http://www.thaigov.go.th
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
วันนี้ (30 สิงหาคม 2564) เวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีผ่านระบบ Video Conference ณ ห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้ กฎหมาย 1. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสำรวจการจัดรูปที่ดิน ในท้องที่ตำบลเจ้าท่า และตำบลดงลิง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ พ.ศ. ?. 2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือ สนับสนุน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ?. 3. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้น รัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ?. (มาตรการภาษีสำหรับการบริจาคให้แก่กองทุน เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา) 4. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลบ้านใหม่ อำเภอ พระนครศรีอยุธยา ตำบลวัดยม ตำบลมหาพราหมณ์ ตำบลสะพานไทย ตำบลพระ ขาว อำเภอบางบาล และตำบลบ้านกลึง ตำบลกระแชง ตำบลช้างน้อย ตำบลบ้าน แป้ง ตำบลสนามชัย ตำบลบางไทร ตำบลราชคราม อำเภอบางไทร จังหวัด พระนครศรีอยุธยา พ.ศ. .... 5. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดประโยชน์ของนักโทษเด็ดขาด และเงื่อนไขนักโทษ ที่เด็ดขาดซึ่งได้รับการลดวันต้องโทษจำคุกหรือการพักการลงโทษและได้รับการ ปล่อยตัวต้องปฏิบัติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ?. 6. เรื่อง ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ?. เศรษฐกิจ สังคม 7. เรื่อง ขอความเห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2564 - 2565) 8. เรื่อง การขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามมติคณะกรรมการทรัพยากรน้ำ แห่งชาติ ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564 9. เรื่อง รายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีการป้องกันการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มี ลักษณะเป็นการทรมานบุคคล 10. เรื่อง รายงานผลการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการให้บริการในรูปแบบ อิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) 11. เรื่อง ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุม ครั้งที่ 31/2564 12. เรื่อง ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราช กำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในคราวประชุมครั้งที่ 6/2564 13. เรื่อง รายงานผลการดำเนินการโครงการนำร่องการป้องกันและการควบคุม การแพร่ระบาดในโรงงาน (Factory Sandbox) 14. เรื่อง ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่าย งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณี ฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายโครงการรณรงค์เอาชนะโควิดตามมาตรการ เร่งด่วน (Thailand Prevention) 15. เรื่อง ขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือ จำเป็น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาและเสริมสร้าง ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ครั้งที่ 2 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ต่างประเทศ 16. เรื่อง กรอบการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนของอาเซียน (ASEAN Investment Facilitation Framework : AIFF) 17. เรื่อง ผลการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้าระดับรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลก เรื่องการเจรจาจัดทำความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมง 18. เรื่อง รายงานประจำปีและรายงานงบการเงินขององค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ประจำปี 2563 19. เรื่อง การต่ออายุความตกลงทวิภาคีว่าด้วยการเลกเปลี่ยนเงินตรา (Bilateral Swap Aereement) ระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลังญี่ปุ่น 20. เรื่อง ผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ เพื่อเฉลิมฉลองวาระ ครบรอบ 30 ปี ของความสัมพันธ์ 21. เรื่อง แผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวของภูมิภาคอาเซียนภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติด เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) แต่งตั้ง 22. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา) 23. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงศึกษาธิการ) 24. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี) 25. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี) 26. เรื่อง ให้กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่ออีกหนึ่งวาระ 27. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงพาณิชย์) 28. เรื่อง การแต่งตั้งเลขาธิการ กปร.
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396 กฎหมาย 1. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสำรวจการจัดรูปที่ดิน ในท้องที่ตำบลเจ้าท่า และตำบลดงลิง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ พ.ศ. ?. คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสำรวจการจัดรูปที่ดิน ในท้องที่ตำบลเจ้าท่า และตำบลดงลิง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ พ.ศ. ?. ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปด้ และให้ กษ. รับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย ทั้งนี้ กษ. เสนอว่า 1. เนื่องจากพื้นที่โครงการจัดรูปที่ดินหลายพื้นที่มีประกาศกำหนดเขตท้องที่ที่จะสำรวจเป็นเขตโครงการจัดรูปที่ดินตามพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2517 ยังไม่ได้ประกาศให้เป็นเขตโครงการจัดรูปที่ดิน ต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้บังคับพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2558 ซึ่งในบทเฉพาะกาลมาตรา 69 กำหนดให้ท้องที่ที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตโครงการจัดรูปที่ดินตามพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2517 เป็นเขตโครงการจัดรูปที่ดินตามพระราชบัญญัตินี้ โดยบัญญัติให้บรรดาการดำเนินการใดเกี่ยวกับการจัดรูปที่ดินซึ่งได้กระทำไปแล้วในขั้นตอนใดในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้เป็นอันใช้ได้ แต่การดำเนินการในขั้นตอนต่อไปให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ในกรณีที่มีปัญหาไม่อาจดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ในเรื่องใด ให้การดำเนินการต่อไปในเรื่องนั้นเป็นไปตามที่คณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางกำหนด 2. คณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลาง ในการประชุม ครั้งที่ 2/2559 วันที่ 8 ธันวาคม 2559 เห็นสมควรกำหนดให้ในท้องที่ตำบลเจ้าท่า และตำบลดงลิง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ พ.ศ. ?. เป็นเขตโครงการจัดรูปที่ดิน และเห็นชอบให้ดำเนินการประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสำรวจการจัดรูปที่ดินในท้องที่ตำบลเจ้าท่า และตำบลดงลิง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ พ.ศ. ?. เพื่อกำหนดพื้นที่ที่ทำเกษตรกรรมหรือพื้นที่ในเขตการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม ในท้องที่ตำบลเจ้าท่า และตำบลดงลิง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ และเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งปฏิบัติงานร่วมกับพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปทำการสำรวจพื้นที่ที่จะจัดทำเป็นโครงการจัดรูปที่ดิน รวมทั้งประกาศเป็นเขตโครงการจัดรูปที่ดินต่อไปตามพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2558 สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตโครงการจัดรูปที่ดิน ในท้องที่ตำบลเจ้าท่า และตำบลดงลิง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ให้เป็นเขตสำรวจการจัดรูปที่ดิน 2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ?. คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ?. ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ดำเนินการต่อไปได้ และให้ กค. รับข้อสังเกตของกระทรวงพลังงานไปพิจารณาดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ กค. เสนอว่า 1. ตามที่ได้มีกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน พ.ศ. 2563 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกาศใช้บังคับ โดยกฎกระทรวงดังกล่าวได้กำหนดประเภทของพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน ดังนี้ 1) พัสดุส่งเสริมและพัฒนาด้านการเกษตร 2) พัสดุส่งเสริมวิสาหกิจและการประกอบอาชีพ 3) พัสดุส่งเสริมการเรียนการสอน 4) พัสดุส่งเสริมนวัตกรรม 5) พัสดุส่งเสริมสุขภาพและสาธารณสุข 6) พัสดุส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ 7) พัสดุส่งเสริมความมั่นคงด้านความปลอดภัยทางอาหารและสินค้าเกษตร 8) ประเภทของที่ปรึกษาที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน 9) พัสดุการผลิตภายในประเทศ และ 10) พัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 2. เนื่องจากปัจจุบันมีพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุนเพิ่มเติมหลายประเภทมากขึ้น ประกอบกับมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 บัญญัติว่าให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ และมาตรา 65 วรรคสองบัญญัติว่าพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง กค. พิจารณาแล้วจึงได้แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงตามข้อ 1. เพื่อกำหนดประเภทของพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุนเพิ่มเติม รวมทั้งวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างฯ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป 3. คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐในคราวประชุมครั้งที่ 7/2564 เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2564 มีมติเห็นชอบประเภทพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุนตามที่กำหนดในหลักการร่างกฎกระทรวงดังกล่าวแล้ว สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง 1. แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 2 พัสดุส่งเสริมวิสาหกิจ และการประกอบอาชีพ - กำหนดให้ ?วิสาหกิจเพื่อสังคม? อยู่ในคำนิยามว่า ?พัสดุส่งเสริมวิสาหกิจและการประกอบอาชีพ? - กำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อจัดจ้างผลิตผล ชิ้นงาน หรือบริการที่ผลิตหรือจัดทำขึ้นจากวิสาหกิจเพื่อสังคมตามที่ได้จดทะเบียนวิสาหกิจเพื่อสังคมโดยวิธีเฉพาะเจาะจง หรือจะใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปหรือวิธีการคัดเลือกก็ได้ ทั้งนี้ เป็นไปตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562 มาตรา 59 วรรคหนึ่ง (3) 2. แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 3 พัสดุการเรียนการสอน - กำหนดให้หน่วยงานของรัฐสามารถจัดจ้างผลิตอากาศยาน อากาศยานไร้คนขับ ดาวเทียม และอุปกรณ์ รวมถึงระบบที่เกี่ยวข้องกับยานอวกาศหรือยานอวกาศ ตลอดจนระบบบริหารคลังพัสดุ ระบบคลังอาวุธ และระบบความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ของบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด โดยวิธีการเฉพาะเจาะจง หรือจะใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปหรือคัดเลือกก็ได้ เนื่องจากการจ้างผลิตดังกล่าวสามารถพัฒนาองค์กรความรู้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง รวมถึงพร้อมรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและการวิจัยจากบริษัทต่างประเทศ มาปรับและพัฒนาเป็นองค์ความรู้ภายในประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดการพึ่งพาตนเอง ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศสามารถพัฒนาต่อยอดได้ในอนาคต 3. แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 9 พัสดุส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ - กำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดจ้างงานจ้างบริการเกี่ยวกับไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยวิธีเฉพาะเจาะจง หรือจะใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปหรือวิธีคัดเลือกก็ได้ เนื่องจากงานให้บริการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 บัญญัติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สามารถดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวกับหรือต่อเนื่องกับกิจการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยงานให้บริการเกี่ยวกับไฟฟ้ามีลักษณะเหมือนกับงานให้บริการของการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งได้ถูกกำหนดไว้ในกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน พ.ศ. 2563 แล้ว 4. แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 7 พัสดุส่งเสริมความมั่นคงด้านความปลอดภัยทางอาหารและสินค้าเกษตร - กำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดจ้างอุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ โดยวิธีเฉพาะเจาะจง หรือจะใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปหรือวิธีคัดเลือกก็ได้ 5. แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 8 ประเภทของที่ปรึกษาที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน - กำหนดเพิ่มเติมให้อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ มูลนิธิเพื่อสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ และมูลนิธิเพื่อสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นที่ปรึกษาที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุนประเภทที่ปรึกษาที่มิใช่หน่วยงานของรัฐ เนื่องจากมูลนิธิทั้ง 3 แห่ง เป็นหน่วยงานที่รองรับการดำเนินงานของสถาบันที่จัดตั้งขึ้นตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ โดยมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และคณะกรรมการ ก.พ.ร. กำหนดให้สถาบันภายใต้มูลนิธิดังกล่าวรวม 3 แห่งเป็นกลไกส่วนราชการ เป็นหน่วยงานที่ใช้อำนาจรัฐแต่ไม่เป็นองค์กรของรัฐ และเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร รวมทั้งเป็นสถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งมีส่วนในการสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรม 3. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ?. (มาตรการภาษีสำหรับการบริจาคให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ?. (มาตรการภาษีสำหรับการบริจาคให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา) ของกระทรวงการคลัง (กค.) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ ทั้งนี้ สคก. ได้ตรวจพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ?. (มาตรการภาษีสำหรับการบริจาคให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา) เสร็จแล้ว มีการแก้ไขเพิ่มเติมในสาระสำคัญ โดยตัดกรณีการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สินหรือการขายสินค้า หรือสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการบริจาคให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ออก เนื่องจาก กค. ประสงค์จะยกเว้นเฉพาะภาษีเงินได้สำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่ กสศ. เท่านั้น ซึ่งเป็นการกำหนดในลักษณะเดียวกับพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 682) พ.ศ. 2562 สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา เป็นการขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยให้หักลดหย่อนหรือหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาค (เดิมสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563) สำหรับการบริจาคที่กระทำผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e- Donation) ของกรมสรรพากร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 4. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลบ้านใหม่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา ตำบลวัดยม ตำบลมหาพราหมณ์ ตำบลสะพานไทย ตำบลพระขาว อำเภอบางบาล และตำบลบ้านกลึง ตำบลกระแชง ตำบลช้างน้อย ตำบลบ้านแป้ง ตำบลสนามชัย ตำบลบางไทร ตำบลราชคราม อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลบ้านใหม่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา ตำบลวัดยม ตำบลมหาพราหมณ์ ตำบลสะพานไทย ตำบลพระขาว อำเภอบางบาล และตำบลบ้านกลึง ตำบลกระแชง ตำบลช้างน้อย ตำบลบ้านแป้ง ตำบลสนามชัย ตำบลบางไทร ตำบลราชคราม อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ ทั้งนี้ กษ. เสนอว่า กรมชลประทานมีแผนงานก่อสร้างโครงการระบบระบายน้ำหลากบางบาล ? บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีระยะเวลาก่อสร้างโครงการทั้งสิ้น 5 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 - พ.ศ. 2566) ลักษณะของโครงการประกอบด้วย 1. คลองระบายน้ำหลากบางบาล - บางไทร 2. อาคารบังคับน้ำ 3. อาคารจ่ายน้ำพร้อมสถานีสูบน้ำ 4. สถานีสูบน้ำแบบ 2 ทาง พร้อมอาคารประกอบ 5. สะพานรถยนต์ข้ามคลองระบายน้ำหลาก 6. งานป้องกันตลิ่งบริเวณปลายคลองน้ำหลาก 7. คันกั้นน้ำโดยรอบพื้นที่โครงการและอาคารประกอบ 8. งานอาคารชลประทานอื่น ๆ ตามความจำเป็น โครงการนี้เมื่อดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จสามารถผันน้ำเลี่ยงตัวเมืองพระนครศรีอยุธยาให้ระบายน้ำได้สูงสุด ประมาณ 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยเมื่อรวมกับขีดความสามารถของแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมจะสามารถระบายน้ำสูงสุดประมาณ 2,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาจนถึงอ่าวไทย เพิ่มศักยภาพในการใช้ประโยชน์พื้นที่ด้านการเกษตรจำนวนประมาณ 229,138 ไร่ เป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภคบริโภคครอบคลุมพื้นที่บริเวณ 2 ฝั่งคลองระบายน้ำหลาก 48 ตำบล 362 หมู่บ้าน ดังนั้น กรมชลประทานจึงมีความจำเป็นต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์เพื่อดำเนินการโครงการดังกล่าวโดยการเวนคืน เพื่อให้การก่อสร้างคลองระบายน้ำ ประตูระบายน้ำ สถานีสูบน้ำ อาคารประกอบ และสิ่งจำเป็นในการชลประทานอื่นตามโครงการระบบระบายน้ำหลากบางบาล ? บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นไปตามแผนงานที่กำหนด อันเป็นประโยชน์แก่การชลประทานสำหรับพื้นที่การเกษตร การอุปโภคและบริโภค ตลอดจนการป้องกันและบรรเทาอุทกภัย ตลอดจนเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องได้มาโดยแน่ชัด กรมชลประทานได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่โครงการดังกล่าวแล้ว ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 แล้ว ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการนี้ เพราะเห็นว่ามีประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่ และสำนักงบประมาณแจ้งว่าจะจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสม เมื่อร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับแล้ว สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา เป็นการกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลบ้านใหม่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา ตำบลวัดยม ตำบลมหาพราหมณ์ ตำบลสะพานไทย ตำบลพระขาว อำเภอบางบาล และตำบลบ้านกลึง ตำบลกระแชง ตำบลช้างน้อย ตำบลบ้านแป้ง ตำบลสนามชัย ตำบลบางไทร ตำบลราชคราม อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อประโยชน์แก่การชลประทาน ในการก่อสร้างคลองระบายน้ำ ประตูระบายน้ำ สถานีสูบน้ำ อาคารประกอบและสิ่งจำเป็นในการชลประทานอื่นตามโครงการระบบระบายน้ำหลากบางบาล - บางไทร จ. พระนครศรีอยุธยา เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องได้มาโดยแน่ชัด 5. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดประโยชน์ของนักโทษเด็ดขาด และเงื่อนไขนักโทษที่เด็ดขาดซึ่งได้รับการลดวันต้องโทษจำคุกหรือการพักการลงโทษและได้รับการปล่อยตัวต้องปฏิบัติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ?. คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดประโยชน์ของนักโทษเด็ดขาด และเงื่อนไขนักโทษที่เด็ดขาดซึ่งได้รับการลดวันต้องโทษจำคุกหรือการพักการลงโทษและได้รับการปล่อยตัวต้องปฏิบัติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ?. ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ ยธ. รับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย ทั้งนี้ ยธ. เสนอว่า โดยที่ปัจจุบันผู้ต้องขังในเรือนจำแต่ละแห่งมีเป็นจำนวนมากทำให้ผู้ต้องขังล้นเรือนจำ เกิดปัญหาความแออัดภายในเรือนจำ ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง การจัดสวัสดิการ การแก้ไขฟื้นฟูพฤตินิสัยของผู้ต้องขัง ซึ่งมาตรการที่จะช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามภารกิจของกรมราชทัณฑ์ในการควบคุม และการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ หรือการกำหนดให้นักโทษเด็ดขาดได้รับประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังคืนคนดีสู่สังคมคือ การลดวันต้องโทษจำคุก การพักการลงโทษ การส่งผู้ต้องขังไปฝึกวิชาชีพ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย ยธ. จึงได้ศึกษาหาแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาความแออัดในเรือนจำโดยสร้างโอกาสให้กับนักโทษเด็ดขาดซึ่งต้องโทษจำคุกมาพอสมควรแล้วอาจได้รับการพิจารณาพักการลงโทษ เพื่อให้สามารถปรับตัวก่อนเข้าสู่สังคมและสามารถกลับตัวเป็นคนดีมีคุณค่าสู่สังคม อีกทั้งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขังตามหลักอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยา จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการทางกฎหมายโดยการแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดประโยชน์ของนักโทษเด็ดขาดและเงื่อนไขที่นักโทษเด็ดขาดซึ่งได้รับการลดวันต้องโทษจำคุก หรือการพักการลงโทษและได้รับการปล่อยตัวต้องปฏิบัติ พ.ศ. 2562 เพื่อกำหนดให้นักโทษเด็ดขาดได้รับประโยชน์และเพื่อให้ผู้ต้องขังได้รับการพิจารณาพักการลงโทษมากยิ่งขึ้น จึงได้ยกร่างกฎกระทรวงกำหนดประโยชน์ของนักโทษเด็ดขาด และเงื่อนไขที่นักโทษเด็ดขาดซึ่งได้รับการลดวันต้องโทษจำคุกหรือการพักการลงโทษและได้รับการปล่อยตัวต้องปฏิบัติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ?. เพื่อแก้ไขให้นักโทษเด็ดขาดตั้งแต่ชั้นกลางขึ้นไปสามารถได้รับการพิจารณาให้พักการลงโทษจำคุกได้ และแก้ไขให้นักโทษเด็ดขาดที่กระทำผิดซ้ำสามารถเสนอขอรับการพิจารณาพักการลงโทษกรณีปกติได้ ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการราชทัณฑ์ ครั้งที่ 1/2564 วันที่ 4 มกราคม 2564 เห็นชอบร่างกฎกระทรวงดังกล่าวด้วยแล้ว สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง 1. ให้ยกเลิกบทบัญญัติของข้อ 41 แห่งกฎกระทรวงการกำหนดประโยชน์ของนักโทษเด็ดขาดและเงื่อนไขที่นักโทษเด็ดขาดซึ่งได้รับการลดวันต้องโทษจำคุกหรือการพักการลงโทษ และได้รับการปล่อยตัวต้องปฏิบัติ พ.ศ. 2562 เพื่อขยายโอกาสให้นักโทษเด็ดขาดซึ่งกระทำผิดซ้ำเสนอขอพักการลงโทษในกรณีปกติได้ 2. แก้ไขเพิ่มเติมข้อ 42 แห่งกฎกระทรวงการกำหนดประโยชน์ของนักโทษเด็ดขาดและเงื่อนไข ที่นักโทษเด็ดขาดซึ่งได้รับการลดวันต้องโทษจำคุกหรือการพักการลงโทษและได้รับการปล่อยตัวต้องปฏิบัติ พ.ศ. 2562 โดยให้นักโทษเด็ดขาดตั้งแต่ชั้นกลางขึ้นไปสามารถได้รับการพิจารณาให้พักการลงโทษจำคุกได้ ไม่เกินหนึ่งในสามของกำหนดโทษที่ระบุไว้ในหมายแจ้งโทษเด็ดขาด (เดิม กำหนดให้นักโทษเด็ดขาดชั้นดี ชั้นดีมาก และชั้นเยี่ยม เท่านั้น) และหากมีการพระราชทานอภัยโทษให้ถือกำหนดโทษตามหมายแจ้งโทษเด็ดขาดฉบับหลังสุด 6. เรื่อง ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ?. คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ?. ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ ทั้งนี้ ร่างระเบียบที่ สปน. เสนอ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ พ.ศ. 2549 เกี่ยวกับองค์ประกอบของคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ ตลอดจนบทบัญญัติอื่นที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกัน เพื่อให้การดำเนินงานของคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับบริบทของการเปลี่ยนแปลงภารกิจและอำนาจของส่วนราชการปัจจุบัน สาระสำคัญของร่างระเบียบ ปรับปรุงองค์ประกอบคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ โดยกำหนดให้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการและเลขานุการ ผู้อำนวยการสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ เพิ่มปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นกรรมการ และในส่วนกรรมการที่เป็นผู้แทนหน่วยงานราชการในพระองค์ หากมีเรื่องสำคัญที่จะต้องขอคำปรึกษาหารือให้เรียนเชิญประชุมเป็นการเฉพาะคราว ตลอดจนแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติที่เกี่ยวกับกรรมการผู้แทนภาคเอกชนและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ เศรษฐกิจ สังคม 7. เรื่อง ขอความเห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2564 - 2565) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2564 ? 2565) (แผนปฏิบัติการฯ) และมอบหมายให้ พณ. เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และให้ พณ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการต่อไป สาระสำคัญของเรื่อง พณ. รายงานว่า 1. ปัจจุบันการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กลายเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจที่ทวีความสำคัญมากขึ้น อันเป็นผลจากการพัฒนาของเทคโนโลยีและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้ใช้เทคโนโลยีทั่วโลก จึงสมควรที่ประเทศไทยจะมีแผนการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นกรอบแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้น คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในคราวประชุมครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2560 ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จึงได้มีมติเห็นชอบในหลักการของร่างแผนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (ปี พ.ศ. 2560 - 2564) เพื่อคณะกรรมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (แต่งตั้งตามคำสั่งของ พณ.) จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีและจัดทำร่างแผนปฏิบัติการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติต่อไป 2. คณะกรรมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ได้ดำเนินการจัดทำร่างแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2564 - 2565) และแผนงานกิจกรรม/โครงการสำคัญ (Flagship) ที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการฯ โดยมีกรอบแนวคิดจากการศึกษายุทธศาสตร์ชาติ และแผนระดับชาติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งได้มีการขอรับความคิดเห็นจากคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรมของวุฒิสภา หน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ แล้วเสนอต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อพิจารณาตามแนวทางการเสนอแผนเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (แผนระดับที่ 3) ซึ่ง สศช. ได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนี้ 2.1 คณะอนุกรรมการด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน (คณะอนุกรรมการฯ) ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564 มีมติเห็นชอบให้นำร่างแผนปฏิบัติการฯ พร้อมความเห็นของคณะอนุกรรมการฯ เสนอสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒนาฯ) พิจารณา โดยคณะอนุกรรมการฯ มีความเห็นบางส่วนสรุปได้ ดังนี้ 2.1.1 การกำหนดเป้าหมายของแผนปฏิบัติการฯ ควรให้ความสำคัญกับ (1) การเก็บรวบรวมข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ของภาครัฐ และเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาใช้ประโยชน์ (2) การเข้าสู่ระบบภาษีอย่างเท่าเทียมกันของผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทยและต่างประเทศ และ (3) การลงทุนในระบบ Cloud Computing System โดยกำหนดเป็นเป้าหมายลำดับรองเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างจริงจัง 2.1.2 นอกเหนือจากการส่งเสริมแพลตฟอร์มขายสินค้า ควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริมแพลตฟอร์มขายบริการ เช่น ธุรกิจจองที่พักให้แก่นักท่องเที่ยว (Online Travel Agent : OTA) ซึ่งเป็นธุรกิจบริการที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยอาจเพิ่มเติมเป็นแผนงานกิจกรรม/โครงการสำคัญ (Flagship) 2.1.3 ขอให้ปรับชื่อกลยุทธ์ที่ 2.2 พัฒนาศักยภาพของผู้ให้บริการโลจิสติกส์และบริการสนับสนุนโลจิสติกส์ (Logistics Fulfillment) และกลยุทธ์ที่ 2.3 พัฒนาระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Payment) ที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ โดยปรับจาก ?พัฒนา? เป็น ?สนับสนุนการพัฒนา? เนื่องจากภาครัฐควรทำหน้าที่สนับสนุนและเชื่อมโยงผู้ให้บริการภาคเอกชนด้วยกันเพื่อให้มีระบบที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากกว่าดำเนินการเอง 2.2 สภาพัฒนาฯ ในคราวประชุมครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 มีมติเห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการฯ โดยให้คณะกรรมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์รับความเห็นของคณะอนุกรรมการฯ และสภาพัฒนาฯ ไปพิจารณาปรับปรุงเพิ่มเติมในรายละเอียดและนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป โดยสภาพัฒนาฯ มีความเห็นบางส่วนสรุปได้ ดังนี้ 2.2.1 ควรให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งควรสร้างความรู้ด้านดิจิทัล (Digital Literacy) ให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง 2.2.2 ภาครัฐต้องจัดลำดับความสำคัญและเร่งรัดให้มีการจัดสรรงบประมาณในการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ อย่างเหมาะสม รวมทั้งส่งเสริมภาคเอกชนให้ดำเนินการแทนในเรื่องที่รัฐมีข้อจำกัด โดยเฉพาะในด้านงบประมาณและข้อมูล อีกทั้งควรกำหนดกลไกการติดตามและประเมินผลที่ชัดเจน ทั้งนี้ พณ. ได้นำความเห็นของคณะอนุกรรมการฯ และสภาพัฒนาฯ ไปพิจารณาปรับปรุงร่างแผนปฏิบัติการฯ แล้ว 3. แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2564 - 2565) มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้ หัวข้อ รายละเอียด วิสัยทัศน์ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการค้าของประเทศไทย ภายใต้ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) เป้าหมายหลัก - มูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 5.3 ล้านล้านบาท ในปี พ.ศ. 2565 - มูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เติบโตเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า ร้อยละ 5 ต่อปี ในช่วงปี พ.ศ. 2564 - 2565 - มูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนด้านการขายต่างประเทศ (Outbound Cross Border e-Commerce) เติบโตไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ต่อปี ในช่วงปี พ.ศ. 2564 - 2565 - มีการเชื่อมโยงข้อมูลพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างภาครัฐและเอกชน และเกิดการ บูรณาการในการพัฒนาระบบการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ร่วมกัน เพื่อสามารถนำ Big Data มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดำเนินการของภาครัฐและเอกชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป้าหมายรอง - จำนวนการออกเครื่องหมายรับรองผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (DBD Registered) ไม่ต่ำกว่าปีละ 10,000 ราย - สภาพแวดล้อมและปัจจัยสนับสนุนการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ICT (เช่น Cloud Computing System ที่มีประสิทธิภาพสูง) โลจิสติกส์ การเงิน และ อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้รับการพัฒนาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 10 โครงการต่อปี ยุทธศาสตร์ ยุทธศาสตร์ที่ 1 : การพัฒนาแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์ (e-Marketplace) เพื่อส่งเสริมการค้าภายในประเทศและการค้าข้ามพรมแดน (Enhancement and Promotion) เป้าประสงค์ เช่น (1) มูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 2 ปี ของแผนปฏิบัติการฯ และ (2) ผู้ประกอบการที่พัฒนา e-Commerce Platform ในรูปแบบต่าง ๆ และผู้ให้บริการดิจิทัลที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งได้จดทะเบียนนิติบุคคล และเป็นของคนไทย มีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี ตลอดช่วง 2 ปี ของแผนปฏิบัติการฯ ตัวชี้วัด เช่น (1) มูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 5.3 ล้านล้านบาท ในปี พ.ศ. 2565 และ (2) ผู้ประกอบการที่พัฒนา e-Commerce Platform ในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งได้จดทะเบียนนิติบุคคลและเป็นของคนไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี ยุทธศาสตร์ที่ 2 : การพัฒนาสภาพแวดล้อมและปัจจัยสนับสนุนการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในทุกด้านให้พร้อมรองรับการเติบโตของการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Ecosystem and Enabling Factors) เป้าประสงค์ เช่น (1) มีสภาพแวดล้อมและปัจจัยสนับสนุนที่เพียงพอเหมาะสม และครบวงจรต่อการดำเนินงานพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และ (2) มีระบบการเชื่อมโยงข้อมูลพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และเกิดการบูรณาการในการพัฒนาระบบการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ร่วมกัน เพื่อสามารถนำ Big Data มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดำเนินงานของภาครัฐและภาคเอกชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวชี้วัด เช่น สภาพแวดล้อมและปัจจัยสนับสนุนการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ICT โลจิสติกส์ การเงิน และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้รับการพัฒนาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 10 โครงการต่อปี ยุทธศาสตร์ที่ 3 : การสร้างความเชื่อมั่นในธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Trust and Sustainability) เป้าประสงค์ เช่น (1) สร้างความน่าเชื่อถือให้ผู้ประกอบการในการประกอบกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และ (2) สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคในการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างปลอดภัย ตัวชี้วัด เช่น จำนวนการออกเครื่องหมายรับรองผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (DBD Registered) ไม่ต่ำกว่าปีละ 10,000 ราย ยุทธศาสตร์ที่ 4 : การพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้สามารถใช้ประโยชน์จากธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Competency Building) เป้าประสงค์ เช่น (1) มูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศของผู้ประกอบการ SMEs เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และ (2) มูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนด้านการขายต่างประเทศ (Outbound Cross Border e-Commerce) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 2 ปี ของแผนปฏิบัติการฯ ตัวชี้วัด เช่น (1) มูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศของผู้ประกอบการ SMEs เติบโตเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ต่อปี และ (2) มูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนด้านการขายต่างประเทศ (Outbound Cross Border e-Commerce) เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ต่อปี กลยุทธ์ รวม 14 กลยุทธ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า กรมสรรพากร กระทรวงคมนาคม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรมศุลกากร สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมการค้าภายใน กรมทรัพย์สินทางปัญญา กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมการท่องเที่ยว กรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กลไกการขับเคลื่อน กลไกขับเคลื่อนที่ 1 : การจัดทำแผนงานกิจกรรม/โครงการสำคัญ (Flagship) ที่เป็นรูปธรรม โดยหน่วยงานที่ระบุไว้ในแต่ละยุทธศาสตร์ของแผนฯ มีบทบาทหน้าที่ในการจัดส่งข้อมูลแผนงาน กิจกรรม/โครงการสำคัญ (Flagship) ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ภายใต้แผนปฏิบัติการฯ ที่ต้องเร่งดำเนินการตามกรอบที่กำหนดไว้ให้แก่ฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กลไกขับเคลื่อนที่ 2 : การสร้างความรู้ความเข้าใจแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ตลอดจนสร้างความรู้ความเข้าใจสาระสำคัญและรายละเอียดของแผนปฏิบัติการฯ ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างให้เกิดการมองเห็นความสำคัญในการมีส่วนร่วม ความเข้าใจและความคิดริเริ่มในการจัดทำกิจกรรม และโครงการที่ตอบสนองต่อการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ กลไกขับเคลื่อนที่ 3 : การกำหนดตัวชี้วัดร่วม (Joint KPI) และการจัดทำแผนบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การหารือร่วมกับหน่วยงานหลักที่กำหนดไว้ในแต่ละยุทธศาสตร์ของแผนฯ เพื่อให้หน่วยงานบรรจุแผนงาน/โครงการที่เกี่ยวข้องไว้ในแผนปฏิบัติการของหน่วยงาน แนวทางการสนับสนุนให้ได้งบประมาณในการดำเนินงาน และกำหนดเป้าหมายหรือตัวชี้วัดร่วม (Joint KPI) ที่พึงต้องบรรลุร่วมกันสำหรับนำมาเป็นกรอบในการจัดทำแผนบูรณาการรายยุทธศาสตร์ที่จะกำหนดแนวทางการปฏิบัติของแต่ละหน่วยงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตลอดจนการส่งเสริมภาคเอกชนให้ดำเนินการแทนในเรื่องที่ภาครัฐมีข้อจำกัด กลไกขับเคลื่อนที่ 4 : การอาศัยกลไกการประสานงาน การติดตามและประเมินผลความก้าวหน้าของแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การกำหนดกลไกการประสาน ติดตาม และประเมินผลสัมฤทธิ์ จากการดำเนินกิจกรรมและโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการฯ พิจารณาให้ความเห็นและข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น และรายงานผลการดำเนินงานแก่คณะกรรมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อพิจารณาต่อไป 4. พณ. ได้จัดทำแผนงานกิจกรรม/โครงการสำคัญ (Flagship) ที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการฯ มาด้วย ซึ่งเป็นกิจกรรม/โครงการที่ต้องเร่งดำเนินการ ลงลึกในระดับปฏิบัติการในระยะ 2 ปี (พ.ศ. 2564 ? 2565)ประกอบด้วย โครงการที่ดำเนินงานตามภารกิจเฉพาะของหน่วยงาน (โครงการ Buttom up) และโครงการศึกษาขึ้นเพิ่มเติม (โครงการ Top Down) โดยมีรายละเอียดตัวอย่างโครงการบางส่วนที่สอดคล้องกับแต่ละยุทธศาสตร์ ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์ (e-Marketplace) เพื่อส่งเสริมการค้าภายในประเทศ และการค้าข้ามพรหมแดน (Enhancement and Promotion) โครงการ Buttom up - โครงการพัฒนาแพลตฟอร์ม National Delivery เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการในยุควิถีใหม่ (New Normal) - โครงการส่งเสริมการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลด้านอาหารและการท่องเที่ยว (Digital Food Tourism) เพื่อสร้างโอกาสในยุค Post-COVID โครงการ Top Down - โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาแพลตฟอร์มการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อรองรับการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศและพาณิชย์ อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนที่เทียบเท่า e-Marketplace ประเภท Super Application ที่มีชื่อเสียงของต่างประเทศ (ปี 2565) - โครงการศึกษาและติดตามแนวทางการจัดเก็บภาษีจากรายได้ที่ได้จากการประกอบการที่ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามแนวทางขององค์การระหว่างประเทศ เช่น OECD และ UNCTAD และประเทศต่าง ๆ ที่มีการบังคับใช้กฎหมายเพื่อจัดเก็บภาษีจากรายได้ที่ได้จากพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (ปี 2565) ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาสภาพแวดล้อมและปัจจัยสนับสนุนการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ในทุกด้านให้พร้อมรองรับการเติบโตของการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Ecosystem and Enabling Factors) โครงการ Buttom up - โครงการระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax และ e-Tax Invoice & e-Receipt) - โครงการส่งเสริมการพัฒนาบริการและขยายเครือข่ายของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ - โครงการผลักดันและส่งเสริมการใช้บริการ Interoperable QR Code for Payments ในธุรกรรมชำระเงินสำหรับ E-Commerce โครงการ Top Down - โครงการพัฒนาศักยภาพของผู้ให้บริการโลจิสติกส์และบริการสนับสนุนโลจิสติกส์ (Logistics Fulfillment) ให้ปรับตัวเข้าสู่การใช้ดิจิทัลอย่างสมบูรณ์ (ปี 2564 - 2565) - โครงการพัฒนาระบบชำระเงินเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำธุรกรรมทางการเงินของแพลตฟอร์มการค้า (ปี 2564 ? 2565) - โครงการพัฒนาบริการชำระเงินเพื่อสนับสนุนให้ SMEs E-Commerce และ Social Commerce ใช้ Digital Payment ได้สะดวก มีความเชื่อมั่น ลดการใช้เงินสด (ปี 2565) ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างความเชื่อมั่นในธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Trust and Sustainability) โครงการ Buttom up - โครงการสัมมนาความรู้ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในยุคดิจิทัล (ปี 2564) - โครงการศึกษาแนวทางในการกำกับดูแลการซื้อขายออนไลน์ (ปี 2564) โครงการ Top Down - โครงการรณรงค์และจัดทำมาตรการจูงใจให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (ปี 2564) ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้สามารถใช้ประโยชน์จากธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Competency Building) โครงการ Buttom up - โครงการพัฒนาผู้ประกอบการสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ (New Economy Academy) - โครงการพัฒนาสินค้าชุมชนเข้าสู่ตลาดออนไลน์ Offline 2 Online (B2C) โครงการ Top Down - โครงการรวมพลังช่วย SMEs ฝ่าโควิดพิชิตวิถีใหม่ (New Normal) (ปี 2564) - โครงการนำผู้ประกอบการพัฒนาแพลตฟอร์มไทยเข้าร่วมงานแสดงแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ในต่างประเทศ (ปี 2565) 8. เรื่อง การขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามมติคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564 คณะรัฐมนตรีรับทราบมติคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการตามข้อ 1 ? 4 ตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ทั้งนี้ ให้ กนช. และหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายรับความเห็นของหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการต่อไป สาระสำคัญของเรื่อง กนช. รายงานว่า กนช. ในการประชุมครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564 ที่มี รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธานได้เห็นชอบการมอบหมายหน่วยงานเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 ? 2580) และพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 จำนวน 5 เรื่อง ดังนี้ 1. เรื่องมาตรการรับมือฤดูฝน 10 มาตรการ 1.1 กนช. รายงานว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 มีผลการดำเนินการสรุปได้ ดังนี้ ดำเนินการแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างดำเนินการ มาตรการที่ 1 คาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติ มาตรการที่ 5 ปรับปรุง แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ จำนวน 625 แห่ง ดำเนินการไปแล้ว 400 แห่ง มาตรการที่ 2 บริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก มาตรการที่ 6 ขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวา โดยการดำเนินการร่วมกันของ 5 หน่วยงาน ได้แก่ กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า กรมการปกครอง และกรุงเทพมหานคร มาตรการที่ 3 ทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ - ขนาดกลาง และเขื่อนระบายน้ำ มาตรการที่ 8 เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและปรับปรุงการส่งน้ำ มาตรการที่ 4 ซ่อมแซม ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์/ระบบระบายน้ำ/สถานีโทรมาตรให้พร้อมใช้งาน มาตรการที่ 9 สร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ มาตรการที่ 7 เตรียมพร้อม/วางแผนเครื่องจักร เครื่องมือประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม และพื้นที่ฝนน้อยกว่าค่าปกติ มาตรการที่ 10 ติดตามประเมินผลปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย จากการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม - พฤศจิกายน 2564 พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัยและภัยแล้งในฤดูฝน ปี 25641 ดังนี้ เดือน พื้นที่เสี่ยงอุทกภัย พื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง กรกฎาคม 482 ตำบล 128 อำเภอ 31 จังหวัด 1,384 ตำบล 213 อำเภอ 24 จังหวัด สิงหาคม 753 ตำบล 139 อำเภอ 29 จังหวัด 1,603 ตำบล 272 อำเภอ 34 จังหวัด กันยายน 1,504 ตำบล 314 อำเภอ 54 จังหวัด - ตุลาคม 1,662 ตำบล 306 อำเภอ 58 จังหวัด - พฤศจิกายน 1,245 ตำบล 195 อำเภอ 39 จังหวัด - 1.2 กนช. พิจารณาแล้วเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นจึงเสนอให้หน่วยงานดำเนินการ ดังนี้ 1.2.1 ให้ทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อมในการป้องกันปัญหาปริมาณฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคมและเดือนสิงหาคม 2564 โดยหาแหล่งเก็บกักน้ำเพิ่มเติม 1.2.2 ให้ทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันปัญหาอุทกภัยและน้ำหลากในช่วงเดือนกันยายนและเดือนสิงหาคม 2564 รวมทั้งเตรียมแผนงานสำหรับการขอรับการสนับสนุนงบประมาณให้สามารถรับมือได้ทันสถานการณ์ 1.2.3 ให้การประปานครหลวงและกรมชลประทานจัดทำแผนการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและปรับปรุงการส่งน้ำเพื่อลดความสูญเสียในระบบอย่างเป็นรูปธรรม 1.2.4 ให้กรมชลประทานวางแผนการจัดสรรน้ำตั้งแต่ภาคเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งจัดสรรน้ำเพื่อผลักดันน้ำเค็มตลอดช่วงฝนทิ้งช่วงในเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม 2564 1.2.5 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมแผนรับมือน้ำท่วม เช่น การกำจัดผักตบชวาเพื่อรองรับฤดูฝนที่จะมาในช่วงเดือนสิงหาคม - กันยายน 2564 1.2.6 ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) วางแผนการเติมน้ำใต้ดินตลอดฤดูฝนนี้ให้มากที่สุดเพื่อเป็นน้ำต้นทุนในฤดูแล้งหน้า 1.2.7 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนและส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย 1.2.8 ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมฝนหลวงและการบินเกษตร) ดำเนินการทำฝนหลวงเพื่อเพิ่มน้ำต้นทุนโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก 2. เรื่องการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำผ่านระบบบริหารจัดการแผนงานโครงการและฐานข้อมูลสำหรับบูรณาการแผนงานเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ หรือระบบ Thai Water Plan (TWP) 2.1 กนช. รายงานว่า TWP เป็นเครื่องมือที่นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการจัดทำ รวบรวม และวิเคราะห์แผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำของประเทศเป็นฐานข้อมูลกลางที่มีความถูกต้อง แม่นยำ น่าเชื่อถือ สามารถลดความซ้ำซ้อน จัดลำดับความสำคัญและเร่งด่วนเพื่อใช้ในการกำหนดงบประมาณ รวมทั้งสามารถติดตามและประเมินผลโครงการด้านทรัพยากรน้ำที่เห็นผลสัมฤทธิ์ชัดเจน โดยแบ่งกระบวนการเป็น 3 ช่วง ดังนี้ 2.1.1 หน่วยงานและจังหวัดจัดทำและยืนยันแผนปฏิบัติการในระบบตั้งแต่เดือนมิถุนายน - สิงหาคม 2564 2.1.2 คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดพิจารณาแผนปฏิบัติการในเดือนกันยายน 2564 และคณะกรรมการลุ่มน้ำพิจารณาแผนปฏิบัติการในเดือนตุลาคม 2564 2.1.3 การพิจารณาของ กนช. โดย สทนช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ กนช. จะวิเคราะห์และจัดทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำของประเทศในช่วงเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2564 และเสนอ กนช. พิจารณาในเดือนธันวาคม 2564 เพื่อให้ทันตามปฏิทินงบประมาณ ปี 2566 2.2 กนช. พิจารณาแล้วเสนอให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำประจำปี 2566 และแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ 5 ปี (พ.ศ. 2566 ? 2570) ผ่านระบบ TWP และให้เชื่อมต่อกับระบบของสำนักงบประมาณ (สงป.) เพื่อลดขั้นตอนการดำเนินงานต่อไป 3. เรื่องการจัดทำทะเบียนแหล่งน้ำผ่านระบบ Thai Water Resources (TWR) 3.1 กนช. รายงานว่า TWR เป็นฐานข้อมูลการบูรณาการข้อมูลแหล่งน้ำทั่วประเทศสำหรับใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนและบริหารจัดการน้ำของประเทศทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤติ โดยการดำเนินงานมี 3 ช่วง ดังนี้ 3.1.1 การรวบรวมข้อมูลบัญชีแหล่งน้ำ พ.ศ. 2562 โดย สทนช. ร่วมกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) จัดทำฐานข้อมูลบัญชีแหล่งน้ำและบูรณาการข้อมูลแหล่งน้ำทั่วประเทศร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3.1.2 การจัดทำระบบสารสนเทศสำหรับขึ้นทะเบียน TWR 3.1.3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและ อปท. ดำเนินการลงทะเบียนแหล่งน้ำผ่านระบบ TWR เมื่อดำเนินการขึ้นทะเบียนเสร็จสมบูรณ์แล้วจะทำให้ทราบหน่วยงานรับผิดชอบหลักและสามารถระบุแหล่งที่มาของงบประมาณได้ ซึ่งจะไปเชื่อมโยงกับระบบ TWP ทำให้การจัดทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำมีความพร้อมสามารถเสนอขอตั้งงบประมาณได้ตามแผนที่กำหนด 3.2 กนช. พิจารณาแล้วเสนอให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องและ อปท. ดำเนินการ ดังนี้ 3.2.1 ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องและ อปท. เร่งรัดดำเนินการลงทะเบียนแหล่งน้ำทั้งที่ดำเนินการมาแล้วและที่จะดำเนินการต่อไป ผ่าน TWR เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการเสนอขอตั้งงบประมาณ หากไม่ได้อยู่ในทะเบียนแหล่งน้ำจะไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อเป็นการลดความซ้ำซ้อนของโครงการโดยการเชื่อมโยงกับระบบ TWP 3.2.2 คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดพิจารณารับรองแหล่งน้ำในระบบ TWR 3.2.3 เชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนแหล่งน้ำจากระบบ TWR กับระบบ TWP เพื่อใช้ในการพิจารณาแผนงานโครงการ 4. เรื่องแนวทางการจัดทำแผนปฏิบัติการโครงการขนาดเล็กด้านทรัพยากรน้ำเพื่อให้แผนปฏิบัติการโครงการขนาดเล็กด้านทรัพยากรน้ำในระดับตำบลและระดับจังหวัดเกิดความชัดเจนเป็นรูปธรรม และตรงกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ กนช. พิจารณาแล้วจึงเสนอให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องและ อปท. จัดทำแผนปฏิบัติการโครงการขนาดเล็กด้านทรัพยากรน้ำ ดังนี้ 4.1 การจัดทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำสามารถประยุกต์ใช้ดัชนีชี้วัดการจัดการน้ำ Water Management Index (WMI) โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในการกำหนดพื้นที่เป้าหมายและปรับให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบันของพื้นที่นั้น ๆ 4.2 กระบวนการและวิธีการดำเนินการ 4.2.1 คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนโครงการขนาดเล็ก โดยดำเนินการสำรวจข้อมูล จัดเก็บข้อมูลสภาพปัญหาในพื้นที่และปรับดัชนีชี้วัดการจัดการน้ำ WMI ให้เป็นปัจจุบัน 4.2.2 กำหนดพื้นที่เป้าหมาย และกำหนดประเภทโครงการตามที่ กนช. มีมติเห็นชอบ เช่น เพิ่มน้ำต้นทุน ระบบส่งน้ำ ระบบประปา ระบบบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น 4.2.3 กรอบระยะเวลาดำเนินการเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 - กันยายน 2565 5. เรื่องการทบทวนบทบาทภารกิจหน่วยงานในการบริหารทรัพยากรน้ำตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องในประเด็นเป้าหมายและหน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่เกษตรน้ำฝน ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 ? 2580) เนื่องด้วยคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเกี่ยวกับการทบทวนบทบาทภารกิจและปรับปรุงโครงสร้างของส่วนราชการได้มีการประชุมครั้งที่ 5/2564 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2564 เพื่อพิจารณาข้อมูลพื้นที่เป้าหมายการดำเนินการของกรมทรัพยากรน้ำตามคำชี้แจงของ ทส. แล้วมีมติให้สำนักงาน ก.พ.ร. ส่งข้อมูลเป้าหมายและหน่วยงานรับผิดชอบในพื้นที่เกษตรน้ำฝนตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 ? 2580) ที่ ทส. เสนอมา ให้ สทนช. พิจารณาและเสนอ กนช. เพื่อกำหนดเป้าหมายพื้นที่ดำเนินงานและขอบเขตความรับผิดชอบของกรมทรัพยากรน้ำ 5.1 กนช. มีความเห็นในประเด็นดังกล่าว ดังนี้ 5.1.1 การดำเนินการเพิ่มศักยภาพการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่เกษตรน้ำฝนนอกเขตชลประทานเป้าหมายจำนวน 87 ล้านไร่ ได้กำหนดหน่วยงานปฏิบัติที่รับผิดชอบภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง จำนวน 8 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อปท. กองทัพบก และมูลนิธิปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ โดยไม่ระบุหน่วยงานเจ้าภาพหลักเป็นรายพื้นที่ จนกว่าจะมีการทบทวน ปรับปรุง บทบาทภารกิจ หน้าที่และอำนาจของหน่วยงานให้สอดล้องกับพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 5.1.2 พื้นที่เกษตรน้ำฝนนอกเขตชลประทานเป็นพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานภายใต้กฎหมายหลายฉบับที่กำหนดหน้าที่และอำนาจของหน่วยงานนั้น ๆ เกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรน้ำของประเทศ อย่างไรก็ตาม เมื่อพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2562 เป็นต้นมา การบริหารทรัพยากรน้ำตามกฎหมายของหน่วยงานเหล่านั้นจะต้องไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ 5.1.3 กนช. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำร่างข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อกำหนดขอบเขต บทบาท ภารกิจ หน้าที่และอำนาจของหน่วยงานด้านการบริหารทรัพยากรน้ำของประเทศมาพิจารณาประเด็นเรื่องการกำหนดขอบเขตพื้นที่รับผิดชอบที่ยังไม่มีความชัดเจน และ กนช. ได้มีมติมอบให้เป็นหน้าที่คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดและคณะกรรมการลุ่มน้ำเป็นผู้รับผิดชอบจัดทำแผนงานและแผนงบประมาณในเขตพื้นที่เกษตรน้ำฝนนอกเขตชลประทานจากทุกหน่วยงาน 5.2 กนช. พิจารณาแล้วเสนอให้สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เป็นหลักในการพิจารณาบทบาทและภารกิจในองค์ประกอบของแต่ละหน่วยงาน และให้ ทส. (กรมทรัพยากรน้ำ) พิจารณาบทบาท หน้าที่ ภารกิจ ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง 1รายละเอียดพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัยและภัยแล้งตามแผนที่การคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนทั่วประเทศตั้งแต่เดือนมิถุนายน - พฤศจิกายน 2564 9. เรื่อง รายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีการป้องกันการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีลักษณะเป็นการทรมานบุคคล คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีการป้องกันการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีลักษณะเป็นการทรมานบุคคล ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ และแจ้งให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทราบต่อไป เรื่องเดิม 1. กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมว่า เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2563 ได้มีเจ้าหน้าที่ทหาร ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ค่ายพระยาสุรทรธรรมธาดาได้เข้าจับกุมชายผู้ต้องสงสัยคดียาเสพติด จำนวน 2 ราย โดยได้นำตัวไปควบคุมเพื่อซักถามข้อมูลเกี่ยวกับยาเสพติดที่วัดแห่งหนึ่งในพื้นที่ตำบลฝั่งแดง อำเภอธาตุพนม โดยมีการซ้อมทรมานผู้ถูกควบคุมทั้งสองจนได้รับบาดเจ็บสาหัสและต่อมาหนึ่งในผู้ถูกควบคุมตัวเสียชีวิตภายหลังจากที่ถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม ผู้ร้องเห็นว่า การซ้อมทรมานหรือการทำร้ายร่างกายบุคคลจนได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตซึ่งเกิดจากการกระทำหรือการรู้เห็นยินยอมของเจ้าหน้าที่ของรัฐถือเป็นอาชญากรรมร้ายแรงตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะภายใต้อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ค.ศ. 1984 ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีตั้งแต่ปี 2550 ประกอบกับที่ผ่านมามีข่าวเกี่ยวกับการซ้อมทรมานบุคคลโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐเกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ แต่ผู้กระทำผิดมักลอยนวล เนื่องจากได้รับการช่วยเหลือจากผู้บังคับบัญชา ทำให้การกระทำทรมานบุคคลโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐยังคงเกิดขึ้นบ่อยครั้งในท้องที่ต่าง ๆ ของประเทศ กสม. จึงขอให้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว 2. กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า เจ้าหน้าที่ทหาร ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ค่ายพระยาสุนทรธรรมธาดาน่าจะกระทำการเข้าข่ายเป็นการทรมานผู้ถูกควบคุมตัวทั้งสองด้วยการซ้อมรุมทำร้ายหรือใช้กำลังทำร้ายร่างกายหลายครั้งติดต่อกัน ตั้งแต่ในระหว่างการจับกุมจนกระทั่งควบคุมตัวเพื่อซักถามข้อมูลเกี่ยวกับยาเสพติด โดยมุ่งประสงค์ให้ผู้ถูกควบคุมตัวทั้งสองรับสารภาพหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับที่มาของยาเสพติดเพื่อขยายผลไปถึงเครือข่ายผู้ค้ายาเสพติดหรือผู้เสพยาเสพติดรายอื่น ๆ อันเป็นการก่อให้เกิดความเจ็บปวดทางร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรง ตามนิยามของการทรมาน และยังเป็นการกระทำทารุณโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี รวมทั้งการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกายของผู้ถูกควบคุมตัวทั้งสอง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 28 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ และขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง 3. รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งมอบหมายให้ ยธ. เป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงกลาโหม (กห.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) สำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว โดยให้ ยธ. สรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป สาระสำคัญของเรื่อง ยธ. รายงานว่า ได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กห. พม. มท. สธ. สคก. ตช. อส. สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และกองกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรมแล้ว เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ซึ่งมีผลสรุปในภาพรวมได้ ดังนี้ ข้อเสนอแนะ กสม. สรุปผลการพิจารณา 1. คณะรัฐมนตรีควรพิจารณายกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 23/2558 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519 ลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2558 และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 13/2559 เรื่อง การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดบางประการที่เป็นภยันตรายต่อความสงบเรียบร้อยหรือบ่อนทำลายระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ลงวันที่ 29 มีนาคม 2559 ซึ่งได้ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในการสืบสวนการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและความผิดทางอาญาอื่น เพื่อให้การสืบสวนสอบสวนการกระทำผิดกฎหมายอาญาเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาปกติ โดยให้เป็นหน้าที่และอำนาจของพนักงานฝ่ายปกครองและตำรวจ รวมถึงเจ้าพนักงานตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นผู้รับผิดชอบตามกฎหมายปกติ การออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติทั้ง 2 ฉบับ เป็นไปเพื่อการป้องกัน ระงับ ปราบปรามการบ่อนทำลาย เศรษฐกิจ สังคม ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน รวมทั้งเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของสุจริตชน ในปัจจุบันการให้อำนาจพิเศษตามคำสั่งดังกล่าวแก่เจ้าหน้าที่ยังคงมีความจำเป็นต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติหน้าที่โดยอาศัยอำนาจจากคำสั่งฯ ดังกล่าวมีความเสี่ยงสูงที่อาจก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังนั้น เจ้าหน้าที่จึงต้องปฏิบัติหน้าที่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายและเคารพสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเคร่งครัดเพื่อให้การบังคับใช้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของกฎหมาย 2. คณะรัฐมนตรีควรจัดความสำคัญในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... ไว้เป็นลำดับแรก เพื่อให้มีการพิจารณาให้ความเห็นชอบ และประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไปโดยเร็ว โดยนำหลักการและสาระสำคัญตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีและอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญไปบรรจุไว้ในร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว ให้สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของอนุสัญญาทั้งสองฉบับ โดยเฉพาะการกำหนดความรับผิดทางอาญาแก่ผู้บังคับบัญชาที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือปล่อยปละละเลยให้ผู้ใต้บังคับบัญชากระทำการซ้อมทรมาน ไม่ดำเนินการป้องกันหรือระงับการกระทำของผู้ใต้บังคับบัญชา หรือปกปิดข้อเท็จจริงไม่ส่งเรื่องให้เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมายเพื่อสอบสวนดำเนินคดี รวมทั้งกำหนดให้มีกลไกพิเศษในการสืบสวนสอบสวนคดีทรมานและคดีที่เกี่ยวกับการกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยองค์กรหรือหน่วยงานที่มีความเป็นอิสระ เป็นกลาง และมีประสิทธิภาพตลอดจนมีมาตรการหรือแนวทางในการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดแบบบูรณาการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่มีอำนาจสืบสวนสอบสวนที่เป็นอิสระและเป็นกลาง องค์กรอัยการ หน่วยงานแพทย์ที่เป็นอิสระและมีความเชี่ยวชาญ และภาคประชาชน ยธ. โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้ยกร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวขึ้นตามหลักการของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ ซึ่งมีสาระสำคัญสอดคล้องกับข้อเสนอแนะของ กสม. แล้ว ทั้งนี้ ยธ. ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติฯ เข้าสู่กระบวนการพิจารณากฎหมายตามลำดับ โดยผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว และได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2564 และคณะอนุกรรมการกลั่นกรองร่างกฎหมายในกระบวนการนิติบัญญัติ (อนุวิปรัฐบาล) เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) 3. คณะรัฐมนตรีควรมอบหมายให้ ยธ. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแนวทางในการปฏิบัติงานแบบบูรณาการระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนการยุติธรรมทุกฝ่าย เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการสืบสวนสอบสวนการกระทำผิดในกรณีที่มีข้อสงสัยเรื่องการซ้อมทรมานบุคคล กรณีที่มีการตายเกิดขึ้นในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงาน รวมถึงกรณีที่กล่าวอ้างว่ามีการกระทำให้บุคคลสูญหาย พร้อมทั้งจัดทำโครงการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยนำหลักการตามคู่มือการสืบสวนสอบสวนและบันทึกข้อมูลหลักฐานอย่างมีประสิทธิผลกรณีการกระทำทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอย่างโหดร้าย ไร้มนุษยธรรมและย่ำยีศักดิ์ศรี หรือพิธีสารอิสตันบูลมาใช้ในการจัดทำแนวทางการสืบสวนสอบสวนและฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นหลักประกันในการป้องกันและปราบปรามการกระทำทรมานและสอบสวน ดำเนินคดีแก่ผู้กระทำผิดอย่างเด็ดขาดไม่ให้เกิดกรณีการลอยนวลพ้นผิด ยธ. โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้ดำเนินการส่งเสริมให้ความรู้ความเข้าใจ และการฝึกอบรมเรื่องสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพ กฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ กฎการใช้กำลังหลักการและสาระสำคัญของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ มาตรการสืบสวนสอบสวนตามมาตรฐานสากล กลไกการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ นอกจากนี้ ยังได้เน้นการจัดฝึกอบรมในรูปแบบเฉพาะทางให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม และบุคลากรทางการแพทย์ อาทิ การฝึกอบรมหลักสิทธิมนุษยชนสำหรับนายทหารเหล่าทหารพระธรรมนูญ การฝึกอบรมเทคนิคการสืบสวนสอบสวนแนวใหม่ การฝึกอบรมเทคนิคการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์เพื่อหาร่องรอยจากการทรมานฯ และการบังคับให้บุคคลสูญหายตามแนวทางของพิธีสารมินนิสโซต้าและพิธีสารอิสตันบูลให้กับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายและบุคลากรทางการแพทย์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งได้ผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่ได้อย่างรวดเร็ว เข้าถึงง่ายและทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน และได้ส่งเสริมให้ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพผ่านกลไกบ้าน วัด โรงเรียน (บวร) รวมทั้งได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการสร้างและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ด้านสิทธิ เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชนร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ อาทิ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม มหาวิทยาลัยนเรศวร โรงเรียนเตรียมทหาร สภาคริสตจักรในประเทศไทย และกลุ่มโรงเรียนในเครือสารสาสน์ รวมถึงผลักดันให้มีการบรรจุเรื่องดังกล่าวในหลักสูตรพัฒนาหรือเลื่อนขั้นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐรู้สิทธิ รู้หน้าที่ของตนเอง และเคารพสิทธิผู้อื่นโดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อให้สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยมีแนวโน้มลดลง 10. เรื่อง รายงานผลการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) และเห็นชอบมาตรการเร่งรัดให้หน่วยงานสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในการใช้บริการรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) และแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบ ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ และให้สำนักงาน ก.พ.ร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงมหาดไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย สาระสำคัญ สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอว่า ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติวันที่ 8 กันยายน 2563 โดยมอบหมายให้สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) ซึ่งสำนักงาน ก.พ.ร. ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวแล้ว โดยแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ต้องดำเนินการแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบทั้ง 84 ฉบับ ให้รายงานสถานะความก้าวหน้า (ณ เดือนมิถุนายน 2564) เพื่อติดตามและเร่งรัดการดำเนินงาน โดยมีผลสรุปได้ ดังนี้ 1. กฎหมายและกฎระเบียบที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2563 จำนวน 23 ฉบับ สามารถดำเนินการแก้ไขได้แล้วเสร็จ หรือทบทวนแล้วเห็นว่าไม่เป็นอุปสรรคสามารถใช้กฎหมายหรือกฎระเบียบฉบับอื่นรองรับได้ รวมจำนวน 19 ฉบับ และที่อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 4 ฉบับ นอกจากนี้ มีหน่วยงานที่สามารถดำเนินการเพื่อแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบได้แล้วเสร็จก่อนกำหนดเวลา จำนวน 6 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กรมสรรพสามิต กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมประชาสัมพันธ์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และกรมโรงงานอุตสาหกรรม 2. กฎหมายและกฎระเบียบฯ ในภาพรวมทั้ง 84 ฉบับ สามารถจำแนกได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 2.1 กลุ่มที่ดำเนินการแล้วเสร็จ หรือทบทวนแล้วเห็นว่าไม่เป็นอุปสรรคเนื่องจากสามารถใช้กฎหมายหรือกฎระเบียบฉบับอื่นรองรับได้ โดยไม่ต้องแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบเดิม จำนวน 48 ฉบับ เช่น กฎกระทรวงการอนุญาตขายสุรา พ.ศ. 2560 กฎกระทรวงการอนุญาตขายยาสูบ พ.ศ. 2560 กฎกระทรวงการอนุญาตขายไพ่ พ.ศ. 2560 กฎกระทรวงการอนุญาตป็นผู้ดำเนินการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2560 ประกาศสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ ป.3/2560 เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการขออนุญาตนำคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ 2.2 กลุ่มที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งได้จัดรับฟังความคิดเห็นหรือทบทวนแก้ไขเสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างเสนอผู้มีอำนาจตามกฎหมาย (คณะกรรมการ/คณะอนุกรรมการ/หัวหน้าหน่วยงาน) พิจารณา จำนวน 12 ฉบับ เช่น ระเบียบกรมป่าไม้ ว่าด้วยการนำไม้หรือของป่าเคลื่อนที่ พ.ศ. 2552 ที่ได้สำรวจทบทวนปัญหาอุปสรรคที่เกี่ยวข้องเสร็จสิ้นแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขระเบียบเพื่อเสนอผู้มีอำนาจพิจารณาลงนาม รวมทั้งประกาศ/ระเบียบของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่อยู่ระหว่างการเสนอคณะอนุกรรมการกลั่นกรองพิจารณา ก่อนเสนอ กสทช. พิจารณาต่อไป 2.3 กลุ่มที่อยู่ระหว่างรวบรวมปัญหาอุปสรรคหรือรับฟังความคิดเห็นเพื่อทบทวนแก้ไข จำนวน 24 ฉบับ ซึ่งรวมถึงกฎหมายและกฎระเบียบที่จะต้องดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน พ.ศ. 2563 ที่ยังคงเหลือจำนวน 3 ฉบับด้วย เช่น กฎกระทรวงคุณสมบัติและการฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2558 ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการนำเข้า นำผ่าน หรือนำเข้าเพื่อการส่งต่อซึ่งสิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัดและสิ่งไม่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2559 3. สำนักงาน ก.พ.ร. เห็นควรกำหนดมาตรการให้หน่วยงานเร่งดำเนินการ ดังนี้ 3.1 ให้หน่วยงานที่ดำเนินการแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคฯ แล้วเสร็จ หรือทบทวนแล้วไม่เป็นอุปสรรค และสามารถให้บริการผ่านระบบ e-Service ได้ ตามข้อ 2.1 เร่งสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในการใช้บริการของหน่วยงาน 3.2 ให้หน่วยงานที่มีสถานะตามข้อ 2.2 เร่งดำเนินการแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคฯ ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และให้สำนักงาน ก.พ.ร. ติดตามการดำเนินการของหน่วยงานเป็นระยะ 3.3 ให้หน่วยงานที่มีสถานะตามข้อ 2.3 เร่งดำเนินการทบทวนเพื่อแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคฯ โดยรวบรวมประเด็นปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการ ประเด็นที่ประสงค์ขอรับการสนับสนุน/การให้คำปรึกษาจากสำนักงาน ก.พ.ร. สคก. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดทำแผนและระยะเวลาที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในการแก้ไขกฎหมาย และให้สำนักงาน ก.พ.ร. ติดตามการดำเนินการของหน่วยงานให้เป็นไปตามแผน 11. เรื่อง ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้งที่ 31/2564 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้งที่ 31/2564 เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2564 ที่ได้มีมติที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณากลั่นกรองความเหมาะสมของการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พระราชกำหนดฯ) การพิจารณารายงานผลการดำเนินงานโครงการรถ Mobile พาณิชย์... ลดราคา! ช่วยประชาชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และการจัดทำรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานและการใช้จ่ายเงินกู้ของแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดฯ ราย 3 เดือน รวมทั้งพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ดังนี้ 1. อนุมัติให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข เปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการพัฒนาศักยภาพระบบบริการสุขภาพ รองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (A001) ของหน่วยงานส่วนภูมิภาค โดยในชั้นนี้ให้ขยายระยะเวลาดำเนินโครงการฯ จากเดิม สิ้นสุดเดือนกันยายน 2564 เป็น สิ้นสุดเดือนธันวาคม 2564 และกรณีที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่สามารถดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2564 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้เร่งจัดทำรายงานผลการดำเนินงาน ปัญหาและอุปสรรค รวมทั้งแผนดำเนินงานและแผนเบิกจ่ายโครงการฯ เสนอให้คณะกรรมการฯ ตามขั้นตอนของข้อ 18 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 พ.ศ. 2563 (ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ) เพื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินโครงการและระยะเวลาที่เหมาะสมอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่คณะกรรมการฯ เสนอแล้ว เห็นควรให้ สธ. เร่งดำเนินการแก้ไขข้อมูลโครงการในระบบ eMENSCR โดยเร็วต่อไป 2. มอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข จัดทำข้อเสนอการขอเปลี่ยนแปลงงบประมาณที่ได้รับอนุมัติไปใช้ในพื้นที่อื่นที่มีความจำเป็น พร้อมทั้งระบุเหตุผลและความจำเป็นเสนอให้คณะกรรมการฯ พิจารณาตามข้อ 18 ข้องระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ต่อไป 3. อนุมัติให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัย สำหรับการปฏิบัติงานของ อสม. ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในชุมชน โดยเป็นการขยายระยะเวลาการดำเนินการเบิกจ่ายค่าตอบแทนฯ จากเดิมสิ้นสุดเดือนกันยายน 2564 เป็นสิ้นสุดเดือนพฤศจิกายน 2564 กรอบวงเงินรวมไม่เกิน 1,575.4590 ล้านบาท ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้เห็นชอบตามขั้นตอนแล้ว สำหรับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจ่ายเงินค่าตอบแทนฯ นั้น เห็นควรให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พิจารณาดำเนินการตามความจำเป็นและความเหมาะสม โดยรูปแบบดังกล่าวต้องสามารถยืนยันตัวตนของผู้ได้รับเงินค่าตอบแทน พร้อมทั้งมีเอกสารหลักฐานประกอบการเบิกจ่ายที่ชัดเจนและสามารถตรวจสอบได้ ทั้งนี้ เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการฯ แล้ว เห็นควรให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพเร่งดำเนินการแก้ไขข้อมูลโครงการในระบบ eMENSCR โดยเร็ว 4. รับทราบรายงานผลการดำเนินโครงการรถ Mobile พาณิชย์... ลดราคา! ช่วยประชาชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ และมอบหมายให้กรมการค้าภายใน รับความเห็นและข้อสังเกตของฝ่ายเลขานุการฯ และคณะกรรมการฯ ไปปรับปรุงแนวทางการดำเนินโครงการในส่วนที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการฯ เพื่อให้การดำเนินโครงการฯ เป็นไปอย่างคุ้มค่าตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ 5. รับทราบรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานและการใช้จ่ายเงินกู้ของแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดฯ ราย 3 เดือน ครั้งที่ 5 (1 พฤษภาคม - 31 กรกฎาคม 2564) พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานเจ้าของโครงการที่ได้รับอนุมัติให้ใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ โดยเคร่งครัด เพื่อให้การใช้จ่ายเงินกู้ การจัดหาเงินและการจัดสรรเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ 6. รับทราบข้อเสนอโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ครั้งที่ 3 รวม 10 จังหวัด (แพร่ พิษณุโลก ตาก สุโขทัย ร้อยเอ็ด สุรินทร์ อำนาจเจริญ พระนครศรีอยุธยา ปราจีนบุรี และสระแก้ว) จำนวน 1,766 โครงการ กรอบวงเงินรวม 2,909,015,572 บาท โดยให้ใช้จ่ายเงินจากงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และให้หน่วยงานรับผิดชอบปฏิบัติตามขั้นตอนตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ในคราวประชุมครั้งที่ 29/2564 พร้อมทั้งให้หน่วยงานรับผิดชอบปฏิบัติตามขั้นตอนของระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562 ต่อไป และให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการตามความเห็นของสำนักงบประมาณ 12. เรื่อง ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในคราวประชุมครั้งที่ 6/2564 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสนอผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564) ในคราวประชุมครั้งที่ 6/2564 เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2564 ได้มีมติเกี่ยวข้องกับการพิจารณากลั่นกรองความเหมาะสมของข้อเสนอแผนงานหรือโครงการเพื่อขอใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 และการพิจารณากลั่นกรองความเหมาะสมของการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ใช้จ่ายจากเงินกู้ตาม พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ดังนี้ 1. อนุมัติโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) สำหรับบริการประชากรในประเทศไทย เพิ่มเติม จำนวน 9,998,820 โดส (Pfizer) ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กรอบวงเงินจำนวน 4,744.9166 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงาน/โครงการกลุ่มที่ 1 เพื่อจัดซื้อจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ตามนโยบายรัฐบาลที่จะจัดหาวัคซีนให้แก่ประชาชน 100 ล้านโดส ภายในสิ้นปี 2564 สำหรับสร้างภูมิคุ้มกันโรค ลดอัตราการป่วย/การเสียชีวิต และลดค่าใช้จ่ายภาครัฐในการดูแลรักษาผู้ป่วยจากโรค Covid-19 รวมทั้งลดผลกระทบ/พื้นฟูสภาพเศรษฐกิจและสังคมให้กลับสู่สภาวะปกติได้โดยเร็ว พร้อมทั้งมอบหมายให้กรมควบคุมโรค ดำเนินการตามข้อสังเกตเพิ่มเติมของคณะกรรมการฯ โดยเคร่งครัด 2. มอบหมายให้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการ ดำเนินการจัดทำความต้องการใช้จ่ายเป็นรายเดือน เพื่อให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) สามารถจัดหาเงินกู้เพื่อใช้จ่ายโครงการตามแผนการใช้จ่ายเงินที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายทางการเงินของภาครัฐ พร้อมทั้งปฏิบัติตามข้อ 15 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 พ.ศ. 2564 (ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564) โดยเคร่งครัดตามขั้นตอนต่อไป 3. อนุมัติให้สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 39 และมาตรา 40 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยเป็นการขยายระยะเวลาให้ผู้ประกันตนมาตรา 40 ในพื้นที่ 3 จังหวัดและ 16 จังหวัด สามารถขึ้นลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตนรายใหม่ตามระยะเวลาที่เสนอ และขยายการให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในพื้นที่ 13 จังหวัด เพิ่มเติมอีก 1 เดือน ทำให้กรอบวงเงินของโครงการฯ เพิ่มขึ้นจาก 33,471.0050 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 เป็น 77,785.0600 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 44,314.0550 ล้านบาท โดยใช้จ่ายภายใต้แผนงานหรือโครงการกลุ่มที่ 2 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้ให้ความเห็นชอบตามขั้นตอนแล้ว ทั้งนี้ เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว เห็นควรให้สำนักงานประกันสังคมเร่งดำเนินการแก้ไขข้อมูลโครงการในระบบ eMENSCR โดยเร็วต่อไป 4. มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม พิจารณาความเหมาะสมในการจัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ขับขี่รถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคนและรถจักรยานยนต์สาธารณะที่ไม่สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 เนื่องจากอายุเกินคุณสมบัติที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดไว้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอนของระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อให้ความช่วยเหลือกลุ่มแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของภาครัฐเป็นไปอย่างครอบคลุม 13. เรื่อง รายงานผลการดำเนินการโครงการนำร่องการป้องกันและการควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงาน (Factory Sandbox) คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินการโครงการนำร่องการป้องกันและการควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงาน (Factory Sandbox) ตามที่กระทรวงแรงงาน เสนอดังนี้ สาระสำคัญ 1. โครงการนำร่องการป้องกันและการควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงาน (Factory Sandbox) สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ 1.1 วัตถุประสงค์ เป็นการดำเนินการภายใต้แนวคิด ?เศรษฐศาสตร์สาธารณสุข? โดยมุ่งเน้นให้สถานประกอบการ กิจการ โรงงานภาคการผลิตส่งออกขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศสามารถดำเนินกิจกรรมต่อไปได้ควบคู่กับมาตรการควบคุมและป้องกันโรคภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด - 19 1.2 จังหวัดพื้นที่เป้าหมาย ระยะที่ 1 ประกอบด้วย 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดชลบุรี และระยะที่ 2 ประกอบด้วย 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดสมุทรปราการ 1.3 สถานประกอบกิจการเป้าหมาย เป็นโรงงานภาคการผลิตส่งออกขนาดใหญ่ 4 ประเภทอุตสาหกรรม ได้แก่ 1) ยานยนต์ 2) ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 3) อาหาร และ 4) อุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่เป้าหมาย และมีลูกจ้างตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป โดยในระยะที่ 1 มีสถานประกอบการเป้าหมาย 387 แห่ง จำนวนผู้ประกันตน 474,109 คน จังหวัด เป้าหมาย จำนวนสถานประกอบการ (500 คนขึ้นไป) (แห่ง) จำนวนผู้ประกันตน (คน) ชลบุรี 183 194,781 ปทุมธานี 76 107,681 นนทบุรี 21 19,600 สมุทรสาคร 107 152,047 รวม 387 474,109 1.4 แนวทางการดำเนินการ ประกอบไปด้วย 4 องค์ประกอบ ดังนี้ (1) การตรวจ ให้ดำเนินการตรวจคัดกรองหาเชื้อโรคโควิด - 19 โดยวิธี RT ? PCR แรงงานทุกคนในสถานประกอบกิจการ เพื่อแยกผู้ติดเชื้อออกไปรักษาทันที และให้มีการตรวจโดยชุดตรวจแอนติเจนด้วยตนเอง (Antigen Self-Testing Kit : Self ATK) ทุกสัปดาห์ (2) การรักษา ให้สถานประกอบกิจการจัดให้มีสถานรักษาพยาบาลขึ้น ดังนี้ 1) สถานแยกกัก (Factory Isolation : FAI และ Hospitel สำหรับผู้ป่วยสีเขียว 2) โรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ป่วยสีเหลือง และ 3) ห้องสำหรับผู้ป่วยวิกฤติ (ICU) สำหรับผู้ป่วยสีแดง (3) การดูแล จัดฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และ 2 ให้แรงงาน โดยเน้นกลุ่ม 7 โรคเสี่ยงและสตรีมีครรภ์ และออกใบรับรองให้แก่สถานประกอบกิจการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน (4) การควบคุม ให้สถานประกอบกิจการและแรงงานปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal) และมาตรการด้านสาธารณสุข (DMHTTA) ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด 2. กระทรวงแรงงานได้เริ่มดำเนินโครงการนำร่อง การป้องกันและการควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงาน (Factory Sandbox) เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 มีผลการดำเนินงานสำคัญ สรุปได้ ดังนี้ 2.1 จัดทำข้อตกลงร่วมกับสถานประกอบการ (MOU) ระหว่างสามหน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงแรงงาน (สำนักงานแรงงานจังหวัด) สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ และผู้แทนโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ มีจำนวนสถานประกอบการร่วมทำข้อตกลง (MOU) จำนวน 46 แห่ง และมีจำนวนสถานพยาบาลเข้าร่วมโครงการ 4 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 24 สิงหาคม 2564) ลำดับ จังหวัด สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ (ดำเนินการจัดทำข้อตกลงแล้ว) โรงพยาบาล ที่เข้าร่วมโครงการ จำนวนสถานประกอบการ จำนวนผู้ประกันตน 1 นนทบุรี 6 11,791 โรงพยาบาลเกษมราษฎร์อินเตอร์ รัตนาธิเบศร์ 2 ปทุมธานี 9 23,646 โรงพยาบาลการุญเวช ปทุมธานี 3 สมุทรสาคร 16 4,099 โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล สมุทรสาคร 4 ชลบุรี 15 52,807 โรงพยาบาลวิภาราม แหลมฉบัง รวม 46 92,343 2.2 ดำเนินการตรวจคัดกรองโรคโควิด - 19 (RT - PCR) มีจำนวนสถานประกอบการได้รับการตรวจคัดกรอง จำนวน 11 แห่ง จำนวนผู้ประกันตนได้รับการคัดกรอง 12,473 คน มีผู้ติดเชื้อ 18 คน (ร้อยละ 0.14) ไม่ติดเชื้อ 1,042 คน (ร้อยละ 8.35) และอยู่ระหว่างรอผล 11,413 คน (ร้อยละ 91.50) (ข้อมูล ณ วันที่ 24 สิงหาคม 2564) จังหวัด จำนวนผู้เข้าตรวจ (คน) ยอดสะสมรวม ถึงวันที่ 24 ส.ค. 64 ต่างชาติ ไทย รวม 1. นนทบุรี 2 1,506 1,508 2. ปทุมธานี 758 2,898 3,656 3. สมุทรสาคร 4,927 1,409 6,336 4. ชลบุรี 34 939 973 รวมทั้งสิ้น 5,721 6,752 12,473 ร้อยละ 45.87% 54.13% 100.00% 14. เรื่อง ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่าย งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายโครงการรณรงค์เอาชนะโควิดตามมาตรการเร่งด่วน (Thailand Prevention) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักนายกรัฐมนตรี โดยกรมประชาสัมพันธ์เสนอการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 105,592,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายโครงการรณรงค์เอาชนะโควิดตามมาตรการเร่งด่วน (Thailand Prevention) สำหรับผลิตและเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์เพื่อการป้องกันและแก้ไขสถานการณ์อันมีผลกระทบอันเนื่องมาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) เฉพาะกิจกรรมที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการในระยะเร่งด่วน (ภายในเดือนธันวาคม 2564) ก่อน โดยคำนึงถึงความเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน จำนวน 2 กิจกรรม ดังนี้ 1. ผลิตและเผยแพร่ สปอตทางวิทยุ และโทรทัศน์ จำนวน 51,592,000 บาท 2. ผลิตและเผยแพร่ผ่านสื่อโฆษณา Online จำนวน 54,000,000 บาท สำหรับกิจกรรมอื่นเห็นสมควรให้กรมประชาสัมพันธ์พิจารณาใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี เมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีผลใช้บังคับ โดยพิจารณาดำเนินการตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ. 2562 ในโอกาสแรก ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ 15. เรื่อง ขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ครั้งที่ 2 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ครั้งที่ 2 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 รวม 12 จังหวัด จำนวน 2,186 โครงการ วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 3,587,218,514 บาท เพื่อให้จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น แล้วแต่กรณี ในฐานะหน่วยรับงบประมาณ เป็นผู้เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ตามขั้นตอนและแนวทางที่เคยปฏิบัติต่อไป ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยจะได้แจ้งให้จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในฐานะหน่วยรับงบประมาณรับทราบความเห็นและข้อสังเกตของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ตามผลพิจารณาของคณะกรรมการฯ ในคราวประชุม ครั้งที่ 29/2564 ไปประกอบการดำเนินการตามขั้นตอน รวมทั้งจัดทำแผนการปฏิบัติงาน และแผนการใช้จ่ายงบประมาณ และยืนยันความพร้อมของโครงการ รวมถึงประมาณการค่าใช้จ่ายในการดำเนินการให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยคำนึงถึงศักยภาพและความสามารถในการใช้จ่าย ความคุ้มค่า ประหยัด เป้าหมาย และประโยชน์ที่ทางราชการและประชาชน จะได้รับเป็นสำคัญ ตลอดจนปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ให้ถูกต้องครบถ้วนอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งระยะเวลาดำเนินการ และความเหมาะสมของค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในทุกมิติต่อไป ต่างประเทศ 16. เรื่อง กรอบการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนของอาเซียน (ASEAN Investment Facilitation Framework : AIFF) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) เสนอ ดังนี้ 1. ร่างกรอบการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนของอาเซียน (ASEAN Investment Facilitation Framework : AIFF) และหากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไข ร่าง AIFF ที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย อนุมัติให้ สกท. พิจารณาคำเนินการได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีก 2. ให้รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจและการลงทุนของไทย หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมให้การรับรอง AIFF แบบไม่มีการลงนาม [สกท. แจ้งเพิ่มเติมว่า ในเบื้องต้นรองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) จะเป็นผู้ร่วมให้การรับรองเอกสารดังกล่าว] [จะมีการพิจารณาร่าง AIFF ในการประชุมร่วมระหว่างรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและคณะมนตรีเขตการลงทุนอาเซียนครั้งที่ 24 (ASEAN Economics Ministers-24th ASEAN Investment Area Council Meeting: AEM-24th AIA Council Meeting) ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 8 กันยายน 2564] สาระสำคัญของเรื่อง สกท. รายงานว่า บรูไนดารุสซาลาม (บรูไนฯ) ในฐานะประธานอาเซียนปี 2564 ได้กำหนดให้การจัดทำกรอบ AIFF เป็นหนึ่งในประเด็นด้านเครษฐกิจที่จะผลักดันให้บรรลุผลสำเร็จในปี 2564 (2021 Priority Economic Deliverables โดยบรูไนฯ และสำนักเลขาธิการอาเซียนได้ร่วมกันจัดทำร่าง AIFF เสนอในที่ประชุมคณะกรรมการประสานงานด้านการลงทุน (Coordinating Committee on Investment: CCI) เพื่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียนพิจารณา ซึ่งต่อมาคณะกรรมการ CCI ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาเนื้อหาของร่าง AIFF และที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบต่อเนื้อหาของร่าง AIFF ร่วมกันแล้ว โดยเห็นว่า สาระสำคัญของร่าง AIFF จะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งเนื้อหาของร่าง AIFF มิได้ระบุถ้อยคำที่มุ่งหมายให้เกิดผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างกันตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดยจะนำร่าง AIFF เสนอต่อที่ประชุม AEM-24TH AIA Council Meeting ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 8 กันยายน 2564 เพื่อให้ที่ประชุมเห็นชอบในเนื้อหาร่วมกันและพิจารณารับรอง (ไม่ลงนาม) ร่าง AIFF มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้ หัวข้อ รายละเอียด การให้ความสำคัญ การอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนในฐานะเสาหลักสำคัญของการลงทุนที่นำไปสู่ การรักษาและการเติบโตของการลงทุนในประเทศ ผ่านการสร้างบรรยากาศการลงทุนที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้ลงทุนในการจัดตั้ง ดำเนินการ และขยายการลงทุนและธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ภูมิภาคอาเซียนกำลังจะก้าวเข้าสู่สภาพแวดล้อมภายหลังวิกฤติการระบาดของโควิด -19 การอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนมีสาระสำคัญครอบคลุม 11 หัวข้อ ได้แก่ (1) ความโปร่งใสของมาตรการและข้อมูล เช่น การเข้าถึงได้ของมาตรการบังคับใช้ทั่วไปและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในรัฐสมาชิกที่ เกี่ยวข้อง เป็นต้น (2) การปรับปรุงและเร่งรัดขั้นตอนการปฏิบัติและข้อกำหนดต่าง ๆ เช่น มาตรการบังคับใช้ทั่วไปเกี่ยวกับการลงทุนมีการนำไปยังใช้อย่างสมเหตุสมผล ตรงตามวัตถุประสงค์ และเป็นธรรม ขั้นตอนด้านการลงทุนไม่เป็นอุปสรรคต่อความสามารถของผู้ลงทุนในกานลทุน ข้อกำหนดด้านเอกสารไม่ทำให้เสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายมากเกินความจำเป็น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบายที่วางไว้ของรัฐสมาชิก เป็นต้น (3) การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ต เช่น ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อพัฒนากระบวนการรับคำขอด้านการลงทุน การอนุมัติการต่ออายุ และการดูแลหลังการลงทุน สนับสนุนการใช้สำเนาเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้รับการรับรองอย่างถูกต้องตามกฎหมายภายในประเทศต่าง ๆ ของแต่ละรัฐสมาชิกแทนการใช้เอกสารต้นฉบับ ส่งเสริมทางเลือกในการชำระเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บโดยหน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแลด้านการลงทุน เป็นต้น (4) แพลตฟอร์มดิจิทัลแบบเบ็ดเสร็จ เช่น สนับสนุนให้ลดข้อกำหนดสำหรับผู้ยื่นคำขอในการประสานติดต่อหน่วยงานที่มีอำนาจเกี่ยวข้องมากกว่าหนึ่งหน่วยงานสำหรับการขออนุญาตลงทุนในเขตแดนของรัฐสมาชิกนั้น ๆ สนับสนุนให้มีแพลตฟอร์มดิจิทัลแบบเบ็ดเสร็จสำหรับผู้ลงทุนเพื่อชำระค่าธรรมเนียมและ ภาษีทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาตเข้าไปลงทุน จัดตั้ง ควบรวม และขยายการลงทุน เป็นต้น (5) บริการช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ผู้ลงทุน เช่น การจัดให้มีบริการช่วยเหลือผู้ลงทุนในขอบเขตที่สามารถทำได้เพื่อแก้ไขอุปสรรคที่เกี่ยว ข้องกับการลงทุน พิจารณาจัดตั้งกลไก ในการให้ข้อเสนอแนะแก่หน่วยงานที่มีอำนาจเพื่อแก้ไขปัญหาที่พบบ่อยซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ลงทุน เป็นต้น (6) ความเป็นอิสระของหน่วยงานที่มีอำนาจ เช่น เมื่อจำเป็นต้องมีการขออนุญาตในการลงทุน หน่วยงานที่มีอำนาจดำเนินการและตัดสินใจอย่างเป็นอิสระจากองค์กรใด ๆ สามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต้องได้รับการขออนุญาตในการลงทุนนั้นได้ เป็นต้น (7)การเข้าเมืองและการพำนักอยู่เป็นการชั่วคราวของนักธุรกิจเพื่อวัตถุประสงค์ในการลงทุน เช่น สนับสนุนให้อำนวยความสะดวกโดยเร่งดำเนินการเกี่ยวกับคำขอเข้าเมืองและการพำนักอยู่เป็นการชั่วคราวของนักธุรกิจเพื่อวัตถุประสงค์ในการลงทุนภายในระยะเวลาอันสมควร เป็นต้น 8) การอำนวยความสะดวกด้านปัจจัยสนับสนุนการลงทุน โดยช่วยเหลือผู้ลงทุนในการบ่งซี้ปัจจัยสนับสนุนการลงทุน เช่น แรงงาน แหล่งเงินทุน ผู้ผลิตภายในประเทศ และโอกาสในการจับคู่ทางธุรกิจ เป็นต้น (9) กลไกการให้คำปรึกษาสำหรับนโยบายการลงทุน เช่น สนับสนุนให้มีกลไกสำหรับการปรึกษาและสนทนาอย่างสม่ำเสมอกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ให้ความสนใจ โดยรวมถึงผู้ลงทุนและหน่วยงานภาคเอกชน เป็นต้น (10) ความร่วมมือ เช่น อำนวยความสะดวกด้านการติดต่อสื่อสารและร่วมมือกับรัฐสมาชิกอาเซียน อื่น ๆ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน เป็นต้น และ (11) การดำเนินการ ตามกรอบ AIFF ฉบับนี้ และแจ้งให้ที่ประชุมคณะกรรมการ CCI ทราบอย่างสม่ำเสมอ 17. เรื่อง ผลการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้าระดับรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลก เรื่องการเจรจาจัดทำความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมง คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้าระดับรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลก (คณะกรรมการฯ ) เรื่องการเจรจาจัดทำความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมง (ความตกลงฯ) [คณะรัฐมนตรีมีมติ (13 กรกฎาคม 2564) เห็นชอบในหลักการต่อกรอบเจรจาของไทยสำหรับสำหรับการประชุมคณะกรรมการฯ] ซึ่งได้จัดประชุมเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 โดยมีผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ (นายสรรเสริญ สมะลาภา) เป็นหัวหน้าผู้แทนประเทศไทย (ไทย) เข้าร่วมการประชุม ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ 1. มติที่ประชุมคณะกรรมการฯ ที่ประชุมเห็นพ้องร่วมกัน ดังนี้ 1) ให้เร่งสรุปผลการเจรจาความตกลงฯ โดยเร็วก่อนการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก ครั้งที่ 12 ซึ่งมีกำหนดจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน - 3 ธันวาคม 2564 2) ให้ใช้ร่างความตกลงฯ ฉบับล่าสุดเป็นพื้นฐานในการหารือของประเทศสมาชิกในประเด็นที่ยังไม่ได้ข้อยุติต่อไป และ 3) ต้องมีการปฏิบัติที่เป็นพิเศษและแตกต่างแก่ประมงพื้นบ้านของประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุด เพื่อรักษาความเป็นอยู่ของชาวประมงดังกล่าว ทั้งนี้ ที่ประชุมไม่ได้มีการทำเอกสารหรือร่างแถลงการณ์เพื่อให้ประเทศสมาชิกรับรองแต่อย่างใด 2. ถ้อยแถลงของไทย ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ (นายสรรเสริญฯ) ได้แสดงเจตนารมณ์ของไทยที่จะผลักดันให้การเจรจาจัดทำความตกลงฯ สามารถสรุปผลได้โดยเร็วบนพื้นฐานที่ไทยสนับสนุน ดังนี้ 1) ห้ามให้การอุดหนุนแก่การทำประมงที่ผิดกฎหมายขาดการรายงาน และไร้การควบคุม 2) ให้ประเทศสมาชิกสามารถให้การอุดหนุนที่จำเป็นเพื่อพัฒนาภาคประมงต่อไปได้ หากประเทศสมาชิกนั้นมีการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำที่ดี และ 3) ให้มีการปฏิบัติที่เป็นพิเศษและแตกต่างแก่ประเทศกำลังพัฒนา เพื่อให้ความตกลงฯ มีความยืดหยุ่นแก่ประเทศกำลังพัฒนาในการอุดหนุนประมงพื้นบ้าน 3.ผลกระทบจากการที่ไทยเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวถือเป็นการส่งสัญญาณและประกาศเจตนารมณ์ของไทยในระดับนโยบายที่ สำคัญในการผลักดันให้สามารถสรุปผลการเจรจาจัดทำความตกลงฯ โดยเร็ว เพื่อห้ามการอุดหนุนที่เป็นอันตรายต่อทรัพยากรสัตว์น้ำโดยเฉพาะความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม ทั้งนี้ การลดหรือยกเลิกการให้การอุดหนุนประมงจะต้องให้การปฏิบัติที่เป็นพิเศษและแตกต่างกับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุด 18. เรื่อง รายงานประจำปีและรายงานงบการเงินขององค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ประจำปี 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานประจำปีและรายงานงบการเงินขององค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย (องค์กรร่วมฯ) ประจำปี 2563 [เป็นการดำเนินการตามกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2536) ออกตามความในพระราชบัญญัติองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย พ.ศ. 2533 ข้อ 5 (3) ที่กำหนดว่าภายในหกเดือนหลังจากสิ้นปีงบประมาณของแต่ละปี ให้องค์กรร่วมจัดให้มีการสอบบัญชีต่าง ๆ ของตน แล้วส่งให้แก่รัฐบาลทั้งสองพร้อมด้วยข้อสังเกตของผู้สอบบัญชีและรายงานประจำปี] ซึ่งผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชี โดยงบการเงินขององค์กรร่วมฯ แสดงข้อมูลถูกต้อง สอดคล้องกับสถานะการดำเนินงาน รายรับและรายจ่าย และงบกระแสเงินสดขององค์กรร่วมๆ ณ สิ้นปี 2563 รวมทั้งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการองค์กรร่วมฯ ในการประชุมครั้งที่ 134 และการประชุมสามัญประจำปี ครั้งที่ 29 เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2564 แล้ว ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ 1. กิจกรรมสำคัญ ได้แก่ กิจกรรมด้านการสำรวจ การประเมินปริมาณสำรองการผลิตปิโตรเลียม และการกำกับดูแลด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ซึ่งในปี 2563 มีการผลิตก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซียจำนวน 2 แปลง รวมทั้งสิ้น 338.70 พันล้านลูกบาศก์ฟุต (อัตราเฉลี่ยวันละ 925.39 ล้านลูกบาศก์ฟุต โดยมีก๊าชธรรมชาติจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซียส่งเข้าประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 141.50 พันล้านลูกบาศก์ฟุต (อัตราเฉลี่ยวันละ 386.70 ล้านลูกบาศก์ฟุต) และส่งเข้าประเทศมาเลเซีย รวมทั้งสิ้น 197.20 พันล้านลูกบาศก์ฟุต (อัตราเฉลี่ยวันละ 538.69 ล้านลูกบาศก์ฟุต) 2. รายงานงบการเงินขององค์กรร่วมฯ ประจำปี 2563 2.1 รายได้จากการขายปิโตรเลียม ในปี 2563 องค์กรร่วมฯ มีรายได้จากการขายปิโตรเลียม จำนวน 1,663,979,128 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นรายรับสุทธิองค์กรร่วมฯ จำนวน 505,281,506 ดอลลาร์สหรัฐ 2.2 สถานะของกองทุนองค์กรร่วมฯ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 มีรายละเอียด ดังนี้ หน่วย : ล้านดอลลาร์สหรัฐ รายการ จำนวน สินทรัพย์และเงินสดเพื่อการดำเนินงานคงเหลือ 106.24 ทุนสำรองจากเงิน Information Bonus 3.09 เงินบำรุงการวิจัย 88.86 กองทุนรื้อถอน 669.44 รวม 867.63 2.3 องค์กรร่วมฯ ได้นำส่งรายได้ในปี 2563 ให้รัฐบาลทั้งสองประเทศจากการขายปิโตรเลียมของเดือนพฤศจิกายน 2562 ถึงเดือนตุลาคม 2563 ดังนี้ หน่วย : ล้านดอลลาร์สหรัฐ รายการ จำนวน ค่าภาคหลวง 178.36 ปิโตรเลียมส่วนที่เป็นกำไร 545.25 รายได้อื่น ๆ 57.24 รวม 780.85 โดยรายได้ที่องค์กรร่วมฯ นำส่งให้รัฐบาลทั้งสองประเทศตั้งแต่เริ่มผลิตก๊าชธรรมชาติ เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2548 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 11,569.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 19. เรื่อง การต่ออายุความตกลงทวิภาคีว่าด้วยการเลกเปลี่ยนเงินตรา (Bilateral Swap Aereement) ระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลังญี่ปุ่น คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบการต่ออายุความตกลงทวิภาคีว่าด้วยการแลกเปลี่ยนเงินตรา (Bilateral Swap Agreement BSA) ระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลังญี่ปุ่น (ตั้งแต่ 24 กรกฎาคม 2564 - 23 กรกฎาคม 2567) 9 ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ 1. เดิมคณะรัฐมนตรีมีมติ (5 มิถุนายน 2544) เห็นชอบการจัดทำความตกลง BSA วงเงิน 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเป็นกลไกทางการเงินในการให้ความช่วยเหลือระหว่างกัน ในกรณีที่ประสบปัญหาดุลการชำระเงินหรือขาดสภาพคล่องในระยะสั้น รวมทั้งเป็นส่วนเสริม ความช่วยเหลือด้านการเงินที่ได้รับจากความตกลงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่สู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM) ซึ่งความตกลง BSA ได้มีการปรับปรุงและต่ออายุอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสิ้น 5 ฉบับ โดยความตกลง BSA ฉบับล่าสุดได้ลงนามเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2561 (คณะรัฐมนตรีมีมติ (2 พฤษภาคม 2560) รับทราบการจัดทำ BSA ดังกล่าว] และหมดอายุในวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 2. ในคราวประชุมคณะกรรมการ ธปท. เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2564 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบการต่ออายุความตกลง BSA ฉบับใหม่ เนื่องจากเห็นว่าประเทศไทย (ไทย) จะได้รับประโยชน์จากการขยายขอบเขตความช่วยเหลือทางการเงิน และเป็นการรักษาความร่วมมือทางการเงินระหว่างไทยและญี่ปุ่น โดยความตกลง BSA ฉบับใหม่มีสาระสำคัญที่เปลี่ยนแปลงไปจากฉบับเดิมใน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ 2.1 เพิ่มวัตถุประสงค์ของการใช้วงเงินให้ครอบคลุมถึงการป้องกันการเกิดปัญหาสภาพคล่องหรือ ปัญหาดุลการชำระเงิน 2.2 ปรับเนื้อหาให้สอดคล้องกับความตกลง CMIM ฉบับล่าสุด ซึ่งมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 เนื่องจากความตกลง BSA นี้มีกลไกที่สามารถเบิกใช้พร้อมกับวงเงิน CMIM ได้ ทั้งนี้ สาระสำคัญอื่น ๆ เช่น รูปแบบการเบิกถอนและวงเงินสูงสุดที่สามารถเบิกถอนได้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากความตกลงฉบับเดิม 20. เรื่อง ผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 30 ปี ของความสัมพันธ์ คณะรัฐนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 30 ปีของความสัมพันธ์และพิจารณาสั่งการให้หน่วยงานที่มีภารกิจที่เกี่ยวข้องนำผลการประชุมฯ ไปปฏิบัติและติดตามความคืบหน้าต่อไป ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ สาระสำคัญของเรื่อง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) ได้เข้าร่วมการประชุมฯ เมื่อวันที่ 7 - 8 มิถุนายน 2564 ณ นครฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน และหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีจากประเทศต่าง ๆ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ 1. ผลการประชุมฯ 1.1 ความสัมพันธ์อาเซียน-จีน โดยสาธารณรัฐประชาชนน (จีน) ได้ผลักดันการยกระดับสถานะความสัมพันธ์อาเซียน-จีนเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์แบบรอบด้านและความร่วมมือด้านเศรษฐกิจทางทะเล ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนอยู่ระหว่างพิจารณาข้อเสนอดังกล่าว รวมทั้งเสนอให้มุ่งเน้นความสำคัญต่อค่านิยมเอเชีย และไทยได้นำเสนอ (1) รายชื่อโครงการความร่วมมืออาเซียน-จีน เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน จำนวน 30 โครงการ (2) การแสวงหาความร่วมมือด้านการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ซึ่งได้มีการบรรจุประเด็นดังกล่าวไว้ในเอกสารผลลัพธ์การประชุมฯ และ (3) แนวคิดเรื่องอาเซียนบวกสอง (ASEAN+2) เพื่อเป็นเวทีให้ประเทศสหรัฐอเมริกา (สหรัฐอเมริกา และจีนเข้ามามีส่วนร่วมในการหารือกับอาเซียนในประเด็นที่ทั้งสองประเทศให้ความสำคัญและมีผลกระทบต่อภูมิภาคโดยตรง 1.2 ความร่วมมือเพื่อรับมือกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิค -19) โดยประเทศสมาชิกอาเซียนยินดีต่อการสนับสนุนเงินช่วยเหลือ เวชภัณฑ์ และวัคซีนจากจีนเพื่อรับมือกับโควิด -19 และจีนประกาศส่งเสริมความร่วมมือกับอาเซียนภายใต้กรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่อาเซียนภายหลังสถานการณ์โควิด -19 1.3 ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ที่ประชุมฯ เห็นพ้องกัน ดังนี้ (1) ให้ใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (2) เร่งรัดการให้สัตยาบันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว (3) ขยายความร่วมมือด้านความเชื่อมโยงระหว่างกันทั้งในอาเซียนและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และเศรษฐกิจดิจิทัล และ (4) ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อสอดประสานระหว่างแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ค.ศ.2025 กับข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทางให้เกิดผลเป็นรูปธรรม 1.4 สถานการณ์ในทะเลจีนใต้ ที่ประชุมฯ สนับสนุนการปฏิบัติตามปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ และเห็นพ้องให้สานต่อการเจรจาจัดทำประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ที่มีประสิทธิภาพ มีเนื้องหาที่ครอบคลุมและสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ โดยไทยยืนยันความมุ่งมั่นในการส่งเสริมความร่วมมือที่เอื้อประโยชน์ต่อทุกฝ่าย และแจ้งว่าในปี 2565 ไทยจะจัดกิจกรรมภายใต้เอกสารแนวปฏิบัติอันเป็นเลิศและแนวทางที่ไม่มีข้อผูกมัดสำหรับการดำเนินกิจกรรมร่วมกันในการปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเลในทะเลจีนใต้ 1.5 สถานการณ์ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ที่ประชุมฯ สนับสนุนการปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อ และการแต่งตั้งผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนรวมทั้งมุ่งหวังต่อการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี และการแสดงความห่วงกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยจีนสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าวและการหารือระหว่าง ภาคีที่เกี่ยวข้อง และเน้นย้ำถึงการไม่สนับสนุนการแทรกแซงจากประเทศภายนอกภูมิภาค 1.6 เอกสารผลลัพธ์ ที่ประชุมฯ เห็นชอบให้สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ (ในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-จีนและประธานร่วมของการประชุมฯ) และจีนร่วมออกถ้อยแถลงร่วมของประธาน 21. เรื่อง แผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวของภูมิภาคอาเซียนภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไว้รัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อผลการศึกษาฉบับสุดท้ายของแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวของภูมิภาคอาเซียนภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโนนา 2019 (โควิด-19) และถ้อยแถลงข่าวร่วมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ว่าด้วยแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (Joint Media Statement of the ASEAN Tourism Ministers on the Post-COVID-19 Recovery Plan for ASEAN Tourism) รวมทั้งอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาให้การรับรองผลการศึกษาฉบับสุดท้ายของแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวของภูมิภาคอาเซียนภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และถ้อยแถลงข่าวร่วมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ว่าด้วยแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยการแจ้งเวียน (ad-referendum) ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เสนอ สาระสำคัญของเรื่อง 1. ผลการศึกษาฉบับสุดท้ายของแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวของภูมิภาคอาเซียนภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโนนา 2019 (โควิด-19) เป็นหนึ่งในผลลัพธ์สำคัญทางเศรษฐกิจ (Key Priority Economic Deliverables) ในช่วงการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนปี 2564 ของบรูไนดารุสซาลาม รวมทั้งเป็นแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการฟื้นคืนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของภูมิภาคอาเซียนภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และได้มีการพัฒนาสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวอาเซียน ปี พ.ศ. 2559 ? 2564 และปฏิญญาพนมเปญมุ่งสู่การท่องเที่ยวอาเซียนที่ยั่งยืน ครอบคลุม และฟื้นตัวได้เร็ว โดยผลการศึกษาดังกล่าวประกอบด้วยข้อเสนอแนะและแนวปฏิบัติ 5 เสาหลัก ดังนี้ เสาหลักที่ 1 สนับสนุนธุรกิจการท่องเที่ยวด้วยการฟื้นฟูและการปรับตัว เช่น สนับสนุนทางการเงินเพื่อรักษาสภาพคล่องของธุรกิจในระยะสั้น จัดฝึกอบรมและการพัฒนาทักษะที่เหมาะสม เพื่อตอบสนองต่อความต้องการในการขับเคลื่อนการฟื้นฟูของภาคการท่องเที่ยว พัฒนาโครงการเฉพาะสำหรับสตรี ตามกรอบการพัฒนาในมิติทางเพศของอาเซียน (ASEAN Gender and Development Framework) จัดตั้งกลไกสนับสนุนอย่างเป็นทางการสำหรับ MSMEs ด้านการท่องเที่ยว เสาหลักที่ 2 ฟื้นฟูการเดินทางภายในภูมิภาคและระหว่างประเทศอย่างปลอดภัยและไร้รอยต่อ เช่น ส่งเสริมภูมิภาคอาเซียนในวงกว้างเพื่อเปิดการเดินทางอีกครั้ง ส่งเสริมมาตรฐานและแนวปฏิบัติด้านสุขภาพและความปลอดภัย (Health and Safety Standards and Protocols) ในภูมิภาคอาเซียน สร้างกระบวนการพัฒนาและติดตามการเดินทางในรูปแบบระเบียงท่องเที่ยว (Travel Bubble) สร้างกลไกการสื่อสารที่ชัดเจนกับภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ผู้ชื้อ ผู้ประกอบธุรกิจ และนักเดินทาง เพื่อการทบทวนและจัดทำข้อมูลสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) บนเว็บไซต์การท่องเที่ยวอาเซียนให้เป็นปัจจุบัน เสาหลักที่ 3 สร้างความมั่นใจในการฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวให้เป็นไปตามหลักการของความยั่งยืนและมีความครอบคลุม เช่น สร้างมาตรการใหม่ที่มุ่งสู่ความสำเร็จของภาคการท่องเที่ยว วางรากฐานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนให้สอดคล้องกับมาตรฐานและแนวทางความยั่งยืนของอาเซียนด้านการท่องเที่ยวที่มีอยู่เดิม เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในแหล่งท่องเที่ยวร่วมกับหน่วยงานเทศบาลเพื่อสนับสนุนการพัฒนาแผนงานการจัดการขยะในแหล่งท่องเที่ยว การส่งเสริมการบูรณาการด้านการขนส่งสีเขียว (Green Transportation) และการใช้พลังงานหมุนเวียนในแผนงานการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ส่งเสริมการต่อต้านการเลือกปฏิบัติทางเพศ แรงงานทาสยุคใหม่ (Modern Slavery) และสนับสนุนมาตรการคุ้มครองแรงงานเด็ก เสาหลักที่ 4 นำเสนอรูปแบบใหม่ของการบริการด้านการท่องเที่ยวเพื่อขับเคลื่อนการแข่งขัน เช่น ส่งเสริมการพัฒนาสินค้าด้านการท่องเที่ยวของอาเซียนเพื่อตอบสนองแนวโน้มการท่องเที่ยวใหม่ ๆ ผ่านกองทุนพิเศษสำหรับธุรกิจ Start-up จัดลำดับความสำคัญของภาคส่วนที่จะเริ่มต้นดำเนินการเพื่อการฟื้นฟู เสาหลักที่ 5 สนับสนุนการฟื้นฟูด้านการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้เร็วในระยะยาวและการเตรียมพร้อมในภาวะวิกฤต เช่น จัดทำโครงการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคการเดินทางและการท่องเที่ยว รวบรวมทรัพยากรเพื่อรองรับภาคการท่องเที่ยวในภาวะวิกฤต ยกระดับการใช้งานและความเข้าใจเทคโนโลยีดิจิทัลในภาคการท่องเที่ยวผ่านการใช้งานและการจัดเก็บข้อมูลแบบ Big Data เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และระบบ Machine Learning 2. ถ้อยแถลงข่าวร่วมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ว่าด้วยแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (Joint Media Statement of the ASEAN Tourism Ministers on the Post-COVID-19 Recovery Plan for ASEAN Tourism) มีสาระสำคัญที่แสดงถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ผ่านการประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน สมาคมการท่องเที่ยว ชุมชนและองค์กรระหว่างประเทศ พันธมิตรภายนอก และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการทำงานอย่างใกล้ชิดกับองค์กรอาเซียนเฉพาะสาขา (ASEAN Sectoral Bodies) เพื่อดำเนินการปฏิบัติงานและกิจกรรมร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ และควบคู่ไปกับการทำงานเพื่อประสานนโยบายและแนวปฏิบัติระดับภูมิภาคเพื่อการฟื้นฟูอย่างรวดเร็ว ยั่งยืน และครอบคลุม แต่งตั้ง 22. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการ ท่องเที่ยวและกีฬา) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 2 ราย เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการและสับเปลี่ยนหมุนเวียน ดังนี้ 1. นายทวีศักดิ์ วาณิชย์เจริญ รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมการท่องเที่ยว 2. นายอารัญ บุญชัย ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป 23. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงศึกษาธิการ) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 8 ราย เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ และสับเปลี่ยนหมุนเวียน ดังนี้ 1. นายอรรถพล สังขวาสี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา 2. นายวัลลพ สงวนนาม ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 3. นางเกศทิพย์ ศุภวานิช ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 4. นายวรัท พฤกษาทวีกุล เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง 5. นายสุรศักดิ์ อินศรีไกร ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน (นักวิชาการศึกษาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานปลัดกระทรวง 6. นายสวัสดิ์ ภู่ทอง ที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา (นักวิชาการศึกษาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา 7. เรืออากาศโท สมพร ปานดำ ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาช่างอุตสาหกรรม (นักวิชาการศึกษาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณกรรมการการอาชีวศึกษา 8. นายพีรศักดิ์ รัตนะ รองเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป 24. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงบประมาณเสนอแต่งตั้งนายเฉลิมพล เพ็ญสูตร รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป 25. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เสนอรับโอน นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 โดยผู้มีอำนาจสั่งบรรจุทั้งสองฝ่ายได้ตกลงยินยอมในการโอนแล้ว ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป 26. เรื่อง ให้กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่ออีกหนึ่งวาระ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอให้กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี จำนวน 3 ราย ซึ่งจะครบวาระการดำรงตำแหน่งหนึ่งปี โดยลำดับที่ 1 ? 2 ในวันที่ 2 กันยายน 2564 และลำดับที่ 3 ในวันที่ 15 กันยายน 2564 คงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่ออีกหนึ่งวาระ ดังนี้ 1. นายรณภพ ปัทมะดิษ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 2. นายเนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 3. นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน โดยให้ลำดับที่ 1 ? 2 มีผลตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2564 และลำดับที่ 3 มีผลตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2564 27. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงพาณิชย์) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอแต่งตั้ง นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป 28. เรื่อง การแต่งตั้งเลขาธิการ กปร. คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เสนอแต่งตั้ง นายลลิต ถนอมสิงห์ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (เลขาธิการ กปร.) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 30 สิงหาคม 2564