คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสรุปภาพรวมสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการประจำเดือนมีนาคม และไตรมาสที่ 1 ปี 2564 ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ดังนี้
ภาพรวม
ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนมีนาคม 2564 หดตัวน้อยลง สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่คลี่คลายลง และเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว เงินเฟ้อในเดือนนี้ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.08 (YoY) หดตัวน้อยที่สุดในรอบ 13 เดือน โดยมีสาเหตุสำคัญจากสินค้าในกลุ่มพลังงานที่กลับมาเป็นบวกอีกครั้งในรอบ 14 เดือน โดยสูงขึ้นร้อยละ 1.35 ตามราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่ปรับสูงขึ้นตามราคาในตลาดโลก รวมทั้ง น้ำมันพืชและเนื้อสุกร ที่ยังมีราคาสูง โดยเนื้อสุกรปรับสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ประกอบกับมีต้นทุนในการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาเพิ่มขึ้น ขณะที่กลุ่มอาหารสด ยังหดตัวต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา โดยลดลงร้อยละ 1.06 ตามการลดลงของ ข้าวสาร ไก่สด ไข่ไก่ และผักสด รวมทั้ง ค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา ปรับลดลงตามมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐ ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนมีนาคมนี้ สำหรับสินค้าในหมวดอื่น ๆ ยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ สอดคล้องกับปริมาณผลผลิตสินค้า การจัดโปรโมชั่น และอุปสงค์ที่เกิดจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวที่ร้อยละ 0.09 ไตรมาสแรก ปี 2564 เงินเฟ้อทั่วไป ลดลงร้อยละ 0.53 (YoY) และเงินเฟ้อพื้นฐาน สูงขึ้นร้อยละ 0.12 (YOY)
เงินเฟ้อที่หดตัวน้อยลงในเดือนนี้ นับได้ว่าเป็นสัญญาณที่ดีต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา สอดคล้องกับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจที่มีสัญญาณฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยด้านอุปสงค์ สะท้อนได้จากรายได้เกษตรกร ที่ยังคงขยายตัวได้ดีตามราคาสินค้าเกษตร รวมทั้ง ดัชนีอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์และรถจักรยานยนต์ที่ปรับตัวดีขึ้น และยอดการจัดเก็บภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ กลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง ขณะที่ด้านอุปทานปรับตัวดีขึ้นจาก ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม และอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ยังอยู่ในระดับดี รวมถึงดัชนีราคาผู้ผลิต ที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ซึ่งสัญญาณเหล่านี้สะท้อนสถานการณ์เศรษฐกิจที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น และจะส่งผลต่อสถานการณ์ด้านราคาสินค้าและบริการในระยะต่อไป
ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนมีนาคม 2564 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.08 (YoY) ตามการลดลงของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 0.26 ได้แก่ สินค้าในกลุ่มข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ลดลงร้อยละ 6.59 (ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว) กลุ่มไข่และผลิตภัณฑ์นม ลดลง ร้อยละ 0.90 (ไข่ไก่ นมสด นมถั่วเหลือง) กลุ่มผักสด ลดลงร้อยละ 0.31 (ผักกาดขาว มะเขือ ผักบุ้ง) และกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ 0.27 (น้ำดื่ม น้ำอัดลม) สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ กลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ สูงขึ้นร้อยละ 1.76 (เนื้อสุกร ปลาหมึกกล้วย หอยแมลงภู่) กลุ่มผลไม้สด สูงขึ้นร้อยละ 0.01 (กล้วยน้ำว้า ฝรั่ง องุ่น) กลุ่มเครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 3.66 (น้ำมันพืช ซีอิ๊ว เครื่องปรุงรส) กลุ่มอาหารบริโภคในบ้าน สูงขึ้นร้อยละ 0.34 (กับข้าวสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว) และกลุ่มอาหารบริโภคนอกบ้าน สูงขึ้นร้อยละ 0.61 (ข้าวราดแกง อาหารเช้า) ขณะที่หมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.04 ได้แก่ หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร สูงขึ้น ร้อยละ 5.43 (น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าโดยสารสาธารณะ) หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.01 (เบียร์) ขณะที่หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลดลงร้อยละ 0.30 (เสื้อยืดสตรี เสื้อยืดบุรุษ) หมวดเคหสถาน ลดลงร้อยละ 4.87 (ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ก๊าซหุงต้ม) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ลดลงร้อยละ 0.04 (ผ้าอ้อมสำเร็จรูป สบู่ถูตัว แชมพู) และหมวดการบันเทิงการอ่านและการศึกษา ปรับลดลงที่ร้อยละ 0.01 (ค่าห้องพักโรงแรม เครื่องถวายพระ)
ดัชนีราคาผู้บริโภค เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2564 สูงขึ้นร้อยละ 0.23 (MoM) ไตรมาสที่ 1 ปี 2564 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.53 (YoY) และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ลดลงร้อยละ 0.35 (QoQ)
ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนมีนาคม 2564 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 2.6 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น และอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ยังอยู่ในระดับดี โดยหมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 8.1 ยังคงขยายตัวได้ดีจากความต้องการของตลาดที่สูงขึ้น และบางสินค้าปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ตามการสูงขึ้นของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ได้แก่ กลุ่มพืชล้มลุก (ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ พืชผัก) กลุ่มไม้ผล (องุ่น ลำไย กล้วยหอม) กลุ่มไม้ยืนต้น (ยางพารา ผลปาล์มสด) กลุ่มสัตว์ (สุกรมีชีวิต ไข่ไก่ ไข่เป็ด) ผลิตภัณฑ์จากการประมง (ปลาทูสด ปลาทรายแดง ปลาสีกุน) หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 2.5 ปรับสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบและต้นทุน ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม (น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91, 95 น้ำมันเตา) กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี (เม็ดพลาสติก ปุ๋ยเคมีผสม) กลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน (เหล็กแผ่น เหล็กเส้น เหล็กฉาก) กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์ (ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป ตะปู/สกรู/น็อต) กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร (เนื้อสุกร กุ้งแช่แข็ง น้ำมันปาล์ม) กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง ถุงมือยาง) กลุ่มกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ (เยื่อกระดาษ กระดาษแข็ง) กลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ (รถยนต์นั่ง รถบรรทุกขนาดเล็ก) กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ (ทองคำ) และกลุ่มไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ ขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมืองมีทิศทางที่ปรับตัวดีขึ้น โดยหดตัวน้อยลงที่ร้อยละ 11.8 (น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ)
ดัชนีราคาผู้ผลิต เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2564 สูงขึ้นร้อยละ 1.2 (MoM) ไตรมาสที่ 1 ปี 2564 เทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 0.6 (YoY) และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ขยายตัวร้อยละ 1.5 (QoQ)
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เดือนมีนาคม 2564 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 5.4 (YoY) สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ปรับตัวสูงขึ้นเกือบทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 23.7 จากร้อยละ 21.0 ในเดือนก่อนหน้า (เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ) ตามราคาตลาดโลก สำหรับสินค้าที่ปรับราคาสูงขึ้นตามวัตถุดิบ ต้นทุนการผลิต และความต้องการของตลาด ได้แก่ หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 2.4 (สายไฟ ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์) หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 2.0 (บานประตู-หน้าต่าง ไม้โครงคร่าว ไม้แบบ) หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 1.6 (ยางมะตอย) หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 0.4 (คอนกรีตผสมเสร็จ ชีทไพล์คอนกรีต) ปรับตัวสูงขึ้นเป็นเดือนแรก หลังจากที่ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 หมวดกระเบื้อง สูงขึ้น ร้อยละ 0.3 (กระเบื้องยาง PVC ปูพื้น) ขณะที่หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 2.0 (ปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนฉาบสำเร็จรูป) หมวดวัสดุฉาบผิว ลดลงร้อยละ 0.1 (ซิลิโคน) ส่วนหมวดสุขภัณฑ์ ดัชนีราคาโดยเฉลี่ย ไม่เปลี่ยนแปลง
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2564 สูงขึ้นร้อยละ 0.5 (MoM) ไตรมาสที่ 1 ปี 2564 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 4.4 (YoY) และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า สูงขึ้นร้อยละ 4.2 (QoQ) 2. สรุปแนวโน้มเงินเฟ้อ ไตรมาสที่ 2 ปี 2564
มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีแนวโน้มคลี่คลายลง การฉีดวัคซีนที่ขยายวงกว้างมากขึ้น รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านการท่องเที่ยวโดยกำหนดให้มีวันหยุดเพิ่มเติม การเพิ่มกำลังซื้อและกระตุ้นให้เกิดการจับจ่าย ใช้สอย ซึ่งจะส่งผลต่อความต้องการบริโภคสินค้าและบริการภายในประเทศในระยะต่อไป นอกจากนี้ ราคาพลังงานโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้น จากการขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ และอุปสงค์ด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกตามสถานการณ์เศรษฐกิจ ที่เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว อย่างค่อยเป็นค่อยไป ประกอบกับฐานราคาที่ต่ำในช่วงปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าเกษตร ยังมีโอกาสผันผวนตามสภาพอากาศ ซึ่งจะต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดต่อไป
ทั้งนี้ ในเดือนมีนาคม 2564 กระทรวงพาณิชย์ ได้ปรับสมมุติฐานสำหรับคาดการณ์เงินเฟ้อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต โดยคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อในปี 2564 จะยังคงเคลื่อนไหวในกรอบร้อยละ 0.7-1.7 (ค่ากลางอยู่ที่ 1.2) ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการทบทวนอีกครั้ง
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 พฤษภาคม 2564