เรื่อง รายงานผลการประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียน (ASEAN Labour Ministers? Meeting : ALMM) ครั้งที่ 26 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (Video Conference)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียน (ASEAN Labour Ministers? Meeting : ALMM) ครั้งที่ 26 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (Video Conference) ระหว่างวันที่ 26 ? 28 ตุลาคม 2563 ณ กระทรวงแรงงาน (รง.) และเห็นชอบต่อร่างเอกสาร จำนวน 3 ฉบับ ดังนี้ 1) ร่างแผนงานรัฐมนตรีแรงงานอาเซียน ฉบับใหม่ ค.ศ. 2021 ? 2025 [ASEAN Labor Ministers? (ALM) Work Programme 2021 - 2025] และร่างแผนงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง 2) ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียน ครั้งที่ 26 [Joint Communique The Twenty Sixth ASEAN Labour Ministers Meeting (26th ALMM)] และ 3) ร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 11 [Joint Statement of The Eleventh ASEAN Plus Three Labour Ministers Meeting (11th ALMM+3)] และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายรับรองเอกสารดังกล่าว ทั้งนี้หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงเอกสาร จำนวน 3 ฉบับ ดังกล่าวที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงแรงงานสามารถดำเนินการได้โดยนำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลังตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ
1. ร่างแผนงานรัฐมนตรีแรงงานอาเซียน ฉบับใหม่ ค.ศ. 2021 ? 2025 และร่างแผนงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง วัตถุประสงค์เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนอาเซียนผ่านกำลังแรงงานที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันและมีส่วนร่วมในงานที่ปลอดภัยและมีคุณค่า อันเป็นผลที่เกิดจากการจ้างงานอย่างมีผลิตภาพ ประกอบด้วยร่างแผนงานย่อย 4 ฉบับ ได้แก่ 1) ร่างแผนงานเจ้าหน้าที่อาวุโสแรงงานอาเซียบวกสาม ค.ศ. 2021 ? 2025 มีการกำหนดประเด็นย่อยที่สำคัญ เช่น การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน และการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อตอบสนองต่อการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เป็นต้น 2) ร่างแผนงานคณะทำงานเจ้าหน้าที่อาวุโสแรงงานอาเซียน ค.ศ. 2021 -2025 มีการกำหนดประเด็นย่อยในแผนงานให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 เช่น การส่งเสริมการจ้างงานอย่างบูรณาการที่ครอบคลุมถึงการจ้างงานในชนบท เยาวชนที่ว่างงาน คนพิการและแรงงานกลุ่มเปราะบางอื่น ๆ เป็นต้น 3) ร่างแผนงานเครือข่ายอาชีวอนามัยและความปลอดภัยอาเซียน ค.ศ. 2021 ? 2025 มีการกำหนดประเด็นย่อยในแผนงานให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 เช่น เสริมสร้างความเข้มแข็งศักยภาพความปลอดภัยและอาชีวอนามัย เป็นต้น และ 4) ร่างแผนปฏิบัติการคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยการปฏิบัติให้เป็นไปตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงงานต่างด้าว (พ.ศ. 2561 ? 2568) เพื่อขับเคลื่อนฉันทามติอาเซียน ซึ่งประกอบด้วยโครงการที่สำคัญ เช่น การรณรงค์เกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายแรงงานที่ปลอดภัยการประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสาธารณสุขเรื่องการแก้ไขปัญหาความเสี่ยงด้านสุขภาพของแรงงานต่างด้าว รวมถึงกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโรคอุบัติใหม่ เป็นต้น
2. ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียน ครั้งที่ 26 กล่าวถึงความมุ่งมั่นของรัฐมนตรีแรงงานอาเซียนในการขับเคลื่อนถ้อยแถลงร่วมระดับรัฐมนตรีเพื่อตอบสนองต่อผลกระทบของโควิด-19 ต่อแรงงานและการจ้างงาน โดยรับประกันว่าแรงงานจะสามารถสร้างงานที่มีผลิตภาพ มีสถานประกอบการ ที่ปลอดภัย และมีการคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ รวมทั้งเห็นชอบร่างแผนงานรัฐมนตรีแรงงานอาเซียน ฉบับใหม่ ค.ศ. 2021 ? 2025 และร่างแผนงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
3. ร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 11 กล่าวถึง การแลกเปลี่ยนความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียนบวกสาม เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันและความสามารถในการปรับตัวของแรงงานในอนาคตของงานผ่านโครงการความร่วมมือต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทย (ปลัดกระทรวงแรงงาน) กล่าวถ้อยแถลงเกี่ยวกับมาตรการที่สำคัญของประเทศไทยในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อให้กำลังแรงงานมีความพร้อม และสามารถปรับตัวได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดนโยบายเพื่อสนับสนุนแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ? 19 เช่น มาตรการการจ้างงาน โดยหน่วยงานภาครัฐ การจ้างงานเยาวชนผู้สำเร็จการศึกษาใหม่ เป็นต้น
ทั้งนี้ เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบร่างเอกสารดังกล่าวแล้ว กระทรวงแรงงานจะแจ้งการรับรองอย่างเป็นทางการให้สำนักเลขาธิการอาเซียนทราบต่อไป
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 27 เมษายน 2564