สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรีชุด พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 ธันวาคม 2564

ข่าวการเมือง Wednesday December 15, 2021 09:14 —มติคณะรัฐมนตรี

http://www.thaigov.go.th

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

                    วันนี้ (14 ธันวาคม 2564)  เวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี                    เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้

กฎหมาย
                    1.           เรื่อง           หลักเกณฑ์ว่าด้วยการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าบริการ
                    2.           เรื่อง           ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา

ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัย

ราชภัฏสุรินทร์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

                    3.           เรื่อง           ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชาและอักษรย่อสำหรับสาขาวิชา                                                  ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พ.ศ. ....
                    4.           เรื่อง           ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง (ฉบับที่ ..)                                         พ.ศ. ....
                    5.           เรื่อง           ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดน่าน                                                   (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดน่าน                                         พ.ศ. 2556)
                    6.           เรื่อง           กรอบแนวทางการทบทวนกฎกระทรวง
                    7.           เรื่อง           ร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชุมพร

เขตเลือกตั้งที่ 1 และจังหวัดสงขลา เขตเลือกตั้งที่ 6 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. ....

                    8.           เรื่อง           ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษ                                                  หมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ภายในระยะเวลาที่กำหนด

(ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

เศรษฐกิจ สังคม

                    9.           เรื่อง           การจัดทำโครงการบ้านพักข้าราชการ (บ้านหลวง) ของกระทรวงศึกษาธิการ                                                   ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579)
                    10.           เรื่อง           เป้าหมายของนโยบายการเงิน ประจำปี 2565
                    11.           เรื่อง           ขออนุมัติแผนหลักการพัฒนา ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ
                    12.           เรื่อง           ผลการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564
                                        เรื่อง การป้องกันและตรวจสอบการบุกรุกที่ดินของรัฐและแนวทางการช่วยเหลือ                                        เยียวยาเกษตรกรที่ทำการเกษตรในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ
                    13.           เรื่อง           หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วย                                                  ฉุกเฉินวิกฤต (ฉบับที่ 3)
                    14.           เรื่อง           รายงานผลการให้บริการสาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2563 และประจำงวด                                                  ครึ่งปีงบประมาณ 2564 ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และรายงานผลการ                                                  ให้บริการสาธารณะประจำปีงบประมาณ 2563 ของการรถไฟแห่งประเทศไทย
                    15.           เรื่อง           ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2564
                    16.           เรื่อง           รายงานสถานการณ์เพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็ก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
                    17.           เรื่อง          ความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนตุลาคม                                         2564
                    18.           เรื่อง           แนวทางปฏิบัติสำหรับการนำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้กับโครงการที่ดำเนินการตาม                                        พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โดยอนุโลม
                    19.           เรื่อง           สรุปภาพรวมสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการประจำเดือนตุลาคม 2564
                    20.           เรื่อง           หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ การจัดทำงบประมาณ                                        รายจ่ายบูรณาการและมอบหมายผู้มีอำนาจกำกับแผนงานบูรณาการ ประจำปี                                                  งบประมาณ พ.ศ. 2566
                    21.           เรื่อง          ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้

ภายใต้พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในคราวประชุมครั้งที่ 17/2564

                    22.           เรื่อง          ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การส่งเสริมการท่องเที่ยว

เชิงสุขภาพหลังวิกฤต COVID-19 ของคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว วุฒิสภา

                    23.           เรื่อง          ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการส่งเสริมและ                                                  สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง

และขนาดย่อม (SMEs) ของคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน

และการคลัง วุฒิสภา

ต่างประเทศ

                    24.           เรื่อง           ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชีย                                        ตะวันออกเฉียงใต้และรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยความร่วมมือ

ด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช

                    25.           เรื่อง           สรุปผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 16 และการประชุมอื่น                                        ที่เกี่ยวข้อง
                    26.           เรื่อง           สรุปผลการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 44
                    27.           เรื่อง           ผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 54 และการประชุมระดับ                                                  รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง
                    28.           เรื่อง           ร่างบันทึกการประชุม (Record of Discussion) ของการประชุมคณะกรรมาธิการ                                        ร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย ? กัมพูชา ครั้งที่ 11

แต่งตั้ง

                    29.           เรื่อง           การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ

ระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)

                    30.           เรื่อง           การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง                                                   (กระทรวงการต่างประเทศ)
                    31.           เรื่อง           การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง

(สำนักนายกรัฐมนตรี)

                    32.           เรื่อง           การแต่งตั้งผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้
                    33.           เรื่อง           การแต่งตั้งประธานกรรมการบริหารสถาบันวัคซีนแห่งชาติ
                    34.           เรื่อง           การแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ
                    35.          เรื่อง          แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการดำเนินการ                                        ขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ ?สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน? ไปสู่เมืองต้นแบบ                                        ที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ?เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต?

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396


กฎหมาย
1. เรื่อง หลักเกณฑ์ว่าด้วยการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าบริการ
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์ว่าด้วยการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าบริการ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ และให้หน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติต่อไป และให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับความเห็นของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงคมนาคม และกระทรวงพาณิชย์ ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                     หลักเกณฑ์ว่าด้วยการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าบริการ มีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้
                     1. กำหนดลักษณะของค่าธรรมเนียมและจำแนกค่าธรรมเนียมออกจากค่าบริการเพื่อให้เกิดความชัดเจน ดังนี้
                               1.1 ?ค่าธรรมเนียม? เป็นกรณีที่รัฐจะใช้อำนาจทางปกครองฝ่ายเดียวในการรักษาความสงบเรียบร้อยเพื่อควบคุมหรือกำกับดูแลในเรื่องต่าง ๆ ให้เป็นไปด้วยดี โดยกำหนดให้ประชาชนจะต้องได้รับอนุมัติ อนุญาต จากรัฐก่อนที่จะดำเนินการบางอย่างได้ ซึ่งรัฐอาจกำหนดให้บุคคลมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตามอัตราที่กฎหมายกำหนดต่อหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีอำนาจแต่ผู้เดียวในการดำเนินการให้บุคคลนั้น หากไม่จ่าย หน่วยงานจะไม่ดำเนินการให้ จึงมีลักษณะทำนองเดียวกันกับภาษี เช่น ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตก่อสร้างอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 เป็นต้น
                               1.2 ?ค่าบริการ? เป็นกรณีที่รัฐจะให้บริการสาธารณะเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยเฉพาะบริการสาธารณะทางอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม ซึ่งเป็นการผลิตและจำหน่ายสินค้าหรือบริการในทำนองเดียวกับธุรกิจเอกชน การเรียกเก็บค่าบริการนี้มีลักษณะคล้ายกับค่าบริการของภาคเอกชนเพื่อตอบแทนสินค้าและบริการที่ได้ ซึ่งหากไม่ต้องการจะได้สินค้าหรือบริการนั้น ก็ไม่ต้องเสียค่าบริการ โดยผู้ใช้บริการมีทางเลือกที่จะใช้บริการภาครัฐหรือใช้บริการที่มีการดำเนินการโดยบุคคลอื่นก็ได้ รวมถึงการบริการในทำนองเดียวกัน เช่น การให้บริการถ่ายเอกสาร การให้บริการห้องสมุด การให้บริการทางด่วนหรือทางพิเศษ การให้บริการจอดรถในที่จอดรถ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ เป็นต้น
                    2. กำหนดหลักการพื้นฐานว่า การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต้องมีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติให้อำนาจไว้และต้องกำหนดอัตราขั้นสูงไว้ในกฎหมาย รวมทั้งกำหนดปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงในการที่รัฐจะกำหนดให้มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากประชาชน เช่น ภาระและความยุ่งยากที่จะเกิดขึ้นแก่ประชาชน เป็นต้น
                     3. กำหนดกรณีที่รัฐไม่พึงเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากประชาชน เช่น กรณีที่ประชาชนปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายเพื่อให้ภาครัฐได้ข้อมูล กรณีที่ประชาชนขอรับสิทธิประโยชน์ที่รัฐให้ความช่วยเหลืออันเนื่องมาจากสภาพร่างกายหรือฐานะทางเศรษฐกิจ
                     4. กำหนดปัจจัยที่หน่วยงานของรัฐต้องพิจารณาในการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม เช่น ค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนในการดำเนินการของรัฐ ประโยชน์ที่บุคคลนั้นจะได้รับ หรือผลกระทบทางลบที่บุคคลนั้นก่อให้เกิดขึ้น ความสามารถของประชาชนในการจ่ายค่าธรรมเนียม การเทียบเคียงกับอัตราเดิมที่เคยเรียกเก็บ การได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ และอัตราเงินที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
                    5. กำหนดกระบวนการสำคัญที่หน่วยงานของรัฐต้องดำเนินการในการกำหนดค่าธรรมเนียม เช่น การรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง การทบทวนความเหมาะสมของอัตราค่าธรรมเนียมทุกครั้งที่ประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย
                    6. กำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าบริการ ดังนี้
                               6.1 ค่าบริการสำหรับกิจการที่มีลักษณะเป็นการผูกขาดของรัฐต้องไม่สูงเกินสมควรโดยคำนึงถึงต้นทุนการผลิตหรือการให้บริการต่อหน่วย และเทียบเคียงกับอัตราที่เรียกเก็บกันในนานาประเทศ
                               6.2 ค่าบริการสำหรับกิจการที่มีลักษณะเป็นการกึ่งผูกขาดของรัฐต้องไม่สูงหรือต่ำเกินสมควร โดยคำนึงถึงต้นทุนการผลิตหรือการให้บริการต่อหน่วย
                              6.3 ค่าบริการสำหรับกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกันโดยเสรีในตลาด ต้องไม่ต่ำเกินสมควรอันอาจกระทบต่อการแข่งขันทางการค้า เว้นแต่รัฐมีอำนาจแทรกแซงในเรื่องนั้นเพื่อรักษาราคาที่เหมาะสมในตลาด
ทั้งนี้ ค่าบริการไม่พึงกำหนดไว้ในกฎหมาย และต้องไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไรสูงสุดดังเช่นเอกชน
                     7. กำหนดให้หลักเกณฑ์นี้ไม่ใช้บังคับแก่การเรียกเก็บเงินที่เกิดจากการเจรจาและการทำสัญญาระหว่างภาครัฐและเอกชน เช่น ค่าตอบแทนสิทธิตามสัญญาสัมปทาน ค่าตอบแทนสิทธิการใช้ประโยชน์ในทรัพยากรธรรมชาติ แต่ทั้งนี้ หน่วยงานผู้พิจารณาทำสัญญาดังกล่าวควรคำนึงถึงแนวทางการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าบริการตามหลักเกณฑ์นี้ด้วย
                     8. กำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบกฎหมายหรือกฎที่มีการกำหนดค่าธรรมเนียมต้องแก้ไขเพิ่มเติมการกำหนดใด ๆ ที่ไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์นี้ในโอกาสแรก ซึ่งต้องไม่ช้ากว่าการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายนั้นครั้งแรกภายหลังจากหลักเกณฑ์นี้มีผลใช้บังคับ

2. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
                    สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
                    เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ พ.ศ. 2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อกำหนดปริญญาในสาขาวิชาเพิ่มขึ้น และอักษรย่อสำหรับสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ สาขาวิชาครุศาสตร์อุตสาหกรรม และสาขาวิชารัฐศาสตร์ รวมทั้งกำหนดสีประจำสาขาวิชาดังกล่าว และสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ได้มีมติเห็นชอบด้วยแล้ว

3. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชาและอักษรย่อสำหรับสาขาวิชาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พ.ศ. ....
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชาและอักษรย่อสำหรับสาขาวิชาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
                     สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
                    เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชาและอักษรย่อสำหรับสาขาวิชาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พ.ศ. 2554 เกี่ยวกับการกำหนดปริญญาในสาขาวิชาทันตแพทยศาสตร์เพิ่มขึ้น และกำหนดปริญญาชั้นปริญญาเอกเพิ่มขึ้นในสาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการ และสาขาวิชาวิทยาการสารสนเทศ รวมทั้งอักษรย่อสำหรับสาขาวิชาดังกล่าว ซึ่งสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีได้มีมติเห็นชอบด้วยแล้ว

4. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
                    ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอว่า
                     1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวด 16 การปฏิรูปประเทศ มาตรา 258 ข. ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน (1) บัญญัติให้มีการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินและการจัดทำบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดิน และเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน แต่ปรากฏว่าหลักเกณฑ์และวิธีการตามกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง พ.ศ. 2553 ที่ใช้บังคับในปัจจุบันยังไม่เอื้อต่อการนำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในขั้นตอนการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง ประกอบกับปัจจุบันได้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก รวมทั้งรัฐบาลยังมีการใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing)
                     2. ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว ได้กำหนดเพียงหลักเกณฑ์ให้กระบวนการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งสามารถนำไปใช้กับ กทม. ดังนั้น เพื่อให้กระบวนการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นกระบวนการยุติธรรมทางเลือกที่ใช้แก้ปัญหาให้แก่ประชาชนอย่างทันท่วงทีและสามารถประคับประคองปัญหาด้านเศรษฐกิจของประเทศ สำนักงาน ก.พ.ร. จึงได้แก้ไขร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่ สคก. ตรวจพิจารณาแล้วดังกล่าว เพื่อเพิ่มช่องทางให้กรมการปกครองและ กทม. สามารถนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้กับการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งได้ด้วย รวมทั้งแก้ไขความหมายของบทนิยามโดยตัดคำว่า ?กิ่งอำเภอ? ?ที่ว่าการอำเภอ? ?ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ? เพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบการปกครองที่ปัจจุบันได้ยกเลิกแล้ว ดังนี้
ร่างกฎกระทรวงที่ สคก. ตรวจพิจารณาแล้ว          ร่างกฎกระทรวงที่สำนักงาน ก.พ.ร. แก้ไข
  ?ข้อ 2 ในกฎกระทรวงนี้
  ?ข้อพิพาท? หมายความว่า ....
  ?อำเภอ? หมายความรวมถึง กิ่งอำเภอ และเขตของกรุงเทพมหานคร
  ?ที่ว่าการอำเภอ? หมายความรวมถึง ที่ว่าการกิ่งอำเภอ และสำนักงานเขตของกรุงเทพมหานคร
  ?นายอำเภอ? หมายความรวมถึง ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ และผู้อำนวยการเขตของกรุงเทพมหานคร
ฯลฯ
  - ไม่มี             ?ข้อ 2 ในกฎกระทรวงนี้
  - คงเดิม
  ?อำเภอ? หมายความรวมถึง เขตของกรุงเทพมหานคร
  ?ที่ว่าการอำเภอ? หมายความรวมถึง สำนักงานเขตของกรุงเทพมหานคร
?นายอำเภอ? หมายความรวมถึง ผู้อำนวยการเขตของกรุงเทพมหานคร

ฯลฯ
   ข้อ 2 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 2/1 แห่งกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง พ.ศ. 2553
  ?ข้อ 2/1 เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนจะนำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้กับการดำเนินการตามกฎกระทรวงนี้ด้วยก็ได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กรมการปกครอง หรือกรุงเทพมหานครกำหนด แล้วแต่กรณี?
                     3. ในคราวประชุม ก.พ.ร. ครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2564 ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงตามข้อ 2. โดยให้ปรับถ้อยคำตามความเห็นของที่ประชุม แล้วเสนอร่างกฎกระทรวงฯ ให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาลงนามต่อไป
                    สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                    แก้ไขเพิ่มเติมฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง พ.ศ. 2553 โดยแก้ไขเพิ่มเติมความหมายของบทนิยามคำว่า ?อำเภอ? ?ที่ว่าการอำเภอ? ?นายอำเภอ? ให้หมายความรวมถึงเขตของกรุงเทพมหานคร สำนักงานเขตของกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการเขตของกรุงเทพมหานคร ตามลำดับ เพื่อให้กระบวนการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งสามารถนำไปใช้กับ กทม. และให้นำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในกระบวนการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งได้ด้วย

5. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดน่าน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดน่าน พ.ศ. 2556)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดน่าน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ มท. รับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
                    ทั้งนี้ ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย ตามที่ มท. เสนอ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดน่าน พ.ศ. 2556 เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 โดยแก้ไขและยกเลิกข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทชุมชน (สีชมพู) ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม            (สีเขียว) และที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้ (สีเขียวอ่อนมีเส้นทแยงสีขาว) ในส่วนที่เกี่ยวกับการประกอบกิจการโรงงาน และการใช้ประโยชน์ที่ดินริมฝั่งแม่น้ำ ลำคลอง หรือแหล่งน้ำสาธารณะ รวมทั้งปรับปรุงบัญชีท้ายกฎกระทรวงเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ของจังหวัดน่านที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่ง มท. ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 แล้ว และคณะกรรมการผังเมืองได้มีมติเห็นชอบด้วยแล้ว
                     สาระสำคัญของร่างประกาศ
                    แก้ไขเพิ่มเติมข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดน่าน พ.ศ. 2556 ดังนี้
                    1. แก้ไขเพิ่มเติมข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทชุมชน (สีชมพู) โดยห้ามประกอบกิจการโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานตามประเภท ชนิด และจำพวกท้ายของร่างประกาศกระทรวงนี้ (เดิม เช่น โรงงานบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชนสามารถดำเนินการได้)
                     2. แก้ไขเพิ่มเติมข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) ให้สามารถดำเนินการหรือประกอบกิจการได้ในอาคารที่มีความสูงไม่เกิน 10 เมตร เว้นแต่เป็นการประกอบกิจการโรงงานให้มีความสูงไม่เกิน 23 เมตร เช่น โรงงานทำพรมหรือเครื่องใช้จากหนังสัตว์หรือขนสัตว์ เฉพาะที่มีการหมัก ฟอก ฟอกสี ย้อมสีหนังสัตว์หรือขนสัตว์ให้สามารถประกอบกิจการได้
                    3. ยกเลิกการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้ (สีเขียวอ่อนมีเส้นทแยงสีขาว) ที่ติดกับที่ดินริมฝั่งแม่น้ำ ลำคลอง หรือแหล่งน้ำสาธารณะ
                    4. ปรับปรุงบัญชีท้ายกฎกระทรวงเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ของจังหวัดน่านที่เปลี่ยนแปลงไป

6. เรื่อง กรอบแนวทางการทบทวนกฎกระทรวง
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอกรอบแนวทางการทบทวนกฎกระทรวง รวมทั้งแบบรายงานผลการทบทวนกฎกระทรวงแนบท้ายกรอบแนวทางดังกล่าว ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (4 พฤศจิกายน 2564) ที่ให้หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานเร่งรัดพิจารณาทบทวนกฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัติต่าง ๆ ให้เหมาะสมแก่กาลปัจจุบันโดยเร็ว ตามหลักการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และให้ สคก. วางกรอบแนวทางในการดำเนินการทบทวนกฎกระทรวงฯ เพื่อเป็นแนวปฏิบัติให้ส่วนราชการต่อไป
                     สคก. รายงานว่า คณะกรรมการพัฒนากฎหมายได้จัดทำกรอบแนวทางการทบทวนกฎกระทรวงตามมติคณะรัฐมนตรี (4 พฤศจิกายน 2564) รวมทั้งแบบรายงานผลการทบทวนกฎกระทรวงท้ายกรอบแนวทางดังกล่าว เพื่ออำนวยความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และ สคก. ได้มีหนังสือแจ้งเวียนส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐเพื่อถือปฏิบัติต่อไปด้วยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 โดยกรอบแนวทางการทบทวนกฎกระทรวงมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
                     1. กำหนดขอบเขตนิยามคำว่า ?กฎกระทรวง? ให้หมายถึงกฎกระทรวงทุกฉบับ และหมายความรวมถึงระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือคำสั่ง ที่กำหนดให้ประชาชนต้องดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดในการติดต่อกับหน่วยงานของรัฐ หรือที่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับอายุใบอนุญาตหรือวิธีการต่ออายุใบอนุญาต หรือที่กำหนดเอกสารให้ประชาชนมีหน้าที่ต้องยื่นหรือแสดงในการติดต่อกับหน่วยงานของรัฐ
                     2. กำหนดวัตถุประสงค์ของการทบทวนกฎกระทรวง โดยเป็นการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่บัญญัติให้รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร
                    3. กำหนดวิธีการทบทวนกฎกระทรวง ให้ส่วนราชการและหน่วยงานอื่นของรัฐแจ้งข้อมูลโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านเว็บไซต์ https://rs.ocs.go.th  โดยให้แจ้งจำนวนกฎหมาย พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ และคำสั่ง ที่ยังใช้บังคับอยู่ และอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานระดับกรม รวมทั้งกำหนดเกณฑ์ทางเนื้อหาให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐจัดทำรายงานการทบทวนฯ ให้ปรากฏสาระสำคัญดังนี้
                               (1) บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่อาศัยเป็นอำนาจในการออกกฎกระทรวง
                               (2) ภาระที่ประชาชนจะต้องดำเนินการในการติดต่อกับหน่วยงานของรัฐ
                               (3) ข้อกำหนดที่อาจจะเกินกรอบอำนาจของกฎหมายแม่บท
                               (4) การเปิดช่องทางให้ประชาชนสามารถใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ในการติดต่อกับหน่วยงานของรัฐ
                               (5) ข้อกำหนดเกี่ยวกับขั้นตอนและระยะเวลาดำเนินการของหน่วยงานของรัฐ
                               (6) ข้อกำหนดเกี่ยวกับอายุใบอนุญาตและวิธีการต่ออายุใบอนุญาต
                               (7) ความชัดเจนเพียงพอของหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ความขัดแย้ง หรือซ้ำซ้อนกันเองหรือซ้ำซ้อนกับหลักเกณฑ์ของหน่วยงานอื่นในเรื่องเดียวกัน
                               (8) กฎหมายอื่นที่กำหนดให้ประชาชนต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งในเรื่องเดียวกัน
                               (9) ข้อกำหนดเกี่ยวกับแนวทางการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
                               (10) เอกสารที่กำหนดให้ประชาชนต้องใช้ในการติดต่อกับหน่วยงานของรัฐ
                               (11) ค่าธรรมเนียม อากร ค่าใช้จ่ายอื่นให้แก่ทางราชการ
                              (12) ข้อเสนอยกเลิก แก้ไข หรือปรับปรุงกฎกระทรวง ในกรณีที่เป็นการแก้ไข ปรับปรุง ให้ระบุว่าจะแก้ไขปรับปรุงเรื่องใดให้เป็นอย่างไร
                     4. กำหนดแบบรายงานผลการทบทวนกฎกระทรวงแนบท้ายกรอบแนวทางฯ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน

7. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชุมพร เขตเลือกตั้งที่ 1 และจังหวัดสงขลา เขตเลือกตั้งที่ 6 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. ....
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชุมพร เขตเลือกตั้งที่ 1 และจังหวัดสงขลา เขตเลือกตั้งที่ 6 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. ?. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (สำนักงาน กกต.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน และดำเนินการต่อไปได้
                    ทั้งนี้ สำนักงาน กกต. เสนอว่า
                    1. เนื่องด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ นายชุมพล จุลใส และนายถาวร เสนเนียม สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (4) (6) และมาตรา 96 (2) หรือไม่ เนื่องจากเมื่อวันนี้ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ศาลอาญามีคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ 317/2564 ลงโทษจำคุกนายชุมพล จุลใส และนายถาวร เสนเนียม และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของนายชุมพล จุลใส มีกำหนดห้าปีนับแต่วันมีคำพิพากษา
                    2. ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัย เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2564 ว่า
                              2.1 สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ นายชุมพล จุลใส สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (4) (6) และมาตรา 96 (2) เนื่องจากต้องคำพิพากษาของศาลอาญาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาลอาญา
                              2.2 สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ นายถาวร เสนเนียม สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (6) เนื่องจากต้องคำพิพากษาของศาลอาญาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาลอาญา
ทั้งนี้ โดยมีผลนับแต่วันที่ 7 เมษายน 2564 ซึ่งเป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายชุมพล จุลใส และนายถาวร เสนเนียม หยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง
                    3. ดังนั้น เมื่อสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของบุคคลดังกล่าวสิ้นสุดลง ทำให้มีตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งว่างลงและต้องดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่างภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 105 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 102 โดยให้ถือว่าวันที่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลง คือ วันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟังโดยชอบตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 76 วรรคหนึ่ง            ที่บัญญัติให้คำวินิจฉัยของศาลมีผลในวันอ่าน คือ วันที่ 8 ธันวาคม 2564
                    4. ในการนี้ เพื่อให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชุมพร เขตเลือกตั้งที่ 1 และจังหวัดสงขลา เขตเลือกตั้งที่ 6 แทนตำแหน่งที่ว่าง เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 จึงได้จัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชุมพร เขตเลือกตั้งที่ 1 และจังหวัดสงขลา เขตเลือกตั้งที่ 6 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. .... ขึ้น เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่างภายในสี่สิบห้าวัน (ภายในวันที่ 21 มกราคม 2565) และจัดทำร่างแผนการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชุมพรเขตเลือกตั้งที่ 1 และจังหวัดสงขลา เขตเลือกตั้งที่ 6 แทนตำแหน่งที่ว่าง โดยจะประกาศกำหนดหน่วยเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 25 วันก่อนวันเลือกตั้ง (ภายในวันที่ 21 ธันวาคม 2564) ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งคาดว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 16 มกราคม 2565
                    สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
                    กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชุมพร เขตเลือกตั้งที่ 1 และจังหวัดสงขลา เขตเลือกตั้งที่ 6 แทนตำแหน่งที่ว่าง

8. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ภายในระยะเวลาที่กำหนด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการของร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ภายในระยะเวลาที่กำหนด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว
                    ทั้งนี้ คค. เสนอว่า เนื่องจากวันหยุดราชการประจำปีกำหนดให้วันศุกร์ที่ 31 ธันวาคม 2564 เป็นวันหยุดสิ้นปี และวันจันทร์ที่ 3 มกราคม 2565 เป็นวันหยุดชดเชยวันขึ้นปีใหม่ ทำให้มีวันหยุดต่อเนื่องในช่วงเทศกาลปีใหม่ของปี พ.ศ. 2565 ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2564 ถึงวันที่ 3 มกราคม 2565 รวม 4 วัน ดังนั้นจึงคาดหมายได้ว่าจะมีประชาชนจำนวนมากเดินทางกลับภูมิลำเนา เป็นผลให้การจราจรติดขัดในทุกสายทางที่ออกและเข้ากรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยเฉพาะบริเวณหน้าด่านเก็บค่าผ่านทาง ซึ่งคาดว่าจะมีปัญหาการจราจรติดขัดหลายกิโลเมตร เนื่องจากประชาชนรอชำระค่าธรรมเนียมผ่านทางการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก)ตอนบางปะอิน -             บางพลี และตอนพระประแดง - บางแค ช่วงพระประแดง - ต่างระดับบางขุนเทียน ในวันหยุดต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อช่วยสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเดินทางได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ทำให้การจราจรมีความคล่องตัว ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดภาระค่าครองชีพของประชาชน รวมทั้งเป็นการลดการใช้พลังงานของประเทศ และลดมลพิษทางอากาศ สมควรยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก) ตอนบางปะอิน - บางพลี ตอน               พระประแดง - บางแค ช่วงพระประแดง - ต่างระดับบางขุนเทียน ในช่วงเทศกาลปีใหม่ของปี2565 ตั้งแต่เวลา 00.01 นาฬิกา ของวันพฤหัสบดีที่ 30 ธันวาคม 2564 ถึงเวลา 24.00 นาฬิกา ของวันจันทร์ที่ 3 มกราคม 2565
                    สาระสำคัญ
                    ให้ยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก) ตอนบางปะอิน - บางพลี และตอนพระประแดง - บางแค ช่วงพระประแดง - ต่างระดับบางขุนเทียน ตั้งแต่เวลา 00.01 นาฬิกา ของวันพฤหัสบดีที่ 30 ธันวาคม 2564 ถึงเวลา 24.00 นาฬิกา ของวันจันทร์ที่ 3 มกราคม 2565

เศรษฐกิจ สังคม

9. เรื่อง การจัดทำโครงการบ้านพักข้าราชการ (บ้านหลวง) ของกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการโครงการบ้านพักข้าราชการ (บ้านหลวง) ซึ่งดำเนินการโดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จำนวน 19 โครงการ 263 หน่วย ภายในวงเงิน 211,704,246 บาท ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 ? 2579) โดยเห็นควรให้ ศธ. ดำเนินโครงการดังกล่าวให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงและเป็นธรรม พร้อมจัดทำรายละเอียด แบบรูปรายการ ประมาณการค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันในแต่ละระดับ โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าและประหยัด เป้าหมาย ประโยชน์ที่จะได้รับ และผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ รวมทั้งจัดลำดับความสำคัญของโครงการ แผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสม ตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รายงานว่า
                    1. ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 ? 2579) ซึ่งรวมถึงโครงการฯ บ้านหลวงด้วย โดยให้ พม. (กคช.) เป็นผู้ดำเนินโครงการแทนส่วนราชการที่มีความต้องการจัดทำที่อยู่อาศัยในรูปแบบรัฐสวัสดิการ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มีหน่วยงานที่มีความพร้อมในการดำเนินการ 1 หน่วยงาน ได้แก่ ศธ. โดย ศธ. (สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา) ได้เสนอขอจัดทำโครงการฯ บ้านหลวง จำนวน 19 โครงการ รวม 263 หน่วย วงเงินงบประมาณ 211.70 ล้านบาท
                    2. โครงการฯ บ้านหลวง ของ ศธ. มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
                              2.1 วัตถุประสงค์
                                        2.1.1 เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตด้านที่อยู่อาศัยให้แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยของหน่วยงานของรัฐ โดยการจัดเตรียมที่อยู่อาศัยในรูปแบบบ้านหลวงที่ได้มาตรฐาน มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม พร้อมสาธารณูปโภค สาธารณูปการที่จำเป็น
                                        2.1.2 เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยของหน่วยงานของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ห่างไกลจากภูมิลำเนาของตน ให้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มกำลังความสามารถจากการได้รับการสนับสนุนสวัสดิการด้านที่อยู่อาศัย
                                        2.1.3 เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐในการเสริมสร้างโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการสังคมและที่อยู่อาศัย เป็นการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม
                              2.2 รายละเอียดของแต่ละโครงการ
หน่วยงานเจ้าของโครงการ : ที่ตั้งโครงการ          ประเภทอาคาร          จำนวน (หน่วย)
1. วิทยาลัยเทคนิคเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี : ใช้ที่ดินของวิทยาลัยเทคนิคเขมราฐ          อาคารชุดพักอาศัยสูง 4 ชั้น
          14
2. วิทยาลัยเทคนิควาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม : ใช้ที่ดินของวิทยาลัยเทคนิควาปีปทุม
บ้านแถวชั้นเดียว
          14
3. วิทยาลัยการอาชีพบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร : ใช้ที่ดินของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา          อาคารชุดพักอาศัยสูง 4 ชั้น
          14
          บ้านเดี่ยว 2 ชั้น          1
4. วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต : ใช้ที่ดินที่ราชพัสดุ          อาคารชุดพักอาศัยสูง 4 ชั้น
          14
5. วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี 2 จังหวัดราชบุรี : ใช้ที่ดินของรัฐภายใต้การดูแลของ ศธ.          อาคารชุดพักอาศัยสูง 4 ชั้น
          14
6. วิทยาลัยการอาชีพเลิงนกทา จังหวัดยโสธร : ใช้ที่ดินของรัฐภายใต้การดูแลของ ศธ.          บ้านแถวชั้นเดียว          15
7. วิทยาลัยการอาชีพประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ : ใช้ที่ดินของวิทยาลัยการอาชีพประโคนชัย          อาคารชุดพักอาศัยสูง 4 ชั้น          9
          บ้านเดี่ยวชั้นเดียว          1
8. วิทยาลัยเทคนิคกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ : ใช้ที่ดินของวิทยาลัยเทคนิคกันทรลักษ์          อาคารชุดพักอาศัยสูง 4 ชั้น
          32
9. วิทยาลัยเทคนิคธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี : ใช้ที่ดินของวิทยาลัยเทคนิคปทุมธานี          อาคารชุดพักอาศัยสูง 4 ชั้น
          14
10. วิทยาลัยการอาชีพนาแก จังหวัดนครพนม : ใช้ที่ดินของรัฐภายใต้การดูแลของ ศธ.          บ้านเดี่ยว 2 ชั้น
          1
11. วิทยาลัยการอาชีพกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี : ใช้ที่ดินของรัฐภายใต้การดูแลของ ศธ.          บ้านแถวชั้นเดียว          10
12. วิทยาลัยสารพัดช่างมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม : ใช้ที่ดินของรัฐภายใต้การดูแลของ ศธ.          อาคารชุดพักอาศัยสูง 4 ชั้น
          14
13. วิทยาลัยเทคนิคพัทยา จังหวัดชลบุรี : ใช้ที่ดินของวัด          อาคารชุดพักอาศัยสูง 4 ชั้น
          14
14. วิทยาลัยการอาชีพแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ : ใช้ที่ดินของรัฐภายใต้การดูแลของ ศธ.          อาคารชุดพักอาศัยสูง 4 ชั้น
          14
15. วิทยาลัยเทคนิคลำพูน จังหวัดลำพูน: ใช้ที่ ดินของวิทยาลัยเทคนิคลำพูน          อาคารชุดพักอาศัยสูง 4 ชั้น
          14
16. วิทยาลัยเทคนิคสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว : ใช้ที่ดินของวิทยาลัยเทคนิคสระแก้ว          อาคารชุดพักอาศัยสูง 4 ชั้น          14
17. วิทยาลัยการอาชีพโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด : ใช้ที่ดินของวิทยาลัยการอาชีพโพนทอง          อาคารชุดพักอาศัยสูง 4 ชั้น
          14
18. วิทยาลัยการอาชีพพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม : ใช้ที่ดินของวิทยาลัยการอาชีพพยัคฆภูมิพิสัย          บ้านแถวชั้นเดียว
          6
19. วิทยาลัยเทคนิคกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ : ใช้ที่ดินของวิทยาลัยเทคนิคกันทรารมย์          บ้านเดี่ยว 2 ชั้น          20
รวม 19 โครงการ          263 หน่วย
                    ทั้งนี้ มีแผนการก่อสร้างโครงการ 3 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ถึงปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

10. เรื่อง เป้าหมายของนโยบายการเงิน ประจำปี 2565
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเป้าหมายของนโยบายการเงิน ประจำปี 2565 พร้อมข้อตกลงร่วมกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในการกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลาง และเป้าหมายสำหรับปี 2565 ซึ่งกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินไว้ที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงร้อยละ 1 - 3 ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอ และให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรายงานว่า ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะประธาน กนง. ได้ประชุมหารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2564 และได้เห็นชอบร่วมกันในการกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลาง และเป้าหมายสำหรับปี 2565 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
                    1. พลวัตและแนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) (โรคโควิด 19)
                    เศรษฐกิจโลกและไทยได้รับผลกระทบอย่างมากทั้งในระยะสั้นและระยะยาวจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่มีความยืดเยื้อ ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อไทยในช่วงที่ผ่านมาและในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงกับขอบล่างของเป้าหมายนโยบายการเงินโดยมีปัจจัยสำคัญคือ (1) กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลงในวงกว้างตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง อาจทำให้เศรษฐกิจในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป (2) รายได้และกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ในระดับต่ำจากตลาดแรงงานที่มีความเปราะบางตามการเพิ่มขึ้นของผู้ว่างงานทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง และ (3) ราคาสินค้าที่ปรับลดลงจากพฤติกรรมของผู้ผลิตและผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทั้งจากการแข่งขันด้านราคาผ่านธุรกิจ e - Commerce และต้นทุนการผลิตที่ต่ำลงจากการนำเครื่องจักรมาใช้ทดแทนแรงงานในกระบวนการผลิต (Automation) มากขึ้น อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อไทยในอนาคตอาจจะมีความผันผวนเพิ่มขึ้นจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความผันผวนของราคาพลังงานและราคาอาหารสด การเกิดภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Disruption) การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (Deglobalization) ที่อาจทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นได้ เป็นต้น
                    2. การกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลาง และเป้าหมายสำหรับปี 2565
                    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและ กนง. มีข้อตกลงร่วมกันโดยกำหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วงร้อยละ 1 - 3 เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลาง และเป็นเป้าหมายสำหรับปี 2565 โดยการกำหนดอัตราเงินเฟ้อในช่วงดังกล่าวเป็นระดับที่เหมาะสมกับบริบทของเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เนื่องจาก (1) แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าและในระยะปานกลางจะเคลื่อนไหวอยู่ใกล้เคียงกับขอบล่างของเป้าหมายและไม่ได้ปรับลงอย่างมีนัยสำคัญ สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างช้า ๆ รวมถึงมีความเป็นไปได้ที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะปรับเพิ่มขึ้นจากราคาพลังงาน การชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานและปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) (2) สามารถยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อของสาธารณชนได้ดี โดยในปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ยังอยู่ในกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินที่กำหนด (Well - Anchored) และ (3) การกำหนดเป้าหมายแบบช่วงที่มีความกว้างร้อยละ 2 มีความยืดหยุ่นเพียงพอรองรับความผันผวนของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงช่วยเอื้อให้การดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่ไปกับการดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพและการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินสามารถกระทำได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้สถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง
                    ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมากและยังมีความไม่แน่นอนสูง กระทรวงการคลัง (กค.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะร่วมมือในการดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายการเงินให้มีความสอดประสานและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้สามารถบรรเทาผลกระทบได้อย่างตรงจุดและทันการณ์ ทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว มั่นคงและยั่งยืน รองรับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจทั้งในช่วงระยะสั้น กลาง และยาว โดยมุ่งเน้นการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) และสร้างรายได้ให้กับประชาชน ซึ่งในปัจจุบัน กนง. ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ และพร้อมใช้เครื่องมือในการดำเนินนโยบายการต่าง ๆ ที่มีอยู่ในลักษณะผสมผสาน เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการดำเนินนโยบายการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
                    3. การติดตามความเคลื่อนไหวของเป้าหมายของนโยบายการเงิน
                    กค. และ ธปท. จะหารือร่วมกันเป็นประจำและ/หรือเมื่อมีเหตุจำเป็นอื่นตามที่ทั้งสองหน่วยงานจะเห็นสมควร เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายของนโยบายการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพและเพื่อให้การดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายการเงินเป็นไปในทิศทางที่สอดประสานกัน โดย กนง. จะจัดทำรายงานผลการดำเนินนโยบายการเงินทุกครึ่งปี ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับ (1) การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมา (2) แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในระยะถัดไป และ (3) การคาดการณ์สภาวะเศรษฐกิจในอนาคต เพื่อแจ้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทราบ รวมถึงจะเผยแพร่รายงานนโยบายการเงินทุกไตรมาสเป็นการทั่วไปเพื่อเพิ่มการรับรู้ของสาธารณชนถึงแนวทางการตัดสินนโยบายการเงินของ กนง. ซึ่งจะช่วยเพิ่มความโปร่งใสและประสิทธิภาพของการดำเนินนโยบายการเงินในอนาคต
                    4. การเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปออกนอกกรอบเป้าหมาย
                    กนง. ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะยังคงอยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงกับขอบล่างของเป้าหมายนโยบายการเงินไปอีกระยะหนึ่ง รวมถึงอาจมีความผันผวนและมีพลวัตที่เปลี่ยนไปได้หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 สิ้นสุดลง ดังนั้น กนง. จะติดตามแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อดังกล่าว รวมถึงประเมินผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่มีต่อพลวัตเงินเฟ้อไทยในระยะต่อไป ทั้งนี้ หากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาหรือประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า เคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมาย กนง. จะมีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยจะชี้แจงถึง (1) สาเหตุของการเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมายดังกล่าว (2) แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมาและในระยะต่อไปเพื่อนำอัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่เป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม และ (3) ระยะเวลาที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่เป้าหมาย นอกจากนี้ หากอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยตามแนวทางข้างต้นยังคงอยู่นอกกรอบเป้าหมาย กนง. จะมีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทุก 6 เดือน และจะรายงานความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาเป็นระยะตามสมควร
                    5. การแก้ไขเป้าหมายของนโยบายการเงิน
                    ในกรณีที่มีเหตุอันสมควรหรือจำเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ กนง. อาจตกลงร่วมกันเพื่อแก้ไขเป้าหมายของนโยบายการเงินได้ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา

11. เรื่อง ขออนุมัติแผนหลักการพัฒนา ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอดังนี้
                    1. เห็นชอบแผนหลักการพัฒนา ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ รวม 5 เป้าประสงค์ ระยะเวลาดำเนินการ 11 ปี (พ.ศ. 2564 - 2574) รวมจำนวน 84 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 82,563.87 ล้านบาท โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแผนหลักการพัฒนาฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบดำเนินการตามกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป
                    2. มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) โดยกรมชลประทานจัดทำรายละเอียดการออกแบบ พร้อมทั้งแผนปฏิบัติการและงบประมาณให้ครบถ้วน แล้วเสนอต่อคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญภายใต้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ต่อไป
                    สำหรับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินงานตามแผนงานและโครงการภายใต้แผนหลักการพัฒนา ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ เห็นควรให้ สทนช. ร่วมกับหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องพิจารณาจัดลำดับความสำคัญของโครงการ ความจำเป็นเร่งด่วน วิธีการดำเนินงาน และการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยคำนึงถึงความประหยัด ความคุ้มค่า ผลสัมฤทธิ์ และประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการดำเนินโครงการ รวมทั้งจัดเตรียมความพร้อมในทุกมิติ ตลอดจนความครอบคลุมของทุกแหล่งเงิน การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ และจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    สทนช. รายงานว่า
                    1. ข้อมูลพื้นฐาน
                              1.1 คลองแสนแสบถูกขุดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2380 มีความยาวตลอดสาย ประมาณ 74 กิโลมตร เริ่มจากสะพานผ่านฟ้าลีลาศไปทางทิศตะวันออกจนถึงสุดเขตกรุงเทพมหานคร เขตหนองจอก และเชื่อมกับคลองบางขนาก ซึ่งไหลไปลงแม่น้ำบางปะกงในเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยส่วนที่อยู่นอกเขตกรุงเทพมหานคร อยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราและรับผิดชอบโดยกรมชลประทาน มีความยาวประมาณ 26.5 กิโลมตร และมีความกว้างประมาณ 30 - 40 เมตร และส่วนที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร รับผิดชอบโดยสำนักการระบายน้ำ มีความยาวประมาณ 47.5 กิโลเมตร มีความกว้างประมาณ 20 - 30 เมตร และมีระดับขุดลอกเฉลี่ย -3.00 เมตร เทียบกับระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) รวมทั้งมีคลองสำคัญเชื่อมต่อ ความยาวประมาณ0.80 ? 12.50 กิโลเมตร เช่น คลองสามเสน คลองลาดพร้าว คลองบางเตย คลองตัน เป็นต้น
                              1.2 ปัจจุบัน คลองแสนแสบและคลองสาขามีปัญหาน้ำเสีย ซึ่งเกิดจาก (1) กิจกรรมครัวเรือนหรือชุมชนที่มีบริเวณติดคลองแสนแสบและคลองสาขา (ร้อยละ 70 ของปริมาณน้ำเสียที่ปล่อยลงคลองแสนแสบและคลองสาขาทั้งหมด) (2) โรงงาน สถานประกอบการต่าง ๆ ที่จะต้องจัดระบบการระบายน้ำและระบบบำบัดน้ำเสียให้มีคุณภาพมาตรฐานก่อนระบายสู่แหล่งรองรับน้ำทิ้ง (ร้อยละ 29) และ (3) การเดินเรือและการสะสมของตะกอนท้องคลอง (ร้อยละ 1) โดยจากการประเมินและตรวจสอบคุณภาพน้ำในคลองแสนแสบ พบว่า ในปี 2563 ปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้นทั้งหมดในพื้นที่ที่คาดว่าจะระบายลงคลองแสนแสบโดยไม่ผ่านการบำบัด อยู่ที่ 807,672ลูกบาศก์เมตรต่อวัน คิดเป็นค่าความสกปรกในรูปบีโอดีที่เกิดขึ้น (BOD loading)* เท่ากับ 64,614 กิโลกรัมต่อวัน มีค่าเฉลี่ยความสกปรกในรูปบีโอดี (BOD)* ในพื้นที่ต่าง ๆ ระหว่าง 6.9 มิลลิกรัมต่อลิตร - 12.2 มิลลิกรัมต่อลิตร โดยคลองสาขาต่าง ๆ มีความสกปรกมาก เช่น คลองลาดพร้าวมีค่าความสกปรกในรูปบีโอดีที่เกิดขึ้น (BOD loading)* 9,832 กิโลกรัมต่อวัน และมีค่าเฉลี่ยความสกปรกในรูปบีโอดี (BOD)* อยู่ที่ 18 มิลลิกรัมต่อลิตร
                    2. การดำเนินการที่ผ่านมา
                              2.1 กนช. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหาร พัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูคลองแสนแสบ โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธาน เพื่อกำกับติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563
                              2.2 ในคราวประชุม กนช. ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการพัฒนา ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ จำนวน 84 โครงการ วงเงิน 79,955.46 ล้านบาท โดยมอบหมายให้ กทม. เสนอแผนปฏิบัติการดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามความเห็นของคณะอนุกรรมการฯ และข้อสั่งการของประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
                              2.3 ผลการประชุมคณะอนุกรรมการบริหาร พัฒนา อนุรักษ์และฟื้นฟูคลองแสนแสบ ครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2564 สรุปได้ ดังนี้
                                        2.3.1 ผู้แทน สศช. ให้ความเห็นต่อที่ประชุมว่าจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563 หากแผนปฏิบัติการฯ ผ่านความเห็นชอบจาก กนช. ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานสามารถดำเนินการตามขั้นตอนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไปได้ โดยไม่ต้องนำกลับมาเสนอ สศช. อีกครั้ง
                                        2.3.2 ที่ประชุมมีมติเห็นควรเปลี่ยนชื่อ ?แผนปฏิบัติการพัฒนา ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ? เป็น ?แผนหลักการพัฒนา ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ? และมอบหมายให้ สทนช. เสนอต่อ กนช. และคณะรัฐมนตรี และเห็นควรให้หน่วยงานปรับแผนดังกล่าวโดยด่วนเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป ซึ่ง สทนช. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังกล่าวแล้ว
                              2.4 ในคราวประชุม กนช. ครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบแผนหลักการพัฒนา ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ จำนวน 84 โครงการ วงเงิน 82,563.87 ล้านบาท และเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามความเห็นของฝ่ายเลขานุการ กนช. ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป ดังนี้
                                        2.4.1 เห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการพัฒนาปรับปรุง พื้นฟูคลองแสนแสบตามผลการศึกษาการจัดทำผังน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำบางปะกง
                                        2.4.2 เห็นควรให้ กทม. และกรมชลประทานพิจารณาการปรับปรุงคลองแสนแสบและคลองบางขนากให้สอดคล้องกับผลการศึกษาการจัดทำผังน้ำแผนหลักการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง พร้อมทั้งออกแบบองค์ประกอบให้ครบถ้วน (แผนปฏิบัติการและงบประมาณ) และเสนอผ่านคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญพิจารณาองค์ประกอบให้สมบูรณ์ก่อนเสนอ กนช. ต่อไป
                                        2.4.3 เห็นควรให้กรมชลประทานและจังหวัดฉะเชิงเทราดำเนินการกำจัดผักตบชวาโดยใช้งบดำเนินงานของหน่วยงาน
                                        [สทนช. แจ้งอย่างไม่เป็นทางการว่า การดำเนินการตามความเห็นของฝ่ายเลขานุการ กนช. (ตามข้อ 2.4.1 ? 2.4.3) เป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ สทนช. ซึ่ง สทนช. จะได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป]
                    3. สาระสำคัญของแผนหลักการพัฒนา ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ
                              3.1 วิสัยทัศน์ : เพื่อให้คลองแสนแสบกลับมามีระบบนิเวศอยู่ในเกณฑ์ดี
                              3.2 ระยะเวลาดำเนินการ : แบ่งผลสัมฤทธิ์ออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน (ปี พ.ศ. 2564) ระยะกลาง (ปี พ.ศ. 2565 - 2570) และระยะยาว (ปี พ.ศ. 2571 ? 2574)
                              3.3 งบประมาณจำแนกตามหน่วยงานรับผิดชอบ ระยะเวลาดำเนินการ และแหล่งที่มาของงบประมาณ
                                                                                                         หน่วย : ล้านบาท
หน่วยงาน
รับผิดชอบ          จำนวนโครงการ          ระยะเร่งด่วน
(2564)          ระยะกลาง
(2565 - 2570)          ระยะยาว
(2571 - 2574)          รวม
กทม.          30          1,904.42          42,066.05          28,792.00          72,762.47
กรมชลประทาน          3          226.99          7,541.01          -          7,768.00
จังหวัดฉะเชิงเทรา
/องค์การจัดการ
น้ำเสีย          45          0.18          723.55          1,254.00          1,977.73
- จังหวัด
ฉะเชิงเทรา          18          0.18          11.49          -          11.67
- องค์การจัดการน้ำเสีย          27          -          712.06          1,254.00          1,966.06
กรมเจ้าท่า          2          38.32          -          -          38.32
กรมส่งเสริมคุณภาพ
สิ่งแวดล้อม          2          1.00          16.35          -          17.35
กรมโรงงาน
อุตสาหกรรม          1          ใช้งบดำเนินงาน
กรมควบคุมมลพิษ          1          ใช้งบดำเนินงาน
รวม          84          2,170.91          50,346.96          30,046.00          82,563.87
งบประมาณทั้งสิ้น 82,563.87 ล้านบาท แบ่งเป็น (1) เงินงบประมาณแผ่นดิน 67,205.37 ล้านบาท (ร้อยละ 81.40) (2) เงินงบประมาณของ กทม. 2,890.50 ล้านบาท (ร้อยละ 3.50) และ (3) เงินจากเอกชนร่วมลงทุน 12,468.00 ล้านบาท (ร้อยละ 15.10)
                              3.4 เป้าประสงค์ โครงการ งบประมาณ และหน่วยงานรับผิดชอบ : 5 เป้าประสงค์ โดยประกอบด้วยโครงการ จำนวน 84 โครงการ วงเงิน 82,563.87 ล้านบาท รับผิดชอบโดย 8 หน่วยงาน ดังนี้
โครงการ          วงเงิน          หน่วยงานรับผิดชอบ
เป้าประสงค์ที่ 1 การเสริมสร้างความปลอดภัยในการสัญจรทางน้ำของประชาชน
10 โครงการ
เช่น (1) โครงการเดินเรือในคลองแสนแสบส่วนต่อขยายระยะทาง 10.50 กิโลเมตร วงเงิน 130 ล้านบาท
(2) งานต่อเรือไฟฟ้า 12 ลำ วงเงิน 90.6 ล้านบาท เป็นต้น          355.84 ล้านบาท          กทม. กรมเจ้าท่า และจังหวัดฉะเชิงเทรา
เป้าประสงค์ที่ 2 การปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์บริเวณคลองแสนแสบ
14 โครงการ
เช่น (1) โครงการปรับภูมิทัศน์บริเวณคลองแสนแสบ โดยใช้งบดำเนินงาน (2) โครงการก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กข้ามคลองแสนแสบ รวม 4 โครงการ วงเงินรวม 9.59 ล้านบาท เป็นต้น          10.06 ล้านบาท          กทม. และจังหวัดฉะเชิงเทรา
เป้าประสงค์ที่ 3 การแก้ไขปัญหามลภาวะและคุณภาพน้ำในคลองแสนแสบ
44 โครงการ
เช่น (1) การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางน้ำ โดยใช้งบดำเนินงาน (2) โครงการก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสีย ของ กทม. รวม 3 โครงการ วงเงิน 2,436 ล้านบาท (3) โครงการก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสีย โครงการบำบัดน้ำเสีย และโครงการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย ของ กทม. รวม 10 โครงการ บำบัดน้ำเสียได้รวม 1,267,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน วงเงิน 65,435 ล้านบาท เป็นต้น          69,837.06 ล้านบาท          กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กทม. องค์การจัดการน้ำเสีย และจังหวัดฉะเชิงเทรา
เป้าประสงค์ที่ 4 การป้องกันปราบปราม การบุกรุกทำลายทรัพยากรในคลองแสนแสบ
1 โครงการ
ได้แก่ การสำรวจสิ่งก่อสร้างหรืออาคารต่าง ๆ ที่รุกล้ำลำคลองแสนแสบและคลองสาขา          ใช้งบดำเนินงาน          กทม.
เป้าประสงค์ที่ 5 การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในคลองแสนแสบ
15 โครงการ
เช่น (1) การปรับปรุงคลองบางขนาก ระยะทาง 25.135 กิโลเมตร อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา กิจกรรมก่อสร้างกำแพงกันดิน 2 ฝั่ง พร้อมขุดลอก ระยะทาง 25.135 กิโลเมตร วงเงิน 7,300 ล้านบาท (2) โครงการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก พร้อมระบบรวบรวมน้ำเสียคลองแสนแสบจากบริเวณประตูระบายน้ำมีนบุรี ถึงบริเวณประตูระบายน้ำหนองจอก วงเงิน 1,799.90ล้านบาท เป็นต้น          12,360.91 ล้านบาท          กทม. กรมชลประทาน กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และจังหวัดฉะเชิงเทรา
รวม 5 เป้าประสงค์
84 โครงการ          82,563.87 ล้านบาท          8 หน่วยงาน
ได้แก่ กทม. กรมชลประทาน จังหวัดฉะเชิงเทรา องค์การจัดการน้ำเสีย กรมเจ้าท่า กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ และกรมโรงงานอุตสาหกรรม

                              3.5 สรุปผลสัมฤทธิ์รวม
                                        3.5.1 มีการพัฒนาระบบขนส่งและความปลอดภัยทางน้ำโดยมีท่าเทียบเรือเพิ่มขึ้นครอบคลุมคลองแสนแสบในกรุงเทพมหานครทั้งสาย โดยใช้เรือไฟฟ้าในการสัญจร รองรับการใช้บริการ 800 ? 1,000 คนต่อวัน พร้อมติดตั้งกล้องวงจรปิดในท่าเรือคลองแสนแสบ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยของผู้โดยสาร
                                        3.5.2 มีการแก้ไขปัญหามลภาวะและคุณภาพน้ำในคลองแสนแสบอย่างครบวงจร ทั้งด้านการบังคับใช้กฎหมายกับโรงงาน และอาคารประเภทต่าง ๆ พร้อมมีระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียรวม 39 แห่ง รองรับการบำบัดน้ำเสียในคลองแสนแสบได้ 1,364,525 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
                                        3.5.3 มีการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในคลองแสนแสบ ได้แก่
                                                  (1) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีอุโมงค์ระบายน้ำสามารถเร่งการระบายน้ำได้ 30 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และเขื่อนป้องกันตลิ่ง 33.32 กิโลเมตร ช่วยเพิ่มพื้นที่ที่ได้รับการป้องกันน้ำท่วม 96,875 ไร่
                                                  (2) ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา มีสถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ เครื่องสูบน้ำและปรับปรุงคลอง ช่วยให้คลองระบายน้ำได้ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ช่วยเพิ่มพื้นที่ที่ได้รับการป้องกันน้ำท่วม 15,625 ไร่
* บีโอดี (Biochemical Oxygen Demand : BOD) คือ ค่าปริมาณออกซิเจนที่จุลินทรีย์ต้องใช้ในการย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสียภายใต้สภาวะที่มีออกซิเจน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งในการบ่งบอกมลพิษในน้ำที่มาจากสารอินทรีย์โดยมักแสดงในหน่วยมิลลิกรัมของออกซิเจนที่ต้องใช้ต่อน้ำหนึ่งลิตร ภายใต้สภาวะมาตรฐานของการวิเคราะห์ที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 5 วัน โดยน้ำที่มีค่าบีโอดีสูงมากแสดงว่ามีสารอินทรีย์อยู่มากและต้องใช้ออกซิเจนเพื่อย่อยสลายสารอินทรีย์ดังกล่าวมาก แหล่งน้ำที่บริสุทธิ์มักมีค่าบีโอดีต่ำกว่า 1 มิลลิกรัมต่อลิตร แหล่งน้ำที่มีมลพิษปานกลางจะมีค่าบีโอดีอยู่ที่ 2 - 8 มิลลิกรัมต่อลิตร แหล่งน้ำที่มีมลพิษอย่างรุนแรงจะมีค่าบีโอดีมากกว่า 8 มิลลิกรัมต่อลิตร
บีโอดีที่เกิดขึ้น (BOD loading) หรือค่าภาระอินทรีย์ คือ ปริมาณบีโอดีรวมที่เกิดขึ้นจากน้ำเสียทั้งหมด ซึ่งบ่งบอกภาระในการบำบัดน้ำเสียทั้งหมดของระบบบำบัดน้ำเสีย โดยมักแสดงในหน่วยกิโลกรัมของบีโอดีต่อวัน คำนวณจากการนำบีโอดี (มิลลิกรัมต่อลิตร) คูณด้วยปริมาณน้ำเสียต่อวัน (ลิตร)

12. เรื่อง ผลการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 เรื่อง การป้องกันและตรวจสอบการบุกรุกที่ดินของรัฐและแนวทางการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่ทำการเกษตรในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาการทำการเกษตรในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ภายใต้ประเด็นปัญหาหลัก 3 ประเด็น ได้แก่ (1) ประเด็นปัญหาการป้องกันการบุกรุกที่ดินของรัฐเพื่อทำการเกษตร จำนวน 3 แนวทาง (2) ประเด็นปัญหาการทำการเกษตรในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิหรือไม่ได้รับอนุญาต จำนวน               3 แนวทาง และ (3) ประเด็นปัญหาการบริหารจัดการการพัฒนาพื้นที่และผลผลิตทางการเกษตร (ภายหลังจากการจัดที่ดินหรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายแล้ว) จำนวน 6 แนวทาง ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) เสนอ
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    แนวทางการแก้ไขปัญหาการทำเกษตรในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ
ประเด็นปัญหา          แนวทางการแก้ไขปัญหา
1. การป้องกันการบุกรุกที่ดินของรัฐเพื่อทำการเกษตร          (1) กำชับผู้มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาตามกฎหมายในการควบคุมกำกับดูแล ได้แก่ นายอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเฝ้าระวัง ตรวจสอบการบุกรุก พร้อมทั้งดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
          (2) จัดการประชุมในพื้นที่เพื่อเข้าพบประชาชน สร้างความรู้ความเข้าใจ ประชาสัมพันธ์หารือการแก้ไขปัญหา การบุกรุกที่ดินของรัฐ
          (3) ความชัดเจนของแนวเขตที่ดินของรัฐจากการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1:4000 (One Map)
2. การทำการเกษตรในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิหรือไม่ได้รับอนุญาต          (1) นำที่ดินของรัฐที่ถูกบุกรุกเข้าสู่กระบวนการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน โดยอนุญาตให้ทำกินและอยู่อาศัยในลักษณะแปลงรวมโดยไม่ให้กรรมสิทธิ์ตามแนวทางของ คทช. หรือดำเนินการตามแนวทางตามที่กฎหมายเฉพาะกำหนดไว้ เช่น การรับรองสิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ดิน โดยการจัดให้เช่าตามกฎหมายที่ราชพัสดุ
          (2) ดำเนินการรังวัดออก/ตรวจสอบหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในที่ดินอันเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับแนวเขตใช้ร่วมกัน (ที่สาธารณประโยชน์) และที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับเพื่อใช้ประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ (ที่ราชพัสดุ) ให้มีแนวเขตที่ชัดเจน
          (3) การแก้ไขปัญหาการครอบครองในพื้นที่ป่าไม้ให้ดำเนินการตามกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ป่าไม้ทุกประเภท) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ดังนี้
          (3.1) พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ
                    (3.1.1) อนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมายตามโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน
                    (3.1.2) อนุญาตให้อยู่อาศัยและทำกินในลักษณะแปลงรวมโดยออกแบบการดูแลรักษาการใช้ประโยชน์พื้นที่ที่เกื้อกูลต่อการอนุรักษ์ร่วมกันระหว่างชุมชนและหน่วยงานของรัฐ
                    (3.1.3) จัดระเบียบการใช้ที่ดินทำกิน และรับรองการอยู่อาศัยทำกินในลักษณะแปลงรวม ภายใต้การอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน ห้ามบุกรุกขยายพื้นที่
                    (3.1.4) วางแผนร่วมกับราษฎรและกรรมการหมู่บ้านประชาคม/ออกแบบ/คัดเลือกสายพันธุ์ไม้ ตามแนวพระราชดำริปลูกป่า 3 อย่าง
          (3.2) พื้นที่ป่าอนุรักษ์
                    (3.2.1) หลักการจัดการพื้นที่ ชุมชนที่ได้รับการพิจารณาต้องเป็นชุมชนที่อยู่อาศัยเดิม ไม่มีบุคคลภายนอก มีการกำหนดขอบเขตพื้นที่ทำกินที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันและเป็นการให้สิทธิทำกินแต่ไม่มีเอกสารสิทธิ
                    (3.2.2) แนวทางการดำเนินการ ประกอบด้วย 2 ขั้นตอนหลัก คือ การสำรวจการครอบครองที่ดิน และการบริหารจัดการพื้นที่ เพื่อให้ได้ขอบเขตที่ชัดเจนของพื้นที่อยู่อาศัยหรือทำกิน กำหนดเป็น ?เขตบริหารเพื่อการอนุรักษ์? ที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ในรูปแบบการประชาคมของชุมชน
                    (3.2.3) นำแนวเขตบริหารเพื่อการอนุรักษ์ที่ได้ตกลงยอมรับร่วมมือกันมาจัดทำเป็นโครงการอนุรักษ์และดูแล ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบแล้วจึงอนุญาตโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา เพื่อให้ราษฎรสามารถอยู่อาศัยหรือทำกินอย่างเกื้อกูลธรรมชาติได้ตามกฎหมาย
          (3.3) พื้นที่ป่าชายเลน
                    (3.3.1) จัดตั้งชุดลาดตระเวน กำหนดเส้นทางการลาดตระเวนให้ครอบคลุมพื้นที่ป่าชายเลนคงสภาพ และพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ติดตามควบคุมพื้นที่ที่ตรวจยึดคดีแล้ว
                    (3.3.2) การพบผู้นำชุมชนเพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลการป้องกันรักษาป่าชายเลน สร้างความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนร่วมรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนท้องถิ่น
                    (3.3.3) จัดตั้งกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล เพื่อเสริมสร้างศักยภาพความเข้มแข็ง กระบวนการเรียนรู้และพึ่งตนเองของชุมชน
3. การบริหารจัดการการพัฒนาพื้นที่และผลผลิตทางการเกษตร (ภายหลังจากการจัดที่ดินหรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายแล้ว)          (1) การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพภายใต้การดำเนินงานการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนของ คทช.
          (2) การพัฒนาปัจจัยพื้นฐาน การจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร การขุดลอกแหล่งน้ำ ก่อสร้างฝายพร้อมระบบส่งน้ำ
          (3) การพัฒนาลักษณะทางกายภาพของดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ ปรับปรุงบำรุงดินให้เหมาะสมกับการปลูกพืชในพื้นที่
          (4) การจัดการระบบผลผลิตทางการเกษตร การขึ้นทะเบียนเกษตรกร การพัฒนาสินค้าตามมาตรฐานสินค้าเกษตร การได้รับความช่วยเหลือค่าชดเชยแก่ผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตร และระบบประกันภัยพืชทางการเกษตร
          (5) การสนับสนุนให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพและดำรงชีพของเกษตรกร
          (6) การส่งเสริมด้านการตลาด การขยายช่องทางการจำหน่ายพืชผลการเกษตรแบบออนไลน์

13. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (ฉบับที่ 3)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (ฉบับที่ 3) ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    1. คณะอนุกรรมการปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต และบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายในคราวประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 มีมติเห็นชอบรายการค่าบริการจำนวน 874 รายการ เพิ่มเติมในหมวดที่ 3 ค่ายาและสารอาหารทางเส้นเลือด เพื่อปรับปรุงบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ UCEP ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ UCEP (ฉบับที่ 2) เนื่องจากพบว่าการดำเนินการที่ผ่านมาสถานพยาบาลไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายบางรายการที่มีความจำเป็นต้องใช้กับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตโดยเฉพาะในกรณีเป็นโรครักษาร่วม (เช่น ป่วยเป็นโรคเรื้อรังแล้วมีอาการฉุกเฉิน) ซึ่งหากไม่รักษาโรคร่วมดังกล่าวแล้วจะรักษาอาการฉุกเฉินไม่ได้ จึงจำเป็นต้องเพิ่มยาบางรายการเข้ามาในบัญชี ทั้งนี้ ให้เสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานพยาบาลต่อไป ซึ่งคณะกรรมการสถานพยาบาล ในคราวประชุมครั้งที่ 10/2563 เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563 ได้มีมติเห็นชอบด้วยแล้ว
                    2. รายการในหมวดที่ 3 ค่ายาและค่าสารอาหารทางเส้นเลือด จำนวน 874 รายการที่เพิ่มขึ้นมานั้น เป็นรายการยาที่อยู่ในบัญชีข้อมูลยาและรหัสยามาตรฐานของไทย (Thai Medicines Terminology: TMT) ประกอบด้วยรายการ เช่น
รายการ          ข้อบ่งใช้          ราคาต่อหน่วย (บาท)
CELEBREX          บรรเทาอาการอักเสบและอาการปวดในโรคข้อกระดูกเสื่อมและข้ออักเสบรูมาตอยด์          29.188
TAGAMET          ยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำหรือกล้ามเนื้อ เพื่อยับยั้งสารฮิสตามีนที่ช่วยกระตุ้นการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร ใช้รักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก กรดไหลย้อน และหลอดอาหารอักเสบที่เกิดจากกรดไหลย้อน          6.05
AGREMOL          ใช้ในผู้ป่วยหลังผ่าตัด เพื่อป้องกันหลอดเลือดอุดตันในผู้ป่วยที่ใส่ลิ้นหัวใจเทียม          6.55
BLOPRESS (TAKEDA
 PHARMACEUTICAL)          รักษาโรคความดันโลหิตสูงหรือโรคหัวใจล้มเหลว
          42.184
DYNASTAT (SEARLE)          ระงับอาการปวดหลังผ่าตัด          279.7435

14. เรื่อง รายงานผลการให้บริการสาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2563 และประจำงวดครึ่งปีงบประมาณ 2564 ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และรายงานผลการให้บริการสาธารณะประจำปีงบประมาณ 2563 ของการรถไฟแห่งประเทศไทย
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอรายงานผลการให้บริการสาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2563 และประจำงวดครึ่งปีงบประมาณ 2564 ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และรายงานผลการให้บริการสาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2563 ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแล้ว และในคราวประชุมคณะกรรมการเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ (คณะกรรมการฯ) ครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2564 ที่ประชุมได้มีมติรับทราบและมีข้อสังเกตเกี่ยวกับรายงานผลการให้บริการสาธารณะดังกล่าวข้างต้น (เป็นการดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้เงินอุดหนุนบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2554 ข้อ 14 ซึ่งกำหนดให้รัฐวิสาหกิจจัดทำรายงานผลการให้บริการสาธารณะตามที่กำหนดในบันทึกข้อตกลง โดยมีรายละเอียดและระยะเวลาตามที่คณะกรรมการฯ กำหนด เพื่อเสนอรัฐมนตรีเจ้าสังกัดให้ความเห็นชอบก่อนนำเสนอคณะกรรมการฯ แล้วนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี ก่อนประกาศเผยแพร่ต่อสาธารณชนต่อไป) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
                    1. บันทึกข้อตกลงการให้บริการสาธารณะ (บันทึกข้อตกลงฯ) ของ ขสมก. และ รฟท. กำหนด ดังนี้
                              1.1 บันทึกข้อตกลงฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ของ ขสมก. และ รฟท. ข้อ 8.1.2 กำหนดให้รัฐวิสาหกิจจัดทำรายงานผลฯ ประจำปี 2563 เพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้ความเห็นชอบก่อนนำเสนอคณะกรรมการฯ ภายใน 45 วัน หลังจากที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินรับรองงบการเงินปี 2563 แล้วเสร็จ
                              1.2 บันทึกข้อตกลงฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ของ ขสมก. ข้อ 8.1.1 กำหนดให้รัฐวิสาหกิจจัดทำรายงานผลฯ ประจำงวดครึ่งปีงบประมาณ 2564 เพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้ความเห็นชอบก่อนนำเสนอคณะกรรมการฯ ภายใน 60 วันหลังสิ้นสุดรอบการดำเนินงานงวดครึ่งปี ทั้งนี้ หากรัฐวิสาหกิจไม่สามารถดำเนินการได้คณะกรรมการฯ จะพิจารณารวบรวมผลไว้จ่ายตอนสิ้นปี
                    2. รายงานผลฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 และประจำงวดครึ่งปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ของ ขสมก. และ รฟท. คณะกรรมการฯ มีมติสรุปได้ ดังนี้
                              2.1 ขสมก.
                                        2.1.1 รับทราบรายงานผลฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ของ ขสมก. ซึ่งมีผลการขาดทุนจากการให้บริการสาธารณะ จำนวน 2,287.656 ล้านบาท และให้ ขสมก. เบิกจ่ายเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งวดที่ 3 จำนวน 567.494 ล้านบาท
                                        2.1.2 รับทราบรายงานผลฯ ประจำงวดครึ่งปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ของ             ขสมก. ซึ่งมีผลการขาดทุนจากการให้บริการสาธารณะ จำนวน 1,228.509 ล้านบาท และให้ ขสมก. เบิกจ่ายเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งวดที่ 2 จำนวน 467.653 ล้านบาท
                                        2.1.3 ข้อสังเกตเพิ่มเติมของคณะกรรมการฯ ได้แก่
                                                  2.1.3.1 ผลการประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้บริการในปี 2563 อยู่ในระดับต่ำอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับเป้าหมาย จึงเห็นควรให้ ขสมก. จัดทำรายละเอียดของสาเหตุที่ทำให้ผลประเมินดังกล่าวอยู่ในระดับต่ำและแนวทางการแก้ไขปัญหาและปรับปรุงการให้บริการสาธารณะเพื่อให้ประชาชนมีความพึงพอใจในการใช้บริการมากขึ้น พร้อมทั้งให้ ขสมก. พิจารณาความเหมาะสมของรูปแบบการสำรวจความพึงพอใจของผู้ใช้บริการเพื่อให้ได้ผลการประเมินที่สอดคล้องกับความเป็นจริงด้วย
                                                  2.1.3.2 ขสมก. มีจำนวนครั้งที่เกิดอุบัติเหตุ ซึ่ง ขสมก. เป็นฝ่ายผิดอยู่ในระดับที่สูงกว่าเป้าหมายค่อนข้างมากและไม่สามารถชี้แจงสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุได้อย่างชัดเจน จึงเห็นควรให้ ขสมก. จัดทำข้อมูลที่แสดงถึงสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุที่ ขสมก. เป็นฝ่ายผิด พร้อมทั้งแผนการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และควรมีการกำหนดมาตรการกำกับพนักงานขับรถซึ่งเป็นพนักงานแบบจ้างเหมา (Outsource) ด้วย
                                                  2.1.3.3 จำนวนผู้โดยสารในปี 2563 ของ ขสมก. มีจำนวนต่ำกว่าเป้าหมายมาก ซึ่งมีสาเหตุหลักจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในขณะที่จำนวนกิโลเมตรทำการที่เกิดขึ้นจริงลดลงในสัดส่วนไม่มาก จึงเห็นควรให้ ขสมก. ปรับแผนการให้บริการรถโดยสารสาธารณะให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการเดินทางของประชาชนตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยให้คำนึงถึงผลกระทบต่อการให้บริการประชาชนด้วย
                                                  2.1.3.4 ที่ผ่านมา ขสมก. มีรายงานผลฯ โดยเฉพาะรายการต้นทุนการให้บริการสาธารณะที่ไม่สอดคล้องกับบันทึกข้อตกลงฯ จึงเห็นควรให้ ขสมก. รายงานผลฯ ให้สอดคล้องกับรายการรายได้และต้นทุนการให้บริการสาธารณะที่อยู่ในบันทึกข้อตกลงฯ ด้วย
                              2.2 รฟท.
                                        2.2.1 รับทราบรายงานผลฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ของ รฟท. ซึ่งมีผลการขาดทุนจากการให้บริการสาธารณะ จำนวน 3,072.588 ล้านบาท และให้ รฟท. เบิกจ่ายเงินอุดหนุนบริการสาธารณะปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ในส่วนที่เหลือ (งวดที่ 2 และ 3) จำนวน 902.853 ล้านบาท
                                        2.2.2 ข้อสังเกตเพิ่มเติมของคณะกรรมการฯ ได้แก่
                                                  2.2.2.1 รฟท. นำส่งรายงานผลฯ งวดครึ่งปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 และประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เกินกรอบระยะเวลาที่กำหนด รวมทั้งมีข้อมูลไม่ครบถ้วน ส่งผลให้การพิจารณาจัดสรรเงินอุดหนุนบริการสาธารณะมีความล่าช้า ซึ่ง รฟท. จำเป็นต้องกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติม ดังนั้น จึงเห็นควรให้ รฟท. ปรับปรุงการรายงานผลฯ ให้เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดและมีข้อมูลครบถ้วนเพื่อให้ได้รับเงินอุดหนุนบริการสาธารณะเร็วขึ้นและมีสภาพคล่องเพียงพอในการให้บริการสาธารณะต่อไป
                                                  2.2.2.2 ตัวชี้วัดการเกิดอุบัติเหตุต่อการเดินรถของ รฟท. สูงกว่าเป้าหมาย ซึ่งในการให้บริการสาธารณะ รฟท. จะต้องทำให้มั่นใจว่าการให้บริการจะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย ดังนั้น รฟท. ควรพิจารณาเพิ่มมาตรการความปลอดภัย จากที่มีในปัจจุบันหรือจัดทำแผนการปฏิบัติงานที่สามารถลดและป้องกันอุบัติเหตุจากการขนส่งสาธารณะเพื่อลดจำนวนอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
                                                  2.2.2.3 ผลการสำรวจความพึงพอใจของผู้โดยสารบางรายการต่ำกว่าค่าเป้าหมาย เช่น ความพึงพอใจด้านความสะอาดและความเพียงพอของจำนวนห้องน้ำบริเวณสถานี และความพึงพอใจด้านความสะอาดของห้องน้ำ อ่างล้างหน้า และพัดลมบนขบวนรถไฟ ดังนั้น รฟท. จึงควรปรับปรุงแนวทางในการเพิ่มคุณภาพการให้บริการเพื่อเพิ่มความพึงพอใจของผู้ใช้บริการในอนาคต นอกจากนี้ เพื่อให้ผลสำรวจความพึงพอใจของผู้โดยสารสามารถสะท้อนผลการให้บริการสาธารณะที่เหมาะสมและสามารถใช้พัฒนาการให้บริการต่อไป รฟท. ควรพิจารณากำหนดสัดส่วนถ่วงน้ำหนักตามประเด็นความสำคัญเพื่อนำมาใช้ในการวัดผลและประกอบการจัดทำแนวทางการปรับปรุงการให้บริการสาธารณะตามลำดับความสำคัญและเร่งด่วนต่อไป
                                                  2.2.2.4 ที่ผ่านมา รฟท. รายงานรายการต้นทุนไม่สอดคล้องกับบันทึกข้อตกลงฯ จึงเห็นควรให้ รฟท. รายงานผลฯ ให้สอดคล้องกับรายการรายได้และต้นทุนการให้บริการสาธารณะที่อยู่ในบันทึกข้อตกลงฯ ด้วย

15. เรื่อง ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2564
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) เสนอผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564 (นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ) ซึ่งที่ประชุมฯ ได้มีมติรับทราบและพิจารณาผลการดำเนินงานในเรื่องต่าง ๆ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
เรื่อง          ข้อสั่งการของประธาน คทช./
มติ คทช.
1. เรื่องเพื่อทราบ จำนวน 2 เรื่อง
   1.1 คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้ คทช. (เพิ่มเติม) เพื่อดำเนินการพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินของบุคคลในเขตที่ดินของรัฐ 2 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการพิสูจน์สิทธิในที่ดินของรัฐจังหวัด (คพร. จังหวัด) และคณะอนุกรรมการอ่านภาพถ่ายทางอากาศ          ข้อสั่งการของประธาน :คณะอนุกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นใหม่คณะที่ 1 เป็นไปตามอำนาจหน้าที่เดิมที่มีอยู่แล้ว สำหรับคณะที่ 2 มีความสำคัญในการจัดทำฐานข้อมูล Big Data ทั้งประเทศขึ้นมา เนื่องจากมีภาพถ่ายทางอากาศหรือภาพถ่ายดาวเทียมอยู่แล้ว
มติ คทช. : รับทราบคำสั่ง คทช. และข้อสั่งการของประธานฯ
   1.2 ผลการดำเนินงานของฝ่ายเลขานุการ คทช. และคณะอนุกรรมการภายใต้ คทช. ดังนี้
          1.2.1 ผลการดำเนินงานของฝ่ายเลขานุการ คทช. เช่น (1) ผลการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558-2564 โดยคณะอนุกรรมการจัดหาที่ดินกำหนดพื้นที่เป้าหมาย 1,442 พื้นที่ 70 จังหวัด ซึ่งได้ออกหนังสืออนุญาตแล้ว 297 พื้นที่ และ (2) การดำเนินงานตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม เรื่อง การสร้างมูลค่าให้กับที่ดินที่รัฐจัดให้กับประชาชน พบว่า ทุกโครงการดำเนินการตามแผนขับเคลื่อนกิจกรรมปฏิรูปประเทศฯ ที่กำหนดไว้ และ (3) การจัดทำประเด็นยุทธศาสตร์การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2566-2570) รวม 5 ประเด็น
          1.2.2 ผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการภายใต้ คทช. เช่น (1) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2558-2563 คณะอนุกรรมการจัดหาที่ดินกำหนดพื้นที่เป้าหมาย 987 พื้นที่ 71 จังหวัด และมีแผนการดำเนินงานปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 กำหนดพื้นที่เป้าหมาย 455 พื้นที่ 58 จังหวัด และ (2) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558-2564 ได้จัดราษฎรเข้าครอบครองทำประโยชน์ 302 พื้นที่ 68,453 ราย 83,931 แปลง
          ข้อสั่งการของประธาน : ให้มีการสรุปให้เห็นว่าตั้งแต่ก่อนช่วงปี 2558 จนถึงปัจจุบันได้มีผลการดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง เพื่อให้ประชาชนได้เห็นผลการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลว่าสามารถดำเนินการได้จริง และสำหรับแผนการดำเนินงานระยะต่อไปให้นำผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมารวบรวมไว้ด้วยและให้พิจารณาให้ความสำคัญกับการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งควรนำแนวคิดตามรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยในรูปแบบใหม่มาใช้ประกอบการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ ส่วนเรื่องการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนในการดำรงชีวิตเป็นธนาคารอาหารให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) สานต่อการดำเนินการต่อไป
มติ คทช. : รับทราบผลการดำเนินงานฯ รวมทั้งข้อสั่งการของประธานฯ และให้ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอคณะรัฐมนตรีทราบต่อไป
2. เรื่องเพื่อพิจารณา จำนวน 4 เรื่อง
   2.1 ร่างพระราชบัญญัติสถาบันบริหารจัดการที่ดินและกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน พ.ศ. ....
          2.1.1 สถาบันบริหารจัดการที่ดินและการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมที่ยั่งยืน (สบกด.) เป็นหน่วยงานของรัฐในรูปแบบองค์การมหาชน ทำหน้าที่ลดความเหลื่อมล้ำด้านที่ดินแก้ไขปัญหาที่ดินของประเทศในรูปแบบใหม่ โดยการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน สนับสนุนให้เกษตรกรและผู้ยากจนได้มีที่ดินทำกินหรือมีที่ดินที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยและที่ดินที่ใช้ร่วมกันเพื่อประโยชน์ของชุมชน โดย สบกด. จะดำเนินงานภายใต้นโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรดินและที่ดินของประเทศของ คทช.
          2.1.2 ร่างพระราชบัญญัติฯ ผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการนโยบาย แนวทาง และมาตรการการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน และคณะอนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมายการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินด้วยแล้ว และสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) (บจธ.) ได้จัดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และจัดทำเอกสารประกอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นของกฎหมายแล้ว          มติ คทช. : เห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติฯ และให้ บจธ. เสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีรวมทั้งรับข้อสังเกตของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเกี่ยวกับเรื่องเงินทุนในการดำเนินงาน ซึ่งหากมีความจำเป็นจะต้องบริหารงานในลักษณะเงินทุนหมุนเวียนหรือกองทุนหมุนเวียน ควรกำหนดไว้ในร่างพระราชบัญญัติฯ โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง (กค.) ก่อนไปพิจารณาต่อไป
   2.2 ร่างแผนพัฒนาศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศที่ดินและทรัพยากรดิน พ.ศ. 2565-2570 เพื่อให้ สคทช. เป็นองค์กรที่มีสมรรถนะสูงในการขับเคลื่อนนโยบายด้านที่ดินและทรัพยากรดิน สนับสนุนการดำเนินงานของ คทช. ภายใต้หลักการ อนุรักษ์ รักษาสมดุลการใช้ประโยชน์สูงสุด ทั่วถึงและเป็นธรรม มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ (1) การบูรณาการแบบรวมศูนย์ (2) การพัฒนานวัตกรรมและบุคลากรดิจิทัล (3) การส้รางความร่วมมือและเครือข่าย (4) การพัฒนาและวางรากฐานเทคโนโลยี และ (5) การขับเคลื่อนธรรมาภิบาลดิจิทัลที่ดี ทั้งนี้ การดำเนินงานระยะที่ 1 (พ.ศ. 2565-2566) ของแผนพัฒนาฯ สคทช. จะขอรับการสนับสนุนงบประมาณงบกลางประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และในปีถัดไปจะดำเนินการจัดทำคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามปกติต่อไป          มติ คทช. : เห็นชอบร่างแผนฯ เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานของศูนย์เทคโนโลยีฯ ของ สคทช. และเห็นชอบการขอรับการสนับสนุนงบกลางประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เพื่อเร่งดำเนินการตามแผนในระยะที่ 1 ต่อไป
   2.3 การปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการมาตราส่วน 1:4000 (One Map) และแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐของพื้นที่กลุ่มที่ 1 จำนวน 11 จังหวัด (จังหวัดนนทบุรี นครปฐม อ่างทอง สิงห์บุรี สมุทรสงคราม กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรสาคร และสุพรรณบุรี)
          2.3.1 เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2564 คณะอนุกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐฯ ได้พิจารณาผลการปรับปรุง One Map และข้อเสนอแนะ/แนวทางการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานที่รับผิดชอบที่ดินของรัฐ ซึ่งอาจมีผลกระทบกับประชาชนที่อยู่อาศัยในที่ดินของรัฐแต่ละประเภทที่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างตรวจสอบและปรับปรุง One Map ของพื้นที่ 11 จังหวัด กลุ่มที่ 2 ต่อไป
          2.3.2 ข้อเสนอแนะและแนวทางแก้ไขปัญหา เช่น (1) กรณีเอกชนยกที่ดินหรืออุทิศที่ดินให้แก่รัฐ กรมธนารักษ์จะให้เอกชนโอนกรรมสิทธิ์ให้กับ กค. กรณีที่ยังมีข้อพิพาทอยู่ระหว่างเอกชนกับกรมธนารักษ์ (2) กรณีประกาศเขตฯ หลังปี 2535 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เสนอว่า ให้กรมที่ดินตรวจสอบพิสูจน์สิทธิการได้มาของแปลงที่ดินว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และ (3) การตรวจพิสูจน์สิทธิการได้มาของแปลงที่ดิน          มติ คทช. : เห็นชอบการปรับปรุง One Map และข้อเสนอแนะ/แนวทางการแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐของพื้นที่กลุ่มที่ 1 จำนวน 11 จังหวัด และให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบในการรับรองเส้นแนวเขตที่ดินของรัฐต่อไป
   2.4 การป้องกันและตรวจสอบการบุกรุกที่ดินของรัฐและแนวทางการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่ทำการเกษตรในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ
          2.4.1 ข้อมูลการทำเกษตรในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ จากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น (1) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มีเกษตรกรพืชไร่/พืชสวน ประมาณ 34,546 ราย (แปลง) ที่ไม่ยินยอมเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดิน ทั้งนี้ เป็นที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเนื้อที่ประมาณ 1.18 ล้านไร่ (2) ทส. โดยกรมป่าไม้อยู่ระหว่างสำรวจข้อมูลการครอบครองที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เนื้อที่ประมาณ 12.50 ล้านไร่ 19,576 หมู่บ้าน (3) กระทรวงมหาดไทย โดยกรมที่ดินมีเกษตรกรที่ทำพืชไร่/พืชสวนประมาณ 32,941 ราย มีที่สาธารณประโยชน์เนื้อที่ประมาณ 434,127 ไร่ และมีแนวโน้มการบุกรุกเพิ่มขึ้น เนื่องจากราษฎรไม่มีที่ดินทำกินและอยู่อาศัย
          2.4.2 แนวทางการแก้ไขปัญหาการทำเกษตรในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ได้แก่ (1) กรณีการป้องกันการบุกรุกที่ดินของรัฐเพื่อทำการเกษตร เช่น กำชับผู้มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาตามกฎหมายในการควบคุมกำกับดูแลและปรับปรุง One Map (2) การทำการเกษตรในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิหรือไม่ได้รับอนุญาต เช่น นำที่ดินของรัฐที่ถูกบุกรุกเข้าสู่กระบวนการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน และรังวัดออก/ตรวจสอบหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในที่ดินอันเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน และ (3) การบริหารจัดการการพัฒนาพื้นที่ และผลผลิตทางการเกษตร (ภายหลังจากการจัดที่ดินหรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายแล้ว) เช่น ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ พัฒนาปัจจัยพื้นฐานและจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร          มติ คทช. : เห็นชอบข้อมูลจำนวนเกษตรกร ชนิดของพืชประเภทและจำนวนของพื้นที่ที่ถูกบุกรุก และแนวโน้มการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของการบุกรุก ตลอดจนแนวทางการแก้ไขปัญหาฯ และให้ สคทช. นำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

16. เรื่อง รายงานสถานการณ์เพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็ก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอรายงานสถานการณ์เพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็ก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตามมติคณะกรรมการระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 [คณะกรรมการระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย เป็นคณะกรรมการที่แต่งตั้งตามมติคณะรัฐมนตรี (22 ตุลาคม 2562) มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับ ดูแล การดำเนินงานให้เป็นไปตามนโยบายและแผนปฏิบัติการตามแผนระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย และนำเสนอสถานการณ์และข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเป็นประจำทุกปี หรือเมื่อมีความจำเป็นเร่งด่วน] ทั้งนี้ การดำเนินการเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามพันธกรณีที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 182 ว่าด้วยการห้ามและการดำเนินการโดยทันทีเพื่อขจัดรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของการใช้แรงงานเด็ก เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2544 ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
                    1. สถานการณ์การใช้แรงงานเด็กทั่วโลก องค์การแรงงานระหว่างประเทศได้จัดทำรายงานประมาณการและแนวโน้มการใช้แรงงานเด็กทั่วโลก โดยการสำรวจประจำปี 2563 พบว่า เด็กทำงานอายุ 5-17 ปี มีจำนวน 222.09 ล้านคน เข้าข่ายเป็นแรงงานเด็ก 160 ล้านคน และแรงงานเด็กที่ทำงานอันตราย 79 ล้านคน เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2559 พบว่า แรงงานเด็กเพิ่มขึ้น 8.4 ล้านคน และเด็กทำงานอันตรายเพิ่มขึ้น 6.5 ล้านคน ทั้งนี้ ผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ จะส่งผลให้เด็กทั่วโลกอีก 9 ล้านคน มีความเสี่ยงที่จะถูกผลักให้เป็นแรงงานเด็กภายในปี 2565 ดังนั้น แต่ละประเทศต้องมีระบบการคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอเพื่อช่วยเหลือเด็กที่เป็นแรงงานจากอันตรายทั้งทางร่างกายและจิตใจ
                    2. สถานการณ์เด็กทำงานในประเทศไทย โครงการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรในช่วงเดือนกรกฎาคม - กันยายน 2563 สำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า เด็กอายุ 15-17 ปี มีจำนวน 2.56 ล้านคน เป็นเด็กทำงาน 184,648 คน โดยเด็กส่วนใหญ่จะทำงานอย่างเดียวโดยไม่ได้เรียนหนังสือและทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรม กิจการขายส่ง ขายปลีก ซ่อมยานยนต์ ก่อสร้าง กิจการโรงแรมและบริการอาหาร และการผลิต
                    3. สถานการณ์การใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 มีการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย จำนวน 3,188 คน โดยพบว่าการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการผลิตหรือค้ายาเสพติดมีมากที่สุด จำนวน 3,070 คน รองลงมาคือ การกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการใช้ จัดหา หรือเสนอเด็กเพื่อการค้าประเวณี จำนวน 103 คน การให้เด็กทำงานที่มีแนวโน้มจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ความปลอดภัยหรือศีลธรรมของเด็ก จำนวน 14 คน และการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้แรงงานเด็กทุกรูปแบบของการใช้ทาส หรือแนวปฏิบัติที่คล้ายกับการใช้ทาส จำนวน 1 คน
                    4. ผลการประเมินจัดระดับสถานการณ์แรงงานเด็ก โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนกันยายน 2563 ประเทศไทยมีผลการประเมินจัดระดับความก้าวหน้าในการดำเนินการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดในระดับปานกลาง ซึ่งในรายงานระบุว่าเด็กในประเทศไทยยังคงมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด และการแสวงหาประโยชน์ทางเพศเชิงพาณิชย์ ซึ่งบางครั้งเป็นผลมาจากการค้ามนุษย์ รวมถึงมีกลุ่มเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี เข้าร่วมการแข่งขันมวยไทยซึ่งถือเป็นงานอันตราย ถึงแม้ว่าประเทศไทยพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวแต่ก็ยังไม่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ เนื่องจากกฎหมายไม่ได้ให้ความคุ้มครองแก่แรงงานเด็กนอกระบบการจ้างงาน รวมถึงจำนวนพนักงานตรวจแรงงานและทรัพยากรที่ไม่เพียงพอต่อการตรวจสถานที่ทำงานซึ่งอยู่ห่างไกล โดยเฉพาะในภาคการจ้างงานนอกระบบ
                    5. การขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายของประเทศไทย ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม รวมทั้งสิ้น 35 หน่วยงาน ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 มีผลการดำเนินงานที่สำคัญตามนโยบายและแผนระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย เช่น (1) การป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย โดยกระทรวงศึกษาธิการได้ออกประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การรับนักเรียน นักศึกษาที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2562 เพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติกรณีนักเรียน นักศึกษา ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย แก่สถานศึกษา (2) การช่วยเหลือและคุ้มครองแรงงานเด็กจากการทำงานในรูปแบบที่เลวร้าย ได้จัดให้มีศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว รวม 10 จังหวัด และให้คำปรึกษา แนะนำ รับข้อร้องทุกข์ร้องเรียน (3) การพัฒนาความร่วมมือระหว่างองค์กรภาคีเครือข่าย ได้ส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการได้รับการรับรองมาตรฐานแรงงานไทยหรือประกาศแสดงตนเอง และส่งเสริม ติดตาม และประเมินการยกระดับความรับผิดชอบต่อสังคมด้านแรงงานของสถานประกอบกิจการในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัด
                    6. ข้อเสนอแนะจากการวิเคราะห์สถานการณ์และผลการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ได้แก่ (1) นำข้อเสนอแนะของกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา จากการประเมินสถานการณ์แรงงานเด็กของประเทศไทยมาเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดแผนงาน โครงการ หรือกิจกรรม ตามภารกิจของหน่วยงานต่าง ๆ (2) พัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูลหรือสถิติ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลสถิติการดำเนินคดี การช่วยเหลือเด็กที่ตกเป็นผู้เสียหาย รวมถึงการจัดทำคู่มือการปฏิบัติงาน และการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการคุ้มครองเด็ก (3) ทบทวนกฎหมาย ระเบียบหรือประกาศ ให้ทันต่อสถานการณ์และสอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ และ (4) พัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานให้เข้าใจรูปแบบที่เลวร้ายของการใช้แรงงานเด็ก
                    7. การดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายในระยะต่อไป ได้แก่ เผยแพร่แผนปฏิบัติการด้านการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564-2565 และปรับปรุงประกาศคณะกรรมการระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย เรื่อง ประเภทงานอันตรายสำหรับแรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายของประเทศไทย ให้มีความครอบคลุมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

17. เรื่อง ความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนตุลาคม 2564
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเสนอความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนตุลาคม 2564 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
                    1. ความก้าวหน้ายุทธศาสตร์ชาติและการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ สรุปผลการดำเนินการที่สำคัญได้ ดังนี้
                              1.1 การจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13) เป็นแผนพัฒนาฯ ฉบับแรกที่เริ่มต้นกระบวนการยกร่างกรอบแผนภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และจะมีผลในการใช้เป็นกรอบเพื่อกำหนดแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิบัติการในช่วง 5 ปีที่สองของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศในระยะของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ได้น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักนำทางในการขับเคลื่อนและวางแผนการพัฒนาประเทศไปสู่การบรรลุเป้าหมายในมิติต่าง ๆ ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอย่างเป็นรูปธรรม โดยแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 มุ่ง ?พลิกโฉมประเทศไทยสู่สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน?  ประกอบด้วย 13 หมุดหมายและแบ่งออกได้เป็น 4 มิติ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติ            (9 พฤศจิกายน 2564) รับทราบ (ร่าง) แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 แล้ว และคาดว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ในเดือนตุลาคม 2565
                              ทั้งนี้ ในการจัดทำกรอบแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สำนักงบประมาณได้นำร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ไปใช้เป็นแนวทางการดำเนินการร่วมกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนระดับที่ 2 อื่น ๆ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน นโยบายสำคัญของรัฐบาล รวมทั้งน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นกรอบแนวทางการจัดทำงบประมาณด้วย
                              1.2 ความก้าวหน้าการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) จะพัฒนาจังหวัดอุดรธานีและพิษณุโลก รวมทั้งเขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ให้เป็นจังหวัด/พื้นที่นำร่องตามแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินการขจัดความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัยของ ศจพ. โดยจะเก็บข้อมูลในพื้นที่เพื่อนำมาคำนวณหลักเกณฑ์กลางของดัชนีความยากจนหลายมิติในระดับจังหวัดและระดับประเทศ และใช้ประกอบการพัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform: TPMAP) ให้ครอบคลุมการดำเนินการในพื้นที่มากยิ่งขึ้นต่อไป
                              1.3 การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติผ่านแผน 3 ระดับ สศช. ได้รวบรวมและตรวจสอบแผนระดับที่ 3 ในส่วนของแผนปฏิบัติการด้าน... เพื่อเข้าสู่การพิจารณากลั่นกรอง โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 มีแผนระดับที่ 3 ที่หน่วยงานส่งมายัง สศช. รวมทั้งสิ้น 130 แผน แบ่งเป็น (1) ผ่านกระบวนการพิจารณาและรายงานให้คณะรัฐมนตรีรับทราบแล้ว จำนวน 86 แผน (2) อยู่ระหว่างการพิจารณากลั่นกรอง หรือเห็นสมควรทบทวนปรับปรุงแผนให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นก่อนนำเสนอตามขั้นตอนต่อไป จำนวน 36 แผน (3) ยกเลิกการดำเนินการ/สิ้นสุดการดำเนินการ จำนวน 2 แผน ทั้งนี้ แผนปฏิบัติการด้าน... ที่ผ่านกระบวนการพิจารณาของ สศช. ในรอบเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564 มีจำนวน 6 แผน เช่น (1) (ร่าง) นโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ พ.ศ. 2561-2565 ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติ (14 กันยายน 2564) เห็นชอบแล้ว (2) แผนปฏิบัติการด้านระบบสุขภาพปฐมภูมิ (พ.ศ. 2564 - 2573) และ (3) แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2564-2565) ฉบับปรับปรุง ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติ (30 พฤศจิกายน 2564) อนุมัติแล้ว
                    2. ความก้าวหน้าแผนการปฏิรูปประเทศ คณะรัฐมนตรีมีมติ (5 ตุลาคม 2564) รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ครั้งที่ 12 (เดือนเมษายน-มิถุนายน 2564) และได้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ทั้งนี้ สศช. อยู่ระหว่างจัดทำรายงานความคืบหน้าฯ ครั้งที่ 13 (เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564) ซึ่งจะติดตามการดำเนินงานเพื่อปิดช่องว่างของแผนขับเคลื่อนกิจกรรมปฏิรูปประเทศที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock)
                    3. ผลการดำเนินการอื่น ๆ
                              3.1 การติดตาม การตรวจสอบ และการประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ สศช. ได้เผยแพร่ข้อมูลจากระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) เพื่อให้หน่วยงานหรือผู้ที่สนใจสามารถนำข้อมูลไปประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับภารกิจ และอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ eMENSCR ให้เชื่อมโยงกับระบบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ระบบการบริหารงานการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ (GFMIS) รวมทั้งอยู่ระหว่างนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในการสนับสนุนการประเมินสถานการณ์การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาระดับต่าง ๆ ในระบบ eMENSCR เพื่อให้ระบบสามารถประมวลผล วิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลของโครงการ/การดำเนินงานและใช้ประโยชน์ในมิติต่าง ๆ เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาในระดับต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
                              3.2 การสร้างการตระหนักรู้ ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมของภาคีต่าง ๆ ต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ สศช. ได้ดำเนินการ ดังนี้
                                        3.2.1 สร้างการตระหนักรู้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในกลุ่มคนรุ่นใหม่ผ่านกิจกรรมของกลุ่มบุคคลและ/หรือบุคคลตัวอย่างในรูปแบบสื่อวีดิทัศน์และจะเผยแพร่วีดิทัศน์โครงการสร้างการตระหนักรู้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในกลุ่มคนรุ่นใหม่
                                        3.2.2 เผยแพร่รายงานความก้าวหน้าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2559-2563 [Thailand?s Sustainable Development Goals (SDGs) Report 2016-2020] ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวมีความสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561-2580 และหลักธรรมาภิบาล โดย SDGs ทั้ง 17 เป้าหมาย มีความเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 23 ประเด็น เพื่อให้ ?ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข เศรษฐกิจพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สังคมเป็นธรรม ฐานทรัพยากรธรรมชาติยั่งยืน? และเป็นหนึ่งในหลักการสำคัญของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2565)
                    4. ประเด็นที่ควรเร่งรัดเพื่อการบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ รายงานสถานการณ์การพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Micro, Small and Medium-sized Enterprises: MSMEs) ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) พบว่า สัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมของ MSMEs ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหดตัวที่ร้อยละ 34.2 ในปี 2563 และร้อยละ 34.5 ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 ซึ่งต่ำกว่าค่าเป้าหมายแผนแม่บทย่อยเนื่องจากการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ดังนั้น ภาครัฐจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูผู้ประกอบการอย่างเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือให้ MSMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยให้ความสำคัญกับการยกระดับ (1) มาตรการส่งเสริมและพัฒนา MSMEs ในการจัดตั้งศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (2) มาตรการมุ่งส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการใหม่เชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม ซึ่งเน้นการให้ความรู้และคำแนะนำเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนและสร้างโมเดลธุรกิจเชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรมได้ และ (3) มาตรการส่งเสริมและพัฒนา SMEs ในมิติต่าง ๆ รวมถึงการพัฒนาสินค้าและการบริการให้มีคุณภาพและมาตรฐานสอดคล้องกับความต้องการของตลาด
                    5. นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการ ดังนี้
                              5.1 ให้พิจารณาปรับแผนการใช้จ่ายงบประมาณแบบพุ่งเป้าเพื่อช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูผู้ประกอบการ MSMEs อย่างเร่งด่วน โดยแบ่งระดับการแก้ไขให้ตรงจุด เป็น 3 ระดับ ได้แก่ (1) ระดับที่มีความพร้อม ต้องพัฒนาให้มีความพร้อมมากยิ่งขึ้น (2) ระดับที่มีความพร้อมปานกลาง ต้องปรับปรุงแก้ไขให้มีความพร้อม และ (3) ระดับที่ไม่มีความพร้อม ต้องวางแผนการพัฒนา และเรียนรู้โดยมีพี่เลี้ยงคอยชี้แนะ
                              5.2 กำหนดระดับการพัฒนาแบบพุ่งเป้าและแยกประเภทการช่วยเหลือและเยียวยาของประชาชนเพื่อเป็นการใช้จ่ายงบประมาณอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ (1) การช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ (2) การช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และ (3) การเยียวยาและแก้ไขปัญหาของผู้ได้รับผลกระทบ

18. เรื่อง แนวทางปฏิบัติสำหรับการนำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้กับโครงการที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โดยอนุโลม
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการฯ) เสนอแนวทางปฏิบัติสำหรับการนำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้กับโครงการที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 62) โดยอนุโลม และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ดำเนินการทำความตกลงกับกระทรวงการคลัง (กค.) เพื่อกำหนดค่าตอบแทนของผู้สังเกตการณ์และให้หน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    คณะกรรมการฯ รายงานว่า
                    1. โดยที่คณะรัฐมนตรีมีมติวันที่ 29 มิถุนายน 2564 เห็นชอบการนำแนวทางการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ตามโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ สำหรับหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างหรือการร่วมลงทุนภายใต้กฎหมายอื่น นอกเหนือจากพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 (พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ. 60) ไปกำหนดใช้โดยอนุโลม โดยให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องทุกแห่งถือปฏิบัติตามแนวทางการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบอย่างเคร่งครัด เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใสของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 62 ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมไว้เป็นการเฉพาะและมีขั้นตอนการดำเนินการแตกต่างจาก พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ. 60 โดยมีการกำหนดขั้นตอนการจัดทำและการดำเนินโครงการออกเป็น 4 ขั้นตอน ได้แก่ การเสนอโครงการ การคัดเลือกเอกชน การกำกับดูแลโครงการร่วมลงทุน และการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนและการทำสัญญาใหม่ รวมทั้งมีการกำหนดให้มีคณะกรรมการคัดเลือกและคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการเพื่อดำเนินการในขั้นตอนการคัดเลือกเอกชนและการกำกับดูแลโครงการร่วมลงทุนไว้เป็นการเฉพาะ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการกำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับการนำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้กับโครงการร่วมลงทุนโดยอนุโลมเพื่อให้มีรูปแบบขั้นตอนการดำเนินการที่มีความเหมาะสม ชัดเจน และสอดคล้องกับการดำเนินการตาม พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 62 เพื่อให้หน่วยงานเจ้าของโครงการสามารถดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้เป็นมาตรฐานเดียวกันต่อไป
                    2. ในคราวประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2564 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางปฏิบัติสำหรับการนำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้กับโครงการร่วมลงทุนโดยอนุโลม สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
หัวข้อ          สาระสำคัญ
รูปแบบการดำเนินการ          ออกประกาศ สคร. เรื่อง แนวทางปฏิบัติสำหรับการนำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้กับโครงการร่วมลงทุนที่ดำเนินการตาม พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 62         พ.ศ. .... (ประกาศ สคร.)
ขอบเขตการดำเนินการ          นำมาใช้กับโครงการร่วมลงทุนตาม พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 62 เฉพาะในขั้นตอนการคัดเลือกเอกชน
การคัดเลือกโครงการ          กำหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการต้องจัดทำข้อตกลงคุณธรรมในโครงการร่วมลงทุน ดังนี้
(1) โครงการร่วมลงทุนที่มีมูลค่าตั้งแต่ห้าพันล้านบาท
(2) โครงการร่วมลงทุนที่มีมูลค่าตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป แต่มีมูลค่าต่ำกว่าห้าพันล้านบาทและคณะกรรมการฯ พิจารณาว่าสมควรต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 62
การลงนามในข้อตกลงคุณธรรม          กำหนดให้ดำเนินการ 2 ขั้นตอน ดังนี้
(1) หน่วยงานเจ้าของโครงการและผู้สังเกตการณ์1 ลงนามในข้อตกลงคุณธรรมก่อน เพื่อให้ผู้สังเกตการณ์สามารถเข้าร่วมสังเกตการณ์ได้ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุน
(2) เอกชนต้องลงนามในข้อตกลงคุณธรรมเมื่อยื่นข้อเสนอเพื่อแสดงเจตจำนงในการปฏิบัติตามข้อตกลงคุณธรรมและยินยอมให้ผู้สังเกตการณ์สามารถเข้าร่วมสังเกตการณ์ได้
หน่วยงานที่ดำเนินการคัดเลือกผู้สังเกตการณ์โครงการ          กำหนดให้เป็นองค์กรที่ดำเนินการเกี่ยวกับต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันและได้รับมอบหมายจาก สคร. (องค์กรที่ สคร. มอบหมาย)
การคัดเลือกผู้สังเกตการณ์โครงการ          กำหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการประสานองค์กรที่ สคร. มอบหมายเพื่อขอรายชื่อผู้สังเกตการณ์ เมื่อองค์กรที่ สคร. มอบหมายคัดเลือกผู้สังเกตการณ์แล้วให้แจ้งรายชื่อผู้สังเกตการณ์ต่อ สคร. เพื่อให้ สคร. พิจารณาคัดเลือกและแจ้งรายชื่อผู้สังเกตการณ์ต่อหน่วยงานเจ้าของโครงการต่อไป
การรายงานผลของผู้สังเกตการณ์          กำหนดให้ผู้สังเกตการณ์รายงานผลปฏิบัติงานเมื่อได้ผลการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาร่วมลงทุนที่ผ่านการเจรจากับเอกชนที่ได้รับการคัดเลือกแล้วโดยให้รายงานต่อองค์กรที่ สคร. มอบหมายเพื่อให้รายงาน สคร. ทราบ และรายงานหน่วยงานเจ้าของโครงการเพื่อรายงานผลการดำเนินงานข้อตกลงคุณธรรมประกอบการนำเสนอผลการคัดเลือกเอกชนให้กระทรวงเจ้าสังกัดพิจารณาให้ความเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
กรณีหน่วยงานเจ้าของโครงการหรือผู้ยื่นข้อเสนอผู้ทำสัญญาไม่ได้ปฏิบัติตามหรือกระทำการใด ๆ ที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลงคุณธรรมกำหนด หรือพบพฤติกรรมที่ส่อไปในทางทุจริตหรืออาจนำไปสู่การทุจริตได้          ให้ผู้สังเกตการณ์ดำเนินการ ดังนี้
(1) แจ้งคณะกรรมการคัดเลือกทราบเพื่อให้มีการชี้แจงหรือแก้ไขในระยะเวลาที่ผู้สังเกตการณ์กำหนด พร้อมแจ้งองค์กรที่ สคร. มอบหมายให้รายงานหน่วยงานเจ้าของโครงการเพื่อทราบ
(2) หากคณะกรรมการคัดเลือกดังกล่าวไม่ชี้แจงหรือแก้ไข ให้แจ้งองค์กรที่ สคร. มอบหมาย แจ้ง สคร. เพื่อ สคร. รายงานกระทรวงเจ้าสังกัดเพื่อพิจารณา
ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนดำเนินการต่อไป
การกำหนดคุณสมบัติของผู้สังเกตการณ์          กำหนดให้ผู้สังเกตการณ์ต้องมีความรู้ความสามารถและความเหมาะสมตามที่ สคร. กำหนด และผู้สังเกตการณ์ต้องมีการลงนามในหนังสือการรักษาข้อมูลเป็นความลับและไม่มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย
ค่าตอบแทน
ของผู้สังเกตการณ์          กำหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเบิกจ่ายค่าตอบแทนให้กับผู้สังเกตการณ์อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 62 ไม่มีบทบัญญัติที่กำหนดเรื่องค่าตอบแทนสำหรับบุคคลที่ไม่ใช่กรรมการหรืออนุกรรมการ ตาม พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 62 ไว้เป็นการเฉพาะ ดังนั้น สคร. จึงต้องทำความตกลงกับ กค. เพื่อกำหนดค่าตอบแทนของผู้สังเกตการณ์ตามกฎหมาย
และระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป
1ผู้สังเกตการณ์ หมายความว่า บุคคลภายนอกหรือภาคประชาสังคมที่ได้รับการคัดเลือกจากองค์กรที่ สคร. มอบหมาย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ มีความรู้และประสบการณ์ที่จำเป็นต่อโครงการร่วมลงทุน โดยจะต้องมีความเป็นกลางและไม่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการร่วมลงทุนนั้น และไม่ถือว่าผู้สังเกตการณ์เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ

19. เรื่อง สรุปภาพรวมสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการประจำเดือนตุลาคม 2564
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสรุปภาพรวมสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการประจำเดือนตุลาคม 2564 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอดังนี้
                    สาระสำคัญ
                    1. สถานการณ์ราคาสินค้าและบริการเดือนตุลาคม 2564 ดังนี้
                    ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือเงินเฟ้อทั่วไป เดือนตุลาคม 2564 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 2.38 (YoY) จากร้อยละ 1.68 ในเดือนก่อนหน้า เป็นการสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ตามราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาตลาดโลก ประกอบกับสินค้าในกลุ่มอาหารสดบางชนิด โดยเฉพาะผักสดได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในหลายพื้นที่ และไข่ไก่ราคายังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับปีก่อน แต่มีแนวโน้มชะลอตัวลง นอกจากนี้ อาหารบริโภคในบ้าน-นอกบ้าน และเครื่องประกอบอาหาร ปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุน อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดอื่น ๆ ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว เนื้อสุกร ไก่สด และผลไม้สด สำหรับสินค้าอื่น ๆ ยังเคลื่อนไหวในทิศทางที่ปกติ สอดคล้องกับความต้องการและปริมาณผลผลิต ยกเว้น สินค้ากลุ่มอาหารสดราคาค่อนข้างผันผวนเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
                    เงินเฟ้อที่สูงขึ้นในเดือนนี้ ปัจจัยสำคัญนอกจากสินค้าในกลุ่มพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นตามอุปสงค์โลกแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ส่งผลให้ภาคธุรกิจและประชาชนมีกำลังซื้อและการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้นสอดคล้องกับเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจสำคัญที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น ด้านอุปสงค์สะท้อนได้จากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้า และมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง รวมถึงดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างที่สูงขึ้นร้อยละ 10.0 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ของกระทรวงพาณิชย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 43.4 จากระดับ 42.1 ในเดือนก่อนหน้า แม้ว่าจะยังไม่อยู่ในระดับความเชื่อมั่น แต่มีทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับ โดยเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ซึ่งปรับตัวดีขึ้นในทุกภาคและทุกอาชีพ สำหรับด้านอุปทานสะท้อนได้จากอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ปรับตัวดีขึ้นส่วนดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่ยังต่ำกว่าปีก่อน สอดคล้องกับดัชนีราคาผู้ผลิตที่สูงขึ้นร้อยละ 6.9
                    เงินเฟ้อพื้นฐาน (เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว) สูงขึ้นร้อยละ 0.21 (YoY) จากร้อยละ 0.19 ในเดือนก่อน ซึ่งเป็นการสูงขึ้นอย่างมีเสถียรภาพและสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจสำหรับเงินเฟ้อทั่วไป เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2564 สูงขึ้นร้อยละ 0.74 (MoM) และเฉลี่ย 10 เดือน (ม.ค.- ต.ค.) ปี 2564 สูงขึ้นร้อยละ 0.99 (AoA)
                    2. แนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไป เดือนพฤศจิกายน 2564
                    มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้น โดยมีปัจจัยสำคัญจาก 1) สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลายในหลายพื้นที่ จากการกระจายวัคซีนและการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ส่งผลให้ภาคธุรกิจสามารถดำเนินการได้มากขึ้น ประกอบกับมาตรการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 จะส่งผลดีต่อกำลังซื้อและการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ 2) น้ำมันเชื้อเพลิง ราคายังมีทิศทางที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการ รวมถึงการขนส่ง 3) อุทกภัยในหลายพื้นที่ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ปริมาณสินค้าเกษตรเข้าสู่ตลาดน้อยลง และส่งผลต่อระดับราคาต่อไป สำหรับสินค้าในหมวดอื่น ๆ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ ตามปริมาณผลผลิตและความต้องการ อย่างไรก็ตามสินค้าในหมวดอาหารสดส่วนใหญ่ โดยเฉพาะข้าว เนื้อสุกร ไก่สด และผลไม้สด ยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เป็นตัวแปรสำคัญของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะต้องเฝ้าระวังและส่งผลต่อเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ
                    ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่า เงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2064 จะอยู่ระหว่างร้อยละ 0.8 ? 1.2            (ค่ากลางอยู่ที่ร้อยละ 1.0) ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการทบทวนอีกครั้ง

20. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ การจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการและมอบหมายผู้มีอำนาจกำกับแผนงานบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงบประมาณเสนอ ดังนี้
                    1. เห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ
                    2. เห็นชอบแผนงานบูรณาการ และมอบหมายผู้มีอำนาจกำกับแผนงานบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
                    สาระสำคัญ
                    1. หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ
                    เนื่องจากหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบไว้เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2562 ได้กำหนดแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการที่ยึดโยงกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 สำนักงบประมาณจึงแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการใหม่ เพื่อให้สามารถจัดทำงบประมาณในทิศทางที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 - 2570) รวมถึงให้สอดคล้องกับแนวโน้มการพัฒนาประเทศ
                    2. แผนงานบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
                    สำนักงบประมาณได้พิจารณาแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 23 ประเด็น จึงกำหนดให้มีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 11 แผนงานบูรณาการ ซึ่งเป็นแผนงานต่อเนื่องจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
                    3. มอบหมายผู้มีอำนาจกำกับแผนงานบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายตามแผนงานบูรณาการจำนวน 11 แผนงาน ดังกล่าว เห็นสมควรมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (โดยนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ต่อไป) รวมทั้งเป็นผู้มีอำนาจกำกับแผนงานบูรณาการ ดังนี้
                              3.1 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ จำนวน 3 แผนงาน คือ
                                        1) แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
                                        2) แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
                                        3) แผนงานบูรณาการรัฐบาลดิจิทัล
                              3.2 นายวิษณุ เครืองาม จำนวน 2 แผนงาน คือ
                                        1) แผนงานบูรณาการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด
                                        2) แผนงานบูรณาการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ
                              3.3 นายอนุทิน ชาญวีรกูล จำนวน 2 แผนงาน คือ
                                        1) แผนงานบูรณาการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว
                                        2) แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์
                              3.4 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ จำนวน 2 แผนงาน คือ
                                        1) แผนงานบูรณาการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย
                                        2) แผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก
                              3.5 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ จำนวน 2 แผนงาน คือ
                                        1) แผนงานบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต
                                        2) แผนงานบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
                    โดยให้รองนายกรัฐมนตรีกำกับแผนงานบูรณาการตามที่ได้รับมอบหมาย มีหน้าที่และอำนาจบริหาร กำกับ ดูแลการปฏิบัติงาน ติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์ และตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณตามแผนงานบูรณาการ ให้เป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง ด้วยความโปร่งใสและถูกต้อง ปราศจากการทุจริตรวมทั้งบูรณาการการทำงานในทุกมิติ ทั้งในระดับพื้นที่และหน่วยรับงบประมาณที่เกี่ยวข้องตามแผนงานบูรณาการ เพื่อเกิดประสิทธิภาพและความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ และเกิดผลสัมฤทธิ์ในการบริหารรายจ่ายบูรณาการ ตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ. 2562 และระเบียบว่าด้วยการโอนงบประมาณรายจ่ายบูรณาการและงบประมาณรายจ่ายบุคลากรระหว่างหน่วยรับงบประมาณ พ.ศ. 2562 รวมทั้งดำเนินการอื่นตามที่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

21. เรื่อง ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในคราวประชุมครั้งที่ 17/2564
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะประธานกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ เสนอผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ (คกง.) ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (พระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564) ในคราวประชุมครั้งที่ 17/2564 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ดังนี้
                    1. อนุมัติโครงการภายใต้กลุ่มโครงการห้องปฏิบัติการ จำนวน 4 โครงการ วงเงิน 223.6711 ล้านบาท ประกอบด้วย
                              1.1 โครงการการพัฒนาศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์แอนติบอดีชนิดลบล้างฤทธิ์ที่ใช้ในการประเมินประสิทธิภาพวัคซีนเพื่อรองรับการวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ และโรคอุบัติซ้ำ ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (2-A010) (โครงการการพัฒนาศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานห้องปฏิบัติการฯ) กรอบวงเงิน 7.552 ล้านบาท ปรับลดจากข้อเสนอ จำนวน 0.24 ล้านบาท
                              1.2 โครงการพัฒนาห้องปฏิบัติการ ABSL3 คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี เพื่อการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยทางชีวภาพระดับสากล ของสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (2-A015) (โครงการพัฒนาห้องปฏิบัติการ ABSL3) กรอบวงเงิน 25.5038 ล้านบาท ปรับลดจากข้อเสนอ จำนวน 0.9562 ล้านบาท
                              1.3 โครงการเพิ่มขีดความสามารถห้องปฏิบัติการทดสอบความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนก่อนทดลองในมนุษย์ ของสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (2-A016) (โครงการเพิ่มขีดความสามารถห้องปฏิบัติการฯ) กรอบวงเงิน 50.7747 ล้านบาท ปรับลดจากข้อเสนอ จำนวน 0.5303 ล้านบาท
                              1.4 โครงการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและทดสอบวัคซีนและเภสัชภัณฑ์ในลิงมาร์โมเส็ท ของสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (2-A019) (โครงการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการวิจัยฯ) กรอบวงเงิน 139.8406           ล้านบาท ปรับลดจากข้อเสนอ จำนวน 0.1594 ล้านบาท
                    2. มอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และสถาบันวัคซีนแห่งชาติเป็นหน่วยรับผิดชอบโครงการ ดำเนินการจัดทำความต้องการใช้จ่ายเป็นรายเดือน เพื่อให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) สามารถจัดหาเงินกู้เพื่อใช้จ่ายโครงการตามแผนการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายทางการเงินของภาครัฐ พร้อมทั้งปฏิบัติตามข้อ 15 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 พ.ศ. 2564 (ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี กู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564) โดยเคร่งครัดตามขั้นตอนต่อไป พร้อมทั้งปรับแผนการดำเนินงานและเบิกจ่ายเงินโครงการให้เป็นปัจจุบัน โดยจะต้องดำเนินการเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2565 พร้อมทั้งจัดทำแผนบริหารจัดการความเสี่ยงในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างให้มีความชัดเจน
                    3. มอบหมายให้หน่วยงานเจ้าของโครงการในกลุ่มการจัดหาวัสดุและสิ่งก่อสร้าง จำนวน 45 โครงการ วงเงิน 13,674.4301 ล้านบาท ทบทวนข้อเสนอโครงการ ทั้งนี้ เห็นควรมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รวบรวมและจัดส่งข้อเสนอโครงการที่ได้ดำเนินการดังกล่าวเสนอให้ คกง. พิจารณาตามขั้นตอนภายในเดือนธันวาคม 2564
                    4. มอบหมายให้หน่วยงานรับผิดชอบโครงการศึกษา วิจัย และพัฒนาเกี่ยวกับวัคซีนโรคโควิด 19 และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง พิจารณาเสนอขอรับการจัดสรรจากแหล่งเงินอื่น อาทิ งบประมาณรายจ่ายประจำปี ตามขั้นตอนและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป
                    5. มอบหมายให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพประสานกับสำนักงบประมาณ (สงป.) และ สธ. ในการขอรับจัดสรรงบประมาณสำหรับค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์รวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทาแก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด 19 ตามความจำเป็นและความเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป
                    6. อนุมัติให้สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) เปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการมาตรการการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของนิสิต นักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐและภาคเอกชน (โครงการมาตรการการลดภาระฯ) โดยเพิ่มเติมกลุ่มเป้าหมายนักศึกษาระดับปริญญาตรีของสถาบันการอาชีวศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทั้งหมด 23 แห่ง จำนวน 9,949 คน ภายใต้กรอบวงเงินตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 จำนวน 10,000 ล้านบาท และขยายเวลาสิ้นสุดโครงการมาตรการการลดภาระฯ จากเดิมสิ้นสุดเดือนพฤศจิกายน 2564 เป็นเดือนมกราคม 2565 ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมได้ให้ความเห็นชอบตามขั้นตอนแล้ว
                    7. มอบหมายให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ ศธ. เร่งเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลของทุกหน่วยงานที่จัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเพื่อป้องกันการตกหล่น ความซ้ำซ้อน และความล่าช้าในการช่วยเหลือเยียวยา และเพื่อเป็นประโยชน์แก่ภาครัฐในการนำข้อมูลมาประกอบการวิเคราะห์ กำหนดนโยบายต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมและสนับสนุนการส่งต่อและพัฒนาผู้เรียนรายบุคคลต่อไป
                    8. อนุมัติให้หน่วยงานรับผิดชอบโครงการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของโครงการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 (โครงการให้ความช่วยเหลือฯ) ของ ศธ. ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้เห็นชอบตามขั้นตอนแล้ว ทำให้กรอบวงเงินโครงการให้ความช่วยเหลือฯ เพิ่มขึ้น 642.922 ล้านบาท จาก 23,226.4 ล้านบาท เป็น 23,869.322 ล้านบาท และมอบหมายให้กระทรวงแรงงาน (รง.) กองทัพบก [กระทรวงกลาโหม (กห.)] โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นหน่วยรับผิดชอบโครงการให้ความช่วยเหลือฯ เพิ่มเติม
                    9. มอบหมายให้หน่วยงานต้นสังกัดของกลุ่มเป้าหมายที่เพิ่มเติมจัดส่งข้อมูลของกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) พิจารณาตรวจสอบความซ้ำซ้อนของนักเรียน/นักศึกษาในสถานศึกษาทั้งหมดในสังกัด ศธ. ทั้งสถานศึกษาของรัฐและสถานศึกษาเอกชน และนอกสังกัด ศธ. เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างรอบคอบและรัดกุม ซึ่งจะช่วยให้การใช้จ่ายตามพระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
                    10. มอบหมายให้ ศธ. เร่งพัฒนาความเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลของทุกหน่วยงานที่จัดการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และปริญญาตรีในสถาบันการอาชีวศึกษา เพื่อป้องกันการตกหล่น ความซ้ำซ้อน และภาครัฐมีข้อมูลประกอบการวิเคราะห์ กำหนดนโยบายต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุม และสนับสนุนการพัฒนาผู้เรียนรายบุคคลต่อไป

22. เรื่อง ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพหลังวิกฤต COVID-19 ของคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว วุฒิสภา
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพหลังวิกฤต COVID-19 ของคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว วุฒิสภา ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
                    เรื่องเดิม
                    1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา (สว.) ได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพหลังวิกฤต COVID-19 ของคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว วุฒิสภา มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยวเห็นว่า การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพพบปัญหาการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนยังไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบหลักและปัญหาข้อจำกัดของกฎหมายบางฉบับไม่เอื้อต่อการปฏิบัติงานด้านการส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และได้มีข้อเสนอแนะ 2 ประเด็น ดังนี้ (1) ประเด็นเชิงนโยบาย 1) ควรกำหนดการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเป็นวาระแห่งชาติ มีการจัดตั้งหน่วยงานของภาครัฐที่เป็นเจ้าภาพหลัก หรือหน่วยงานที่จัดตั้งเป็นพิเศษเฉพาะในการบูรณาการเชิงนโยบายและเชิงกลยุทธ์เพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ Thailand Medical Hub ในภาพรวมของประเทศ เป็นต้น 2) ควรกำหนดมาตรการการดำเนินงานเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ และปรับปรุงกฎหมายให้มีการสนับสนุน ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อาทิ ให้โรงแรมขนาดเล็กสามารถรองรับการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว กฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมกำกับการโฆษณาประชาสัมพันธ์ การประกอบกิจการสถานพยาบาล รวมทั้งควรทบทวนการจัดเก็บภาษีการประกอบธุรกิจที่สูงถึงร้อยละ 22 และมีการจัดเก็บซ้ำซ้อน 3) การใช้แพลตฟอร์มส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (2) ประเด็นการพัฒนา 1) ควรส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเร่งพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ มีการจัดทำฐานข้อมูลด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ มีการประชาสัมพันธ์แผนการท่องเที่ยว และการบริหารจัดการของประเทศ 2) ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเป็นเจ้าภาพหลักเชื่อมโยงงานวิจัยเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ 3) ควรส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness) ผนวกกับด้านอื่น ๆ เช่น การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ การท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม และการท่องเที่ยวเชิงอาหาร เป็นต้น
                    2. รองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ กก. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการดังกล่าว ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
                    ข้อเท็จจริง
                    กก. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามข้อ 2 พิจารณารายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ แล้ว โดยเห็นด้วยกับข้อเสนอแนะดังกล่าว สรุปได้ดังนี้
ข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ          ผลการพิจารณาศึกษา
1. ประเด็นเชิงนโยบาย
          1.1 กำหนดให้การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเป็นวาระแห่งชาติ จัดตั้งหน่วยงานของภาครัฐที่เป็นเจ้าภาพหลัก หรือมีหน่วยงานพิเศษเฉพาะในการบูรณาการเชิงนโยบายและเชิงกลยุทธ์ เพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ Thailand Medical Hub และควรเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์เชิงสุขภาพความงาม และแพทย์แผนไทยและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub)

          1.2 ควรกำหนดมาตรการการดำเนินงานเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ และปรับปรุงกฎหมายให้มีการสนับสนุน ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อาทิ ให้โรงแรมขนาดเล็กสามารถรองรับการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว กฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมกำกับการโฆษณาประชาสัมพันธ์การประกอบกิจการสถานพยาบาล รวมทั้งควรทบทวนการจัดเก็บภาษีการประกอบธุรกิจที่สูงถึงร้อยละ 22 และมีการจัดเก็บซ้ำซ้อน การใช้แพลตฟอร์มส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ







          1.3 ควรสนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยการใช้แพลตฟอร์มระบบออนไลน์เป็นช่องทางเชื่อมต่อกับช่องทางของแพลตฟอร์มต่างประเทศ





2. ประเด็นการพัฒนา
          2.1 ควรส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเร่งพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รวมทั้งผนวกการท่องที่ยวในด้านอื่นๆ ควรมีการจัดทำฐานข้อมูลด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ มีการประชาสัมพันธ์แผนการท่องเที่ยว และการบริหารจัดการของประเทศ



























2.2 ควรให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเป็นเจ้าภาพหลักเชื่อมโยงงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของภาครัฐและภาคเอกชน
   - ปัจจุบันได้มี คกก. อำนวยการพัฒนาและส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้าน Medical and Wellness Tourism เพื่อรองรับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (นโยบาย Medical Hub) ซึ่ง คกก. ดังกล่าวได้ร่วมกันสนับสนุนและผลักดันนโยบายให้ประเทศไทยเป็น Medical Hub ของเอเชีย ส่วนการเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์จะขอรับประเด็นนี้ไปพิจารณาดำเนินการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

   - กก. ได้กำหนดมาตรฐานการท่องเที่ยวออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่ 1) บริการที่พักเพื่อการท่องเที่ยว 2) บริการด้านการท่องเที่ยว 3) กิจกรรมด้านการท่องเที่ยว 4) ด้านแหล่งท่องเที่ยว 5) ธุรกิจนำเที่ยว และ 6) มัคคุเทศก์ ส่วนการปรับปรุงกฎหมายให้โรงแรมขนาดเล็กสามารถรองรับการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวได้มีมาตรฐานที่พัก และนักท่องเที่ยวที่จะพำนักระยะยาวกรณีผ่านมาตรฐานการควบคุมการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถพำนักได้ 90 วัน และต่อได้อีก 2 ครั้ง ๆ ละ 90 วัน รวม 270 วัน โดยได้ดำเนินการส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพความงามรวมถึงแพทย์แผนไทย ส่วนประเด็นการควบคุมการโฆษณาประชาสัมพันธ์การประกอบกิจการสถานพยาบาล และการจัดเก็บภาษีการประกอบธุรกิจที่สูงจะขอรับประเด็นนี้ไปพิจารณาดำเนินการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

- กก. ได้พัฒนาการใช้แพลตฟอร์มอัจฉริยะกลาง (Smart Platform Application) ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงให้เกิดระบบตลาด การลงทุน และดำเนินธุรกิจได้อย่างเป็นระบบ และกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศไทยให้ทัดเทียมกับต่างประเทศมากยิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นการสนับสนุนการเข้าถึงข้อมูลการท่องเที่ยวแบบ Real Time ใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานด้านการท่องเที่ยว

- กก. โดยองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) มีการสนับสนุนให้ภาคีเครือข่ายและภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษ รวมถึงการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่มีกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งกรมการท่องเที่ยวมีมาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เช่น มาตรฐานที่พักเพื่อการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว (Long Stay) มาตรฐานสปาอาเซียน (ASEAN Spa Standard) เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการท่องเที่ยวให้พร้อมรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น และได้ดำเนินการพัฒนาและเพิ่มองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่เกี่ยวข้องยกระดับต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ชุมชน โดยนำเอาภูมิปัญญา วัฒนธรรมประเพณี และทรัพยากรของท้องถิ่นมาสร้างเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
   - สำหรับการจัดทำข้อมูลผู้ประกอบการภาคบริการท่องเที่ยวอยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งจะสามารถนำฐานข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์และเชื่อมโยงระบบบริการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทยทั้งหมดได้ในอนาคต
   - เห็นด้วยกับการประชาสัมพันธ์แผนการท่องเที่ยว โดยให้เชื่อมโยงเข้ากับแผนการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของจังหวัดหรือเมือง อาทิ การท่องเที่ยวผ่านกิจกรรมการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์หรือทักษะใหม่ ๆ สร้างจุดเด่นของทักษะหรือประสบการณ์ในแต่ละจังหวัดหรือเมืองในรูปแบบ New Normal และการหมุนเวียนจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวขนาดใหญ่ในแต่ละภาคตลอดทั้งปี ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวสนับสนุนให้มีรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพิ่มขึ้น โดยสอดคล้องกับห่วงโซ่คุณค่าประเด็นการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม

   - กก. จะขอรับประเด็นนี้ไปพิจารณาดำเนินการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป


23. เรื่อง ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
                    เรื่องเดิม
                    1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ดังนี้ 1) ปรับบทบาทของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็น Policy Body และผู้จัดสรรงบประมาณส่งเสริมพัฒนา SMEs ที่ยิ่งใหญ่แท้จริง และมีประสิทธิภาพ 2) เพิ่มหน่วยงานและความเชี่ยวชาญของผู้ให้บริการส่งเสริมพัฒนา SMEs ในแต่ละพื้นที่ 3) ประสานบริการทางการเงินเข้ากับระบบส่งเสริมพัฒนา SMEs ของชาติอย่างมีประสิทธิภาพ 4) ยกระดับ SMEs เข้าสู่มาตรฐานการวิเคราะห์สินเชื่อของสถาบันการเงินเอกชน และ 5) เตรียมพร้อมของ SMEs รองรับ Digital Disruption, Economic Crisis และ New Normal หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
                    2. รองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ กค. เป็นหน่วยงานรับรายงานพร้อมข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) สำนักงบประมาณ (สงป.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานพร้อมข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
                    ข้อเท็จจริง
                    กค. ได้ดำเนินการตามคำสั่งรองนายกรัฐมนตรีตามข้อ 2 โดยสรุปผลการพิจารณาได้ ดังนี้
ข้อเสนอแนะ          ผลการพิจารณา
1. ปรับบทบาทของ สสว. เป็น Policy Body และผู้จัดสรรงบประมาณส่งเสริมพัฒนา SMEs ที่ยิ่งใหญ่แท้จริง และมีประสิทธิภาพ
          1.1 ยกเลิกการเป็นหน่วยงานปฏิบัติงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) ของ สสว. ที่ใช้งบประมาณจัดจ้างที่ปรึกษาให้บริการ SMEs โดยตรงให้เป็นหน่วยงานด้านนโยบาย วางแผนภาพรวม ดูงบประมาณด้าน SMEs และติดตามประเมินผล



          1.2 จัดทำแผนบูรณาการส่งเสริม SMEs ให้ตรงความต้องการของ SMEs รวมทั้งเป้าหมายในแต่ละพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ



- สสว. ได้ยกระดับบทบาทในการทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกำหนดนโยบายและแผนด้านการส่งเสริมและพัฒนา SMEs ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และแม้ว่าปัจจุบันจะไม่มีการจัดทำงบประมาณบูรณาการด้าน SMEs แล้ว (ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เนื่องจากข้อจำกัดด้านกฎหมายของ สสว.) แต่ สสว. ก็ยังรักษาบทบาทในการดูแลงบประมาณด้านการส่งเสริมและพัฒนา SMEs ในภาพรวมอยู่ ด้วยการบูรณาการงบประมาณ และในอนาคตมีแผนที่จะผลักดันให้การจัดสรรงบประมาณเพื่อการส่งเสริม SMEs กระจายไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อให้ SMEs ทั่วประเทศได้รับการพัฒนาอย่างครอบคลุมต่อไป
- สสว. ได้พัฒนาระบบนิเวศด้านการอำนวยความสะดวกแก่ SMEs ในการเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร และองค์ความรู้ ผ่านรูปแบบการให้บริการแบบดิจิทัล ซึ่งจะเข้าถึง SMEs จำนวนมากโดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่
2. เพิ่มหน่วยงาน และความเชี่ยวชาญของผู้ให้บริการส่งเสริมพัฒนา SMEs ในแต่ละพื้นที่ โดยแยกหน่วยงานปฏิบัติงานส่งเสริมพัฒนา SMEs ออกจากหน่วยงานแจกงบประมาณหรือคูปองเพื่อให้มีหน่วยงานปฏิบัติมากขึ้น รวมทั้งจัดตั้งหน่วยงานให้บริการปรึกษาแนะนำกระจายไปในจังหวัดต่าง ๆ           - กษ. มีหน่วยงานระดับจังหวัด และระดับอำเภอ ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในการประกอบกิจการรวมทั้งสนับสนุนให้วิสาหกิจชุมชนจัดทำแผนพัฒนากิจการและนำแผนพัฒนากิจการเสนอขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- มท. ได้ดำเนินโครงการพัฒนาระบบข้อมูล ?หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์? (OTOP) เพื่อรองรับการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และพัฒนาระบบ Big Data ของโครงการฯ ให้มีความถูกต้องครบถ้วนเป็นปัจจุบันและเชื่อมโยงข้อมูลทั้งภายในและภายนอกเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการวางแผนและการตัดสินใจในการกำหนดนโยบายทิศทางในการพัฒนา OTOP ในอนาคต และเป็นข้อมูลสำหรับประชาชนเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพ
- พณ. ได้ดำเนินการเพื่อส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้สามารถใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) เป็นเครื่องมือในการเพิ่มโอกาสทางการค้า
- อก. โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้มีการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค 1-11 กสอ. และศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเซรามิก ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้สามารถกระจายการพัฒนาครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศและเพิ่มความสะดวกในการให้บริการด้วยระบบ SME Support & Rescue Center (SSRC) ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศ สามารถเข้าถึงการให้บริการได้โดยสะดวก
3. ประสานบริการทางการเงินเข้ากับระบบส่งเสริมพัฒนา SMEs ของชาติอย่างมีประสิทธิภาพ
          3.1 กำหนดประเภทมาตรการทางการเงินที่ชัดเจน สำหรับแต่ละกลุ่มวิสาหกิจที่มีความสามารถต่างกัน เพื่อให้มีเงื่อนไขกระบวนการอนุมัติ และการชดเชยความเสียหายที่เหมาะสม







          3.2 เพิ่มบทบาทธนาคารพาณิชย์ในการสนับสนุนเงินทุนแก่ SMEs และกระจายสินเชื่อสู่ SMEs ในระดับภูมิภาค


- กค. ได้กำหนดแนวนโยบายของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ระยะ 5 ปี (ปี 2564 - 2568) ซึ่งมุ่งเน้นให้ SFIs ได้ทำหน้าที่เติมเต็มช่องว่างทางการเงินในภาวะที่กลไกตลาดไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และขยายโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินให้ครอบคลุม (Financial Inclusion) ซึ่งรวมถึงผู้ประกอบการ SMEs เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมซึ่งได้มอบหมายให้ SFIs ดำเนินการตามพันธกิจและแนวนโยบายดังกล่าวซึ่งครอบคลุมเรื่องการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการ SMEs รวมทั้งได้ออกมาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 อย่างต่อเนื่อง
- ธปท. รายงานว่า ที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ได้ให้ความร่วมมือในการสนับสนุนนโยบายของรัฐที่เกี่ยวข้องกับ SMEs มาอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดทำฐานข้อมูล SMEs เพื่อช่วยให้ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น การใช้เทคโนโลยีหรือข้อมูลทางเลือกในการพิจารณาสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SMEs หน้าใหม่ รวมทั้งขับเคลื่อนมาตรการทางการเงินของภาครัฐเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เช่น โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) การชะลอชำระหนี้ในปี 2563 โครงการสินเชื่อฟื้นฟู โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ (Asset Warehousing) ในปี 2564 เป็นต้น
4. ยกระดับ SMEs เข้าสู่มาตรฐานการวิเคราะห์สินเชื่อของสถาบันการเงินเอกชน โดยจัดกิจกรรม และรณรงค์ให้ SMEs มี Financial/Digital Literacy ผ่านการอบรม ให้ความรู้ด้วยความร่วมมือกับสถาบันการเงินต่าง ๆ และ SMEs ที่จะเข้าสู่มาตรการการช่วยเหลือของรัฐต้องเข้าสู่ระบบ โดยการลงทะเบียนอย่างใดอย่างหนึ่งหรือมีช่วงเวลาที่มีการปรับตัวเพื่อเข้าระบบ          - กค. โดยกรมสรรพากรได้ดำเนินการเพื่อยกระดับผู้ประกอบการ SMEs เข้าสู่มาตรฐานการวิเคราะห์สินเชื่อของสถาบันการเงินเอกชน โดยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าสู่ระบบของรัฐเพื่อมีข้อมูลในการสนับสนุนและส่งเสริมอย่างมีระบบและต่อเนื่อง เช่น เปิดตัวผลิตภัณฑ์การให้ความรู้ทางภาษี Digital Tax Literacy Product ผ่านช่องทาง www.taxliteracy.acadamy และประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์ เช่น Facebook แพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อประสานความร่วมมือไปยังสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) รวมทั้งมีมาตรการจูงใจและอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าระบบของรัฐ อาทิ การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี การให้บริการเทคโนโลยีด้านภาษี เพื่ออำนวยความสะดวกในการปฏิบัติการและชำระภาษีของผู้ประกอบการโดยมีการพัฒนาระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice &   e-Receipt)
5. เตรียมความพร้อมของ SMEs รองรับ Digital Disruption Economic Crisis และ New Normal หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
          5.1 ปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้น



          5.2 จัดทำแผนรองรับวิกฤตเศรษฐกิจและโรคระบาดพร้อมงบประมาณรองรับในแต่ละปีงบประมาณ เพื่อให้มีระบบรองรับการใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย




- กษ. ได้ดำเนินการสนับสนุนให้วิสาหกิจชุมชนมีความสามารถในการจัดทำบัญชี และใช้ประโยชน์จากข้อมูลทางการเงินในการดำเนินงาน ได้แก่ การวางแผนด้านการผลิต/การตลาด และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เช่น เผยแพร่สื่อการเรียนรู้การจัดทำบัญชีวิสาหกิจชุมชนผ่านแอปพลิเคชันทั้งระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์และไอโอเอส รวมทั้งอบรมให้ความรู้และสนับสนุนให้เกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนใช้ระบบตลาดอิเล็กทรอนิกส์ในการขายสินค้าทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชน
- พณ. มีแนวทางในการดำเนินการเพื่อพัฒนา/ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 เช่น การจัดทำระบบการเรียนการสอนผ่านสื่อออนไลน์ (e-Learning) ให้กับผู้ประกอบการ SMEs ทุกระดับ ผ่านทางเว็บไซต์ http://dbdacadamy.dbd.go.th ด้วยหลักสูตรที่มีความทันสมัย และพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้สามารถใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) เป็นเครื่องมือในการเพิ่มโอกาสทางการค้า การเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับสินค้าชุมชน
- สสว. ได้เตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการ SMEs เพื่อรองรับ Digital Disruption, Economic Crisis และ New Normal โดยได้กำหนดประเด็นที่เกี่ยวข้องไว้ใน (ร่าง) แผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. 2566 - 2570 ทั้งในเรื่องการเร่งนำดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ การพัฒนาแรงงานบุคลากรให้มีทักษะด้านดิจิทัลมากขึ้น


ต่างประเทศ

24. เรื่อง ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยความร่วมมือด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยความร่วมมือด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช และอนุมัติให้ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือผู้แทนเป็นผู้ลงนามในร่าง MOU ดังกล่าวตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ
                    สาระสำคัญของร่างบันทึกความเข้าใจฯ สรุป ดังนี้
                    1) การกำหนดขอบเขตความร่วมมือเกี่ยวกับมาตรการสุขอนามัยสุขอนามัยพืช (SPS)                             ซึ่งประกอบด้วย 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่ (1) การจัดทำระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับมาตรการ SPS และการแจ้งเตือน (2) การแลกเปลี่ยนการเยือน (3) การจัดหลักสูตรการฝึกอบรม สัมมนา และการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อลดช่องว่างของการพัฒนาภายในอาเซียน และ (4) การจัดทำความร่วมมือด้านงานวิจัย
                    2) การกำหนดกลไกในการดำเนินงานซึ่งประกอบด้วยการประชุมระดับรัฐมนตรี การประชุมระดับอธิบดีหรือผู้ประสานงาน และการประชุมระดับคณะทำงานด้านเทคนิค ซึ่งกำหนดให้มีการประชุมร่วมกันทุก 2 ปี
                    3) การคุ้มครองสิทธิของทรัพย์สินทางปัญญา กำหนดให้สิทธิของทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากการวิจัยหรือพัฒนาร่วมกัน จะต้องเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันของภาคีสมาชิกภายใต้ข้อกำหนดที่ตกลงไว้

25. เรื่อง สรุปผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 16 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 16 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 21 - 22 ตุลาคม 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
                    1. การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 16  (16th  ASEAN Ministerial Meeting on the Environment: 16th  AMME) เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2564 สรุปได้ ดังนี้
                              1.1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้กล่าวถ้อยแถลงโดยเรียกร้องให้สมาชิกอาเซียนดำเนินนโยบายเชิงรุกเพื่อเร่งฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  ซึ่งประเทศไทยได้ดำเนินนโยบาย Bio-Circular-Green Economy Model ในการฟื้นฟูที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งได้สร้างความเข้มแข็งในการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมโดยการพัฒนากรอบนโยบาย เช่น การปรับปรุงพระราชบัญญัติป่าไม้พุทธศักราช ๒๔๘๔ การยกร่างพระราชบัญญัติความหลายหลายทางชีวภาพ และพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยได้ดำเนินงานตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ (Nationally Determined Contribution: NDCs) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20 รวมทั้งพัฒนายุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย และเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกอาเซียนเร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานแผนปฏิบัติการอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเล รวมทั้งส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกก้าวไปสู่การเป็นภูมิภาคอาเซียนปลอดหมอกควัน โดยประเทศไทยจะร่วมมือกับภูมิภาคต่อไป
                              1.2 ที่ประชุมมีมติในเรื่องต่าง ๆ ที่สำคัญ ดังนี้
                                        1.2.1 เห็นชอบให้มีร่างแถลงการณ์ร่วมอาเชียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร [ได้มีการประชุมฯ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม - 12 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (23 พฤศจิกายน 2564) รับทราบผลการประชุมดังกล่าวแล้ว] รวมทั้งนำเสนอในที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 38 และ 39 ระหว่างวันที่ 26 - 28 ตุลาคม 2564 ด้วย เพื่อเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการดำเนินงานตามความตกลงปารีสในระยะหลังปีค.ศ. 2020 ต่อไป นอกจากนี้ ได้มีการรับรองข้อริเริ่มการเป็นประธานอาเซียนปี ค.ศ. 2021 ของเนการาบรูไนดารุสซาลาม (บรูไน) ในการจัดตั้งศูนย์อาเซียนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในบรูไนและโครงการ ASEAN Youth on the Climate Action (ASEANyouCAN) ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนของประเทศสมาชิกอาเซียนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
                                        1.2.2 เห็นชอบเมืองที่ได้รับการเสนอชื่อเพื่อรับรางวัลอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมเมืองที่ยั่งยืน ครั้งที่ 5 สำหรับประเทศไทย เทศบาลนครยะลา จังหวัดยะลาได้รับรางวัลด้านเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน เทศบาลนครหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ได้รับรางวัลด้านอากาศ เทศบาลเมืองทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับรางวัลด้านน้ำ เทศบาลเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ ได้รับรางวัลด้านขยะและพื้นที่สีเขียวสำหรับประเภทเมืองขนาดเล็ก
                                        1.2.3 รับรองร่างแถลงการณ์ร่วม Draft ASEAN-China Joint Statement on Enhancing Green and Sustainable Development Cooperation ซึ่งนำเสนอในที่ประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน (ASEAN China Summit) ครั้งที่ 24 ในวันที่ 26 ตุลาคม 2564
                                        1.2.4 เห็นชอบการจัดการประชุมประเทศภาคีต่อข้อตกลงอาเซียน เรื่อง มลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ครั้งที่ 17 ในปี ค.ศ. 2022 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์และการประชุมมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ครั้งที่ 18 ในปี ค.ศ. 2023 ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) และการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมครั้งที่ 17 (17th AMME) ในปี ค.ศ. 2023 ณ สปป. ลาว
                                        1.2.5 รับทราบประเด็นต่าง ๆ เช่น
                                                  (1) การยืนยันพันธกรณีที่จะดำเนินการตามปฏิญญากรุงเทพว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน และเผนปฏิบัติการอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเล
                                                  (2) การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน เช่น มลพิษจากขยะทะเล การบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน และเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยที่ประชุมยินดีกับ ASEAN SCP Framework ซึ่งมีการกำหนดมาตรการต่าง ๆ ในการสนับสนุนการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เป้าหมายที่ 12 (สร้างหลักประกันให้มีแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน)
                                                  (3) การเปิดตัวรายงาน ASEAN State of Climate Change Report เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2564 เพื่อสนับสนุนรายงานสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศสมาชิกอาเชียน และกำหนดวิสัยทัศน์การดำเนินงานร่วมกันในระดับภูมิภาค
                    2. การประชุมประเทศภาคีต่อข้อตกลงอาเซียน เรื่อง มลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ครั้งที่ 16 (16th  Meeting of the Conference of the Parties to the ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution: COP-16 AATHP) เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2564 เพื่อหารือสถานการณ์และการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
                              2.1 เนื่องจากศูนย์เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยาแห่งอาเซียนได้คาดการณ์สภาพอากาศใน                อนุภูมิภาคแม่โขงว่า ในช่วงเดือนธันวาคม 2564 เป็นต้นไป สภาพอากาศจะเริ่มเข้าสู่สภาวะแห้งแล้ง ซึ่งจะส่งผลให้จำนวนจุดความร้อนเพิ่มสูงขึ้นในอนุภูมิภาคแม่โขงได้ ประเทศไทยจึงได้ขอความร่วมมือจากประเทศอนุภูมิภาคแม่โขงในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดนที่จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว
                              2.2 รับทราบความคืบหน้าการประเมินผลการดำเนินงานตาม ASEAN Transboundary Haze Free Roadmap (แผนที่นำทางอาเซียนปลอดหมอกควันข้ามแดน) ที่ได้สิ้นสุดลงไปเมื่อปี 2563 โดยผลการประเมินจะนำไปใช้พัฒนาแผนงานในอนาคตสำหรับภูมิภาคอาเซียนต่อไป ประเทศไทยจึงได้เสนอให้ประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมกันตั้งเป้าหมายในการลดจุดความร้อนในภูมิภาคลงร้อยละ 20 ในปี 2565 เพื่อใช้เป็นเป้าหมายร่วมกันในการยกระดับการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น
                              2.3 รับทราบความคืบหน้าการจัดตั้งศูนย์ประสานงานกลาง ASEAN Coordinating Centre for Transboundary Haze Pollution Control (ACC THPC) หรือศูนย์ความร่วมมืออาเซียนสำหรับการควบคุมมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ณ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย (อินโดนีเซีย) ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามข้อตกลงอาเซียน เรื่องมลพิษจากหมอกควันข้ามแดนอย่างเต็มรูปแบบและมีประสิทธิภาพ และคาดหวังว่าการจัดตั้ง ACC THPC จะสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
                              2.4 รับทราบรายงานการประชุมคณะกรรมการระดับรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม 5 ประเทศ เรื่อง มลพิษจากหมอกควันข้ามแดนในอนุภูมิภาคแม่โขง ครั้งที่ 9 โดยให้มีการขยายแผนปฏิบัติการเชียงรายที่จะสิ้นสุดในปีนี้ ให้ขยายไปอีก 5 ปี จนถึงปี 2568 เพื่อใช้เป็นแผนปฏิบัติการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนในอนุภูมิภาคแม่โขง
                              2.5 รับทราบกำหนดการประชุมคณะกรรมการระดับรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม 5 ประเทศ เรื่อง มลพิษจากหมอกควันข้ามแดนในอนุภูมิภาคแม่โขง ครั้งที่ 10 ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนธันวาคม 2564  ผ่านระบบวิดีทัศน์ทางไกล โดยสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาเป็นเจ้าภาพและการประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม 5 ประเทศ เรื่อง มลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ครั้งที่ 22 ชึ่งจัดขึ้นปลายเดือนพฤศจิกายน 2564 ผ่านระบบวิดีทัศน์ทางไกล โดยอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพ
                    ๓. การประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 17 (17th  ASEAN Plus Three Environment Ministers Meeting: 17th  ASEAN+3 EMM) เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2564 เพื่อหารือความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมกับสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐเกาหลี และประเทศญี่ปุ่น โดยประเทศไทยได้ขอบคุณทั้ง 3 ประเทศในความร่วมมือที่ผ่านมาและคาดหวังว่าจะดำเนินความร่วมมือต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต

26. เรื่อง สรุปผลการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 44
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปผลการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 44 ในการประชุมทางไกลเต็มรูปแบบระหว่างวันที่ 16 - 31 กรกฎาคม 2564 ณ เมืองฝูโจว มณฑลฝูเจี้ยน สาธารณรัฐประชาชนจีนตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
                    1. เดิมคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (13 กรกฎาคม 2564) เห็นชอบการกำหนดท่าทีของราชอาณาจักรไทยในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 44 ดังนี้
                              1.1 รายงานสถานภาพการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลก พื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ให้หัวหน้าคณะผู้แทนไทยดำเนินการชี้แจงและโน้มน้าวคณะกรรมการมรดกโลก ศูนย์มรดกโลก และองค์กรที่ปรึกษาให้เห็นถึงการดำเนินการของราชอาณาจักรไทยในการให้ความสำคัญต่อการดูแลและอนุรักษ์พื้นที่ฯ ให้คงคุณค่าความโดดเด่นอันเป็นสากลอย่างยั่งยืน และไม่ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกในภาวะอันตราย
                               1.2 การขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลก พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานให้คณะผู้แทนไทยชี้แจงทำความเข้าใจและโน้มน้าวคณะกรรมการมรดกโลก องค์กรที่ปรึกษาและศูนย์มรดกโลกเกี่ยวกับสถานการณ์และวิถีชีวิตชุมชนในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานและสนับสนุนราชอาณาจักรไทยในการผลักดันการขึ้นทะเบียนพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก รวมทั้งขอปรับแก้ (ร่าง) ข้อมติที่จะส่งผลต่อการดำเนินงานในอนาคต
                    2. มติคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 44 ที่เกี่ยวข้องกับราชอาณาจักรไทย

ประเด็น
          มติคณะกรรมการมรดกโลก
2.1 รายงานสถานภาพการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลก พื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ [เป็นพื้นที่ที่ได้รับการติดตามจากศูนย์มรดกโลกและสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (International Union for Conservation of Nature: IUCN) อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีกิจกรรมต่าง ๆ เกิดขึ้นในพื้นที่เป็นจำนวนมากตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะการบุกรุกพื้นที่การลักลอบตัดและค้าไม้พะยูง จึงเกิดประเด็นที่ทำให้มีการเสนอให้ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกในภาระอันตราย]

          รับรองรายงานสถานภาพการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลกพื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และให้ดำเนินการ
ในเรื่องต่าง ๆ เช่น
(1) ให้ติดตามผลอย่างใกล้ชิดว่าการออกกฎหมายใหม่ เช่น พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ                    พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ส่งผลต่อความครบถ้วนสมบูรณ์ของแหล่งมรดกโลกอย่างไร และให้แน่ใจว่ามีการใช้มาตรการที่เหมาะสมในการป้องกันการบุกรุกพื้นที่แหล่งมรดกโลกอย่างผิดกฎหมาย
(2) ให้มีมาตรการบรรเทาผลกระทบและการติดตามผลกระทบจากการดำเนินการภายหลังการก่อสร้าง
เขื่อนห้วยโสมงและทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304
(3) เน้นย้ำให้ยกเลิกแผนการก่อสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำภายในพื้นที่แหล่งมรดกโลกอย่างถาวร
(4) ให้ดำเนินการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมถึงแหล่งมรดกโลก
2.2 การขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกทางธรรมชาติ พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก (ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ผ่าน ๆ มา ได้มีข้อห่วงกังวลในประเด็นเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนและวิถีชีวิตของชุมชนกะเหรี่ยงในพื้นที่และเรื่องแนวขอบเขตการนำเสนอแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ โดยให้อยู่บนพื้นฐานของข้อตกลงร่วมกันระหว่างรัฐภาคีราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา)          รับรองการขึ้นทะเบียนพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกและให้ดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ เช่น สร้างความเข้าใจร่วมกันกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาเกี่ยวกับขอบเขตพื้นที่แหล่งที่ได้รับการปรับแก้ไขตามข้อตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

                    3. การขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติการขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลกในภาวะอันตราย และการถอดถอนแหล่งมรดกโลกออกจากบัญชีรายชื่อแหล่งมรดกโลก
ประเด็น          มติคณะกรรมการมรดกโลก
3.1 การขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลก
          ให้ขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติเป็นแหล่งมรดกโลก 34 แหล่ง (โดยแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติในกลุ่มประเทศอาเซียนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนฯ มี 1 แหล่ง คือ พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานของไทย) และให้ขยายพื้นที่แหล่งมรดกโลกที่ขึ้นทะเบียนไว้เดิม 10 แหล่ง
3.2 การขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลกในภาวะอันตราย และการถอดถอน
แหล่งมรดกโลก          (1) ให้ถอดถอนแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ Salonga National Park ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกออกจากบัญชีรายชื่อแหล่งมรดกโลกในภาวะอันตราย
(2) ให้บรรจุแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม Ro?ia Montan? Mining Landscape ประเทศโรมาเนีย ในบัญชีรายชื่อแหล่งมรดกโลกในภาวะอันตราย
(3) ให้ถอดถอน Liverpool-Maritime Mercantile City (สหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์เหนือ) ออกจากบัญชีรายชื่อแหล่งมรดกโลก
(4) รับรองแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลกที่จัดส่งก่อนวันที่ 15 เมษายน 2564 จำนวน 123 แหล่ง จากรัฐภาคีสมาชิก 45 ประเทศ

                    4. การรายงานสถานภาพการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลก ที่ประชุมฯ ได้พิจารณารายงานสถานภาพการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลก 202 แหล่ง แบ่งเป็น 1) แหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม 132 แหล่ง 2) แหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ 67 แหล่ง (รวมถึงพื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ของราชอาณาจักรไทย) และ 3) แหล่งมรดกโลกแบบผสม 3 แหล่ง
                    5. การให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศ ที่ประชุมฯ มีมติรับทราบการให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศและเห็นชอบการสนับสนุนเงินช่วยเหลือให้แก่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประเทศศรีลังกา และสาธารณรัฐนอร์ทมาชิโดเนีย
                    6. การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบให้สหพันธรัฐรัสเชียเป็นเจ้าภาพการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 45 ระหว่างวันที่ 19 - 30 มิถุนายน 2565 ณ เมืองคาซาน สหพันธรัฐรัสเชีย

27. เรื่อง ผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 54 และการประชุมระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง
                    คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 54 และ การประชุมระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และมอบหมายให้หน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องนำผลการประชุมฯ ไปปฏิบัติและติดตามความคืบหน้าต่อไป ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
                    สาระสำคัญของเรื่อง
          กต. รายงานว่า รองนายกรัฐมนตรี (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวง           การต่างประเทศได้เข้าร่วมการประชุมฯ เมื่อวันที่ 2 - 7 สิงหาคม 2564  ซึ่งเนการาบรูไนดารุสซาลาม (บรูไน) ในฐานะประธานอาเซียนปี 2564 จัดขึ้นผ่านระบบการประชุมทางไกลสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
                    1. ผลการประชุมฯ มีเนื้อหาสำคัญ สรุปได้ ดังนี้
ประเด็น          สาระสำคัญ
1) การขับเคลื่อนประชาคมอาเซียน          1.1 ที่ประชุมฯ ยืนยันเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะขับเคลื่อนประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะการดำเนินการตามวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 และสนับสนุนเป้าหมายผลลัพธ์ของการเป็นประธานอาเซียนของบรูไน ภายใต้แนวคิด "เราห่วงใย เราเตรียมพร้อม เรารุ่งเรือง"
1.2 ที่ประชุมฯ เน้นย้ำความเป็นแกนกลางของอาเซียนในการมีปฏิสัมพันธ์กับภาคีภายนอก โดยเฉพาะการดำเนินโครงการภายใต้มุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific: AOIP) โดยทุกประเทศย้ำความสำคัญของการส่งเสริมความร่วมมือที่เอื้อประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ลดการเผชิญหน้าระหว่างมหาอำนาจ และสร้างสภาพแวดล้อมที่สันติและมีเสถียรภาพ
2) ความร่วมมือเพื่อรับมือกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)          2.1 ประเทศสมาชิกอาเซียนแสดงความห่วงกังวลต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ในภูมิภาค โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตา และย้ำความจำเป็นของการเข้าถึงวัคซีน โดยให้เร่งรัดการจัดสรรเงินจากกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโรคโควิด-19 เพื่อจัดซื้อวัคซีนให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียนในมูลค่าประเทศละ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
2.2 ที่ประชุมฯ รับรองกรอบการจัดทำระเบียงการเดินทางของอาเซียนเพื่อเอื้อต่อการเดินทางติดต่อทางธุรกิจและราชการที่จำเป็น โดยประเทศสมาชิกอาเซียนหลายประเทศผลักดันให้มีหนังสือรับรองการฉีดวัคซีนสำหรับการเดินทางที่ใช้ร่วมกันและขอให้รับรองวัคชีนฉุกเฉินทุกชนิดที่องค์การอนามัยโลกรับรอง เพื่อหลีกเลี่ยงการกีดกันการเดินทางบนพื้นฐานของวัคซีน ในขณะที่สาธารณรัฐสิงคโปร์ (สิงคโปร์) แสดงความกังวลว่าวัคซีนแต่ละชนิดมีประสิทธิภาพต่างกัน
2.3 ประเทศคู่เจรจาและภาคีภายนอกย้ำการสนับสนุนความพยายามของอาเซียนในการรับมือกับโรคโควิด-19 ทั้งในด้านวัคซีน ยาต้านไวรัส อุปกรณ์ทางการแพทย์ เงินสนับสนุนกองทุนอาเซียนฯ และการเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขในอนาคต
3) ความสัมพันธ์กับภาคีภายนอกอาเซียน          3.1 ที่ประชุมฯ ได้มีมติเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับภาคีภายนอกอาเซียน เช่น (1) เห็นชอบให้รับสหราชอาณาจักรเป็นคู่เจรจาอาเซียน ลำดับที่ 11 (2) เห็นชอบให้รับราชอาณาจักรเดนมาร์กและรัฐสุลต่านโอมานเป็นอัครภาคีสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ                     (3) เห็นชอบในหลักการต่อคำขอเข้าเป็นคู่เจรจารายสาขาของสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล
3.2 ไทยได้ย้ำข้อเสนอเรื่องอาเซียน+2 เพื่อผลักดันให้มหาอำนาจภายนอกภูมิภาคโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐประชาชนจีน เข้ามาดำเนินโครงการที่เป็นรูปธรรมร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ โดยเริ่มจากสาขาความร่วมมือภายใต้ AOIP เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและลดการเผชิญหน้ากันระหว่างมหาอำนาจ
3.3 ไทยได้เป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-อินเดีย ซึ่งเป็นการประชุมที่ไทยเป็นประธานร่วมกับอินเดียครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะส่งมอบหน้าที่ประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-อินเดีย วาระปี 2564 ? 2567 ให้สิงคโปร์ นอกจากนี้ ไทยได้รับมอบหน้าที่ประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น วาระปี 2564 - 2567 ต่อจากสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยไทยได้ย้ำความร่วมมือเรื่องโรคโควิด-19 การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และการขับเคลื่อนความร่วมมือภายใต้ AOIP ควบคู่กับยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างของประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งเตรียมการเพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์คู่เจรจาอาเซียน-ญี่ปุ่น ในปี 2566
4. สถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศ          4.1  สถานการณ์ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (เมียนมา) ที่ประชุมฯ ย้ำให้เร่งรัดการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเชียน และสนับสนุนให้รัฐมนตรีต่างประเทศคนที่ 2 ของบรูไน (ดาโตะ เอรีวัณ เปฮิน ยูซอฟ) ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา โดยเมียนมา มีเงื่อนไข 3 ข้อ คือ (1) ผู้แทนพิเศษฯ จะต้องปฏิบัติหน้าที่ที่ระบุไว้ในฉันทามติ 5 ข้อรวมถึงการหารือกับรัฐบาลเมียนมาอย่างใกล้ชิด (2) เมียนมาจะไม่รับข้อเสนอใหม่เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของผู้แทนพิเศษฯ นอกเหนือจากที่ระบุไว้ในฉันทามติ 5 ข้อ และ (3) ผู้แทนพิเศษฯ จะต้องปฏิบัติหน้าที่โดยเคารพต่อหลักการพื้นฐานของอาเชียน ได้แก่ การเคารพในอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน การไม่แทรกแซงกิจการภายในและการเคารพสิทธิของเมียนมา นอกจากนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนและคู่เจรจาได้แสดงความห่วงกังวลต่อสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในเมียนมา และย้ำความสำคัญของการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนชาวเมียนมา โดยไทยได้เสนอให้จัดการประชุมผู้บริจาคเพื่อระดมความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้แก่เมียนมาซึ่งต่อมาสำนักเลขาธิการอาเซียนและศูนย์ประสานงานการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของอาเซียนได้จัดการประชุมเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2564 และสามารถระดมทุนในรูปแบบเงินบริจาคและความช่วยเหลืออื่น ๆ กว่า 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
4.2  สถานการณ์ในทะเลจีนใต้ ที่ประชุมฯ ยินดีต่อความคืบหน้าการเจรจาถ้อยคำของประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ และเน้นย้ำความสำคัญของเสรีภาพในการเดินเรือและการบินผ่านในทะเลจีนใต้และการปฏิบัติตามปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ

                    2. กต. พิจารณาแล้วเห็นว่า ผลการประชุมฯ เป็นการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองร่วมกันและมีนัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของส่วนราชการ ต่าง ๆ เช่น การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนชาวเมียนมา การจัดทำระเบียงการเดินทางของอาเซียนเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางทางธุรกิจและราชการที่จำเป็นภายในอาเซียน การจัดตั้งกลไกการหารือด้านไซเบอร์อาเซียน-จีน และการส่งเสริมความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน จึงมีประเด็นที่ต้องมอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงกลาโหม (กห.) กระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์(กษ.) กระทรวงคมนาคม (คค) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงพลังงาน (พน.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

28. เรื่อง ร่างบันทึกการประชุม (Record of Discussion) ของการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย ? กัมพูชา ครั้งที่ 11
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างบันทึกการประชุม (Record of Discussion) ของการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (Joint Commission for Bilateral Cooperation: JC) ไทย ? กัมพูชา ครั้งที่ 11 ทั้งนี้ หากมีการแก้ไขร่างบันทึกการประชุมฯ ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญหรือขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทยอนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาดำเนินการโดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีก และให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศร่วมรับรองร่างบันทึกการประชุมฯ ในวันที่ 18 ธันวาคม 2564 ตามที่ กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
                    สาระสำคัญของเรื่อง
          กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชาได้ร่วมกันจัดทำร่างบันทึก                    การประชุมฯ ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้
                    1. วัตถุประสงค์ของร่างบันทึกการประชุมฯ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมของรัฐบาลทั้งสองประเทศที่จะส่งเสริมความร่วมมืออย่างรอบด้านทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี โดยเฉพาะเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของทั้งสองประเทศจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รวมทั้งการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ไทย ? กัมพูชา ในฐานะ ?หุ้นส่วนเพื่อสันติภาพและความเจริญ รุ่งเรือง? ให้มีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมและก่อประโยชน์แก่ประชาชนของทั้งสองฝ่าย
                    2. ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบต่อร่างบันทึกการประชุมฯ ซึ่งสะท้อนเจตนารมณ์ของทั้งสองฝ่ายที่จะผลักดันความร่วมมืออย่างใกล้ชิดในสาขาต่าง ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ (1) ความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากสถานการณ์โควิด-19 เช่น การให้การยอมรับเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนระหว่างกัน การพิจารณาเปิดให้มีการท่องเที่ยวระหว่างกันในจังหวัดชายแดนในลักษณะเช้าไปเย็นกลับ การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาและการส่งเสริมความเชื่อมโยง (2) การส่งเสริมความร่วมมือบริเวณชายแดน เช่น การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบสาธารณสุขในพื้นที่ชายแดน การแก้ไขปัญหาการลักลอบข้ามแดนผิดกฎหมายและยาเสพติด การเก็บกู้ทุ่นระเบิด และการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์รวมทั้งปัญหาคนไทยถูกชักชวนไปทำงานหลอกลวงทางโทรศัพท์ (call center) ในกัมพูชา (3) ความร่วมมือในระดับประชาชน เช่น การส่งเสริมความร่วมมือในด้านกีฬาและการแลกเปลี่ยนเยาวชนและผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และ (4) ความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคและภูมิภาคโดยเฉพาะในกรอบอาเซียน
                    3. ร่างบันทึกการประชุมฯ เป็นการบันทึกผลการประชุมของคณะกรรมาธิการร่วมฯ ที่แสดงวิสัยทัศน์และเจตนารมณ์ร่วมกันของฝ่ายไทยและฝ่ายกัมพูชาในการพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่ายในด้านต่าง ๆ ตามนัยข้อ 2 โดยไม่มีการลงนาม และมิได้มีรูปแบบ ถ้อยคำ หรือบริบทใดที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้น ร่างบันทึกการประชุมฯ จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

แต่งตั้ง

29. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง นายพงศธร              อาสนศักดิ์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขาศัลยกรรม) กลุ่มงานศัลยกรรม โรงพยาบาลสงขลา สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดสงขลา สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขาศัลยกรรม) โรงพยาบาลสงขลา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

30. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการต่างประเทศ)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอแต่งตั้งข้าราชการ            พลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 6 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่างและสับเปลี่ยนหมุนเวียน ดังนี้
                     1. นายณัฐวัฒน์ กฤษณามระ อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
                     2. นางเอกสิริ ปิณฑะรุจิ เอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ
                    3. นางสุพัตรา ศรีไมตรีพิทักษ์ เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส
                     4. นางสาวรมณี คณานุรักษ์ เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี
                     5. นายวิชชุ เวชชาชีวะ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี
                    6. นายเชษฐพันธ์ มากสัมพันธ์ เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ สาธารณรัฐโปแลนด์ ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้
                    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป ซึ่งการแต่งตั้งข้าราชการให้ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำต่างประเทศ ตามข้อ 1 4 และ 5 ได้รับความเห็นชอบจากประเทศผู้รับ

31. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี)
                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอแต่งตั้ง นายสิทธินันท์ มานิตกุล ที่ปรึกษาด้านการประสานกิจการความมั่นคง (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

32. เรื่อง การแต่งตั้งผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอแต่งตั้งนายสุกิจ จันทร์ทอง ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญาจ้างเป็นต้นไป

33. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการบริหารสถาบันวัคซีนแห่งชาติ
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง นายมานิต ธีระตันติกานนท์ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการบริหารสถาบันวัคซีนแห่งชาติ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป

34. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) เสนอ แต่งตั้ง            นายประวิทย์ ศรีบัณฑิตมงคล เป็นกรรมการผู้แทนสมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) ในคณะกรรมการส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ แทนกรรมการเดิมที่ลาออก ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป และให้ผู้ได้รับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว

35. เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการดำเนินการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ ?สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน? ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ?เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต?
                    คณะรัฐมนตรีมีมตีรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 330/2564 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการดำเนินการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ ?สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน? ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ?เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต?
                    ตามที่ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 20/2564 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการดำเนินการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ ?สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน? ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ?เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต? ลงวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2564 นั้น
                    โดยที่ได้มีประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีลงวันที่ 8 กันยายน พุทธศักราช 2564 จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบคณะกรรมการดังกล่าว เพื่อให้การดำเนินงานของคณะกรรมการเป็นไปอย่างต่อเนื่องด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับการมอบหมายงานตามโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินในปัจจุบัน
                    อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 จึงยกเลิกความในข้อ 1.1 และข้อ 1.2 ของคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 20/2564 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการดำเนินการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ ?สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน? ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ?เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต? ลงวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2564 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
                    ?1.1 รองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ?
                    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป

          ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 ธันวาคม 2564

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ