1.1 ระยะเวลาการดำเนินโครงการฯ 6 ปี โดยสำหรับโครงการฯ ระยะที่ 2 ให้สิ้นสุดโครงการฯ ในวันที่ 31 ธันวาคม 2564
1.2 จำนวนสินค้าที่ให้สิทธิพิเศษภายใต้โครงการฯ ระยะที่ 2 รวมทั้งสิ้น 7,187 รายการ หรือคิดเป็นร้อยละ 66.47 ของรายการสินค้าทั้งหมดในระบบ HS 2017 (ระบบพิกัดศุลกากรสากลซึ่งกำหนดโดยองค์การศุลกากรโลกและมีการปรับพิกัดศุลกากรสากลทุก 5 ปี) 2. เห็นชอบการปรับชื่อ องค์ประกอบ และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันผลกระทบอันเนื่องจากการให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด โดยการยกเลิกภาษีนำเข้าและโควตา (คณะกรรมการฯ) ปรับชื่อเป็น "คณะกรรมการว่าด้วยการให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด โดยการยกเลิกภาษีนำเข้าและโควตา (Duty Free Quota Free Scheme: DFQF)" 3. มอบหมายให้กระทรวงการคลัง ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ การดำเนินการเพื่อยกเว้นอากรสำหรับสินค้าภายใต้โครงการฯ ระยะที่ 2
สาระสำคัญ
กระทรวงพาณิชย์ ได้ขอให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติการต่ออายุโครงการการให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด โดยการยกเลิกภาษีนำเข้าและโควตา (Duty Free Quota Free Scheme : DFQF) ของไทย (โครงการฯ) ระยะที่ 2 เนื่องจากโครงการระยะที่ 1 สิ้นสุดลงแล้วเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากโครงการฯ ระยะที่ 1 ที่เคยเสนอคณะรัฐมนตรี ดังนี้
โครงการฯ ระยะที่ 1
[มติคณะรัฐมนตรี (19 พฤศจิกายน 2564)]
- ระยะเวลาโครงการฯ 6 ปี โดยเริ่มโครงการฯ ในวันที่ 1 มกราคม 2558 ? 31 ธันวาคม 2563 [มีผลตั้งแต่ในวันที่ 9 เมษายน 2558 เนื่องจากเป็นวันที่ประกาศกระทรวงการคลังมีผลบังคับใช้]
- จำนวนสินค้าที่ให้สิทธิพิเศษ ภายใต้โครงการฯ รวมทั้งสิ้น 6,998 รายการ คิดเป็นร้อยละ 73.21 ของรายการสินค้าทั้งหมดในระบบ HS 2021 (9,558 รายการ) และต่อมาเป็นปรับเป็น 7,496 รายการ คิดเป็นร้อยละ 69.32 ของรายการสินค้าทั้งหมดในระบบ HS 2017 (10,813 รายการ)
เสนอครั้งนี้ (โครงการฯ ระยะที่ 2)
- ระยะเวลาโครงการฯ 6 ปี โดยสิ้นสุดโครงการฯ ในวันที่ 31 ธันวาคม 2569 (จะเริ่มมีผลใช้บังคับเมื่อมีการจัดทำและใช้บังคับประกาศกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการยกเว้นอากร)
- จำนวนสินค้าที่ให้สิทธิพิเศษ ภายใต้โครงการฯ ระยะที่ 2 รวมทั้งสิ้น 7,187 รายการ หรือคิดเป็นร้อยละ 66.47 ของรายการสินค้าทั้งหมดในระบบ HS 2017 (10,813 รายการ) ซึ่งถือว่ามีรายการลดลงจากเดิมเล็กน้อย
และเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามโครงการฯ ระยะที่ 2 กระทรวงพาณิชย์จึงได้ขอให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงการคลังดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการยกเว้นอากรด้วย โดยภายหลังจากคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในเรื่องนี้ กระทรวงการคลังจึงจะดำเนินการยกร่างประกาศยกเว้นอากรเพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในโอกาสต่อไป (ซึ่งเป็นไปในลักษณะเดียวกันกับการดำเนินโครงการฯ ระยะที่ 1)
ทั้งนี้ จากผลการดำเนินงานภายใต้โครงการฯ ในปี 2562 และปี 2563 พบว่ามูลค่าและสัดส่วนการนำเข้าภายใต้โครงการฯ คิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับการนำเข้าจากประเทศพัฒนาน้อยที่สุดทั้งหมดและการนำเข้าจากทั่วโลกทั้งหมด อย่างไรก็ตาม การดำเนินโครงการฯ เป็นการดำเนินการตามพันธกรณีของประเทศไทยในฐานะสมาซิกองค์การการค้าโลก ซึ่งการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุดจะแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศไทยกับประเทศต่าง ๆ และเป็นภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ
ในส่วนการปรับชื่อ องค์ประกอบ และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันผลกระทบอันเนื่องจากการให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด โดยการยกเลิกภาษีนำเข้าและโควตา (คณะกรรมการฯ) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การดำเนินการของคณะกรรมการฯ ครอบคลุมภารกิจการจัดทำ ทบทวน และถอดถอนรายการสินค้าที่ให้สิทธิภายใต้โครงการฯ โดยหน้าที่สำคัญประการหนึ่งหลังจากนี้ คือ คณะกรรมการฯ จะทำหน้าที่พิจารณาเพิ่มหรือลดรายการสินค้าภายใต้โครงการฯ ระยะที่ 2 เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับระบบพิกัดศุลกากรสากลขององค์การศุลกากรโลกจาก HS 2017 เป็น HS 2022 ที่จะเกิดขึ้นในปี 2564 ด้วย
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 พฤษภาคม 2564