ผลการสอบบัญชี สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2563 และรายงานประจำปี 2563 ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

ข่าวการเมือง Wednesday May 5, 2021 20:34 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ ดังนี้

1. รับทราบผลการสอบบัญชี สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2563 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เสนอ

2. รับทราบรายงานประจำปี 2563 ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเสนอ และให้เสนอสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาทราบต่อไป

สกพอ. เสนอว่า

1. โดยที่พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 มาตรา 15 (5) บัญญัติให้ สกพอ. มีหน้าที่และอำนาจจัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อทราบ และมาตรา 28 บัญญัติให้ผู้สอบบัญชีรายงานผลการสอบบัญชีต่อคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี (ครบกำหนดในวันที่ 28 มกราคม 2564) และให้ สกพอ. เผยแพร่งบการเงินที่ผู้สอบบัญชีรับรองแล้วภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ

2. สกพอ. ได้จัดทำรายงานประจำปี 2563 ของ สกพอ. ตามมาตรา 15 (5) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว และในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 5/2563 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2563 ที่ประชุมได้มีมติรับทราบรายงานประจำปี 2563 ของ สกพอ. และให้เสนอคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อทราบต่อไป

3. ผลการตรวจสอบงบการเงินของ สกพอ. สำหรับปีสิ้นสุด วันที่ 30 กันยายน 2563 แสดงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานถูกต้องตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐและนโยบายการบัญชีภาครัฐที่กระทรวงการคลังกำหนด ทั้งนี้ ผู้สอบบัญชีได้รับรองงบการเงินของ สกพอ. สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2563 โดยไม่มีเงื่อนไขแล้ว และในการประชุม กพอ. ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2564 ที่ประชุมมีมติรับทราบรายงานผลการสอบบัญชีของ สกพอ. สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2563 ด้วยแล้ว และให้เสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

รายงานประจำปี 2563 ของ สกพอ.

สกพอ. ได้จัดทำรายงานประจำปี 2563 โดยมีผลงานที่สำคัญ ดังนี้
1. กระบวนการขับเคลื่อนการพัฒนา EEC
  • จัดทำนโยบายและแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนา EEC รวมทั้งบรรจุแผนภาพรวมดังกล่าวในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
  • จัดทำระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนการพัฒนา EEC ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 เช่น หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน (PPP EEC Track) เป็นต้น
  • ร่วมจัดทำผังเมืองกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามมาตรา 29 ถึงมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561
  • จัดตั้งเขตส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยประสานสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาใน EEC
  • ร่วมเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่ให้เอกชนร่วมลงทุนตามประกาศ PPP EEC Track เช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 และเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand หรือ EECd) เป็นต้น
  • ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ จัดทำแผนงานบูรณาการ EEC เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ EEC ให้เป็นไปตามเป้าหมายแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนา EEC
2. วิเคราะห์สถานการณ์ช่วงโควิด-19
  • การระบาดของโควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวในพื้นที่ EEC ลดลง รายได้จากการท่องเที่ยวหายไปประมาณ 220,000 ล้านบาท การจ้างงานลดลงกว่า 1 แสนคน และส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ โดยเป้าหมายการผลิตของปี 2563 ลดลงจาก 2 ล้านคันเหลือเพียง 1 ล้านคัน อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบรองลงมา คือ อุตสาหกรรมพลังงานและปิโตรเคมี ดังนั้น เพื่อให้การส่งเสริมการลงทุนตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง สกพอ. จึงได้ปรับกลยุทธ์การส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายดังกล่าว
3. ผลงานสำคัญภายใต้การพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ปี 2563
  • จัดทำแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนา EEC ประกอบด้วยแนวทางการพัฒนาพร้อมแผนปฏิบัติการ 6 แนวทาง ได้แก่ 1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการพัฒนา EEC 2) การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC 3) การพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวใน EEC 4) การพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัยและเทคโนโลยี 5) การพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ และศูนย์กลางการเงิน 6) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อรองรับ EEC
  • โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ (EEC Project List) ประกอบด้วย 6 โครงการ ดังนี้ 1) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 2) โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก 3) โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 4) โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 5) โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา และ 6) โครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล
  • เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ได้ประกาศจัดตั้งไปแล้ว 6 เขต พื้นที่ประมาณ 19,054 ไร่ รองรับการลงทุนรวมประมาณ 861,380 ล้านบาท ได้แก่ เขตส่งเสริมการแพทย์ จีโนมิกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา (บางแสน) เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล เขตส่งเสริมศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจรธรรมศาสตร์ (พัทยา) เขตส่งเสริมรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เขตส่งเสริมนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และเขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก
  • การจัดทำแผนผังการพัฒนา EEC ได้จัดทำแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค ประกอบด้วย แผนผังระบบสาธารณูปโภค ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และระบบการควบคุมและขจัดมลภาวะ แผนผังระบบคมนาคมและขนส่ง แผนผังระบบการตั้งถิ่นฐานและภูมิสังคม แผนผังระบบบริหารจัดการน้ำ แผนผังระบบป้องกันอุบัติภัยและมาตรการระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะแก่การประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ ทั้งนี้ สกพอ. ได้เผยแพร่รายละเอียดเกี่ยวกับแผนผังฯ ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนได้รับทราบด้วยแล้ว
  • การชักจูงนักลงทุนและความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ สกพอ. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และสถานเอกอัครราชทูตไทย ดำเนินกิจกรรมเพื่อดึงดูดนักลงทุนเป้าหมายจากประเทศต่าง ๆ ให้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC รวมทั้งสิ้น 13 ครั้ง
4. โครงการสำคัญ (Highlight Project)
  • การพัฒนาบุคลากรเสริมความเชื่อมั่น EEC มี 2 รูปแบบ ดังนี้ 1) EEC Model Type A เป็นหลักสูตรแบบมีปริญญา รูปแบบที่เอกชนจ่าย 100% (เรียนฟรี มีงานทำรายได้สูง) 2) EEC Model Type B เป็นการฝึกอบรมระยะสั้นเพื่อผลิตกำลังคนในระยะเร่งด่วนเป็นหลักสูตรแบบไม่มีปริญญา
  • สร้างการมีส่วนร่วมเคียงข้างสร้างชุมชนให้ยั่งยืน สกพอ. ได้ดำเนินการผลักดันและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาพื้นที่ EEC ผ่านการดำเนินโครงการต่าง ๆ ดังนี้ 1) โครงการเสริมสร้างพลังและการมีส่วนร่วมของกลุ่มสตรีในการดูแลและเฝ้าระวังด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ EEC 2) โครงการบัณฑิตอาสาต้นแบบในพื้นที่ EEC 3) โครงการเยาวชนอาสาเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมศึกษาการเรียนรู้แหล่งท่องเที่ยว ด้านพฤกษศาสตร์ใน EEC 4) โครงการ EEC Tambon Mobile Team และ 5) โครงการเสริมศักยภาพเครือข่ายเยาวชนสิ่งแวดล้อมเพื่อพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
5. การพัฒนาองค์กรตามหลักธรรมาภิบาล
  • สกพอ. ได้เข้าร่วมประชุมประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ 2563 เพื่อส่งเสริมให้การดำเนินงานของ สกพอ. มีความโปร่งใส รวมทั้งได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์กระทรวงการคลังว่าด้วยมาตรฐานและหลักเกณฑ์ปฏิบัติการบริหารจัดการความเสี่ยงและควบคุมภายในสำหรับหน่วยงานของรัฐเพื่อให้การดำเนินงานบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด
6. ก้าวต่อไป ... EEC
  • จะสร้างการลงทุนไม่น้อยกว่า 300,000 ล้านบาท สร้างงานใหม่ไม่น้อยกว่า 1 แสนอัตราต่อปี ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกประมาณร้อยละ 2 และลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนกรุงเทพและประชาชนในพื้นที่ EEC และที่สำคัญคือ เป็นการปรับโครงสร้างประเทศไทยสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ที่ใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการสร้างรายได้ และการดำรงชีวิตของประชาชน

ทั้งนี้ เนื้อหาได้ครอบคลุมแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ (EEC Project List) เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ การจัดทำแผนผังการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก การชักจูงการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ การประชาสัมพันธ์และการสร้างการมีส่วนร่วมในพื้นที่ กองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ระเบียบและประกาศที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกแผนงานบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และแผนปฏิบัติการที่สำคัญ

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 พฤษภาคม 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ