เรื่อง ผลการพิจารณารายงานสรุปผลการดำเนินงาน รอบ 9 เดือน (ตุลาคม 2562 - มิถุนายน 2563) ของคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานสรุปผลการดำเนินงาน รอบ 9 เดือน (ตุลาคม 2562 - มิถุนายน 2563) ของคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา (สว.) ได้เสนอรายงานสรุปผลการดำเนินงาน รอบ 9 เดือน (ตุลาคม 2562 - มิถุนายน 2563) ของคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้มีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาแก้ไขปัญหาของหน่วยงานดังกล่าว 6 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านการดำเนินนโยบายของกระทรวง 2. ด้านกฎหมาย 3. ด้านการจัดสรรงบประมาณและการสนับสนุนการลงทุน 4. ด้านการบูรณาการด้านการจัดการศึกษาเพื่อเพิ่มศักยภาพกำลังแรงงาน 5. ด้านธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา และ 6. ด้านผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
2. รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ อว. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน สำนักงบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงาน พร้อมทั้งข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
อว. โดยสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามข้อ 2 พิจารณาข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ สรุปได้ดังนี้ 1. ด้านการดำเนินนโยบายของกระทรวง อว. ควรประชาสัมพันธ์ และทำความเข้าใจกับมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับนโยบายด้านการอุดมศึกษาที่ชัดเจน โดยส่งเสริมให้จัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 ซึ่งจะช่วยให้มหาวิทยาลัยได้รับงบประมาณสนับสนุนตามนโยบายของรัฐบาล ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นในคุณภาพการจัดการศึกษา และบัณฑิตที่จบก็จะมีงานทำอีกด้วย
ผลการพิจารณา
เห็นด้วยกับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ โดย อว. ได้จัดทำแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ พ.ศ. 2564 - 2570 ซึ่งมีวิสัยทัศน์ ?อุดมศึกษาสร้างคน สร้างปัญญา เพื่อพัฒนาสังคมไทยอย่างยั่งยืน? โดยมีเป้าหมายหลัก 3 ประการ ได้แก่
(1) กำลังคนมีคุณภาพและปริมาณรองรับการพัฒนาประเทศและ การเปลี่ยนแปลงตามกระแสโลก
(2) งานวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
(3) สถาบันอุดมศึกษามีสมรรถนะตรงตามอัตลักษณ์/จุดแข็ง เพื่อให้ เกิดคุณภาพในระบบอุดมศึกษา 2. ด้านกฎหมาย ควรแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ และระเบียบต่าง ๆ ที่เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการบริหารงานและการดำเนินการตามพันธกิจของมหาวิทยาลัย ตลอดจนกฎระเบียบเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตร รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายที่ส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยนอกพื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เข้าไปมีส่วนร่วมในการผลิตบัณฑิตรองรับ EEC และกฎระเบียบที่ช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษาและวิจัยในระดับอุดมศึกษา(international higher education hub) เป็นต้น
ผลการพิจารณา
เห็นด้วยกับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ โดย อว. ได้ดำเนินการปรับปรุง กฎหมาย กฎ ระเบียบต่าง ๆ เช่น คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษามีมติยกเลิกการกำหนดระยะเวลาจบการศึกษาของนักศึกษาในทุกระดับปริญญาเพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์กฎหมายของ อว. ผ่านช่องทางต่าง ๆ พัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายใน EEC ใช้หลักการ Demand Driven เพื่อผลิตบุคลากรให้ตรงความต้องการของอุตสาหกรรม เรียกว่า EEC Model 3. ด้านการจัดสรรงบประมาณและการสนับสนุนการลงทุน รัฐควรจัดสรรงบประมาณสำหรับการวิจัยและนวัตกรรมให้มากพอและเพิ่มมากขึ้น เพื่อการพัฒนากำลังคน การวิจัยและนวัตกรรม ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานการวิจัย ควรเพิ่มสัดส่วนการลงทุนด้านการวิจัยและนวัตกรรมของภาคเอกชนให้มากขึ้นโดยการสร้างแรงจูงใจ และ อว. ควรมีหน่วยงานกลางในการประสานความร่วมมือและจัดทำฐานข้อมูลกลางใน การพิจารณางบประมาณการวิจัย
ผลการพิจารณา
เห็นด้วยกับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ โดย อว. ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานในลักษณะแพลตฟอร์มหรือแผนงาน ทั้งด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนและการวิจัยกำหนดเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญ (Objectives and Key Results: OKRs) เพื่อเป็นกรอบทิศทางการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ และแปลงลงสู่ระดับต่าง ๆ โดยจะมีการวัดผลและติดตามความคืบหน้าเป็นระยะ และมีการผลักดันให้ภาคเอกชนลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนามากขึ้น โดยสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม ในการทำวิจัยร่วมกัน และจัดให้มีการประชุมชี้แจงระบบ แผน แนวทางการจัดทำคำขอและการขอรับการจัดสรรงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ผ่านกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้หน่วยงานยื่นคำของบประมาณให้สอดประสานกับแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ 4. ด้านการบูรณาการด้านการจัดการศึกษาเพื่อเพิ่มศักยภาพกำลังแรงงาน ปัญหาแรงงานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีจำนวนไม่เพียงพอและไม่มีความสามารถรองรับอุตสาหกรรมในรูปแบบใหม่ การจัดการศึกษาในระบบควรยกระดับมาตรฐานและเพิ่มศักยภาพแรงงานทั้งระบบ โดย อว. ควรพัฒนาหลักสูตรระยะสั้น และการฝึกอบรมทักษะเฉพาะทาง โดยการพัฒนาหลักสูตรเป็นแบบ MOOCs (massive open online coursewares) ผ่านช่องทางออนไลน์ กระทรวงแรงงานควรกำหนดมาตรฐานทางวิชาชีพและคุณภาพของบุคลากรให้ตรงตามมาตรฐานวิชาชีพและความต้องการของผู้ประกอบการในเขตพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ
ผลการพิจารณา
เห็นด้วยกับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ โดย อว. ได้ดำเนินโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เพื่อรองรับการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการดำเนินงานโครงการพัฒนาทักษะกำลังคนของประเทศ(Reskill/Upskill/ Newskill) เพื่อผลักดันกำลังแรงงานที่ประสบปัญหาการว่างงาน แรงงานคืนถิ่น และแรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องยกระดับทักษะเพื่อการมีงานทำและเตรียมความพร้อมรองรับการทำงานในอนาคตหลังวิกฤตการระบาดของ COVID-19 และการเรียนรู้ตลอดชีวิตผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น www.lifelong.cmu.ac.th และ MOOC ทั้งหลักสูตร Degree และ Non-Degree และคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน จัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติในสาขาอาชีพต่าง ๆ เพื่อเสนอให้รัฐมนตรีให้ความเห็นชอบและประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อนำไปใช้ในการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน 5. ด้านธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา สถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งต้องจัดให้มีประมวลจริยธรรมของนายกสภาสถาบันอุดมศึกษา กรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษา ผู้บริหาร และบุคลากรของสถาบันอุดมศึกษา และผู้เรียน โดยมีกลไกการส่งเสริม ตรวจสอบและบังคับใช้ที่มีประสิทธิภาพ ตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 โดยคณะกรรมการการอุดมศึกษา ควรเร่งรัดให้มีการดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และอยู่ในบรรทัดฐานเดียวกัน
ผลการพิจารณา
เห็นด้วยกับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ โดย อว. ได้เร่งรัดให้สถาบันอุดมศึกษาจัดทำและปรับปรุง ประมวลจริยธรรมของสถาบันให้ครอบคลุมกับบุคลากรทุกระดับตั้งแต่สภามหาวิทยาลัยจนถึงผู้ปฏิบัติงาน เพื่อให้การจัดการอุดมศึกษาเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 ซึ่งสถาบันอุดมศึกษาได้ตอบรับนโยบายดังกล่าว 6. ด้านผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รัฐบาลควรพิจารณาโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 ในส่วนของงบรายจ่ายประจำที่ยังไม่มีการเบิกจ่ายและไม่มีข้อผูกพันหรือสามารถชะลอข้อผูกพันได้ เพื่อนำมาป้องกันและบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ดำเนินการบูรณาการความช่วยเหลือ ส่งเสริมและสนับสนุนนักศึกษาที่อาจได้รับผลกระทบร่วมกับจังหวัดและชุมชนท้องถิ่นในการเพิ่มทักษะการเรียนรู้ในการประกอบอาชีพ ดำรงชีพ
ผลการพิจารณา
เห็นด้วยกับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ โดย อว. ได้มีการจัดสรรงบประมาณตามแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในโปรแกรมที่ 17 การแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศ เพื่อสนับสนุนงานวิจัยเพื่อป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ดำเนินการโครงการ อว. สร้างงานระยะที่ 2 ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ มีมาตรการช่วยเหลือกรณีนักศึกษาว่างงานโดยดำเนินโครงการ Thai MOOC ให้บริการผ่านทางเว็บไซต์ http://www.thaimooc.org.th เพื่อขยายโอกาสการเรียนรู้และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีงานวิจัยเพื่อป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เช่น นวัตกรรมห้องคัดกรองและตรวจผู้เสี่ยงติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เป็นต้น ช่วยเหลือประชาชนในท้องถิ่นโดยขอความร่วมมือจากหน่วยงานและสถาบันอุดมศึกษาในสังกัด ในการลดค่าเช่าพื้นที่ผู้ประกอบการรายย่อย ลดค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่เรียกเก็บจากนักศึกษา และโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับผู้ป่วยติดเชื้อให้บริการห้องพัก (Green Nimman) ฟรีแก่บุคลากรทางการแพทย์
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 27 เมษายน 2564