เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน และความคงทนของอาคาร ตลอดจนลักษณะและคุณสมบัติของวัสดุที่ใช้ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ. ....
1. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน และความคงทนของอาคาร ตลอดจนลักษณะและคุณสมบัติของวัสดุที่ใช้ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไป
2. ให้ มท. รับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
3. ให้หน่วยงานของรัฐผู้เสนอร่างกฎกระทรวงถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเกี่ยวกับการเสนอร่างกฎกระทรวงจะต้องไม่มีบทบัญญัติที่มีลักษณะเป็นการมอบอำนาจช่วง โดยกฎหมายแม่บทมิได้ให้อำนาจไว้ ตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
1. โดยที่กฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2527) กฎกระทรวง ฉบับที่ 48 (พ.ศ. 2540) และกฎกระทรวง ฉบับที่ 60 (พ.ศ. 2549) ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว ประกอบกับปัจจุบันเทคโนโลยีการก่อสร้างอาคารในประเทศไทยได้มีการพัฒนาปรับเปลี่ยนไปจากเดิมมาก มีการควบคุมคุณภาพวัสดุให้ได้มาตรฐานยิ่งขึ้น มีการวิจัยและพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ มาตรฐานการออกแบบโครงสร้างอาคารในสากลได้มีการแก้ไขและปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอ ทำให้กฎกระทรวงดังกล่าวข้างต้นที่ใช้เป็นข้อกำหนดสำหรับการออกแบบอาคารในประเทศไทยไม่สอดคล้องกับเทคโนโลยีการก่อสร้างในปัจจุบัน รวมทั้งการออกแบบตามข้อกำหนดในกฎกระทรวงบางข้อทำให้เกิดความสิ้นเปลืองต่อค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอันส่งผลกระทบกับภาคเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ตลอดจนกฎกระทรวงด้านวิศวกรรมโครงสร้างที่มีอยู่มิได้ครอบคลุมรายละเอียดที่สำคัญหลายเรื่อง และมีเนื้อหากระจัดกระจายไม่เป็นหมวดหมู่
2. ดังนั้น สมควรแก้ไข ปรับปรุง และเพิ่มเติมเนื้อหาให้ได้มาตรฐานและเหมาะสมยิ่งขึ้น โดยรวบรวมเนื้อหาของกฎกระทรวงเดิมที่เกี่ยวกับการคำนวณออกแบบทางด้านวิศวกรรมโครงสร้างให้เป็นฉบับเดียวกัน เพื่อความสะดวกต่อการนำไปปฏิบัติและเป็นมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับวิศวกร และเพื่อใช้ในการคำนวณและออกแบบอาคารด้านวิศวกรรมโครงสร้างในประเทศไทย รวมทั้งเพื่อความปลอดภัยต่อชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของประชาชน มท. จึงได้จัดทำร่างกฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน และความคงทนของอาคาร ตลอดจนลักษณะและคุณสมบัติของวัสดุที่ใช้ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ. .... ขึ้น ซึ่งคณะกรรมการควบคุมอาคารได้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงดังกล่าวด้วยแล้ว
1. ยกเลิกกฎกระทรวงฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2527) กฎกระทรวง ฉบับที่ 48 (พ.ศ. 2540) และกฎกระทรวง ฉบับที่ 60 (พ.ศ. 2549) ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
2. กำหนดบทนิยามให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีและทฤษฎีด้านงานวิศวกรรมในปัจจุบัน กำหนดความปลอดภัยของอาคารในเรื่องต่าง ๆ ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และกำหนดวิธีการคำนวณวิธีการออกแบบให้เป็นปัจจุบันและเป็นสากล
3. กำหนดชุดตัวคูณน้ำหนัก ตัวคูณลดกำลัง และตัวคูณความต้านทานให้มีความชัดเจนและเกิดความปลอดภัยเพิ่มขึ้นสำหรับการออกแบบโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กและโครงสร้างเหล็ก
4. กำหนดการคำนวณน้ำหนักบรรทุกคงที่ของวัสดุก่อสร้างให้มีความชัดเจนในทางปฏิบัติสำหรับการออกแบบ การคำนวณค่าน้ำหนักบรรทุกจรสำหรับประเภทและส่วนต่าง ๆ ของอาคารนอกเหนือจากน้ำหนักของตัวอาคารหรือเครื่องจักรหรืออุปกรณ์อย่างอื่นให้สอดคล้องกับการใช้งาน การคำนวณแรงกระแทกซึ่งอาจเกิดจากเครื่องจักร อุปกรณ์ หรือน้ำหนักบรรทุกและปรับปรุงวิธีการคำนวณแรงลม รวมทั้งเพิ่มเติมการคำนวณออกแบบอาคารในการต้านแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว
5. กำหนดให้การคำนวณส่วนต่าง ๆ ของอาคารที่ประกอบด้วยวัสดุไม้ เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ อิฐหรือคอนกรีตบล็อกประสานด้วยวัสดุก่อ คอนกรีตเสริมเหล็กหรือคอนกรีตอัดแรง ให้ใช้ค่าหน่วยแรง วิธีการ คุณภาพและเกณฑ์การออกแบบ และกำหนดให้ส่วนประกอบต่าง ๆ ของอาคาร ช่องทางหนีไฟ หรือโครงสร้างหลักของอาคารต้องไม่เป็นวัสดุติดไฟ
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 พฤษภาคม 2564