สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรีชุด พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 25 ตุลาคม 2564

ข่าวการเมือง Monday October 25, 2021 18:48 —มติคณะรัฐมนตรี

http://www.thaigov.go.th
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
		วันนี้ (25 ตุลาคม 2564)  เวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี                    เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรี  (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล  ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้

กฎหมาย
1. 	เรื่อง 	ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล
ที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. ....
2. 	เรื่อง 	ร่างพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
3. 	เรื่อง 	ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการออก การซื้อขาย 					การโอน และการใช้ตราสารหนี้เป็นหลักประกัน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

เศรษฐกิจ สังคม

4. 	เรื่อง	 โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง และมาตรการคู่ขนาน
5. 	เรื่อง 	โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2564/65
และมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
ปี 2564/65
6. 	เรื่อง 	ผลการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดระบบศูนย์ราชการ ครั้งที่ 1/2564
7. 	เรื่อง  	ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ยุทธศาสตร์และข้อเสนอแนวทาง				ในการจัดทำหลักสูตรอาชีวศึกษาฐานสมรรถนะ เพื่อรองรับโครงการเขตพัฒนา					พิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ของคณะกรรมาธิการ				การศึกษา วุฒิสภา
8. 	เรื่อง 	โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 พร้อมมาตรการ				คู่ขนาน และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิต					เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65

ต่างประเทศ


9. 	เรื่อง 	การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากเรือ 					ภาคผนวก 5 ว่าด้วยกฎข้อบังคับสำหรับการป้องกันมลพิษจากขยะบนเรือ 					(MARPOL Annex V)
10. 	เรื่อง 	การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญา มินามาตะ ว่าด้วยปรอท สมัยที่ 4 ในรูปแบบออนไลน์
11.  	เรื่อง 	ผลการประชุม ?The 13th  Inclusive Framework on BEPS?
12. 	เรื่อง 	สรุปผลการประชุม The 8th ASEAN Ministerial Meeting on Minerals: The 				8th AMMin และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
13. 	เรื่อง 	ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 13 แผนงานการพัฒนาเขต					เศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย ? มาเลเซีย ? ไทย (IMT-GT)
14. 	เรื่อง	ขอความเห็นชอบต่อเอกสารที่จะมีการรับรองในการประชุมรัฐมนตรีกีฬาอาเซียน 				ครั้งที่ 6 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ผ่านระบบการประชุมทางไกล
15. 	เรื่อง 	การขอความเห็นชอบต่อร่างแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก				จากการแสวงหาผลประโยชน์ในสื่อออนไลน์ในอาเซียน และร่างแผนปฏิบัติการ					ระดับภูมิภาคว่าด้วยการอนุวัติการปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิของเด็กในบริบท				ของการโยกย้ายถิ่นฐาน

แต่งตั้ง

16. 	เรื่อง 	การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง 					(กระทรวงแรงงาน)
17.	เรื่อง 	การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ
ระดับทรงคุณวุฒิ

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
































กฎหมาย
1. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. ....
 		คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
		สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
 		1. กำหนดให้ ?บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล? หมายความว่า การให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในลักษณะที่เป็นสื่อกลางที่มีพื้นที่ให้ผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลและผู้บริโภคเชื่อมต่อกัน โดยการใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์
 		2. กำหนดให้ ?ผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์มดิจิทัล? หมายความว่า บุคคลธรรมดาที่กระทำการในเชิงพาณิชย์หรือวิชาชีพหรือนิติบุคคลที่เสนอสินค้า บริการ หรือทรัพย์สินต่อผู้บริโภคผ่านบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลโดยมีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการค้า ธุรกิจ งานฝีมือ หรือวิชาชีพ ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลหรือผู้บริโภคจะเป็นสมาชิก หรือมีบัญชีของแพลตฟอร์มนั้นหรือไม่ นอกจากนี้ บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลหนึ่งอาจมีผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลมากกว่าหนึ่งฝ่ายก็ได้
 		3. กำหนดให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) เป็นผู้รับผิดชอบในการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบตามพระราชกฤษฎีกานี้
 		4. กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกานี้และประกาศที่คณะกรรมการหรือสำนักงานกำหนด
 		5. กำหนดให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นบริการที่ต้องแจ้งให้ สพธอ. ทราบก่อนการประกอบธุรกิจ โดยยื่นแบบการแจ้งให้ทราบต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ยกเว้นบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีหน่วยงานอื่นกำกับดูแลโดยเฉพาะอยู่แล้ว และบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลอื่นใดที่คณะกรรมการกำหนด ไม่ต้องแจ้งให้ สพธอ. ทราบ
 		6. กำหนดให้พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับแก่การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการแก่ผู้บริโภคในราชอาณาจักรไทย ไม่ว่าผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลจะอยู่ในราชอาณาจักรหรือนอกราชอาณาจักร ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลอยู่นอกราชอาณาจักรต้องแต่งตั้งตัวแทนของผู้ประกอบธุรกิจเป็นหนังสือซึ่งตัวแทนต้องอยู่ในราชอาณาจักรและตัวแทนต้องได้รับมอบอำนาจให้กระทำการแทนผู้ประกอบธุรกิจโดยไม่มีข้อจำกัดความรับผิดใด ๆ ที่เกี่ยวกับการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลตามพระราชกฤษฎีกานี้
 	 	7. กำหนดให้เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับแบบการแจ้งให้ทราบพร้อมทั้งเอกสารแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกใบรับแจ้งด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเป็นหลักฐานการแจ้งในวันที่รับแจ้งนั้น และให้ผู้แจ้งประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลได้ตั้งแต่วันที่ได้รับใบแจ้งดังกล่าว
 			ในกรณีที่พบว่าการแจ้งไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องหรือครบถ้วน แล้วแต่กรณี ภายในระยะเวลาที่กำหนด
  			ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจไม่แก้ไขหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่สั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจนั้นหยุดการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลนั้นนับแต่วันที่ครบกำหนดระยะเวลาจนกว่าจะแก้ไขให้ถูกต้องและครบถ้วนตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่
 			ในกรณีที่ผู้แจ้งไม่แก้ไขภายในระยะเวลา 90 วันนับแต่วันที่หยุดการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ถอนการรับแจ้งของผู้นั้นออกจากทะเบียนการรับแจ้งและแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้นั้นทราบโดยเร็ว
 		8. กำหนดให้กรณีที่หน่วยงานหนึ่งหน่วยงานใดมีความจำเป็นต้องขอข้อมูลที่ สพธอ. ได้รับจากแบบการแจ้งให้ทราบหรือจากทะเบียนการรับแจ้ง เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ให้ สพธอ. ขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นรายกรณีไป
 		9. กำหนดให้กรณีที่ สพธอ. จำเป็นต้องใช้ข้อมูลซึ่งหน่วยงานของรัฐใดได้มีการขอหรือจัดเก็บจากผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลไว้แล้วไม่ว่าตามกฎหมายหรือตามข้อสัญญา ให้ สพธอ. สามารถขอให้หน่วยงานดังกล่าวให้เปิดเผยหรือเชื่อมโยงข้อมูลนั้นแก่ สพธอ. ได้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบธุรกิจ และให้หน่วยงานดังกล่าวดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลที่ตนมีให้แก่ สพธอ. โดยไม่ชักช้า
 		10. กำหนดให้ สธพอ. มีอำนาจประกาศกำหนดลักษณะหรือประเภทบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องแจ้งให้ผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลทราบเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และรายละเอียดที่จำเป็นอย่างชัดเจนและเหมาะสมก่อนหรือขณะการใช้บริการ เช่น เงื่อนไขในการให้บริการ การระงับหรือหยุดการให้บริการ การคิดค่าธรรมเนียม ค่าตอบแทน ค่าบริการ และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการให้บริการ เป็นต้น
 		11. กำหนดให้กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจรายใดประสงค์จะเลิกประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลให้แจ้ง สพธอ. ทราบล่วงหน้าด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ ไม่น้อยกว่า 60 วันก่อนวันเลิกการให้บริการ และให้ สพธอ. มีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อคุ้มครองหรือเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลก่อนเลิกประกอบธุรกิจหรือก่อนเพิกถอนการแจ้ง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่สำนักงานประกาศกำหนด
 		12. กำหนดให้กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกานี้และตามประกาศที่คณะกรรมการฯ และ สพธอ. กำหนด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีคำสั่งห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจนั้นให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดดังกล่าว ทั้งนี้ หากผู้ประกอบธุรกิจไม่ปฏิบัติตามภายในระยะเวลา 90 วันนับแต่วันที่มีคำสั่งห้ามมิให้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ถอนการรับแจ้งของผู้นั้นออกจากทะเบียนการรับแจ้งและแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้นั้นทราบด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์โดยเร็ว
 		13. กำหนดให้ สพธอ. มีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดทำแนวปฏิบัติที่ดีหรือมีกลไกในการกำกับดูแลตนเองที่เหมาะสม ซึ่งอาจครอบคลุมเรื่องการระบุและพิสูจน์ทราบตัวตนของผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งกำหนดมาตรการเพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจอันดีและเป็นที่ยอมรับร่วมกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจ ผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล และหรือหน่วยงานของรัฐ
 		14. กำหนดให้ สพธอ. จัดให้มีช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนกลางด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่เกิดจากการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลโดยผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็ก โดยให้รายงานผลการดำเนินการต่อคณะกรรมการฯ ทุกปี
 		15. กำหนดให้ สพธอ. และสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ร่วมมือกันกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลมีพฤติกรรมขัดขวางความโปร่งใสและเป็นธรรม รวมทั้งฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า
 		16. กำหนดให้ผู้ซึ่งประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลตามพระราชกฤษฎีกานี้ก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับมีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกานี้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ
 		ทั้งนี้ ดศ. เสนอว่า
 		1. โดยที่พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 32 บัญญัติให้บุคคลย่อมมีสิทธิประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ แต่ในกรณีจำเป็นเพื่อรักษาความมั่นคงทางการเงินและการพาณิชย์ หรือเพื่อประโยชน์ในการเสริมสร้างความน่าเชื่อถือและยอมรับในระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือเพื่อป้องกันความเสียหายต่อสาธารณชน ให้มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้การประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ใดเป็นกิจการที่ต้องแจ้งให้ทราบต้องขึ้นทะเบียน หรือต้องได้รับใบอนุญาตก่อน แล้วแต่กรณี
  		2. ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามาอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวันของสาธารณชน   อีกทั้งยังตอบสนองต่อรูปแบบวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป มีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลซึ่งมีลักษณะเป็นสื่อกลางที่มีพื้นที่ให้ผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลและผู้บริโภคเชื่อมต่อกันทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชันมากขึ้น ครอบคลุมลักษณะและประเภทธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้น เช่น แพลตฟอร์มการขายสินค้าหรือบริการ (เช่น Shopee และ Booking.com) แพลตฟอร์มเศรษฐกิจแบ่งปันด้านแรงงาน (เช่น Grab Food และ Robinhood) แพลตฟอร์มการให้บริการด้านการเงิน (เช่น truemoney wallet และ rabbit LINE Pay) แพลตฟอร์มการให้บริการที่เกี่ยวกับวิถีการดำเนินชีวิต (เช่น HUNGRY HUB และ QUEQ) จึงทำให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการพัฒนามาตรฐานหรือกฎเกณฑ์ในการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล จึงมีความจำเป็นต้องมีการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยการกำหนดขอบเขตของการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ การเชื่อมโยงข้อมูลและการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การกำกับดูแลการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นไปด้วยความเหมาะสม การกำหนดหลักเกณฑ์ในการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อให้การประกอบธุรกิจดังกล่าวมีความโปร่งใสและเป็นธรรม อันจะทำให้เกิดความน่าเชื่อถือในการให้บริการ มีการคุ้มครองผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลซึ่งรวมถึงผู้บริโภคและผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลอย่างเหมาะสม ตลอดจนกำหนดให้มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดทำแนวปฏิบัติที่ดี หรือมีกลไกในการกำกับดูแลตนเองที่เหมาะสมที่สอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ กลไกการบังคับใช้กฎหมายในปัจจุบัน และการคุ้มครองสิทธิของผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะผู้บริโภค ในกรณีที่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลอยู่นอกราชอาณาจักร ทั้งนี้ เพื่อรักษาความมั่นคงทางการเงินและการพาณิชย์ หรือเพื่อประโยชน์ในการเสริมสร้างความน่าเชื่อถือและยอมรับในระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือเพื่อป้องกันความเสียหายต่อสาธารณชน ดศ. จึงได้จัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. ....
 		3. ดศ. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องในภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 32 วรรคสี่ ซึ่ง ดศ. ได้นำข้อมูลที่ได้รับจากการรับฟังความคิดเห็นมาปรับปรุงร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น และได้นำร่างพระราชกฤษฎีกาฯ เสนอต่อคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (คธอ.) ในการประชุมครั้งที่ 6/2564 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ซึ่งที่ประชุม คธอ. มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาฯ โดยให้ สพธอ. นำความเห็นและข้อสังเกตของที่ประชุมไปพิจารณาปรับปรุงร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ก่อนเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป โดย สธพอ. ได้ดำเนินการปรับปรุงร่างพระราชกฤษฎีกาฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับการดำเนินการภายหลังที่ร่างพระราชกฤษฎีกาฯ มีผลใช้บังคับ คธอ. หรือ สพธอ. จะได้จัดทำรายละเอียดหลักเกณฑ์ วิธีการที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการควบคุมดูแลการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ตลอดจนจัดให้มีกระบวนการสร้างการรับรู้และความรู้ความเข้าใจในการนำร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ไปใช้บังคับต่อไป

2. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
 		คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและรับทราบ ดังนี้
 		1. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรเมื่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากเรือ ภาคผนวก 5 ว่าด้วยกฎข้อบังคับสำหรับการป้องกันมลพิษจากขยะบนเรือได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว
 		2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่ คค. เสนอ
		ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติที่ คค. เสนอ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย โดยเพิ่มบทบัญญัติว่าด้วยการทิ้งขยะในทะเล กำหนดมาตรการในการควบคุมการทิ้งขยะจากเรือและแท่นให้เป็นไปตามหลักมาตรฐานสากล และให้เป็นไปตามพันธกรณีแห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากเรือ ค.ศ. 1973 ภาคผนวก 5 ว่าด้วยกฎข้อบังคับสำหรับการป้องกันมลพิษจากขยะบนเรือ (MARPOL Annex V Regulations for the Prevention of Pollution by Garbage from Ships) อันเป็นการป้องกันมิให้เกิดมลพิษและคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเล ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศไทยมีมาตรฐานในการควบคุมดูแลการทิ้งขยะลงในทะเลเทียบเท่ากับมาตรฐานระหว่างประเทศ อันส่งผลให้นานาประเทศเกิดความเชื่อมั่นในการดำเนินการของประเทศไทยอันจะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี รวมทั้งเรือไทยย่อมได้รับการยอมรับจากนานาประเทศว่ามีมาตรฐานเพียงพอในการป้องกันการทิ้งหรือการรั่วไหลของขยะจากเรือ ยังส่งผลให้การพาณิชยนาวีของไทยมีการพัฒนาและสามารถขยายกิจการได้มากยิ่งขึ้น
 		สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
 		1. เพิ่มส่วน (ฆ/3) ว่าด้วยการทิ้งขยะในทะเล ในหมวดที่ 6 ข้อบังคับเบ็ดเตล็ด ของภาค 1 ข้อบังคับทั่วไป ในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 และกำหนดขอบเขตการบังคับใช้ โดยให้ ?ทะเล? หมายถึงทะเลในน่านน้ำไทย โดยขยายครอบคลุมไปถึงทะเลที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะตามประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะของราชอาณาจักรไทย โดยยกเว้นไม่นำมาใช้บังคับแก่เรือของทางราชการ หรือเรือที่ใช้ในกิจการของรัฐซึ่งมิได้มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์
 		2. กำหนดบทนิยามของ ?ทิ้ง? ?ขยะ? ?เรือไทย? ?แท่น? ?พื้นที่พิเศษ? ?อนุสัญญา? ?รัฐภาคี?
 		3. กำหนดข้อห้ามและเงื่อนไขในการทิ้งขยะ โดยห้ามมิให้มีการทิ้งขยะจากเรือหรือแท่นลงในทะเล เว้นแต่การทิ้งขยะจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ โดยได้กำหนดประเภทของขยะที่สามารถทิ้งลงทะเลได้ เช่น การทิ้งอาหารจากเรือลงในทะเลให้กระทำได้ในขณะที่เรืออยู่ระหว่างทางและต้องอยู่ห่างไกลจากเส้นฐาน (Baseline) ออกไปในทะเลในระยะพื้นที่ตามที่กำหนด ส่วนการทิ้งอาหารจากแท่น รวมถึงเรือที่อยู่ติดกับแท่นเรือ หรือเรือที่อยู่ใกล้กับแท่นในระยะไม่เกิน 500 เมตร ให้ทิ้งได้ในระยะไม่น้อยกว่า 12 ไมล์ทะเลขึ้นไป แต่ต้องทิ้งผ่านเครื่องบดปั่นและผ่านตะแกรงที่มีช่องขนาดไม่เกิน 25 มิลลิเมตร
 		4. กำหนดข้อยกเว้นในการทิ้งขยะเมื่อมีเหตุจำเป็น ได้แก่ การทิ้งเท่าที่จำเป็นเพื่อรักษาความปลอดภัยของเรือหรือแท่นหรือความปลอดภัยของผู้ที่อยู่บนเรือหรือแท่น หรือเพื่อช่วยเหลือชีวิตมนุษย์
 		5. กำหนดหน้าที่ของเจ้าของเรือ ผู้ครอบครองเรือ และนายเรือเจ้าของแท่น ผู้ครอบครองแท่น และผู้จัดการแท่น เช่น จัดทำป้ายประกาศเพื่ออธิบายถึงข้อกำหนดเกี่ยวกับการทิ้งขยะ แผนจัดการขยะ ทั้งนี้ หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเรือหรือแท่นใดมีการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติในส่วนนี้ เจ้าท่าจะใช้อำนาจในการตรวจสอบเรือหรือแท่นดังกล่าวได้
 		6. กำหนดให้กรณีมีการดำเนินการตามกฎหมายต่อเรือต่างชาติหรือแท่นที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองเป็นคนต่างชาติ เจ้าท่ามีหน้าที่ต้องแจ้งให้รัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ทราบถึงการฝ่าฝืนกฎหมาย ตลอดจนการดำเนินการใด ๆ ของประเทศไทย
 		7. การวางหลักประกันเพื่อขอให้ยกเลิกคำสั่งห้ามออกเรือ โดยกำหนดให้เจ้าของเรือ ผู้ครอบครองเรือ หรือนายเรืออาจขอให้เจ้าท่ายกเลิกคำสั่งห้ามออกเรือได้ หากเจ้าท่าพิจารณาแล้วเห็นว่าเรือมีอุปกรณ์ เครื่องใช้เกี่ยวกับการจัดการขยะ หรือมีมาตรการในการป้องกันการทิ้งขยะ และได้ดำเนินการแก้ไขหรือจัดการขยะที่รั่วไหลหรือปล่อยทิ้งดังกล่าวแล้ว และยินยอมวางหลักประกันตามที่เจ้าท่ากำหนด เจ้าท่าจึงจะยกเลิกคำสั่งห้ามออกเรือได้
 		8. การดำเนินคดีกับเรือต่างประเทศแทนรัฐภาคีอื่น โดยกำหนดให้ในกรณีเรือต่างประเทศที่อยู่ภายในทะเลในน่านน้ำไทยได้กระทำความผิดฐานทิ้งขยะในเขตน่านน้ำของรัฐภาคีอื่น และรัฐภาคีซึ่งเป็นรัฐเจ้าของธงเรือหรือรัฐภาคีซึ่งได้รับความเสียหรือได้รับผลกระทบจากการทิ้งขยะของเรือนั้นร้องขอให้รัฐบาลไทยตรวจสอบเรือต่างประเทศดังกล่าว เจ้าท่าย่อมมีอำนาจเข้าตรวจสอบดำเนินคดีกับเรือต่างประเทศแทนรัฐที่ร้องขอนั้นได้
 		9. กำหนดโทษปรับทางปกครอง ในกรณีที่ทิ้งขยะในเขตเศรษฐกิจจำเพาะตามประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะของราชอาณาจักรไทย และกำหนดโทษทางอาญาในความผิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายหรือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล เช่น โทษฐานทิ้งขยะลงทะเลหากเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย            เป็นต้น

3. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการออก การซื้อขาย การโอน และการใช้ตราสารหนี้เป็นหลักประกัน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
 		คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการออก การซื้อขาย การโอน และการใช้ตราสารหนี้เป็นหลักประกัน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
 		ทั้งนี้ กค. เสนอว่า
		1. ได้มีกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการออกการซื้อขาย การโอน และการใช้ตราสารหนี้เป็นหลักประกัน พ.ศ. 2550 เพื่อกำหนดแบบหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการออก การซื้อขาย การโอน และการใช้ตราสารหนี้ในประเทศเป็นหลักประกัน ไม่ว่าจะเป็นกรณีมีใบตราสารหรือไม่มีใบตราสาร รวมทั้งกำหนดบทบาทของผู้ที่เกี่ยวข้องตามกฎหมาย และในปี 2561 กค. ได้มีการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะให้อำนาจ กค. สามารถกู้เงินเพื่อบริหารสภาพคล่องของเงินคงคลังได้ โดยใช้ตั๋วเงินคลังเป็นเครื่องมือหลักในการบริหารสภาพคล่องของเงินคงคลัง
 		2. ต่อมา ในปี 2563 ? 2564 กค. โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้เปิดจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านวอลเล็ตสะสมบอนด์มั่งคั่ง (วอลเล็ต สบม.) บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง โดย กค. เป็นผู้จำหน่ายให้ประชาชนโดยตรง ซึ่งเป็นการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับภารกิจของ กค. (MOF Blockchain) ในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล โดยวอลเล็ต สบม. เป็นตัวเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงพันธบัตรออมทรัพย์ของประชาชน ให้มีความสะดวก ทั่วถึง อย่างเท่าเทียม และมีจุดเด่นโดยเป็นการตัดตัวกลางในการซื้อขายพันธบัตรออมทรัพย์ออก และเป็นการออกแบบกระบวนงานใหม่ที่สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป
 		3. ดังนั้น เพื่อให้มีกฎหมายที่ครอบคลุมและรองรับกระบวนงานที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปตามข้อ 1. และ 2. กค. พิจารณาแล้ว จึงเห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการออก การซื้อขาย การโอน และการใช้ตราสารหนี้เป็นหลักประกัน พ.ศ. 2550 โดยเป็นการเพิ่มทางเลือกและเปิดโอกาสให้ กค. บริหารจัดการการกู้เงินและตราสารหนี้ภาครัฐได้อย่างคล่องตัว มีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับความต้องการระดมทุนที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องภายใต้สภาวการณ์ที่มีความผันผวนและความไม่แน่นอนสูง
 		4. กค. โดย สบน. ได้ดำเนินการพิจารณาร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการออก การซื้อขาย การโอน และการใช้ตราสารหนี้เป็นหลักประกัน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
 		5. กค. พิจารณาแล้ว เห็นว่าการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายดังกล่าวมีประโยชน์ ดังนี้
 			5.1 ประโยชน์ต่อภาครัฐ กค. จะมีความคล่องตัวและประสิทธิภาพในการบริหารจัดการการกู้เงินและตราสารหนี้ภาครัฐมากยิ่งขึ้น และสามารถยกระดับกระบวนงานออกพันธบัตรทั้งระบบให้สอดคล้องกับสถานการณ์และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ก่อให้เกิดการลดกระบวนงาน ระยะเวลา และต้นทุนการกู้เงินของภาครัฐ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของภาครัฐในการตอบสนองความต้องการในการเข้าถึงเครื่องมือทางการเงินของประชาชนและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งยังสนับสนุนการสร้างสังคมแห่งการออม ลดความเหลื่อมล้ำ และสอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีตามนโยบายภาครัฐ
 			5.2 ประโยชน์ต่อประชาชน เป็นการช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินได้ด้วยตนเองได้จากทุกพื้นที่อย่างเท่าเทียม และทำให้ประชาชนได้รับบริการที่รวดเร็ว และมีภาระค่าใช้จ่ายน้อยลงในอนาคต
 		สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
 		เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการออก การซื้อขาย การโอน และการใช้ตราสารหนี้เป็นหลักประกัน พ.ศ. 2550 ดังนี้
 		1. กำหนดให้เพิ่ม กค. สามารถทำหน้าที่ตัวแทนการจ่ายเงินสำหรับตราสารหนี้ภาครัฐ และเป็นผู้รับฝากตราสารหนี้ประเภทไร้ใบตราสารได้ (จากเดิมกำหนดให้เฉพาะ ธปท. หรือนิติบุคคลที่ กค. ประกาศกำหนด) รวมทั้งกำหนดให้มีการระบุทะเบียนตราสารหนี้ กรณีตราสารหนี้ประเภทไร้ใบตราสาร เฉพาะชื่อผู้รับฝากตราสารหนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติ (ร่างข้อ 4)
 		2. ปรับปรุงคุณสมบัติของนิติบุคคล (จากเดิมเป็น ?สถาบันการเงิน?) ที่เป็นผู้จัดจำหน่ายตราสารหนี้ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้ ?บริษัทหลักทรัพย์? สามารถยื่นขอเป็นผู้จัดจำหน่ายตราสารหนี้ได้ (ร่างข้อ 5)
 		3. กำหนดเพิ่มวิธีการจัดจำหน่ายตั๋วเงินคงคลังในกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นให้สามารถดำเนินการด้วยวิธีเฉพาะเจาะจงหรือตกลงราคาได้เช่นเดียวกับวิธีการจำหน่ายพันธบัตร และกำหนดรายละเอียดการจัดจำหน่ายตั๋วเงินคลังโดยวิธีการเสนอประมูลอัตราผลตอบแทนและวิธีการเสนอซื้อไว้ในประกาศหรือหลักเกณฑ์ลำดับรองที่รัฐมนตรีว่าการ กค. ประกาศกำหนด (ร่างข้อ 6)
 		4. กำหนดประเภทผู้รับเงินของตั๋วเงินคลังและพันธบัตร ให้ครอบคลุมถึง ?ผู้รับหลักประกันตามที่ตกลงกัน หรือผู้รับตามที่นายทะเบียนกำหนด? เพื่อความชัดเจนและความสะดวกในการบริหารจัดการการใช้เงินของตัวแทนการจ่ายเงินให้สามารถดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องได้โดยสะดวกรวดเร็ว (ร่างข้อ 7 ? ข้อ 8)
		5. กำหนดให้สามารถชำระหนี้ให้กับตราสารหนี้ประเภทมีใบตราสารโดยไม่ต้องนำใบตราสารมาเวนคืน และให้นำหลักการนี้มาใช้กับตราสารหนี้ที่ออกก่อนที่ร่างกฎกระทรวงนี้จะมีผลใช้บังคับด้วย เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้ถือตราสารหนี้ (ร่างข้อ 8 ? ข้อ 10)
 		6. กำหนดให้ร่างกฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

เศรษฐกิจ สังคม

4. เรื่อง โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง และมาตรการคู่ขนาน
 		คณะรัฐมนตรีพิจารณาเรื่องโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง และมาตรการคู่ขนาน ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอแล้วมีมติ ดังนี้
		1. รับทราบความคืบหน้าผลการดำเนินการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง (โครงการประกันรายได้ฯ) และมาตรการคู่ขนาน ปี 2563/64 ตามที่ พณ. เสนอ
 		2. เห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2564/65 กรอบวงเงิน 6,811,282,792 บาท และมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้ฯ ปี 2564/65 ประกอบด้วย โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลัง ปี 2564/65 และโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2564/65 กรอบวงเงิน 56,400,000 บาท โดยค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นและเป็นภาระต่องบประมาณนั้น ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส) จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามผลการดำเนินงานจริงต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
 		3. โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต็อกมันสำปะหลัง ปี 2564/65 เห็นควรให้ พณ. โดยกรมการค้าภายในพิจารณาปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ โอนเงินจัดสรร หรือเปลี่ยนแปลงเงินจัดสรร ตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ. 2562 หรือใช้จ่ายจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร แล้วแต่กรณี หากไม่เพียงพอให้ พณ. ขอรับการจัดสรรงบประมาณตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
 		4. โครงการเพิ่มศักยภาพการแปรรูปมันสำปะหลัง ปี 2564/65 เห็นควรให้กรมการค้าภายในพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่และภารกิจของหน่วยดำเนินการ และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่และภารกิจหลักให้เป็นผู้ดำเนินการ เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรด้านปัจจัยการผลิต ดำเนินการอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ลดภาระค่าใช้จ่ายและความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
 		5. เห็นชอบการให้สิทธิเกษตรกรกลุ่มที่แจ้งปลูกตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2562 ? 31 มีนาคม 2563 และมีช่วงเก็บเกี่ยวตั้งแต่ 8 ? 12 เดือน ซึ่งยังไม่เคยได้รับสิทธิในโครงการประกันรายได้ฯ ปี 2562/63 จำนวนเกษตรกรรวมทั้งสิ้น 84,186 ครัวเรือน พื้นที่ 856,578 ไร่ เข้าร่วมโครงการประกันรายได้ฯ ปี 2563/64 ให้ได้รับการชดเชยส่วนต่างตามรอบระยะเวลาที่แจ้งเก็บเกี่ยวกับกรมส่งเสริมการเกษตร ภายใต้กรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไว้เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 โดยให้กรมส่งเสริมการเกษตรตรวจสอบข้อมูลเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในช่วงเก็บเกี่ยวดังกล่าว จำแนกตามจังหวัด ข้อมูลการลงทะเบียน เงื่อนไขการให้สิทธิ์ และช่วงเวลาการเก็บเกี่ยวของกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งค่าชดเชยส่วนต่างและเกณฑ์ราคาอ้างอิงให้ถูกต้อง ครบถ้วน ชัดเจน และเป็นไปตามข้อเท็จจริงด้วย ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
 	 	โดยให้รับความเห็นหน่วยงานต่าง ๆ ไปพิจารณาดำเนินการตามส่วนที่เกี่ยวข้อง
		สาระสำคัญของเรื่อง
 		พณ. รายงานว่า
 		ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง (นบมส.) ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2564 ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) เป็นประธาน ที่ประชุมมีมติสรุปได้ ดังนี้
 		1. รับทราบความคืบหน้าผลการดำเนินโครงการประกันรายได้ฯ ปี 2563/64 ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2564 และผลการดำเนินมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้ฯ ณ วันที่ 16 สิงหาคม 2564 สรุปได้ ดังนี้
โครงการ	ความคืบหน้า
1. โครงการประกันรายได้ฯ ปี 2563/64 	คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้ฯ ได้พิจารณากำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงและชดเชยส่วนต่างราคาตามโครงการประกันรายได้ฯ แล้วทั้งสิ้น 9 งวด (จ่ายเงินรอบเดือนสิงหาคม 2564) โดย ธ.ก.ส. ได้โอนเงินชดเชยให้เกษตรกรแล้วจำนวน 436,817 ครัวเรือน (ไม่นับซ้ำครัวเรือน) จำนวน 3,057.66 ล้านบาท (ร้อยละ 31.95 ของวงเงินค่าชดเชยส่วนต่างที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ จำนวน 9,570.96 ล้านบาท) คงเหลือวงเงิน 6,513.3 ล้านบาท ทั้งนี้ จะสิ้นสุดการจ่ายเงินงวดสุดท้ายเดือนพฤศจิกายน 2564
2. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร 	มีการจ่ายเงินกู้ จำนวน 6 ราย เป็นเงิน 23.3 ล้านบาท คิดเป็น 9,000 ตัน (จากเป้าหมาย 600,000 ตัน)
3. โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต็อกมันสำปะหลัง	มีผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 75 ราย ปริมาณการเก็บสต็อกสูงสุด (เดือนมีนาคม 2564) 973,778.91 ตัน คิดเป็นหัวมันสดรวม 3.27 ล้านตัน (จากเป้าหมาย 6 ล้านตัน)
4. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลัง 	การจ่ายเงินกู้จำนวน 250 ราย เป็นเงิน 34.11 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5 ของเกษตรกรเป้าหมาย (จากเป้าหมาย 5,000 ราย)
 		 	2. เห็นชอบโครงการประกันรายได้ฯ ปี 2564/65 โดยมีรายละเอียดการดำเนินโครงการฯ ดังนี้
หัวข้อ	รายละเอียด
ชนิดมันสำปะหลังและพื้นที่ดำเนินการ	ประกันรายได้มันสำปะหลัง เชื้อแป้งร้อยละ 25 ในพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศ
เกษตรกรผู้มีสิทธิได้รับการชดเชย	- เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเพาะปลูกมันสำปะหลังกับกรมส่งเสริมการเกษตรและมีช่วงเวลาการเพาะปลูก ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 ? 31 มีนาคม 2565 ซึ่งต้องเป็นเกษตรกรผู้ผลิตมันสำปะหลังด้วยตนเองและกรรมสิทธิ์เป็นของเกษตรกร
- เกษตรกรรับสิทธิได้ในช่วงการเก็บเกี่ยวที่ระบุไว้ในทะเบียนเกษตรกร และแจ้งระยะเวลาเก็บเกี่ยวนับจากวันที่เพาะปลูกไม่น้อยกว่า 8 เดือน แต่ไม่เกิน 12 เดือน1
ราคาและปริมาณประกันรายได้และเกณฑ์กลางอ้างอิง 	- ราคาและปริมาณประกันรายได้ กิโลกรัมละ 2.5 บาท2 ครัวเรือนละไม่เกิน 100 ตัน3 และไม่ซ้ำแปลง
- ใช้ปริมาณผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และเกณฑ์กลางอ้างอิง (ราคาผลผลิต) ตามที่คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้ฯ กำหนด โดยประกาศเกณฑ์กลางอ้างอิงทุกเดือนเป็นระยะเวลา 12 เดือน จ่ายเงินส่วนต่างครั้งแรกในวันที่ 1 ธันวาคม 2564 และจ่ายต่อไปทุกวันที่ 1 ของเดือน เป็นระยะเวลา 12 เดือน4
ระยะเวลาโครงการ	1 พฤศจิกายน 2564 ? 31 พฤษภาคม 2566
กรอบวงเงินและแหล่งที่มา	วงเงินรวม 6,811.28 ล้านบาท ดังนี้
1. ค่าชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาประกันกับราคาอ้างอิง โดยใช้จากแหล่งเงินทุนของ ธ.ก.ส. วงเงิน 6,675.16 ล้านบาท (ธ.ก.ส. จ่ายเงินค่าชดเชยเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง)
2. ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของ ธ.ก.ส. 136.12 ล้านบาท แบ่งเป็น
   2.1 ค่าชดเชยต้นทุนเงินในอัตราต้นทุนเงินของ ธ.ก.ส. ประจำไตรมาส บวก 1 (ร้อยละ 2 ต่อปี) เป็นเงิน 133.5 ล้านบาท
   2.2 ค่าบริหารจัดการรายละ 5 บาท (เกษตรกรเป้าหมาย จำนวน 524,000 ราย) เป็นเงิน 2.62 ล้านบาท
ทั้งนี้ ให้ ธ.ก.ส. ขอจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และในปีถัด ๆ ไปตามที่เกิดขึ้นจริงจากการดำเนินโครงการ
การกำกับดูแล 	- คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้ฯ เป็นผู้กำกับดูแลและเร่งรัดการดำเนินการตามแผนการดำเนินงานที่กำหนด และรายงานความก้าวหน้าปัญหาอุปสรรคในการดำเนินโครงการประกันรายได้ฯ ต่อ นบมส. เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
- คณะอนุกรรมการกำกับดูแลการดำเนินการบริหารจัดการมันสำปะหลัง ระดับจังหวัด ติดตามกำกับดูแลการดำเนินโครงการประกันรายได้ฯ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและให้การค้าเป็นไปตามกลไกปกติ เกิดความเป็นธรรม ไม่กดราคาตลาด และรายงานภาวะราคาซื้อขายมันสำปะหลังในจังหวัดต่อคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้ฯ
 			3. เห็นชอบมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้ฯ ปี 2564/65 สรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ	รายละเอียด
1. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลัง ปี 2564/65
เป้าหมาย 	สนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนในการพัฒนาการผลิตของเกษตรกรโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม รวมทั้งช่วยเหลือเกษตรกรในการเพิ่มผลิตภาพการผลิตและคุณภาพของผลผลิตมันสำปะหลัง รวมทั้งลดต้นทุนการผลิตมันสำปะหลัง
อัตราดอกเบี้ย กรอบวงเงิน และแหล่งที่มา 	- วงเงินสินเชื่อ 690 ล้านบาท (เกษตรกรเป้าหมาย จำนวน 3,000 ราย รายละไม่เกิน 230,000 บาท)
- ดอกเบี้ยเงินกู้ตามโครงการอัตราร้อยละ 6.5 ต่อปี โดยคิดจากผู้กู้ในอัตราร้อยละ 3.5 ต่อปี และรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี เป็นระยะเวลาไม่เกิน 24 เดือน นับแต่วันรับเงินกู้ แต่ไม่เกินวันที่ 30 กันยายน 2567 คิดเป็นงบประมาณ 41.4 ล้านบาท
- ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีของกระทรวงการคลัง (กค.)
ระยะเวลาดำเนินการ	- ระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564 ? 31 ตุลาคม 2567
- ระยะเวลาการจ่ายเงินกู้ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564 ? 30 กันยายน 2565
- ระยะเวลาชดเชยดอกเบี้ย (24 เดือน) นับแต่วันรับเงินกู้ แต่ไม่เกินวันที่ 30 กันยายน 2567
2. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2564/65
เป้าหมาย 	สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกรที่มีการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับมันสำปะหลัง หรือสถาบันเกษตรกรที่มีสมาชิกประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์เป็นหลัก (สำหรับกรณีใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์) เพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการรวบรวมหรือรับซื้อหัวมันสำปะหลังสด มันสำปะหลังเส้นเพื่อจำหน่ายต่อ และ/หรือแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม
อัตราดอกเบี้ย กรอบวงเงิน และแหล่งที่มา	- วงเงินสินเชื่อ 500 ล้านบาท โดยใช้เงินทุนของ ธ.ก.ส.
- ดอกเบี้ยเงินกู้ตามโครงการอัตราร้อยละ 4 ต่อปี โดยคิดจากสถาบันเกษตรกรในอัตราร้อยละ 1 ต่อปี และรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี เป็นระยะเวลาไม่เกิน 12 เดือน นับแต่วันรับเงินกู้ แต่ไม่เกินวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 คิดเป็นงบประมาณ 15 ล้านบาท
- ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีของ กค.
ระยะเวลาดำเนินการ 	- ระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ? 30 มิถุนายน   2566
- ระยะเวลาการจ่ายเงินกู้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ? 31 พฤษภาคม 2565
- ระยะเวลาชดเชยดอกเบี้ย (ไม่เกิน 12 เดือน) นับแต่วันรับเงินกู้ แต่ไม่เกินวันที่ 31 พฤษภาคม 2566
3. โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต็อกมันสำปะหลัง ปี 2564/65
เป้าหมาย 	สนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการแปรรูปมันสำปะหลัง (ลานมัน/โรงแป้ง/โรงงานเอทานอล) เพื่อรับซื้อหัวมันสำปะหลังสด หรือมันเส้น และแปรรูปเก็บสต็อกในรูปแบบมันเส้น/แป้งมัน เป็นระยะเวลา 60 ? 180 วัน เพื่อดูดซับผลผลิตในช่วงที่ออกสู่ตลาดมาก เกิดการแข่งขันรับซื้อ ส่งผลให้ราคามันสำปะหลังที่เกษตรกรได้รับมีเสถียรภาพ
ระยะเวลาดำเนินการ	- ระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ? 31 ตุลาคม 2566
- ระยะเวลาการรับซื้อมันสำปะหลังหรือมันเส้น ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564 ? 30 เมษายน 2565
- ระยะเวลาการเก็บสต็อก ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564 ? 31 ตุลาคม 2565
4. โครงการเพิ่มศักยภาพการแปรรูปมันสำปะหลัง ปี 2564/65
เป้าหมาย	สนับสนุนเงินทุนให้แก่กลุ่มเกษตรกรเป้าหมาย (วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน หรือ กลุ่มเกษตรกรอื่นที่อยู่ภายใต้การรับรองจากหน่วยงานภาครัฐ) ในการจัดหาเครื่องสับมันสำปะหลังขนาดเล็กพร้อมเครื่องยนต์และอุปกรณ์การตากมันเส้น เพื่อพัฒนาคุณภาพและกระบวนการแปรรูปมันสำปะหลัง ให้เกษตรกรสามารถแปรรูปหัวมันสำปะหลังสดเป็นมันเส้นได้ด้วยตนเอง
ระยะเวลาโครงการ 	ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 ? กันยายน 2565
 		 	4. เห็นชอบการให้สิทธิเกษตรกรกลุ่มที่แจ้งปลูกตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ? 31 มีนาคม 2563 และมีช่วงเก็บเกี่ยวตั้งแต่ 8 ? 12 เดือน รวมทั้งยังไม่เคยได้รับสิทธิในโครงการประกันรายได้ฯ ปี 2562/63 จำนวนเกษตรกรรวมทั้งสิ้น 84,186 ครัวเรือน พื้นที่ 856,578 ไร่ เข้าร่วมโครงการฯ ปี 2563/64 โดยให้ได้รับการชดเชยส่วนต่างตามรอบระยะเวลาที่แจ้งเก็บเกี่ยวกับกรมส่งเสริมการเกษตร ภายใต้กรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไว้เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 ทั้งนี้ ประมาณการวงเงินที่จะต้องใช้ประมาณ 604.16 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมกับค่าชดเชยส่วนต่างราคาที่ได้จ่ายไปแล้วและประมาณการค่าชดเชยส่วนต่างราคาอีก 4 งวดที่เหลือ จะไม่เกินจากกรอบวงเงินค่าชดเชยส่วนต่างราคาที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี
ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) และกรมการค้าภายใน พณ.
1 มันสำปะหลังสามารถปลูกและอยู่ในดินได้นานถึง 2 ปี แต่ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะทำให้ผลผลิตออกมามีคุณภาพและมีร้อยละแป้งในระดับที่ดี จะต้องมีระยะเวลาในการปลูกไม่น้อยกว่า 8 เดือน
2 การปลูกมันสำปะหลังมีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.85 บาทต่อกิโลกรัม ครอบคลุมค่าเตรียมดิน ค่าพันธุ์มันสำปะหลัง ค่าปุ๋ย ค่ายาปราบศัตรูพืชและวัชพืช และค่าเก็บเกี่ยวรวบรวม
3 ปริมาณ 100 ตัน คำนวณจากผลผลิตเฉลี่ยของเกษตรกรตามที่คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้ฯ กำหนด คูณด้วยพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังของเกษตรกร หากปริมาณผลผลิตของเกษตรกรรายใดผลออกมามีมากกว่า 100 ตัน จะจ่ายส่วนต่างราคาให้เพียง 100 ตัน
4 คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้ฯ จะประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงก่อนที่จะมีการจ่ายเงินส่วนต่างทุกวันที่ 1 ของแต่ละเดือน โดยปกติจะประกาศประมาณ 3 ? 7 วัน ก่อนที่จะดำเนินการจ่ายเงินส่วนต่าง

5. เรื่อง โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2564/65 และมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2564/65
		คณะรัฐมนตรีพิจารณา เรื่อง โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2564/65 และมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2564/65 ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ แล้วมีมติดังนี้
 		1. รับทราบผลความคืบหน้าการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2563/64 ตามที่ พณ. เสนอ
 		2. อนุมัติในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2564/65 กรอบวงเงิน 1,863,508,223.20 บาท และมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2564/65 ในโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2564/65 กรอบวงเงิน 30,000,000 บาท โดยค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นและเป็นภาระต่องบประมาณนั้น ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามผลการดำเนินงานตริงต่อไป สำหรับโครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต็อกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2564/65 วงเงิน 15,000,000 บาท เห็นควรให้ พณ. โดยกรมการค้าภายในพิจารณาปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ โอนเงินจัดสรร หรือเปลี่ยนแปลงเงินจัดสรร ตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ. 2562 หรือใช้จ่ายจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร แล้วแต่กรณี หากไม่เพียงพอ ให้ พณ. ขอรับการจัดสรรงบประมาณตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
 		โดยให้รับความเห็นหน่วยงานต่าง ๆ ไปพิจารณาดำเนินการตามส่วนที่เกี่ยวข้อง
		สาระสำคัญของเรื่อง
 	 	พณ. รายงานว่า
 		คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564 ที่มีรองนายกรัฐมนตรี (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) เป็นประธานมีมติ ดังนี้
 		1. รับทราบความคืบหน้าผลการดำเนินการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมาตรการคู่ขนาน ปี 2563/64 รายละเอียด ดังนี้
โครงการ	ความคืบหน้า
1. โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2563/64	คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการฯ ได้พิจารณากำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงและชดเชยส่วนต่างทั้งสิ้น 9 งวด (ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 ธ.ก.ส. ได้โอนเงินชดเชยให้เกษตรกรแล้ว จำนวน 314,568 ครัวเรือน จำนวนเงิน 1,233.25 ล้านบาท ร้อยละ 66.02) คงเหลือวงเงิน 634.67 ล้านบาท โดยในงวดที่ 5 ? 6 และ 8 ? 9  ไม่มีการจ่ายเงินชดเชยเนื่องจากราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงสูงกว่าราคาเป้าหมาย
2. มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2563/64
2.1 โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร 	โดย ธ.ก.ส. ได้จ่ายเงินกู้ให้สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจำนวน 23 ราย เป็นเงิน 410 ล้านบาท คิดเป็นปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 51,000 ตัน (จากเป้าหมาย 200,000 ตัน)
2.2 โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต็อกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 	มีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 25 ราย ปริมาณการเก็บสต็อกสูงสุด 104,854.91 ตัน (จากเป้าหมาย 200,000 ตัน)
 		2. เห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2564/65 รายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ	รายละเอียด
เป้าหมาย 	ประกันรายได้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ชนิดเมล็ด ณ ความชื้นร้อยละ 14.5 ทั่วประเทศ1 ยกเว้นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่แจ้งขึ้นทะเบียนเพาะปลูกเพื่อผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้
เกษตรกรผู้มีสิทธิได้รับการชดเชย 	เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กับกรมส่งเสริมการเกษตร โดยแจ้งเพาะปลูกตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2564 ถึง 31 พฤษภาคม 25652 (ใช้เวลาเพาะปลูกประมาณ 3 เดือน) รวมทั้งต้องเป็นเกษตรกรผู้ผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ด้วยตนเองและกรรมสิทธิ์เป็นของเกษตรกร
ราคาประกันเกณฑ์กลางอ้างอิงและการจ่ายเงิน 	- กิโลกรัมละ 8.5 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ และไม่ซ้ำแปลง
- ใช้ปริมาณผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ และเกณฑ์กลางอ้างอิง (ราคาผลผลิต) ตามที่คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการฯ กำหนด โดยประกาศเกณฑ์กลางอ้างอิงทุกเดือนเป็นระยะเวลา 12 เดือน เริ่มจ่ายงวดแรกในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2564 และจ่ายงวดต่อไปทุกวันที่ 20 ของเดือน จนถึงงวดสุดท้ายในวันที่ 20 ตุลาคม 2565 (รวม 12 งวด)
- ธ.ก.ส. จ่ายเงินชดเชยเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรงตามช่วงระยะเวลาที่กำหนดภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันที่คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการฯ ประกาศราคาเกณฑ์อ้างอิงในแต่ละรอบ โดยเกษตรกรไม่ต้องทำสัญญาประกันรายได้กับ ธ.ก.ส.
ระยะเวลาโครงการ	1 พฤศจิกายน 2564 ? 30 เมษายน 2566
การกำกับดูแล 	- คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการฯ เป็นผู้กำกับดูแลและเร่งรัดการดำเนินการตามแผนการดำเนินงานที่กำหนด และรายงานความก้าวหน้า ปัญหาอุปสรรค ต่อ นบขพ. เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาโครงการฯ ให้มีประสิทธิภาพ บรรลุตามวัตถุประสงค์ต่อไป
- คณะอนุกรรมการกำกับดูแลการดำเนินการบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ระดับจังหวัด ติดตาม กำกับดูแลการดำเนินโครงการฯ ให้การค้าเป็นไปตามกลไกปกติ เกิดความเป็นธรรม ไม่กดราคาตลาด รวมทั้งรายงานภาวะราคาซื้อขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในจังหวัดต่อคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการฯ
		3. เห็นชอบมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2564/65 รวม 2 โครงการ รายละเอียด ดังนี้
หัวข้อ	รายละเอียด
1. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2564/65
เป้าหมาย 	เพื่อดูดซับผลผลิตในช่วงที่ผลผลิตออกมากเป้าหมาย 150,000 ตัน โดยการสนับสนุนสินเชื่อแก่สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการรวบรวมหรือรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเกษตรกรเพื่อจำหน่ายหรือสร้างมูลค่าเพิ่ม
กรอบวงเงิน แหล่งที่มา และอัตราดอกเบี้ย 	- วงเงินสินเชื่อ 1,000 ล้านบาท โดยใช้เงินทุน ธ.ก.ส. และรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ย กรอบวงเงิน 30 ล้านบาท โดยเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีของกระทรวงการคลัง (กค.) ต่อไป
- ดอกเบี้ยเงินกู้ตามโครงการอัตราร้อยละ 4 ต่อปี โดยคิดจากผู้กู้ในอัตราร้อยละ 1 ต่อปี และรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. ในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี
ระยะเวลาดำเนินการ 	- ระยะเวลาดำเนินโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 ? 30 มิถุนายน 2566
- ระยะเวลาการจ่ายเงินกู้ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 ? 31 พฤษภาคม 2565
- กำหนดชำระคืนเงินกู้ ไม่เกิน 12 เดือนนับแต่วันที่กู้เงิน ทั้งนี้ ต้องชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นไม่เกินวันที่ 31 พฤษภาคม 2566
- ระยะเวลาชดเชยดอกเบี้ยไม่เกิน 12 เดือน นับแต่วันที่กู้เงิน และต้องไม่เกินวันที่ 31 พฤษภาคม 2566
2. โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต็อกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2564/65
เป้าหมาย 	เพื่อดึงผลผลิตส่วนเกินออกจากตลาดในช่วงที่ผลผลิตออกมากโดยไม่แทรกแซงกลไกตลาด เป้าหมาย 200,000 ตัน โดยสนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการให้รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเกษตรกร โดยไม่ต้องเร่งระบายผลผลิตและเก็บสต็อกไว้ในรูปแบบชนิดเมล็ดเป็นระยะเวลา 60 ? 120 วัน
ระยะเวลาดำเนินการ 	- ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่กันยายน 2564 - กันยายน 2565
- ระยะเวลาการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเกษตรกรเพื่อเก็บสต็อก ตั้งแต่เดือนตุลาคม ? ธันวาคม 2564
- ระยะเวลาการเก็บสต็อกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 60 ? 120 วัน นับจากวันที่รับซื้อ
1 พณ. คาดการณ์จำนวนเกษตรกรเป้าหมายจากจำนวนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั่วประเทศประมาณ 452,000 ราย
2 การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แบ่งเป็น 2 รุ่น ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่นที่ 1 (ฤดูฝน) มีช่วงเวลาการปลูกตั้งแต่เดือนเมษายน ? กรกฎาคม เก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงเดือนกรกฎาคม - ตุลาคม และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่นที่ 2 (ฤดูแล้ง) มีช่วงเวลาการปลูกตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ? กุมภาพันธ์ เก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ? พฤษภาคม โดยส่วนใหญ่เกษตรกรนิยมปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่นที่ 1 เนื่องจากเป็นการปลูกช่วงหลังการปลูกข้าวนาปี

6. เรื่อง ผลการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดระบบศูนย์ราชการ ครั้งที่ 1/2564
		คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ เห็นชอบ อนุมัติ ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการอำนวยการจัดระบบศูนย์ราชการ (กศร.) เสนอดังนี้
 		1. รับทราบผลการประชุม กศร. ครั้งที่ 1/2564
 		2. เห็นชอบผลการพิจารณาของ กศร. ที่ได้มีมติที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาแนวทางการปรับปรุงกลไกการดำเนินงานของ กศร. การพิจารณาแผนการใช้ที่ดิน และผังแม่บทศูนย์ราชการกระทรวงมหาดไทย (ศูนย์ราชการ มท.) ดังนี้
 			2.1 อนุมัติให้ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการอำนวยการจัดระบบศูนย์ราชการ พ.ศ. 2539 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ) โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) ดำเนินการยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ แล้วปรับปรุงเป็นคำสั่งหรือประกาศระดับกระทรวงแทน และมอบหมายให้ มท. ดำเนินการปรับปรุงเป็นคำสั่งหรือประกาศในระดับกระทรวงที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นองค์ประกอบ ซึ่งจะทำให้การขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์ของรัฐและการบริหารจัดการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เกิดความคล่องตัวในการดำเนินงาน สอดคล้องต่อภารกิจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และยังคงมีการถ่วงดุลในการพิจารณาการจัดระบบศูนย์ราชการ
 			2.2 อนุมัติในหลักการแผนการใช้ที่ดินและผังแม่บทศูนย์ราชการ มท. ตามที่คณะอนุกรรมการพิจารณาสถานที่ทำงานของหน่วยงานราชการในเขตกรุงเทพมหานครและเมืองหลัก (คณะอนุกรรมการพิจารณาสถานที่ทำงานฯ) เสนอ ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการในระยะต่อไปเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเห็นควรมอบหมายให้ มท. ดำเนินการปรับแผนการดำเนินโครงการก่อสร้างศูนย์ราชการ มท. แห่งใหม่ ให้สอดคล้องกับแผนการใช้จ่ายเงินงบประมาณ และจัดทำรายละเอียดการดำเนินงานในระยะต่อไปให้ชัดเจน พร้อมทั้งอนุมัติให้ มท. เร่งดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2550 เรื่อง หลักเกณฑ์การยกเลิกการเข้าใช้พื้นที่ศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร (ศูนย์ราชการฯ) ถนนแจ้งวัฒนะ เนื่องจากที่ทำการของกรมการพัฒนาชุมชนและกรมที่ดิน ในปัจจุบันมีที่ตั้งอยู่ศูนย์ราชการฯ พื้นที่โซนบี ถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อที่กรมธนารักษ์จะได้ดำเนินการจัดสรรพื้นที่ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ และเร่งหาหน่วยงานอื่นที่มีความต้องการใช้พื้นที่มาทดแทนหน่วยงานที่ขอยกเลิกการใช้ เพื่อให้การใช้ประโยชน์พื้นที่ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและคุ้มค่าต่อการลงทุนของภาครัฐ

7. เรื่อง  ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ยุทธศาสตร์และข้อเสนอแนวทางในการจัดทำหลักสูตรอาชีวศึกษาฐานสมรรถนะ เพื่อรองรับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา
 		คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ยุทธศาสตร์และข้อเสนอแนวทางในการจัดทำหลักสูตรอาชีวศึกษาฐานสมรรถนะ เพื่อรองรับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
 		สาระสำคัญของเรื่อง
 		ศธ. เสนอผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ยุทธศาสตร์และข้อเสนอแนวทางในการจัดทำหลักสูตรอาชีวศึกษาฐานสมรรถนะ เพื่อรองรับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา ซึ่งได้พิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยสรุปผลการพิจารณาได้ว่า ขณะนี้ ศธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการการศึกษาฯ สรุปได้ดังนี้
 		(1) โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ควรสรุปความต้องการกำลังคนให้ชัดเจน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้มีการบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเกี่ยวกับการวางแผนผลิตและพัฒนากำลังคน โดยสถานประกอบการร่วมออกแบบและสร้างหลักสูตรเพื่อให้ครูผู้สอน นักเรียน นักศึกษามีทักษะและสมรรถนะตรงตามความต้องการของสถานประกอบาร
 		(2) การกระจายอำนาจให้สถาบันอาชีวศึกษาในการพัฒนาหลักสูตร มีการประเมินความพร้อมของสถานศึกษา อาชีวศึกษาในการจัดการเรียนการสอน มีแผนในการพัฒนาครูในการจัดการเรียนการสอน หลักสูตรต้องสอดคล้องกับความต้องการกำลังคนของโครงการ ได้เปิดโอกาสให้สถาบันการอาชีวศึกษาและสถานศึกษาสามารถพัฒนาหลักสูตรใหม่หรือปรับปรุงหลักสูตรเดิมได้ โดยการส่งเสริม สนับสนุน ให้คำปรึกษา แนะนำ ตลอดจนกำกับดูแลการดำเนินการให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานคุณวุฒิอาชีวศึกษา
 	 	 (3) การมีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรของกลุ่มอาชีพ ภาคประกอบการและสถานประกอบการ ได้ทำความร่วมมือและบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในการจัดการศึกษาในหลักสูตรที่เป็นความต้องการของสถานประกอบการ ซึ่งขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เพื่อให้สถานศึกษาอาชีวศึกษาสามารถพัฒนาผู้เรียนให้เกิดทักษะและสามารถนำองค์ความรู้ไปใช้ในการประกอบอาชีพได้หลังสำเร็จการศึกษา
 		 (4) การจัดเตรียมกำลังคนเพื่อรองรับการลงทุนในโครงการฯ ในอนาคต ได้ทำความร่วมมือและบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในการนำร่องเพื่อจัดการศึกษาในหลักสูตรที่เป็นความต้องการของสถานประกอบการ ทั้งนี้ ได้จัดการเรียนการสอนในระบบทั้งหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง และหลักสูตรระยะสั้นฐานสมรรถนะ ซึ่งมีนโยบายและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาอาชีวศึกษาสู่ความเป็นเลิศ เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนในสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 พัฒนาผู้เรียนให้เกิดทักษะและสามารถนำองค์ความรู้ไปใช้ในการประกอบอาชีพได้หลังสำเร็จการศึกษา


8. เรื่อง โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 พร้อมมาตรการคู่ขนาน และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65
   		คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 และมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รวม 3 โครงการ  ประกอบด้วย (1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2564/65 (2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2564/65 (3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2564/65 วงเงินจ่ายขาดเบื้องต้น รวมทั้งสิ้น 18,000 ล้านบาท ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เสนอเพิ่มเติม ส่วนรายละเอียดการเบิกจ่ายงบประมาณ ให้กระทรวงพาณิชย์ (พณ.)  (กรมการค้าภายใน) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินการตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

ต่างประเทศ

9. เรื่อง การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากเรือ ภาคผนวก 5 ว่าด้วยกฎข้อบังคับสำหรับการป้องกันมลพิษจากขยะบนเรือ (MARPOL Annex V)
	คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากเรือ ภาคผนวก 5 ว่าด้วยกฎข้อบังคับสำหรับการป้องกันมลพิษจากขยะบนเรือ (MARPOL Annex V) และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา แล้วเสนอรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการจัดทำภาคยานุวัติสาร ( instrument of Accession) เพื่อเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากเรือ ภาคผนวก 5 ว่าด้วยกฎข้อบังคับสำหรับการป้องกันมลพิษจากขยะบนเรือว่าด้วยกฎข้อบังคับสำหรับการป้องกันมลพิษจากขยะบนเรือ (MARPOL Annex V) และยื่นต่อเลขาธิการองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ภายหลังจากได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาและร่างพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่..) พ.ศ. .... เพื่อรับรองพันธกรณีตามอนุสัญญาดังกล่าวได้ประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายแล้ว รวมทั้งให้กระทรวงคมนาคมรับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วยตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ
	สาระสำคัญของเรื่อง
		อนุสัญญา MARPOL Annex V ได้วางหลักเกณฑ์มาตรฐานและข้อกำหนดระหว่างประเทศในการป้องกันมลพิษจากขยะบนเรือรวมทั้งกำหนดสิทธิและหน้าที่ของรัฐภาคีในการบังคับการปฏิบัติตามข้อกำหนดของภาคผนวกนี้ เช่น กำหนดข้อห้ามทั่วไปของการปล่อยทิ้งขยะลงในทะเล เว้นแต่จะเป็นไปตามที่กำหนด การทิ้งขยะนอกพื้นที่ที่กำหนดพิเศษ การทิ้งขยะจากแท่น การทิ้งขยะในพื้นที่พิเศษ กำหนดกรณียกเว้นที่สามารถปล่อยทิ้งขยะจากเรือได้ หากกระทำเพื่อรักษาความปลอดภัยของเรือและบุคคลบนเรือ หรือเพื่อการช่วยชีวิตในทะเล กำหนดให้รัฐภาคีจะต้องจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับของเสียในท่าเรือและสถานีขนส่ง กำหนดอำนาจของรัฐ เจ้าของเมืองท่าด้านข้อกำหนดเกี่ยวกับการปฏิบัติงาน
	ทั่งนี้ การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากเรือ ภาคผนวก 5 ว่าด้วยกฎข้อบังคับสำหรับการป้องกันมลพิษจากขยะบนเรือ (MARPOL Annex V) ที่กระทรวงคมนาคมเสนอเป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีของไทยตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค. ศ. 1982 ซึ่งอนุสัญญาฯ เป็นการวางหลักเกณฑ์ มาตรฐานและข้อกำหนดระหว่างประเทศในการป้องกันมลพิษจากขยะบนเรือ รวมทั้งกำหนดสิทธิและหน้าที่ของรัฐภาคี ในการบังคับการปฏิบัติตามข้อกำหนดของภาคผนวกนี้ โดยได้มีการจัดทำร่างพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อรองรับพันธกรณีตามอนุสัญญาฯ ดังกล่าวแล้ว ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (23 พฤษภาคม 2560) อนุมัติหลักการ ร่างพระราชกำหนดการเดินเรือ พ.ศ. .... และต่อมาสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ยกร่างพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยกำหนดหลักเกณฑ์และสาระสำคัญของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันมลพิษทางเรือภาคผนวก 5 ว่าด้วยกฎข้อบังคับสำหรับการป้องกันมลพิษจากขยะบนเรือ (MARPOL Annex V) มาประกอบการพิจารณาในการยกร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว นอกจากนี้การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ จะเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในเรื่องการจัดการขยะในทะเลของประเทศไทยและช่วยลดปัญหามลพิษจากขยะทางทะเลในภูมิภาคอาเซียน ส่งผลให้ประเทศไทยมีกฎหมายเพื่อคุ้มครองและรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการกำกับดูแลการทิ้งขยะจากเรือและแท่นลงทะเลให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากลทำให้นานาประเทศมีความเชื่อมั่นในการดำเนินการของประเทศไทยและทำให้เรือไทยเป็นที่ยอมรับซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาด้านการพาณิชยนาวีของประเทศไทยโดยรวม

10. เรื่อง การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญา มินามาตะ ว่าด้วยปรอท สมัยที่ 4 ในรูปแบบออนไลน์
		คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบองค์ประกอบคณะผู้แทนไทยสำหรับการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท สมัยที่ 4 ในรูปแบบออนไลน์ และเห็นชอบต่อกรอบการเจรจาและท่าทีของประเทศไทยสำหรับการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญามินามาตะฯ สมัยที่ 4 ในรูปแบบออนไลน์ ทั้งนี้หากมีข้อเจรจาใดที่นอกเหนือจากกรอบการเจรจาฯ และไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ( legally binding) ต่อประเทศไทย ให้เป็นดุลยพินิจของหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเป็นผู้พิจารณา โดยไม่ต้องนำกลับเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาใหม่ จนสิ้นสุดการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญามินามาตะฯ ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 ในรูปแบบออนไลน์ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
		สาระสำคัญ
		1. องค์ประกอบคณะผู้แทนไทยที่จะเข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญามินามาตะฯ สมัยที่ 4 ระหว่างวันที่ 1 - 5 พฤศจิกายน 2564 ในรูปแบบออนไลน์ รวมทั้งสิ้น 48 คน ประกอบด้วย (1) อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ หัวหน้าคณะผู้แทนไทย (2) รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ผู้กล่าวข้อเสนอและความเห็นของคณะผู้แทนไทย  (3) ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะอนุกรรมการอนุสัญญามินามาตะฯ (4) ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม (5) ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข (6) ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ (7) ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ (8) ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (9) ผู้แทนกระทรวงการคลัง (10) ผู้แทนกระทรวงพลังงาน (11) ผู้แทนสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และ               (12) ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อนุมัติองค์ประกอบคณะผู้แทนไทยด้วยแล้ว
		2. กรอบการเจรจา และท่าทีของประเทศไทยสำหรับการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญามินามาตะฯ                          สมัยที่ 4 ระหว่างวันที่ 1-5 พฤศจิกายน 2564 ในรูปแบบออนไลน์ ประกอบด้วย 1) กรอบการเจรจาของประเทศไทยสำหรับการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญามินามาตะฯ สมัยที่ 4 ระหว่างวันที่ 1 - 5 พฤศจิกายน 2564 ผ่านระบบออนไลน์ 2) ประเด็นทรัพยากรและกลไกทางการเงิน 3) ประเด็นการรายงานระดับชาติ 4) ประเด็นการประเมินความมีประสิทธิผล 5) ประเด็นแผนงานและงบประมาณของสำนักเลขาธิการ โดยกรอบการเจรจาฯ ประกอบด้วย                         (1) สนับสนุนการดำเนินงานให้เป็นไปตามหลักการและจุดมุ่งหมายของอนุสัญญามินามาตะฯ ในการปกป้องสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากการปลดปล่อยสู่บรรยากาศ และการปล่อยสู่ดินหรือน้ำของปรอทและสารประกอบปรอทจากกิจกรรมของมนุษย์ (2) คำนึงถึงสภาพการณ์ต่าง ๆ และความต้องการจำเพาะของประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มขีดความสามารถในระดับประเทศด้านการจัดการสารเคมีอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดวงจร โดยผ่านการให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิค และทางด้านการเงิน การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคีต่าง ๆ (3) คำนึงถึงขีดความสามารถและสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจของแต่ละประเทศในการดำเนินตามอนุสัญญามินามาตะฯ และสะท้อนหลักการความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่างกัน (4) สนับสนุนความร่วมมือและการบูรณาการร่วมกันในการดำเนินงานตามพันธกรณี ข้อตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องที่ประเทศไทยเป็นภาคีและข้อตกลงที่สอดคล้องกับศักยภาพ และขีดความสามารถของประเทศ และ (5) สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564) รวมทั้งแผนปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขและด้านสังคม และแผนยุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2555 - 2564) ซึ่งเป็นไปตามหลักการและแนวทางเดียวกันกับกรอบการเจรจาของประเทศไทยในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญามินามาตะฯ สมัยที่ 3 ในปี 2562 ซึ่งผ่านการพิจารณาและเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 และได้ปรับปรุงตามความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ เรียบร้อยแล้ว

11.  เรื่อง ผลการประชุม ?The 13th  Inclusive Framework on BEPS?
		คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุม ?The 13th  Inclusive Framework on BEPS? และการตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาผลกระทบของข้อเสนอการจัดเก็บภาษีในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (The Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD)) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
		สาระสำคัญของการประชุม ?The 13th  Inclusive Framework on BEPS?
		OECD ได้นำเสนอกรอบข้อเสนอแนวทางการจัดเก็บภาษีในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลของ OECD                   ฉบับปรับปรุง (Revised Inclusive Framework Statement) และแผนการนำไปปฏิบัติ (Detailed Implementation Plan) ต่อที่ประชุม ?The 13th  Inclusive Framework on BEPS? ในวันที่ 8 ตุลาคม 2564 โดยมีสาระสำคัญสรุป ดังนี้
		1. กรอบข้อเสนอแนวทางการจัดเก็บภาษีในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลของ OECD ฉบับปรับปรุง (Revised Inclusive Framework Statement) เช่น 1)  Pillar 1 หลักการ : การกำหนดหลักการการจัดเก็บภาษาตามมาตรฐานสากลด้วยการจัดเก็บภาษีตามสัดส่วนการปันกำไร (เรียกว่า Amount A) ของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่หรือ Multi-National Enterprises (MNEs) มายังประเทศแหล่งเงินได้ โดยกำหนดสัดส่วนของกำไรที่จะต้องแบ่งให้ประเทศที่ผู้ใช้งานอยู่ในการจัดเก็บภาษี โดยพิจารณาจุดเกาะเกี่ยวทางเศรษฐกิจจากยอดรายได้จากประเทศแหล่งเงินได้ โดยแบ่งสัดส่วนการจัดเก็บภาษี (Allocating Taxing Right) ไปยังประเทศผู้ใช้งานร้อยละ 25 ของส่วนกำไรที่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ 2) Pillar 2 หลักการ : การกำหนดให้ธุรกิจมีการเสียภาษีขั้นต่ำ (Minimum Tax) อยู่ที่ร้อยละ 15 โดยหากมีการเสียภาษีในประเทศที่มีบริษัทในเครือไปทำธุรกิจในอัตราต่ำกว่าอัตราภาษีขั้นต่ำ ประเทศที่บริษัทแม่ตั้งอยู่สามารถเก็บภาษีได้เพิ่มเติมจากส่วนต่างระหว่างอัตราภาษีที่เสียและอัตราภาษีขั้นต่ำ
		2. ผลการประชุม ?The 13th  Inclusive Framework on BEPS?
			1) OECD ได้แจ้งผลของการประชุมว่า ณ ปัจจุบัน มีประเทศสมาชิกทั้งหมด 136 ประเทศ จาก 140 ประเทศสมาชิกที่เห็นด้วยหรือไม่คัดค้านต่อกรอบ Revised Inclusive Framework Statement
			2) ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 136 ประเทศที่เห็นด้วยหรือไม่คัดค้านต่อกรอบข้อเสนอฯ ดังกล่าว แต่ได้ให้ข้อสังเกตในประเด็นสำคัญ ดังนี้
				(1) กลไกการป้องกันและแก้ไขข้อพิพาท (Tax Certainty) เห็นควรมีกลไกหรือกระบวนการให้สรรพากรประเทศที่มีส่วนได้เสียเข้ามามีส่วนร่วม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการตาม Pillar 1 ต้องไม่กระทบสิทธิในการดำเนินการตามกฎหมายภายในเดิมที่มีการบังคับใช้
				(2) เรื่อง Carve Out เห็นควรให้มีการยกเว้นรายได้ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีซึ่งเป็นการดำเนินกิจกรรมที่มีความสำคัญออกจากการคำนวณอัตราภาษีที่จ่ายจริงภายใต้ Pillar 2 และมาตรการส่งเสริมการลงทุนควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประเทศกำลังพัฒนาที่จะดำเนินการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
				(3) กรอบระยะเวลา (Timeline) ของการนำ Pillar 1 และ Pillar 2 ไปปฏิบัติตามที่ OECD เสนอนั้นมีความท้าทายต่อการนำไปปฏิบัติ เนื่องจากต้องอาศัยการแก้ไขกฎหมายภายในของแต่ละประเทศ รวมทั้งการจัดทำความตกลงแบบพหุภาคี สำหรับประเทศไทยจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ และมีกระบวนการในการจัดทำความตกลง ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ
			ทั้งนี้ ทางกระทรวงการคลังขอให้ OECD นำข้อสังเกตไปใช้ในการจัดทำรายละเอียดของข้อเสนอ Pillar 1 และ Pillar 2 ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ต่อไป
		3. สำหรับการดำเนินการขั้นถัดไป OECD แจ้งว่า ในส่วนของการนำ Pillar 1 และ Pillar 2 ไปปฏิบัติจะได้มีการให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในการนำไปปฏิบัติ เช่น การให้คำแนะนำเชิงเทคนิค (Technical Assistance) การประชุมสัมมนา e ? Learning การให้ความช่วยเหลือผ่านโครงการให้ความช่วยเหลือด้านการตรวจสอบภาษีระหว่างประเทศ (Tax Inspector without Borders : TIWB) เป็นต้น

12. เรื่อง สรุปผลการประชุม The 8th ASEAN Ministerial Meeting on Minerals: The 8th AMMin และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
		คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุม The 8th ASEAN Ministerial Meeting on Minerals: The 8th AMMin และการประชุมที่เกี่ยวข้องตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ
		สาระสำคัญของผลการประชุม The 8th AMMin และการประชุมที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ ดังนี้
		1. วันที่ 4 ตุลาคม 2564 การประชุม The 2nd Board of Judges for the 3rd ASEAN Mineral Awards: The 2nd BOJ for the 3rd AMA เพื่อพิจารณากรอบระยะเวลาการดำเนินงาน (Timeline) และแนวทางการพิจารณาภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งที่ประชุมฯ เห็นพ้องให้มีการมอบรางวัล AMA  ครั้งที่ 3 ให้ผู้ประกอบการด้านเหมืองแร่ดีเด่นระดับอาเซียนในปี 2566 ในคราวการประชุม The 9th AMMin โดยเบื้องต้นมีกำหนดเชิญผู้ประกอบการสมัครรับรางวัลในเดือนธันวาคม 2565 สำหรับหลักเกณฑ์พิจารณามอบรางวัล              ที่ประชุมฯ เห็นควรใช้หลักเกณฑ์เดิม โดยเพิ่มเติมให้ผู้ประกอบการนำเสนอผลการดำเนินงานที่ผ่านมาเป็นระยะเวลา 4 ปี (จากเดิม 3 ปี) ทั้งนี้ หากสถานการณ์ COVID-19 ยังไม่คลี่คลาย การพิจารณามอบรางวัลอาจต้องปรับเปลี่ยนเป็นรูปแบบออนไลน์เต็มรูปแบบ หรือแบบผสม (Hybrid) แล้วแต่ความรุนแรงของสถานการณ์
		2. วันที่ 5 ตุลาคม 2564 การประชุม The 2nd ASEAN-IGF Forum 2021 ภายใต้หัวข้อเหมืองแร่กับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Mining and Circular Economy) โดยเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลประสบการณ์ ซึ่งปัจจุบัน หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญกับการนำของเสียจากอุตสาหกรรมกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดการใช้ทรัพยากรใหม่ให้น้อยที่สุด
		3. วันที่ 6 ตุลาคม 2564 การประชุม The 21st ASEAN Senior Officials Meeting in Minerals: The 21st ASOMM โดยที่ประชุมฯ รับทราบผลการดำเนินงานที่ผ่านมา และร่วมหารือเกี่ยวกับการดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือด้านแร่ธาตุอาเซียน โดยมีมติร่วมกัน ดังนี้
			(1) เห็นชอบในหลักการของ (ร่าง) แผนการดำเนินงาน ASEAN-IGF Cooperation สำหรับปี 2565 ? 2567
			(2) เห็นชอบในหลักการของ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านแร่ธาตุอาเซียน ฉบับที่ 3 ระยะที่ 2 พ.ศ. 2564 ? 2568 หรือ ASEAN Minerals Cooperation Action Plan III Phase 2 (2021 ? 2025): AMCAP III Phase 2
			(3) เห็นชอบในหลักการของข้อเสนอแนะสำคัญในการตอบสนองต่อโอกาสและความท้าทายของการใช้แร่ธาตุอย่างเข้มข้นในอนาคต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประเด็นสำคัญประจำปี 2564 และเป็นส่วนหนึ่งของประเด็นด้านเศรษฐกิจที่จะให้ความสำคัญในช่วงที่บรูไนดารุสซาลามเป็นประธานอาเซียน (a Mineral Sector 2021 Annual Priority and a Priority Economic Deliverable (PED) under Brunei Darussalam's 2021 ASEAN Chairmanship)
		4. วันที่ 7 ตุลาคม 2564 การประชุม The 14th ASEAN Senior Officials Meeting on Minerals Plus Three (China, Japan, Republic of Korea) Consultation: The 14th ASOMM+3 โดยมีมติ ดังนี้
			(1) เห็นชอบในหลักการของ (ร่าง) แผนการดำเนินงาน ASOMM+3 สำหรับปี 2565 - 2568 ซึ่งประกอบด้วยการดำเนินงาน 4 ด้าน ได้แก่ การค้าและการลงทุน การพัฒนาแร่อย่างยั่งยืน การเสริมสร้างศักยภาพสถาบันและบุคลากรด้านแร่ และการพัฒนาฐานข้อมูลด้านแร่ ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ เห็นชอบในหลักการเฉพาะการมุ่งดำเนินงานใน 4 ด้านดังกล่าว โดยยังไม่หารือในรายละเอียดการดำเนินงานที่ประเทศคู่เจรจาทั้ง 3 ประเทศเสนอ
		5. วันที่ 8 ตุลาคม 2564 การประชุม The 8th ASEAN Ministerial Meeting on Minerals:                  The 8th AMMin โดยมีมติ ดังนี้
			(1) รับทราบความคืบหน้าของการจัดทำแผนการดำเนินงาน ASEAN-IGF Cooperation สำหรับปี 2565 - 2567
			(2) รับทราบความคืบหน้าการจัดทำแผนการดำเนินงาน ASOMM+3 สำหรับปี 2565 ? 2568
			(3) เห็นชอบ (ร่าง) แผน AMCAP III Phase 2 ตามที่ที่ประชุม The 21st ASOMMเสนอ
			(4) เห็นชอบข้อเสนอแนะสำคัญในการตอบสนองต่อโอกาสและความท้าทายของการใช้               แร่ธาตุอย่างเข้มข้นในอนาคต ตามที่ที่ประชุม The 21st ASOMM เสนอ
			(5) รัฐมนตรีด้านแร่ธาตุอาเซียนออกถ้อยแถลงข่าวร่วม (Joint Media Statement) ซึ่งมีสาระสำคัญประกอบด้วย (1) สรุปผลการดำเนินงานตามแผน AMCAP III Phase 1 พ.ศ. 2559 ? 2563 (2) การรับรองแผน AMCAP III Phase 2 พ.ศ. 2564 ? 2568 (3) ความก้าวหน้าของความร่วมมือด้านแร่ธาตุอาเซียน และ (4) การตอบสนองต่อโอกาสที่มีความต้องการแร่อย่างเข้มข้น (Minerals-Intensive) ในอนาคต

13. เรื่อง ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 13 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย ? มาเลเซีย ? ไทย (IMT-GT)
		คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 13 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) และเห็นชอบให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสามารถปรับปรุงถ้อยคำในแถลงการณ์ร่วมฯ ได้ในกรณีที่มิใช่การเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบอีก รวมทั้งเห็นชอบให้นายกรัฐมนตรี ได้ร่วมกับผู้นำประเทศแผนงาน IMT-GT ให้การรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับผู้นำครั้งที่ 13 แผนงาน IMT-GT ในวันที่ 28 ตุลาคม 2564 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ
		สาระสำคัญร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมฯ
		1. ยึดมั่นในการดำเนินงานร่วมกันในระดับอนุภูมิภาคเพื่อสนับสนุนความพยายามของแต่ละประเทศในการบรรเทาผลกระทบของโรคโควิด-19 และเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเพื่อจะก้าวข้ามวิกฤตดังกล่าวและเพื่อให้แผนงาน IMT-GT ดำรงอยู่บนแนวทางสู่การเป็นอนุภูมิภาคที่มีการบูรณาการ นวัตกรรม และความยั่งยืน ภายใน    พ.ศ. 2579
		2. ยินดีต่อความสำเร็จในเจ็ดเสายุทธศาสตร์ ได้แก่ การเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร การท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล การเชื่อมโยงด้านการขนส่งและเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การค้าและการลงทุน สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การศึกษา และวัฒนธรรม ตลอดช่วงแผนดำเนินงานระยะห้าปี ปี พ.ศ. 2560 - 2564 ของแผนงาน IMT-GT โดยมีโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จจำนวน 33 โครงการ ในช่วงสองปีที่ผ่านมา และโครงการจำนวน 63 โครงการที่มีความคืบหน้าชัดเจน และจะได้รับการบรรจุไว้ในแผนดำเนินงานระยะห้าปีฉบับต่อไป
		3. กำหนดทิศทางการดำเนินงานในระยะถัดไปของ 3 เสายุทธศาสตร์หลักของแผนงาน IMT-GT โดยการดำเนินโครงการส่งเสริมการตลาดร่วม และการเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ยุทธศาสตร์ในอนุภูมิภาคต่อไป พร้อมทั้งผลักดันให้ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวของแผนงาน IMT-GT ตั้งอยู่บนพื้นฐานความครอบคลุมและความยั่งยืนเพื่อประโยชน์ของชุมชน มุ่งเน้นการเกษตรยั่งยืน การพัฒนาและส่งเสริมสินค้าโภคภัณฑ์ที่โดดเด่น เช่น ยางพาราและน้ำมันปล์ม และการยกระดับห่วงโซ่อุปทานอาหารข้ามพรมแดน ส่งเสริมการรับรองมาตรฐานฮาลาล การปรับใช้เทคโนโลยี การขยายธุรกิจและเครือข่ายพันธมิตรเพื่อพัฒนาระบบนิเวศน์ฮาลาลในภาพรวม
		4. กำหนดทิศทางการดำเนินงานในระยะถัดไปของ 4 เสายุทธศาสตร์ปัจจัยสนับสนุน โดยคาดหวังจะเห็นความก้าวหน้าในการพัฒนาการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ กรอบความร่วมมือระหว่างรัฐบาลอินโดนีเชีย มาเลเซีย และไทย ด้านการศุลกากร การตรวจคนเข้าเมือง และการกักกันได้ดำเนินการแล้วเสร็จ การให้ความสำคัญกับการพัฒนาความร่วมมือด้านเขตเศรษฐกิจพิเศษใน IMT-GT  การสนับสนุนโครงการเมืองยางพารา IMT-GT และความร่วมมืออุตสาหกรรมยางพารา ผลักดันให้เกิดการเสริมสร้างความเชื่อมโยงดิจิทัล เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านเทคโนโลยีดิจิทัลโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง การดำเนินการเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานใหม่ การดำเนินงานตามข้อริเริ่มเมืองสีเขียว และการรับรองกรอบการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน (Sustainable Urban Development Framework: SUDF) พ.ศ. 2562 ? 2579
		5. ยินดีต่อความก้าวหน้าในการจัดทำร่างแผนดำเนินงานระยะห้าปี ปี พ.ศ. 2565 - 2569 ซึ่งประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ยินดีต่อความพยายามของเครือข่ายมหาวิทยาลัย IMT-GT ในการเป็นกลไกเชิงสถาบันภายใต้แผนงาน IMT-GT และสนับสนุนให้สภาธุรกิจ IMT-GT (Joint Business Council: JBC) เป็นกลไกขับเคลื่อนร่วมกับภาครัฐและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ ให้ก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม
		6. มุ่งมั่นต่อความร่วมมือกับหุ้นส่วนการพัฒนาของแผนงาน IMT-GT อาทิ ธนาคารพัฒนาเอเชียซึ่งให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ และสำนักงานเลขาธิการอาเซียนในการส่งเสริมให้เกิดการดำเนินงานที่สอดคล้องกันระหว่างอาเซียนกับแผนงาน IMT-GT และคาดหวังว่าจะมีความร่วมมือที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นและนำไปสู่การบูรณาการที่เข้มแข็งต่อไป
		ทั้งนี้ ประโยชน์ของประเทศไทย ในการเข้าร่วมการประชุมฯ เช่น ส่งเสริมบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศโดยใช้ประโยชน์จากการพัฒนาความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคภายใต้แผนงาน IMT-GT ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือหนึ่งในการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สอดประสานกันระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้านทั้งในระดับส่วนราชการส่วนกลางและจังหวัดในทุกสาขาความร่วมมือ รวมทั้งสาขาความร่วมมือใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ เป็นต้น

14. เรื่อง ขอความเห็นชอบต่อเอกสารที่จะมีการรับรองในการประชุมรัฐมนตรีกีฬาอาเซียน ครั้งที่ 6 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ผ่านระบบการประชุมทางไกล
		คณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อเอกสารจำนวน 3 ฉบับ ตามข้อ 1 ? 3 โดยหากมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนถ้อยคำในเอกสารดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบไว้ ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยกรมพลศึกษา ดำเนินการได้โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองเอกสารตามข้อ 1 - 3 ในการประชุมรัฐมนตรีกีฬาอาเซียน ครั้งที่ 6 และการประชุมที่เกี่ยวข้องผ่านระบบการประชุมทางไกล ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เสนอ
		สาระสำคัญของเอกสารที่จะรับรองโดยที่ประชุมรัฐมนตรีกีฬาอาเซียนและการประชุมที่เกี่ยวข้อง จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่
		1. แผนการดำเนินงานสาขากีฬาอาเซียน ค.ศ. 2021 - 2025 (ASEAN Work Plan on Sports 2021-2025) มีสาระสำคัญเพื่อเป็นแนวทางในการเสริมสร้างความร่วมมือซึ่งมุ่งให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีปฏิสัมพันธ์ โดยการพัฒนาคุณธรรมทางการกีฬาและการใช้กีฬาเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาสังคมและวัฒนธรรม โดยมีประเด็นสำคัญ 5 ประเด็น ได้แก่ (1) การสนับสนุนการกีฬาเพื่อการพัฒนาผลลัพธ์และสันติภาพ (2) การส่งเสริมการมีวิถีสุขภาพที่ดีผ่านการมีส่วนร่วมด้านกีฬาและกิจกรรมทางกาย (3) การพัฒนาศักยภาพบุคลากร การมีคุณธรรมและจริยธรรมด้านกีฬา และวิทยาศาสตร์การกีฬา (4) เสริมสร้างความตระหนักในอาเซียนผ่านกิจกรรมกีฬา การท่องเที่ยวเชิงกีฬา และอุตสาหกรรมกีฬา (5) การระดมทรัพยากร ความร่วมมือกับคู่เจรจาและการกำกับดูแล และติดตามสำหรับความร่วมมืออาเซียนด้านกีฬา
		2. แผนความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ ค.ศ. 2021 ? 2022 (ASEAN-FIFA Collaboration Plan 2021-2022) มีสาระสำคัญโดยที่อาเซียนกับฟีฟ่ามีเป้าหมายในการดำเนินการกิจกรรมที่เกี่ยวข้องร่วมกันเพื่อปฏิบัติตามบันทึกความเข้าใจระหว่างอาเซียนกับฟีฟ่า ภายใต้สาขาความร่วมมือ 4 ด้าน ได้แก่ (1) การส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมในการกีฬา (2) กีฬาเพื่อส่งเสริมการพัฒนา (3) โครงการกีฬาฟุตบอลในโรงเรียนของฟีฟ่า และ (4) การเสริมสร้างศักยภาพกีฬาฟุตบอล
		3. แถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีกีฬาอาเซียนว่าด้วยเรื่องการสร้างรากฐานอันเข้มแข็งสำหรับนักกีฬาอาเซียนในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ (Joint Statement of ASEAN Sports Ministers on Cementing Strong Foundation for ASEAN Athletes at the Southeast Asian Games) เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียนที่มุ่งมั่นจะยกระดับคุณภาพของการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ในฐานะเวทีส่งเสริมความสามารถด้านการแข่งขันสำหรับนักกีฬาของประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อเปิดโอกาสสู่ความสำเร็จในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ และการแข่งขันกีหาโอลิมปิกเกมส์

15. เรื่อง การขอความเห็นชอบต่อร่างแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคว่าด้วยการคุ้มครองเด็กจากการแสวงหาผลประโยชน์ในสื่อออนไลน์ในอาเซียน และร่างแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคว่าด้วยการอนุวัติการปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิของเด็กในบริบทของการโยกย้ายถิ่นฐาน
		คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ ดังนี้
		1. เห็นชอบต่อร่างแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคว่าด้วยการคุ้มครองเด็กจากการแสวงหาผลประโยชน์ในสื่อออนไลน์ในอาเซียน (Regional Plan of Action for the Protection of Children From All Forms of Online Exploitation and Abuse in ASEAN) และร่างแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคว่าด้วยการอนุวัติการปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิของเด็กในบริบทของการโยกย้ายถิ่นฐาน (Regional Plan of Action on Implementing the ASEAN Declaration on the Rights of Children in the Context of Migration) โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดผลประโยชน์ต่อประเทศไทย ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก และหลังจากนั้นให้รายงานผลเพื่อคณะรัฐมนตรีทราบต่อไป
		2. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะรัฐมนตรีอาเซียนที่รับผิดชอบด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา (AMMSWD Minister) ของประเทศไทย มีหนังสือแจ้งความเห็นชอบต่อร่างแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคทั้ง 2 ฉบับ ตามข้อ 1 ไปยังประเทศบรูไนดารุสซาลาม ในฐานะประธานอาเซียน ในโอกาสแรก ภายหลังจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้ว
		สาระสำคัญ
		1. ร่างแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคว่าด้วยการคุ้มครองเด็กจากการแสวงหาผลประโยชน์ในสื่อออนไลน์ในอาเซียน (Regional Plan of Action for the Protection of Children from All Forms of Online Exploitation and Abuse in ASEAN) มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อเร่งยุติการแสวงหาผลประโยชน์จากเด็กและการล่วงละเมิดเด็กในสื่อออนไลน์ในอาเซียนทุกรูปแบบ มีกรอบระยะเวลาการดำเนินการ 5 ปี (พ.ศ. 2564 - 2568)            และประกอบด้วยประเด็นสำคัญ 7 ด้าน ดังนี้
			1) ส่งเสริม พัฒนา และดำเนินการตามกรอบกฎหมายระดับชาติที่ครอบคลุมในแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน และดำเนินการปรับปรุงมาตรฐานและนโยบายการคุ้มครองเด็กเกี่ยวกับการแสวงหาผลประโยชน์และการล่วงละเมิดในสื่อออนไลน์ในบรรดาประเทศสมาชิกอาเซียน
			2) เพิ่มขีดความสามารถในการบังคับใช้กฎหมาย การพิจารณาคดี และความเชี่ยวชาญ ทางกฎหมาย ผ่านการฝึกอบรมที่มีความเกี่ยวข้องและเป็นปัจจุบัน รวมถึงการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติ ที่เป็นเลิศเกี่ยวกับการคุ้มครองเด็กจากการแสวงหาผลประโยชน์และการล่วงละเมิดในสื่อออนไลน์ทุกรูปแบบ
			3) ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งหน่วยงานชำนัญพิเศษระดับประเทศ ซึ่งมีขอบเขตอำนาจที่ชัดเจนในการเป็นหน่วยงานหลักในการนำ สนับสนุน และประสานงานการสืบสวน
			4) ยกระดับประสิทธิภาพของบริการคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กและโครงการสวัสดิการสังคม ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของสิทธิ คำนึงถึงมิติทางเพศ และมิติด้านอายุ
			5) เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับการเก็บรวบรวมข้อมูลและกลไกการรายงานและการส่งต่อผ่านสายด่วน เพื่อรายงานเกี่ยวกับสื่อออนไลน์ที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย ซึ่งรวมถึงสื่อการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก
			6) ส่งเสริมโครงการการศึกษาระดับประเทศและหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศจากเด็ก และการแสวงหาผลประโยชน์จากเด็กในรูปแบบอื่น ๆ เพื่อเสริมพลังเด็ก เยาวชน ผู้ปกครอง ผู้พิทักษ์ ผู้ดูแล ผู้ปฏิบัติงาน และชุมชน
			7) ยกระดับการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ เพื่อให้ภาคเอกชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียดังกล่าวได้มีส่วนร่วมในการติดตามมาตรการป้องกันและตอบสนองผ่านกฎระเบียบ ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร และความร่วมมือในการพัฒนามาตรการที่มีประสิทธิผลเพื่อค้นหา ขจัด และรายงานเนื้อหาผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดทางเพศและการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศจากเด็ก
		2. ร่างแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคว่าด้วยการอนุวัติการปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิของเด็กในบริบทของการโยกถิ่นฐาน (Regional Plan of Action on Implement the ASEAN Declaration on the Rights of Children in the Context of Migration) มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อเคารพ ส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิของเด็กในบริบทของการโยกย้ายถิ่นฐานทุกคน โดยไม่คำนึงถึงสถานะการเข้าเมือง มีกรอบระยะเวลาการดำเนินการ 10 ปี  (พ.ศ. 2564 - 2573) และการประกอบด้วยประเด็นสำคัญ 5 ด้าน ดังนี้
			1) นโยบายและขั้นตอนปฏิบัติได้รับการปรับปรุงเพื่อสนับสนุนความสามารถในการเข้าถึงระบบคุ้มครองเด็กสำหรับเด็กทุกคนในบริบทของการโยกย้ายถิ่นฐาน
			2) นโยบายและขั้นตอนปฏิบัติได้รับการปรับปรุงเพื่อสนับสนุนความสามารถในการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน เช่น บริการดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพ อาหารและโภชนาการที่เหมาะกับวัย น้ำดื่มสะอาด ความสะอาดและสุขอนามัย การศึกษา การคุ้มครองทางสังคม สถานที่ปลอดภัยเพื่อการอยู่อาศัย สภาพแวดล้อมที่สะอาดและปลอดภัย และบริการสนับสนุนด้านจิตวิทยาสังคมสำหรับเด็กในบริบทของการโยกย้ายถิ่นฐาน
			3) บุคลากรที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมาย นักสังคมสงเคราะห์              ผู้ให้บริการ องค์กรภาคประชาสังคม และอื่น ๆ มีศักยภาพเพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถรับมือโดยใช้หลักการสหวิชาชีพต่อปัญหาเกี่ยวกับสิทธิและความต้องการของเด็กในบริบทของการโยกย้ายถิ่นฐาน
			4) การจัดทำหลักฐานเชิงประจักษ์เกี่ยวกับสถานการณ์ของเด็กในบริบทของการโยกย้ายถิ่นฐาน ได้รับการเสริมสร้างมากขึ้น อันเป็นผลมาจากการปรับปรุง และการลงทุนในการรวบรวมและการวิเคราะห์ข้อมูลที่เที่ยงตรง เชื่อถือได้ และเปรียบเทียบได้ มีการจำแนกข้อมูลตามเพศ อายุ สถานะการเข้าเมือง และคุณลักษณะ             อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบริบทในประเทศ รวมทั้งปัจจัยที่สนับสนุนให้เกิดการย้ายถิ่นในกรณีที่มีข้อมูลดังกล่าวอยู่
			5) การสร้างภาคีและเครือข่ายที่เข้มแข็งขึ้นภายในและระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้งกับองค์การระหว่างประเทศ สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประเทศคู่เจรจา องค์กรภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และประเทศอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือให้เกิดการดำเนินงานอย่างเป็นผลตาตามพันธกิจ           ที่ประกาศไว้ในปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิของเด็กในบริบทของการโยกย้ายถิ่นฐาน

แต่งตั้ง

16. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงแรงงาน)
 		คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงแรงงานเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน จำนวน 5 ราย ดังนี้
 		1. นางโสภา เกียรตินิรชา รองอธิบดี (นักบริหารต้น) กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงาน แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงแรงงาน
 		2. นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองอธิบดี (นักบริหารต้น) กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงาน แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงแรงงาน
		3. นางบุปผา พันธุ์เพ็ง รองเลขาธิการ (นักบริหารต้น) สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงแรงงาน
	 	4. นางดรุณี นิธิทวีกุล รองอธิบดี (นักบริหารต้น) กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงาน แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงแรงงาน
 		5. นายอรเทพ อินทรสกุล รองอธิบดี (นักบริหารต้น) กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงแรงงาน
 		ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

17. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ
		คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอโอนข้าราชการรายพันตำรวจตรี สุริยา               สิงหกมล ที่ปรึกษาการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (นักวิเคราะห์นโยบายและแผน) ประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาเฉพาะด้านนโยบายและการบริหารงานยุติธรรม (นักวิเคราะห์นโยบายและแผน) ประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงยุติธรรม ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

          ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 25 ตุลาคม 2564

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ