี เมืองเก่าตรัง และเมืองเก่าฉะเชิงเทรา

ข่าวการเมือง Tuesday April 27, 2021 17:15 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบขอบเขตพื้นที่เมืองเก่า และแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าอุทัยธานี เมืองเก่าตรัง และเมืองเก่าฉะเชิงเทรา ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

ทส. รายงานว่า
1. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทส. ในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ได้ดำเนินการกำหนดขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าเพื่อประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่าอุทัยธานี เมืองเก่าตรัง และเมืองเก่าฉะเชิงเทรา (ซึ่งจัดเป็นเมืองเก่ากลุ่มที่ 2) โดยมีมหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นที่ปรึกษาดำเนินการภายใต้โครงการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า : เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า โดยศึกษาบริบทของพื้นที่และกำหนดขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าทั้งสามเมืองดังกล่าว ภายใต้การให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะด้านวิชาการของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองและพิจารณาแผนการดำเนินงานในพื้นที่เมืองเก่า รวมทั้งการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น จังหวัด หน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ประชาชน และชุมชนในเขตพื้นที่เมืองเก่า
2. คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2564 ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธาน มีมติเห็นชอบการประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่า : เมืองเก่าอุทัยธานี เมืองเก่าตรัง และเมืองเก่าฉะเชิงเทรา และแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาและจัดทำรายละเอียดเพื่อดำเนินการต่อไป โดยมอบให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการฯ นำมติดังกล่าวเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ และดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า พ.ศ. 2546 ต่อไป
3. ขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าอุทัยธานี เมืองเก่าตรัง และเมืองเก่าฉะเชิงเทรา

3.1 ขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าอุทัยธานี เนื้อที่ประมาณ 1.69 ตารางกิโลเมตร (1,058.87 ไร่) และขอบเขตพื้นที่ต่อเนื่องเนื้อที่ประมาณ 7.21 ตารางกิโลเมตร (4,504.43 ไร่)

  • ขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าไม่มีการแบ่งเขตพื้นที่ (Zoning) เนื่องจากพื้นที่ภายในเมืองเก่า มีองค์ประกอบที่สำคัญของเมืองส่วนใหญ่ตั้งกระจุกตัวหนาแน่นอยู่บริเวณใจกลางเมือง และตามแนวถนนศรีอุทัย
  • องค์ประกอบเมืองที่สำคัญ อาทิ (1) แม่น้ำสะแกกรัง (2) เขาสะแกกรัง (3) วัดอุโปสถาราม (วัดโบสถ์) (4) วัดขวิด (ร้าง) (5) วัดสังกัสรัตนคีรี (6) วัดธรรมโฆษก (7) วัดมณีสถิตกปิฏฐาราม (วัดทุ่งแก้ว) (8) วัดพิชัยปุรณานาม (9) พื้นที่ย่านการค้าดั้งเดิมบริเวณถนนท่าช้าง (10) ย่านชุมชนชาวจีนตรอกโรงยา และ (11) ชุมชนชาวแพแม่น้ำสะแกกรัง
  • กลุ่มอาคารไม้เก่ามีสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ส่วนใหญ่เป็นเรือนแถวไม้สูง 2 ชั้น หลังคา ทรงจั่วมุงกระเบื้องดินเผาหรือสังกะสี ด้านหน้าอาคารชั้นบนเป็นไม้ฝาตีตามแนวนอน มีหน้าต่างบานเปิดคู่ ชั้นล่างเป็นประตูบานเฟี้ยม

3.2 ขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าตรัง เนื้อที่ประมาณ 1.91 ตารางกิโลเมตร (1,192.95 ไร่) และขอบเขตพื้นที่ต่อเนื่องเนื้อที่ประมาณ 4.05 ตารางกิโลเมตร (2,528.92 ไร่)

  • ขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าไม่มีการแบ่งเขตพื้นที่ (Zoning) เนื่องจากพื้นที่ภายในเมืองเก่าตรังมีองค์ประกอบที่สำคัญของเมืองส่วนใหญ่ตั้งกระจุกตัวหนาแน่นอยู่บริเวณใจกลางเมือง ย่านศูนย์กลางพาณิชยกรรมเก่าแก่ของเมือง หรือเกาะเมืองเก่าทับเที่ยงเป็นหลัก
  • องค์ประกอบเมืองที่สำคัญ อาทิ (1) หอนาฬิกาจังหวัดตรัง (2) สถานีรถไฟตรัง (3) วิหารคริสตจักรตรัง (4) จวนผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง (5) อาคารสโมสรข้าราชการ (6-9) พื้นที่ย่านศูนย์กลางการค้าดั้งเดิมบริเวณถนนพระราม 6 ถนนวิเศษกุล ถนนกันตัง และถนนราชดำเนิน ซึ่งมีอาคารเรือนแถว และบ้านร้านค้าแบบจีนและแบบผสมผสาน อาคารพาณิชย์ที่มีคุณค่า เช่น (10) บ้านไทรงาม (11) ร้านค้าสิริบรรณ และ (12) โรงแรมจริงจริง และมีองค์ประกอบเมืองที่อยู่นอกขอบเขตพื้นที่เมืองเก่า อาทิ วัดกะพังสุรินทร์ (พระอารามหลวง) วัดนิคมประทีป พระอุโบสถวัดกะพังสุรินทร์ และย่านเก่าชุมชนเก่าแก่ชานเมืองที่ทรงคุณค่า (เช่น ชุมชนท่าจีน ย่านรอบกะพังสุรินทร์ และชุมชนบ้านโพธิ์)

3.3 ขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าฉะเชิงเทรา เนื้อที่ประมาณ 3.96 ตารางกิโลเมตร (2,475.69 ไร่) และขอบเขตพื้นที่ต่อเนื่องเนื้อที่ประมาณ 2.73 ตารางกิโลเมตร (1,704.89 ไร่)

  • ขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าไม่มีการแบ่งเขตพื้นที่ (Zoning) เนื่องจากองค์ประกอบที่สำคัญของเมืองเก่าฉะเชิงเทราส่วนใหญ่ตั้งเกาะกลุ่มและเรียงตัวตามแนวถนนศุภกิจ และถนนมรุพงษ์ ซึ่งทอดตัวตามแนวริมฝั่งแม่น้ำบางปะกงในแกนทิศเหนือ - ใต้
  • ขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าฉะเชิงเทรา ครอบคลุมอาณาบริเวณ (1) ป้อมและกำแพงเมือง ตามแนวตะวันออก - ตะวันตกขนานกับแม่น้ำบางปะกง (2) วัดโสธรวรารามวรวิหาร (3) วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ (4) อาคารไปรษณีย์หลังเก่า (5) ศาลหลักเมืองฉะเชิงเทรา (6) ตำหนักกรมหมื่นมรุพงษ์ศิริพัฒน์ (7) อนุสาวรีย์พระยาศรีสุนทรโวหาร (8) และอาคารไม้สัก 100 ปี (9) ย่านการค้าตลาดทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ จังหวัดฉะเชิงเทรา (10) ปากคลองท่าไข่ และ (11) ตลาดเกื้อกูล
  • พื้นที่ต่อเนื่องกำหนดให้มีระยะห่างจากแนวเขตพื้นที่เมืองเก่าฉะเชิงเทราออกไปทุกด้านเป็นระยะทาง 200 เมตร
4. แนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า ประกอบด้วย แนวทางทั่วไปและแนวทางสำหรับพื้นที่หลัก สรุปได้ดังนี้

4.1 แนวทางทั่วไป ได้แก่ การมีส่วนร่วมและการประชาสัมพันธ์การสร้างจิตสำนึก การอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน การส่งเสริมกิจกรรมและวิถีชีวิตท้องถิ่น การส่งเสริมคุณภาพชีวิต การป้องกันภัยคุกคามจากมนุษย์และธรรมชาติ การประหยัดพลังงานด้านการสัญจรและสภาพแวดล้อม และการดูแลและบำรุงรักษาอาคารและสาธารณูปการ

4.2 แนวทางสำหรับพื้นที่หลัก ได้แก่ ด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน ด้านอาคารและสภาพแวดล้อม ด้านระบบการจราจรและคมนาคมขนส่ง ด้านการพัฒนาภูมิทัศน์และด้านการบริหารและการจัดการ 5. นอกจากมติในส่วนที่คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2564 เห็นชอบให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามที่เสนอในครั้งนี้ (ตามข้อ 2) คณะกรรมการฯ ยังได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าอุทัยธานี เมืองเก่าตรัง และเมืองเก่าฉะเชิงเทรา เพื่อให้ทำหน้าที่กำกับดูแลการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าให้เป็นไปตามแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า (ตามข้อ 4) ต่อไป 6. (ร่าง) ขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าอุทัยธานี เมืองเก่าตรัง และเมืองเก่าฉะเชิงเทรา และกรอบ แนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า ได้ผ่านการประชุมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคราชการ (จัดประชุม 1 ครั้ง ในจังหวัดที่ตั้งเมืองเก่าทุกแห่ง) และภาคประชาชน (จัดประชุม 2 ครั้ง ในจังหวัดที่ตั้งเมืองเก่า ทุกแห่ง) แล้ว โดยที่ประชุมเห็นด้วยกับ (ร่าง) ขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าอุทัยธานี เมืองเก่าตรัง และเมืองเก่าฉะเชิงเทรา และกรอบแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า

  • การแบ่งกลุ่มเมืองเพื่อประกาศเป็นเมืองเก่า ได้กำหนดเป็น 3 กลุ่ม เพื่อประกาศเป็นเมืองเก่าตามนโยบายของรัฐบาล ได้แก่ กลุ่มที่ 1 เป็นเมืองโบราณที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี มีขนาดใหญ่ในฐานะศูนย์กลางของอาณาจักรในยุคใดยุคหนึ่ง มีหลักฐานของงานศิลปกรรมที่บ่งบอกถึงความเป็นเอกลักษณ์ของอาณาจักรนั้น ๆ และในปัจจุบันมีการอยู่อาศัยของชุมชนใหม่ทับซ้อนชุมชนเดิม กลุ่มที่ 2 เป็นเมืองที่มีความสำคัญรองลงมาจากกลุ่มที่ 1 โดยมีขนาดเมืองที่เล็กกว่า ความสำคัญของเมืองตั้งแต่อดีตและหลักฐานทางศิลปกรรมน้อยกว่าเมืองใน กลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 3 เป็นเมืองโบราณขนาดเล็กที่มีหลักฐานทางโบราณคดีและศิลปกรรมค่อนข้างน้อย และปัจจุบันอาจมีชุมชนหรือไม่มีการอยู่อาศัยจึงอยู่ในสภาพเมืองร้าง ถ้ามีการอยู่อาศัยจะเป็นเพียงชุมชนในระดับตำบลหรืออำเภอเท่านั้น จึงยังไม่อยู่ในข่ายจำเป็นเร่งด่วนในการประกาศเป็นเมืองเก่า
ความเป็นมาและความสำคัญของเมืองเก่าอุทัยธานี เมืองเก่าตรัง และเมืองเก่าฉะเชิงเทรา มีรายละเอียดดังนี้
1. ความเป็นมาและความสำคัญของเมืองเก่าอุทัยธานี

เมืองเก่าอุทัยธานีในปัจจุบันตั้งอยู่ ณ พื้นที่ริมแม่น้ำสะแกกรังบริเวณ ?บ้านท่า? หรือ ?บ้านสะแกกรัง? ซึ่งมีมาแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยมีหลักฐานสำคัญ คือ ?วิหารวัดพิชัยปุรณาราม? ซึ่งเดิมเป็นวิหารของ ?วัดกร่าง? ที่ถูกทิ้งร้างลง มีรูปแบบศิลปสถาปัตยกรรมที่อยู่ในช่วงสมัยสุโขทัยตอนปลายและอยุธยาตอนต้น ส่วนการตั้งถิ่นฐานเป็นเมืองอุทัยธานีในปัจจุบันนั้น เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งพระยาเมืองอุทัยธานี (เสือ พยัฆวิเชียร) ขอพระราชทานย้ายที่ตั้งเมืองจากท้องที่เมืองอุไทยธานี (หรือ ?เมืองอุไทยเก่า? ที่ปัจจุบันตั้งอยู่ใน เขตท้องที่อำเภอหนองฉาง) เนื่องจากเมืองอุไทยเก่าอยู่ท่ามกลางป่าดง ตลอดจนการศึกสงครามกับพม่าร้างลง จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้เมืองอุไทยธานีเป็นที่มั่นเพื่อรับศึกในฐานะเมืองหน้าด่านอีกต่อไป

เมืองอุทัยธานี ณ บ้านท่าสะแกกรัง มีความสะดวกในการคมนาคมทางน้ำเพื่อเชื่อมต่อไปยังแม่น้ำเจ้าพระยา โดยในสมัยรัชกาลที่ 4 มีกลุ่มคนที่เข้ามาอยู่อาศัยใหม่ โดยเฉพาะพ่อค้าชาวจีนที่มาเป็นคนกลางในการค้าข้าวที่ใช้แม่น้ำสะแกกรังในการขนส่ง ต่อมาเมืองได้ขยายตัวแผ่ออกไปตามถนนสายสำคัญต่าง ๆ เกิดเป็นชุมชนและย่านการค้าต่าง ๆ ที่มีสถาปัตยกรรมในลักษณะของ ?บ้านค้าขาย? (Shop house) ที่ได้รับอิทธิพลจากการย้ายถิ่นฐานของชาวจีนที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่แถบชายฝั่งทะเลในจีนภาคใต้ ส่วนในลำน้ำมีที่อยู่อาศัยบนเรือนแพที่จอดอยู่ริมน้ำตามชายฝั่งตลอดลำน้ำสะแกกรัง เรือนแพหลังเก่าแก่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ตั้งอยู่บริเวณหน้า วัดอุโปสถาราม (วัดโบสถ์) 2. ความเป็นมาและความสำคัญของเมืองเก่าตรัง

พื้นที่บริเวณลุ่มน้ำตรังมีหลักฐานการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์และ มีความสัมพันธ์กับภูมิภาคอื่นของโลกมายาวนานในฐานะที่เป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างโลกทางตะวันออก คือ จีน และโลกทางตะวันตก คือ อินเดีย ลังกา และอาหรับ ส่วนเมืองเก่าตรังในปัจจุบันตั้งอยู่ ณ ?ชุมชนทับเที่ยง? ซึ่ง พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ขอพระบรมราชานุญาตย้ายที่ตั้งเมืองตรังจากกันตัง ในปี พ.ศ. 2458 ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ว่า ท้องที่ตำบลทับเที่ยงมีความเจริญมีพื้นที่ราบมากและยังเป็นชุมชนขนาดใหญ่ เหมาะกับการเป็นศูนย์กลางเมืองมากกว่าที่กันตังที่กำลังเกิด โรคอหิวาตกโรค รวมทั้งในขณะนั้นเป็นช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้ไม่นาน การตั้งเมืองที่กันตังจึงไม่ปลอดภัยจากศัตรู

กลุ่มประชากรที่อาศัยอยู่ในตำบลทับเที่ยงในเวลาดังกล่าว กลุ่มที่โดดเด่นมากที่สุด คือ ประชากรชาวจีนพลัดถิ่น ที่เคลื่อนย้ายมาแสวงหาชีวิตใหม่ มีการรวมตัวเหนียวแน่นเป็นสมาคม เช่น สมาคมฮกเกี้ยน สมาคมฮากกา กลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลดังกล่าวเป็นกลุ่มที่บทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของเมืองเก่าตรัง (ทับเที่ยง) อย่างต่อเนื่อง โดยมีพระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) เป็นผู้วางรากฐานโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ ส่วนรูปแบบการพัฒนาเมืองมีการก่อสร้างตึกแถวเพื่อรองรับการอยู่อาศัยและ เป็นพื้นที่ค้าขายในอาคารหลังเดียวกัน ในรูปแบบเดียวกับในอาณานิคมช่องแคบ (Straits Settlements)*

  • อาณานิคมช่องแคบ (Straits Settlements) คือ อาณานิคมของอังกฤษในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วยดินแดนที่เป็นรัฐปีนัง ดินดิง (ส่วนหนึ่งของรัฐเปรัก) รัฐมะละกา สิงคโปร์ และลาบวนในปัจจุบัน
3. ความเป็นมาและความสำคัญของเมืองเก่าฉะเชิงเทรา

เมืองฉะเชิงเทราหรือเมืองแปดริ้วเป็นเมืองที่มีพัฒนาการของการตั้งถิ่นฐานต่อเนื่องมา ไม่ยาวนานนัก มีหลักฐานปรากฏชัดเจนในช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น สมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งเมืองฉะเชิงเทรา เป็นเมืองหน้าด่านและเมืองท่า มีการก่อสร้างป้อมและกำแพงเมืองฉะเชิงเทราเพื่อป้องกันข้าศึกที่รุกรานมาจากทางทิศตะวันออกผ่านแม่น้ำบางปะกง ต่อมากลายเป็นศูนย์กลางการค้าและการคมนาคมทางน้ำที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง และเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานและประกอบอาชีพ จึงมีผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยใหม่เพิ่มมากขึ้นในบริเวณริมแม่น้ำบางปะกง โดยเฉพาะชุมชนชาวจีนซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มกิจกรรมการค้าขายริมน้ำของพ่อค้าชาวจีน และมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมระหว่างไทยและจีนที่ยังคงยึดถือปฏิบัติ สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 27 เมษายน 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ