คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมหารือแนวทางความร่วมมือการจัดหาวัคซีนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เมื่อวันพุธที่ 28 เมษายน 2564 และเห็นชอบตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ
การประชุมหารือแนวทางความร่วมมือการจัดหาวัคซีนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เมื่อวันพุธที่ 28 เมษายน 2564 เวลา 13.30-14.30 น. ณ ห้องประชุมตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีผู้เข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล และนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยได้พิจารณาข้อเสนอของภาคเอกชน ประกอบด้วย คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย รวมทั้ง สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยมีสาระสำคัญและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ดังนี้ 1. สถานการณ์การแพร่ระบาดและการจัดหาและการกระจายวัคซีน
1.1 สถานการณ์ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ข้อมูลการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ณ วันที่ 27 เมษายน 2564 มีผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกจำนวนรวม 148,497686 ราย เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 672,914 ราย และมีผู้เสียชีวิตสะสม 3,133,860 รายโดยจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมและผู้ติดเชื้อรายใหม่ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มประเทศอเมริกาและยุโรปเป็นหลัก ขณะที่สัดส่วนการฉีดวัคซีนต่อประชากร 100 คนในประเทศสำคัญ ๆ ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร อิสราเอล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสิงคโปร์ ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าในหลายประเทศที่มีสัดส่วนประชากรที่ใด้รับวัคซีนเพิ่มมากขึ้น จะทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศปรับตัวดีขึ้น
1.2 สถานการณ์การแพร่ระบาดและความคืบหน้าด้านวัคซีนของประเทศไทย ข้อมูลการแพร่ระบาดภายในประเทศ ณ วันที่ 27 เมษายน 2564 มีผู้ติดเชื้อสะสมจำนวนรวม 59,687 ราย โดยเป็นผู้ติดเชื้อสะสมจากการระบาดรอบใหม่จำนวน 30,824 ราย (นับสะสมตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564) เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,179 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 163 คน โดยเป็นผู้เสียชีวิตจากการระบาดระลอกใหม่จำนวน 69 คน และมีจำนวนผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาลจำนวน 25,973 ราย ทั้งนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นล่าสุดส่วนใหญ่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และสำหรับความคืบหน้าในการให้บริการวัคซีนโควิด - 19 ข้อมูล ณ วันที่ 25เมษายน 2564 มีผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกไปแล้วทั้งสิ้น 972,204 ราย และจำนวนผู้ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ (ได้รับวัคซีน 2 เข็ม) จำนวน 177,462 ราย รวมแล้วมีการให้บริการวัคซีนไปแล้วทั้งสิ้น 1,149,666 โดส จังหวัดที่มีการให้บริการวัคซีนโควิด - 19 สูงสุด 10 อันดับแรก ในจังหวัดพื้นที่สีแดง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี ตาก ชลบุรี นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี และนครราชสีมา
ข้อสั่งการ :
รับทราบสถานการณ์การแพร่ระบาดและการจัดหาและการกระจายวัคซีนตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ
1.แนวทางความร่วมมือการจัดหาวัคซีนระหว่างภาครัฐและภาลเอกชน นำเสนอโดย
คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)
คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้เสนอแนวทางความร่วมมือการจัดหาวัคซีนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน และการกระจายการฉีดวัคซีนให้กับภาคเอกชนทั้งในส่วนของผู้ประกอบการ นายจ้าง ลูกจ้าง ที่อยู่ในระบบประกันสังคม ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และพื้นที่ต่างจังหวัดครอบคลุมทั่วประเทศ โดยมีข้อเสนอใน 4 ด้าน ประกอบด้วย
2.1 ด้านการกระจายและฉีดวัคซีน โดยขอรับการสนับสนุนดังนี้
1) ข้อเสนอสำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานคร
(1) เห็นชอบแนวทางความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระหว่างกรุงเทพมหานครกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้าไทยในการกระจายและฉีดวัคซีนให้กับผู้ประกอบการ นายจ้าง ลูกจ้าง ที่อยู่ในระบบประกันสังคมเป็นหลัก
(2) เห็นชอบการจัดทำต้นแบบ (Model) เพื่อใช้ในการกระจายและ ฉีดวัคซีนโดยความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ตามข้อ (1)
2) ข้อเสนอสำหรับพื้นที่ต่างจังหวัด
(1) เห็นชอบแนวทางความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในระดับกลุ่มจังหวัดและระดับจังหวัด ผ่านกลไกคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ในระดับกลุ่มจังหวัดและระดับจังหวัดในการกระจายและฉีดวัคซีนให้กับผู้ประกอบการ นายจ้าง ลูกจ้าง ที่อยู่ในระบบประกันสังคมเป็นหลัก
(2) เห็นชอบการนำต้นแบบ (Model) ในการกระจายและฉีควัคซีน ไปเป็นแนวปฏิบัติในระดับกลุ่มจังหวัดและระดับจังหวัด โดยมอบหมายให้ กรอ.กลุ่มจังหวัด และ กรอ.จังหวัด เป็น ผู้นำไปปฏิบัติให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตามข้อ (1)
ข้อสั่งการ :
เห็นชอบแนวทางความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการกระจายและฉีดวัคซีนของกลุ่มเป้าหมาย ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สำหรับต่างจังหวัดให้ผ่านกลไก กรอ.กลุ่มจังหวัดและระดับจังหวัด และให้กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ภาคเอกชน ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาเร่งรัดจัดทำแผนการจัดหาและการกระจายวัคซีนและพิจารณารายละเอียดของต้นแบบ (Model) การกระจายฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) โดยให้ความสำคัญกับความพร้อมของสถานที่ บุคลากร อุปกรณ์ทางการแพทย์ และคำนึงถึงมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การกระจายการให้บริการเป็นไปอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว
2.2 ด้านการสร้างความเชื่อมั่นและประชาสัมพันธ์ โดยขอรับการสนับสนุนดังนี้
ข้อเสนอ :
1) เสนอให้ภาครัฐกำหนดผู้ประสานงานหลักในด้านการสื่อสารที่เกี่ยวกับการกระจายและการฉีดวัคซีนอย่างถูกต้องให้ประชาชน เพื่อลดความซ้ำซ้อน และสับสนของข้อมูลรวมทั้งจัดทำการรณรงค์ (Campaign) เพื่อการฉีดวัคซีนร่วมกัน 2) จัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดการบูรณาการด้านการสื่อสาร
และประชาสัมพันธ์
ข้อสั่งการ :
ให้ภาคเอกชนรับไปประสานเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการสร้างความเชื่อมั่นและประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนเพื่อลดความวิตกกังวลของประชาชน ได้แก่ การจัดหาวัคซีนให้เพียงพอ การลงทะเบียนที่มีประสิทธิภาพ การจัดหาสถานที่ฉีดวัคซีนที่เหมาะสม การอำนวยความสะดวกในการเดินทางสำหรับฉีดวัคซีน และการดูแลรักษา ภายหลังจากการฉีดวัคซีน พร้อมทั้งพิจารณากำหนด ผู้ประสานงานหลัก (Focal point) ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่ชัดเจน กำหนดแนวทางการประชาสัมพันธ์ที่เป็นเอกภาพ และสร้างการรับรู้ของวัคซีนอย่างถูกต้องในรูปแบบ Single Message เพื่อให้การสื่อสารเป็นเอกภาพ
2.3 ด้านการสนับสนุนระบบอำนวยความสะดวกระบบงานต่าง ๆ โดยขอรับการสนับสนุนดังนี้
ข้อเสนอ
1) ให้มีระบบการลงทะเบียนและการติดตามผู้ฉีดวัคซีนเพียงระบบเดียวสำหรับผู้ประกอบการ นายจ้าง ลูกจ้าง ที่อยู่ในระบบประกันสังคมเป็นหลัก เพื่อลดความสับสนและมีการจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2) จัดตั้งคณะทำงานร่วมกันกับภาครัฐ เพื่อเชื่อมระบบของภาครัฐและออกแบบโครงสร้างที่สามารถทำงานเสริมกันได้ โดยระยะแรก ดำเนินการในพื้นที่กรุงเทพมหานครและดำเนินการทั้งประเทศในระยะต่อไป
ข้อสั่งการ :
ให้เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศปก.ศบค.) ร่วมกับภาคเอกชน ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาระบบการลงทะเบียนและการติดตามผู้ฉีดวัคซีนของภาคเอกชนให้เชื่อมโยงกับระบบของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) อย่างมีเอกภาพ และให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานดูแลการลงทะเบียนใน 5 กลุ่มเป้าหมายหลัก ประกอบด้วย 1) บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชน 2) เจ้าหน้าที่ด่านหน้า เช่น ทหาร ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง 3) ประชาชนที่มีโรคประจำตัว 4) ประชาชนสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และ 5) ประชาชนในพื้นที่ระบาดผ่านแอปพลิเคชัน "หมอพร้อม" ต่อไป
2.4 ด้านการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม โดยขอรับการสนับสนุนดังนี้
ข้อเสนอ
1) ให้ภาคเอกชนสามารถทำงานร่วมกับภาครัฐเพื่อจัดหาวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติมได้ เพื่อบรรลุเป้าหมายการฉีดที่ครอบคลุมประชากร ร้อยละ 70 ทั้งประเทศภายในปี 2564
2) เสนอให้ภาครัฐผ่อนคลายเรื่อง EUA Licensing สำหรับการนำเข้าวัคซีน โดยให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พิจารณาอนุมัติ Import Permit อนุญาตให้ภาคเอกชนสามารถนำเข้าวัคซีนที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้ว เป็น Lot ได้
ข้อสั่งการ :
ให้กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และองค์การ เภสัชกรรม (อภ.) รับไปพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
2.5 ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน
ให้รองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) ร่วมกับเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ภาคเอกชน ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสภาอุตสาหกรรม ท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปร่วมหารือเพื่อดำเนินการบริหารจัดหาวัคซีนและกระจายวัคซีนให้เป็นระบบและเกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 พฤษภาคม 2564