http://www.thaigov.go.th
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
วันนี้ (29 มิถุนายน 2564) เวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีผ่านระบบ Video Conference ณ ห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้ กฎหมาย 1. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ?. (มาตรการภาษีสำหรับการบริจาคให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาค ทางการศึกษา) 2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการจัดเก็บข้อมูลของสัตว์ที่เข้าสู่โรงฆ่าสัตว์และเนื้อสัตว์ที่ออกจาก โรงฆ่าสัตว์ พ.ศ. ?. และร่างกฎกระทรวงกำหนดชนิดของสัตว์ที่ต้องอยู่ในการกำกับดูแล การประกอบกิจการฆ่าสัตว์ พ.ศ. ?. รวม 2 ฉบับ 3. เรื่อง ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพ แห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ?. 4. เรื่อง การดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การ จัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 5. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... 6. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการรายงาน กำหนดระยะเวลาการเสนอรายงาน และการให้คำ รับรองรายงาน ผลการปฏิบัติการตามกฎหมาย พ.ศ. .... 7. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคเพื่อแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019) 8. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงาน พ.ศ. .... 9. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและใบแทนใบอนุญาตเกี่ยวกับ ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับ ผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรอง พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ 10. เรื่อง ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การออกหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วย การประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. .... และร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การยกเว้นข้อ ห้ามมิให้คนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติ กัมพูชา ลาว และเมียนมา สามารถยื่นคำขอรับหนังสือคนประจำเรือเพื่ออยู่ใน ราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและทำงานกับนายจ้างในกิจการประมงทะเล ภายใต้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ วันที่ ................... รวม 2 ฉบับ 11. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การขยายเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในจังหวัดชายแดน ภาคใต้) 12. เรื่อง การแต่งตั้งอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน อ.ก.พ. สามัญ ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบ ข้าราชการพลเรือน เศรษฐกิจ สังคม 13. เรื่อง รายงานผลการจัดสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาไทยตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ ประจำปี 2564 14. เรื่อง ภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2564 15. เรื่อง ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 16. เรื่อง ความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนพฤษภาคม 2564 17. เรื่อง ขอความเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านนโยบายภาษาแห่งชาติ (พ.ศ. 2564 - 2565) 18. เรื่อง ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การบริหารจัดการงบประมาณโครงการ เงินอุดหนุนสำหรับสนับสนุนอาหารกลางวันนักเรียนระดับปฐมวัยและระดับประถมศึกษา ในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ของคณะกรรมาธิการติดตามการบริหารงบประมาณ วุฒิสภา 19. เรื่อง รายงานผลการปฏิบัติงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการ โทรคมนาคมแห่งชาติ ประจำปี 2563 20. เรื่อง รายงานผลการขับเคลื่อนแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2559-2564) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 21. เรื่อง การเพิ่มเติมหลักการของร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ หรือกำไรมาแบ่งปันกัน 22. เรื่อง แผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. 2564 ? 2565 23. เรื่อง การนำแนวทางการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ตามโครงการความร่วมมือ ป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ สำหรับหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการจัดซื้อจัด จ้างหรือการร่วมลงทุนภายใต้กฎหมายอื่น นอกเหนือจากพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ไปกำหนดใช้โดยอนุโลม 24. เรื่อง สรุปสถานการณ์สาธารณภัย และการช่วยเหลือ 25. เรื่อง รายงานผลการดำเนินงานของสถาบันการเงินเฉพาะกิจตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 26. เรื่อง การทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่ 27. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉิน โรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) (ฉบับที่ 4) 28. เรื่อง มาตรการบรรเทาผลกระทบต่อกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการ อันเนื่องมาจากข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 25) ต่างประเทศ 29. เรื่อง ความก้าวหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับโครงการพัฒนาแห่ง สหประชาชาติ (UNDP) ในการดำเนินงานศูนย์นวัตกรรมระดับภูมิภาค (Regional Innovation Center: RIC) 30. เรื่อง ผลการประชุมระดับรัฐมนตรีบิมสเทค ครั้งที่ 17 31. เรื่อง ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อ เศรษฐกิจและสังคมแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศแห่ง สาธารณรัฐสิงคโปร์ 32. เรื่อง บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งคณะทำงานร่วมด้านความร่วมมือทางการค้าและ เศรษฐกิจระหว่างกระทรวงดิจิทัลและเศรษฐกิจของสาธารณรัฐออสเตรียกับกระทรวง พาณิชย์ของราชอาณาจักรไทย 33. เรื่อง ขอความเห็นชอบการสมัครเป็นสมาชิกสมาคมกีฬามวลชนนานาชาติ (The Association For International Sport for All: TAFISA) 34. เรื่อง ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมระดับรัฐมนตรี Water Dialogues for Results Bonn 2021: Accelerating Cross ? Sectoral SDG 6 Implementation แต่งตั้ง 35. เรื่อง การแต่งตั้งโฆษกและรองโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 36. เรื่อง การแต่งตั้งโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ 37. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการคลัง) 38. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันเทคโนโลยี ป้องกันประเทศ 39. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพิจารณาชดเชยค่าภาษีอากรสินค้า ส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักร 40. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันวิจัยและ พัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ 41. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยแทนตำแหน่งที่ว่างลง 42. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้แทนฝ่ายรัฐบาลในคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 21 แทนตำแหน่ง ที่ว่างลง
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396 กฎหมาย 1. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ?. (มาตรการภาษีสำหรับการบริจาคให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ?. ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ กค. รับความเห็นของสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา 1. กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ดังนี้ 1.1 บุคคลธรรมดา ให้หักลดหย่อนได้เป็นจำนวน 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนอื่น ๆ 1.2 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้หักเป็นรายจ่ายได้เป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายที่บริจาค ไม่ว่าจะได้จ่ายเป็นเงินหรือทรัพย์สิน แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบ ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิก่อน หักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬา ตามมาตรา 65 ตรี (3) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ สำหรับการบริจาคที่กระทำผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e ? Donation) ให้แก่ กสศ. ตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 2. กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับ เงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน หรือการขายสินค้า หรือสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการบริจาคให้แก่ กสศ. ทั้งนี้ สำหรับการบริจาคที่กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ทั้งนี้ กค. เสนอว่า 1. กค. ได้ประมวลผลข้อมูลการรับบริจาคให้แก่ กสศ. ตามพระราชกฤษฎีกาออกตาม ความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 682) พ.ศ. 2562 พบว่ามีการบริจาคดังนี้ สถิติการบริจาคให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ปี พ.ศ. ผู้บริจาค บุคคลธรรมดา นิติบุคคล รวม จำนวนราย จำนวนเงิน (ล้านบาท) จำนวนราย จำนวนเงิน (ล้านบาท) จำนวนราย จำนวนเงิน (ล้านบาท) 2562 763 3.80 152 1.12 915 4.92 2563 2,872 11.89 202 13.94 3,074 25.83 2. กสศ. ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2561 เป็นหน่วยงานของรัฐและมีฐานะเป็นนิติบุคคลที่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิที่จะรับและเข้าถึงการศึกษาและพัฒนาอย่างทั่วถึง รวมทั้งให้ความช่วยเหลือแก่เด็กและเยาวชนซึ่งขาดแคลนทุนทรัพย์ จนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน และศึกษาวิจัย และพัฒนาองค์ความรู้เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยได้เริ่มระดมทุนในปี พ.ศ. 2562 และจากข้อมูลสถิติข้างต้น พบว่า จำนวนผู้บริจาคและจำนวนเงินการรับบริจาคในส่วนของผู้บริจาคที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยจำนวนผู้บริจาคและจำนวนเงินบริจาคปี 2563 ปรับเพิ่มขึ้นจากปี 2562 เท่ากับ 2,159 ราย (ผู้บริจาคที่เป็นบุคคลธรรมดา 2,109 ราย และนิติบุคคล 50 ราย) ทั้งนี้ ผู้บริจาคส่วนใหญ่เป็นบุคคลธรรมดา และเมื่อพิจารณาจำนวนเงินที่บริจาคแล้ว ผู้บริจาคที่เป็นนิติบุคคล มีจำนวนเงินบริจาคที่สูงกว่าผู้บริจาคที่เป็นบุคคลธรรมดา 3. ในปี พ.ศ. 2562 ? 2563 กสศ. ได้นำเงินบริจาคที่ได้รับไปใช้ในการช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษระดับชั้นอนุบาล และนักเรียนยากจนพิเศษระดับชั้น ป.1 - ป.3 ที่มีภาวะทุพโภชนาการ เด็กและเยาวชน นอกระบบการศึกษาให้มีการพัฒนาทักษะอาชีพและสมทบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนยากจนพิเศษที่เรียนดีและ มีความพิการทางร่างกาย โดยมีจำนวนนักเรียนยากจนพิเศษที่ได้รับการช่วยเหลือรวมทั้งหมด 44,743 คน 4. กค. พิจารณาแล้วเห็นว่า เนื่องจากการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่ กสศ. ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 682) พ.ศ. 2562 ได้สิ้นสุดไปแล้ว เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563 แต่โดยที่ยังมีความจำเป็นต้องมีมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคให้แก่ กสศ. ต่อไป ดังนั้น เพื่อเป็นการจูงใจให้มี การบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่ กสศ. อย่างต่อเนื่อง และ กสศ. จะได้นำไปใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้ได้รับการสนับสนุนทางการศึกษาอันจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประชาชน จึงสมควรขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีดังกล่าวออกไปอีก 3 ปี จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ทั้งนี้ สำหรับการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e ? Donation) ที่กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 รวมทั้งกำหนดเพิ่มเติมให้มีการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สินหรือการขายสินค้า หรือสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการบริจาคให้แก่กองทุนดังกล่าว 5. กสศ. ได้ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2563 และที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่ กสศ. ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 682) พ.ศ. 2562 ต่อไปอีก 6. กค. ได้ดำเนินการตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว ดังนี้ 6.1 ประมาณการการสูญเสียรายได้ การกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการบริจาคให้แก่ กสศ. มีผลทำให้จัดเก็บภาษีลดลงตลอดระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีประมาณ 24 ล้านบาท อย่างไรก็ดี มาตรการนี้จะมีส่วนช่วยลดภาระการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลในด้านการศึกษาได้อีกทางหนึ่ง 6.2 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ดังนี้ 1) ในด้านการศึกษา การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีข้างต้นจะส่งเสริมให้เกิดการบริจาคเพื่อการศึกษา โดย กสศ. จะสามารถนำเงินบริจาคไปสนับสนุนโรงเรียนที่ยังไม่มีหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนใดจัดสรรงบประมาณหรือเงินทุนให้ ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้เด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนได้รับการสนับสนุนทางการศึกษาจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2) ในด้านเศรษฐกิจ การได้รับเงินบริจาคจาก กสศ. จะช่วยส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนได้รับการสนับสนุนทางการศึกษาจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะเพิ่มโอกาสในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ซึ่งเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศให้มีคุณภาพ ส่งผลในการสร้างรายได้ให้ประเทศและการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว และ 3) ในด้านสังคม จะสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือทางสังคมในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางการศึกษา และขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา นำไปสู่การพัฒนาบุคลากรเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน 2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการจัดเก็บข้อมูลของสัตว์ที่เข้าสู่โรงฆ่าสัตว์และเนื้อสัตว์ที่ออกจากโรงฆ่าสัตว์ พ.ศ. ?. และร่างกฎกระทรวงกำหนดชนิดของสัตว์ที่ต้องอยู่ในการกำกับดูแลการประกอบกิจการฆ่าสัตว์ พ.ศ. ?. รวม 2 ฉบับ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการจัดเก็บข้อมูลของสัตว์ที่เข้าสู่โรงฆ่าสัตว์และเนื้อสัตว์ที่ออกจากโรงฆ่าสัตว์ พ.ศ. ?. และร่างกฎกระทรวงกำหนดชนิดของสัตว์ที่ต้องอยู่ในการกำกับดูแลการประกอบกิจการฆ่าสัตว์ พ.ศ. ?. รวม 2 ฉบับ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวง รวม 2 ฉบับ ที่ กษ. เสนอ เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์การจัดเก็บข้อมูลของสัตว์ที่เข้าสู่โรงฆ่าสัตว์และเนื้อสัตว์ที่ออกจากโรงฆ่าสัตว์ เพื่อประโยชน์ในการตรวสอบย้อนกลับข้อมูลของเนื้อสัตว์ตลอดกระบวนการผลิตและการเรียกคืนเนื้อสัตว์ และกำหนดชนิดของสัตว์ ได้แก่ ไก่งวงและนกกระทาให้เป็นสัตว์ที่ต้องอยู่ในการกำกับดูแลมาตรการประกอบกิจการฆ่าสัตว์ ตามพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 ทั้งนี้ เพื่อให้มีมาตรการตรวจสอบควบคุมหรือป้องกันมิให้มีโรคระบาดที่เกิดกับสัตว์ติดต่อมาสู่คน รวมถึงตรวจสอบสารตกค้างในเนื้อสัตว์ดังกล่าว เพื่อให้ผู้บริโภคได้บริโภคเนื้อสัตว์ที่ถูกสุขอนามัย สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง ชื่อร่างกฎกระทรวง สาระสำคัญ 1. ร่างกฎกระทรวงการจัดเก็บข้อมูลของสัตว์ที่เข้าสู่โรงฆ่าสัตว์และเนื้อสัตว์ที่ออกจากโรงฆ่าสัตว์ พ.ศ. ?. - กำหนดหลักเกณฑ์ให้พนักงานท้องถิ่น พนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานตรวจโรคสัตว์ ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการฆ่าสัตว์ และผู้แจ้งการฆ่าสัตว์ จัดเก็บข้อมูลของสัตว์ที่เข้าสู่โรงฆ่าสัตว์ และเนื้อสัตว์ที่ออกจากโรงฆ่าสัตว์ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบย้อนกลับและเรียกคืนเนื้อสัตว์ 2. ร่างกฎกระทรวงกำหนดชนิดของสัตว์ที่ต้องอยู่ในการกำกับดูแลการประกอบกิจการฆ่าสัตว์ พ.ศ. ?. - กำหนดให้ ?ไก่งวงและนกกระทา? เป็นสัตว์ตามพระราชบัญญัติควบคุม การฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 เพื่อให้การประกอบกิจการ ฆ่าไก่งวงและนกกระทาเพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ เป็นกิจการที่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติดังกล่าว 3. เรื่อง ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ?. คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ?. ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ ทั้งนี้ รง. เสนอว่า 1. ได้มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ พ.ศ. 2552 ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้มีคณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) โดยมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นรองประธานกรรมการ และกรรมการโดยตำแหน่ง 22 คน ให้มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบาย แนวทาง มาตรการ และการประสานงานเกี่ยวกับการพัฒนาแรงงานและการฝึกอาชีพของผู้อยู่ในกำลังแรงงาน ให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตลอดจนประสานแผนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ระหว่างระบบการศึกษากับระบบการพัฒนากำลังแรงงานให้สอดคล้องตามนโยบายแห่งรัฐ 2. ต่อมาในคราวประชุม กพร.ปช. ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2563 ที่ประชุมได้ มีมติเห็นชอบการปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของ กพร.ปช. ให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบัน รง. จึงได้ยกร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ?. เพื่อปรับปรุงองค์ประกอบของ กพร.ปช. โดยกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นรองประธานกรรมการคนที่หนึ่ง และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานเป็นรองประธานกรรมการคนที่สอง และเพิ่มกรรมการโดยตำแหน่ง จำนวน 6 คน และแก้ไขปรับปรุงกรรมการโดยตำแหน่ง จำนวน 2 คน รวมทั้งการปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของ กพร.ปช. ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ และ สภาพเศรษฐกิจและสังคม 3. ในคราวประชุม กพร.ปช. ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2564 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้เสนอร่างระเบียบตามข้อ 2. เพื่อดำเนินการต่อไป สาระสำคัญของร่างระเบียบ 1. ปรับปรุงองค์ประกอบของ กพร.ปช. ดังต่อไปนี้ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัฒนาแรงงานและการประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. 2552 ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัฒนาแรงงานและการประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ?. 1.1 ข้อ 4 บัญญัติให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า ?คณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ? เรียกโดยย่อว่า ?กพร.ปช.? ประกอบด้วย (1) นายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ (2) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นรองประธานกรรมการ ข้อ 3 ให้ยกเลิกความใน (2) และ (3) ของข้อ 4 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาแรงงานและการประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ พ.ศ. 2552 และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน (2) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นรองประธานกรรมการคนที่หนึ่ง และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานเป็นรองประธานกรรมการคนที่สอง 1.2 ข้อ 4 (3) บัญญัติให้กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ อธิบดีกรมการจัดหางาน อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริม การลงทุน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปลัดกรุงเทพมหานคร นายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (3) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ อธิบดีกรมการจัดหางาน อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและ ขนาดย่อม เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย ประธานสมาพันธ์ SME ไทย และประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย 2. ปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของ กพร.ปช. ดังต่อไปนี้ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัฒนาแรงงานและการประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. 2552 ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัฒนาแรงงานและการประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ?. 2.1 ข้อ 8 คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (1) กำหนดนโยบายและแนวทางในการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพของผู้อยู่ในกำลังแรงงานให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2) ประสานแผนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างระบบการศึกษากับระบบการพัฒนากำลังแรงงานให้มีความสัมพันธ์สอดคล้องตามนโยบายแห่งรัฐและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (1) กำหนดนโยบายและแนวทางในการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพของผู้อยู่ในกำลังแรงงานให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ นโยบายของรัฐบาลและสภาพเศรษฐกิจและสังคม (2) ประสานแผนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างระบบการศึกษากับระบบการพัฒนากำลังแรงงานให้สอดคล้องกับนโยบายและแนวทางที่คณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติกำหนด 4. เรื่อง การดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำ ร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอรายงานผลการดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินการเกี่ยวกับการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย และการดำเนินการเกี่ยวกับการเข้าถึงบทบัญญัติของกฎหมาย สคก. เสนอว่า โดยที่พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ได้กำหนดภารกิจและหลักเกณฑ์สำหรับหน่วยงานของรัฐให้ต้องปฏิบัติตาม ดังนี้ (1) หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมาย ได้แก่ การตรวจสอบความจำเป็นในการตรากฎหมาย การรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง การวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย และการตรวจสอบเนื้อหาของร่างกฎหมาย (2) การประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย และ (3) การเข้าถึงบทบัญญัติของกฎหมาย สคก. ในฐานะหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีให้รับผิดชอบการขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำ ร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 จึงขอรายงานผลการดำเนินการในการขับเคลื่อนการดำเนินการตามพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้ 1. การดำเนินการเกี่ยวกับการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย หน่วยงานของรัฐได้ประกาศรายชื่อกฎหมายและระยะเวลาดำเนินการประเมินผลสัมฤทธิ์ครบถ้วนแล้ว 2. การดำเนินการเกี่ยวกับการเข้าถึงบทบัญญัติของกฎหมาย หน่วยงานของรัฐกำลังจัดทำและเผยแพร่ข้อมูลกฎหมายและหลักเกณฑ์ คำอธิบายสรุปสาระสำคัญของกฎหมายและคำแปลกฎหมายใน ความรับผิดชอบผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการครบถ้วนแล้ว สคก. จะได้รายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป 5. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ ทั้งนี้ ร่างพระราชกฤษฎีกาที่ อว. เสนอ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา พ.ศ. 2552 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 เพื่อเป็นการกำหนดปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา และกำหนดสีประจำสาขาวิชาของสาขาวิชาดุริยางคศาสตร์ และกำหนดสาขาวิชาระดับปริญญาโทและระดับปริญญาเอกของสาขาวิชาการแพทย์แผนไทย เพิ่มขึ้น ซึ่งสภามหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาได้มีมติเห็นชอบด้วยแล้ว สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา กำหนดปริญญาในสาขาวิชาและอักษรย่อสำหรับสาขาวิชาและกำหนดสีประจำสาขาวิชาของสาขาวิชาดุริยางคศาสตร์ และสาขาวิชาระดับปริญญาโทและระดับปริญญาเอกของสาขาวิชาการแพทย์แผนไทย เพิ่มขึ้น 6. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการรายงาน กำหนดระยะเวลาการเสนอรายงาน และการให้คำรับรองรายงาน ผลการปฏิบัติการตามกฎหมาย พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการรายงาน กำหนดระยะเวลาการเสนอรายงาน และการให้คำรับรองรายงาน ผลการปฏิบัติการตามกฎหมาย พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ ทั้งนี้ อก. เสนอว่า 1. สืบเนื่องจากได้มีการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 โดยพระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2562 เป็นต้นมา โดยที่มาตรา 9 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว บัญญัติให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานมีหน้าที่ต้องเสนอรายงานผลการปฏิบัติการตามกฎหมายได้รับการรับรองจากผู้ตรวจสอบเอกชนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และมาตรา 9 วรรคสี่ บัญญัติให้การรายงาน กำหนดระยะเวลาการเสนอรายงาน และการให้คำรับรองรายงาน ผลการปฏิบัติการตามกฎหมายให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง 2. อก. ได้เสนอร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการรายงาน กำหนดระยะเวลาการเสนอรายงาน และการให้คำรับรองรายงาน ผลการปฏิบัติการตามกฎหมาย พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการซึ่งกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุขพิจารณาเห็นชอบในหลักการของร่างกฎกระทรวงดังกล่าว แต่อย่างไรก็ดี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 วรรคหนึ่ง และมาตรา 9 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ที่บัญญัติให้การเสนอรายงาน ระยะเวลาการเสนอรายงาน และการให้คำรับรองเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ดังนั้น การที่ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมไปออกประกาศกำหนดรายละเอียดในเรื่องดังกล่าว จึงเป็นการมอบอำนาจช่วงโดยกฎหมายมิได้ให้อำนาจไว้ ไม่สามารถกระทำได้ สมควรที่จะให้ อก. ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขดังกล่าวไว้ในกฎกระทรวงเพื่อให้ครบถ้วนก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ อก. รับร่างกฎกระทรวงดังกล่าวตามข้อ 2 ไปพิจารณาทบทวนตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาอีกครั้งหนึ่ง ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป โดย อก. ได้ปรับปรุงร่างกฎกระทรวงในข้อ 2 ตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว และได้นำร่างกฎกระทรวงที่ปรับปรุงแล้วดังกล่าวไปรับฟังความเห็นของประชาชนผ่านทางเว็บไซต์โรงงานอุตสาหกรรม ระหว่างวันที่ 16 มีนาคม 2564 ถึงวันที่ 2 เมษายน 2564 และมีหนังสือถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนให้ร่วมให้ความเห็นต่อร่างกฎกระทรวงฯ และได้นำสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎกระทรวงฯ ประกาศไว้โดยเปิดเผย ณ สถานที่ปิดประกาศของกรมโรงงานอุตสาหกรรมและเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของกรมโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง 1. กำหนดนิยาม ?ผู้ประกอบกิจการโรงงาน? และ ?รายงานผลการปฏิบัติการ? 2. กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องเสนอรายงานผลการปฏิบัติการที่มีการรับรองจากผู้ตรวจสอบเอกชนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ทุก ๆ สามปี เป็นไปตามแบบรายงานผลการปฏิบัติการที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนด 3. กำหนดให้การรับรองจากผู้ตรวจสอบเอกชนต้องเป็นการให้คำรับรองการมีอยู่ของข้อมูลทั่วไปของโรงงาน โดยผู้ตรวจสอบเอกชนจะต้องลงลายมือชื่อรับรองในแบบรายงานผลการปฏิบัติการ 4. กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องรายงานผลการปฏิบัติการดำเนินการผ่านระบบเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ของกรมโรงงานอุตสาหกรรมหรือสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด หากไม่สามารถดำเนินการได้โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้ดำเนินการโดยการส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนหรือส่งด้วยตนเอง 7. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคเพื่อแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้ ทั้งนี้ กค.เสนอว่า 1. เนื่องจากพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 701) พ.ศ. 2563 ได้สิ้นสุดการบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2564 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) จึงขอให้ กค. (กรมสรรพากร) พิจารณาขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการบริจาคเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ออกไปอีกเป็นเวลา 1 ปี 2. ทั้งนี้ ปรากฏว่าตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2563 ถึงวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2564 มีผู้บริจาคที่เป็นบุคคลธรรมดาจำนวน 53 ราย ได้บริจาคเป็นจำนวน 3.96 ล้านบาท และผู้บริจาคที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจำนวน 64 ราย ได้บริจาคเป็นจำนวน 22.07 ล้านบาท มีผู้บริจาคทั้งหมดจำนวน 117 ราย เป็นเงินรวม 26.03 ล้านบาท และ สปน. ได้นำเงินบริจาคดังกล่าวไปใช้ในการช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวนรวม 102 ราย 3. กค. พิจารณาแล้วเพื่อเป็นการจูงใจให้ประชาชนและภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับการป้องกัน ระงับ ยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แก่บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ รวมทั้งเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนผู้ได้รับผลกระทบของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยบริจาคเป็นเงินหรือทรัพย์สินในช่วงวิกฤติของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จึงเห็นควรกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคเพื่อแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งนี้ ภายใต้หลักการ และแนวทางการปรับปรุงกฎหมาย ดังนี้ 3.1 กำหนดให้บุคคลธรรมดา บริจาคเงินให้แก่ สปน. เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับการป้องกัน ระงับ ยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สามารถนำมาหักเป็นค่าลดหย่อนได้เท่าจำนวนที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคตามมาตรา 47 (7) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว 3.2 กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล บริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่ สปน. เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับการป้องกัน ระงับ ยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายได้เท่าจำนวนที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ ตามมาตรา 65 ตรี (3) (ข) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละสองของกำไรสุทธิ 3.3 การบริจาคตามข้อ 3.1 และข้อ 3.2 ต้องบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพากร ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2565 3.4 กำหนดให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการสำหรับการบริจาคสินค้าให้แก่ สปน. เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2565 จึงได้ตราร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคเพื่อแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019) 4. กค. ได้รายงานประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยคาดว่ามาตรการทางภาษีดังกล่าวจะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 5 ล้านบาทแต่มีประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ดังนี้ 4.1 เป็นการสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับการป้องกัน ระงับ ยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข หน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชน 4.2 มีส่วนช่วยรักษา ฟื้นฟู เยียวยา และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ตลอดจนผู้ได้รับผลกระทบของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 4.3 เป็นการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนและภาคเอกชนได้มีส่วนในการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และทำให้เกิดพลังสามัคคีในประเทศ 4.4 จะช่วยลดภาระการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา 1. กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ให้แก่ สปน. เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2565 ดังนี้ 1.1 สำหรับบุคคลธรรมดา ให้ยกเว้นสำหรับเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนเท่าจำนวนเงินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคแล้วต้องไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนนั้น 1.2 สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้ยกเว้นสำหรับเงินได้เท่าจำนวนเงินหรือราคาทรัพย์สินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ ต้องไม่เกิน ร้อยละสองของกำไรสุทธิ 2. กำหนดให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการเฉพาะการบริจาคสินค้าให้แก่ สปน. เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2565 8. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงาน พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงาน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วนแล้วดำเนินการต่อไปได้ ทั้งนี้ อก. เสนอว่า 1. เนื่องจากกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงาน พ.ศ. 2563 ได้สิ้นสุดการบังคับใช้แล้ว เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2564 แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ยังส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบกิจการโรงงานอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อเป็นการลดภาระและบรรเทาผลกระทบ ต่อผู้ประกอบการกิจการโรงงาน อก. จึงเห็นควรขยายระยะเวลาการยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 (โรงงานประเภท ชนิด และขนาด ที่เมื่อจะประกอบกิจการต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อน เครื่องจักรไม่เกิน 50 แรงม้าและมีจำนวนคนงานไม่เกิน 50 คน) และผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 (โรงงานประเภท ชนิด และขนาดที่การตั้งโรงงานจะต้องได้รับใบอนุญาตก่อนจึงจะดำเนินการได้ เครื่องจักรเกินกว่า 50 แรงม้า และมีจำนวนคนงานเกินกว่า 50 คน หรือเป็นโรงงานที่มีมลภาวะ) เป็นเวลาอีก 1 ปี อก. พิจารณาแล้ว จึงได้ยกร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงาน พ.ศ. .... โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 6 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมมีอำนาจออกกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมได้ ประกอบกับมาตรา 43 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 บัญญัติให้ในกรณีของค่าธรรมเนียมรายปีสำหรับโรงงานจำพวกที่ 2 ที่อยู่ในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่รัฐมนตรีแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว รัฐมนตรีจะออกกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าวไม่ได้ เว้นแต่มีเหตุอันสมควรอันเกิดจากภัยธรรมชาติ หรือภาวะทางเศรษฐกิจ รัฐมนตรีจะออกกฎกระทรวงลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีเหตุดังกล่าวได้ 2. อก. ได้จัดทำรายงานตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยรายงานว่าการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวจะก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐและประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ดังนี้ 2.1 ประมาณการการสูญเสียรายได้ซึ่งได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีที่จะต้องเรียกเก็บจากผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 และผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 เป็นเวลา 1 ปี จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 272,246,100 บาท ดังนี้ ประเภทค่าธรรมเนียมรายปี จำนวน โรงงาน รายได้การจัดเก็บค่าธรรมเนียม (บาท) หมายเหตุ 1. โรงงานจำพวกที่ 2 3,021 2,653,800 เฉพาะโรงงานที่เข้าข่ายตามพระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 สถานะแจ้งเริ่มประกอบกิจการโรงงานแล้ว ซึ่งมีเครื่องจักรมีกำลังรวมตั้งแต่ 50 แรงม้า หรือกำลังเทียบเท่าตั้งแต่ 50 แรงม้า ขึ้นไป หรือใช้คนงานตั้งแต่ 50 คน ขึ้นไป ทั้งนี้ ไม่รวมถึงโรงงานในพื้นที่การนิคมอุตสาหกรรม 2. โรงงานจำพวกที่ 3 56,010 269,592,300 รวม 59,031 272,246,100 2.2 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ เป็นการลดภาระและบรรเทาผลกระทบของผู้ประกอบกิจการโรงงาน อันเนื่องมาจากภาวะทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และเพื่อเป็นการพยุงสถานะของโรงงานให้มีการประกอบกิจการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเกิดผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีมูลค่ามากกว่ารายได้ที่รัฐจะต้องสูญเสียไป สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง เป็นการขยายระยะเวลาการยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีที่เรียกเก็บตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 และผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 ทุกขนาด เป็นเวลา 1 ปี โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2564 จนถึงวันที่ 9 มิถุนายน 2565 9. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและใบแทนใบอนุญาตเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรอง พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและใบแทนใบอนุญาตเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรอง พ.ศ. ... รวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน และให้ดำเนินการต่อไปได้ ทั้งนี้ อก. เสนอว่า 1. เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ยังคงส่งผลต่อการชะลอตัวของภาคเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการประสบกับภาวะรายได้ตกต่ำและต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และการชะลอตัวของภาคเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรม อก. พิจารณาแล้วจึงได้ดำเนินการยกร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้รวม 2 ฉบับ โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและใบแทนใบอนุญาตเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรอง และมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2565 2. อก. ได้จัดทำรายงานประมาณการการสูญเสียรายได้ของรัฐและประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยคาดว่าจะก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐและประโยชน์ที่จะได้รับ ดังนี้ 2.1 การยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและใบแทนใบอนุญาตเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากค่าธรรมเนียมประมาณ 64.8 ล้านบาท 2.2 การยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรอง จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากค่าธรรมเนียมประมาณ 20 ล้านบาท 2.3 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ เป็นการลดภาระและบรรเทาผลกระทบของผู้ประกอบการ อันเนื่องมาจากภาวะทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และเพื่อเป็นการพยุงสถานะของโรงงานให้มีการประกอบกิจการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเกิดผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีมูลค่ามากกว่ารายได้ที่รัฐจะต้องสูญเสียไป สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง 1. ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและใบแทนใบอนุญาตเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. .... เป็นการยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาต และใบแทนใบอนุญาตเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โดยให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2565 2. ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรอง พ.ศ. .... เป็นการยกเว้นค่าธรรมเนียมคำขอรับใบอนุญาต คำขอรับใบรับรองค่าธรรมเนียมค่าตรวจสอบคำขอรับใบอนุญาต ค่าตรวจสอบคำขอรับใบรับรอง ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ใบรับรอง ใบแทนใบอนุญาต ใบแทนใบรับรอง และค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตหรือใบรับรอง โดยให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2565 10. เรื่อง ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การออกหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. .... และร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การยกเว้นข้อห้ามมิให้คนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา สามารถยื่นคำขอรับหนังสือคนประจำเรือเพื่ออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและทำงานกับนายจ้างในกิจการประมงทะเล ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ................... รวม 2 ฉบับ คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและเห็นชอบดังนี้ 1. อนุมัติในหลักการ 1.1 ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การออกหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. .... 1.2 ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การยกเว้นข้อห้ามมิให้คนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา สามารถยื่นคำขอรับหนังสือคนประจำเรือเพื่ออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและทำงานกับนายจ้างในกิจการประมงทะเล ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ................. รวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและ ร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้ 2. เห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ดังนี้ 2.1 ให้กรมประมงต่ออายุหนังสือคนประจำเรือ 2.2 ให้กระทรวงสาธารณสุขตรวจสุขภาพซึ่งครอบคลุมถึงการตรวจโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และทำประกันสุขภาพของคนต่างด้าว 2.3 ให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจัดทำสัญญาจ้างและตรวจสอบสัญญาจ้างของคนต่างด้าว 2.4 ให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองตรวจลงตราและประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรแก่คนต่างด้าว และจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics) 2.5 ให้กรมการปกครองต่ออายุบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรชมพู) ทั้งนี้ ร่างประกาศรวม 2 ฉบับ ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ เป็นการต่ออายุหนังสือคนประจำเรือสำหรับคนต่างด้าวที่ได้รับหนังสือคนประจำเรือตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563 ออกไปอีก 1 ปี นับแต่หนังสือคนประจำเรือเดิมสิ้นอายุ โดยแรงงานต่างด้าวที่ประสงค์จะทำงานบนเรือประมงต่อไป จะต้องยื่นคำขอตามระยะเวลาที่กรมประมงประกาศกำหนด รวมทั้งกำหนดยกเว้นให้คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่ได้รับหนังสือคนประจำเรือตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การออกหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการประมง พ.ศ. 2563 ที่ระยะเวลาการอนุญาตสิ้นสุดลง แต่ไม่ได้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรสามารถมายื่นขอต่ออายุหนังสือคนประจำเรือเพื่ออยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราวและทำงานกับนายจ้างในกิจการประมงทะเลได้ ทั้งนี้ เพื่อให้มีแรงงานในภาคธุรกิจการประมง อันจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม สาระสำคัญของร่างประกาศ 1. ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การออกหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญโดยสรุป ดังนี้ 1.1 กำหนดให้ต่ออายุหนังสือคนประจำเรือสำหรับคนต่างด้าวที่ได้รับหนังสือคนประจำเรือ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563 ออกไปอีก 1 ปี นับแต่หนังสือคนประจำเรือเดิมสิ้นอายุ โดยแรงงานต่างด้าวที่ประสงค์จะทำงานบนเรือประมงต่อไปจะต้องยื่นคำขอตามระยะเวลาที่กรมประมงประกาศกำหนด 1.2 ในการพิจารณาต่ออายุหนังสือคนประจำเรือจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ 1.2.1 แรงงานต่างด้าวที่จะขอต่ออายุหนังสือคนประจำเรือต้องเป็นคนต่างด้าวที่ได้รับหนังสือคนประจำเรือตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563 ประกอบกับข้อ 8 ของประกาศ สำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การออกหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการประมง พ.ศ. 2563 1.2.2 เจ้าของเรือได้จัดทำหนังสือสัญญาจ้างตามแบบที่กำหนดในประกาศ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง กำหนดแบบสัญญาจ้างลูกจ้างในงานประมงทะเล ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของสัญญาจ้างและลงลายมือชื่อกำกับไว้ 1.2.3 คนต่างด้าวจะต้องมีใบรับรองการตรวจสุขภาพซึ่งครอบคลุมถึงการตรวจ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และการประกันสุขภาพมีอายุคุ้มครองอย่างน้อย 1 ปี ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว 1.2.4 คนต่างด้าวจะต้องยื่นคำขอจัดเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลที่ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดที่คนต่างด้าวยื่นคำขอต่ออายุหนังสือคนประจำเรือ หรือสถานที่อื่นที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองกำหนด ภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ได้รับใบรับคำขอต่ออายุหนังสือคนประจำเรือจากกรมประมง 2. ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การยกเว้นข้อห้ามมิให้คนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา สามารถยื่นคำขอรับหนังสือคนประจำเรือเพื่ออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและทำงานกับนายจ้างในกิจการประมงทะเล ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ................. มีสาระสำคัญเป็นการยกเว้นให้คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา ดังต่อไปนี้ 2.1 คนต่างด้าวที่ได้รับหนังสือคนประจำเรือตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การออกหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการประมง พ.ศ. 2563 และระยะเวลาการอนุญาตสิ้นสุดลง แต่ไม่ได้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร 2.2 คนต่างด้าวที่ได้รับหนังสือคนประจำเรือตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การออกหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการประมง พ.ศ. 2563 ซึ่งได้รับการตรวจลงตราประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามอายุหนังสือคนประจำเรือ และระยะเวลาการอนุญาตสิ้นสุดลง แต่ไม่ได้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร 2.3 คนต่างด้าวที่ได้รับหนังสือคนประจำเรือตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การออกหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการประมง พ.ศ. 2563 ซึ่งได้รับการตรวจลงตราและประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามอายุหนังสือคนประจำเรือ จะทยอยสิ้นสุดลงตามอายุหนังสือคนประจำเรือ อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ เพื่อเปิดให้คนต่างด้าวดังกล่าว มายื่นขอต่ออายุหนังสือคนประจำเรือ เมื่อคนต่างด้าวได้รับการต่ออายุหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วย การประมงแล้ว ให้อยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นการชั่วคราว โดยมีระยะเวลาตามอายุหนังสือคนประจำเรือ ทั้งนี้ หากคนต่างด้าวผู้ใดประสงค์จะออกนอกบริเวณท่าเทียบเรือประมง คนต่างด้าวผู้นั้นจะต้องได้รับการตรวจลงตราและประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง 11. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การขยายเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในจังหวัดชายแดนภาคใต้) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การขยายเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในจังหวัดชายแดนภาคใต้) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ ทั้งนี้ ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่ด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับ ..) พ.ศ. .... (การขยายเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในจังหวัดชายแดนภาคใต้) เป็นการขยายเวลาของมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 6 มาตรการ จากสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา 1. ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ?. (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการประกอบธุรกิจในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดสงขลาเฉพาะในอำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวี และอำเภอสะบ้าย้อย และจังหวัดสตูล) 1.1 หลักการ (1) ลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (7) และ (8) แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดสงขลาเฉพาะในอำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวี หรืออำเภอสะบ้าย้อย หรือจังหวัดสตูลเหลือร้อยละ 0.1 ของเงินได้พึงประเมิน และไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีก สำหรับเงินได้พึงประเมินจากการผลิตสินค้าหรือการขายสินค้าหรือการให้บริการในจังหวัดดังกล่าวในปีภาษี 2564 ถึง 2566 (2) ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดสงขลา เฉพาะในอำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวี หรืออำเภอสะบ้าย้อย หรือจังหวัดสตูลเหลือร้อยละ 3 ของกำไรสุทธิ สำหรับรายได้จากการผลิตสินค้าหรือการขายสินค้าหรือการให้บริการในจังหวัดดังกล่าว ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชี 2564 ที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงรอบระยะเวลาบัญชี 2566 ที่สิ้นสุดภายในหรือหลังวันที่ 31 ธันวาคม 2566 (3) ลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายเหลือร้อยละ 0.1 ของเงินได้พึงประเมินสำหรับเงินได้พึงประเมินจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดสงขลาเฉพาะในอำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวีหรืออำเภอสะบ้าย้อย หรือจังหวัดสตูลซึ่งเมื่อคำนวณตามมาตรา 50 (5) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว อยู่ในบังคับต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายสูงกว่าร้อยละ 0.1 ของเงินได้พึงประเมิน ตั้งแต่ปี 2564 ถึง 2566 และไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีก เฉพาะกรณีไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้คืนหรือไม่ขอเครดิตเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้น ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน (4) ลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะเหลือร้อยละ 0.1 สำหรับรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดสงขลาเฉพาะในอำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวี หรืออำเภอสะบ้าย้อย หรือจังหวัดสตูลเป็นทางค้าหรือหากำไร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด 1.2 หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะใช้สิทธิตามข้อ 1.1 (2) ต้องไม่ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามมาตรา 7 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 530) พ.ศ. 2554 (การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ SME สำหรับกำไรสุทธิ 300,000 บาทแรก) 2. ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนให้มีการติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดสงขลาเฉพาะในอำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวี และอำเภอสะบ้าย้อย และจังหวัดสตูล) 2.1 ให้บุคคลธรรมดาที่มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (5) (6) (7) และ (8) แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดสงขลาเฉพาะในอำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวี หรืออำเภอสะบ้าย้อย หรือจังหวัดสตูลหักค่าซื้อและค่าติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ณ สถานประกอบกิจการในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ 2 เท่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 2.2 ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดสงขลาเฉพาะในอำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวี หรืออำเภอสะบ้าย้อย หรือจังหวัดสตูลหักค่าซื้อและค่าติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ณ สถานประกอบกิจการในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้ 2 เท่า สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี 2564 ถึงรอบระยะเวลาบัญชี 2566 ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด 3. ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในทรัพย์สินของกิจการ ในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา) 3.1 หลักการ ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลาสามารถหักรายจ่ายการลงทุนหรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการซึ่งประกอบในจังหวัดดังกล่าว แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิมได้ 2 เท่า ทั้งนี้ ต้องเป็นรายจ่ายที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 และต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด สำหรับทรัพย์สินดังต่อไปนี้ (1) เครื่องจักร ส่วนประกอบ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องตกแต่ง หรือเฟอร์นิเจอร์ (2) โปรแกรมคอมพิวเตอร์ (3) ยานพาหนะที่จดทะเบียนในจังหวัดดังกล่าวตามกฎหมายว่าด้วยยานพาหนะนั้น ๆ แต่ไม่รวมถึงรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คนตามกฎหมาย ว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตที่มิใช่ได้มาเพื่อนำออกให้เช่า (4) อาคารถาวร แต่ไม่รวมถึงที่ดินและอาคารถาวรที่ใช้เพื่อการอยู่อาศัย 3.2 ลักษณะของทรัพย์สิน (1) ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน (2) ต้องสามารถหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร และต้องได้มาและอยู่ในสภาพพร้อมใช้การตามประสงค์ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ยกเว้นทรัพย์สินประเภทเครื่องจักรและอาคารถาวรอาจะได้มาหรืออยู่ในสภาพพร้อมใช้การตามประสงค์ภายหลังวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ก็ได้ (3) ต้องอยู่ในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี หรือจังหวัดยะลา ยกเว้นทรัพย์สินประเภทยานพาหนะที่จำเป็นต้องใช้เพื่อการขนส่งหรือการเดินทางเข้าหรือออกจังหวัดจะไม่อยู่ในจังหวัดดังกล่าวตลอดระยะเวลาก็ได้ (4) ต้องไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในประมวลรัษฎากรฉบับอื่น ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน (5) ต้องไม่นำไปใช้ในกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนหรือกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน (6) กรณีได้ใช้สิทธิไปแล้วและต่อมาไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในรอบระยะเวลาบัญชีใด ต้องนำรายจ่ายที่ได้ใช้สิทธิไปแล้วไปรวมคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธิไปนั้น เว้นแต่กรณีที่ขายทรัพย์สินไปหรือทรัพย์สินถูกทำลาย สูญหาย หรือสิ้นสภาพ สิทธิจะสิ้นสุดลงนับแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่ขายทรัพย์สินไปหรือทรัพย์สินถูกทำลาย สูญหาย สิ้นสภาพ โดยไม่ต้องนำรายจ่ายที่ได้ใช้สิทธิไปแล้วไปรวมคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลอีก 4. ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ (New Start-up) ในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา) 4.1 หลักการ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งใหม่ โดยมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลาและไม่มีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่นอกจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี หรือจังหวัดยะลา เป็นระยะเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชีนับแต่วันถัดจากวันที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร (รอบระยะเวลาบัญชีที่อนุมัติจะเป็นรอบระยะเวลาบัญชีแรกหรือรอบระยะเวลาบัญชีถัดไปจะเป็นรอบระยะเวลาบัญชีแรกก็ได้) ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด 4.2 หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข (1) จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 (2) มีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี หรือจังหวัดยะลา (3) มีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาทและมีรายได้จากการขายสินค้าหรือการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท (4) มีรายได้จากการขายสินค้าหรือการให้บริการในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี หรือจังหวัดยะลาของกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือรายได้เกี่ยวเนื่องกับการประกอบกิจการ อย่างใดอย่างหนึ่งรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของรายได้ทั้งหมดในรอบระยะเวลาบัญชี โดยกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ กิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายดังต่อไปนี้ซึ่งใช้เทคโนโลยีหลักเป็นฐานในกระบวนการผลิตและการให้บริการตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติกำหนด และได้รับรองจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (4.1) อุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร (4.2) อุตสาหกรรมเพื่อประหยัดพลังงาน ผลิตพลังงานทดแทน และพลังงานสะอาด (4.3) อุตสาหกรรมฐานเทคโนโลยีชีวภาพ (4.4) อุตสาหกรรมการแพทย์และสาธารณสุข (4.5) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมบริการ และอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (4.6) อุตสาหกรรมวัสดุก้าวหน้า (4.7) อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องประดับ (4.8) อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน (4.9) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ และบริการสารสนเทศ (4.10) อุตสาหกรรมฐานการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม หรืออุตสาหกรรมใหม่ (5) ยื่นคำร้องขอและได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด (6) ต้องไม่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนหรือกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน (7) กรณีขาดคุณสมบัติหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้สิทธิระงับเฉพาะในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น 5. ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมให้บุคลากรผู้มีความสามารถสูงนอกท้องที่ไปทำงานในท้องที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา และมาตรการส่งเสริมการลงทุนร่วมกันระหว่างกิจการที่มีศักยภาพนอกท้องที่กับกิจการที่มีศักยภาพในท้องที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา) 5.1 มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมให้บุคลากรผู้มีความสามารถสูงนอกท้องที่ไปทำงานในท้องที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา (1) หลักการ ให้บุคคลผู้มีคุณสมบัติตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดมีสิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากรที่ได้รับเนื่องจากการจ้างแรงงานของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี หรือจังหวัดยะลา โดยหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3 ของเงินได้และไม่ต้องนำไปรวมคำนวนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีก สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่ปีภาษี 2564 ถึง 2566 ซึ่งเป็นไปตามกรณีดังต่อไปนี้ (1.1) กรณีคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากรสำหรับเงินได้พึงประเมินนั้นแล้วต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายมากกว่าร้อยละ 3 ของเงินได้ (1.2) กรณีคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากรสำหรับเงินได้พึงประเมินแล้วต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายเท่ากับหรือน้อยกว่าร้อยละ 3 ของเงินได้ แต่ยอมให้ผู้จ่ายเงินได้หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3 ของเงินได้โดยไม่ต้องยื่นรายการที่เกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินข้างต้นด้วย (2) หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข (2.1) ต้องเป็นแรงงานฝีมือหรือผู้เชี่ยวชาญที่มีคุณสมบัติตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด (2.2) ต้องเป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานมีกำหนดระยะเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปีของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี หรือจังหวัดยะลาและปฏิบัติงานตามสัญญาจ้างแรงงานดังกล่าวในสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี หรือจังหวัดยะลา (2.3) ก่อนเริ่มใช้สิทธิ ให้สถานประกอบกิจการที่ตั้งอยู่ในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี หรือจังหวัดยะลาแจ้งชื่อต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่นราธิวาส สำนักงานสรรพากรพื้นที่ปัตตานี หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่ยะลาแล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ให้แจ้งชื่อก่อนเริ่มจ่ายเงินได้พึงประเมินครั้งแรก โดยจะใช้สิทธิได้เมื่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่ได้รับแจ้งชื่อแล้วเท่านั้น (2.4) กรณีไม่เคยใช้สิทธิตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 628) พ.ศ. 2560 ก่อนเริ่มใช้สิทธิครั้งแรกตามพระราชกฤษฎีกานี้ต้องมีภูมิลำเนาอยู่นอกจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลาและมิได้ทำงานในสถานประกอบกิจการที่ตั้งอยู่ในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา (2.5) ในปีภาษีที่ใช้สิทธิต้องอยู่ในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี หรือจังหวัดยะลาไม่น้อยกว่า 180 วัน โดยต้องมีหลักฐานการอยู่อาศัยที่ได้รับการรับรองจากนายจ้างหรือเจ้าของที่พักอาศัยที่พำนักอยู่และเก็บหลักฐานนั้นไว้เพื่อเจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบ (2.6) กรณีประสงค์จะยกเลิกการใช้สิทธิ ให้สถานประกอบกิจการแจ้งยกเลิกชื่อต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่ที่สถานประกอบกิจการดังกล่าวได้แจ้งชื่อไป โดยให้ยกเลิกการใช้สิทธิได้เมื่อได้แจ้งยกเลิกชื่อแล้ว (2.7) กรณีไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในปีภาษีใดให้สิทธิสิ้นสุดลงเฉพาะในปีภาษีนั้น (2.8) ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด 5.2 มาตรการส่งเสริมการลงทุนร่วมกันระหว่างกิจการที่มีศักยภาพนอกท้องที่กับกิจการที่มีศักยภาพในท้องที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา (1) หลักการ ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้ลงทุนซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่นอกจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลาและไม่มีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลาสามารถหักรายจ่ายเงินลงทุนในหุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้รับการลงทุนซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี หรือจังหวัดยะลาและไม่มีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่นอกจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลาได้ 2 เท่า สำหรับการลงทุนดังต่อไปนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด (1.1) การลงทุนในการจัดตั้งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนสามัญใหม่เพื่อประกอบกิจการในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี หรือจังหวัดยะลา หรือ (1.2) การลงทุนในการเพิ่มทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่จัดตั้งแล้วซึ่งประกอบกิจการในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี หรือจังหวัดยะลา ทั้งนี้ เงินลงทุนต้องนำไปใช้ในการประกอบกิจการในจังหวัดดังกล่าว (2) หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข (2.1) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้ลงทุนต้องถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้รับการลงทุนไปจนกว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้ลงทุนหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้รับการลงทุนเลิกกิจการ เว้นแต่ขายหรือโอนหุ้น หรือการเป็นหุ้นส่วนไปก่อนกำหนดเวลาดังกล่าว โดยมีเหตุอันสมควรตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด (2.2) กรณีได้ใช้สิทธิไปแล้วและต่อมาไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้สิทธิสิ้นสุดลงและต้องนำเงินได้ที่ได้ใช้สิทธิไปแล้วไปรวมคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีได้ใช้สิทธิไปนั้น 12. เรื่อง การแต่งตั้งอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน อ.ก.พ. สามัญ ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอมติคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ในการประชุมครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 ที่ได้พิจารณาวินิจฉัยปัญหากรณีการแต่งตั้งอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะอนุกรรมการสามัญ (อ.ก.พ. สามัญ) ตามนัยมาตรา 8 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (พระราชบัญญัติฯ) เพื่อให้มีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมายต่อไป ซึ่ง ก.พ. มีมติว่า ?การที่อนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน อ.ก.พ. สามัญ เป็นพนักงานราชการในหน่วยงานนั้น เป็นกรณีไม่เหมาะสมที่จะปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากพนักงานราชการเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของหัวหน้าส่วนราชการ ดังนั้นการแต่งตั้งพนักงานราชการในหน่วยงานนั้นเป็นอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน อ.ก.พ. สามัญ จึงเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม ส่วนราชการจึงต้องดำเนินการเพื่อให้การแต่งตั้งอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน อ.ก.พ. สามัญ เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ที่ต้องการให้ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นบุคคลภายนอกส่วนราชการ? สาระสำคัญของเรื่อง สำนักงาน ก.พ. รายงานว่า 1. ส่วนราชการได้มีคำสั่งแต่งตั้งข้าราชการบำนาญจำนวนสองรายเป็นอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน อ.ก.พ. กรม ต่อมาได้มีคำสั่งจ้างบุคคลทั้งสองรายดังกล่าวเป็นพนักงานราชการพิเศษ กลุ่มงานเชี่ยวชาญพิเศษ ตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ส่วนราชการจึงได้หารือสำนักงาน ก.พ. เกี่ยวกับการแต่งตั้งอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน อ.ก.พ. กรม รวม 3 ประเด็น สรุปได้ ดังนี้ 1.1 มาตรา 17 (1) แห่งพระราชบัญญัติฯ บัญญัติให้คณะอนุกรรมการสามัญประจำกรม (อ.ก.พ. กรม) ประกอบด้วย อธิบดีเป็นประธาน รองอธิบดีที่อธิบดีมอบหมายหนึ่งคนเป็นรองประธาน และอนุกรรมการซึ่งประธาน อ.ก.พ. แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล ด้านการบริหารและ การจัดการ และด้านกฎหมาย ซึ่งมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในความสามารถมาแล้วและมิได้เป็นข้าราชการในกรมนั้น การนิยามว่า ?มิได้เป็นข้าราชการในกรมนั้น? หมายความรวมถึงข้าราชการบำนาญและพนักงานราชการในสังกัดด้วยหรือไม่ 1.2 หากบุคคลดังกล่าวเป็นข้าราชการบำนาญและได้รับการจ้างเป็นพนักงานราชการพิเศษในสังกัด บุคคลดังกล่าวทั้งสองรายจะพ้นจากตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิใน อ.ก.พ. กรม หรือไม่ 1.3 บุคคลดังกล่าวทั้งสองรายมีสิทธิรับเบี้ยประชุมกรรมการในแต่ละครั้งที่มีการประชุมหรือไม่ 2. อ.ก.พ. วิสามัญที่เกี่ยวข้อง จำนวน 2 คณะ (ได้แก่ อ.ก.พ. วิสามัญเกี่ยวกับการพัฒนาระบบบริหารทรัพยากรบุคคล ในการประชุมครั้งที่ 4/2563 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563 และ อ.ก.พ. วิสามัญเกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบในการประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2564) ได้ประชุมพิจารณาแล้วมีความเห็นและมติที่สอดคล้องกันว่า การที่พนักงานราชการของส่วนราชการเป็นอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน อ.ก.พ. กรม ไม่ขัดต่อกฎหมาย พนักงานราชการทั้งสองรายจึงเป็นผู้มีคุณสมบัติที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน อ.ก.พ. กรม และรับเบี้ยประชุมได้ แต่เมื่อพิจารณาตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นบุคคลภายนอก เพื่อให้เกิดความเป็นกลางและถ่วงดุลอำนาจกับอนุกรรมการที่เป็นบุคคลภายในส่วนราชการ การแต่งตั้งพนักงานราชการในหน่วยงานนั้นเป็นอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน อ.ก.พ. กรม จึงเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมและไม่สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติฯ ประกอบกับโดยที่เรื่องนี้มีความสำคัญและอาจเกิดขึ้นในส่วนราชการอื่น รวมทั้งกรณีการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิใน อ.ก.พ. สามัญอื่น ได้แก่ อ.ก.พ. กระทรวง และ อ.ก.พ. จังหวัด ซึ่งอาจมีข้อโต้แย้งตามตัวอักษรของข้อกฎหมาย จึงเห็นควรให้สำนักงาน ก.พ. นำประเด็นนี้ไปพิจารณาแก้ไขพระราชบัญญัติฯ ให้ชัดเจนตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย โดยในระหว่างที่แก้ไขกฎหมายให้นำกรณีวินิจฉัยปัญหานี้เสนอ ก.พ. และคณะรัฐมนตรี เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติและแจ้งให้ส่วนราชการถือปฏิบัติต่อไป 3. ก.พ. ในการประชุมครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 ได้พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบตามมติ อ.ก.พ. วิสามัญดังกล่าว (ตามข้อ2) 4. สำนักงาน ก.พ. แจ้งข้อมูลเพิ่มเติมว่า โดยที่มาตรา 15 มาตรา 17 และมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติฯ บัญญัติให้การแต่งตั้งอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. กรม และ อ.ก.พ. จังหวัด ต้องไม่เป็นข้าราชการในกระทรวง กรม และจังหวัดนั้น ดังนั้น แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการแต่งตั้งอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน อ.ก.พ. สามัญ ตามมติ ก.พ. ดังกล่าว จึงหมายความรวมถึง อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. กรม และ อ.ก.พ. จังหวัดด้วย เศรษฐกิจ สังคม 13. เรื่อง รายงานผลการจัดสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาไทยตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ ประจำปี 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ดังนี้ 1. รับทราบผลการจัดสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาไทยตามกฎหมายการค้าสหรัฐอเมริกา (สหรัฐฯ) มาตรา 301 พิเศษ ประจำปี 2564 และรายงานรายชื่อตลาดที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสูงในประเทศคู่ค้า (Notorious Markets) ประจำปี 2563 2. พิจารณาสั่งการกำชับให้หน่วยงานภาครัฐทุกกระทรวงปฏิบัติตาม ?แนวทางการจัดซื้อจัดจ้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Software: ซอฟต์แวร์) และการใช้งานซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์สำหรับหน่วยงานภาครัฐ? เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดซื้อจัดจ้างและการใช้งานซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์ให้สอดคล้องกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ เพื่อลดความเสี่ยงจากการละเมิดลิขสิทธิ์ในหน่วยงานภาครัฐให้เห็นผลเป็นรูปธรรม และให้ พณ. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับความเห็นของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย สาระสำคัญของเรื่อง พณ. รายงานว่า 1. ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (United States Trade Representative: USTR) ได้จัดทำรายงานสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้าสำหรับภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ เป็นประจำทุกปี และประกาศผลการจัดสถานะในช่วงปลายเดือนเมษายน ทั้งนี้ ในการจัดสถานะดังกล่าว จะรวมถึงรายงานรายชื่อตลาดที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสูงในประเทศคู่ค้า (Notorious Markets) ของรอบปีก่อนหน้าด้วย โดยในปี 2563 ประเทศไทย (ไทย) ถูกจัดสถานะอยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List: WL) และรายงาน Notorious Markets ประจำปี 2562 ได้มีการระบุชื่อตลาดในไทย 2 แห่ง เป็นการละเมิดในท้องตลาด 1 แห่ง คือ ย่านพัฒน์พงษ์ และตลาดออนไลน์ 1 แห่ง คือ เว็บไซต์ www.shopee.co.th 2. สถานะของไทยและประเทศคู่ค้าอื่นของสหรัฐฯ ประจำปี 2564 2.1 USTR ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้มีส่วนได้เสียและประเทศที่ได้รับการประเมินเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่ง พณ. ได้จัดทำความคิดเห็นประกอบด้วยข้อมูลความคืบหน้าและสถานะการดำเนินการด้านทรัพย์สินทางปัญญาของไทย โดยเฉพาะในเรื่องที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญ และยื่นต่อสำนักงาน USTR เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ? มีนาคม 2564 2.2 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 USTR ได้ประกาศสถานการณ์คุ้มครองทรัพย์สิน ทางปัญญาของประเทศคู่ค้าฯ ประจำปี 2564 โดยไทยยังคงสถานะอยู่ในบัญชี WL ร่วมกับประเทศอื่นอีก 22 ประเทศ เช่น สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล แคนาดา สหรัฐเม็กซิโก และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และในส่วนของรายงาน Notorious Markets ประจำปี 2563 USTR ได้เผยแพร่รายงานฯ เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 โดยไม่มีการระบุย่านการค้าและตลาด (Physical market) ในไทยที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสูง แต่ยังคงระบุว่าเว็บไซต์ www.shopee.co.th เป็นตลาดออนไลน์ที่มีการละเมิดสูง ทั้งนี้ ในส่วนของย่านพัฒน์พงษ์ USTR ระบุว่า กิจกรรมการค้าในพื้นดังกล่าวเกือบทั้งหมดมีการหยุดชะงัก โดยอาจเป็นผลสืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) 3. พัฒนาการและความคืบหน้าการดำเนินการของไทย สหรัฐฯ แสดงความพอใจต่อนโยบายและ ผลการดำเนินการด้านทรัพย์สินทางปัญญาของไทย ดังนี้ 3.1 การบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ภายใต้กลไกการทำงานของคณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ (นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน) และคณะอนุกรรมการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ทำให้การประสานงานในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างหน่วยงานภาครัฐเป็นไปอย่างราบรื่น 3.2 การป้องปรามการละเมิดเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์อย่างต่อเนื่อง และปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์บนสื่อออนไลน์ผ่านการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการเผยแพร่สถิติการจับกุมผ่านช่องทางออนไลน์และการจัดกิจกรรมรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ด้านทรัพย์สินทางปัญญาในหลากหลายรูปแบบ 3.3 การจัดทำ ?แนวทางการจัดซื้อจัดจ้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์และการใช้งานซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์สำหรับหน่วยงานภาครัฐ? เพื่อแก้ไขปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในภาครัฐ 3.4 การเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับการคุ้มครองงานลิขสิทธิ์และสิทธิข้างเคียงในสภาพแวดล้อมดิจิทัล และการเตรียมเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกและสนธิสัญญาว่าด้วยการแสดงและสิ่งบันทึก เสียงขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก 3.5 การเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อปรับปรุงขั้นตอนการจดทะเบียนและเตรียมการเข้าเป็นภาคีความตกลงกรุงเฮก ว่าด้วยการจดทะเบียนการออกแบบผลิตภัณฑ์ระหว่างประเทศ 3.6 การเพิ่มจำนวนผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรของกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อแก้ไขปัญหางานจดทะเบียนสิทธิบัตรค้างสะสม 4. ข้อกังวล/ข้อเสนอแนะของสหรัฐฯ 4.1 ไทยมีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เช่น การจำหน่ายสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ทั้งในท้องตลาดและตลาดออนไลน์ การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทั้งในหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน และการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ผ่านอุปกรณ์หรือแอปพลิเคชันสำหรับการสตรีมและดาวน์โหลด รวมทั้งการดำเนินคดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทางแพ่งใช้เวลานานและค่าเสียหายที่เจ้าของสิทธิได้รับไม่สมเหตุสมผล 4.2 พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ยังไม่ตอบสนองต่อข้อกังวลของสหรัฐฯ ในบางเรื่อง เช่น การคุ้มครองมาตรการทางเทคโนโลยี การบังคับใช้สิทธิกรณีมีการลักลอบบันทึกภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ และการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์โดยมิชอบ 4.3 พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ยังมีประเด็นการกำหนดสัดส่วนระหว่างภาพยนตร์ไทยกับภาพยนตร์ต่างประเทศที่จะนำออกฉายในโรงภาพยนตร์ 4.4 ปัญหางานจดทะเบียนสิทธิบัตรยาค้างสะสม 4.5 ไทยควรมีการป้องกันที่มีประสิทธิภาพในการนำข้อมูลผลการทดสอบยาและเคมีภัณฑ์ทางการเกษตรซึ่งเป็นความลับไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์โดยไม่เป็นธรรม 5. พณ. เห็นว่า แม้การจัดสถานะประจำปีนี้มีผลเป็นที่น่าพอใจแต่ควรมีการพัฒนาระบบ การคุ้มครองและป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่องต่อไป โดยเฉพาะการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในทุกรูปแบบ การเพิ่มประสิทธิภาพในการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา การปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ตลอดจนการส่งเสริมความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการกำหนดนโยบาย และมาตรการด้านทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงประเด็นที่เกี่ยวข้อง เช่น ด้านสาธารณสุข 14. เรื่อง ภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2564 คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2564 [เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2561 มาตรา 20 (2) ที่บัญญัติให้ สศช. ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย และติดตามภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศและของโลก รวมทั้งปัญหาและโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม และคาดการณ์แนวโน้ม การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทั้งในบริบทประเทศและโลก เพื่อจัดทำข้อเสนอในเชิงนโยบาย และมาตรการการพัฒนาประเทศหรือรองรับผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเสนอคณะรัฐมนตรี] มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้ 1. ความเคลื่อนไหวทางสังคมไตรมาสหนึ่ง ปี 2564 ประกอบด้วย 1.1 ตลาดแรงงานยังคงได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทำให้ชั่วโมงการทำงานลดลงต่อเนื่องและอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นจากที่ชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้นส่งผลให้ภาคเกษตรมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยสถานการณ์แรงงานไตรมาสหนึ่ง ปี 2564 ผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 37.6 ล้านคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 จากการขยายตัวของการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมที่ดูดซับแรงงานบางส่วนที่ถูกเลิกจ้างจากภาคเศรษฐกิจอื่นมาตั้งแต่ปี 2563 ในขณะที่สาขาการผลิตอุตสาหกรรมมีการจ้างงานลดลงร้อยละ 2.2 และการจ้างงานในภาคบริการลดลงร้อยละ 0.7 ตามปริมาณนักท่องเที่ยวที่ลดลงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่วนการว่างงานเพิ่มขึ้นสูง โดยผู้ว่างงาน มีจำนวน 0.76 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.96 สูงขึ้นอีกครั้งหลังจากชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของ ปี 2563 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าโควิด-19 ยังมีผลกระทบอยู่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานของผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 3.46 แสนคน คิดเป็นร้อยละ 3.1 ของผู้ประกันตนมาตรา 33 ซึ่งสูงกว่า ช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ประเด็นที่ต้องติดตามในปี 2564 ได้แก่ (1) ผลกระทบของโควิด-19 ระลอกใหม่ ต่อเศรษฐกิจและการจ้างงาน โดยเฉพาะแรงงานในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ภาคการท่องเที่ยว และนักศึกษาจบใหม่ (2) ผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของแรงงาน เช่น รายได้ ทักษะแรงงาน และการขาดหลักประกันทางสังคม และ (3) การเตรียมพร้อมรับมือกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศที่จะมีผลต่อการประกอบอาชีพของเกษตรกรไทย ซึ่งหากภาครัฐส่งสัญญาณเตือนเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำได้อย่างแม่นยำ จะสามารถลดความเสี่ยงของเกษตรกรจากความเสียหายจากภัยทางธรรมชาติได้อย่างทันท่วงที 1.2 หนี้ครัวเรือนขยายตัว ขณะที่คุณภาพสินเชื่อปรับตัวดีขึ้น แต่ยังเฝ้าระวังเนื่องจากสัดส่วนสินเชื่อค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน ยังอยู่ในระดับสูง โดยไตรมาสสี่ ปี 2563 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 14.02 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.9 จากร้อยละ 4.0 ในไตรมาสก่อน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 89.3 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนปรับตัวดีขึ้นแต่ยังต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากสัดส่วนสินเชื่อค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน ยังอยู่ในระดับสูง โดยในไตรมาสสี่ ปี 2563 สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan: NPLs) ของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 2.84 ทั้งนี้ แนวโน้มการก่อหนี้ของครัวเรือนในปี 2564 คาดว่าสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP จะยังคงอยู่ในระดับสูงจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ประกอบกับตลาดแรงงานอาจได้รับผลกระทบที่รุนแรงขึ้น ทำให้ปี 2564 ครัวเรือนจะระมัดระวังการใช้จ่าย ดังนั้น จำเป็นต้องมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างเหมาะสม ควบคุมดูแลการให้สินเชื่อให้สอดคล้องกับระดับรายได้ รวมทั้งเฝ้าระวังการก่อหนี้นอกระบบโดยเฉพาะกับครัวเรือนผู้มีรายได้น้อย ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ครัวเรือนมีรายได้และสามารถรักษาระดับการบริโภคไว้ในระดับเดิม 1.3 ภาวะทางสังคมอื่น ๆ เช่น (1) การเจ็บป่วยโดยรวมลดลงแต่ยังคงต้องเฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปาก ในกลุ่มเด็กเล็ก เนื่องจากมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว (2) การเฝ้าระวังการซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้าที่ยังมีการลักลอบจำหน่ายโดยผิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก (3) คดีอาญารวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 จากไตรมาสเดียวกันของปี 2563 โดยคดียาเสพติดเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 คดีชีวิตร่างกายและเพศเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 นอกจากนี้ ควรเฝ้าระวังการก่ออาชญากรรมผ่านเทคโนโลยีด้วย (4) การเกิดอุบัติเหตุทางบกเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.9 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.8 โดยสาเหตุหลักยังคงเกิดจากตัวบุคคลที่มีพฤติกรรมในการขับเร็ว เมาแล้วขับ และ (5) การร้องเรียนผ่านสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคและสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะด้านการโฆษณา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเด็นการโฆษณาเกินจริง รวมทั้งมีการระบาดของแอปพลิเคชันเงินกู้ที่จะต้องกรอกข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อขออนุมัติเงินกู้และจะต้องยินยอมให้สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ในโทรศัพท์ ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งที่อาจทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลมีการรั่วไหล 2. สถานการณ์ทางสังคมที่สำคัญ ได้แก่ 2.1 สังคมไร้เงินสดในบริบทของประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการชำระเงินส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ มีการทำธุรกรรมทางการเงินในรูปแบบไร้เงินสดมากขึ้น และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภค ผู้ประกอบการ และภาครัฐ อย่างไรก็ตาม มีข้อพึงระวังว่าอาจสูญเสียความเป็นส่วนตัวและอาจก่อให้เกิดพฤติกรรมการใช้จ่ายไม่ระมัดระวังจากความสะดวกรวดเร็วของการทำธุรกรรม ทั้งนี้ ควรส่งเสริมและแก้ไขข้อจำกัดในการทำธุรกรรมทางการเงินในรูปแบบไร้เงินสด เช่น สนับสนุนให้มีโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ครอบคลุมและมีคุณภาพ เสริมสร้างการมีทักษะความรู้ด้านการเงินและดิจิทัล และมีกลไกติดตามดูแลรักษาฐานข้อมูลและความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่รัดกุมทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี 2.2 กัญชา : โอกาสใหม่ที่ต้องควบคุมอย่างเหมาะสม โดยที่กัญชามีโอกาสเป็น พืชเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 2564 ตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์ของไทยจะมีมูลค่าราว 3,600 - 7,200 ล้านบาท และการปลดล็อคกัญชาทำให้องค์ประกอบของกัญชาบางส่วนสามารถใช้ในการผลิตสินค้าเชิงพาณิชย์ซึ่งจะสร้างมูลค่าให้กับสินค้าได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามมีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ เช่น การกำหนดสัดส่วนการใช้กัญชาในทางการแพทย์และการพาณิชย์ที่ชัดเจน และการสร้างการรับรู้และความเข้าใจในการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาที่ถูกต้อง ทั้งนี้ แม้ว่าประโยชน์ของกัญชาจะมีมากและอาจสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศก็ควรให้ความสำคัญกับ การบริหารจัดการทั้งห่วงโซ่อุปทานอย่างเหมาะสม รวมทั้งชี้แจงทำความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนและกำหนดบทลงโทษที่เหมาะสม 2.3 การคืนเด็กดีสู่สังคม : แนวทางการสร้างโอกาสและการยอมรับ ในปี 2563 เด็กที่ ถูกดำเนินคดีโดยสถานพินิจมีจำนวนทั้งสิ้น 19,470 คดี โดยส่วนใหญ่เป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ รองลงมาเป็นฐานความผิดอื่น ๆ เช่น พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 รวมทั้งปัญหาการกระทำผิดซ้ำของเด็กซึ่งยังคงอยู่ในระดับที่สูง และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะอัตราการกระทำผิดซ้ำหลังจากถูกปล่อยตัวไปในรอบ 1 ปี ดังนั้น จึงควรสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี สนับสนุนให้เข้าสู่ระบบการศึกษา ส่งเสริมการมีงานทำที่มั่นคง และพัฒนาระบบให้คำปรึกษา เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการกระทำผิดซ้ำ 3. บทความเรื่อง ?การพัฒนาวัคซีน COVID-19 ของประเทศไทย? การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ตอกย้ำถึงความจำเป็นในการพัฒนา/ผลิตวัคซีนภายในประเทศ เพื่อสร้างหลักประกันว่าจะมีวัคซีนในปริมาณที่เพียงพอต่อการป้องกันโรคแก่ประชาชน ดังนั้น จึงจำเป็นจะต้องพัฒนาทั้งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญสูงและการผลิตในระดับอุตสาหกรรม โดยต้องมีความชัดเจนเชิงนโยบาย การบริหารจัดการที่ดีเพื่อให้เกิดการระดมทรัพยากรและความร่วมมือของทุกภาคส่วน ตลอดจนเครือข่ายระหว่างประเทศเพื่อให้เกิดการพัฒนาและสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน 15. เรื่อง ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) เสนอ ผล การประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 (นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ) ซึ่งที่ประชุมฯ ได้มีมติรับทราบและพิจารณาผลการดำเนินงานในเรื่องต่าง ๆ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ เรื่อง ข้อสั่งการของประธาน คทช./มติ คทช. 1. เรื่องเพื่อทราบ จำนวน 4 เรื่อง 1.1 การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้ คทช. (ตามคำสั่ง คทช.ที่ 1/2563 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2563) จำนวน 9 คณะ เช่น คณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน คทช. จังหวัด และคณะอนุกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการมาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) และแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐ ข้อสั่งการของประธาน : ให้ คทช. เร่งดำเนินการ ติดตาม กำกับ ดูแลการทำงานของคณะอนุกรรมการฯ ให้มีการประชุมอย่างต่อเนื่อง และบูรณาการการทำงานร่วมกันสำหรับการแก้ไขเส้นแนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการมาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) นั้น ให้ใช้ในการบริหารจัดการแนวเขตที่ดินของรัฐที่เส้นไม่ตรงกันเท่านั้น มติ คทช. : รับทราบคำสั่ง คทช. และข้อสั่งการของประธานฯ 1.2 ผลการดำเนินงานของฝ่ายเลขานุการ คทช. และคณะอนุกรรมการภายใต้ คทช. ดังนี้ 1.2.1 ผลการดำเนินงานของฝ่ายเลขานุการ คทช. เช่น (1) ผลการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 - 2563คณะอนุกรรมการจัดหาที่ดินกำหนดพื้นที่เป้าหมาย 1,071 พื้นที่ 71จังหวัด ซึ่งได้ออกหนังสืออนุญาตแล้ว 267 พื้นที่ และ (2) โครงการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศที่ดินและทรัพยากรดินเพื่อเตรียมความพร้อมการจัดตั้ง สคทช. 1.2.2 ผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการภายใต้ คทช. เช่น (1) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ? 2563 คณะอนุกรรมการจัดหาที่ดินกำหนดพื้นที่เป้าหมายจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน 987 พื้นที่ 71 จังหวัด (2) คณะอนุกรรมการจัดที่ดินได้จัดราษฎรเข้าครอบครองทำประโยชน์ในพื้นที่เป้าหมาย 258 พื้นที่ 65 จังหวัด 56,757 ราย 70,167 แปลง (3) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 คณะอนุกรรมการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาดได้ส่งเสริมพัฒนาอาชีพฯ 231.35 ล้านบาท และ (4) คณะอนุกรรมการปรับปรุงแผนที่ ฯ ได้พิจารณากรอบแนวทางการปรับปรุงแผนที่ฯ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561 (เรื่อง รายงานผลการดำเนินการปรับปรุงแผนที่ฯ) และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2562 (เรื่อง ความคืบหน้าการดำเนินการปรับปรุงแผนที่ ฯ) และเสนอมาตรการที่เหมาะสมในการดำเนินการดังกล่าว ข้อสั่งการของประธาน : รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินและการจัดหาแหล่งน้ำ โดยกระจายน้ำได้เพียงร้อยละ 40 ของพื้นที่ จึงต้องแยกพื้นที่ให้ชัดเจน หากพื้นที่ใดทำการเกษตรไม่ได้ ก็จะต้องดำเนินการแก้ไขว่าจะทำอย่างไรกับพื้นที่ รวมทั้งรัฐบาลพยายามแก้ไขให้ประชาชนสามารถลงทุนและทำอาชีพอย่างอื่นได้ โดยจะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด มติ คทช. : รับทราบผลการดำเนินงานฯ รวมทั้งข้อสั่งการของประธานกรรมการ และให้ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอคณะรัฐมนตรีทราบต่อไป 1.3 แผนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม การสร้างมูลค่าให้กับที่ดินที่รัฐจัดให้กับประชาชน สคทช. ได้จัดทำร่างแผนขับเคลื่อนกิจกรรมปฏิรูปด้านสังคม กิจกรรมปฏิรูปที่ 5 การสร้างมูลค่าให้กับที่ดินที่รัฐจัดให้กับประชาชน (ฉบับปรับปรุง 2) ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) ตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ โดยมีเป้าหมายให้เกษตรกรและคนยากจนที่ได้รับการจัดสรรที่ดินจากรัฐ สามารถนำเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินหรือหนังสือ/เอกสารให้ใช้ที่ดินที่ได้รับจากรัฐไปใช้เป็นหลักประกันการเข้าถึงแหล่งทุนสำหรับการประกอบอาชีพ ข้อสั่งการของประธาน : ให้ฝ่ายเลขานุการฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดและดำเนินการกิจกรรมตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านสังคมดังกล่าว มติ คทช. : รับทราบร่างแผนขับเคลื่อนฯ 1.4 โครงการนำร่องระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายของ คทช. ในกลุ่มพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยมีจำนวนราษฎรที่จะได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 1,500 ครอบครัว ในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 12,000 ไร่ ภายใต้งบประมาณจำนวน 472.50 ล้านบาท มติ คทช. : รับทราบและเห็นชอบในหลักการการจัดทำข้อเสนอโครงการฯ เพื่อขอรับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และให้กระทรวงพลังงานรับไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป 2. เรื่องเพื่อพิจารณา จำนวน 7 เรื่อง 2.1 การแก้ไขคำสั่ง คทช. ที่ 1/2563 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ โดยได้เพิ่มเติม (1) หน้าที่และอำนาจของคณะอนุกรรมการจัดที่ดิน ?สำรวจ ตรวจสอบ และจัดทำข้อมูล ผู้ยากไร้ที่ไม่มีที่ทำกินและที่อยู่อาศัย? (2) เพิ่มประธานสภาเกษตรกรจังหวัดและท้องถิ่นจังหวัดเป็นอนุกรรมการภายใน คทช. จังหวัด และ (3) เพิ่มผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) เป็นอนุกรรมการในคณะอนุกรรมการนโยบายฯ มติ คทช. : เห็นชอบการแก้ไขคำสั่งฯ และให้ฝ่ายเลขานุการฯ ยกร่างคำสั่งฯ เสนอประธานกรรมการต่อไป 2.2 ร่างประกาศ คทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ พ.ศ. .... เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 13 มีสาระสำคัญ ประกอบด้วย ชื่อประกาศ การบังคับใช้ คำนิยาม กระบวนการและรูปแบบ วิธีการการมีส่วนร่วมของประชาชนใน การจัดทำนโยบายและแผนดังกล่าว มติ คทช. : เห็นชอบร่างประกาศฯ และมอบ สคทช. ดำเนินการตามขั้นตอนการจัดทำประกาศเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป 2.3 รายงานผลการดำเนินงานและการประเมินผลการปฏิบัติงานของ คทช. โดยในการประชุมคณะอนุกรรมการกำกับฯ ครั้งที่ 1/2564 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบรายงานฯ และให้ฝ่ายเลขานุการฯ จัดทำรายงานเสนอ คทช. เพื่อพิจารณาก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี รัฐสภา และเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพื่อทราบต่อไป โดยมีรายละเอียด เช่น พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ?. (สคทช.) คณะอนุกรรมการภายใต้ คทช. และ ผลการดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน มติ คทช. : เห็นชอบรายงานฯ ตามที่ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอ และให้ฝ่ายเลขานุการฯ จัดทำรายงานเสนอคณะรัฐมนตรี รัฐสภา และเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพื่อทราบต่อไป 2.4 การแก้ไขปัญหาและป้องกันการบุกรุกที่ดินของรัฐ และการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพิ่มเติมภายใต้ คทช. ดังนี้ (1) คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐได้เสนอมาตรการการแก้ไขปัญหาฯ ได้แก่ - การพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินของบุคคลในเขตที่ดินของรัฐ - ขั้นตอนและวิธีการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการอ่านภาพถ่ายทางอากาศ (2) สคทช. เสนอแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพิ่มเติม 2 คณะ ได้แก่ - คณะอนุกรรมการพิสูจน์สิทธิในที่ดินของรัฐจังหวัด (คพร. จังหวัด) - คณะอนุกรรมการอ่านภาพถ่ายทางอากาศ (3) ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น (งบกลางฯ) ได้แก่ - โครงการเร่งรัดการดำเนินงานกลั่นกรองผลการอ่านภาพถ่ายทางอากาศเพื่อประกอบการพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินของบุคคลในเขตที่ดินของรัฐ - ค่าเบี้ยประชุม คพร. จังหวัด - สนับสนุนการบูรณาการและเร่งรัดการพิสูจน์สิทธิในที่ดินของรัฐ รวมทั้งสิ้น 8,448,400 บาท มติ คทช. : (1) เห็นชอบในหลักการมาตรการการแก้ไขปัญหาฯ และให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้ คทช. เพิ่มเติม รวม 2 คณะ ดังกล่าว และ (2) เห็นชอบการของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลางฯ จำนวน 8,448,400 บาท เพื่อเร่งรัดการพิสูจน์สิทธิที่ยังค้างอยู่ 2.5 การจัดตั้ง สคทช. โดยมีสาระสำคัญ เช่น (1) กรอบอัตรากำลังของ สคทช. ที่ใช้รองรับการปฏิบัติงานในส่วนราชการที่มีฐานะเทียบกองที่ปรากฏในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการของ สคทช. มีจำนวนทั้งสิ้น 217 อัตรา แบ่งออกเป็นข้าราชการ 100 อัตรา (ปัจจุบัน 28 อัตรา) และพนักงานราชการ 117 อัตรา (ปัจจุบัน 17 อัตรา) (2) ขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลางฯ จำนวน 54.83 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจัดตั้ง สคทช. และ (3) ชื่อและแบบตราสัญลักษณ์ มติ คทช. : (1) เห็นชอบกรอบอัตรากำลังของ สคทช. และให้ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอขอรับจัดสรรอัตรากำลังตั้งใหม่ตามกรอบที่ได้รับความเห็นชอบต่อไป และในระหว่างการขอรับการจัดสรรอัตรากำลังตั้งใหม่ ให้ สคทช. ประสานเพื่อขอยืมตัวข้าราชการจากส่วนราชการมาช่วยปฏิบัติราชการไปพลางก่อนจนกว่าจะได้รับการจัดสรร (2) เห็นชอบการขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลางฯ จำนวน 54.83 ล้านบาท และให้ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอเรื่องขอรับจัดสรรงบกลางฯ ไปยังสำนักงบประมาณ (สงป.) ต่อไป (3) เห็นชอบชื่อและแบบตราสัญลักษณ์สำหรับ สคทช. และ (4) ให้ฝ่ายเลขานุการฯ ประสานกระทรวงการคลังเพื่อขอใช้พื้นที่อาคารของ สงป. ในปัจจุบันเพื่อเป็นที่ตั้งของ สคทช. ต่อไป 2.6 ขอความเห็นชอบแนวทางการเสนอความเห็นของ คทช. ประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ซึ่งแบ่งออกเป็น (1) เสนอความเห็น โดย คทช. ในกรณีที่เรื่องดังกล่าวไม่ได้กำหนดไว้หรือไม่สอดคล้องกับนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ หรือนโยบายที่ คทช. กำหนด หรือเป็นไปตามหน้าที่และอำนาจของ คทช. ที่กฎหมายกำหนด และ (2) เสนอความเห็นโดย สคทช. และรายงานให้ คทช. ทราบ ในกรณีที่เรื่องดังกล่าวเป็นไปตามที่กำหนดในนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ กฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง หรือเป็นไปตามแนวนโยบายของ คทช. รวมถึงกรณีที่มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนอยู่แล้ว และให้มอบหมาย สคทช. พิจารณาแจ้งเสนอความเห็น ทั้งนี้ หากมีความจำเป็น สคทช. อาจเสนอคณะอนุกรรมการภายใต้ คทช. พิจารณาให้ความเห็นประกอบด้วยก็ได้ มติ คทช. : เห็นชอบแนวทางการเสนอความเห็นของ คทช.ฯ โดยให้ สคทช. แจ้งเสนอความเห็นได้ในกรณีเรื่องดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ ระเบียบ คำสั่ง หรือเป็นไปตามแนวนโยบายของ คทช. กรณีที่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน 2.7 การจัดหาข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมความละเอียดสูงปี 2557 เพื่อใช้ในการบริหารจัดการที่ดินตามนโยบาย คทช. โดยคณะอนุกรรมการจัดหาที่ดินได้ขอให้ คทช. สนับสนุนงบประมาณ 321 ล้านบาท เพื่อจัดหาภาพถ่ายดาวเทียมที่ถ่ายระหว่างปี 2557 -2559 มีความละเอียด 0.5 - 1 เมตร สำหรับใช้ในการปฏิบัติงานด้านการป้องกันรักษาป่า และใช้ในการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ และเป็นแผนที่ฐานเพื่อเป็นตัวชี้วัดขอบเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินการบุกรุกพื้นที่ป่าใหม่ในห้วงเวลาดังกล่าว รวมถึงสภาพป่าสมบูรณ์ที่ปรากฏ มติ คทช. : เห็นชอบให้ สงป. สนับสนุน งบประมาณให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมป่าไม้นำไปดำเนินการจัดหาภาพถ่ายดาวเทียมความละเอียดสูงปี 2557 สำหรับใช้ในการปฏิบัติงานต่อไป 16. เรื่อง ความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนพฤษภาคม 2564 คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศเสนอความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนพฤษภาคม 2564 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ หัวข้อ สาระสำคัญ 1. ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา 1.1 ความก้าวหน้ายุทธศาสตร์ชาติและการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ? คณะรัฐมนตรีมีมติ (18 พฤษภาคม 2564) รับทราบแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในระดับพื้นที่ และแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ ซึ่งให้ความสำคัญกับการใช้หลักการความสัมพันธ์เชิงเหตุและผลและหลักการ ?ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมนำไปปฏิบัติ? ประกอบด้วย 3 แนวทาง ได้แก่ (1) แผนในระดับพื้นที่ต้องตอบสนองต่อเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ (2) การจัดทำโครงการและการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ และ (3) การติดตามตรวจสอบ และประเมินผล รวมถึงการเชื่อมโยงระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) ระบบการบริหารการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ (GFMIS) และระบบการจัดการงบประมาณอิเล็กทรอนิกส์ (e-Budgeting) เพื่อให้สามารถประมวลผล วิเคราะห์ สังเคราะห์ ข้อมูลโครงการ/การดำเนินงาน และใช้ประโยชน์ในรูปแบบที่มีความหลากหลายให้กับภาคส่วนต่าง ๆ ต่อไป ? คณะรัฐมนตรีมีมติ (7 เมษายน 2564) รับทราบกรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 ? 2570) ซึ่งมีกรอบแนวทาง ?มุ่งพลิกโฉมประเทศไทย? ให้เท่าทันและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก สร้างสมดุลในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต พร้อมทั้งรักษาความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประเทศไทย (ไทย) เป็นประเทศที่มี ?เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน? โดยมี 13 หมุดหมาย เช่น ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนและจุดยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค และไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต 1.2 ความก้าวหน้าแผนการปฏิรูปประเทศ ? คณะรัฐมนตรีมีมติ (18 พฤษภาคม 2564) รับทราบแผนขับเคลื่อนกิจกรรมปฏิรูปที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) ภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) โดยดำเนินการ ดังนี้ (1) จัดลำดับความสำคัญของโครงการ/การดำเนินงานรองรับกิจกรรม Big Rock (2) เร่งรัดการดำเนินโครงการ/การดำเนินงานให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแผนขับเคลื่อนฯ และ (3) พัฒนาระบบ eMENSCR ในส่วนของการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล การดำเนินการตามกิจกรรม Big Rock 1.3 ผลการดำเนินการอื่น ๆ ? พัฒนาระบบ eMENSCR สำหรับการกำกับ ติดตาม และประเมินผลความคืบหน้าของกิจกรรม Big Rock และเปิดใช้งานแล้วเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2564 นอกจากนี้ ได้พัฒนาระบบ eMENSCR เพิ่มเติมสำหรับการนำเข้าข้อเสนอโครงการภายใต้พระราชกำหนดเงินกู้ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 เพื่อรองรับการดำเนินงานตามกลไกของคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับจังหวัด (คณะกรรมการฯ) โดยเปิดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถนำข้อมูลโครงการที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการฯ เข้าสู่ระบบ ? สร้างการตระหนักรู้ ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมของภาคีต่าง ๆ ต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ได้แก่ เผยแพร่วีดิทัศน์ผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติในรถไฟฟ้า ตั้งแต่เดือนเมษายน-พฤษภาคม 2564 2. ประเด็นที่ควรเร่งรัดเพื่อการบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ เนื่องจากหน่วยงานยังคงมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในกระบวนการขอรับจัดสรรงบประมาณและยังมีข้อจำกัดของกระบวนการจัดสรรงบประมาณ จึงควรเร่งให้หน่วยงานเจ้าภาพขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (5 พฤษภาคม 2563 และ 29 กันยายน 2563) เรื่อง แนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติอย่างเคร่งครัด เพื่อจัดทำโครงการสำคัญประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566-2570 โดยสร้างความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างหน่วยงานในการขอรับจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการต่าง ๆ รวมทั้งสำนักงบประมาณต้องพิจารณาความสอดคล้องของโครงการ/การดำเนินงานของหน่วยงานกับเป้าหมายและทิศทางการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณอย่างเหมาะสมและทันการณ์ โดยจัดสรรให้กับโครงการ/การดำเนินงานที่มีลำดับความสำคัญในการบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 17. เรื่อง ขอความเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านนโยบายภาษาแห่งชาติ (พ.ศ. 2564 - 2565) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานราชบัณฑิตยสภา (รภ.) เสนอ (ร่าง) แผนปฏิบัติการ ด้านนโยบายภาษาแห่งชาติ (พ.ศ. 2564 - 2565) โดยให้รับความเห็นของหน่วยงานไปพิจารณาดำเนินการ และ ให้เร่งดำเนินการตามร่างแผนฯ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์โดยเร็ว สาระสำคัญของเรื่อง รภ. รายงานว่า 1. รภ. ได้จัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านนโยบายภาษาแห่งชาติ (พ.ศ. 2561 - 2564) และเสนอต่อ สศช. เพื่อพิจารณาตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 4 ธันวาคม 2560 15 ธันวาคม 2563 และ 27 ธันวาคม 2564 โดยที่ผ่านมามีการดำเนินการสรุปได้ ดังนี้ 1.1 ในคราวประชุมราชบัณฑิตยสภา ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563 ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์ตามนโยบายภาษาแห่งชาติ (พ.ศ. 2561 - 2564) 1.2 รภ. ได้เสนอ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์ตามนโยบายภาษาแห่งชาติ (พ.ศ. 2561 - 2564) ต่อ สศช. ซึ่งในคราวประชุมสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ครั้งที่ 10/2563 เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2563 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการร่างแผนยุทธศาสตร์ฯ โดยให้ รภ. ปรับปรุง ในประเด็นต่าง ๆ เช่น (1) การกำหนดวิสัยทัศน์เรื่องภาษาควรมีความชัดเจนว่าจะพัฒนาประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศที่ใช้สองภาษา (bilingual) หรือไม่ (2) ควรปรับชื่อเป็น (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้าน ... และระยะเวลาของแผนฯ ให้สิ้นสุดในปี พ.ศ. 2565 เพื่อให้สอดคล้องกับห้วงเวลาตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (3) ควรเพิ่มเติมประเด็นการยกระดับภาษาไทยในมิติต่าง ๆ โดยควรเน้นไปที่การรู้หนังสือในระดับที่สามารถใช้การได้จริงมากกว่าเพียงการอ่านออกเขียนได้ (4) ควรทำให้ภาษาไทยก้าวทันบริบทการเปลี่ยนแปลงโดยเพิ่มเติมในการนิยามของคำศัพท์สมัยใหม่ (5) แนวทางการเรียนการสอนภาษาไทย - ภาษาท้องถิ่น ควรมีความยืดหยุ่นสอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่และความต้องการของผู้เรียน (6) การอนุรักษ์ การสร้างความภูมิใจ และการสร้างความเข้าใจในภาษาท้องถิ่น ควรส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดออกมาในหลายรูปแบบ เช่น ภาพยนตร์ ละคร ซีรีย์ เป็นต้น 1.3 รภ. ได้ปรับเปลี่ยนเป็น (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านนโยบายภาษาแห่งชาติ (พ.ศ. 2564 - 2565) และปรับปรุงประเด็นต่าง ๆ ตามข้อคิดเห็นของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแล้ว ซึ่ง สศช. ได้นำเสนอต่อสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาแล้วในการประชุม ครั้งที่ 12/2563 เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2563 และมีข้อคิดเห็นเพิ่มเติมให้ รภ. นำไปปรับปรุง (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เช่น (1) การพัฒนาประเทศไทยไปสู่การเป็น bilingual ควรกำหนดทิศทางการพัฒนาในแผนให้ชัดเจนว่าประเทศไทยควรเลือกภาษาต่างประเทศใดเป็นภาษาที่ 2 ที่จะเป็นจุดคานงัดให้กับประเทศ โดยควรกำหนดแนวทางดังกล่าวและดำเนินการให้เห็นเป็นรูปธรรมภายในปี 2564 (2) การใช้ภาษาแม่เป็นฐานควรอยู่บนหลักการของความสมดุลระหว่างภาษาไทยและภาษาถิ่น ทั้งนี้ ให้ดำเนินการเสนอแผนฯ ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องต่อไป 2. (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านนโยบายภาษาแห่งชาติ (พ.ศ. 2564 - 2565) มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้ หัวข้อ สาระสำคัญ แนวคิด กรอบแนวคิดหลักในการพัฒนาแผนปฏิบัติการฯ คือ ?ภาษาเพื่อสันติสุขที่ยั่งยืน? ประกอบด้วยหลักการสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1) ภาษาเพื่อการดำรงอยู่ของอัตลักษณ์ชุมชนและความสมานฉันท์ของคนในชาติ 2) ภาษาเพื่อการรับรู้ เข้าใจ และการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน 3) ภาษาเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ประเด็นที่สำคัญที่สุดในการพัฒนากรอบแนวคิดนี้คือ การใช้ภาษาแม่เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาการเรียนรู้ภาษาไทยที่เป็นภาษาราชการ และเชื่อมโยงไปสู่การเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ เนื่องจากสอดคล้องกับธรรมชาติการเรียนรู้ภาษาของมนุษย์โดยไม่ละเลยการใช้ภาษาท้องถิ่นและภาษาสำหรับผู้ด้อยโอกาส วิสัยทัศน์ ?รู้ใช้-รู้รักษ์ภาษาไทย เปิดใจรับสิทธิทางภาษา พัฒนาทักษะภาษาระดับสากล สู่สังคมสันติสุขอย่างยั่งยืน? วัตถุประสงค์ 1) เพื่อสร้างความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของภาษาที่แสดงออกถึงชีวิตและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่มีอยู่อย่างหลากหลาย 2) เพื่อธำรงรักษาภาษาไทยในฐานะภาษาประจำชาติให้ดำรงอยู่อย่างยั่งยืนและสร้างความเป็นเอกภาพให้แก่ประเทศไทย 3) เพื่อส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้และทักษะการใช้ภาษาไทยให้แก่คนทุกกลุ่มในสังคมไทยให้มีประสิทธิภาพในการสื่อสารและสร้างความเข้าใจอันดี 4) เพื่อส่งเสริมการใช้และพัฒนาภาษาท้องถิ่นให้เป็นเครื่องมือในการศึกษาและถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นให้แก่เด็กและเยาวชน 5) เพื่อยกระดับวิชาชีพการแปล การทำงานล่าม และล่ามภาษามือให้เป็นมาตรฐาน 6) เพื่อส่งเสริมและพัฒนาทักษะการใช้ภาษาต่างประเทศและภาษาเพื่อนบ้านให้แก่คนไทย เป้าหมาย คนในสังคมไทยตระหนักถึงความสำคัญของภาษา เห็นคุณค่า และยอมรับความแตกต่างของภาษาและสังคมวัฒนธรรม สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมไทยและสังคมโลกอย่างสันติสุขและยั่งยืน โดยมีเป้าหมายรองรับคือ 1) ภาษาไทยได้รับการธำรงรักษาและพัฒนาอย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง 2) คนทุกกลุ่มในสังคมไทยสามารถใช้ภาษาไทยในการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ 3) คนในท้องถิ่นใช้ภาษาท้องถิ่นอย่างกว้างขวางขึ้น อีกทั้งส่งเสริมให้ใช้ภาษาท้องถิ่นในการศึกษาควบคู่กับภาษาไทย 4) นักแปลและล่ามแปลมีมาตรฐานวิชาชีพ ล่ามภาษามือที่มีคุณภาพมีจำนวนมากขึ้น 5) คนไทยที่สามารถใช้ภาษาต่างประเทศและภาษาเพื่อนบ้านมีจำนวนมากขึ้นและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ตัวชี้วัด ประกอบด้วย 12 ตัวชี้วัด ได้แก่ 1) จำนวนโครงการ/กิจกรรมที่แสดงออกถึงการยอมรับความหลากหลายของภาษาและวัฒนธรรมเพิ่มขึ้น 2) อัตราการรู้หนังสือและความสามารถในการใช้ภาษาไทยของประชากรไทยเพิ่มขึ้น 3) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากการทดสอบระดับชาติ (O-NET) มีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าร้อยละ 50 4) จำนวนผลงานวิจัยด้านหลักภาษาไทยและวรรณกรรมไทยเพิ่มขึ้น 5) จำนวนหลักสูตรและการฝึกอบรมภาษาไทยเพิ่มขึ้น 6) ร้อยละของสถานศึกษาที่ใช้ภาษาท้องถิ่นควบคู่กับภาษาไทยเป็นสื่อในการสอนเพิ่มขึ้น 7) ร้อยละของโครงการที่ส่งเสริมการใช้ การเรียนรู้ การอนุรักษ์ การพัฒนาภาษาท้องถิ่นเพิ่มขึ้น 8) มีมาตรฐานวิชาชีพนักแปลและล่ามแปล 9) มีสภาวิชาชีพการแปลและการล่าม 10) ร้อยละ 70 ของล่ามภาษามือที่ลงทะเบียนได้รับใบรับรองมาตรฐาน 11) จำนวนการสอนหรืออบรมภาษาต่างประเทศและภาษาเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น 12) จำนวนรายการในสื่อต่าง ๆ ที่ใช้ภาษาต่างประเทศและภาษาเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น ประเด็นยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 6 ประเด็นยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1) ขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่การยอมรับการเป็นสังคมพหุลักษณ์และมุ่งเน้นการพัฒนาเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขและยั่งยืนทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ หน่วยงานหลัก : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง : เช่น กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กระทรวงแรงงาน (รง.) 2) พัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของคนในชาติด้วยการเรียนรู้ภาษาที่หลากหลาย หน่วยงานหลัก : ศธ. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง : เช่น อว. มท. วธ. 3) ส่งเสริมการใช้ภาษาไทยในฐานะภาษาประจำชาติและปรับเปลี่ยนการจัดการเรียนรู้ภาษาไทยให้เป็นไปตามธรรมชาติการเรียนรู้ภาษาของมนุษย์ หน่วยงานหลัก : อว. ศธ. รภ. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง : เช่น มท. รง. วธ. กรมประชาสัมพันธ์ 4) รักษา สืบทอดการใช้ภาษาท้องถิ่น หรือภาษาแม่ทั้งในชีวิตประจำวันและในระบบการศึกษา หน่วยงานหลัก : อว. มท. วธ. ศธ. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง : เช่น พม. รภ. สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ 5) พัฒนาทักษะและความสามารถทางด้านภาษาเพื่อเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หน่วยงานหลัก : กต. พม. อว. ศธ. รภ. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น มท. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รง. สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย สมาคมล่ามภาษามือ 6) ส่งเสริมการพัฒนาทักษะการใช้ภาษาไทยและสื่อเพื่อการสื่อสาร การดำรงชีวิต และรักษาสิทธิขั้นพื้นฐานให้กับกลุ่มคนด้อยโอกาส หน่วยงานหลัก : พม. รง. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง : เช่น กต. มท. วธ. ศธ. แนวทางการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ 1) สร้างความรู้ ความเข้าใจให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญและพร้อมเข้าร่วมในการผลักดันแผนปฏิบัติการด้านนโยบายภาษาแห่งชาติไปสู่การปฏิบัติ 2) เสริมสร้างบทบาทการมีส่วนร่วมของภาคีการพัฒนาในการจัดทำแผนปฏิบัติการในระดับต่าง ๆ ที่บูรณาการเชื่อมโยงกับแผนปฏิบัติการด้านนโยบายภาษาแห่งชาติ 3) สร้างความเชื่อมโยงระหว่างแผนปฏิบัติการด้านนโยบายภาษาแห่งชาติกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ และแผนยุทธศาสตร์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 4) จัดทำแผนงานการจัดสรรงบประมาณแบบมีส่วนร่วม เพื่อสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการกำหนดลำดับความสำคัญของภารกิจหน่วยงานที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาภายใต้แผนปฏิบัติการฯ 5) การสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการขับเคลื่อนแผนของภาคีการพัฒนาต่าง ๆ 6) ติดตามประเมินผลแผนปฏิบัติการด้านนโยบายภาษาแห่งชาติโดยให้ความสำคัญกับการติดตามความก้าวหน้า การประเมินผลสำเร็จและผลกระทบของการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องตามประเด็นการพัฒนาตามแผนปฏิบัติการและผลการพัฒนาในภาพรวม ประโยชน์ที่จะได้รับ เช่น 1) ประชาชนชาวไทยทุกคนได้เรียนรู้และใช้ภาษาไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2) ประชาชนชาวไทยดูแลรักษาและส่งเสริมสนับสนุนภาษา วรรณกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น 3) คนพิการสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและบริการของรัฐ 4) ประชาชนทุกคนมีความสามารถในการใช้ภาษานานาชาติและภาษาประเทศเพื่อนบ้าน 5) ผู้แสวงหางานทำในประเทศไทยใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวัน ค่าใช้จ่าย ค่าใช้จ่ายที่ใช้ดำเนินการเพื่อจัดประชุมการขับเคลื่อนแผนและติดตามประเมินผลแผนปฏิบัติการฯ จะใช้จ่ายจากเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีของ รภ. 18. เรื่อง ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การบริหารจัดการงบประมาณโครงการเงินอุดหนุนสำหรับสนับสนุนอาหารกลางวันนักเรียนระดับปฐมวัยและระดับประถมศึกษาในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ของคณะกรรมาธิการติดตามการบริหารงบประมาณ วุฒิสภา คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การบริหารจัดการงบประมาณโครงการเงินอุดหนุนสำหรับสนับสนุนอาหารกลางวันนักเรียนระดับปฐมวัยและระดับประถมศึกษาในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ของคณะกรรมาธิการติดตามการบริหารงบประมาณ วุฒิสภา ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป เรื่องเดิม 1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา (สว.) ได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การบริหารจัดการงบประมาณโครงการเงินอุดหนุนสำหรับสนับสนุนอาหารกลางวันนักเรียนระดับปฐมวัยและระดับประถมศึกษาในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มาเพื่อดำเนินการโดยคณะกรรมาธิการติดตามการบริหารงบประมาณได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายหลายประการ ได้แก่ ความไม่เพียงพอของงบประมาณที่ได้รับ ความล่าช้าของการรับงบประมาณ การจัดอาหารกลางวันให้แก่นักเรียนที่ไม่มีสิทธิได้รับการอุดหนุนตามโครงการเงินอุดหนุนสำหรับสนับสนุนอาหารกลางวันนักเรียนระดับปฐมวัยและระดับประถมศึกษาในสังกัด อปท. การขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา และการบริหารจัดการงบประมาณของบุคลากรในสถานศึกษา 2. รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ มท. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการดังกล่าวไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงสาธารณสุข สำนักงบประมาณ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป ข้อเท็จจริง มท. รายงานว่า ได้ร่วมประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามข้อ 2. ซึ่งเห็นชอบกับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายดังกล่าว สรุปได้ดังนี้ ข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ผลการพิจารณา 1. ปัญหาความไม่เพียงพอของงบประมาณที่ได้รับการอุดหนุน 1.1 ควรเพิ่มอัตราค่าอาหารกลางวันตามโครงการดังกล่าวให้กับโรงเรียนทุกสังกัด โดยจัดกลุ่มโรงเรียนตามจำนวนโรงเรียนตามที่ ศธ. เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา - เห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ - กรณีการจัดสรรงบประมาณค่าอาหารกลางวันในลักษณะขั้นบันได คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 เห็นชอบให้ปรับอัตราค่าอาหารกลางวันเป็น 21 บาท/คน/วัน แล้ว โดยพิจารณาแนวทางและมาตรการในการดำเนินการเพื่อส่งเสริม สนับสนุน หรือขอความร่วมมือจากภาคเอกชน และผู้ปกครองให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการค่าอาหารกลางวัน ทั้งนี้ เพื่อให้นักเรียนได้รับอาหารกลางวันที่เหมาะสมเพียงพอ และถูกหลักโภชนาการมากยิ่งขึ้น - ประเด็นการปรับปรุงข้อมูลในระบบ LEC นั้น เป็นไปตามระยะเวลาของภาคการศึกษาในแต่ละปี ซึ่งถือว่าเหมาะสมแล้ว ประกอบกับเป็นการเปิดระบบในระยะเวลาเดียวกับที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้สถานศึกษาในสังกัดบันทึกข้อมูลเช่นเดียวกัน 1.2 ควรให้การสนับสนุนงบประมาณอุดหนุนสำหรับอาหารกลางวันแก่นักเรียนระดับปฐมวัยและระดับประถมศึกษา โดยพิจารณาตามความจำเป็นของร่างกายในแต่ละช่วงวัย และจัดสรรงบประมาณลักษณะขั้นบันไดในอัตราต่อหัวที่เท่ากัน 1.3 ควรเปิดโอกาสให้มีการปรับปรุงตัวเลขในฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ในส่วนของระบบ Local Education Center Information System (LEC) เพื่อให้จำนวนตัวเลขนักเรียนเป็นปัจจุบัน และให้ อปท. จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมในไตรมาสต่อไป 2. ปัญหาความล่าช้าของการรับงบประมาณ 2.1 ควรกำหนดยุทธศาสตร์ว่าด้วยการจัดหาอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนระดับปฐมวัยและระดับประถมศึกษา ให้มีความชัดเจน และมีความยืดหยุ่น - กรณีความล่าช้าของการรับงบประมาณ และจากข้อมูลการดำเนินงานของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นที่ผ่านมาได้มีการแก้ไขระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องซึ่งให้สถาบันการศึกษาจัดทำประมาณการค่าใช้จ่าย โดยไม่ต้องทำบันทึกข้อตกลง และสามารถดำเนินการหรือก่อหนี้ผูกพันก่อนได้รับเงินอุดหนุน อันเป็นการแก้ปัญหาความล่าช้าในการรับงบประมาณสำหรับสถานศึกษาสังกัดอื่นได้ 2.2 ควรทบทวนแนวทางการจัดสรรเงินอุดหนุนสำหรับอาหารกลางวันแก่นักเรียนระดับปฐมวัยและระดับปฐมศึกษาให้เหมาะสมกับสภาพบริบทในปัจจุบัน และปรับเงื่อนไขข้อกำหนดเกี่ยวกับการใช้เงินทดรองราชการ รวมทั้งการใช้งบประมาณเหลือจ่ายกรณีที่เงินเหลือในสิ้นปีงบประมาณ 2.3 ควรพิจารณาทบทวนปรับปรุงขั้นตอนกระบวนการบริหารงบประมาณให้เหลือเพียงขั้นตอนที่สำคัญและจำเป็น เพื่อไม่ก่อให้เกิดภาระแก่หน่วยงานและบุคคลที่เกี่ยวข้อง 3. ปัญหาการจัดอาหารกลางวันให้แก่นักเรียนที่ไม่มีสิทธิได้รับการสนับสนุนตามโครงการดังกล่าว ควรขยายขอบเขตของกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมนักเรียนไร้สัญชาติ นักเรียนที่ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน นักเรียนในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 3 ในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา และเด็กปฐมวัยที่มีอายุต่ำกว่าเกณฑ์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ในกรณีที่ไม่สามารถขยายขอบเขตให้กับกลุ่มนักเรียนข้างต้นได้ เห็นควรพิจารณาเป็น 2 แนวทาง ดังนี้ 1. โรงเรียนในสังกัด สพฐ. ควรให้กองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษาพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้แก่นักเรียนไร้สัญชาติ นักเรียนที่ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน และนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 3 ในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา 2. โรงเรียนในสังกัด อปท. ควรกำหนดให้ อปท. จัดสรรงบประมาณให้กับนักเรียนไร้สัญชาติ นักเรียนที่ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน นักเรียนในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 3 ในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา และเด็กปฐมวัยที่มีอายุต่ำกว่าเกณฑ์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้ - สำหรับเด็กที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย มท. ได้แก้ไขปัญหานี้แล้ว - กรณีเด็กมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 3 ในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาขาดสารอาหารหรือทุพโภชนาการ อปท. อาจพิจารณาดำเนินการในลักษณะการสงเคราะห์ช่วยเหลือ ซึ่งเป็นการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก เยาวชน และผู้ด้อยโอกาส โดยถือปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หากเป็นสถานศึกษาต่างสังกัด ให้พิจารณาดำเนินการตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2559 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 4. ปัญหาการขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา 4.1 ควรเร่งประชาสัมพันธ์กิจกรรมการดำเนินการของกองทุนและสำนักงานให้ อปท. ทราบถึงหลักเกณฑ์และวิธีการขอรับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษาให้มากขึ้น 4.2 ควรพิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์เงื่อนไขการขอรับการสนับสนุนจากกองทุนฯ เพื่อให้เงื่อนไขสอดคล้องกับบริบทและสถานการณ์ เพื่อให้หลักเกณฑ์ไม่เป็นปัญหาและอุปสรรคในการขอรับการจัดสรรงบประมาณ และเพื่อให้กองทุนฯ เป็นมาตรการส่งเสริมที่มีประสิทธิภาพ ควรขยายขอบเขตของกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุม นักเรียนไร้สัญชาติ นักเรียนที่ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน และนักเรียนอายุต่ำกว่าเกณฑ์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสามารถเข้าถึงโอกาสในการขอรับการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนได้ง่ายและสะดวกมากขึ้นในการแก้ปัญหาการขาดสารอาหาร ปัญหาทุพโภชนาการของประเทศ ทั้งนี้ เพื่อให้นักเรียนกลุ่มนี้ได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพและทั่วถึงตามหลักสิทธิมนุษยชน - ได้มีการประชาสัมพันธ์กิจกรรมดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์กองทุนฯ และผ่านกลุ่ม LINE ของผู้บริหารในคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ - ได้มีการทบทวนหลักเกณฑ์การขอรับสนับสนุนงบประมาณเป็นประจำทุกปี ซึ่งทางกองทุนฯ มีความยินดีที่จะสนับสนุนงบประมาณสำหรับเด็กที่ไม่มีสัญชาติ และเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน 5. ปัญหาการบริหารจัดการงบประมาณของบุคลากรในสถานศึกษา 5.1 กรณีโรงเรียนไม่มีความพร้อมด้านบุคลากร ควรให้เจ้าหน้าที่สำนักการคลังหรือเจ้าหน้าที่ด้านพัสดุของ อปท. เป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างหรือดำเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับโครงการดังกล่าว - เรื่องบุคลากรของสถานศึกษาในสังกัด อปท. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้แก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว และมีการจัดฝึกอบรมเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่าง ๆ ให้ อปท. รับทราบและถือปฏิบัติ 5.2 เมื่อมีการปรับปรุง แก้ไข หรือยกเลิกระเบียบ กฎ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ควรมีการสื่อสารเชิงรุกให้แก่ อปท. โรงเรียนในสังกัด อปท. และบุคลากรที่รับผิดชอบทราบโดยเร็ว และควรมีช่องทางการสื่อสารที่สามารถสื่อสารได้สองช่องทาง เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถสอบถามในกรณีที่มีความสงสัย 19. เรื่อง รายงานผลการปฏิบัติงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ประจำปี 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) เสนอรายงานผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประจำปี 2563 สรุปสาระสำคัญดังนี้ สาระสำคัญของเรื่อง สำนักงาน กสทช. รายงานผลการปฏิบัติงานของ กสทช. ประจำปี 2563 โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้ 1. ผลการดำเนินงานสำคัญของ กสทช. ในปี 2563 ได้ดำเนินภารกิจหลักในการบริหารคลื่นความถี่ การกำกับดูแลกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เช่น (1) การจัดการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 และ 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิ๊กกะเฮิรตซ์ สำหรับรองรับเทคโนโลยี 5G และการจัดทำแผนการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม (ปี 2563) 2. แผนการดำเนินงานและประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 กสทช. และสำนักงาน กสทช. มีแผนการดำเนินงานที่สำคัญในปี 2564 เช่น (1) เตรียมความพร้อมในการประมูลคลื่นย่านความถี่ 3500 เมกะเฮิรตซ์ โดยมีการคำนึงถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบ การจัดให้มีมาตรการป้องกันการรบกวนความถี่ที่ใช้งานร่วมกันระหว่างกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล และกิจการอื่น การจัดทำหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิรตซ์ (2) ดำเนินการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (3) เร่งรัดปรับปรุงโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล (MUX) เพื่อรองรับการเรียกคืนคลื่นความถี่แห่งชาติ (National Spectrum Monitoring Center) โดยได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 6,509.43 ล้านบาท [งบประมาณรายจ่ายของสำนักงาน กสทช. 5,399.43 ล้านบาท และเงินจัดสรรเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) และกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา 1,110 ล้านบาท] 3. ปัญหาและอุปสรรคในการประกอบกิจการฯ ได้แก่ (1) การหลอมรวมทางเทคโนโลยี (Convergence) ซึ่งก่อให้เกิดการผสมบริการกระจายเสียงโทรทัศน์และโทรคมนาคม เข้าด้วยกันในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การบริการโทรทัศน์ผ่านโครงข่ายโทรคมนาคม จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 3 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 พระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 และพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 เพื่อให้มีหลักเกณฑ์การกำกับดูแลที่เหมาะสมและสอดคล้องกับการหลอมรวมทางเทคโนโลยี (ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาและจัดทำข้อเสนอในการแก้ไขปรับปรุงข้อกฎหมายดังกล่าว) (2) การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศของอุตสาหกรรม ปัจจุบันผู้บริโภคได้หันไปบริโภคเนื้อหารายการผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ผ่านโครงข่ายอื่นที่มิใช่โครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ (Over the Top: OTT) ซึ่งสามารถรับฟังและรับชมรายการได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านหลากหลายอุปกรณ์ รวมทั้งผู้ให้บริการ OTT มิได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลการประกอบกิจการเช่นเดียวกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในการประกอบกิจการและการแข่งขัน รวมถึงการกำกับดูแลเนื้อหาที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐและขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ดังนั้น กสทช. จึงได้กำหนดให้การพัฒนากิจการโทรทัศน์ของประเทศให้เหมาะสมกับบริบทใหม่เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ภายใต้แผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 2 ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการปรับกระบวนการกำกับดูแลให้สอดคล้องกับระบบนิเวศของอุตสาหกรรมและการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป และ (3) ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทำให้แผนการขับเคลื่อน 5G ของรัฐบาลจากเดิมที่มุ่งผลักดันเทคโนโลยี 5G ให้มีบทบาทในอุตสาหกรรมการผลิตก่อนต้องชะลอออกไป เนื่องจากผู้ประกอบการได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจและการลงทุนอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดฯ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน กสทช. ได้เร่งผลักดันการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ในอุตสาหกรรมด้านการแพทย์และสาธารณสุขก่อน (เดิมคาดว่าจะถูกผลักดันอย่างเป็นรูปธรรมในอีก 2-3 ปีข้างหน้า) และจะเร่งผลักดันเทคโนโลยี 5G เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมด้าน อื่น ๆ เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ เริ่มคลี่คลาย 4. ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคในกิจการฯ สำนักงาน กสทช. ได้พัฒนา ปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการของศูนย์ Call Center 1200 เพื่อให้บริการข้อมูลข่าวสารและรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563 มีสถิติการร้องเรียนของประชาชนผ่านช่องทางดังกล่าว รวมทั้งสิ้น 2,275 เรื่อง ประเด็นการร้องเรียนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) การร้องเรียนปัญหาจากการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ จำนวน 1,432 เรื่อง (2) การร้องเรียนปัญหาจากการใช้บริการอินเทอร์เน็ต จำนวน 458 เรื่อง และ (3) เรื่องอื่น ๆ จำนวน 175 เรื่อง โดยสำนักงาน กสทช. สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ แล้วเสร็จ จำนวน 122 เรื่อง จากทั้งหมด จำนวน 132 เรื่อง (ร้อยละ 92.42) และเรื่องร้องเรียนในกิจการโทรคมนาคมแล้วเสร็จ จำนวน 1,487 เรื่อง จากทั้งหมด จำนวน 1,745 เรื่อง (ร้อยละ 85.21) 5. ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของ กทปส. 5.1 ประสิทธิภาพ ในปี 2563 มีผู้ที่สมควรได้รับการพิจารณาสนับสนุน กทปส. ประเภทที่ 1 จำนวน 41 โครงการ เป็นยอดวงเงินจัดสรรทั้งสิ้น จำนวน 256.49 ล้านบาท สามารถพิจารณาปรับลดเป็นผลให้ประหยัดงบประมาณได้ จำนวน 165.28 ล้านบาท (ร้อยละ 40) นอกจากนี้ จากการลงทุนในเงินฝากประจำธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจในประเทศ กทปส. ได้รับอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยร้อยละ 0.80 และมีแผนการเบิกจ่าย จำนวน 10,727.73 ล้านบาท แต่สามารถเบิกจ่ายได้ จำนวน 6,271.20 ล้านบาท (ร้อยละ 58.46) ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากการเบิกจ่ายในโครงการจัดให้มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่พื้นที่ ชายขอบ (Zone C+) และโครงการจัดให้มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่พื้นที่ห่างไกล (Zone C) ไม่เป็นไปตามแผน 5.2 ประสิทธิผล ในปี 2563 กทปส. มีรายได้จำนวนทั้งสิ้น 13,839.45 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 ประมาณ 1,562.26 ล้านบาท และมีรายจ่ายจำนวนทั้งสิ้น 8,324.17 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ประมาณ 5,311.46 ล้านบาท ทั้งนี้ มีโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2563 โดยสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการและได้มีการนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เช่น โครงการศึกษาและพัฒนาบุคลากรเพื่อปรับปรุงการปฏิบัติงานและพัฒนาเครื่องมือในการเฝ้าระวังความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์สำหรับองค์กรขนาดเล็กในระดับชุมชน และโครงการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับภัยคุกคามและอาชญากรรมทางไซเบอร์ 6. รายงานสภาพตลาดและการแข่งขัน 6.1 กิจการโทรทัศน์ มูลค่าการโฆษณาในกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ในปี 2563 มียอดรวมประมาณ 61,662.46 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 ประมาณ 6,382.78 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 9.38 ส่วนมูลค่าการโฆษณาในกิจการเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม ในปี 2563 มียอดรวมประมาณ 1,515.82 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 ประมาณ 750 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 33 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการกระจายเม็ดเงินโฆษณาไปยังช่องรายการเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมที่น้อยลง 6.2 กิจการกระจายเสียง มูลค่าการโฆษณาผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงระบบเอฟเอ็ม คลื่นหลักในกรุงเทพมหานคร ในปี 2563 มีมูลค่าประมาณ 3,602.25 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 ประมาณ 1,132.60 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 24 6.3 กิจการโทรคมนาคม มีจำนวนผู้ลงทะเบียนใช้บริการโทรศัพท์ประจำที่ของไทยประมาณ 5 ล้านเลขหมาย โดยลดลงร้อยละ 7.65 เมื่อเทียบกับปี 2562 และมีจำนวนผู้ลงทะเบียนใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ประมาณ 116.29 ล้านเลขหมาย โดยลดลงร้อยละ 10.28 เมื่อเทียบกับปี 2562 ส่วนบริการอินเทอร์เน็ต มีจำนวนผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงประจำที่เพิ่มขึ้นจากปี 2562 เป็น 11.69 ล้านราย โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.61 และมีจำนวนผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเคลื่อนที่เพิ่มขึ้นจากปี 2562 เป็น 63.06 ล้านหมายเลข โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.49 20. เรื่อง รายงานผลการขับเคลื่อนแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2559-2564) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอรายงานผลการขับเคลื่อนแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2559-2564) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (12 กรกฎาคม 2559) เรื่อง (ร่าง) แผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2559-2564) ที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนแม่บทฯ ไปปฏิบัติและรายงานผลต่อคณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติเพื่อรายงานต่อคณะรัฐมนตรี] ซึ่งคณะกรรมการฯ ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 [โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นประธาน] ได้มีมติรับทราบผลการดำเนินงานขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ และเห็นชอบแนวทาง/แผนการดำนเนินงานต่อไป สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ 1. ภาพรวมการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ของแผนแม่บทฯ ยุทธศาสตร์ ผลการดำเนินงาน 1. วางระบบรากฐานการเสริมสร้างคุณธรรมในสังคมไทย จัดทำเกณฑ์การประเมินเพื่อใช้เป็นแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาชุมชน องค์กร อำเภอ และจังหวัดคุณธรรม ใน 3 ระดับ ได้แก่ ระดับส่งเสริมคุณธรรม ระดับคุณธรรม และระดับคุณธรรมต้นแบบ ด้วยการนำมิติทางวัฒนธรรมมาบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วน ทุกพื้นที่ โดยใช้กลไกพลัง ?บวร? และ ?ประชารัฐ? มาสร้างอัตลักษณ์ที่มีความโดดเด่น ส่งผลให้เกิดชุมชน องค์กร อำเภอ และจังหวัดคุณธรรมในทุกพื้นที่ของประเทศ จำนวน 35,786 แห่ง รวมทั้งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของบุคลากรในหน่วยงานทุกภาคส่วน โดยการจัดกิจกรรมที่สอดคล้องตามเป้าหมายของแผนแม่บทฯ ใน 3 ด้าน ประกอบด้วย (1) การนำหลักธรรมทางศาสนาไปสู่การปฏิบัติ เช่น จัดกิจกรรมทางศาสนาในหน่วยงาน (2) การนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฏิบัติ เช่น จัดกิจกรรมศึกษาดูงานด้านเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อนำมาปรับใช้ในหน่วยงาน และ (3) การดำรงรักษาไว้ซึ่งวิถีวัฒนธรรมไทยไปสู่การปฏิบัติ เช่น จัดกิจกรรมแต่งกายด้วยชุดผ้าไทย 2. การสร้างความเข้มแข็งในระบบการบริหารจัดการด้านการส่งเสริมคุณธรรมให้เป็นเอกภาพ สนับสนุนและเสริมสร้างกลไกในการขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ เพื่อให้การดำเนินงานครอบคลุมกับสถานการณ์ปัจจุบันและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคณะกรรมการฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการชุดใหม่เพื่อทดแทนคณะอนุกรรมการที่หมดวาระ จำนวน 4 คณะ ประกอบด้วย (1) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ (2) คณะอนุกรรมการด้านวิชาการการส่งเสริมคุณธรรมในสังคมไทย (3) คณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์การส่งเสริมคุณธรรมในสังคมไทย และ (4) คณะอนุกรรมการด้านการประเมินชุมชน องค์กร อำเภอและจังหวัดคุณธรรม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการวางกรอบนโยบายและติดตามการส่งเสริมคุณธรรมและขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ เพื่อให้ทุกภาคส่วนนำไปขับเคลื่อนต่อในพื้นที่ให้เกิดเป็นรูปธรรม 3. สร้างเครือข่ายความร่วมมือในการส่งเสริมคุณธรรม - วธ. (กรมการศาสนา) ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการติดตามการขับเคลื่อนแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ประจำปี 2563 ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางในการดำเนินงานขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ รวมทั้งข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ในการเตรียมยกร่างแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) - หน่วยงานและองค์กรเครือข่าย จำนวน 107 หน่วยงาน ได้จัดกิจกรรมตามแผนปฏิบัติการส่งเสริมคุณธรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 และมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด-19) โดยหน่วยงานราชการได้มีการพัฒนาระบบกลไกการบริหารจัดการดำเนินการส่งเสริมคุณธรรมภายในหน่วยงานให้มีความเชื่อมโยงกับแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน มีการขยายภาคีเครือข่ายที่ให้ความร่วมมือสนับสนุนส่งเสริมคุณธรรมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการดำเนินงานที่คาดหวัง - จัดทำหนังสือ ?คุณธรรมนำการพัฒนา ปี 2563? เพื่อประชาสัมพันธ์ผลงานของแต่ละหน่วยงาน และเป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการส่งเสริมคุณธรรมของแต่ละหน่วยงานต่อไป 4. ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นแบบอย่างด้านคุณธรรมในประชาคมอาเซียนและประชาคมโลก จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทุกหน่วยงานมีการแสดงออกถึงความเอื้อเฟื้อผ่านกิจกรรม ?ตู้ปันสุข? และปรับเปลี่ยนการทำงานใหม่ แต่ยังคงไว้ซึ่งคุณภาพและหัวใจบริการประชาชนภายใต้ ?จิตอาสา? ที่อยู่ในหัวใจของทุกคน ทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับและเป็นแบบอย่างให้กับนานาชาติ 2. แนวทาง/แผนการดำเนินการต่อไป คณะกรรมการฯ เห็นชอบให้มีการขยายระยะเวลาบังคับใช้แผนแม่บทฯ ต่อไปอีก 1 ปี (ถึงปี 2565) เพื่อให้สอดคล้องกับห้วงเวลาของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ที่กำหนดเป็นห้วงละ 5 ปี ได้แก่ ปี 2566-2570 ปี 2571-2575 และปี 2576-2580 ซึ่งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้แจ้งว่า วธ. สามารถประกาศใช้แผนได้ทันทีโดยไม่มีความจำเป็นต้องผ่านกระบวนการกลั่นกรองแผนฯ เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี หรือเพื่อทราบ ทั้งนี้ จะต้องพิจารณาความเป็นไปได้ของแผนงาน/โครงการที่จะดำเนินการ รวมถึงความเหมาะสมและความจำเป็นในการขยายระยะเวลาออกไป วธ. (กรมการศาสนา) จึงกำหนดแนวทางการดำเนินงานต่อไป ดังนี้ 2.1 แจ้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมคุณธรรมระดับกระทรวง ระดับจังหวัดกรุงเทพมหานคร และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการปรับระยะเวลาของแผนแม่บทฯ ของแต่ละหน่วยงาน ให้สอดคล้องกับแผนแม่บทฯ ฉบับที่ 1 และเตรียมการจัดทำแผนงาน/โครงการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ภายใต้แผนแม่บทฯ ของแต่ละหน่วยงานต่อไป 2.2 จัดประชุมติดตามการขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ ฉบับที่ 1 ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั้ง 4 ภาค เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ ของแต่ละหน่วยงานในพื้นที่ แสดงผลงานด้านการส่งเสริมคุณธรรมของชุมชนและองค์กรคุณธรรมต้นแบบ ส่งเสริมให้เกิดการบูรณาการการส่งเสริมคุณธรรมของหน่วยงานทุกภาคส่วนในพื้นที่ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้งรับฟังข้อคิดเห็นเพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดทำแผนแม่บทฯ ฉบับที่ 2 2.3 เตรียมการจัดทำร่างแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) โดยนำข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ มาประกอบการพิจารณา และให้มีความสอดคล้องเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติและทิศทางแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และแผนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง 2.4 ทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องการประเมินชุมชน องค์กร อำเภอ และจังหวัดคุณธรรม เพื่อให้การดำเนินงานส่งเสริมคุณธรรมในปี 2564 และ 2565 สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรมและเป็นไปในแนวทางเดียวกันทั้งประเทศ ตลอดจนกำกับติดตาม และส่งเสริมการขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ ของหน่วยงานต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับตัวชี้วัดที่กำหนด 21. เรื่อง การเพิ่มเติมหลักการของร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบดังนี้ 1. เห็นชอบการเพิ่มเติมหลักการของร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน ตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) เสนอ ซึ่งหลักการดังกล่าวเป็นข้อกำหนดตามมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Anti-Money Laundering and Combating the Financing of Terrorism: AML/CFT) จำนวน 8 ประเด็น 2. ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับหลักการข้อกำหนดตามมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง จำนวน 8 ประเด็น ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเสนอ ตามมติที่ประชุมที่มีรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นประธาน เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ไปประกอบการพิจารณายกร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน โดยให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นหน่วยงานเจ้าของเรื่องร่างกฎหมายดังกล่าว รวมทั้งการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากร่างกฎหมายตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ข้อเท็จจริง 1. รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ได้จัดให้มีการประชุมร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 เพื่อพิจารณาการดำเนินการเกี่ยวกับร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน ประกอบด้วย สคก. มท. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) สำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) และสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) โดยที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบ 1.1 ให้สำนักงาน ปปง. เสนอการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการกำกับดูแลองค์กรไม่แสวงหากำไรในส่วนที่ยังไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลด้าน AML/CFT จำนวน 8ประเด็น ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อมีมติให้ส่ง สคก. ประกอบการพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกันต่อไปโดยมาตรฐานสากลดังกล่าวมีดังนี้ (1) การจดทะเบียนและการเปิดเผยข้อมูลการจดทะเบียนเนื่องจากปัจจุบันยังมีองค์กรไม่แสวงหากำไรจำนวนมากที่ไม่ได้จดทะเบียน และการลงโทษยังไม่เพียงพอเหมาะสม (2) การเก็บรักษาข้อมูลวัตถุประสงค์ของกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร และชื่อบุคคลที่เป็นเจ้าของหรือมีอำนาจควบคุม และการเปิดเผยข้อมูลเนื่องจากไม่ชัดเจนว่ามีข้อมูลดังกล่าวและสาธารณชนเข้าถึงได้ (3) การจัดทำงบการเงินประจำปีที่แยกรายละเอียดของรายรับและรายจ่าย เนื่องจากกฎหมายที่มีอยู่ไม่ครอบคลุมองค์กรไม่แสวงหากำไรต่างประเทศ (4) การควบคุมการใช้เงินให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับอำนาจกรตรวจสอบของนายทะเบียน รวมถึงการตรวจสอบบัญชีเป็นไปอย่างครบถ้วนและการใช้จ่ายเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่ (5) มาตรการยืนยันตัวตนผู้รับประโยชน์และการจัดเก็บเอกสารแสดงตนของผู้บริจาค เนื่องจากไม่มีกฎหมายกำกับดูแลเรื่องดังกล่าว และไม่มีกระบวนการที่ชัดเจนในการรับบริจาคจากต่างประเทศ (6) การเก็บรักษารายการธุรกรรมอย่างน้อย 5 ปี และการเปิดเผยข้อมูล เนื่องจากไม่มีกฎหมายกำกับดูแลเรื่องดังกล่าว (7) บทลงโทษที่มีประสิทธิผล ได้สัดส่วน และมีผลยับยั้งการกระทำผิด เนื่องจากการลงโทษยังขาดความเพียงพอในด้านประสิทธิผล ความเหมาะสม และมีผลยับยั้งการกระทำผิดขององค์กรไม่แสวงหากำไร (8) การให้ข้อมูลองค์กรไม่แสวงหากำไรกับหน่วยงานต่างประเทศ เนื่องจากไม่มีกฎหมายให้อำนาจเปิดเผยข้อมูลองค์กรไม่แสวงหากำไรกับต่างประเทศ และไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรไม่แสวงหากำไรกับต่างประเทศ 1.2 มอบหมายให้ สคก. เป็นหน่วยงานเจ้าของเรื่องร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน รวมทั้งการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากร่างกฎหมาย ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมาย และการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 2. สำนักงาน ปปง. เสนอว่า 2.1 ประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มต่อต้านการฟอกเงินเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Group on Money Laundering: APG) ซึ่งเป็นองค์กรระดับภูมิภาคของคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงิน (Financial Action Task Force: FATF) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2544 [เรื่อง การสมัครเป็นสมาชิกกลุ่มต่อต้านการฟอกเงินเอเชีย - แปซิฟิก (Asia/Pacific Group on Money Laundering - APG)] และได้ต่ออายุกรอบข้อบังคับของ APG อีก 8 ปี (ถึงเดือนธันวาคม 2571) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 [เรื่อง ขอความเห็นชอบหนังสือยืนยันการต่ออายุกรอบข้อบังคับของกลุ่มต่อต้านการฟอกเงินเอเชีย - แปซิฟิก Asia/Pacific Group on Money Laundering ? APG)] ซึ่งประเทศไทยในฐานะสมาชิกมีภารกิจต้องเข้ารับการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้าน AML/CFT โดยกรอบกฎหมายตามข้อแนะนำที่ 8 เรื่ององค์กรไม่แสวงหากำไรตามมาตรฐานสากลดังกล่าว กำหนดให้แต่ละประเทศต้องทบทวนความเพียงพอเหมาะสมของกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่ใช้กับองค์กรไม่แสวงหากำไร ซึ่งเห็นว่ามีโอกาสถูกใช้ในการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และใช้มาตรการอย่างเฉพาะเจาะจงและได้สัดส่วนกับความเสี่ยง เพื่อป้องกันมิให้องค์กรไม่แสวงหากำไรถูกใช้เป็นช่องทางในการสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ก่อการร้าย รวมทั้งเพื่อส่งเสริมความโปร่งใสในการดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงหากำไรและสร้างความเชื่อมั่นให้กับสาธารณชน 2.2 ประเทศไทยได้เข้ารับการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลAML/CFT รอบที่ 3 เมื่อปี พ.ศ. 2560 โดยผลการประเมินความสอดคล้องด้านกรอบกฎหมายตามข้อแนะนำที่ 8 เรื่ององค์กรไม่แสวงหากำไร มีความสอดคล้องเพียงบางส่วน และมีข้อบกพร่องที่จำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการกำกับดูแลองค์กรไม่แสวงหากำไรในส่วนที่ยังไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล จำนวน 8 ประเด็น ตามข้อ 1.1 เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบ AML/CFT ของประเทศไทย และเตรียมความพร้อมสำหรับเข้ารับการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลต่อไป 2.3 ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามมติที่ประชุมร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามข้อ 1 ซึ่งที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่า ปัจจุบันการกำกับดูแลองค์กรไม่แสวงหากำไรอยู่ภายใต้กฎหมายหลายฉบับและอยู่ในความรับผิดชอบของต่างหน่วยงานกัน ซึ่งมีปัญหาในการกำกับดูแลและการบังคับใช้กฎหมาย ประกอบกับคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (23 กุมภาพันธ์ 2564) ซึ่งปัจจุบันร่างกฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องเสนอเรื่องการเพิ่มเติมหลักการของร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีโดยด่วน 22. เรื่อง แผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. 2564 ? 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (แผนการส่งเสริมฯ) พ.ศ. 2564 ? 2565 ซึ่งเป็นกรอบแนวทางในการขับเคลื่อนงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprise: SME) ของประเทศ ตามที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เสนอ สาระสำคัญของเรื่อง สสว. รายงานว่า 1. แผนการส่งเสริมฯ พ.ศ. 2564 - 2565 เป็นแผนที่ใช้เป็นกรอบแนวทางในการขับเคลื่อนงานส่งเสริม SME ของประเทศ ที่ผ่านมามีแผนการส่งเสริมฯ แล้ว รวม 4 ฉบับ โดยแผนการส่งเสริมฯ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2560 - 2564) มีกำหนดจะสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2564 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมการจัดทำแผนการส่งเสริมฯ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2565 - 2570) แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2563 ส่งผลให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SME ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจและไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างที่ผ่านมาเป็นระยะเวลายาวนาน ก่อให้เกิดปัญหาการขาดรายได้ ขาดสภาพคล่อง ทำให้เกิดความพยายามลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายด้วยการลดและการเลิกจ้างงาน ซึ่งนำไปสู่การขาดความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมและส่งผลกระทบเชิงสังคมในที่สุด สสว. จึงจัดทำแผนการส่งเสริมฯ พ.ศ. 2564 ? 2565 ซึ่งเป็นแผนระยะสั้นขึ้นเป็นกรณีพิเศษ เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางการขับเคลื่อนงานส่งเสริม SME ในระยะนี้ เพื่อให้การดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและเกิดความต่อเนื่อง โดยได้จัดทำแผนการส่งเสริมฯ พ.ศ. 2564 - 2565 ผ่านการศึกษาโครงสร้างและสถานการณ์ SME การศึกษาเปรียบเทียบการจัดทำแผนและยุทธศาสตร์การส่งเสริม SME ของประเทศต่าง ๆ การรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทในการดำเนินงานส่งเสริม พัฒนา SME และกำหนดนโยบายหรือยุทธศาสตร์ที่มีผลเกี่ยวเนื่องกับ SME รวมทั้งองค์การเอกชนซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ประกอบการ SME โดยตรง 2. แผนการส่งเสริมฯ พ.ศ. 2564 - 2565 มีสาระสำคัญ สรุปได้ ดังนี้ 2.1 วิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมาย และตัวชี้วัดสรุปได้ ดังนี้ หัวข้อ สาระสำคัญ วิสัยทัศน์ SME อยู่รอดผ่านพ้นจากวิกฤติ ปรับตัวพร้อมกลับสู่การแข่งขันภายใต้บริบทใหม่ทางเศรษฐกิจ พันธกิจ 1) ช่วยเหลือ SME ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 ให้สามารถประคองตัวฟื้นธุรกิจกลับมาได้ 2) เสริมศักยภาพ SME ให้พร้อมรับบริบทใหม่ทางเศรษฐกิจ และพร้อมเข้าสู่การแข่งขันเมื่อสถานการณ์โควิด 19 คลี่คลาย 3) สร้างเสริมปัจจัยแวดล้อมให้อำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจในการเริ่มต้นและเติบโตได้ เป้าหมายของแผนการส่งเสริมฯ SME ไทยสามารถประคองธุรกิจให้อยู่รอดได้ในสภาวะวิกฤติ โดยยังคงไว้ซึ่งรายได้และการจ้างงาน และปรับตัวพร้อมเข้าสู่การแข่งขันในบริบทใหม่ทางเศรษฐกิจเมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ ที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศ ตัวชี้วัด 1) ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของ SME ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศทั้งหมด ไม่น้อยกว่าร้อยละ 35 2) อัตราการขยายตัวของการจ้างงานของ SME เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 1.8 ต่อปี ระยะเวลา ระยะเวลา 2 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 - 2565) 2.2 แนวทางการส่งเสริม SME ประกอบด้วย 3 แนวทาง ดังนี้ แนวทาง/ประเด็นการพัฒนาที่สำคัญ เช่น เป้าหมายและตัวชี้วัด แนวทางที่ 1 การบรรเทาปัญหาและฟื้นฟูธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 เป็นการให้ความช่วยเหลือโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเงิน การลดรายจ่าย การสร้างรายได้ รวมถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อให้ SME ยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ 1) เสริมสภาพคล่องให้ SME เพื่อประคองธุรกิจให้อยู่รอดต่อไปได้ เช่น ส่งเสริม ให้มีแหล่งเงินทุนสำหรับ SME ในกลุ่มเศรษฐกิจฐานราก จัดให้มีกองทุนพิเศษให้สินเชื่อแก่ SME เป็นต้น 2) สร้างโอกาสในการขายและการขยายตลาด เช่น ขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริม SME เข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐให้เป็นรูปธรรม ส่งเสริม SME เข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างของภาคธุรกิจ เป็นต้น 3) เสริมสร้างความรู้และทักษะอาชีพให้กับแรงงานที่ได้รับผลกระทบ เช่น เสริมสร้างทักษะเบื้องต้นในการประกอบธุรกิจและส่งเสริมการฝึกอาชีพ เสริมทักษะใหม่แก่แรงงานที่ได้รับผลกระทบที่ถูกลดระยะเวลาการทำงานและถูกเลิกจ้าง เป็นต้น SME สามารถประคองตัวให้อยู่รอดผ่านพ้นช่วงวิกฤติไปได้ โดยคาดว่ารายได้ของ SME และอัตราการลดลงของสินเชื่อด้อยคุณภาพของ SME จะอยู่ในระดับเดียวกับปี 2562 ตัวชี้วัด : สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan: NPL)ของ SME ต่อสินเชื่อรวมของ SME ไม่เกินร้อยละ 6.2 ในปี 2565 หน่วยงานรับผิดชอบ : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) สำนักงาน ก.พ.ร. สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) (สคช.) สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ และ สสว. แนวทางที่ 2 การสร้างความพร้อมให้ SME ในการเข้าสู่การแข่งขันในบริบทใหม่ทางเศรษฐกิจ เป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่ SME ทั้งในด้านความรู้และทักษะในการประกอบธุรกิจ ด้านการนำเครื่องมือสมัยใหม่มาใช้ในการดำเนินการด้านการพัฒนาสินค้าและบริการที่สร้างมูลค่าและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป รวมถึงการสร้างผู้ประกอบการใหม่ที่มีศักยภาพ เพื่อให้ SME ของประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับสากล 1) ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีและดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการองค์กรและธุรกิจ เช่น ส่งเสริม และสนับสนุนการเข้าถึงข้อมูลด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลเพื่อใช้ในการพัฒนาธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม เป็นต้น 2) พัฒนาสินค้าและบริการให้ได้คุณภาพ มาตรฐาน และสร้างมูลค่าจากการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ 3) พัฒนาทักษะแรงงานให้เป็นแรงขับเคลื่อนภาคธุรกิจที่มุ่งสู่การเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพ เช่น เตรียมความพร้อมให้นักศึกษาจบใหม่และสร้างโอกาสแก่นักศึกษาในการเรียนรู้ฝึกทักษะเพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคต เป็นต้น 4) ส่งเสริม SME ให้แข่งขันได้ในระดับสากล เช่น เสริมสร้างความรู้เบื้องต้นที่จำเป็นในการทำธุรกิจระหว่างประเทศ สนับสนุนให้มีการขยายตลาดหรือขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ เป็นต้น 5) สร้างผู้ประกอบการใหม่ที่มีศักยภาพในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ปลูกฝังแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการให้กับเยาวชนและคนรุ่นใหม่ บ่มเพาะผู้ประกอบการรายใหม่ เป็นต้น SME สามารถปรับตัวพร้อมเข้าสู่การแข่งขันในบริบทใหม่ทางเศรษฐกิจเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยคาดว่าผลิตภาพแรงงาน การเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการส่งออกจะเพิ่มขึ้นจนอยู่ในระดับเดียวกันกับปี 2562 ตัวชี้วัด : 1) ผลิตภาพแรงงาน SME ไม่น้อยกว่า 500,000 บาท/คน/ปี 2) สินเชื่อ SME ต่อสินเชื่อรวมไม่น้อยกว่าร้อยละ 23 และ 3) มูลค่า การส่งออกของ SME ต่อมูลค่าการส่งออกรวมไม่น้อยกว่าร้อยละ 13.5 หน่วยงานรับผิดชอบ : กระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) อว. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) พณ. รง. ศธ. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อก. สกท. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สคช. สสว. สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) (สศส.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แนวทางที่ 3 การปรับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้เกิดความสะดวกแก่ SME โดยเร่งปรับปรุงสภาพแวดล้อมในด้านต่าง ๆ ให้ทันสมัย สามารถสร้างโอกาสและสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจในทุกระดับ ทุกกลุ่มสาขา และทุกพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ 1) ปรับแก้กฎหมายและวิธีปฏิบัติให้เอื้อและลดอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ เช่น ศึกษาทบทวนนโยบายด้านภาษีให้เป็นเครื่องมือในการกระตุ้นการพัฒนา SME นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยลดขั้นตอนในการปฏิบัติงาน เป็นต้น 2) พัฒนาฐานข้อมูล SME (SME Big Data) สำหรับใช้ในการกำหนดนโยบาย เช่น มีศูนย์กลางข้อมูล SME ที่ขึ้นทะเบียนเข้าร่วมโครงการหรือขอรับความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ เชื่อมโยงข้อมูลด้าน SME ที่สำคัญของหน่วยงานต่าง ๆ เป็นต้น 3) มีศูนย์กลางในการให้ข้อมูลและบริการ เช่น พัฒนาศูนย์บริการ SME (SME one - stop service center) พัฒนาเว็บไซต์กลางในการให้ข้อมูลข่าวสารแก่ SME (SME Web Portal) เป็นต้น 4) พัฒนาเครื่องมือในการประเมินศักยภาพ SME ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วน คือ(1) ส่วนของ SME ที่ใช้ประเมินตนเองได้ (Self Assessment) (2) ระบบสำหรับการประเมินศักยภาพ SME ซึ่งได้มีการกำหนดปัจจัยหลัก ปัจจัยย่อย เกณฑ์การให้คะแนนการกำหนดน้ำหนักของข้อมูลต่าง ๆ และ (3) ผู้เชี่ยวชาญประเมินในเชิงลึกให้กับ SME 5) พัฒนาปัจจัยแวดล้อมทางการเงินให้มีประสิทธิภาพ เช่น จัดให้มีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สำหรับธุรกิจรายย่อย ขยาย/เพิ่มเติมรูปแบบการค้ำประกันสินเชื่อ สนับสนุนให้เกิดการร่วมลงทุน (Venture Capital) กับผู้ประกอบการ SME ในวงกว้าง เป็นต้น สภาพแวดล้อมทางธุรกิจได้รับการปรับแก้ให้เอื้อต่อการประกอบการไม่ก่อให้เกิดภาระที่เกินจำเป็นแก่ SME ทั้งในด้านเอกสาร เวลา ค่าใช้จ่ายและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตัวชี้วัด : ภาคธุรกิจได้รับประโยชน์จากการพัฒนาปรับปรุงสภาพแวดล้อมและการบริการของภาครัฐ หน่วยงานรับผิดชอบ : กค. อว. พณ. ก.ล.ต. สคช. สสว. และ ธปท. 3. แผนการส่งเสริมฯ พ.ศ. 2564 - 2565 จัดเป็นแผนระดับ 3 และมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด - 19 พ.ศ. 2564 ? 2565 แผนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ (พ.ศ. 2564 - 2565) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564) ซึ่งคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในการประชุมครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2563 ได้มีมติเห็นชอบร่างแผนการส่งเสริมฯ พ.ศ. 2564 - 2565 แล้ว และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒนาฯ) ในการประชุมครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ได้มีมติเห็นชอบร่างแผนดังกล่าว โดยให้ สสว. รับความเห็นของสภาพัฒนาฯ ไปพิจารณาดำเนินการเพิ่มเติมในรายละเอียด เช่น 1) ควรนำแผนการส่งเสริมดังกล่าวไปวิเคราะห์ต่อเพื่อให้มีเจ้าภาพผลักดันการสร้าง Data Platform และ Service Platform ให้กับ SME เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการทำ การค้าขายบนแพลตฟอร์มของต่างชาติเป็นหลัก ทำให้ต่างชาติได้รับข้อมูลธุรกรรมซื้อขายของประเทศไทย และประเทศไทยไม่มีฐานข้อมูลสำหรับใช้วิเคราะห์การตลาดและการส่งเสริมผู้ประกอบการ และ 2) ควรมีการเก็บข้อมูลของ SME อย่างครบถ้วน เช่น ข้อมูล SME รายประเภท/สาขาธุรกิจ รวมทั้ง SME ที่เป็นผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation Driven Enterprise : IDE) และ Startup เพื่อนำมาใช้วิเคราะห์และกำหนดแนวทางบ่มเพาะผู้ประกอบการและส่งเสริม SME ทั้งในและนอกระบบที่ชัดเจน เป็นต้น และนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ตามขั้นตอนต่อไป ซึ่ง สสว. ได้นำความเห็นของสภาพัฒนาฯ ไปประกอบการพิจารณาจัดทำแผนในครั้งนี้ด้วยแล้ว 23. เรื่อง การนำแนวทางการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ตามโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ สำหรับหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างหรือการร่วมลงทุนภายใต้กฎหมายอื่น นอกเหนือจากพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ไปกำหนดใช้โดยอนุโลม คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ (คณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างฯ) เสนอ แนวทางการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) สำหรับหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างหรือการร่วมลงทุนภายใต้กฎหมายอื่น นอกเหนือจากพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 (พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างฯ) ไปกำหนดใช้โดยอนุโลม เพื่อสนับสนุนให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต รวมถึงสร้างความโปร่งใสในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้อย่างครอบคลุมทุกโครงการจัดซื้อจัดจ้างในทุกหน่วยงานของรัฐ สาระสำคัญของเรื่อง คณะกรรมการนโยบายจัดซื้อจัดจ้างฯ รายงานว่า 1. ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันสร้างความเสียหายและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสังคมไทย ดังจะเห็นได้จากผลคะแนนดัชนีวัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perceptions Index : CPI) ของไทยที่ยังไม่ดีขึ้น โดยอยู่ในอันดับที่ 104 จาก 180 ประเทศทั่วโลก และอยู่ในอันดับที่ 5 จาก 10 ประเทศในกลุ่มอาเซียน [ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ณ ปี 2563] ดังนั้น จึงควรเร่งสนับสนุนกระบวนการสร้างความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้ครอบคลุมและทั่วถึง ซึ่งกระบวนการตรวจสอบ โดยภาคประชาชนมีส่วนสำคัญที่จะช่วยลดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันให้กับโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างฯ อย่างไรก็ดี เนื่องจากปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐไม่ได้จำกัดเพียงการจัดซื้อจัดจ้างภายใต้พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างฯ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐภายใต้กฎหมายอื่นด้วย ดังนั้น จึงจำเป็นต้องให้หน่วยงานภาครัฐทุกแห่งที่ไม่ได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างภายใต้พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างฯ หรือมีลักษณะการร่วมลงทุนภายใต้กฎหมายอื่น เช่น โครงการที่มีลักษณะร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership : PPP) ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เป็นต้น ต้องนำข้อตกลงคุณธรรมไปกำหนดใช้ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานนั้น ๆ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในทุกโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นของหน่วยงานของรัฐอันจะส่งผลให้ CPI ของไทยมีอันดับที่ดีขึ้น 2. แนวทางการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) เป็นการจัดทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างหน่วยงานของรัฐเจ้าของโครงการและผู้ประกอบการที่จะเข้ายื่นข้อเสนอกับหน่วยงานของรัฐในการจัดซื้อจัดจ้าง โดยฝ่ายหน่วยงานของรัฐเจ้าของโครงการและฝ่ายผู้ประกอบการที่จะเข้ายื่นข้อเสนอได้ตกลงกันว่าจะไม่กระทำการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างและให้มีผู้สังเกตการณ์ซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ที่จำเป็นต่อโครงการจัดซื้อจัดจ้างนั้น ๆ เข้าร่วมสังเกตการณ์ในการจัดซื้อจัดจ้างตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำร่างขอบเขตของงานหรือรายละเอียดของพัสดุที่จะทำการจัดซื้อจัดจ้าง และร่างเอกสารเชิญชวนจนถึงขั้นตอนสิ้นสุดโครงการ โดยผู้สังเกตการณ์ต้องมีความเป็นกลางและไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในโครงการจัดซื้อจัดจ้างนั้น ทั้งนี้ การจัดซื้อจัดจ้างที่ต้องจัดทำข้อตกลงคุณธรรมดังกล่าวให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต (คณะกรรมการ ค.ป.ท.) ประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา [ตามประกาศคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต เรื่อง แนวทางและวิธีการในการดำเนินงานโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ แบบของข้อตกลงคุณธรรม การคัดเลือกผู้สังเกตการณ์ และการจัดทำรายงานตามมาตรา 17 และมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ประกาศ ณ วันที่ 5 กรกฎาคม 2561 3. การนำข้อตกลงคุณธรรมไปกำหนดใช้ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐ ที่ผ่านมาพบว่า มีบางโครงการเป็นโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่สาธารณชนสนใจแต่ไม่สามารถคัดเลือกให้เข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรมได้ และแม้ว่าบางโครงการได้รับเลือกเข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรมแล้ว หากภายหลังหน่วยงานของรัฐเจ้าของโครงการพบว่า โครงการดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างฯ จะต้องถูกยกเลิกการเข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรมไปในที่สุด ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างและเพื่อให้การใช้ งบประมาณของหน่วยงานของรัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงควรให้หน่วยงานของรัฐที่มีโครงการจัดซื้อจัดจ้างหรือการร่วมลงทุนภายใต้กฎหมายอื่น นอกเหนือจากพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างฯ นำแนวทางการดำเนินการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมไปกำหนดใช้โดยอนุโลม 4. คณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างฯ ในการประชุมครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2563 ได้มีมติเห็นชอบให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาและสั่งการให้หน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างหรือการร่วมลงทุนภายใต้กฎหมายอื่น นอกเหนือจากพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างฯ นำแนวทางและวิธีการในการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ตามมาตรา 17 และมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างฯ และประกาศคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต เรื่อง แนวทางและวิธีการในการดำเนินงานโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ แบบของข้อตกลงคุณธรรม การคัดเลือกผู้สังเกตการณ์ และการจัดทำรายงานตามมาตรา 17 และมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ไปกำหนดใช้โดยอนุโลม รายละเอียดดังนี้ แนวทางการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ตามโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ สำหรับหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างหรือการร่วมลงทุนภายใต้กฎหมายอื่น นอกเหนือจากพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ไปกำหนดใช้โดยอนุโลม กำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่ไม่ได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างภายใต้พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 หรือมีลักษณะการร่วมลงทุน นำการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมไปใช้ในโครงการจัดซื้อจัดจ้างและปรับใช้อย่างเหมาะสม สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ 1. แนวทางการดำเนินงาน 1.1 หน่วยงานกำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม เพื่อให้หน่วยงานของรัฐแจ้งโครงการที่จะเข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรม และต้องให้ภาคประชาชนเข้ามาตรวจสอบตลอดจนเข้าร่วมสังเกตการณ์ในโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ 1.2 หน่วยงานมอบหมายให้ผู้รับผิดชอบในการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมรวบรวมโครงการและคัดเลือกโครงการเข้าร่วมโครงการจัดทำข้อตกลงคุณธรม รวมถึงคัดเลือกผู้สังเกตการณ์เข้าเป็นผู้สังเกตการณ์โครงการที่เข้าร่วมโครงการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม ตามหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานกำหนด 1.3 หน่วยงานของรัฐเจ้าของโครงการที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมจะต้องกำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นเสนอราคาว่าต้องลงนามในข้อตกลงคุณธรรมตามหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานกำหนด 1.4 เมื่อได้ผู้ชนะการเสนอราคาแล้ว หน่วยงานของรัฐเจ้าของโครงการ ผู้รับจ้าง ผู้สังเกตการณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะประชุมแผนปฏิบัติการ (Kickoff Meeting) ร่วมกัน และหลังจากนั้นผู้สังเกตการณ์จะเข้าร่วมสังเกตการณ์ ทั้งนี้ กระบวนการดังกล่าวให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานกำหนด 1.5 การประเมินผลโครงการตามหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานกำหนด เพื่อนำผลการประเมินไปใช้ในการปรับปรุงการดำเนินงานโครงการข้อตกลงคุณธรรมให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้นต่อไป 2. การแต่งตั้งคณะกรรมการหรือผู้รับผิดชอบ หน่วยงานอาจกำหนดคณะกรรมการหรือผู้รับผิดชอบการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมโดยให้คณะกรรมการหรือผู้รับผิดชอบที่หน่วยงานแต่งตั้งกำกับ ดูแล และกำหนดแนวทาง และวิธีปฏิบัติแนวทางการดำเนินงานข้อตกลงคุณธรรมตามที่หน่วยงานกำหนด 3. การคัดเลือกภาคประชาชนเข้ามาเป็นผู้สังเกตการณ์ ให้คณะกรรมการหรือผู้รับผิดชอบตามที่หน่วยงานกำหนด ดำเนินการในการคัดเลือกผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมโครงการข้อตกลงคุณธรรม โดยผู้สังเกตการณ์จะต้องเป็นบุคคลภายนอกที่ได้รับการคัดเลือกจากสมาคมวิชาชีพ หรือภาคประชาสังคมซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ มีความรู้ และประสบการณ์ที่จำเป็นต่อโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐนั้น ๆ โดยจะต้องมีความเป็นกลางและไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในโครงการจัดซื้อจัดจ้าง เข้าร่วมสังเกตการณ์ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ตามหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานกำหนด 4. ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานข้อตกลงคุณธรรม หน่วยงานอาจกำหนดอัตราค่าตอบแทนสำหรับผู้สังเกตการณ์ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานตามภารกิจในด้านการป้องกัน ปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ และเพื่อให้ผู้สังเกตการณ์ได้รับค่าตอบแทนในอัตราที่เหมาะสม เนื่องจากผู้สังเกตการณ์มีภาระหน้าที่ที่ต้องดำเนินการเป็นจำนวนมากและเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญสูง ดังนั้น หน่วยงานที่กำกับดูแลจะต้องขอจัดตั้งการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายจากเงินงบประมาณในการดำเนินงานข้อตกลงคุณธรรมโดยตรง 24. เรื่อง สรุปสถานการณ์สาธารณภัย และการช่วยเหลือ คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสรุปสถานการณ์สาธารณภัย และการช่วยเหลือ ระหว่างวันที่ 22-28 มิถุนายน 2564 ตามที่กระทรวงมหาดไทย (กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย) เสนอ ดังนี้ สรุปสถานการณ์สาธารณภัย และการช่วยเหลือ ระหว่างวันที่ 22 - 28 มิถุนายน 2564 การคาดหมายลักษณะอากาศ การสั่งการเพื่อเตรียมความพร้อม และการช่วยเหลือ 1. สภาพอากาศ (ระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน - 4 กรกฎาคม 2564) ในช่วงวันที่ 29 มิถุนายน - 4 กรกฎาคม 2564 หย่อมความกดอากาศต่ำยังคงปกคลุมบริเวณประเทศลาวและเวียดนามตอนบน ทำให้ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังอ่อน ทำให้ทำให้บริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนลดลง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1 - 2 เมตร ตลอดช่วง 2. การแจ้งเตือนและสั่งการเพื่อเตรียมความพร้อม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดเจ้าหน้าที่อยู่เวรเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ไว้พร้อม เพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันเหตุการณ์ 3. ข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย / ผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้มีข้อสั่งการเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 สั่งการให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2564 ดังนี้ 1) การเตรียมความพร้อม 1.1 การเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อุทกภัย ให้จัดตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์โดยมี หน่วยงานด้านการพยากรณ์หน่วยงานด้านการบริหารจัดการน้ำ ฝ่ายปกครองในพื้นที่ ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญจากภาคประชาสังคมหรือสถาบันการศึกษาที่มีศักยภาพ เพื่อร่วมทำหน้าที่ติดตามข้อมูลสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำและเหตุการณ์ที่อาจส่งผลให้เกิดสาธารณภัยในช่วงฤดูฝน รวมทั้งวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์น้ำในพื้นที่ เพื่อใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจของผู้อำนวยการแต่ละระดับ สำหรับใช้ในการสื่อสารแจ้งเตือนประชาชน ตลอดจนการเตรียมความพร้อมในการเผชิญเหตุได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ และสภาพพื้นที่ 1.2 การจัดทำแผนเผชิญเหตุอุทกภัย ให้ทบทวนและปรับปรุงแผนเผชิญเหตุอุทกภัยของจังหวัดให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน 1.3 การระบายน้ำและการเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำ ให้มอบหมายกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในแต่ละระดับดำเนินการอย่างเป็นระบบ มีความเชื่อมโยงกันโดยเฉพาะตามรอยต่อเขตรับผิดชอบ ที่เป็นเส้นทางน้ำไหลผ่าน 1.4 การตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงสถานที่ใช้กักเก็บน้ำ / กั้นน้ำ อาทิ อ่างเก็บน้ำ พนังกั้นน้ำให้มอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบจัดทีมวิศวกรเข้าสำรวจตรวจสอบ และปรับปรุงให้เกิดความมั่นคงแข็งแรง เพื่อให้สามารถรองรับกรณีฝนตกหนัก หรือน้ำไหลเข้า / ผ่านในปริมาณมาก รวมทั้งสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่ 1.5 การแจ้งเตือนภัย เมื่อมีแนวโน้มการเกิดสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินถล่มขึ้นในพื้นที่ให้ดำเนินการแจ้งเตือนไปยังกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในแต่ละระดับ ตลอดจนหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมบุคลากร วัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลสาธารณภัยให้พร้อมเผชิญเหตุ และเตรียมการในพื้นที่เสี่ยงภัยเสี่ยงภัยเป็นการล่วงหน้า รวมทั้งแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบในทุกช่องทางทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ อาทิ สื่อสังคมออนไลน์ วิทยุชุมชน หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน เพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูล ข่าวสาร ตลอดจนแนวทางการปฏิบัติตนให้เกิดความปลอดภัย ช่องทางการแจ้งข้อมูล และการขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และในกรณีจังหวัดที่มีเส้นทางน้ำเชื่อมต่อกันให้มีการประเมินสถานการณ์ร่วมกัน และแจ้งเตือนระหว่างจังหวัดต้นน้ำและจังหวัดปลายน้ำอย่างใกล้ชิด 2) การเผชิญเหตุ เมื่อเกิดหรือคาดว่าจะเกิดสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินถล่มในพื้นที่ ให้ยึดแนวทางการจัดการสาธารณภัยในภาวะฉุกเฉิน ตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 และกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยดำเนินการตามแนวทาง ดังนี้ 2.1 จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ระดับจังหวัด อำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินในระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเป็นศูนย์ควบคุม สั่งการ และอำนวยการหลักในการระดมสรรรพกำลัง ตลอดจนการประสานการปฏิบัติระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งฝ่ายพลเรือน หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรสาธารณกุศล 2.2 ให้มอบหมายฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน ตลอดจนอาสาสมัคร ประชาชนจิตอาสา เตรียมความพร้อมเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงในชุมชน พื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ สถานที่สำคัญต่าง ๆ และร่วมกันกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำเมื่อเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ ทั้งนี้ หากมีกรณีน้ำท่วมขัง สร้างความเดือดร้อน ความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชนให้เร่งกำหนดแนวทางการระบายน้ำ พร้อมทั้งสั่งใช้เครื่องจักรกลในพื้นที่ของหน่วยงาน ฝ่ายพลเรือน หน่วยทหาร และภาคเอกชน เพื่อเร่งระบายน้ำ และเปิดทางน้ำในพื้นที่ 2.3 จัดชุดปฏิบัติการเร่งให้ความช่วยเหลือด้านการดำรงชีพแก่ประชาชนที่ประสบภัยตามวงรอบอย่างต่อเนื่อง อาทิ การจัดตั้งโรงครัวพระราชทาน ความช่วยเหลือด้านอาหาร น้ำดื่ม การรักษาพยาบาล โดยอย่าให้เกิดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติ และเชิญชวนประชาชนจิตอาสามีส่วนร่วมกับภาครัฐในการให้ความช่วยเหลือประชาชน ที่ประสบภัย 2.4 กรณีบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย ให้บูรณาการหน่วยงานเป็นทีมช่างในพื้นที่ทั้งหน่วยทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง สถาบันการศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนประชาชนจิตอาสา เพื่อเร่งซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชนโดยเร็ว 2.5 กรณีเส้นทางคมนาคมได้รับความเสียหาย หรือถูกน้ำท่วมจนประชาชนไม่สามารถใช้ยานพาหนะสัญจรได้ให้จัดทำป้ายแจ้งเตือนพร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกการจราจร แนะนำเส้นทางเลี่ยงที่ปลอดภัย รวมทั้งจัดยานพาหนะที่เหมาะสม อาทิ เรือ รถยกสูง เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชน และให้เร่งซ่อมแซมเส้นทางที่ชำรุด / ถูกตัดขาด เพื่อให้ประชาชนใช้สัญจรได้โดยเร็ว 2.6 เน้นย้ำการสื่อสารสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในช่วงเกิดสถานการณ์อุทกภัย ผ่านสื่อมวลชน ตลอดจนสื่อแขนงต่าง ๆ และสื่อสังคมออนไลน์เพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง 2.7 ให้รายงานสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มที่เกิดขึ้นต่อกองอำนวยการ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางอย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการประเมินสถานการณ์และเสนอ ความเห็นต่อผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติในการตัดสินใจสั่งการในเชิงนโยบายต่อไป สรุปสถานการณ์วาตภัย ข้อมูล ณ วันที่ 22 - 28 มิถุนายน 2564 1. จังหวัดนครราชสีมา วันที่ 27 มิถุนายน 2564 เวลา 18.00 น. เกิดเหตุวาตภัยในพื้นที่อำเภอพระทองคำ ตำบลพังเทียม (หมู่ที่ 1) ทำให้บ้านเรือนได้รับความเสียหาย 1 หลัง คอกสัตว์ 1 หลัง ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต 2. จังหวัดหนองบัวลำภู วันที่ 23 มิถุนายน 2564 เวลา 16.30 น. เกิดเหตุวาตภัยในพื้นที่อำเภอ เมืองหนองบัวลำภู ตำบลโพธิ์ชัย (หมู่ที่ 3) ตำบลนาคำไฮ (หมู่ที่ 3) ทำให้บ้านเรือนได้รับความเสียหาย 11 หลัง ไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต และวันที่ 27 มิถุนายน 2564 เวลา 13.30 น. เกิดเหตุวาตภัยในพื้นที่อำเภอศรีบุญเรือง ตำบลหนองแก (หมู่ที่ 3,4,9) ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต 3. จังหวัดนครราชสีมา วันที่ 26 มิถุนายน 2564 เวลา 18.00 น. เกิดเหตุวาตภัยในพื้นที่อำเภอคง ตำบลคง (หมู่ที่ 7) ทำให้บ้านเรือนได้รับความเสียหาย 3 หลัง ไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต 4. จังหวัดนครศรีธรรมราช วันที่ 23 มิถุนายน 2564 เวลา 14.30 น. เกิดเหตุวาตภัยในพื้นที่ อำเภอนบพิตำ ตำบลนาเหรง (หมู่ที่ 7,9) ทำให้บ้านเรือนได้รับความเสียหาย 2 หลัง ไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต 5. จังหวัดสุรินทร์ วันที่ 23 มิถุนายน 2564 เวลา 18.30 น. เกิดเหตุวาตภัยในพื้นที่อำเภอลำดวน ตำบลอู่โลก (หมู่ที่ 7) ทำให้บ้านเรือนได้รับความเสียหาย 1 หลัง ไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต 6. จังหวัดร้อยเอ็ด วันที่ 23 มิถุนายน 2564 เวลา 21.00 น. เกิดเหตุวาตภัยในพื้นที่อำเภอธวัชบุรี ตำบลเมืองน้อย (หมู่ที่ 6) ตำบลเขวาทุ่ง (หมู่ที่ 5,6,9) ตำบลไพศาล (หมู่ที่ 1) ทำให้บ้านเรือนได้รับความเสียหาย 9 หลัง ไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต การให้ความช่วยเหลือ : สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด อำเภอ หน่วยทหาร ในพื้นที่ อปท. อปพร. อาสาสมัคร และมูลนิธิ เข้าสำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว สรุปสถานการณ์แผ่นดินไหว ระหว่างวันที่ 22 - 28 มิถุนายน 2564 กรมป้องกันและบรเทาสาธารณภัย ได้รับรายงานข้อมูลเหตุแผ่นดินไหว จากกรมอุตุนิยมวิทยา และศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้เกิดแผ่นดินไหว ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย ดังนี้ 1. วันที่ 28 มิถุนายน 2564 เวลา 04.03 น. เกิดแผ่นดินไหวบนบกขนาด 3.5 ที่ความลึก 55 กม. บริเวณประเทศเมียนมา ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประมาณ 378 กม. ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย 2. วันที่ 27 มิถุนายน 2564 เวลา 08.41 น. เกิดแผ่นดินไหวบนบกขนาด 3.4 ที่ความลึก 10 กม. บริเวณมณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ประมาณ 279 กม. ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย 3. วันที่ 26 มิถุนายน 2564 เวลา 04.44 น. เกิดแผ่นดินไหวขนาด 2.2 ที่ความลึก 2 กม. บริเวณประเทศเมียนมา ห่างจากอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประมาณ 36 กม. ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย สรุปสถานการณ์อุบัติภัย และเหตุการณ์สำคัญ ระหว่างวันที่ 22 - 28 มิถุนายน 2564 1. จังหวัดนครราชสีมา วันที่ 27 มิถุนายน 2564 เวลา 13.00 น. เกิดเหตุเพลิงไหม้บ้านเรือนประชาชนภายในซอยไชยณรงค์ 3 ถนนเบญจรงค์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา ลักษณะเป็นบ้านเก่าครึ่งปูนครึ่งไม้ 2 ชั้น ปลูกติดกันหลายหลัง เจ้าหน้าที่ดับเพลิงเข้าทำการดับเพลิงจนเพลิงสงบ เวลา 15.00 น. เพลิงลุกไหม้ได้รับความเสียหาย 8 หลัง ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต 2. จังหวัดอุตรดิตถ์ วันที่ 25 มิถุนายน 2564 เวลา 00.11 น. เกิดเหตุเพลิงไหม้บ้านเรือนประชาชนในพื้นที่หมู่ที่ 1 ตำบลฝ่ายหลวง อำเภอลับแล เจ้าหน้าที่ดับเพลิงเข้าทำการดับเพลิงจนเพลิงสงบ เวลา 02.00 น. เพลิงลุกไหม้ได้รับความเสียหายทั้งหลัง 2 หลัง และเสียหายบางส่วน 2 หลัง) ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต 3. จังหวัดอุดรธานี วันที่ 22 มิถุนายน 2564 เวลา 15.00 น. เกิดเหตุเพลิงไหม้บ้านเรือนประชาชนในพื้นที่บ้านเชียงพิณ หมู่ที่ 1 ตำบลเชียงพิณ อำเภอเมืองอุดรธานี เจ้าหน้าที่ดับเพลิงเข้าทำการดับเพลิงจนเพลิงสงบ เวลา 16.10 น. เพลิงลุกไหม้ได้รับความเสียหายทั้งหลัง 1 หลัง และเสียหายบางส่วน 3 หลัง ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต 4. จังหวัดชลบุรี วันที่ 22 มิถุนายน 2564 เวลา 16.55 น. เกิดเหตุเพลิงไหม้บริษัท ซีเท็กซ์อินดัสตรีคอร์ปอเรชั่น จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 69 หมู่ที่ 2 ตำบลพานทอง อำเภอพานทอง ประกอบกิจการผลิตแผ่นโฟมและภาชนะพลาสติก เจ้าหน้าที่ดับเพลิงเข้าทำการดับเพลิงจนเพลิงสงบ เวลา 17.20 น. เพลิงลุกไหม้วัสดุและอุปกรณ์เสียหาย ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต 25. เรื่อง รายงานผลการดำเนินงานของสถาบันการเงินเฉพาะกิจตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 คณะรัฐมนตรีรับทราบความคืบหน้ามาตรการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialised Financial Institution : SFIs) มาตรการสนับสนุนสินเชื่อ และ พ.ร.ก. ฟื้นฟูฯ ที่ได้ดำเนินการเพื่อดูแลและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้ สาระสำคัญ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบมาตรการพักชำระหนี้ของ SFIs โดยกระทรวงการคลังได้มอบหมายให้ SFIs พิจารณาขยายระยะเวลามาตรการพักชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ตามความสมัครใจ เพื่อลดภาระการชำระหนี้เป็นการชั่วคราวให้แก่ลูกหนี้ หรือเพื่อนำเงินงวดที่จะต้องชำระหนี้ไปเป็นสภาพคล่องในการดำเนินชีวิตประจำวันหรือเพื่อการประกอบธุรกิจในช่วงที่มีความไม่แน่นอนสูง โดยวิธีการชำระหนี้ที่พักชำระไว้ดังกล่าวจะต้องไม่เพิ่มภาระให้แก่ลูกหนี้มากจนเกินควรเมื่อพิจารณาอัตราดอกเบี้ยตลอดระยะเวลาสัญญาเงินกู้ ซึ่งรวมถึงดอกเบี้ยกรณีที่ SFIs ได้พิจารณาพักชำระไว้ด้วย นอกจากนี้ ให้ SFIs พิจารณาจัดลำดับความสำคัญของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่มากไปหาน้อย เพื่อดูแลลูกหนี้ในแต่ละกลุ่มได้อย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงประโยชน์ของลูกหนี้เป็นสำคัญ กระทรวงการคลังจึงขอรายงานผลการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว พร้อมทั้งมาตรการสินเชื่อ เพื่อจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และพลิกฟื้นให้ภาคธุรกิจสามารถดำเนินการประกอบธุรกิจต่อไปได้ ผลการดำเนินงานของมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ผ่าน SFIs 1 มาตรการพักชำระหนี้ ณ วันที่ 21 มิถุนายน 2564 SFIs ได้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้โดยการพักชำระหนี้ด้วยการพักชำระเงินต้น และ/หรือดอกเบี้ย และ/หรือ ลดอัตราดอกเบี้ย และ/หรือ ขยายระยะเวลาชำระหนี้แล้ว รวมทั้งสิ้น 7.56 ล้านราย วงเงิน 3.46 ล้านล้านบาท โดยมีลูกหนี้ที่ยังอยู่ในมาตรการ 3.23 ล้านราย วงเงิน 1.26 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นประชาชนทั่วไป 3.21 ล้านราย วงเงิน 1.18 ล้านล้านบาท และธุรกิจ 21,310 ราย วงเงิน 87,948 ล้านบาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 1.1 ธนาคารออมสิน ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ รวมทั้งสิ้น 3.28 ล้านราย วงเงิน 1.46 ล้านล้านบาท โดยมีลูกหนี้ที่ยังอยู่ในมาตรการ 711,874 ราย วงเงิน 381,150 ล้านบาท แบ่งเป็นประชาชนทั่วไป 699,300 ราย วงเงิน 349,702 ล้านบาท และธุรกิจ 12,574 ราย วงเงิน 31,448 ล้านบาท 1.2 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ รวมทั้งสิ้น 3.35 ล้านราย วงเงิน 1.12 ล้านบาท โดยมีลูกหนี้ที่ยังอยู่ในมาตรการ 2.35 ล้านราย วงเงิน 661,085 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นเกษตรกร 2.34 ล้านราย วงเงิน 648,809 ล้านบาท และธุรกิจ 7,039 ราย วงเงิน 12,276 ล้านบาท 1.3 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ รวมทั้งสิ้น 875,179 ราย วงเงิน 745,139 ล้านบาท โดยมีลูกหนี้ที่ยังอยู่ในมาตรการ 143,100 ราย วงเงิน 137,259 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นประชาชนทั่วไป 142,912 ราย วงเงิน 136,348 ล้านบาท และธุรกิจ 188 ราย วงเงิน 911 ล้านบาท 1.4 ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจ รวมทั้งสิ้น 1,984 ราย วงเงิน 42,915 ล้านบาท โดยมีลูกหนี้ที่ยังอยู่ในมาตรการ 1,351 ราย วงเงิน 37,243 ล้านบาท 1.5 ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รวมทั้งสิ้น 11,799 ราย วงเงิน 19,919 ล้านบาท โดยมีลูกหนี้ที่ยังอยู่ในมาตรการ 2,486 ราย วงเงิน 7,701 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นประชาชนทั่วไป 2,328 ราย วงเงิน 1,631 ล้านบาท และธุรกิจ 158 ราย วงเงิน 6,070 ล้านบาท 1.6 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจ รวมทั้งสิ้น 42,083 ราย วงเงิน 61,097 ล้านบาท โดยมีลูกหนี้ที่ยังอยู่ในมาตรการ 23,565 ราย วงเงิน 38,573 ล้านบาท 1.7 บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจ รวมทั้งสิ้น 2,216 ราย วงเงิน 4,319 ล้านบาท โดยมีลูกหนี้ที่ยังอยู่ในมาตรการ 1,863 ราย วงเงิน 2,386 ล้านบาท อนึ่ง กระทรวงการคลังได้มอบหมายให้ SFIs ทั้ง 7 แห่ง ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้โดยการพักชำระหนี้ ด้วยการพักชำระเงินต้น และ/หรือ ดอกเบี้ย ลดอัตราดอกเบี้ย และขยายเวลาชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ตามความสมัครใจ และเปิดโอกาสให้ลูกหนี้สามารถทำการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้ เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ ทั้งนี้ ให้ SFIs พิจารณาจัดลำดับความสำคัญของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่มากไปหาน้อย เพื่อดูแลลูกหนี้ในแต่ละกลุ่มได้อย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงประโยชน์ของลูกหนี้เป็นสำคัญ 2 มาตรการสนับสนุนสินเชื่อ SFIs ได้ดำเนินมาตรการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ที่นอกเหนือจากมาตรการสินเชื่อภายใต้พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 (พ.ร.ก. ฟื้นฟูฯ) ดังนี้ 2.1 ธนาคารออมสิน ได้มีมาตรการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ประชาชนทั่วไป ธุรกิจรายย่อย วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) โดยครอบคลุมภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เช่น ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก ธุรกิจบันเทิง ธุรกิจสปาและนวดแผนไทย ธุรกิจเดินทางและขนส่ง ธุรกิจโรงเรียนเอกชน เป็นต้น รวมถึงธุรกิจอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น 1) มาตรการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 ซึ่งไม่ต้องมีหลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.35 ต่อเดือน วงเงินกู้สูงสุดรายละ 10,000 บาท วงเงินคงเหลือ 3,831 ล้านบาท 2) มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำช่วยเหลือ SMEs ภาคท่องเที่ยว ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.99 ต่อปี วงเงินกู้สูงสุดรายละ 500,000 บาท วงเงินคงเหลือ 3,855 ล้านบาท 3) มาตรการสินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงิน สำหรับธุรกิจท่องเที่ยว ใช้ที่ดินเป็นหลักประกัน อัตราดอกเบี้ยปีแรกร้อยละ 0.1 ต่อปี วงเงินกู้สูงสุดสำหรับบุคคลธรรมดารายละไม่เกิน 10 ล้านบาท สำหรับนิติบุคคลรายละไม่เกิน 50 ล้านบาท วงเงินคงเหลือ 6,873 ล้านบาท 4) มาตรการสินเชื่อ DxD เพื่อคู่ค้า Department Store เพื่อเสริมสภาพคล่องสำหรับคู่ค้าหรือผู้เช่าร้านค้า อัตราดอกเบี้ยเท่ากับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (Minimum Overdraft Rate: MOR) - 1 หรือประมาณร้อยละ 4.995 วงเงินกู้สูงสุดรายละ 5 ล้านบาท วงเงินคงเหลือ 2,000 ล้านบาท 5) มาตรการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 14.99 ต่อปี ซึ่งได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยในระดับที่ต่ำกว่าอัตราตลาดของธุรกิจสินเชื่อที่มีรถเป็นหลักประกัน เพื่อช่วยให้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยตลาดในธุรกิจดังกล่าวมีแนวโน้มลดลง วงเงินคงเหลือ 16,000 ล้านบาท 2.2 ธ.ก.ส. ได้มีมาตรการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการเกษตร ผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น 1) มาตรการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 ไม่ต้องมีหลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.35 ต่อเดือน วงเงินกู้สูงสุดรายละ 10,000 บาท วงเงินคงเหลือ 10,000 ล้านบาท 2) มาตรการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย อัตราดอกเบี้ย 3 ปีแรก ร้อยละ 0.01 ต่อปี วงเงินคงเหลือ 42,252 ล้านบาท 2.3 ธสน. ได้มีมาตรการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง ลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนให้แก่ผู้ประกอบการไทยที่ดำเนินธุรกิจในต่างประเทศที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น 1) มาตรการสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต อัตราดอกเบี้ย 2 ปีแรก ร้อยละ 2 ต่อปี วงเงินกู้สูงสุดรายละ 100 ล้านบาท วงเงินคงเหลือ 572 ล้านบาท 2) มาตรการสินเชื่อส่งออกสุขสุด สุด อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี วงเงินกู้สูงสุดรายละ 1.5 ล้านบาท วงเงินคงเหลือ 358 ล้านบาท 3) มาตรการสินเชื่อ Global อุ่นใจ อัตราดอกเบี้ย 2 ปีแรก ร้อยละ 3 ต่อปี วงเงินกู้สูงสุดรายละ 100 ล้านบาท วงเงินคงเหลือ 5,000 ล้านบาท 2.4 ธอท. ได้มีมาตรการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องสำหรับธุรกิจรายย่อย และธุรกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น 1) มาตรการสินเชื่อมุสลิมและสินเชื่อสนับสนุนชายแดนภาคใต้รายย่อยวงเงินกู้สูงสุดรายละ 20 ล้านบาท 2) มาตรการสินเชื่อเสริมสร้างธุรกิจรายย่อยมุสลิม วงเงินกู้สูงสุดรายละ 200,000 บาท 2.5 ธพว. ได้มีมาตรการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ SMEs ในทุกภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น 1) มาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ย 2 ปีแรกร้อยละ 3 ต่อปี วงเงินกู้สูงสุดสำหรับบุคคลธรรมดารายละ 1 ล้านบาท สำหรับนิติบุคคลรายละ 3 ล้านบาท วงเงินคงเหลือ 3,144 ล้านบาท 2) มาตรการสินเชื่อจ่ายดีมีเติม สำหรับลูกค้าเดิมที่มีประวัติการชำระหนี้ดี อัตราดอกเบี้ยเท่ากับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำ (Minimum Loan Rate: MLR) + 0.5 หรือประมาณร้อยละ 7.25 ต่อปี วงเงินกู้สูงสุดรายละ 15 ล้านบาท วงเงินคงเหลือ 1,978 ล้านบาท 3) มาตรการสินเชื่อ Local Economy Loan อัตราดอกเบี้ย 3 ปีแรก ร้อยละ 2.875 ต่อปี วงเงินกู้สูงสุดรายละ 5 ล้านบาท วงเงินคงเหลือ 7,712 ล้านบาท 2.6 บสย. ได้มีโครงการค้ำประกันสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น 1) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 9 (PGS 9) วงเงินค้ำประกันสูงสุดรายละ 100 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมไม่เกินร้อยละ 1.75 ต่อปี และไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 2 ปีแรก วงเงินคงเหลือ 101,276 ล้านบาท 2) โครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 4 (Micro 4) วงเงินค้ำประกันสูงสุดรายละ 500,000 บาท ค่าธรรมเนียมไม่เกินร้อยละ 1.50 ต่อปี และไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 2 ปีแรก วงเงินคงเหลือ 18,364 ล้านบาท ทั้งนี้ SFIs ได้ให้ความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ในการดำเนินโครงการจับคู่กู้เงินเพื่อช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการร้านอาหารมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ 3 ผลการดำเนินงานของ พ.ร.ก. ฟื้นฟูฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดกลไกการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 โดยมีสาระสำคัญประกอบด้วย 2 มาตรการ ดังนี้ 3.1 มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู) วงเงิน 250,000 ล้านบาท โดย ณ วันที่ 14 มิถุนายน 2564 สถาบันการเงินได้อนุมัติสินเชื่อแล้วจำนวน 13,435 ราย วงเงินรวม 40,764 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 1) การให้สินเชื่อผ่าน SFIs จำนวน 1,292 ราย วงเงินรวม 4,408 ล้านบาท และ 2) การให้สินเชื่อผ่านธนาคารพาณิชย์ จำนวน 12,143 ราย วงเงินรวม 36,356 ล้านบาท ซึ่งธุรกิจขนาดเล็กที่มีวงเงินสินเชื่อต่ำกว่า 20 ล้านบาท ได้เข้าถึงมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูแล้วจำนวน 10,832 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 80.63 ของจำนวนลูกหนี้ทั้งหมด โดยมาตรการดังกล่าวมีวงเงินคงเหลือ 209,236 ล้านบาท 3.2 มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ (มาตรการ พักทรัพย์ พักหนี้) วงเงิน 100,000 ล้านบาท โดย ณ วันที่ 14 มิถุนายน 2564 มีลูกหนี้ที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติการเข้าร่วมโครงการแล้ว จำนวน 7 ราย คิดเป็นราคารับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ (ราคารับโอนฯ) รวม 922 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 1) ลูกหนี้ของ SFIsจำนวน 4 ราย คิดเป็นราคารับโอนฯ รวม 910 ล้านบาท และ 2) ลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ จำนวน 3 ราย คิดเป็นราคารับโอนฯ รวม 12 ล้านบาท โดยมาตรการดังกล่าวมีวงเงินคงเหลือ99,078 ล้านบาท 26. เรื่อง การทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่ โดยเห็นชอบการขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) เห็นชอบการปรับปรุงการดำเนินโครงการ Soft Loan ออมสินฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย และเห็นชอบการปรับปรุงการดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ SMEs มีที่ มีเงิน สำหรับธุรกิจการท่องเที่ยว พร้อมทั้งมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป สาระสำคัญ กระทรวงการคลังเสนอการทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่ โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 1. ความเป็นมาและผลการดำเนินงาน 1.1 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 วันที่ 18 สิงหาคม 2563 และวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 เห็นชอบโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ดังนี้ 1) โครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) สนับสนุนสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดย่อม ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ได้แก่ ธุรกิจทัวร์ ธุรกิจสปา ธุรกิจขนส่งที่เกี่ยวเนื่อง (รถทัวร์ รถบัส รถตู้ รถแท็กซี่ เรือนำเที่ยว รถเช่า) บริษัทนำเที่ยว โรงแรม ห้องพัก และร้านอาหาร รวมถึงธุรกิจอื่นที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 3 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ใน 2 ปีแรก ระยะเวลากู้ 5 ปี รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 และอนุมัติงบประมาณชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loans : NPLs) แบ่งเป็นร้อยละ 100 สำหรับ NPLs ไม่เกินร้อยละ 25 ของสินเชื่อที่อนุมัติทั้งหมด และร้อยละ 50 ของ NPLs มากกว่าร้อยละ 25 แต่ไม่เกินร้อยละ 40 ของสินเชื่อที่อนุมัติทั้งหมด รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 3,250 ล้านบาท ผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 14 มิถุนายน 2564 ธพว. อนุมัติสินเชื่อตามโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ไปแล้วจำนวน 4,012 ราย จำนวนเงิน 6,856 ล้านบาท และยังมีวงเงินคงเหลือภายใต้โครงการดังกล่าวอีกจำนวน 3,144 ล้านบาท 2) โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำออมสินช่วยเหลือ SMEs ในภาคการท่องเที่ยว (โครงการ Soft Loan ออมสินฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย) วงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว และ Supply Chain เช่น ร้านอาหาร ธุรกิจสปา นวดแผนไทย รถรับจ้างนำเที่ยว เกสต์เฮาส์ โฮสเทล เป็นต้น วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 500,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.99 ต่อปี ระยะเวลากู้ 5 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 1 ปี รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 และอนุมัติงบประมาณชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจาก NPLs ร้อยละ 100 สำหรับ NPLs ที่ไม่เกินร้อยละ 30 ของสินเชื่อที่อนุมัติทั้งหมด รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 1,500 ล้านบาท ผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 14 มิถุนายน 2564 ธนาคารออมสินได้อนุมัติสินเชื่อตามโครงการ Soft Loan ออมสินฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย ไปแล้วจำนวน 2,691 ราย จำนวนเงิน 1,139 ล้านบาท และยังมีวงเงินคงเหลือภายใต้โครงการดังกล่าวอีกจำนวน 3,861 ล้านบาท 1.2 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 เห็นชอบโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ SMEs มีที่ มีเงิน สำหรับธุรกิจการท่องเที่ยว วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อ ให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและ Supply Chain โดยใช้ที่ดินว่างเปล่า และ/หรือที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดินเป็นหลักประกัน และไม่ต้องผ่านการตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโร วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกินร้อยละ 70 ของราคาประเมินที่ดินของทางราชการสูงสุดไม่เกิน 50 ล้านบาท ระยะเวลากู้ 3 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.10 ต่อปีในปีแรก ร้อยละ 0.99 ต่อปีในปีที่ 2 และร้อยละ 5.99 ต่อปีในปีที่ 3 รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 และอนุมัติงบประมาณชดเชยต้นทุนเงินให้กับธนาคารออมสินในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 600 ล้านบาท ผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 14 มิถุนายน 2564 ธนาคารออมสินได้อนุมัติสินเชื่อตามโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ SMEs มีที่ มีเงิน สำหรับธุรกิจการท่องเที่ยว ไปแล้วจำนวน 389 ราย จำนวนเงิน 2,747 ล้านบาท และยังมีวงเงินคงเหลือภายใต้โครงการดังกล่าวอีกจำนวน 7,253 ล้านบาท 2. การปรับปรุงแนวทางการให้ความช่วยเหลือ 2.1 การขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ระลอกใหม่ จึงเห็นควรทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อจากเดิมวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ออกไปเป็นวันที่ 30 ธันวาคม 2564 ทั้งนี้ การขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดภาระงบประมาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากยังอยู่ภายใต้กรอบงบประมาณชดเชยเดิมตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 รวมถึงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอื่น ๆ ยังคงเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของโครงการที่คณะรัฐมนตรีได้เคยให้ความเห็นชอบไว้ตามที่กล่าวในข้อ 1.1 1) 2.2 การปรับปรุงการดำเนินโครงการ Soft Loan ออมสินฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างทั่วถึงและต่อเนื่องมากขึ้น รวมถึงแบ่งเบาภาระในการผ่อนชำระให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs จึงเห็นควรทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 และวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ดังนี้ 1) ขยายระยะเวลากู้ จากเดิมไม่เกิน 5 ปี เป็นไม่เกิน 7 ปี 2) ขยายระยะเวลาปลอดชำระเงินต้น จากเดิมสูงสุดไม่เกิน 1 ปี เป็นสูงสุดไม่เกิน 2 ปี 3) ขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อจากเดิมวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ออกไปเป็นวันที่ 30 ธันวาคม 2564 โดยการปรับปรุงหลักเกณฑ์ข้างต้นไม่ได้ก่อให้เกิดภาระงบประมาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากยังคงอยู่ภายใต้กรอบงบประมาณชดเชยเดิม รวมทั้งหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอื่น ๆ ยังคงเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของโครงการที่คณะรัฐมนตรีได้เคยให้ความเห็นชอบไว้ตามที่กล่าวในข้อ 1.1 2) 2.3 การปรับปรุงการดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ SMEs มีที่ มีเงิน สำหรับธุรกิจการท่องเที่ยว เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเป็นไปอย่างต่อเนื่อง จึงเห็นควรทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ดังนี้ 1) ขยายกลุ่มเป้าหมายของโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ SMEs มีที่ มีเงิน สำหรับธุรกิจการท่องเที่ยวให้ครอบคลุมถึงธุรกิจอื่นที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 โดยเน้นการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ SMEs ในภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ระลอกใหม่ เช่น ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก ธุรกิจบันเทิง ธุรกิจสปาและนวดแผนไทย ธุรกิจการเดินทางและขนส่ง ธุรกิจโรงเรียนเอกชน เป็นต้น หรือผู้ประกอบการในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ตามที่ธนาคารออมสินเห็นสมควร เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เป็นไปอย่างทั่วถึงและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น 2) ปรับปรุงหลักเกณฑ์วงเงินสินเชื่อต่อรายกรณีผู้กู้เป็นนิติบุคคล จากเดิมพิจารณารายได้รวมของงบการเงินปีล่าสุด (รอบบัญชีปี 2562) เป็นพิจารณารายได้รวมของงบการเงินปีล่าสุด (รอบบัญชีปี 2562 หรือปี 2563 แล้วแต่กรณีใดสูงกว่า) เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสะท้อนความต้องการที่แท้จริงของผู้ประกอบการ SMEs 3) ปรับปรุงเพิ่มเติมรายละเอียดการพิจารณาหลักประกันการกู้เงินจากเดิมไม่รับหลักประกันที่ไม่มีสภาพคล่อง เช่น ที่ดินที่ไม่มีทางเข้า-ออก ที่ดินที่มีบ่อน้ำ หรือถูกขุดหน้าดิน ที่ดินใต้แนวเสาไฟฟ้าแรงสูง ที่ดินที่อยู่ในเขตป่าสงวน เป็นต้น เป็นไม่รับหลักประกันที่ไม่มีสภาพคล่อง โดยรายละเอียดการพิจารณาหลักประกันการกู้เงินให้เป็นไปตามที่ธนาคารออมสินกำหนด เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs 4) ขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อจากเดิมวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ออกไปเป็นวันที่ 30 ธันวาคม 2564 โดยการปรับปรุงหลักเกณฑ์ข้างต้นไม่ได้ก่อให้เกิดภาระงบประมาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากยังอยู่ภายใต้กรอบงบประมาณชดเชยเดิม รวมทั้งหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอื่น ๆ ยังคงเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของโครงการที่คณะรัฐมนตรีได้เคยให้ความเห็นชอบไว้ตามที่กล่าวในข้อ 1.2 ทั้งนี้ ในการดำเนินโครงการ Soft Loan ออมสินฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย และโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ SMEs มีที่ มีเงิน สำหรับธุรกิจการท่องเที่ยว เห็นควรให้ธนาคารออมสินคำนึงถึงและรักษาสิทธิของลูกหนี้ที่ได้รับสินเชื่อไปแล้วก่อนมีการปรับปรุงรายละเอียดข้างต้นด้วย 27. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) (ฉบับที่ 4) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) (ฉบับที่ 4) ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ สธ. เสนอว่า เนื่องจากหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) (ฉบับที่ 2) และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) (ฉบับที่ 3) ไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน และไม่ครอบคลุมถึงบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายบางรายการที่มีความจำเป็นต้องใช้กับผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) จึงจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมโดยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขฉบับนี้ เพื่อให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน ซึ่งมาตรา 36 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสถานพยาบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 กำหนดให้ คณะรัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับอัตราค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของสถานพยาบาลในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ป่วยที่อยู่ในสภาพอันตรายและจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉิน สาระสำคัญ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) (ฉบับที่ 4) มีสาระสำคัญดังนี้ 1. แก้ไขอัตราในหมวดที่ 1 ค่าห้องและค่าอาหาร ลำดับที่ 1.4 และ 1.5 เป็นราคา 6,250 บาท 2. แก้ไขอัตราในหมวดที่ 12 ค่าบริการวิชาชีพ (แพทย์/เภสัชกร/พยาบาล/อื่น ๆ)ลำดับที่ 12.1.3 เป็นราคา 7,400 บาท และแก้ไขลำดับที่ 12.7.5 เป็นราคา 2,000 บาท 3. แก้ไขอัตราในลำดับที่ 16.3 รหัสรายการ 90003C ในหมวดที่ 16 ค่าบริการอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลโดยตรง โดยแก้ค่ารถยนต์รับส่งผู้ป่วยจากบ้านหรือโรงแรมไป - กลับ เป็นราคา 875 บาท 4. เพิ่มเติมรายการในหมวดที่ 2 ค่าอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรค ลำดับที่ 2.6.6.1.3 ชุดละ 13,750.00 บาท และเพิ่มเติมลำดับที่ 2.6.6.1.4 ชุดละ 31,250.00 บาท 5. เพิ่มเติมรายการในหมวดที่ 3 ค่ายา จำนวน 33 รายการ 6. เพิ่มเติมรายการในหมวดที่ 5 ค่าเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา จำนวน 18 รายการ 7. เพิ่มเติมรายการในหมวดที่ 10 ค่าทำหัตถการ จำนวน 2 รายการ 8. เพิ่มเติมรายการในหมวดที่ 12 ค่าบริการวิชาชีพ (แพทย์/เภสัชกร/พยาบาล/อื่นๆ) จำนวน 4 รายการ 9. เพิ่มเติมรายการในหมวดที่ 16 ค่าบริการอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลโดยตรง จำนวน 1 รายการ 10. เพิ่มข้อความ ?ยา Remdesivir 100 mg inj ให้เบิกจากกระทรวงสาธารณสุข? เป็นข้อ 4 ของหมายเหตุท้ายบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขฯ ฉบับที่ 1 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขฯ ฉบับที่ 3 11. เพิ่มบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขนี้ เป็นบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขฯ ฉบับที่ 1 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขฯ ฉบับที่ 2 และ ฉบับที่ 3 12. กำหนดวันใช้บังคับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขนี้ เป็น 3 ระยะเวลา ดังนี้ (1) ข้อ 1 และข้อ 2 แห่งหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่ วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ เป็นต้นไป (2) ข้อ 3 แห่งหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขนี้ และหมวดที่ 16 ค่าบริการอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลโดยตรง แห่งบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่ วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป (3) หมวดที่ 2 ค่าอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรค หมวดที่ 3 ค่ายา หมวดที่ 5 ค่าเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา หมวดที่ 10 ค่าทำหัตถการ และหมวดที่ 12 ค่าบริการวิชาชีพ (แพทย์/เภสัชกร/พยาบาล/อื่นๆ) แห่งบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่ วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป 13. เพิ่มบทเฉพาะกาลเพื่อให้การดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขฯ ฉบับที่ 1 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขฯ ฉบับที่ 2 และ ฉบับที่ 3 ก่อนวันที่หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขนี้มีผลใช้บังคับ ให้สามารถดำเนินการต่อไปได้และให้ถือว่าเป็นการดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขนี้ 28. เรื่อง มาตรการบรรเทาผลกระทบต่อกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการ อันเนื่องมาจากข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 25) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอดังนี้ 1. เห็นชอบในหลักการของข้อเสนอมาตรการให้ความช่วยเหลือในระยะเร่งด่วน 2. มอบหมายให้กระทรวงแรงงาน ดำเนินการตามมาตรการให้ความช่วยเหลือในระยะเร่งด่วนตามข้อ 1 โดยให้กระทรวงการคลัง สนับสนุนข้อมูลและตรวจสอบข้อมูลจากฐานข้อมูลที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงการคลังให้กระทรวงแรงงาน เพื่อใช้ประกอบการดำเนินการตามมาตรการให้ความช่วยเหลือในระยะเร่งด่วนตามข้อ 1 และขอรับสนับสนุนแหล่งเงินเพื่อดำเนินตามมาตรการดังกล่าวตามขั้นตอนของพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 พร้อมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการที่มีลูกจ้างลงทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมภายในเดือนกรกฎาคม 2564 3. มอบหมายให้กระทรวงการคลัง ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมเนื่องจากไม่มีลูกจ้าง ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน ?ถุงเงิน? ผ่านโครงการคนละครึ่งภายในเดือนกรกฎาคม 2564 พร้อมทั้งประสานกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อตรวจสอบยืนยันตัวตนของผู้ลงทะเบียนว่ามีความสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายตามหลักการให้ความช่วยเหลือ และจัดส่งให้กับกระทรวงแรงงานเพื่อดำเนินการต่อไป 4. มอบหมายให้กระทรวงแรงงาน เร่งดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการที่มีลูกจ้างให้ดำเนินการลงทะเบียนในระบบประกันสังคม พร้อมทั้งมอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประสานกับกระทรวงแรงงาน และกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณากำหนดรูปแบบการให้ความช่วยเหลือ เยียวยาให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดโควิด - 19 ตามความเหมาะสมต่อไป สาระสำคัญ แนวทางการให้ความช่วยเหลือ และบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ (1) มาตรการให้ความช่วยเหลือในระยะเร่งด่วนเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการในพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 25) และ (2) มาตรการให้ความช่วยเหลือในระยะต่อไป เพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินการมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เหมาะสม ดังนี้ 1. มาตรการให้ความช่วยเหลือในระยะเร่งด่วน 1.1 หลักการในการให้ความช่วยเหลือ 1) พื้นที่การให้ความช่วยเหลือ ได้แก่ พื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล (จังหวัดนครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร) ที่ต้องปฏิบัติเพิ่มเติมนอกเหนือจากข้อปฏิบัติตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 24) 2) กลุ่มเป้าหมายให้ความช่วยเหลือ ได้แก่ กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการในกิจการที่ได้รับผลกระทบตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 25) ทั้งในส่วนที่อยู่ในระบบและนอกระบบ 3) ประเภทกิจการที่ให้ความช่วยเหลือ ได้แก่ กิจการก่อสร้าง กิจการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร กิจกรรมศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ และกิจกรรมบริการด้านอื่น ๆ ตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด 4) ระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือ จำนวน 1 เดือน 1.2 รูปแบบการให้ความช่วยเหลือ 1) กลุ่มแรงงานที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 สัญชาติไทย ตามหลักการให้ความช่วยเหลือตามข้อ 1.1 จะได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติม ในอัตรา 2,000 บาทต่อคน ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากการให้ความช่วยเหลือผ่านระบบประกันสังคมที่ได้มีการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกจ้างและนายจ้าง ตามข้อ 4 ของกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563 ที่กำหนดว่าในกรณีมีเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตน ซึ่งมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน ไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน เนื่องจากทางราชการมีคำสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันการระบาดของโรค ให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน (สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท) ตลอดระยะเวลาที่มีคำสั่งปิดสถานที่แต่ไม่เกินเก้าสิบวัน 2) ผู้ประกอบการหรือนายจ้างตามหลักการให้ความช่วยเหลือตามข้อ 1.1 จะได้รับความช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้าง สูงสุดไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาทต่อคน 3) ผู้ประกอบการหรือนายจ้างตามหลักการให้ความช่วยเหลือตามข้อ 1.1 แต่ปัจจุบันไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ให้ดำเนินการ ดังนี้ 3.1) กรณีที่เป็นผู้ประกอบการที่มีลูกจ้าง ให้ลงทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมภายในเดือนกรกฏาคม 2564 จะได้รับเงินช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้างสูงสุด ไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาทต่อคน และลูกจ้างที่เป็นสัญชาติไทยจะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 2,000 บาทต่อคน 3.2) กรณีที่เป็นผู้ประกอบการที่ไม่มีลูกจ้าง ให้ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน ?ถุงเงิน? ผ่านโครงการคนละครึ่ง ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 โดยผู้ประกอบการจะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 3,000 บาท 3.3) กรณีที่เป็นผู้ประกอบการในหมวดร้านอาหาร เครื่องดื่ม ของโครงการคนละครึ่งที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม เนื่องจากไม่มีลูกจ้าง จะได้รับการช่วยเหลือในอัตรา 3,000 บาท สำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในโครงการคนละครึ่งและมีลูกจ้างแต่ยังไม่อยู่ในระบบประกันสังคมให้ลงทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมภายในเดือนกรกฎาคม 2564 เพื่อให้สามารถได้รับความช่วยเหลือตามข้อ 3.1) ทั้งนี้ ในเบื้องต้นคาดว่าการดำเนินการตามมาตรการให้ความช่วยเหลือในระยะเร่งด่วน จะมีกรอบวงเงินรวมประมาณ 5,000 ล้านบาท 4) มาตรการอื่น ๆ เพื่อให้การให้ความช่วยเหลือ เยียวยา ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด - 19 และการกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนที่มีกำลังซื้อ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้า ร้านอาหาร และปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจให้เป็นไปต่อเนื่อง จึงเห็นควรให้กระทรวงการคลัง ดำเนินโครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้วตามแผนงานเดิมที่กำหนดไว้ในช่วงเดือนกรกฎาคม - ธันวาคม 2564 ได้แก่ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 และโครงการ ?ยิ่งใช้ยิ่งได้? นอกจากนี้ เพื่อลดผลกระทบแก่กลุ่มแรงงานที่จำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อบังคับในการให้หยุดงาน และห้ามเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานเป็นการชั่วคราวในระยะเวลา 30 วัน รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงาน จะประสานขอความร่วมมือให้สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประสานกับสมาคมภัตตาคารไทยและร้านอาหารในการขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้ใช้บริการอาหารจากภัตตาคาร ร้านอาหาร และร้านอาหารรายย่อย แม่ค้า พ่อค้า เพื่อดูแลกลุ่มแรงงานในสถานที่พักอาศัยชั่วคราวสำหรับคนงานทั้งภายในและภายนอกสถานที่ก่อสร้าง 2. มาตรการให้ความช่วยเหลือในระยะต่อไป : การพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมทั่วประเทศ เพื่อให้ภาครัฐมีข้อมูลประกอบการพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการในลักษณะมุ่งเป้าได้ เห็นควรมอบหมายให้กระทรวงแรงงาน เร่งดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการที่มีลูกจ้างดำเนินการลงทะเบียนในระบบประกันสังคม พร้อมทั้งมอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประสานกับกระทรวงแรงงาน และกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณากำหนดรูปแบบการให้ความช่วยเหลือ เยียวยา ให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดโควิด - 19 ตามความเหมาะสมต่อไป ต่างประเทศ 29. เรื่อง ความก้าวหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ในการดำเนินงานศูนย์นวัตกรรมระดับภูมิภาค (Regional Innovation Center: RIC) คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอความก้าวหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Program: UNDP) ในการดำเนินงานศูนย์นวัตกรรมระดับภูมิภาค (Regional Innovation Center: RIC) [เป็นการดำเนินตามมติคณะรัฐมนตรี (4 สิงหาคม 2563) ที่ให้ สศช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนการดำเนินงานของ RIC ประเทศไทย (ไทย) เพื่อติดตามและประเมินผลการดำเนินงานให้ชัดเจน และให้รายงาน ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบเป็นระยะต่อไป] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ หัวข้อ สาระสำคัญ วัตถุประสงค์ 1. เป็นพื้นที่สำหรับการออกแบบนวัตกรรมเชิงนโยบายและส่งเสริมการพัฒนาเครื่องมือในการจัดทำนโยบายสาธารณะให้ตอบโจทย์การพัฒนาทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค รวมทั้งสนับสนุนการผลักดันวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทย 2. เป็นกลไกในการนำไทยสู่การเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมเชิงนโยบายในภูมิภาคโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) 3. เป็นแพลตฟอร์มการเรียนรู้สำหรับชุมชนของนวัตกรจากทั่วโลก โดยมุ่งสร้างและเชื่อมโยงเครือข่ายของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรภาคประชาสังคม และบุคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดทำนโยบายสาธารณะ เป็นต้น กรอบแนวทาง การขับเคลื่อนโครงการ แบ่งออกเป็น 3 เสาหลัก ประกอบด้วย 1. การพัฒนากระบวนการและพื้นที่เพื่อการพัฒนานวัตกรรมเชิงนโยบายเพื่อสร้างพื้นที่ให้กับภาคส่วนต่าง ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการทดลองนวัตกรรมเชิงนโยบายเพื่อปรับและเตรียมการพัฒนาในมิติต่าง ๆ ของประเทศ 2. การยกระดับขีดความสามารถของผู้จัดทำนโยบาย เพื่อสร้างองค์ความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ การใช้เครื่องมือการพัฒนานโยบายใหม่ ๆ ให้กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำยุทธศาสตร์และนโยบายในการพัฒนาประเทศ 3. การสร้างและพัฒนาเครือข่ายนวัตกรและผู้จัดทำนโยบาย มุ่งเน้นการพัฒนาเครือข่ายนักพัฒนาทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีและสร้างสรรค์แนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการและกระบวนการคิดแบบใหม่ และร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยนวัตกรรมในเชิงนโยบายที่หลากหลาย กรอบงบประมาณ ไทยจะสนับสนุนงบประมาณสำหรับการดำเนินโครงการความร่วมมือดังกล่าวเป็นระยะเวลา 3 ปี วงเงินปีละ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สศช. ได้รับอนุมัติงบประมาณโครงการดังกล่าวแล้วตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2562 และ 16 มิถุนายน 2563) ประโยชน์ที่คาดว่าไทยจะได้รับ 1. ยกระดับขีดความสามารถในการพัฒนานโยบายสาธารณะของประเทศ 2. สนับสนุนการขยายเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการกับพันธมิตรในระดับภูมิภาค 3. สนับสนุนการแสดงบทบาทที่สร้างสรรค์ในฐานะผู้นำการเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือในการจัดทำนวัตกรรมเชิงนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายการพัฒนาเชิงพื้นที่และการพัฒนาสำหรับอนาคต 4. สนับสนุนการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทย 5. ประชาชนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการที่นโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาของภาครัฐมีประสิทธิผลสูงขึ้นและกระบวนการบริหารจัดการภาครัฐมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผลการดำเนินกิจกรรมสำคัญ ในระยะที่ผ่านมา 1. พัฒนากระบวนการและพื้นที่เพื่อการพัฒนานวัตกรรมเชิงนโยบาย โดย (1) สำรวจและจัดกิจกรรมการทดลองนวัตกรรมเชิงนโยบายร่วมกับหุ้นส่วนการพัฒนาในพื้นที่การพัฒนาเป้าหมาย เช่น จัดประชุมเชิงปฏิบัติร่วมกับภาคีเครือข่ายการพัฒนาเพื่อกำหนดประเด็นท้าทายที่ต้องเร่งดำเนินการโดยด่วน ในการทำนโยบายด้านการท่องเที่ยวให้สอดรับกับมิติของพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และ (2) พัฒนาแพลตฟอร์มนวัตกรรมเพื่อสร้างพื้นที่ให้กับภาคส่วนต่าง ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการทดลองนวัตกรรมเชิงนโยบายเพื่อปรับและเตรียมการพัฒนาในมิติ ต่าง ๆ ของประเทศ 2. ยกระดับขีดความสามารถของผู้จัดทำนโยบาย โดย (1) พัฒนาทักษะเพื่อเพิ่มศักยภาพในการจัดทำนโยบายสาธารณะผ่านการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดทำนโยบาย และ (2) ออกแบบหลักสูตรการอบรมต่าง ๆ ร่วมกับภาคีการพัฒนาต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการขยายผลและเผยแพร่แนวคิดเรื่องการพัฒนานวัตกรรมเชิงนโยบายในวงกว้าง 3. สร้างและพัฒนาเครือข่ายนวัตกรและผู้จัดทำนโยบาย โดย (1) พัฒนาแพลตฟอร์มนวัตกรรมให้เป็นเครื่องมือในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเป็นเวทีการสร้างการมีส่วนร่วมและดำเนินกิจกรรมร่วมกันของภาคีในเครือข่ายเพื่อการพัฒนานวัตกรรมเชิงนโยบาย (2) เข้าร่วมและจัดการหารือระดับประเทศและนานาชาติที่เกี่ยวกับนวัตกรรมเชิงนโยบาย เช่น การพัฒนาการท่องเที่ยวหลังสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 การพัฒนาบริการภาครัฐแห่งอนาคต และการพัฒนาเมืองอนาคต และ (3) สร้างเครือข่ายนักนวัตกรรมเชิงนโยบายร่วมกับหุ้นส่วนการพัฒนาในประเทศและภูมิภาค ปัญหาและอุปสรรค 1. กระบวนการสรรหาเจ้าหน้าที่เพื่อรับผิดชอบการบริหารจัดการโครงการฯ ของ UNDP มีความล่าช้าเนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างไรก็ตาม UNDP ได้สรรหาเจ้าหน้าที่แล้วเสร็จและได้เริ่มเข้าปฏิบัติงานแล้วเมื่อเดือนเมษายน 2564 2. การระบาดของโควิด-19 ทำให้การดำเนินงานตามแผนงานต่าง ๆ ล่าช้า เช่น การจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ การจัดอบรม/สัมมนา และการลงพื้นที่ ซึ่ง สศช. UNDP และภาคีการพัฒนาที่เกี่ยวข้อง ได้มีการหารือเพื่อปรับกิจกรรมภายใต้แผนการดำเนินงานให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และจะเร่งรัดการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนงานต่อไป การดำเนินการ ในระยะต่อไป สศช. จะเร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนการดำเนินการโครงการฯ และเร่งรัดขยายความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนานวัตกรรมเชิงนโยบายในไทยและภูมิภาคต่อไป 30. เรื่อง ผลการประชุมระดับรัฐมนตรีบิมสเทค ครั้งที่ 17 คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมระดับรัฐมนตรีบิมสเทค ครั้งที่ 17 และมอบหมายส่วนราชการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ สาระสำคัญ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) ได้เข้า ร่วมการประชุมบิมสเทค ครั้งที่ 17 เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือที่จะเป็นประโยชน์ในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และสภาพปกติใหม่ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ 1. ที่ประชุมฯ รับรองถ้อยแถลงร่วมการประชุมบิมสเทค ครั้งที่ 17 โดยมีการเพิ่มเนื้อหาด้าน การรายงานผลกิจกรรมที่เกิดขึ้นแล้วเพื่อให้ข้อมูลครบถ้วน และให้เสนอถ้อยแถลงร่วมฯ ให้ที่ประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 5 พิจารณารับรองต่อไป 2. ที่ประชุมฯ เห็นชอบร่างเอกสาร 5 ฉบับที่ประเทศสมาชิกได้เจรจาเสร็จแล้วเพื่อดำเนินการ ตามขั้นตอนต่อไป ได้แก่ 2.1 ร่างอนุสัญญาบิมสเทคว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องของอาญา 2.2 ร่างบันทึกความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีบิมสเทค 2.3 ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสถาบันการทูตของประเทศสมาชิกบิมสเทค 2.4 การจัดสาขาและสาขาย่อยบิมสเทค 2.5 ร่างต้นแบบการจัดตั้งศูนย์ความร่วมมือภายใต้กรอบบิมสเทค นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบให้เสนอร่างเอกสาร 2 ฉบับให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ ความเห็นชอบก่อนการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 5 ได้แก่ (1) ร่างกฎบัตรบิมสเทค และ (2) ร่างแผนแม่บท บิมสเทคว่าด้วยความเชื่อมโยงด้านคมนาคม 3. ประเทศไทยได้นำเสนอวิสัยทัศน์ในการรับหน้าที่ประเทศผู้ขับเคลื่อนหลักในสาขาความเชื่อมโยงที่ครอบคลุมทุกมิติ รวมทั้งแนวคิดนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model: BCG) ที่จะผลักดันในวาระการเป็นประธานของไทยต่อไป ทั้งนี้ เพื่อดำเนินการตามเอกสารผลลัพธ์การประชุมระดับรัฐมนตรีบิมสเทค ครั้งที่ 17 สอดคล้องกับนโยบายการต่างประเทศของไทยในการร่วมกำหนดทิศทางของภูมิภาคอ่าวเบงกอลเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศและรับมือกับภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รักษาพลวัตของการเชื่อมโยงเศรษฐกิจของประเทศสู่ ห่วงโซ่การผลิตโลกตลอดจนกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและวิชาการกับประเทศสมาชิกบิมสเทค จึงมอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามตารางติดตามผลการประชุมฯ ในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป สรุปได้ ดังนี้ เรื่อง/ประเด็นติดตาม หน่วยงานรับผิดชอบ การขับเคลื่อนความร่วมมือรายสาขา 1. สาขาการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร 1.1 จัดตั้งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการประมงและปศุสัตว์กับประเทศสมาชิกอื่น 1.2 จัดทำแผนปฏิบัติการและดำเนินโครงการที่เป็นรูปธรรมเพื่อส่งเสริมการ ประมงและปศุสัตว์ - กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2. สาขาความเชื่อมโยง 2.1 ร่วมเสนอร่างสุดท้ายของแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงด้านคมนาคม ให้ที่ประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 5 รับรอง 2.2 เข้าร่วมการเจรจารอบที่สองของข้อตกลงเดินเรือชายฝั่ง โดยคณะทำงาน ว่าด้วยความตกลงการเดินเรือชายฝั่ง 2.3 ร่วมพิจารณากรอบกระบวนการเจรจาความตกลงบิมสเทค ภายใต้ คณะทำงานว่าด้วยความเชื่อมโยงด้านคมนาคม - กระทรวงคมนาคม 3. สาขาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ โดยจัดตั้งคณะทำงานร่วมด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับประเทศสมาชิกอื่น - กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม - กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 4. สาขาการปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชน 4.1 จัดตั้งเวทีเสวนาสำหรับสมาชิกรัฐสภา เยาวชน ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย องค์กรทางวัฒนธรรม และภาคสื่อมวลชนกับประเทศสมาชิกอื่น 4.2 ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือสถาบันการทูตของ ประเทศสมาชิกบิมสเทคในการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 5 - กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม - กระทรวงวัฒนธรรม - กระทรวงการต่างประเทศ 5. สาขาการท่องเที่ยว 5.1 ดำเนินการตามแผนปฏิบติการเพื่อการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว สำหรับภูมิภาคบิมสเทค 5.2 เข้าร่วมการประชุมคณะทำงานด้านการท่องเที่ยว ครั้งที่ 2 5.3 เข้าร่วมการประชุมโต๊ะกลมรัฐมนตรีท่องเที่ยว ครั้งที่ 3 5.4 เข้าร่วมการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจลงตรา ครั้งที่ 4 - กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 6. สาขาวัฒนธรรม 6.1 จัดตั้งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านความร่วมมือทางวัฒนธรรมบิมสเทคกับ ประเทศสมาชิกอื่น 6.2 เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีวัฒนธรรม และเทศกาลวัฒนธรรมบิมสเทค - กระทรวงวัฒนธรรม 7. สาขาเทคโนโลยี 7.1 ลงนามบันทึกความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยี บิมสเทคในการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 5 7.2 จัดตั้งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมกับ ประเทศสมาชิกอื่น - กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 8. สาขาสาธารณสุข โดยจัดตั้งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขกับประเทศสมาชิกอื่น - กระทรวงสาธารณสุข 9. สาขาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยจัดตั้งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์กับประเทศสมาชิกอื่น - กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ - กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 10. สาขาการต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ 10.1 ลงนามอนุสัญญาบิมสเทคว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่อง ทางอาญาในการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 5 10.2 เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีมหาดไทย ครั้งที่ 1 10.3 เข้าร่วมการประรุชมหัวหน้าฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติ ครั้งที่ 4 10.4 เข้าร่วมการประชุมคณะทำงานร่วมด้านการต่อต้านการก่อการร้าย และอาชญากรรมข้ามชาติ ครั้งที่ 9 - สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ - กระทรวงมหาดไทย 11. สาขาการจัดการภัยพิบัติ โดยพัฒนาแผนปฏิบัติการเพื่อตอบสนองต่อภัยธรรมชาติในภูมิภาคอ่าวเบงกอลภายใต้กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านความร่วมมือ ด้านการจัดการภัยพิบัติ - กระทรวงมหาดไทย - กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม - กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 12. สาขาพลังงาน 12.1 ดำเนินการตาม ToR of the BIMSTEC Grid Interconnection Coordination Committee (BGICC) 12.2 ร่วมจัดทำแผนแม่บทว่าด้วยการเชื่อมโยงต่อโครงข่ายพลังงานไฟฟ้า บิมสเทค - กระทรวงพลังงาน 13. สาขาการค้า การลงทุน และการพัฒนา โดยเข้าร่วมการเจรจาข้อตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าและข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือและความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องศุลกากรกับประเทศสมาชิกอื่น - กระทรวงพาณิชย์ - สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน - กระทรวงการต่างประเทศ การขับเคลื่อนประเด็นคาบเกี่ยว (cross-cutting issues) 14. การขจัดปัญหาความยากจน โดยทบทวนแผนปฏิบัติการลดความยากจนบิมสเทค - กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ - กระทรวงมหาดไทย 15. เศรษฐกิจภาคภูเขา โดยจัดตั้งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญภาครัฐ เพื่อพัฒนาแผนปฏิบัติการส่งเสริมเศรษฐกิจภาคภูเขากับประเทศสมาชิกอื่น - กระทรวงการต่างประเทศ - สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 16. เศรษฐกิจภาคทะเล โดยจัดตั้งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญภาครัฐ เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการเรื่องเศรษฐกิจภาคทะเลกับประเทศสมาชิกอื่น - กระทรวงการต่างประเทศ - สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 31. เรื่อง ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศแห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติให้มีการลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วย ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศแห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์ ทั้งนี้ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องปรับปรุงถ้อยคำที่มิใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไว้ ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมดำเนินการได้ โดยให้เสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าว และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือผู้ที่รัฐมนตรีว่า การกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมอบหมายเป็นผู้ลงนามฝ่ายไทยในร่างบันทึกความเข้าใจฉบับดังกล่าว ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ สาระสำคัญ ของร่างบันทึกความเข้าใจ ฯ หัวข้อ สาระสำคัญ วัตถุประสงค์ (1) เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลของทั้งสองประเทศให้มีความครอบคลุมและรอบด้านทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง (2) เพื่อแลกเปลี่ยนนโยบาย เทคโนโลยี ข้อมูลและทรัพยากรมนุษย์ และส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง (3) เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลตามความสนใจของแต่ละฝ่าย ซึ่งจะนำไปสู่ผลประโยชน์ร่วมกัน สาขาความร่วมมือ ข้อ ความร่วมมือ ตัวอย่างความร่วมมือ 1. การเชื่อมโยงด้านดิจิทัล (Digital Connectivity) ? แลกเปลี่ยนกรอบการทำงานที่เอื้ออำนวยต่อการใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ การใช้ใบแจ้งหนี้อิเล็กทรอนิกส์ และเอกสารการค้าดิจิทัล ? พัฒนาและนำแพลตฟอร์มที่ปฏิบัติการร่วมกันได้และมีความเชื่อมโยงกัน มาใช้กับเครือข่ายแบบเปิดของตู้ไปรษณีย์รับของและจุดรับสินค้าที่ใช้ร่วมกัน 2. การจัดการข้อมูล (Data) ? แลกเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติที่ดีในการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคล รวมทั้งการศึกษาและการฝึกอบรม ? สนับสนุนกลไกที่ส่งเสริมการส่งข้อมูลข้ามพรมแดน ได้แก่ ระบบการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลข้ามพรมแดนของเอเปค และข้อริเริ่มภายใต้กรอบอาเซียนสำหรับการกำกับดูแลข้อมูลดิจิทัล 3. ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและกำลังคน (Tech Talent and Manpower) ? ขยายตลาดและพัฒนาความสามารถ เพื่อส่งเสริมการยกระดับและการเข้าถึงความเชี่ยวชาญของเทคโนโลยี ? ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้านเทคโนโลยีดิจิทัลแก่ประชาชนทุกวัยรวมถึงผู้พิการและผู้สูงอายุ 4. เทคโนโลยีอุบัติใหม่ (Emerging Technologies) ? แลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีอุบัติใหม่ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) 5G การประมวลผลแบบคลาวด์(Cloud Computing) และหุ่นยนต์ (Robotics) ? ส่งเสริมการนำกรอบจริยธรรมและการกำกับดูแลที่สนับสนุน ความปลอดภัยและการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์แบบมีความรับผิดชอบ ? สำรวจความร่วมมือเพื่อการพัฒนาศักยภาพและสมรรถนะในสาขาต่าง ๆ เช่น การจัดการโครงการเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ เป็นต้น 5. เมืองและนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ (Smart City and Estates) แบ่งปันข้อมูลและแนวทางการปฏิบัติที่ดีด้านเทคโนโลยีและการแก้ไขปัญหาดิจิทัลสำหรับเมืองและนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ 6. ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Security) ? แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านเทคนิค และแนวทางการปฏิบัติที่ดี ? ร่วมมือกันจัดหลักสูตรการฝึกอบรมและโปรแกรมเชิงเทคนิคสำหรับพัฒนาและเพิ่มพูนทักษะที่เกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ 7. ประเด็นอื่น ๆ ? แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในสาขาการคุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์และการระงับข้อพิพาท ? ให้ความร่วมมือเพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมทางนวัตกรรมดิจิทัลและเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของธุรกิจกับผู้ให้บริการคำปรึกษา ? การให้ความร่วมมือในสาขาอื่น ๆ ตามที่ผู้เข้าร่วมทั้งสองฝ่ายเห็นสมควร เนื่องจากบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้หมดอายุลงเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2562 ทั้งสองฝ่ายจึงเห็นพ้องให้มีการจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจฉบับใหม่ โดยได้มีการพิจารณาปรับชื่อร่างบันทึกความเข้าใจ และแก้ไขเนื้อหาร่วมกันครอบคลุมถึงสาขาความร่วมมือที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญเพื่อให้ตรงกับพัฒนาการของการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลในปัจจุบัน โดยมีขอบเขตความร่วมมือ ประกอบไปด้วย การเชื่อมโยงด้านดิจิทัล การจัดการข้อมูล ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและกำลังคน เทคโนโลยีอุบัติใหม่ เมืองและนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ และประเด็นอื่น ๆ ตามที่เห็นสมควร ในระยะเวลา พ.ศ. 2564 - 2567 32. เรื่อง บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งคณะทำงานร่วมด้านความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างกระทรวงดิจิทัลและเศรษฐกิจของสาธารณรัฐออสเตรียกับกระทรวงพาณิชย์ของราชอาณาจักรไทย คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งคณะทำงานร่วมด้านความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างกระทรวงดิจิทัลและเศรษฐกิจของสาธารณรัฐออสเตรียกับกระทรวงพาณิชย์ของราชอาณาจักรไทย (ร่างบันทึกความเข้าใจฯ) ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างบันทึกความเข้าใจฯ ข้างต้น ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้ พณ. ดำเนินการได้ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าว ร่างบันทึกความเข้าใจฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้ ประเด็น สรุปสาระสำคัญ วัตถุประสงค์ ส่งเสริม พัฒนา และเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และวิชาการในสาขาที่มีความสนใจร่วมกันระหว่างสองประเทศโดยใช้มาตรการที่เหมาะสมและ จัดตั้งคณะทำงานร่วมด้านความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจ ขอบเขตของกิจกรรม เช่น การเข้าร่วมการประชุมของผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือด้านการค้าและวิชาการ สาขาความร่วมมือ รวม 10 สาขา ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมยานยนต์ 2) บริการด้านการบริหารจัดการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 3) การเกษตรอินทรีย์ 4) เศรษฐกิจหมุนเวียน 5) เมืองอัจฉริยะ 6) วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย 7) วิสาหกิจเริ่มต้น (Startups) 8) การพัฒนากำลังคน 9) อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และ 10) เทคโนโลยีสิ่งทอ ทั้งนี้ อาจเพิ่มเติมในสาขาที่สนใจร่วมกันได้อีกในภายหลัง องค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ คณะทำงานร่วมประกอบด้วยผู้แทนที่ได้รับการแต่งตั้งจากแต่ละฝ่าย โดยในการประชุมแต่ละครั้งอาจมีผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมตามประสงค์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ สามารถตั้งคณะทำงานย่อยเพื่อหารือในสาขาความร่วมมือที่สองฝ่ายมีความสนใจร่วมกันได้ ผลบังคับใช้และระยะเวลาดำเนินการ จะมีผลบังคับใช้นับแต่วันที่ลงนาม และสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้เมื่อได้รับความยินยอมร่วมกัน ทั้งนี้ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถยกเลิกบันทึกความเข้าใจฯ ได้ด้วยการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งจะมีผลภายใน 6 เดือนนับแต่ได้รับแจ้ง สถานะทางกฎหมาย บันทึกความเข้าใจฯ มิได้มีเจตนาให้เป็นความตกลงที่ก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้น บันทึกความเข้าใจฯ จึงไม่มีสถานะเป็นสนธิสัญญาหรือก่อให้เกิดพันธกรณีระหว่างกันตามกฎหมายระหว่างประเทศ ผลที่คาดว่าจะได้รับ บันทึกความเข้าใจฯ เป็นเอกสารเพื่อแสดงเจตนาจากทั้งสองฝ่ายที่จะใช้เป็นกรอบในการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และวิชาการ ในสาขาที่มีศักยภาพหรือมีความสนใจร่วมกัน ซึ่งจะช่วยกระชับและยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และสามารถตอบสนองต่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 33. เรื่อง ขอความเห็นชอบการสมัครเป็นสมาชิกสมาคมกีฬามวลชนนานาชาติ (The Association For International Sport for All: TAFISA) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เสนอ ดังนี้ 1. การสมัครเป็นสมาชิกสมาคมกีฬามวลชนนานาชาติ (The Association For International Sport for All: TAFISA) ของ กก. โดยกรมพลศึกษา ในนามประเทศไทย 2. ค่าใช้จ่ายและแหล่งที่มาสำหรับค่าบำรุงสมาชิกประจำปี 2564 จำนวน 400 ยูโร และค่าธรรมเนียมการโอนเงินระหว่างประเทศ จำนวน 20 ยูโร รวมทั้งสิ้น 420 ยูโร หรือเท่ากับ 16,800 บาท (1 ยูโร เท่ากับ 40 บาท) มาจากการปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ของ กก. โดยกรมพลศึกษา ทั้งนี้ กก. โดยกรมพลศึกษา จะจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณงบเงินอุดหนุนสำหรับชำระค่าบำรุงสมาชิกประจำปีในอนาคตตามที่สมาคม TAFISA กำหนดต่อไป สาระสำคัญของเรื่อง กก. รายงานว่า 1. ในอดีตหน่วยงานของประเทศไทย 2 แห่ง ได้แก่ (1) Sport for All Association Thailand และ (2) Office of Sports and Recreation Development (OSRD) หรือสำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ (สพก.) ได้สมัครเป็นสมาชิกระดับชาติ (National Level) ของสมาคม TAFISA อย่างไม่เป็นทางการ โดยไม่ได้ขอรับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและไม่เคยชำระค่าบำรุงสมาชิกประจำปี ดังนั้น ทั้ง 2 หน่วยงานจึงไม่ได้รับสิทธิต่าง ๆ ของสมาคม อาทิ การออกเสียงและการเลือกตั้งกรรมการบริหาร การเข้าร่วมและการเป็นเจ้าภาพการแข่งขัน เป็นต้น 2. ต่อมา Sport for All Association Thailand ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านกีฬามวลชน และเดิมอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของการกีฬาแห่งประเทศไทยนั้น ได้ถูกยุบเลิกไปหลังจากการปฏิรูประบบราชการในปี 2545 ภารกิจด้านกีฬามวลชนจึงได้ถูกถ่ายโอนมายังกรมพลศึกษา1 ตามนัยมาตรา 15 (3) ของพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ซึ่งบัญญัติให้กรมพลศึกษาเป็นส่วนราชการในสังกัด กก. 3. ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา กก. (กรมพลศึกษา) ได้นำแนวทางของสมาคม TAFISA มาเป็นกรอบการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนการพัฒนากีฬามวลชนของประเทศในทุกระดับ รวมถึงมีส่วนร่วมในการหารือเพื่อผลักดันประเด็นสำคัญผ่านการส่งเสริมกีฬามวลชนในด้านต่าง ๆ อาทิตย์ 3.1 ระหว่างปี 2549 - 2559 มีการจัดโครงการแข่งขันมหกรรมกีฬาเพื่อมวลชนแชลเลนจ์เดย์ (Challenge Day) โดยนำหลักการจัดกิจกรรม ?TAFISA World Challenge Day? มาเป็นแนวทางเพื่อเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนออกกำลังกายอย่างพร้อมเพรียงกันทั่วประเทศ รวมทั้งปลูกฝังให้ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย รักการออกกำลังกาย และเล่นกีฬา ส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดี และสร้างความรักความสามัคคี 3.2 เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการของสมาคม TAFISA ภายใต้หัวข้อหลัก ?ความเสมอภาคทางเพศ? ผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 เพื่อเป็นเวทีสำหรับการหารือเกี่ยวกับกระบวนการส่งเสริมให้สตรีและเด็กผู้หญิงสามารถเข้าถึงกีฬามวลชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ 4. กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) มีหนังสือแจ้งความเห็นต่อการสมัครเป็นสมาชิกสมาคม TAFISA ของ กก. เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ดังนี้ 4.1 วัตถุประสงค์ของสมาคม TAFISA สอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ2 ประกอบกับสมาคม TAFISA มีความร่วมมือกับองค์กรอื่น ๆ ด้วย ดังนั้น การสมัครเป็นสมาชิกของประเทศไทยจะก่อให้เกิดประโยชน์ในการสร้างเครือข่ายบุคลากรด้านการกีฬาจากนานาชาติ อันจะนำไปสู่ความร่วมมือด้านการกีฬาและการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน ซึ่งจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการฝึกทักษะทางกีฬาแก่นักกีฬาและประชาชน ตลอดจนเสริมสร้างความสัมพันธ์ทั้งในระดับประเทศ และระดับประชาชนกับประชาชน 4.2 อย่างไรก็ตาม โดยที่สมาคม TAFISA ได้บันทึกข้อมูลว่า สพก. ยังเป็นสมาชิกสมาคม TAFISA กก. จึงอาจพิจารณาประสานกับสมาคม TAFISA เกี่ยวกับสถานะสมาชิกภาพของ สพก. เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน 5. กก. (กรมพลศึกษา) ประสานไปยังสมาคม TAFISA ทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 เพื่อขอทราบสถานสมาชิกภาพ ณ ปัจจุบันของหน่วยงานประเทศไทย 2 แห่ง (ตามข้อ 1) ตามที่ปรากฏในเว็บไซต์ของสมาคม TAFISA และแจ้งเปลี่ยนชื่อหน่วยงาน จากเดิม ?Office of Sports and Recreation Development (OSRD)? เป็น ?Department of Physical Education (DPE)? โดยสมาคม TAFISA ได้ตอบกลับ ดังนี้ 5.1 หน่วยงานของประเทศไทยตามข้อ 1 ตามที่ปรากฏในเว็บไซต์ของสมาคม TAFISA ยังไม่สิ้นสมาชิกภาพ เนื่องจากไม่มีการลาออกจากการเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการ 5.2 รับทราบว่าปัจจุบันไม่มีหน่วยงาน Sport for All Association Thailand ในประเทศไทย 5.3 ขอให้ประเทศไทยมีหนังสือแจ้งยืนยันเปลี่ยนชื่อหน่วยงานอย่างเป็นทางการ และชำระค่าบำรุงสมาชิกประจำปี 2564 โดยด่วน 6. กก. (กรมพลศึกษา) ยังคงสถานะเป็นสมาชิกระดับชาติ (National Level) ในนามประเทศไทยของสมาคม TAFISA แต่มีความจำเป็นต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เพื่อชำระค่าบำรุงสมาชิกประจำปี 2564 และค่าธรรมเนียมการโอนเงินระหว่างประเทศ พร้อมทั้งให้มีหนังสือแจ้งยืนยันเปลี่ยนชื่อหน่วยงานอย่างเป็นทางการตามที่ได้รับแจ้งจากสมาคม TAFISA ต่อไป ทั้งนี้ การเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาคม TAFISA อย่างเป็นทางการจะทำให้ประเทศไทยได้รับสิทธิที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมและส่งเสริมกิจกรรมด้านกีฬามวลชนของสมาคมได้อย่างชอบธรรม โดยรายละเอียดที่เกี่ยวข้องสรุปได้ ดังนี้ สาระสำคัญ รายละเอียด ความสอดคล้องด้านภารกิจ ของ TAFISA กับ กก. (กรมพลศึกษา) ? สมาคมกีฬามวลชนนานาชาติ (TAFISA) เป็นองค์กรชั้นนำด้านกีฬามวลชนระดับนานาชาติ สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการกีฬาเพื่อมวลชน กีฬาพื้นฐาน กีฬาพื้นบ้าน กีฬาชนิดใหม่ และการออกกำลังกาย โดยไม่เลือกปฏิบัติด้านเชื้อชาติ ศาสนา เพศ อายุ สถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคม และสมรรถภาพทางกายหรือจิตใจ รวมทั้งส่งเสริมการใช้กีฬามวลชนเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ? กรมพลศึกษา มีวิสัยทัศน์และภารกิจที่ว่า ?คนไทยออกกำลังกาย เล่นกีฬา และนันทนาการเป็นวิถีชีวิต เพื่อสุขภาวะที่ยั่งยืน? ในฐานะที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักด้านการกีฬาขั้นพื้นฐานและกีฬามวลชน จึงมีแนวทางการดำเนินงานที่มุ่งเน้นการส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยออกกำลังกายและกีฬาพื้นฐานให้กลายเป็นวิถีชีวิต รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนทุกช่วงวัยจากทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมและสามารถเข้าถึงการกีฬาได้ง่าย ค่าใช้จ่ายและแหล่งที่มา ของงบประมาณ ? ค่าใช้จ่าย : การสมัครเป็นสมาชิกประจำปีสำหรับสมาชิกระดับชาติ (National Member) จะต้องชำระค่าบำรุงสมาชิกประจำปี จำนวน 400 ยูโร และค่าธรรมเนียมการโอนเงินระหว่างประเทศ จำนวน 20 ยูโร รวมทั้งสิ้น 420 ยูโร เท่ากับ 16,800 บาท (1 ยูโร เท่ากับ 40 บาท) ? แหล่งที่มาของงบประมาณ : กก. (กรมพลศึกษา จะดำเนินการปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อนำมาเป็นค่าบำรุงสมาชิกประจำปี 2564 ทั้งนี้ กรมพลศึกษาจะจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายฯ งบเงินอุดหนุน สำหรับชำระค่าบำรุงสมาชิกประจำปีในอนาคต ตามที่ TAFISA กำหนดต่อไป ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ จากการเป็นสมาชิกสมาคม TAFISA (1) ได้รับสิทธิต่าง ๆ อาทิ การออกเสียงและการเลือกตั้งกรรมการบริหาร การสมัครเป็นกรรมการบริหาร การเข้าร่วมและการเป็นเจ้าภาพการแข่งขัน การประชุม และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมกีฬามวลชน (2) เป็นโอกาสให้ประเทศไทยสามารถแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และเสริมสร้างภาคีเครือข่ายความร่วมมือกับสมาชิกของสมาคม รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อพัฒนากีฬามวลชนในประเทศต่อไป (3) ส่งเสริมบทบาทของผู้บริหารกีฬาของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศตลอดจนสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทยในฐานะประเทศที่ส่งเสริมกีฬามวลชนอย่างจริงจัง (4) ส่งเสริมกีฬามวลชนในประเทศให้มีความต่อเนื่องและยั่งยืน และเพิ่มความตระหนักรู้ให้กับประชาชนให้เห็นความสำคัญของการออกกำลังกายและเล่นกีฬาให้เป็นวิถีชีวิตมากขึ้น 1 ?สพก.? ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น ?กรมพลศึกษา? โดยเป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนชื่อสำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการเป็นกรมพลศึกษา พ.ศ. 2553 2 ประเด็นศักยภาพการกีฬา ด้านการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการออกกำลังกาย เล่นกีฬาและนันทนาการ ตลอดจนพัฒนาบุคลากรด้านการกีฬาและนันทนาการอย่างเป็นระบบและมีมาตรฐาน 34. เรื่อง ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมระดับรัฐมนตรี Water Dialogues for Results Bonn 2021: Accelerating Cross ? Sectoral SDG 6 Implementation คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างสารทางการเมือง From Dialogues to Results ? Key messages for Accelerating Cross - Sectoral SDG 6 Implementation และหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างสารทางการเมืองดังกล่าวในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ดำเนินได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง และมอบหมายให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นผู้ให้การรับรองร่างสารทางการเมือง From Dialogues to Results ? Key messages for Accelerating Cross - Sectoral SDG 6 Implementation ในนามประเทศไทย รวมทั้งมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ในฐานะกำกับการบริหารราชการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายระดับรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาในการประชุมระดับรัฐมนตรี Water Dialogues for Results Bonn 2021: Accelerating Cross ? Sectoral SDG 6 Implementation ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอ สาระสำคัญ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะหน่วยงานผู้แทนไทยในคณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดทำร่างสารทางการเมือง ได้ร่วมให้ข้อคิดเห็นประกอบการจัดทำร่างสารทางการเมือง From Dialogues to Results ? Key messages for Accelerating Cross - Sectoral SDG 6 Implementation ซึ่งเป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองของประเทศสมาชิกในคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ที่เข้าร่วมการประชุม Water Dialogues for Results Bonn 2021 มีวัตถุประสงค์เพื่อเน้นย้ำความมุ่งมั่นในการเร่งรัดการดำเนินการเพื่อบรรบลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านน้ำภายใต้วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ซึ่งครอบคลุมความร่วมมือในการดำเนินงานของภาครัฐผู้ให้บริการ องค์กรพหุภาคี และระบบสหประชาชาติ และมีเนื้อหาครอบคลุมแนวทางเร่งรัดการขับเคลื่อน 5 ด้าน ดังนี้ (1) เงินทุน กระบวนทัศน์ใหม่ในทางการจัดหาเงินทุน โดยรัฐบาล สถาบันการเงินในประเทศและระหว่างประเทศ และผู้มีบทบาทพุหภาคี จำเป็นต้องปรับปรุงการกำหนดเป้าหมาย และการใช้เงินทุนที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ ระดมทรัพยากรในประเทศ และดึงดูดการลงทุนเพิ่มเติมจากแหล่งภาครัฐและเอกชน (2) ข้อมูล การตัดสินใจโดยอาศัยข้อมูล ช่วยให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจสามารถเข้าถึงข้อมูลและใช้งานข้อมูลที่มีคุณภาพ เข้าถึงได้ ทันเวลา และเชื่อถือได้ สำหรับการวิเคราะห์ การวางแผน และการดำเนินการตามการดำเนินการข้ามภาคส่วนที่มีประสิทธิผล เพื่อที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (3) ขีดความสามารถ การพัฒนาขีดความสามารถที่จำเป็นต้องถ่ายทอดความรู้แบบองค์รวม นอกเหนือจากการฝึกอบรม เพื่อส่งเสริมการตัดสินใจข้ามภาคส่วน การวางแผน และการดำเนินงาน เสริมสร้างความร่วมมือในทุกระดับทั้งในแนวราบและแนวดิ่ง (4) นวัตกรรม ผู้มีอำนาจตัดสินใจจำเป็นต้องประสานองค์ความรู้ดั้งเดิมเข้ากับเทคโนโลยีที่ทันสมัยและแนวทางที่เป็นนวัตกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและประกันการจัดหาน้ำจืดอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคที่มีปัญหาเรืองน้ำและบริเวณข้ามพรมแดน (5) ธรรมาภิบาล แนวทางธรรมาภิบาลด้านน้ำ โดยการร่วมมือกันและแนวทางข้ามภาคส่วนโดย ความต้องการน้ำที่เพิ่มขึ้นเมื่อเผชิญกับความไม่แน่นอนของน้ำที่เพิ่มขึ้น ต้องการธรรมาภิบาลในทุกระดับและความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ภาคส่วน และประเทศต่าง ๆ ทั้งนี้ การประชุม Water Dialogues for Results Bonn 2021 เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรี มีกำหนดจัดในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล แต่งตั้ง 35. เรื่อง การแต่งตั้งโฆษกและรองโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอการแต่งตั้งโฆษกและ รองโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (5 มกราคม 2559) ที่ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทุกกระทรวงแต่งตั้งผู้ทำหน้าที่โฆษกกระทรวงอย่างเป็นทางการ แล้วแจ้งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีรวบรวมรายชื่อเสนอคณะรัฐมนตรีทราบ] เนื่องจาก กษ. ได้มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งผู้บริหารของ กษ. ดังนั้น เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการดำเนินงานของ กษ. เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กษ. จึงได้มีคำสั่งที่ 1464/2563 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2563 เรื่อง แต่งตั้งโฆษกและรองโฆษก กษ. ดังนี้ 1. นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นโฆษก กษ. 2. นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ตรวจราชการ กษ. เป็นรองโฆษก กษ. 3. นายพีรพันธ์ คอทอง ผู้ตรวจราชการ กษ. เป็นรองโฆษก กษ. 36. เรื่อง การแต่งตั้งโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอการแต่งตั้ง โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (5 มกราคม 2559) ที่ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทุกกระทรวงแต่งตั้งผู้ทำหน้าที่โฆษกกระทรวงอย่างเป็นทางการ แล้วแจ้งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีรวบรวมรายชื่อเสนอคณะรัฐมนตรีทราบ] เนื่องจากนายวีระ แข็งกสิการ รองปลัด ศธ. ลาออกจากตำแหน่งโฆษก ศธ. (ฝ่ายข้าราชการประจำ) ดังนั้น เพื่อให้การประชาสัมพันธ์เผยแพร่นโยบายรัฐบาล นโยบายของรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ตลอดจนผลการดำเนินงานของ ศธ. เป็นไปอย่างคล่องตัว จึงได้แต่งตั้งนางเกศทิพย์ ศุภวานิช ผู้ตรวจราชการ ศธ. เป็นโฆษก ศธ. ซึ่ง ศธ. ได้มีคำสั่งที่ สป 389/2564 เรื่อง แต่งตั้งโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 4 มิถุนายน 2564 ด้วยแล้ว 37. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการคลัง) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง นางภัทรพร วรทรัพย์ รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง (นักวิชาการคลังทรงคุณวุฒิ) กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป 38. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ รวม 5 คน ดังนี้ 1. พลเอก พอพล มณีรินทร์ ประธานกรรมการ 2. นายสมสิทธิ์ มูลสถาน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ หรือด้านการวิจัย การพัฒนา และนวัตกรรม 3. นายสัมพันธ์ ศิลปนาฎ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐศาสตร์ หรือบริหารธุรกิจ 4. พลตำรวจเอก ชัยยง กีรติขจร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย หรือทรัพยากรบุคคล 5. นายมนัส แจ่มเวหา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงิน การบัญชี และการงบประมาณ การตรวจสอบประเมินผล และการบริหารความเสี่ยง ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2564 39. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพิจารณาชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักร คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพิจารณาชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักร จำนวน 5 คน เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสองปี เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2564 ดังนี้ 1. ศาสตราจารย์พิเศษกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ 2. นายชนินทร์ ขาวจันทร์ 3. นายนำชัย เอกพัฒนพานิชย์ 4. นายวิชญายุทธ บุญชิต 5. นายสุรชาติ จันทวัชรากร ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป 40. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่การกระทรวงพาณิชย์เสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ รวม 7 คน เนื่องจากประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสี่ปี เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2564 ดังนี้ ประธานกรรมการ 1. นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 2. นายภูเก็ต คุณประภากร 3. นายวีระศักดิ์ เลอวิศิษฎ์ 4. นายบุญเลิศ สิริภัทรวณิช 5. นางสาวอชิรญา อิงคตานุวัฒน์ 6. รองศาสตราจารย์กฤตินี ณัฏฐวุฒิสิทธิ์ 7. นางสาวมาลี โชคล้ำเลิศ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป 41. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยแทนตำแหน่งที่ว่างลง คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเสนอแต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย จำนวน 2 คน แทนกรรมการอื่นเดิมที่ลาออก ดังนี้ 1. นายกรณินทร์ กาญจโนมัย 2. นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป และให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเข้าแทนนี้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาของผู้ซึ่งตนแทน 42. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้แทนฝ่ายรัฐบาลในคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 21 แทนตำแหน่งที่ว่างลง คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงแรงงานเสนอแต่งตั้ง นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ เป็นกรรมการผู้แทนฝ่ายรัฐบาลในคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 21 แทนนางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร กรรมการผู้แทนฝ่ายรัฐบาลเดิมที่ลาออก ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป และให้ผู้ได้รับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการที่ตนแทน ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 มิถุนายน 2564