ขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส

ข่าวการเมือง Tuesday April 27, 2021 18:26 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 สำหรับโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับบริการประชากรในประเทศไทย เพิ่มเติม จำนวน 5 แสนโดส

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและอนุมัติตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ ดังนี้

1. รับทราบรายละเอียดโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับบริการประชากรในประเทศไทย เพิ่มเติม จำนวน 5 แสนโดส กรอบวงเงินจำนวน 321,604,000 บาท

2. อนุมัติสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรอบวงเงิน 321,604,000 บาท สำหรับโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับบริการประชากรในประเทศไทย เพิ่มเติม จำนวน 5 แสนโดส

สาระสำคัญ
1. สธ. โดยกรมควบคุมโรค ได้ดำเนินโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับบริการประชากรในประเทศไทย เพิ่มเติม จำนวน 5 แสนโดส ตามแผนกลยุทธ์การบริหารจัดการให้วัคซีน COVID-19 เพื่อให้คนไทยทุกคนเข้าถึงวัคซีน โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

1) รายละเอียดกิจกรรมและค่าใช้จ่าย

1.1) ค่าใช้จ่ายในการจัดหาวัคซีน จำนวน 5 แสนโดส วงเงินรวมทั้งสิ้นจำนวน 290.24 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าวัคซีนโควิด 19 จำนวน 271.25 ล้านบาท และเป็นค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน 18.99 ล้านบาท

1.2) ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการวัคซีน และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมความพร้อมในระดับพื้นที่ เพื่อรองรับการฉีดวัคซีน จำนวน 31.36 ล้านบาท รวมงบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 321,604,000 บาท

2) ระยะเวลาการดำเนินงาน เดือนพฤษภาคม 2564

3) เป้าหมาย จำนวนวัคซีนที่จัดซื้อเพิ่มเติมกับบริษัท Sinovac Biotech จำกัด จำนวน 5 แสนโดส

4) ประโยชน์ที่ได้รับ เพื่อลดอัตราการป่วย การเสียชีวิต ลดจำนวนผู้สัมผัสเชื้อ ลดอัตรา การแพร่กระจายเชื้อ และรักษาความมั่นคงของระบบสาธารณสุขของประเทศ

5) ผลผลิต จำนวนวัคซีน 5 แสนโดส สำหรับประชากรกลุ่มเป้าหมาย

6) ผลลัพธ์ ประชากรกลุ่มเป้าหมายได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค

7) ผลกระทบ ลดอัตราป่วย การเสียชีวิต และค่าใช้จ่ายภาครัฐในการดูแลรักษาผู้ป่วยจากโรคโควิด 19 รวมทั้งฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจและสังคมให้กลับสู่สภาวะปกติได้โดยเร็ว

8) หน่วยงานรับผิดชอบ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค 2. สธ. โดยกรมควบคุมโรค ได้มีหนังสือถึงสำนักงบประมาณเพื่อขอสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับบริการประชากรในประเทศไทย เพิ่มเติม จำนวน 5 แสนโดส ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยจัดหาวัคซีนโควิด 19 สำหรับให้บริการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า เจ้าหน้าที่ผู้สัมผัสผู้ป่วย ผู้ที่มีโรคประจำตัว ประชาชนทั่วไป และแรงงานในพื้นที่ควบคุมสูงสุด รวมไปถึงพื้นที่การระบาดของโรค 3. สำนักงบประมาณแจ้งว่า นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 321,604,000 บาท

ทั้งนี้ สำหรับผลการดำเนินงานที่ผ่านมา สธ. ได้จัดทำแผนกลยุทธ์การบริหารจัดการให้วัคซีน COVID-19 เพื่อให้คนไทยทุกคนเข้าถึงวัคซีนที่มีคุณภาพ ปลอดภัย มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ช่วยลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต รักษาความมั่นคงระบบสุขภาพ ลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อ และรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม บนหลักการการให้วัคซีน COVID-19 โดยคำนึงถึงหลักจริยธรรม ความเท่าเทียม หลักฐานทางวิชาการ ปริมาณวัคซีนที่จัดหาได้ และความสามารถในการบริหารจัดการภายใต้บริบทของประเทศ โดยใช้กลไกการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการวัคซีน ป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รวมทั้งคณะทำงานภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีการฉีดวัคซีนโควิด 19 ไปแล้วจำนวน 1,124,153 โดส และมีผู้ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 โดส จำนวน 949,124 ราย สำหรับกลุ่มเป้าหมายการให้วัคซีน ได้แก่ (1) บุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข และ อสม. (2) เจ้าหน้าที่อื่น ๆ ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย (3) ผู้ที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป (4) ผู้ที่มีโรคประจำตัว (5) ประชาชนพื้นที่เสี่ยง 22 จังหวัด และเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกของโรคโควิด 19 ระลอกเมษายน 2564 มีแนวโน้ม พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงได้มีการพิจารณาจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมแบบเร่งด่วน ให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงอีกจำนวน 5 แสนโดส

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 27 เมษายน 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ