คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 อนุมัติงบประมาณวงเงินรวม 10,000 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อดำเนินมาตรการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 พร้อมทั้งมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป รับทราบมาตรการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และรับทราบรายงานมาตรการการคลัง มาตรการการเงิน และมาตรการอื่น ๆ ที่ได้ ดำเนินการเพื่อดูแลและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
กระทรวงการคลังเสนอมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่ ประกอบด้วยมาตรการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 มาตรการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และรายงานมาตรการการคลัง มาตรการการเงิน และมาตรการอื่น ๆ ที่ได้ดำเนินการเพื่อดูแลและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 1. มาตรการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19
1.1 วัตถุประสงค์: เพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตให้แก่ประชาชนและบรรเทาความเดือดร้อนสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19
1.2 กลุ่มเป้าหมาย: ผู้มีรายได้ประจำ เช่น พนักงาน/ลูกจ้างหน่วยงานเอกชนที่มีเงินเดือนประจำ เป็นต้น ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น ผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้า แม่ค้า หาบเร่แผงลอย เป็นต้น และเกษตรกรรายย่อยหรือลูกจ้างภาคการเกษตรที่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินฉุกเฉิน
1.3 วิธีดำเนินงาน: ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 20,000 ล้านบาท (ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. แห่งละ 10,000 ล้านบาท) คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) ไม่เกินร้อยละ 0.35 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี (ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 งวดแรก) ทั้งนี้ ให้ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. พิจารณาจัดลำดับความสำคัญของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่มากไปหาน้อย เพื่อดูแลลูกหนี้ในแต่ละกลุ่มได้อย่างเหมาะสม
1.4 ระยะเวลาดำเนินงาน: ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564
1.5 งบประมาณ: รัฐบาลชดเชยความเสียหายที่เกิดจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loans: NPLs) ร้อยละ 100 สำหรับ NPLs ที่ไม่เกินร้อยละ 50 ของสินเชื่อที่อนุมัติทั้งหมด 20,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 10,000 ล้านบาท (20,000 ล้านบาท* ร้อยละ 50* ร้อยละ 100)
ทั้งนี้ ประกาศคณะกรรมการฯ เรื่อง กำหนดอัตราชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ของหน่วยงานของรัฐในการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 28 พ.ศ. 2561 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ ได้กำหนดอัตรายอดคงค้างรวมทั้งหมดของภาระที่รัฐต้องรับชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ในการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ ต้องมียอดคงค้างทั้งหมดรวมกันไม่เกินร้อยละ 30 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี โดย ณ สิ้นวันที่ 30 เมษายน 2564 ภาระที่รัฐต้องรับชดเชยตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ มียอดคงค้างจำนวน 953,223.572 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 29.01 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 (วงเงิน 3,285,962.4797 ล้านบาท) ดังนั้น หากมีการดำเนินมาตรการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 จำนวน 10,000 ล้านบาท จะส่งผลให้ภาระที่รัฐต้องรับชดเชย ซึ่งเมื่อรวมโครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีด้วยแล้ว จะมียอดคงค้างเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 973,962.339 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราร้อยละ 29.64 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ซึ่งยังคงไม่เกินอัตราร้อยละ 30 ที่คณะกรรมการฯ ได้ประกาศกไหนดไว้ 2. มาตรการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
การระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ทำให้ประชาชนและผู้ประกอบการที่มีความเปราะบางทางการเงินมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ประกอบกับมาตรการควบคุมโรคของภาครัฐอาจส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชนและส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้หรือดำเนินธุรกิจได้อย่างไม่เต็มศักยภาพ จึงมีความจำเป็นในการช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าวเพิ่มเติม เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ โดยให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialized Financial Institutions : SFIs) ช่วยเหลือลูกหนี้เป็นรายกรณีผ่านการปรับโครงสร้างหนี้หรือพักชำระหนี้ตามข้อตกลงระหว่างสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบันอาจไม่เพียงพอ สาเหตุมาจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 มีความรุนแรงและยืดเยื้อมากกว่าในปีที่ผ่านมา
กระทรวงการคลังจึงมอบหมายให้ SFIs พิจารณาขยายระยะเวลามาตรการพักชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ตามความสมัครใจ โดยการพักชำระเงินต้นเพื่อลดภาระการชำระหนี้เป็นการชั่วคราวให้แก่ลูกหนี้ หรือเพื่อนำเงินงวดที่จะต้องชำระหนี้ไปเป็นสภาพคล่องในการดำเนินชีวิตประจำวันหรือเพื่อการประกอบธุรกิจในช่วงที่มีความไม่แน่นอนสูง โดยวิธีการชำระหนี้ที่พักชำระไว้ดังกล่าวจะต้องไม่เพิ่มภาระให้แก่ลูกหนี้มากจนเกินควรเพื่อพิจารณาอัตราดอกเบี้ยตลอดระยะเวลาสัญญาเงินกู้ ซึ่งรวมถึงดอกเบี้ยกรณีที่ SFIs ได้พิจารณาพักชำระไว้ด้วย นอกจากนี้ ให้ SFIs พิจารณาจัดลำดับความสำคัญของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่มากไปหาน้อย เพื่อดูแลลูกหนี้ในแต่ละกลุ่มได้อย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงประโยชน์ของลูกหนี้เป็นสำคัญ ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะพิจารณาแนวทางในการช่วยเหลือ SFIs ตามความจำเป็นและเหมาะสมในนกรณีที่การดำเนินการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องหรือฐานะทางการเงินของ SFIs 3. รายงานมาตรการการคลัง มาตรการการเงิน และมาตรการอื่น ๆ ที่ได้ดำเนินการเพื่อดูแลและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19
3.1 มาตรการการคลัง
1) มาตรการเยียวยาเพื่อช่วยเหลือด้วยการลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนภายใต้โครงการเราชนะ
โครงการเราชนะมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือด้วยการลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 โดยจะสนับสนุนวงเงินเพื่อช่วยเหลือจำนวนไม่เกิน 3,500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน (สำหรับเดือนมกราคม - เดือนกุมภาพันธ์ 2564) ตามช่องทางการจ่ายวงเงินที่กำหนด ทั้งนี้ ณ วันที่ 30 เมษายน 2564 มีผู้ได้รับสิทธิ์ตามโครงการเราชนะแล้วจำนวนประมาณ 33.2 ล้านคน โดยแบ่งเป็นกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 13.7 ล้านคน กลุ่มผู้มีแอปพลิเคชัน ?เป๋าตัง? จำนวน 8.3 ล้านคน กลุ่มผู้ลงทะเบียนใหม่ จำนวน 8.7 ล้านคน กลุ่มผู้ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ จำนวน 2.4 ล้านคน และกลุ่มผู้ยื่นขอทบทวนสิทธิ์และผ่านเกณฑ์การทบทวนสิทธิ์ จำนวน 7.0 หมื่นคน โดยมีผู้ได้รับสิทธิ์ตามโครงการเราชนะที่ใช้จ่ายจนครบวงเงินสิทธิ์แล้ว จำนวนกว่า 24.5 ล้านคน ทั้งนี้ การใช้จ่ายวงเงินสนับสนุนภายใต้โครงการเราชนะ คิดเป็นมูลค่าการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยแล้วกว่า 203,295 ล้านบาท ผ่านผู้ประกอบการร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นที่มีแอปพลิเคชัน ?ถุงเงิน? ร้านค้าคนละครึ่งที่ตกลงยินยอมเข้าร่วมโครงการเราชนะ และผู้ประกอบการร้านค้าและผู้ให้บริการที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเราชนะจำนวนทั้งสิ้นกว่า 1.3 ล้านกิจการ
ทั้งนี้ วงเงินสนับสนุนที่ได้รับตามโครงการเราชนะสามารถสะสมเพื่อใช้จ่ายได้จนถถึงสิ้นสุดระยะเวลาโครงการ โดยคณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 ได้มีมติขยายระยะเวลาโครงการเราชนะ โดยสามารถใช้จ่ายได้จากเดิมที่สิ้นสุดวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 เป็นวันที่ 30 มิถุนายน 2564
2) มาตรการภาษี
2.1) มาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับปีภาษี 2564
กระทรวงการคลังได้เสนอมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อประชาชนและผู้ประกอบการที่เป็นผู้เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เนื่องจากไม่สามารถประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ตามปกติอันเนื่องมาจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยให้ลดภาษีในอัตราร้อยละ 90 ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้สำหรับการจัดเก็บภาษีของปีภาษี พ.ศ. 2564 ทั้งนี้ เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ซึ่งลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2564
2.2) การขยายกำหนดเวลาดำเนินการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ประจำปี 2564
กระทรวงมหาดไทยได้ขยายระยะเวลาดำเนินการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสำหรับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำปี พ.ศ. 2564 เป็นการทั่วไปออกไปอีก 2 เดือน ซึ่งมีผลที่เกี่ยวข้องกับผู้เสียภาษีใน 2 ส่วน ได้แก่ (1) ขยายกำหนดเวลาการชำระภาษี จากเดิม ภายในเดือนเมษายน 2564 เป็นภายในเดือนมิถุนายน 2564 และ (2) ขยายกำหนดระยะเวลาในการผ่อนชำระภาษี 3 งวด จากเดิมผ่อนชำระได้ระหว่างเดือนเมษายน - มิถุนายน 2564 เป็นระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม 2564
2.3) มาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย
กระทรวงการคลังได้เสนอมาตรการเพื่อสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยใหม่เป็นของตนเอง รวมถึงช่วยรักษาระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเชื่อมโยงกับการจ้างงานและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยให้ลดค่าธรรมเนียมการโอนจากร้อยละ 1 ลงเหลือร้อยละ 0.01 และลดค่าธรรมเนียมการจำนองจากร้อยละ 1 ลงเหลือร้อยละ 0.01 (เฉพาะการโอนและจดจำนองในคราวเดียวกัน) สำหรับที่อยู่อาศัยใหม่ ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย ซึ่งครอบคลุมบ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว อาคารพาณิชย์ และห้องชุด ที่ซื้อจากผู้ประกอบการ ตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ - 31 ธันวาคม 2564 ทั้งนี้ เป็นไปตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นที่ดินพร้อมอาคาร ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนดและประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด กรณีห้องชุด ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ซึ่งลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564
2.4) การขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยกระทรวงการคลังได้ออกประกาศ เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการยื่นรายการและชำระภาษีให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปีภาษี พ.ศ. 2563 เพื่อขยายระยะเวลาการยื่นแบบและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับแบบแสดงรายการภาษี ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91 ของปีภาษี 2563 ที่ยื่นผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจากเดิมภายในเดือนมีนาคม 2564 ออกไปเป็นภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ซึ่งจะช่วยให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาซึ่งยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีระบบผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นประมาณ 10,600 ล้านบาท โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล
2.5) มาตรการเลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล
มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและผู้ทำบัญชีที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ที่มีความรุนแรงและครอบคลุมทั่วประเทศ และสนับสนุนการทำธุรกรรมภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงช่วยลดความแออัดและความเสี่ยงจาก COVID-19 อีกทั้งช่วยเพิ่มสภาพคล่องในมือผู้ประกอบการให้มีมากขึ้นและนานขึ้น โดยกระทรวงการคลังได้ออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการยื่นรายการและชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 3) และประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการยื่นรายการและชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 4) เพื่อขยายเวลาการยื่นแบบและชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลรอบระยะเวลาบัญชีปี 2563 จากเดิมที่ต้องยื่นภายในเดือนพฤษภาคม 2564 ถึงเดือนมิถุนายน 2564 ให้ขยายออกไปเป็นภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นประมาณ 14,200 ล้านบาท โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล
2.6) มาตรการขยายเวลาลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบิน
กระทรวงการคลังได้ขยายเวลาการลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่นที่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยานภายในประเทศ จากเดิมอัตรา 4.726 บาทต่อลิตร เป็น 0.20 บาทต่อลิตร ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 เนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังคงส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและสายการบินอย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการขาดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและสายการบิน
2.7) มาตรการยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับของที่นำเข้ามาเพื่อใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
กระทรวงการคลังได้ออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับของที่นำเข้ามาเพื่อใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว และเพื่อประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศและความผาสุกของประชาชน โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 - 31 มีนาคม 2565 ซึ่งจะยกเว้นอากรตามรายการที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวเป็นการขยายระยะเวลาการยกเว้นอากรให้ต่อเนื่องจากมาตรการเดิมซึ่งสิ้นสุดระยะเวลาการบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 อนึ่ง กระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างการออกประกาศเพื่อกำหนดรายการของที่ได้รับยกเว้นอากรตามประกาศดังกล่าว
3.2 มาตรการการเงิน
1) พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (พ.ร.ก. ฟื้นฟูฯ) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดกลไกการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 โดยมีสาระสำคัญประกอบด้วย 2 มาตรการ ดังนี้
1.1) มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู) วงเงิน 250,000 ล้านบาท
มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูกำหนดกลไกการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ให้เข้าถึงสินเชื่อในอัตราที่เหมาะสมผ่านกลไกการลดความเสี่ยงด้านเครดิตของภาครัฐ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มดังกล่าวสามารถประคับประคองธุรกิจและรักษาการจ้างงาน รวมทั้งปรับปรุงธุรกิจเพื่อให้สอดรับกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากการระบาดของ COVID-19 คลี่คลายลง
ผู้ประกอบธุรกิจทั้งที่ไม่มีสินเชื่อและมีสินเชื่อกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาท ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 สามารถยื่นขอสินเชื่อได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท สำหรับลูกหนี้ที่ไม่มีสินเชื่อกับสถาบันการเงิน และไม่เกินร้อยละ 30 ของวงเงินสินเชื่อ ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 หรือ 31 ธันวาคม 2562 แล้วแต่วงเงินใดจะสูงกว่าแต่ไม่เกิน 150 ล้านบาท ทั้งนี้ พ.ร.ก. ฟื้นฟูฯ กำหนดให้สถาบันการเงินคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปีในช่วง 2 ปีแรกของสัญญา และเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี ในช่วง 5 ปีแรกที่สถาบันการเงินได้รับแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นอกจากนี้รัฐบาลจะจ่ายดอกเบี้ยแทนผู้ประกอบธุรกิจในระหว่าง 6 เดือนแรกของสัญญา นอกจากนี้ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูยังกำหนดให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันสินเชื่อดังกล่าว เพื่อลดความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ประกอบธุรกิจ โดยรับภาระชดเชยความเสียหายสูงสุดร้อยละ 40 ของวงเงินสินเชื่อทั้งหมดที่สถาบันการเงินปล่อยกู้ ค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อไม่เกินร้อยละ 1.75 ต่อปี และรัฐบาลชดเชยค่าธรรมเนียมดังกล่าวไม่เกินร้อยละ 3.5 ตลอดอายุสัญญา
1.2) มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ (มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้) วงเงิน 100,000 ล้านบาท
มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ กำหนดกลไกในการช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่มีศักยภาพ แต่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID - 19 และต้องใช้ระยะเวลายาวนานในการฟื้นตัว โดยสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจไม่ต้องรับภาระต้นทุนทางการเงินเป็นการชั่วคราว และไม่ถูกบังคับให้ขายทรัพย์สินหลักประกันในราคาต่ำกว่าสภาพความเป็นจริง (Fire Sale) ให้แก่กลุ่มทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งมีโอกาสกลับมาดำเนินธุรกิจโดยใช้ทรัพย์สินหลักประกันเดิมได้หลังสถานการณ์การระบาดของ COVID - 19 คลี่คลายลง
ผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินอยู่แล้วก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2564 ซึ่งมีทรัพย์สินเป็นหลักประกัน สามารถยื่นขอโอนทรัพย์สินหลักประกันชำระหนี้ในราคาที่ตกลงกับสถาบันการเงิน โดยผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินนั้นมีสิทธิเช่าทรัพย์สินเพื่อประกอบธุรกิจต่อไปและมีสิทธิซื้อทรัพย์สินนั้นคืนได้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปีนับแต่วันโอนหรือระยะเวลาที่ ธปท. กำหนด หากมีการขยายระยะเวลามาตรการ ทั้งนี้ ราคาซื้อคืนต้องไม่สูงกว่าราคาที่รับโอนไว้รวมกับ Carrying Cost ไม่เกินร้อยละ 1 ต่อปี และค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาทรัพย์สิน ทั้งนี้ หากผู้ประกอบธุรกิจเช่าสินทรัพย์เพื่อไปดำเนินธุรกิจ สถาบันการเงินต้องนำค่าเช่าดังกล่าวมาหักออกจากราคาซื้อคืนด้วย กลไกดังกล่าวจะเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถซื้อทรัพย์สินนั้นคืนจากสถาบันการเงินเพื่อประกอบธุรกิจในราคาที่ไม่สูงเกินไปเมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง โดย ธปท. จะสนับสนุนแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำให้แก่สถาบันการเงินเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจโดยการลดค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่สถาบันการเงินเรียกเก็บจากผู้ประกอบธุรกิจ
ทั้ง 2 มาตรการดังกล่าวข้างต้นมีระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี โดยคณะรัฐมนตรีสามารถขยายระยะเวลามาตรการออกไปได้อีก 1 ปี ในกรณีที่มีความจำเป็นและมีวงเงินเหลืออยู่ และคณะรัฐมนตรีสามารถอนุมัติให้เกลี่ยวงเงินระหว่างมาตรการได้ นอกจากนี้ ในการดำเนินมาตรการทั้ง 2 มาตรการ ผู้ประกอบธุรกิจ เจ้าของทรัพย์สินหลักประกัน สถาบันการเงิน และ บสย. จะได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประกอบด้วย ค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการจำนอง การจดทะเบียนสัญญาหลักประกันธุรกิจ และค่าธรรมเนียมอันเนื่องมาจากการโอนทรัพย์สินเพื่อชำระหนี้ ผู้ประกอบธุรกิจที่สนใจสามารถขอเข้าร่วมโครงการดังกล่าวได้ที่สถาบันการเงินได้ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2564 เป็นต้นไป
2) มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของ COVID - 19 ระลอกใหม่
นอกจากโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 9 (PGS9) ที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการผ่านกลไกการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. ธปท. ยังได้ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID - 19 ระลอกใหม่เพื่อให้ยังคงมีกระแสเงินสดสำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำรงชีพ ประกอบอาชีพ และดำเนินธุรกิจ โดยมีรายละเอียดดังนี้
2.1) ต่ออายุมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้โดย (1) ลดเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล (2) เพิ่มวงเงินบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับประเภทวงเงินหมุนเวียนหรือที่ผ่อนชำระเป็นงวด และ (3) กำหนดให้ผู้ให้บริการทางการเงินให้ช่วยเหลือขั้นต่ำลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบตามประเภทสินเชื่อ และมีช่องทางเพื่อให้ลูกหนี้สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการดังกล่าวได้ เช่น บนอุปกรณ์เคลื่อนที่ (mobile application) เว็บไซต์ ศูนย์บริการข้อมูลลูกค้า (call center) และการส่งข้อความทาง SMS ได้ โดยลูกหนี้สามารถสมัครขอรับความช่วยเหลือด้วยตนเอง หรือนายจ้างหรือเจ้าของกิจการสมัครขอรับความช่วยเหลือแทนลูกหนี้ได้ โดยสามารถสมัครรับความช่วยเหลือได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564
2.2) ให้ผู้ให้บริการทางการเงินเร่งให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ทุกประเภท (ลูกหนี้รายย่อย ลูกหนี้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) และลูกหนี้ธุรกิจขนาดใหญ่) ตามความเหมาะสมกับประเภทสินเชื่อและคำนึงถึงความเสี่ยงของลูกหนี้ จำแนกตามลักษณะธุรกิจและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งมีแนวทางต่าง ๆ ได้แก่ (1) ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เช่น ลดค่างวด ขยายระยะเวลาชำระหนี้ต่ออายุวงเงินหรือคงวงเงิน เปลี่ยนประเภทหนี้จากสินเชื่อระยะสั้นเป็นสินเชื่อระยะยาว ปลอดชำระเงินต้นและ/หรือดอกเบี้ยชั่วคราว ลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าอัตราตลาด เป็นต้น (2) ให้เงินทุนหมุนเวียนและเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติม (3) พิจารณาชะลอการชำระหนี้สำหรับลูกหนี้ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท ภายใต้พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 และ (4) ผ่อนปรนเงื่อนไขอื่นตามความเหมาะสม
3) โครงการมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล
ธปท. สำนักงานศาลยุติธรรม และกรมบังคับคดี ได้ร่วมกันดำเนินโครงการ
มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ระหว่างวันที่ 14 กุมภาพันธ์ - 14 เมษายน 2564 เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เป็นลูกหนี้รายย่อยที่รายได้ลดลงจากการระบาดของ COVID - 19 แต่ยังคงมีภาระหนี้ที่ต้องจ่ายเท่าเดิม และป้องกันไม่ให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้และทำให้เกิด NPLsในวงกว้าง โดยแนวทางการไกล่เกลี่ยหนี้ภายใต้โครงการครอบคลุมลูกหนี้ทุกสถานะ ดังนี้
3.1 ลูกหนี้สถานะยังเป็นหนี้ดีแต่เริ่มขาดสภาพคล่องสามารถขอเปลี่ยนหนี้บัตรเครดิตที่มีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 16 ต่อปี เป็นหนี้ที่มีระยะเวลาผ่อนนานถึง 4 ปี โดยดอกเบี้ยต่ำลงที่ร้อยละ 12 ต่อปี และมีค่างวดที่แน่นอนได้ ซึ่งเป็นผลดีต่อลูกหนี้กว่าการจ่ายผ่อนขั้นต่ำตามหลักเกณฑ์ของหนี้บัตรเครดิต
3.2) ลูกหนี้ที่มีสถานะเป็น NPLs ทั้งที่ยังไม่ถูกฟ้องหรือถูกฟ้องแล้ว สามารถใช้ช่องทางของงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ครั้งนี้สมัครเข้าคลินิกแก้หนี้ได้ โดยสามารถจ่ายเฉพาะส่วนเงินต้นภายในระยะเวลา 10 ปี และเจ้าหนี้จะยกดอกเบี้ยคงค้างให้ลูกหนี้เมื่อลูกหนี้ชำระเงินต้นหมด
3.3) ลูกหนี้ที่มีสถานะเป็น NPLs ที่มีคำพิพากษาบังคับคดีแล้ว สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งแตกต่างจากการไกล่เกลี่ยหนี้ทั่วไปที่เจ้าหนี้จะไม่เจรจากับลูกหนี้เมื่อมีคำพิพากษาและถูกบังคับคดีแล้ว แต่ภายใต้โครงการหนี้ ลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวสามารถเข้าคลินิกแก้หนี้ได้ โดยสามารถจ่ายเฉพาะส่วนเงินต้นภายในระยะเวลา 5 ปี และเจ้าหนี้จะยกดอกเบี้ยคงค้างให้ลูกหนี้เมื่อลูกหนี้ชำระเงินต้นหมด
โครงการมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ได้รับผลตอบรับที่ดีจากประชาชน โดยมีประชาชนมากกว่า 200,000 รายให้ความสนใจและได้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการประมาณ 500,000 บัญชี ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันขยายระยะเวลาโครงการไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 เพื่อให้ลูกหนี้มีโอกาสเข้ามาไกล่เกลี่ยหนี้ได้มากและกว้างขวางยิ่งขึ้น เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนสูงจากการระบาดของ COVID ? 19 ระลอกใหม่อาจส่งผลกระทบต่อรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ โดยประชาชนที่สนใจสามารถลงทะเบียนผ่านช่องทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ของ ธปท. สำนักงานศาลยุติธรรม และกรมบังคับคดี
4) การปรับวิธีคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ของ ธปท.
ธปท. ได้ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์เรื่องการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยลดภาระหนี้ สร้างความเป็นธรรมในการให้บริการทางการเงินแก่ประชาชน และลดการเกิดหนี้ด้อยคุณภาพในระบบการเงิน ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแนวปฏิบัติที่สำคัญในระบบการเงินของไทยใน 3 เรื่อง ได้แก่
4.1) การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนฐานของเงินต้นที่ผิดนัดจริงเท่านั้น ไม่ให้รวมส่วนของเงินต้นของค่างวดในอนาคตที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ ต่างจากแนวปฏิบัติเดิมที่หากผิดนัดชำระหนี้เพียงงวดเดียว ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จากฐานเงินต้นคงค้างทั้งหมด ส่งผลให้มูลค่าดอกเบี้ยผิดนัดสูงมาก ซึ่งเกณฑ์ใหม่นี้จะทำให้การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง และเกิดความเป็นธรรมกับประชาชนมากขึ้น
4.2) การกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่อัตราดอกเบี้ยตามสัญญาบวกไม่เกินร้อยละ 3 เช่น ถ้าอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาเท่ากับร้อยละ 8 ผู้ให้บริการทางการเงินจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ได้ไม่เกินร้อยละ 11 โดยต้องคำนึงถึงประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมาด้วย ซึ่งต่างจากเดิมที่ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ได้เอง
4.3) การกำหนดลำดับการตัดชำระหนี้โดยให้ตัดค่างวดที่ค้างชำระนานที่สุดเป็นลำดับแรกเพื่อให้ลูกหนี้ทราบลำดับการตัดชำระหนี้ที่ชัดเจน โดยเมื่อลูกหนี้ชำระหนี้ เงินที่จ่ายเข้ามาจะถูกนำไปจ่ายค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย และเงินต้นของงวดหนี้ที่ค้างชำระนานที่สุดก่อน ต่างจากแนวทางเดิมที่เงินที่จ่ายเข้ามาจะถูกนำไปตัดค่าธรรมเนียมทั้งหมด ตามด้วยดอกเบี้ยทั้งหมด ก่อนนำเงินส่วนที่เหลือมาตัดเงินต้น ซึ่งการปรับเกณฑ์ใหม่นี้จะช่วยเพิ่มโอกาสให้เงินงวดที่ลูกหนี้ผ่อนในแต่ละเดือนสามารถตัดถึงเงินต้นได้มากขึ้น
5) พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์พ.ศ. 2564 (แก้ไขเพิ่มเติมอัตราดอกเบี้ยในกฎหมาย)
พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 มีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงกฎหมาย 3 ประเด็น ได้แก่ (1) อัตราดอกเบี้ยที่มิได้กำหนดโดยนิติกรรม หรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง (2) อัตราดอกเบี้ยผิดนัด และ (3) กำหนดฐานการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ในหนี้ที่เจ้าหนี้กำหนดให้ลูกหนี้ผ่อนชำระเป็นงวด สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
5.1) ปรับอัตราดอกเบี้ยที่มิได้กำหนดโดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้งจากอัตราเดิมที่เป็นอัตราคงที่ร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราใหม่ที่สามารถปรับเปลี่ยนให้มีความสอดคล้องกับสภาพการณ์และสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้เหลือร้อยละ 3 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอนจากการระบาดของ COVID - 19 นอกจากนี้กำหนดให้สามารถปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวให้สอดคล้องกับสภาพการณ์และสภาพเศรษฐกิจของประเทศได้ในอนาคต โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
5.2) ปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยผิดนัด จากอัตราเดิมที่เป็นอัตราคงที่ร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราใหม่ที่สามารถปรับเปลี่ยนให้มีความสอดคล้องกับสภาพการณ์และสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยกำหนดให้เป็นอัตราที่เชื่อมโยงกับอัตราดอกเบี้ยที่มิได้ กำหนดโดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้งและบวกอัตราเพิ่มอีกร้อยละ 2 ต่อปี เพื่อจูงใจให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตรงเวลา และอัตราดอกเบี้ยผิดนัดที่กำหนดใหม่จะเท่ากับร้อยละ 5 ต่อปี อันเป็นอัตราที่เหมาะสมสำหรับการใช้บังคับในช่วงเวลานี้ ทั้งนี้ ยังคงหลักการเดิมของกฎหมายไว้ อันได้แก่ การกำหนดให้เจ้าหนี้อาจเรียกดอกเบี้ยผิดนัดสูงขึ้นได้หากมีเหตุอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย การห้ามคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด และการให้เจ้าหนี้สามารถพิสูจน์ค่าเสียหายอย่างอื่นได้นั้น
5.3) เพิ่มหลักการให้มีการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ในกรณีที่ลูกหนี้ผ่อนชำระหนี้เป็นงวดให้มีความชัดเจนและเป็นธรรมต่อลูกหนี้ยิ่งขึ้น โดยกำหนดให้เมื่อลูกหนี้ ผิดนัดไม่ชำระหนี้ในงวดใดเจ้าหนี้อาจคำนวณจำนวนดอกเบี้ยผิดนัดได้เฉพาะจากต้นเงินของงวดที่ลูกหนี้ผิดนัดแล้วเท่านั้น ไม่อาจคำนวณจำนวนดอกเบี้ยผิดนัดจากต้นเงินที่ยังคงค้างชำระทั้งหมด ซึ่งสอดคล้องกับหลักการการคิดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดของ ธปท. และกำหนดให้สัญญาที่เจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยได้จากต้นเงินที่ยังคงค้างชำระทั้งหมดเป็นโมฆะ
3.3 มาตรการอื่น ๆ
1) การช่วยเหลือลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)
คณะกรรมการ กยศ. เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID - 19 ดังนี้
1.1) ขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืมสู้ภัยโควิด ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 โดยมีรายละเอียดของมาตรการ ดังนี้ (1) ลดเบี้ยปรับร้อยละ 100 สำหรับการชำระหนี้ปิดบัญชี (2) ลดเบี้ยปรับร้อยละ 80 สำหรับผู้กู้ยืมที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีและชำระหนี้ค้างทั้งหมดให้มีสถานะปกติ (3) ลดเงินต้นร้อยละ 5 สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืน กยศ. ซึ่งไม่ได้เป็นหรือเคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้และชำระหนี้ปิดบัญชีในคราวเดียว และ (4) ลตอัตราการคิดเบี้ยปรับเหลือร้อยละ 0.5 ต่อปี สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีและไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด
1.2) ชะลอการฟ้องร้องดำเนินคดี สำหรับผู้กู้ยืมที่ผิดนัดชำระหนี้ประจำปี 2563 และปี 2564 ยกเว้นคดีที่จะขาดอายุความในปี 2564
1.3) งดการขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้กู้ยืมและ/หรือผู้ค้ำประกันที่ กยศ. ได้ขอให้กรมบังคับคดียึดทรัพย์ไว้จนถึงสิ้นปี 2564 โดย กยศ. จะต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้กู้ยืมและ/หรือผู้ค้ำประกันที่ถูกยึดทรัพย์ รวมทั้งผู้มีส่วนได้เสีย เช่น ผู้ถือกรรมสิทธิร่วม ผู้รับจำนองที่ยึดไว้ (ถ้ามี) เป็นต้น
1.4) ลดอัตราดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 0.01 ต่อปี สำหรับผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืน กยศ. และไม่ได้เป็นหรือเคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564
1.5) ยกเลิกการกำหนดให้มีผู้ค้ำประกันการชำระเงินคืน กยศ. สำหรับผู้กู้ยืมที่ได้รับอนุมัติให้กู้ยืมเงินและทำสัญญากู้ยืมเงินใหม่ตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 เป็นต้นไป เพื่อช่วยเหลือแบ่งเบาภาระของผู้กู้ยืมเงินที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของ COVID - 19
2) การชดเชยให้แก่ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 กรณีได้รับผลกระทบจากการประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
กระทรวงแรงงานได้ออกกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563 และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2563 โดยมีสาระสำคัญ คือ ในกรณีมีเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานไม่ได้ทำงานหรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากต้องกักตัวหรือเฝ้าระวังการระบาดของโรคหรือในกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานเนื่องจากนายจ้างต้องหยุดประกอบกิจการไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนเนื่องจากทางราชการมีคำสั่งให้ปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวเพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ และลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น ให้ลูกจ้างดังกล่าวมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่มีการกักตัวหรือเฝ้าระวังการระบาดของโรค หรือมีคำสั่งปิดสถานที่ดังกล่าว แล้วแต่กรณี แต่รวมกันไม่เกิน 90 วัน ทั้งนี้ กฎกระทรวงดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 พฤษภาคม 2564