สรุปผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) (ศบค.) ครั้งที่ 6/2564

ข่าวการเมือง Wednesday May 5, 2021 20:42 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสรุปผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) (ศบค.) ครั้งที่ 6/2564 วันพฤหัสบดีที่ 29 เมษายน 2564 ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) เสนอ ดังนี้

สรุปสถานการณ์ ปัญหาอุปสรรค ข้อเสนอแนะ
1. ที่ประชุมรับทราบรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดและผู้ติดเชื้อ ดังนี้

1) สถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลก ณ วันที่ 29 เมษายน 2564 มีจำนวนผู้ติดเชื้อรวมทั้งสิ้น 150,216,590 ราย โดยประเทศที่พบผู้ติดเชื้อมากที่สุด 3 ลำดับแรกของโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อินเดีย และบราซิล ในส่วนของประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 104 จาก 218 ประเทศทั่วโลก

2) สถานการณ์การแพร่ระบาดและผู้ติดเชื้อระลอกใหม่เดือนเมษายน 2564 ในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 1 - 29 เมษายน 2564 มีผู้ป่วยติดเชื้อและอยู่ระหว่างการรักษา จำนวน 27,988 ราย (อยู่ในโรงพยาบาล 21,306 ราย และโรงพยาบาลสนาม 6,682 ราย) หายป่วยแล้ว 7,968 ราย ทั้งนี้ ณ วันที่ 29 เมษายน 2564 พบผู้ป่วยรายใหม่ 1,871 ราย เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 1,830 ราย ผู้ป่วยจากการคัดกรองเชิงรุก 34 ราย และผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศและอยู่ระหว่างกักตัวในสถานที่กักกันที่ทางราชการกำหนด 7 ราย

3) สรุปสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 พบว่า จังหวัดส่วนใหญ่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ได้ภายใต้มาตรการควบคุมโรคที่กำหนด จึงจำเป็นต้องเร่งเฝ้าระวัง และดำเนินการคัดกรองเชิงรุกในชุมชนเพื่อตรวจจับการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 อย่างเข้มข้น

ในส่วนของกรุงเทพและปริมณฑล พบผู้ป่วยติดเตียงในสถานดูแลผู้สูงอายุเสียชีวิตจากโรคโควิด - 19 อย่างต่อเนื่องจากการสัมผัสผู้ดูแลที่ติดเชื้อ และพบผู้สูงอายุติดเชื้อจากญาติที่มาเยี่ยม รวมทั้ง พบการแพร่ระบาดในกลุ่มเพื่อนร่วมงานและสมาชิกครอบครัวที่รับประทานอาหารร่วมกันด้วย จึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มมาตรการควบคุมป้องกันโรคในสถานที่เสี่ยง เช่น สถานดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ตลาดตลาดนัด ร้านอาหาร เป็นต้น รวมทั้งลดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนและเร่งรัดการกำกับติดตามตามมาตรการ D-M-H-T-T-A ทั้งส่วนบุคคลและสถานที่ โดยเฉพาะสถานที่สาธารณะและสถานประกอบการ 2. ที่ประชุมรับทราบแนวทางการปฏิบัติและการบังคับใช้กฎหมาย กรณีการให้ประชาชนในพื้นที่ กรุงเทพมหานครและจังหวัดต่าง ๆ สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ทุกครั้งตลอดเวลาที่ออกนอกเคหสถาน หรือสถานที่พำนัก

1) ประเด็นความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่ง/ประกาศของจังหวัดและกรุงเทพมหานคร

ที่มีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน พบปัญหา ดังนี้

(1) มีการออกมาตรการทางกฎหมายกรณีให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยทั้งในรูปแบบคำสั่งและประกาศ

(2) มีการอ้างบทบัญญัติอาศัยอำนาจทั้งตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 22 (1) (7) (ผู้ว่าราชการจังหวัด) มาตรา 28 (1) (7) (ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร) และมาตรา 34 (6) และตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

(3) ผู้ว่าราชการจังหวัด/ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงนามในหลายฐานะ ทั้งในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร/ผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัด/เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ

ในการนี้ ได้กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยให้กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร จัดทำแนวทางเพื่อแจ้งเวียนให้จังหวัดนำไปปรับใช้ในการดำเนินงานให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยให้ออกเป็นคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่นั้น ๆ (ผู้ว่าราชการจังหวัด/ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร) โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 34 (6) แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 สำหรับข้อกำหนดที่ออกตามความในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องให้ใช้เป็นเหตุผลในการออกคำสั่งดังกล่าว หากมีเหตุขัดข้องประการใดที่อาจเกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามคำสั่ง ให้ระบุข้อยกเว้นไว้ในคำสั่งด้วย เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่มีความชัดเจน และผู้ถูกบังคับใช้กฎหมายจะได้ทราบล่วงหน้าว่าการกระทำใดเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย

2) ประเด็นการบังคับใช้กฎหมายและบทลงโทษสำหรับบุคคลที่ฝ่าฝืน พบปัญหา ขั้นตอน

การดำเนินงานและอัตราการเปรียบเทียบปรับไม่เหมาะสมกับกรณีการฝ่าฝืนไม่สวมหน้ากากอนามัย

โดยการฝ่าฝืนมาตรา 34 (6) เป็นความผิดตามมาตรา 51 ระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท ทั้งนี้ ตามระเบียบคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบ พ.ศ. 2563 กำหนดอัตราค่าปรับสำหรับผู้ฝ่าฝืนมาตรา 34 (6) ครั้งที่ 1 จำนวน 6,000 บาท ครั้งที่ 2 จำนวน 12,000 บาท และ ครั้งที่ 3 เป็นต้นไป จำนวน 20,000 บาท ในกรณีผู้ฝ่าฝืนยินยอม ต้องชำระค่าปรับตามที่กำหนด แม้จะลดค่าปรับได้ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนเงินค่าปรับ แต่ยังไม่เหมาะสมกับความผิดกรณีนี้ (ยังสูงเกินไป) และในกรณีผู้ฝ่าฝืนไม่ยินยอม พนักงานสอบสวนต้องดำเนินคดีโดยการส่งเรื่องฟ้องต่อศาล ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลที่จะกำหนดจำนวนเงินค่าปรับได้ตามที่เห็นสมควร

ทั้งนี้ ได้กำหนดแนวทางแก้ไข ให้กรมควบคุมโรคเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติพิจารณาออกระเบียบการเปรียบเทียบปรับกรณีการฝ่าฝืนไม่สวมหน้ากากอนามัย รวมถึงกรณีอื่น

ที่จำเป็นในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด - 19 โดยยกเว้นไม่ให้นำระเบียบคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบ พ.ศ. 2563 ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันมาใช้บังคับกับกรณีนี้ โดยกำหนดอัตราเปรียบเทียบปรับให้เหมาะสมแก่กรณี ไม่สร้างภาระเกินสมควรกับประชาชน และกำหนดขั้นตอนการดำเนินการของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อและผู้มีอำนาจเปรียบเทียบปรับให้สามารถดำเนินการได้โดยสะดวก รวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งกำหนดมาตรการที่เหมาะสมก่อนดำเนินการเปรียบเทียบปรับ เช่น การตักเตือน เป็นต้น

3) การประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับประชาชน ให้กรมควบคุมโรค ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์ สื่อสาร ผ่านช่องทางการสื่อสารของกระทรวงสาธารณสุขและกรมประชาสัมพันธ์ ทั้งในช่วงแถลงข่าวของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 (เวลา 11.30 น.) และการแถลงข่าวของกระทรวงสาธารณสุข (เวลา 15.00 น.) ตลอดจนช่องทางอื่น ๆ เพื่อสร้างการรับรู้ที่ถูกต้องให้กับประชาชน 3. การยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

1) ข้อเสนอการยกระดับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงสาธารณสุข

1.1) การปรับระยะเวลากักตัวเป็น 14 วัน สำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร โดยมีข้อเสนอเพื่อพิจารณายกระดับการกักตัว ดังนี้

(1) ปรับระยะเวลากักตัว จาก 7 วัน หรือ 10 วัน เป็น 14 วัน ในกลุ่มบุคคลตามคำสั่ง ศบค. ที่ 4\2564 เรื่อง แนวปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความใน ม.9 แห่ง พรก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 9 โดยกลุ่มบุคคลใน (1) (3) (5.1) (5.2) (5.3) (6) (7) (8.1) (8.2) (9.1) (10) ให้มีการตรวจหาเชื้อโรคโควิด - 19 โดยวิธี RT-PCR จำนวน 3 ครั้ง ขณะที่กลุ่มบุคคลใน (9.2) (9.3) ให้มีการตรวจหาเชื้อโรคโควิด ? 19 โดยวิธี RT-PCR ตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

ทั้งนี้ ให้ยกเว้นมาตรการข้างต้นในกลุ่มบุคคลใน (2) (4) กลุ่มบุคคลใน (5.1) กรณีเดินทางเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไม่เกิน 7 วัน และ (5.2) และ (5.3) ในกรณีที่ไม่ได้ลงจากเครื่องบิน/เรือ หรือลงจากเครื่องบินไม่เกิน 12 ชั่วโมง หรือเรือจอดเทียบท่าไม่เกิน 12 ชั่วโมง หรือได้สวมชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protection Equipment: PPE) ตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่ทางราชการกำหนด

(2) กรณีเป็นกลุ่มบุคคลใน (11.1) (11.2) ให้เข้ารับการกักกัน และการตรวจหาเชื้อโรคโควิด - 19 โดยวิธี RT-PCR และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

(3) ไม่อนุญาตให้ออกจากห้องพัก ยกเว้นเพื่อทำการตรวจหาเชื้อ และรักษาพยาบาล

(4) ผู้ที่ได้รับอนุมัติหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศ (Certificate of Entry: COE) ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 หรือผู้ที่ได้รับอนุมัติหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศ (COE) ก่อนวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 และเดินทางถึงราชอาณาจักรนับตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป ให้ตรวจหาเชื้อ 3 ครั้ง

1.2) การปรับระดับของพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร ดังนี้

(1) พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด จำนวน 6 พื้นที่/จังหวัด (จากเดิม 0 จังหวัดเป็น 6 พื้นที่/จังหวัด) ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี เชียงใหม่ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ

(2) พื้นที่ควบคุมสูงสุด จำนวน 45 จังหวัด (จากเดิม 18 จังหวัด เป็น 45 จังหวัด) ได้แก่ กาญจนบุรี กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชัยภูมิ เชียงราย ตาก ตรัง นครปฐม นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ นราธิวาส น่าน ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา พัทลุง พิจิตร พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ภูเก็ต มหาสารคาม ยะลา ร้อยเอ็ด ระนอง ระยอง ราชบุรี ลพบุรี ลำปาง ลำพูน ศรีสะเกษ สระแก้ว สงขลา สมุทรสาคร สระบุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี อ่างทอง อุดรธานี และอุบลราชธานี

(3) พื้นที่ควบคุม จำนวน 26 จังหวัด (จากเดิม 59 จังหวัด เป็น 26 จังหวัด) ได้แก่ กระบี่ กาฬสินธุ์ ชัยนาท ชุมพร ตราด นครนายก นครพนม หนองคาย บึงกาฬ บุรีรัมย์ พังงา พะเยา แพร่ มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร เลย สกลนคร สตูล สมุทรสงคราม สิงห์บุรี สุรินทร์ หนองบัวลำภู อุตรดิตถ์ อุทัยธานี และอำนาจเจริญ

(4) ไม่มีพื้นที่เฝ้าระวังสูง และพื้นที่เฝ้าระวัง

ทั้งนี้ จังหวัดสามารถกำหนดพื้นที่ย่อยให้เข้มกว่าที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 กำหนดได้ตามสถานการณ์ของจังหวัด โดยเริ่มปรับระดับของพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป

1.3) การปรับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคตามระดับของพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร

2) ข้อเสนอของศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19

2.1) เห็นชอบให้มีการดำเนินการตามที่ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด - 19 เสนอ ทั้งนี้ ให้มีมาตรการสำคัญเพิ่มเติม ดังนี้

(1) กำหนดแนวปฏิบัติสำหรับการบังคับใช้ในการขอให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า เพื่อป้องกันการแพร่โรคให้มีความเหมาะสมสามารถบังคับใช้ได้อย่างสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสังคมและอย่างบูรณาการ

(2) ให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ เจ้าของกิจการหรือผู้ประกอบการภาคเอกชน พิจารณาดำเนินการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work from Home) มาตรการขั้นสูงสุดอย่างน้อย 14 วัน เพื่อลดการรวมกลุ่มของบุคคลที่จะเป็นหนทางหนึ่งที่จะลดการแพร่เชื้อได้อย่างเป็นรูปธรรม

2.2) ขอให้คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) (ศบศ.) กรุณาพิจารณากำหนดมาตรการเยียวยาเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการยกระดับมาตรการในครั้งนี้ โดยเร่งด่วน

2.3) ขอให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับภาคประชาสังคม เร่งรัดในการช่วยเหลือดูแลประชาชนผู้มีรายได้น้อยและประชาชนกลุ่มเปราะบางอย่างเต็มขีดความสามารถ

2.4) ขอให้ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 ประสานกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ในการจัดให้มีระบบประกันสุขภาพให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อตามข้อห่วงใยของผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 โดยเร็วที่สุด

3) มาตรการสำคัญสำหรับพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร และมาตรการควบคุมแบบบูรณาการสำหรับทั่วทุกพื้นที่/จังหวัด ดังนี้

3.1) มาตรการสำคัญสำหรับพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร

1) พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม)

รายละเอียด

(1) 6 พื้นที่/จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี เชียงใหม่ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ

(2) ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มบุคคลมากกว่า 20 คน

(3) ยกระดับมาตรการควบคุมแบบบูรณาการขึ้นเพิ่มเติม ได้แก่

  • ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มในลักษณะของการนำกลับไปบริโภคที่อื่นได้เท่านั้น โดยงดการบริโภคอาหาร เครื่องดื่ม สุราและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน และเปิดให้บริการได้จนถึงเวลา 21.00 น.
  • สนามกีฬา สถานที่เพื่อการออกกำลังกาย ยิม ฟิตเนส ให้ปิดให้บริการ ยกเว้นสถานที่ใช้เป็นเอกเทศตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ส่วนสนามกีฬาหรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกายประเภทกลางแจ้งหรือที่ตั้งอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้ง สามารถเปิดให้บริการได้ไม่เกินเวลา 21.00 น. และสามารถจัดการแข่งขันกีฬาได้โดยไม่มีผู้ชมในสนาม สำหรับการแข่งขันกีฬาที่เคยได้รับอนุญาตจากนายกรัฐมนตรีให้จัดการแข่งขันได้ เมื่อได้มีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดแล้วให้สามารถจัดการแข่งขันได้ต่อไป
  • ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้น ๆ จนถึงเวลา 21.00 น. โดยให้จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการและงดเว้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ยกเว้นส่วนที่เป็นตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม และสวนสนุก ที่งดการให้บริการ
  • ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เกต ตลาดนัดกลางคืน ตลาดโต้รุ่ง ถนนคนเดิน

ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้น ๆ แต่ไม่เกินเวลา 23.00 น. สำหรับร้านหรือสถานที่ซึ่งตามปกติเปิดให้บริการตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง ให้เริ่มเปิดดำเนินการได้ในเวลา 04.00 น.

  • การงดการเดินทางออกนอกพื้นที่ ให้ประชาชนที่อยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดงดการเดินทางออกนอกพื้นที่โดยไม่มีเหตุจำเป็นเพื่อลดการเดินทางที่อาจเสี่ยงต่อการติดโรค

2) พื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง)

รายละเอียด

(1) พื้นที่จังหวัด รวม 45 จังหวัด เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด

(2) ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มบุคคลมากกว่า 50 คน

(3) มาตรการควบคุมสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุด

  • การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้บริโภคอาหารและเครื่องดื่มในร้านได้

ไม่เกินเวลา 21.00 น. และให้จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มได้จนถึงเวลา 23.00 น. ในลักษณะของการนำไปบริโภคที่อื่น

  • การจำหน่ายสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สำหรับร้านอาหารหรือสถานที่จำหน่ายสุรา ห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน
  • ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้น ๆ จนถึงเวลา 21.00 น. โดยให้จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการและงดเว้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ยกเว้นส่วนที่เป็นตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม และสวนสนุกที่งดการให้บริการ
  • ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เกต ตลาดนัดกลางคืน ตลาดโต้รุ่ง ถนนคนเดิน

ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้น ๆ แต่ไม่เกินเวลา 23.00 น. สำหรับร้านหรือสถานที่ซึ่งตามปกติเปิดให้บริการตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง ให้เริ่มเปิดดำเนินการได้ในเวลา 04.00 น.

  • สนามกีฬาหรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกาย ยิม ฟิตเนส สามารถเปิดให้บริการได้ไม่เกินเวลา 21.00 น. และสามารถจัดการจัดการแข่งขันกีฬาได้โดยจำกัดจำนวนผู้ชมในสนาม
  • การตั้งจุดสกัดหรือจุดคัดกรอง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการเท่าที่จำเป็นและเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ตามมาตรการที่ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 กำหนด และต้องไม่เป็นการก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ

ทั้งนี้ ให้กระทรวงคมนาคมหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ ตรวจสอบและกำกับดูแลการให้บริการขนส่งผู้โดยสารที่เป็นการขนส่งสาธารณะทุกประเภท โดยต้องมีการจัดระบบและระเบียบต่าง ๆ เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคและแนวปฏิบัติตามพื้นที่สถานการณ์ที่ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 กำหนด

3) พื้นที่ควบคุม(สีส้ม)

รายละเอียด

(1) พื้นที่จังหวัด รวม 26 จังหวัด เป็นพื้นที่ควบคุม

(2) ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มบุคคลมากกว่า 50 คน

(3) มาตรการควบคุมสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุด

  • การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้การบริการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มและการบริโภคในร้านได้ไม่เกินเวลา 23.00 น.
  • การจำหน่ายสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สำหรับร้านอาหารหรือสถานที่จำหน่ายสุรา ห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน
  • ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่น

ที่มีลักษณะคล้ายกัน ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้น ๆ จนถึงเวลา 21.00 น. โดยให้จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการและงดเว้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ยกเว้นส่วนที่เป็นตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกมและสวนสนุก ที่งดการให้บริการ

  • การตั้งจุดสกัดหรือจุดคัดกรอง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการเท่าที่จำเป็นและเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ตามมาตรการที่ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 กำหนด และต้องไม่เป็นการก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ

ทั้งนี้ ให้กระทรวงคมนาคมหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ ตรวจสอบและกำกับดูแลการให้บริการขนส่งผู้โดยสารที่เป็นการขนส่งสาธารณะทุกประเภท โดยต้องมีการจัดระบบและระเบียบต่าง ๆ เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคและแนวปฏิบัติตามพื้นที่สถานการณ์ที่ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 กำหนด

3.2) มาตรการควบคุมแบบบูรณาการสำหรับทั่วทุกพื้นที่/จังหวัด

(1) การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ เพื่อลดความเสี่ยง

จากการติดเชื้อและป้องกันมิให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคระบาดแพร่ออกไป ให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าให้ถูกวิธีตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขเมื่อออกนอกเคหสถานหรืออยู่ในที่สาธารณะ ทั้งนี้ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่พบผู้ไม่กระทำการตามวรรคหนึ่ง พนักงานเจ้าหน้าที่จะว่ากล่าวตักเตือนและสั่งให้บุคคลนั้นเพื่อให้ดำเนินการให้ถูกต้องก่อนที่จะดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ได้

(2) การจัดกิจกรรมงานเลี้ยงสังสรรค์ ให้ประชาชนงดการจัดกิจกรรมทางสังคมในลักษณะ

ที่เป็นงานสังสรรค์ งานเลี้ยงหรืองานรื่นเริงในช่วงเวลานี้ก่อน ยกเว้นเป็นการจัดพิธีตามประเพณีนิยม หรือเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นในครอบครัวและมีมาตรการป้องกันโรคที่เพียงพอเพื่อลดโอกาสเสี่ยงจากการติดเชื้อ

(3) การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work from Home) ให้หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ เจ้าของกิจการหรือผู้ประกอบการภาคเอกชน พิจารณาดำเนินมาตรการขั้นสูงสุดอย่างน้อย 14 วัน เพื่อมุ่งลดจำนวนการเดินทางของเจ้าหน้าที่และบุคลากรที่อยู่ในความรับผิดชอบ เพื่อป้องกันและลดโอกาสเสี่ยงที่เจ้าหน้าที่และบุคลากรในความรับผิดชอบจะติดเชื้อ โดยอาจสั่งการให้ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง การลดจำนวนบุคคลที่ประจำอยู่ในสถานที่ตั้ง การสลับวันเวลาทำงาน หรือวิธีการอื่นใดตามความเหมาะสมของแต่ละหน่วยงาน

(4) ห้ามการใช้อาคารหรือสถานที่ของโรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกประเภท เพื่อการจัด

การเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใด ๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมากทำให้เสี่ยงต่อการแพร่โรค เว้นแต่การใช้เป็นที่เอกเทศตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ หรือการใช้เป็นสถานที่เพื่อให้ความช่วยเหลืออุปการะ หรือการใช้สถานที่ตามข้อยกเว้น

4) ความเห็นและข้อเสนอแนะของที่ประชุม

ให้กระทรวงมหาดไทย รวบรวมประกาศและคำสั่งของจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศที่อาศัยอำนาจตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ. 2548 ฉบับต่าง ๆ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาโดยเร็ว และให้ถือปฏิบัติว่าในกรณีที่จังหวัดออกประกาศหรือคำสั่งต่าง ๆ ซึ่งมีผลบังคับใช้ทันที ทั้งนี้ ขอให้รวบรวมและประกาศในราชกิจจานุเบกษาในโอกาสแรก

5) ที่ประชุมมีมติ ดังนี้

(1) เห็นชอบข้อเสนอการยกระดับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงสาธารณสุข

(2) เห็นชอบข้อเสนอของศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 มาตรการสำคัญสำหรับพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร และมาตรการควบคุมแบบบูรณาการสำหรับทั่วทุกพื้นที่/จังหวัด

(3) ให้รับข้อเสนอแนะของที่ประชุมไปพิจารณาดำเนินการต่อไป 4. แผนการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเสนอแผนฯ ดังนี้

1) แผนการฉีดวัคซีนให้ครบทุกกลุ่มเป้าหมาย 100,000,000 โดส ความครอบคลุมของวัคซีนร้อยละ 70 ของประชากรไทย ภายในปี 2564 (เดือนพฤษภาคม - ธันวาคม 2564) ขณะนี้ประเทศไทย

มีการจัดหาวัคซีนแล้ว 63,000,000 โดส จึงต้องจัดหา จัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 เพิ่มเติมสำหรับประชากรในประเทศไทย จำนวน 18,500,000 คน หรือวัคซีนจำนวนประมาณ 37,000,000 โดส โดยการจัดซื้อรวมเป็นวัคซีนที่ประเทศไทยจัดหา จัดซื้อสำหรับประชากรทั้งสิ้น จำนวน 50,000,000 คน หรือวัคซีนจำนวนประมาณ จำนวน 100,000,000 โดส

2) แผนการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ของประเทศไทย พ.ศ. 2564

วัคซีน- วัคซีนถึงประเทศไทย

1) วัคซีน Sinovac Biotech จำนวน 2,500,000 โดส (เดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน 2564)

1.1) วัคซีน Sinovac Biotech จำนวน 200,000 โดส- วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564

1.2) วัคซีน Sinovac Biotech จำนวน 800,000 โดส- วันที่ 27 มีนาคม 2564

1.3) วัคซีน Sinovac Biotech จำนวน 1,000,000 โดส- วันที่ 10 เมษายน 2564

1.4) วัคซีน Sinovac Biotech จำนวน 500,000 โดส- ปลายเดือนเมษายน 2564

2) วัคซีน AstraZeneca จำนวน 26,000,000 โดส (เดือนมิถุนายน - สิงหาคม 2564)

และจัดหาเพิ่มเติมอีก 37,000,000 โดส

2.1) วัคซีน AstraZeneca จำนวน6,000,000 โดส- เดือนมิถุนายน 2564

2.2) วัคซีน AstraZeneca จำนวน 10,000,000 โดส- เดือนกรกฎาคม 2564

2.3) วัคซีน AstraZeneca จำนวน 10,000,000 โดส- เดือนสิงหาคม 2564

3) วัคซีน AstraZeneca จำนวน 35,000,000 โดส (เดือนกันยายน - ธันวาคม 2564)

3.1) วัคซีน AstraZeneca จำนวน 10,000,000 โดส- เดือนกันยายน 2564

3.2) วัคซีน AstraZeneca จำนวน 10,000,000 โดส- เดือนตุลาคม 2564

3.3) วัคซีน AstraZeneca จำนวน 10,000,000 โดส- เดือนพฤศจิกายน 2564

3.4) วัคซีน AstraZeneca จำนวน5,000,000 โดส- เดือนธันวาคม 2564

3) กำหนดการเสร็จสิ้นการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ทุกกลุ่มเป้าหมาย

(1) บุคลากรทางการแพทย์

Sinovac

  • ฉีดแล้ว ร้อยละ 95
  • ฉีดเสร็จสิ้น 2 เข็ม ครบร้อยละ 100 ภายใน

เดือนพฤษภาคม 2564

(2) เจ้าหน้าที่ด่านหน้าที่เสี่ยงสัมผัสโรค

Sinovac

  • ฉีดแล้ว ร้อยละ 20
  • ฉีดเสร็จสิ้น 2 เข็ม ครบร้อยละ 100 ภายใน

เดือนมิถุนายน 2564

(3) กลุ่มอาชีพเสี่ยง เช่น พนักงานขับรถสาธารณะ และครู เป็นต้น

AstraZeneca

  • ฉีดแล้วจำนวนหนึ่ง (ต่ำกว่าร้อยละ 5)
  • ฉีดเสร็จสิ้นเข็มที่ 1 ครบร้อยละ 100 ภายใน

เดือนมิถุนายน 2564

(4) ประชาชนผู้ที่มีโรคเรื้อรังและผู้สูงอายุ

AstraZeneca

  • ฉีดแล้วจำนวนหนึ่ง (ต่ำกว่าร้อยละ 5)
  • ฉีดเสร็จสิ้นเข็มที่ 1 ครบร้อยละ 100 ภายใน

เดือนกรกฎาคม 2564

(5) ประชาชนทั่วไป

AstraZeneca

  • ฉีดแล้วจำนวนหนึ่ง (ต่ำกว่าร้อยละ 5)
  • ฉีดเสร็จสิ้นเข็มที่ 1 ครบร้อยละ 100 ภายในเดือนกันยายน 2564

4) แนวทางความร่วมมือการจัดหาวัคซีนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แจ้งว่า ได้มีการประชุมหารือแนวทางความร่วมมือการจัดหาวัคซีนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ณ ห้องประชุมตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2564 โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม ผู้บริหารส่วนราชการและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางความร่วมมือการจัดหาวัคซีนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน 4 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการกระจายและฉีดวัคซีน ด้านการสร้างความเชื่อมั่นและประชาสัมพันธ์ ด้านการสนับสนุนระบบอำนวยความสะดวกระบบงานต่าง ๆ และด้านการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม

5) ความเห็นและข้อเสนอแนะของที่ประชุม ดังนี้

(1) ควรพิจารณาปรับแผนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ตามกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ เมื่อมีการจัดหาวัคซีนเพิ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน 2564 ให้มีความเหมาะสม โดยจัดลำดับกลุ่มเป้าหมายตามความจำเป็นเหมาะสม และเน้นการขับเคลื่อนเรื่องการป้องกันควบคุมโรคควบคู่กับการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจไปด้วยกัน

(2) ควรให้ความสำคัญในการชี้แจงและสร้างความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ใน 2 ประเด็น ได้แก่ (1) ความพร้อมในการให้บริการฉีดวัคซีนที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย และรวดเร็ว และ (2) แผนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ตามกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ โดยต้องเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนให้บุคลากรทางการแพทย์ให้แล้วเสร็จเป็นกลุ่มแรก

(3) ควรพิจารณาการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ให้แก่กลุ่มนักการทูตและเจ้าหน้าที่

การทูตที่พำนักในประเทศไทยด้วย

6) ที่ประชุมมีมติ ดังนี้

(1) รับทราบแผนการจัดหาและการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 จำนวน 100,000,000 โดส

และโครงการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 เพิ่มเติม ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ

(2) เห็นชอบในหลักการการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ให้มีความหลากหลาย เพื่อให้ประชากรกลุ่มเป้าหมายได้รับวัคซีนครอบคลุมร้อยละ 70 โดยเร็วที่สุด ได้แก่

(2.1) ภาครัฐจัดหาวัคซีน ประกอบด้วย วัคซีน Pfizer Biontech จำนวน 5,000,000 -20,000,000 โดส วัคซีน Sputnik V จำนวน 5,000,000 - 10,000,000 โดส วัคซีน Johnson & Johnson จำนวน 5,000,000 - 10,000,000 โดส วัคซีน Sinovac จำนวน 5,000,000 - 10,000,000 โดส และวัคซีนอื่น ๆ เช่น วัคซีน Moderna วัคซีน Sinopharm วัคซีน Bharat หรือวัคซีนอื่นที่จะมีการขึ้นทะเบียนในอนาคต รวมงบประมาณค่าวัคซีน และเวชภัณฑ์อื่นที่เกี่ยวข้อง โดยมอบกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

(2.2) ภาคเอกชนจัดซื้อวัคซีนอื่น ๆ เพิ่มเติม ตามแนวทางความร่วมมือการจัดหาวัคซีนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน

ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี

1. ให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด - 19 (ศปก.สธ.) สื่อสารและชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน โดยจัดทำแผนภาพในการสื่อสารที่เข้าใจง่าย (อาทิ ในรูปแบบ infographic ฯลฯ) เกี่ยวกับขั้นตอนการคัดกรองและการส่งต่อผู้ป่วยโควิด - 19 และช่องทางการติดต่อเพื่อเข้ารับการรักษาในสถานที่ต่าง ๆ ให้ชัดเจน เช่น โรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลสนาม เป็นต้น

2. ให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด - 19 (ศปก.สธ.) ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ ดำเนินการสำรวจข้อมูลความต้องการฉีดวัคซีนป้องกัน

โรคโควิด - 19 และเตรียมความพร้อมการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ให้แก่กลุ่มนักการทูตและเจ้าหน้าที่การทูตที่พำนักในประเทศไทยต่อไป

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 พฤษภาคม 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ