http://www.thaigov.go.th
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
วันนี้ (5 เมษายน 2565) เวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้ กฎหมาย 1. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้น รัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ?. (การขยายเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ) 2. เรื่อง ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วย การแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ พ.ศ. 2545 พ.ศ. ?. 3. เรื่อง ร่างกฎสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยเครื่องแบบพิเศษสำหรับข้าราชการสำนักงาน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ?. 4. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. ?. 5. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... 6. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และอัตราการจ่ายประโยชน์ ทดแทนในกรณีชราภาพเป็นการเฉพาะในช่วงที่มีการลดอัตราเงินสมทบ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... 7. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. .... เศรษฐกิจ สังคม 8. เรื่อง ขออนุมัติค่าชดเชยปลูกป่าโครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ
เพิ่มเติม
9. เรื่อง โครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ. 2561 ? 2570 (ดำเนินการ ต่อเนื่องในระยะที่ 2 พ.ศ. 2565 - 2570) 10. เรื่อง ขออนุมัติดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำคลองโพล้ จังหวัดระยอง 11. เรื่อง ขอความเห็นชอบการจัดสวัสดิการรถจักรยานยนต์เพื่อใช้ในการปฏิบัติงานนอก สถานที่ให้แก่พนักงาน โดยให้พนักงานกู้เงินจากการประปานครหลวงแบบไม่คิด อัตราดอกเบี้ยในวงเงินการจัดสวัสดิการ จำนวน 30 ล้านบาท 12. เรื่อง การจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่เพื่อนำไปกำหนดเป็นอัตรากำลังแทนให้แก่ส่วน ราชการที่ส่งข้าราชการไปปฏิบัติหน้าที่ในศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของ ชาติทางทะเล 13. เรื่อง ร่างยุทธศาสตร์ด้านมาตรฐานทางจริยธรรมและการส่งเสริมจริยธรรมภาครัฐ พ.ศ. 2565 - 2570 14. เรื่อง ผลการดำเนินงานของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยในปีงบประมาณ 2564 นโยบายของคณะกรรมการ และโครงการและแผนงานของการรถไฟฟ้า ขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยในอนาคต 15. เรื่อง รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนมกราคม 2565 16. เรื่อง สรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2565 17. เรื่อง ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้ง ที่ 7/2565 และผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในคราวประชุมครั้งที่ 8/2565 18. เรื่อง การขอเปิดจุดผ่านแดนชั่วคราวเพื่อการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) 19. เรื่อง รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4/2564 และแนวโน้มไตรมาส ที่ 1/2565 และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนมกราคม 2565 20. เรื่อง การกำหนดขอบเขตสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงินสำหรับรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง ที่รัฐวิสาหกิจนั้นอาจดำเนินการเองได้ ตามมาตรา 13 (2) แห่งพระราชบัญญัติ แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 เกี่ยวกับการปรับปรุงค่าห้องและค่าอาหาร กรณีเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล 21. เรื่อง สรุปมติที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก ครั้งที่ 1/2565 22. เรื่อง แผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด พ.ศ. 2566-2570 แผนปฏิบัติราชการประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2566 ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด และข้อเสนอแผนงาน โครงการของส่วนราชการที่สอดคล้องกับร่างกรอบแผนพัฒนาภาค พ.ศ. 2566- 2570 ที่จะดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ต่างประเทศ 23. เรื่อง การขอความเห็นชอบการต่อวาระการดำรงตำแหน่งของนายวันชัย รุจนวงศ์ ผู้แทน ไทย ในคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิ เด็ก ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิเด็ก 24. เรื่อง ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการ ธนาคารกลางอาเซียน ครั้งที่ 8 แต่งตั้ง 25. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับ ทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข) 26. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับ ทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี) 27. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการต่างประเทศ) 28. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงสาธารณสุข) 29. เรื่อง การแต่งตั้งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง 30. เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการองค์การคลังสินค้า
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396 กฎหมาย 1. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ?. (การขยายเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ?. ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้ ทั้งนี้ กค. เสนอว่า 1. เนื่องจากการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 702) พ.ศ. 2563 ได้สิ้นสุดลงแล้วเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2564 แต่รัฐบาลยังคงมีนโยบายส่งเสริมให้ผู้ประกอบการซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพมาใช้หรือนำมาขายเพื่อทดแทนผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายไม่ได้ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายไม่ได้และกลายเป็นขยะตกค้าง รวมทั้งช่วยลดงบประมาณของภาครัฐในการกำจัดขยะพลาสติกตกค้าง กค. พิจารณาแล้วเห็นควรขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับรายจ่ายที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้จ่ายไปเพื่อซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพจากผู้ผลิตออกไปอีกเป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพอย่างต่อเนื่อง และให้เห็นผลเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น 2. ทั้งนี้ มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพเป็นมาตรการภาษีที่ผู้ประกอบการโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกต้องใช้เวลาในการเตรียมตัวและความพร้อมในการผลิตก่อนที่จะนำออกสู่ตลาดเพื่อจำหน่าย โดยจากข้อมูลการยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด. 50) ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีรายจ่ายจากการจ่ายไปเพื่อซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพจากผู้ผลิต รอบระยะเวลาบัญชี 2562 ซึ่งเป็นปีแรกของการใช้มาตรการภาษียังไม่มีผู้ประกอบการใช้สิทธิประโยชน์ และรอบระยะเวลาบัญชี 2563 มีผู้ประกอบการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจำนวน 14 ราย เป็นจำนวนเงิน 18,334,022.84 บาท สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี 2564 ยังไม่มีข้อมูลสำหรับการประเมินผลการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีดังกล่าว เนื่องจากยังไม่ถึงกำหนดเวลาการยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด. 50 จะถึงกำหนดยื่นแบบประมาณเดือนพฤษภาคมของทุกปี) 3. กค. ได้ดำเนินการตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยคาดว่ามาตรการนี้จะก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐและประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ดังนี้ 3.1 ประมาณการการสูญเสียรายได้ การกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีนี้ คาดว่าภาครัฐจะสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลในปี 2565 ถึง 2567 ประมาณปีละ 673 ล้านบาท แต่จะมีส่วนช่วยลดงบประมาณของภาครัฐในการกำจัดขยะตกค้างและการดูแลปัญหาสิ่งแวดล้อมได้เป็นจำนวนหนึ่ง 3.2 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ดังนี้ 1) ช่วยส่งเสริมการผลิตและการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เพื่อเป็นทางเลือกของการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และเพื่อใช้ทดแทนพลาสติกที่สลายตัวไม่ได้ทางชีวภาพ อันจะช่วยส่งเสริมให้บรรลุเป้าประสงค์ในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Bio Hub of ASEAN 2) ช่วยลดต้นทุนผลิตภัณฑ์และส่งเสริมให้มีการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ และส่งเสริมให้ภาคธุรกิจรวมทั้งประชาชนมีความสนใจในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น 3) ช่วยลดปริมาณขยะและสิ่งตกค้างที่ไม่ย่อยสลาย ส่งผลดีในเรื่องการดูแลปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศ อันจะเป็นการช่วยลดงบประมาณของภาครัฐในการกำจัดขยะตกค้างและการดูแลปัญหาสิ่งแวดล้อมได้เป็นจำนวนหนึ่ง สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละยี่สิบห้าของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพจากผู้ผลิตตามประเภทที่อธิบดีประกาศกำหนด และได้รับการรับรองผลิตภัณฑ์จากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 2. เรื่อง ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ พ.ศ. 2545 พ.ศ. ?. คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ พ.ศ. 2545 พ.ศ. ?. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ ทั้งนี้ สคทช. เสนอว่า 1. คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ (กบร.) ในการประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธาน ได้เห็นชอบให้ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ พ.ศ. 2545 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2547 โดยการยกเลิกระเบียบทั้ง 2 ฉบับนี้ จะเป็นการยกเลิก กบร. โดยให้การแก้ไขปัญหาและป้องกันการบุกรุกที่ดินของรัฐไปเป็นส่วนหนึ่งของ คทช. ตลอดจนให้โอนอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการภายใต้ กบร. ไปเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการภายใต้ คทช. 2. คทช. ในการประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้ คทช. เพิ่มเติม รวม 2 คณะ เพื่อปฏิบัติหน้าที่แทนคณะอนุกรรมการที่ กบร. ได้แก่ คณะกรรมการพิสูจน์สิทธิในที่ดินของรัฐจังหวัด (คพร. จังหวัด) และคณะอนุกรรมการอ่านภาพถ่ายทางอากาศ โดยได้มีการแต่งตั้งเรียบร้อยแล้ว 3. คทช. ในการประชุมครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2565 เห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ พ.ศ. 2545 พ.ศ. ?. ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขและป้องกันการบุกรุกที่ดินของรัฐมีประสิทธิภาพและมีหน้าที่และอำนาจที่ไม่ซ้ำซ้อนกัน สาระสำคัญของร่างระเบียบ ให้ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ พ.ศ. 2545 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2547 โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป 3. เรื่อง ร่างกฎสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยเครื่องแบบพิเศษสำหรับข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ?. คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยเครื่องแบบพิเศษสำหรับข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ?. ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ ทั้งนี้ ยธ. เสนอว่า 1. โดยที่กฎสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยเครื่องแบบพิเศษสำหรับข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2556 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ได้ใช้บังคับมาระยะหนึ่งพบว่า เครื่องแบบพิเศษที่กำหนดไว้ยังไม่เหมาะสมกับลักษณะของการปฏิบัติงานของข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ซึ่งจะต้องมีการปฏิบัติงานปราบปรามตรวจค้นและจับกุมผู้กระทำความผิด ดังนั้น เพื่อให้ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ส. ซึ่งมีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดได้มีเครื่องแบบพิเศษสำหรับปฏิบัติงานบังคับใช้กฎหมายให้เหมาะสมกับภารกิจและสภาพพื้นที่ปฏิบัติงานมากขึ้น จึงจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมกฎสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยเครื่องแบบพิเศษสำหรับข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2556 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 2. สำนักงาน ป.ป.ส. จึงได้ยกร่างกฎสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยเครื่องแบบพิเศษสำหรับข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ?. และส่งให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีพิจารณา ในคราวประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองการกำหนดเครื่องแบบพิเศษของส่วนราชการ ครั้งที่ 1/2564 วันพุธที่ 8 ธันวาคม 2564 ได้พิจารณาร่างกฎสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าวแล้ว โดยให้สำนักงาน ป.ป.ส. แก้ไขเพิ่มเติมข้อความในร่างกฎสำนักนายกรัฐมนตรีก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ส. ได้ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการดังกล่าวแล้ว สาระสำคัญของร่างกฎสำนักนายกรัฐมนตรี แก้ไขเพิ่มเติมกฎสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเครื่องแบบพิเศษสำหรับข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2556 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 เพื่อกำหนดให้มีเครื่องแบบปฏิบัติงานปราบปรามและแก้ไขเพิ่มเติมลักษณะและเครื่องประกอบของหมวก เครื่องหมายแสดงสังกัดประดับปกคอเสื้อของเครื่องแบบปฏิบัติงานตามปกติ และอินทรธนู ดังนี้ 1. เพิ่มชุดเครื่องแบบปฏิบัติงานปราบปราม เพื่อให้เกิดความสะดวกในการปฏิบัติงานปราบปรามซึ่งต้องมีการพกพาอาวุธประจำกายและเครื่องมือควบคุมตัวผู้กระทำความผิด 2. ปรับเปลี่ยนตราหน้าหมวก เป็นรูปเครื่องหมายราชการของสำนักงาน ป.ป.ส. โอบด้วยช่อชัยพฤกษ์ ด้านบนเป็นรูปตราพระดุลพ่าห์ และมีเส้นรัศมีด้านบนปักด้วยดิ้นทอง เพื่อปรับรูปแบบของตราหน้าหมวกให้มีขนาดเหมาะสมสง่างามและเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น 3. เพิ่มช่อชัยพฤกษ์บนหมวก ทั้งหมวกทรงหม้อตาล หมวกพับปีก หมวกแก๊ปทรงอ่อนมีกะบังสีน้ำเงินแกมดำ กำหนดให้มีช่อชัยพฤกษ์ โดยกำหนดให้มีช่อชัยพฤกษ์ 2 แถว สำหรับทุกระดับที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. เพื่อกำหนดรายละเอียดบนหมวกให้มีความสวยงาม โดยประดับช่อชัยพฤกษ์ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำของสำนักงาน ป.ป.ส. 4. ปรับรูปแบบเข็มติดปกเสื้อ ปรับเป็นรูปอาร์ม พื้นสีทอง โลโก้ ป.ป.ส. ปั๊มนูน เครื่องหมายราชการของสำนักงาน ป.ป.ส. เพื่อให้เห็นสังกัดของหน่วยงานได้ชัดเจนยิ่งขึ้น 5. ปรับการแบ่งระดับของอินทรธนูเป็น 7 ชั้น เพื่อความเหมาะสมกับการจำแนกประเภทตำแหน่งและระดับของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ซึ่งมีรายละเอียดของอินทรธนู ดังนี้ - ชั้นที่ 1 ประเภททั่วไป ระดับปฏิบัติงาน - ชั้นที่ 2 ประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการ - ชั้นที่ 3 ประเภททั่วไป ระดับชำนาญงาน - ชั้นที่ 4 ประเภททั่วไป ระดับอาวุโส ประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการ - ชั้นที่ 5 ประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ และประเภทอำนวยการ ระดับต้น - ชั้นที่ 6 ประเภททั่วไป ระดับทักษะพิเศษ ประเภทวิชาการ ระดับเชี่ยวชาญ ประเภทอำนวยการ ระดับสูง และประเภทบริหาร ระดับต้น - ชั้นที่ 7 ประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ และประเภทบริหาร ระดับสูง 6. ชุดข้าราชการหญิงมุสลิม สามารถสวมกระโปรงยาวคลุมข้อเท้า และหากจะให้ผ้าคลุมศีรษะ ให้ใช้ผ้าคลุมศีรษะสีเดียวกับหมวกในกรณีที่มีการสวมหมวกให้สวมหมวกทับผ้าคลุมศีรษะ 4. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. ?. คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. ?. ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ ทั้งนี้ สลค. เสนอว่า 1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 121 บัญญัติให้ในปีหนึ่งมีสมัยประชุมสามัญของรัฐสภาสองสมัย ๆ หนึ่งให้มีกำหนดเวลาหนึ่งร้อยยี่สิบวัน โดยให้ถือวันที่มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก เป็นวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง ส่วนวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สองให้เป็นไปตามที่สภาผู้แทนราษฎรกำหนด และเนื่องจากได้มีพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2562 กำหนดให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก โดยให้ถือเป็นวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 และสภาผู้แทนราษฎรได้กำหนดให้วันที่ 1 พฤศจิกายน เป็นวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบแล้ว (มติคณะรัฐมนตรี 30 กรกฎาคม 2562) ดังนั้น ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรจึงมีวันเปิดและวันปิดสมัยประชุม ดังนี้ ปีที่ สมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง สมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง 1 22 พฤษภาคม 2562 ? 18 กันยายน 2562 1 พฤศจิกายน 2562 ? 28 กุมภาพันธ์ 2563 2 22 พฤษภาคม 2563 ? 18 กันยายน 2563 1 พฤศจิกายน 2563 ? 28 กุมภาพันธ์ 2564 3 22 พฤษภาคม 2564 ? 18 กันยายน 2564 1 พฤศจิกายน 2564 ? 28 กุมภาพันธ์ 2565 4 22 พฤษภาคม 2565 ? 18 กันยายน 2565 1 พฤศจิกายน 2565 ? 28 กุมภาพันธ์ 2566 2. โดยที่ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง พ.ศ. 2565 ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2565 ดังนั้น จึงสมควรให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่งสำหรับปี พ.ศ. 2565 ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 5. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป และให้กระทรวงมหาดไทยรับความเห็นของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงพลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติฯ ที่กระทรวงมหาดไทยเสนอเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ให้การไฟฟ้านครหลวงมีอำนาจในการผลิตพลังงานไฟฟ้า การนำเทคโนโลยี อุปกรณ์ ทรัพย์สิน หรือบุคลากรที่มีอยู่นำไปเสริมสร้างให้เกิดการพัฒนาประเทศ เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณของประเทศชาติ และสร้างมูลค่าเพิ่ม เพิ่มอำนาจการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ได้ทั้งในและนอกประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการลงทุนและการประกอบการกิจการด้านพลังงานไฟฟ้าในต่างประเทศ ตลอดจนแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีที่มีความเสียหายเกิดขึ้นเนื่องจากการกระทำของพนักงานในการสร้างและบำรุงรักษา ระบบจำหน่ายไฟฟ้า ให้การไฟฟ้านครหลวงใช้ค่าทดแทนให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์เท่าที่ต้องเสียหายเพราะการนั้น รวมทั้งกำหนดท้องที่ที่ให้บริการให้ชัดเจนสอดคล้องกับปัจจุบัน และแก้ไขเพิ่มเติมวงเงินการกู้ยืมที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีโดยให้กู้ยืมเงินเป็นจำนวนเกินคราวละ 100 ล้านบาท (เดิม กำหนดไว้ 40 ล้านบาท) ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการของการไฟฟ้านครหลวงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยโดยรวมต่อไป สาระสำคัญของเรื่อง 1. เพิ่มวัตถุประสงค์ ของ กฟน. ดังนี้ 1.1 ผลิต จัดให้ได้มา จัดส่ง จำหน่ายพลังงานไฟฟ้า และประกอบกิจการระบบจำหน่ายไฟฟ้า (เดิม กำหนดเฉพาะจัดให้ได้มาและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า) โดยการดำเนินการดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการพลังงาน เพื่อให้ กฟน. สามารถมีอำนาจดำเนินการในเรื่องดังต่อไปนี้ (1) ให้มีอำนาจผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ (เดิม ไม่สามารถดำเนินการได้) โดยเป็นการผลิตไฟฟ้า ณ จุดใช้งานของผู้ใช้ไฟฟ้า หรือระบบไฟฟ้าในบริเวณพื้นที่เฉพาะเจาะจง (Distributed Generation : DG)จากพลังงานความร้อนและน้ำเย็นร่วมกัน (Combined Heat and Power : CHP) พลังงานหมุนเวียน และพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสภาวะแวดล้อม เช่น ขยะมูลฝอย แสงอาทิตย์ ลม และพลังงานนอกรูปแบบ ตามความเหมาะสม ของเทคโนโลยีและสภาพพื้นที่ ทำให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากระบบไฟฟ้าที่มั่นคงและเชื่อถือได้มากขึ้น เป็นการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ ระบบดังกล่าวทำให้เพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตและใช้พลังานไฟฟ้า ส่งผลให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าของประเทศต่ำลง (2) ให้มีอำนาจจัดส่ง ประกอบกิจการระบบจำหน่ายไฟฟ้าเพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 และใบอนุญาตการประกอบกิจการไฟฟ้าประเภทระบบจำหน่ายไฟฟ้าและจำหน่ายไฟฟ้าที่ กฟน. ได้รับ 1.2 ดำเนินธุรกิจและกิจการอื่นใดโดยสามารถนำเทคโนโลยีอุปกรณ์ทรัพย์สิน หรือบุคลากรที่มีอยู่นำไปเสริมสร้างให้เกิดการพัฒนาประเทศเพื่อเป็นการประหยัดงบ ประมาณของประเทศชาติ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ กฟน. รวมถึงเปิดโอกาสให้ กฟน. ทำประโยชน์แก่ประเทศชาติ สังคม และประชาชนด้านอื่น ๆ โดยไม่กระทบภารกิจหลักในการจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า เช่น การทำแผนที่ภูมิศาสตร์สารสนเทศ (GIS) โครงข่ายใยแก้วนำแสง และโครงการธุรกิจจัดการพลังงาน (ESCO) เป็นต้น 2. กำหนดเพิ่มเติมให้ กฟน. มีอำนาจดำเนินการตามวัตถุประสงค์ได้ทั้งในประเทศและนอกประเทศ ทำให้เกิดโอกาสทางเศรษฐกิจและทำให้สามารถพัฒนาศักยภาพการให้บริการด้านพลังงานไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 3. กำหนดท้องที่ที่ กฟน. เป็นผู้จำหน่ายสำหรับพลังงานไฟฟ้า และประกอบกิจการระบบจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าในประเทศให้สอดคล้องกับปัจจุบัน ได้แก่ ให้ดำเนินการได้ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรปราการ และพื้นที่ที่ดำเนินการอยู่แล้ว ณ วันจัดตั้งการไฟฟ้านครหลวง รวมทั้งพื้นที่ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการพลังงาน หรือตามมติคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาในการตีความเกี่ยวกับท้องที่เขตจำหน่ายไฟฟ้าระหว่าง กฟน. และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 4. แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีที่มีความเสียหายเกิดขึ้นเนื่องจากการกระทำของพนักงานในการสร้างและบำรุงรักษาระบบจำหน่ายไฟฟ้า ให้ กฟน. ใช้ค่าทดแทนให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์เท่าที่ต้องเสียหายเพราะการนั้น (เดิม กำหนดให้มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย) 5. แก้ไขเพิ่มเติมวงเงินการกู้ยืมเงินที่ กฟน. จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนในการดำเนินการกู้ยืมเงินเพื่อการลงทุน จาก ?จำนวนเงินเกินคราวละ 40 ล้านบาท? เป็น ?จำนวนเงินเกินคราวละ 100 ล้านบาท? 6. แก้ไขเพิ่มเติมให้ กฟน. นำส่งรายได้ในปีหนึ่งๆ เมื่อได้หักรายจ่ายแล้ว เหลือเท่าใด ให้นำส่งเป็นรายได้ตามที่ กค. กำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี 7. แก้ไขปรับปรุงถ้อยคำให้เป็นปัจจุบัน และสอดคล้องกับนิยามคำว่า ?ระบบไฟฟ้า? และ ?ระบบจำหน่ายไฟฟ้า? ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 6. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพเป็นการเฉพาะในช่วงที่มีการลดอัตราเงินสมทบ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพเป็นการเฉพาะในช่วงเวลาที่มีการลดอัตราเงินสมทบ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... [ปรับเพิ่มอัตราการจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพสำหรับผู้ประกันตนซึ่งออกเงินสมทบเข้ากองทุนในช่วงที่มีการลดอัตราเงินสมทบ (งวดเดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม 2565)] ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ และประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป กระทรวงแรงงานเสนอว่า ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพเป็นการเฉพาะในช่วงที่มีการลดอัตราเงินสมทบ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีหลักการสำคัญในการจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพให้แก่ผู้ประกันตนซึ่งออกเงินสมทบเข้ากองทุนในช่วงเวลาที่มีการลดอัตราเงินสมทบตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม - 31 กรกฎาคม 2565 ให้คำนวณจากอัตราเงินสมทบเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 2.95 ของค่าจ้างที่มีตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม - 31 กรกฎาคม 2565 เพื่อจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพเพิ่มขึ้นจากอัตราที่กำหนดในข้อ 6 (2) แห่งกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ พ.ศ. 2550 เพื่อให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินบำเหน็จชราภาพที่เพิ่มขึ้นไปใช้จ่ายเพื่อยังชีพในยามชรา เป็นการลดปัญหาทางการเงินของผู้ประกันตน และส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้ประกันตนดีขึ้น กระทรวงแรงงานจึงเสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพเป็นการเฉพาะในช่วงที่มีการลดอัตราเงินสมทบ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ สาระสำคัญ ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพเป็นการเฉพาะในช่วงที่มีการลดอัตราเงินสมทบ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ ดังนี้ (1) ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป (2) การจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพให้แก่ผู้ประกันตนซึ่งออกเงินสมทบเข้ากองทุนในช่วงเวลาที่มีการลดอัตราเงินสมทบตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม - 31 กรกฎาคม 2565 ให้คำนวณจากอัตราเงินสมทบเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 2.95 ของค่าจ้างที่มีตั้งแต่วันที่ 1 พฤศภาคม - 31 กรกฎาคม 2565 เพื่อจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพเพิ่มขึ้นจากอัตราที่กำหนดในข้อ 6 (2) แห่งกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ พ.ศ. 2550 ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานออกมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากลดอัตราเงินสมทบซึ่งทำให้ผู้ประกันตนบางส่วนได้รับเงินบำเหน็จชราภาพลดลง โดยให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพให้แก่ผู้ประกันตนซึ่งออกเงินเข้ากองทุนในช่วงที่มีการลดอัตราเงินสมทบ ในงวดเดือนพฤษภาคม ถึง กรกฎาคม 2565 โดยให้คำนวณจากอัตราเงินสมทบเพิ่มในอัตราร้อยละ 2.95 ของค่าจ้างผู้ประกันตน ซึ่งอัตราเงินสมทบที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นงบประมาณจากกองทุนประกันสังคม สำหรับประมาณการเงินบำเหน็จชราภาพที่ผู้ประกันตนจะได้รับเพิ่มขึ้น คาดว่ามีผู้ที่จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพที่ได้รับผลกระทบจำนวน 4,860,212 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 36 ของผู้นำส่งเงินสมทบมาตรา 33 และมาตรา 39 ทั้งหมดในช่วงระยะเวลาที่ลดอัตราเงินสมทบ เมื่อคำนวณเงินบำเหน็จชราภาพต่อคนที่ผู้ประกันตนจะได้รับเพิ่มขึ้นหากมีการปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบ เพื่อจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพให้กับผู้ประกันตน พบว่าเงินบำเหน็จชราภาพในช่วงระยะเวลา 3 เดือน ที่มีการปรับลดอัตราเงินสมทบของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 เพิ่มขึ้น 1,032 บาทต่อคน สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 เพิ่มขึ้น 423 บาทต่อคน ทั้งนี้ คาดว่าประมาณการเงินบำเหน็จชราภาพที่ผู้ประกันตนได้รับเพิ่มขึ้นในภาพรวมเป็นจำนวน 4,553 ล้านบาท จำแนกเป็น ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเพิ่มขึ้นรวม 4,232 ล้านบาท และผู้ประกันตนมาตรา 39 ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเพิ่มขึ้นรวม 321 ล้านบาท 7. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. .... (ปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม เป็นระยะเวลา 3 เดือน) ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ และประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ รง. เสนอว่า ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. .... มีหลักการสำคัญในการปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยลดอัตราเงินสมทบฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จากเดิมฝ่ายละร้อยละ 5 ของค่าจ้างผู้ประกันตน เหลือฝ่ายละร้อยละ 1 ของค่าจ้างผู้ประกันตน สำหรับฝ่ายรัฐบาลส่งเงินสมทบอัตราเดิม ร้อยละ 2.75 ของค่าจ้างผู้ประกันตน และสำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ให้ปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมตามมาตรา 46 วรรคสาม เพื่อบรรเทาภาระของนายจ้างและผู้ประกันตนให้เหมาะสม สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกที่ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพที่สูงขึ้นของนายจ้างและผู้ประกันตน ประกอบกับสภาพการณ์ทางสังคมในปัจจุบันที่ยังคงได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงแรงงานจึงเสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. ?. เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ สาระสำคัญ ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. .... ซึ่งเป็นการปรับปรุงกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. 2564 เพื่อกำหนดอัตราเงินสมทบให้มีความเหมาะสม มีสาระสำคัญ ดังนี้ (1) ให้ยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. 2564 (2) ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม - 31 กรกฎาคม 2565 ให้รัฐบาล นายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ออกเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย และกรณีคลอดบุตร ฝ่ายละร้อยละ 0.9 ของค่าจ้างผู้ประกันตน สำหรับการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ ในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตนฝ่ายละร้อยละ 0.05 ของค่าจ้างผู้ประกันตน และรัฐบาลร้อยละ 1.6 ของค่าจ้างผู้ประกันตน สำหรับการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตนฝ่ายละร้อยละ 0.05 ของค่าจ้างผู้ประกันตน และรัฐบาลร้อยละ 0.25 ของค่าจ้างผู้ประกันตน ตามบัญชี ก. (3) ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป ให้รัฐบาล นายจ้าง และผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ออกเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย และกรณีคลอดบุตร ฝ่ายละร้อยละ 1.5 ของค่าจ้างผู้ประกันตน สำหรับการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ ในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตน ฝ่ายละร้อยละ 3 ของค่าจ้างผู้ประกันตน และรัฐบาลร้อยละ 1 ของค่าจ้างผู้ประกันตน สำหรับการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ในส่วนของนายจ้าง และผู้ประกันตน ฝ่ายละร้อยละ 0.5 ของค่าจ้างผู้ประกันตน และรัฐบาลร้อยละ 0.25 ของค่าจ้างผู้ประกันตน ตามบัญชี ข. ทั้งนี้ การลดอัตราเงินสมทบของนายจ้างและผู้ประกันตนมีผลทำให้นายจ้างและผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมลดลงจากฝ่ายละร้อยละ 5 ของค่าจ้างผู้ประกันตน เหลือฝ่ายละร้อยละ 1 ของค่าจ้างผู้ประกันตน และผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จ่ายเงินสมทบลดลงจากในอัตราเดือนละ 432 บาท เหลือในอัตราเดือนละ 91 บาท ส่งผลให้กองทุนประกันสังคมจัดเก็บเงินสมทบได้ลดลง 34,023 ล้านบาท โดยผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบลดลง 18,085 ล้านบาท และนายจ้างจ่ายเงินสมทบลดลง 15,938 ล้านบาท ภาพรวมเมื่อลดอัตราเงินสมทบรวมกัน 18 เดือน (รวมกับการลดอัตราเงินสมทบครั้งที่ 1 ตั้งแต่เดือนมีนาคมถึง พฤษภาคม 2563 ครั้งที่ 2 ตั้งแต่เดือนกันยายน ถึง พฤศจิกายน 2563 ครั้งที่ 3 ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง มีนาคม 2564 ครั้งที่ 4 ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ถึง สิงหาคม 2564 และครั้งที่ 5 ตั้งแต่เดือนกันยายน ถึง พฤศจิกายน 2564) เงินสมทบทั้งหมดจะลดลงประมาณ 143,206 ล้านบาท โดยผู้ประกันตนจะจ่ายเงินสมทบลดลง 85,467 ล้านบาท ส่วนนายจ้างจะจ่ายเงินสมทบลดลง 57,739 ล้านบาท เศรษฐกิจ สังคม 8. เรื่อง ขออนุมัติค่าชดเชยปลูกป่าโครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติเพิ่มเติม คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 ที่เคยมีมติอนุมัติค่าชดเชยปลูกป่าทั้งโครงการ 1,234.98 ไร่ ตามกรอบวงเงินที่สำนักงบประมาณให้ความเห็นไว้ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2559 โดยมีมติอนุมัติตามความเห็นของสำนักงบประมาณปรับเพิ่มวงเงินค่าชดเชยปลูกป่าทั้งโครงการ 1,234.98 ไร่ จากเดิมจำนวน 53.06 ล้านบาท เป็นจำนวน 154.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากกรอบวงเงินเดิมจำนวน 100.96 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าชดเชยปลูกป่าให้กับกรมป่าไม้ จำนวน 19.57 ล้านบาท และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) จำนวน 81.39 ล้านบาท และให้กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ กรอบวงเงินค่าชดเชยปลูกป่าทั้งโครงการดังกล่าวอยู่ภายในกรอบวงเงินโครงการ จำนวน 3,705.7 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564 ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยางยนต์และยางล้อแห่งชาติ เป็นไปตามวัตถุประสงค์และกรอบระยะเวลาโครงการ จึงเห็นควรที่ อก. โดย สมอ. จะเร่งดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วน โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของทางราชการและประโยชน์ที่ผู้ประกอบการ นักลงทุน และประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญด้วย ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ 9. เรื่อง โครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ. 2561 ? 2570 (ดำเนินการต่อเนื่องในระยะที่ 2 พ.ศ. 2565 - 2570) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการการดำเนินโครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ. 2561 ? 2570 (ดำเนินการต่อเนื่องในระยะที่ 2 พ.ศ. 2565 - 2570) (โครงการผลิตแพทย์เพิ่มฯ ระยะที่ 2) ภายในกรอบวงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 50,608.40 ล้านบาท แบ่งเป็น (1) งบดำเนินการในการผลิตบัณฑิต ในอัตรา 300,000 บาท/ปี/คน หรือ 1,800,000 บาท/คน รวมจำนวน 23,972.40 ล้านบาท (2) งบลงทุนเพื่อสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานการจัดการเรียนการสอนด้านการแพทย์ ในอัตรา 2,000,000 บาท/คน รวมจำนวน 26,636 ล้านบาท โดยผูกพันงบประมาณจนนักศึกษาแพทย์รุ่นสุดท้ายจบการศึกษาในปีการศึกษา 2576 เพื่อผลิตแพทย์ จำนวน 13,318 คน ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เสนอ สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ เห็นควรให้ อว. จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ พร้อมทั้งรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความพร้อม ความจำเป็น และความเหมาะสมที่จะต้องใช้จ่ายในแต่ละปีงบประมาณ รวมทั้งพิจารณาดำเนินการให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ สาระสำคัญของเรื่อง อว. รายงานว่า 1. โครงการผลิตแพทย์เพิ่มฯ ระยะที่ 2 เป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากโครงการผลิตแพทย์เพิ่มฯ ระยะที่ 1 โดยผลการดำเนินโครงการผลิตแพทย์เพิ่มฯ ระยะที่ 1 ใน 3 ปีแรก (พ.ศ. 2561 - 2563) สามารถรับนักศึกษาแพทย์เข้ามาในระบบได้ จำนวน 5,938 คน (ร้อยละ 88 ของเป้าหมายการรับนักศึกษาในปี พ.ศ. 2561 - 2563 จำนวน 6,780 คน) นอกจากนี้ ความคืบหน้าการดำเนินงานเพิ่มเติมของโครงการผลิตแพทย์เพิ่มฯ ระยะที่ 1 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2562 มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้ 1.1 ประเด็นคุณสมบัติของนักศึกษาแพทย์ผู้ทำสัญญาการเป็นนักศึกษาแพทย์ที่เข้าปฏิบัติงานชดใช้ทุนกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการดำเนินการ ดังนี้ 1.1.1 การผลิตแพทย์เพื่อรองรับระบบสุขภาพได้มีการกำหนดมาตรการเพื่อให้เกิดการกระจายแพทย์ไปปฏิบัติงานในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยอาศัยกระบวนการคู่สัญญา ซึ่งนักศึกษาแพทย์เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะต้องปฏิบัติงานชดใช้ทุนในสถานที่ปฏิบัติงานตามที่คณะกรรมการจัดสรรแพทย์เป็นผู้กำหนด แต่เนื่องจากปัจจุบันส่วนราชการ/หน่วยงานอื่น ๆ นอกสังกัด สธ. ส่งตัวนักศึกษาแพทย์ผู้สำเร็จการศึกษาที่สอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมไม่ผ่านคืนมาปฏิบัติงานชดใช้ทุนในหน่วยงานสังกัด สธ. ในตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุข ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น1 ทำให้ สธ. สูญเสียโอกาสในการบรรจุอัตรากำลังจากสาขาอาชีพอื่น และไม่มีตำแหน่งดังกล่าวเพียงพอในการบรรจุนักศึกษาแพทย์ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 เห็นชอบการทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2513 เรื่อง การแก้ไขปัญหาขาดแคลนแพทย์ ตามที่ สธ. เสนอ โดยปรับปรุงคุณสมบัติของนักศึกษาแพทย์ผู้ทำสัญญาการเป็นนักศึกษาแพทย์ที่เข้าปฏิบัติงานชดใช้ทุน ดังนี้ เดิม ที่ปรับปรุงใหม่ นักศึกษาทุกคนจะต้องทำสัญญาเป็นข้อผูกพันว่าเมื่อสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตแล้วจะต้องทำงานให้แก่ราชการเป็นเวลา 3 ปี นักศึกษาทุกคนจะต้องทำสัญญาเป็นข้อผูกพันว่า เมื่อสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตและได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมจึงจัดสรรให้ไปปฏิบัติงานชดใช้ทุนและต้องทำงานให้แก่ราชการเป็นเวลา 3 ปี [อว. แจ้งข้อมูลเพิ่มเติมว่า สธ. ได้ดำเนินการแก้ไขเอกสารสัญญาเป็นนักศึกษาเพื่อศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีข้างต้นและเสนอเอกสารสัญญาดังกล่าวไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลการพิจารณาจาก อส.] 1.1.2 คณะกรรมการพิจารณาจัดสรรนักศึกษาแพทย์ผู้ทำสัญญาการเป็นนักศึกษาแพทย์ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2561 เห็นควรเพิ่มค่าปรับชดใช้ทุนของนักศึกษาที่ผิดสัญญาจากเดิม 400,000 บาท เป็นจำนวน 2,500,000 บาท เนื่องจากค่าปรับ 400,000 บาท ได้ถูกนำมาใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 เมื่อเทียบกับค่าเงินในปัจจุบันจึงนับว่าน้อยมาก ประกอบกับรัฐบาลต้องใช้งบประมาณอุดหนุนในการผลิตนักศึกษาแพทย์หนึ่งคน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,800,000 บาท (ปัจจุบันอยู่ระหว่าง สธ. ดำเนินการเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป) 1.2 ประเด็นการแก้ไขปัญหาเรื่อง การกระจายกำลังคนในพื้นที่ต่าง ๆ และการธำรงรักษาแพทย์ไว้ในระบบราชการ สธ. มีการดำเนินการที่สำคัญ ดังนี้ 1.2.1 การวางแผนกำลังคนให้มีแพทย์เพียงพอต่อความต้องการในแต่ละพื้นที่ โดยได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปกำลังคนและภารกิจบริการด้านสาธารณสุขในภาพรวมทั้งระบบ และยุทธศาสตร์การจัดตั้งเครือข่ายศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ สถาบันทางการแพทย์และสถาบันการศึกษา ต่าง ๆ ในภาพรวมของประเทศในระยะยาว (5 ? 10 ปี) รวมถึงมีระบบฐานข้อมูลสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการบุคลากรสาธารณสุขที่สามารถเชื่อมโยงกันได้ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค 1.2.2 การจัดสรรนักศึกษาแพทย์ผู้ทำสัญญาที่ต้องชดใช้ทุนกับ สธ. มีแนวทาง ดังนี้ (1) กลุ่มแพทย์ทั่วไป จัดสรรให้ตามความขาดแคลนแพทย์รายจังหวัดในรูปแบบการบริหารของเขตสุขภาพ2 (2) กลุ่มแพทย์โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทจัดสรรตามภูมิลำเนาในสัญญาการเป็นนักศึกษาแพทย์และตามความขาดแคลนของจังหวัดในเขตสุขภาพทั้งนี้ การจัดสรรแพทย์ของแต่ละโรงพยาบาลต้องไม่เกินศักยภาพที่แพทยสภาประเมินรับรองการเป็นสถาบันเพิ่มพูนทักษะ3 1.2.3 การพัฒนาศักยภาพบุคลากร โดยเปิดโอกาสให้ได้พัฒนาความรู้ความสามารถและสนับสนุนให้เข้าร่วมอบรมฟื้นฟูด้านวิชาการทั้งภายในและภายนอกโรงพยาบาลขณะปฏิบัติงาน ซึ่งจะมีการสำรวจความต้องการการฝึกอบรมและพัฒนาในทุก ๆ ปี เพื่อให้ตรงตามความต้องการของบุคลากร 1.2.4 การดำเนินโครงการเตรียมความพร้อมสำหรับการสอบใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมแบบออนไลน์ เพื่อให้แพทย์ที่ยังสอบไม่ผ่านใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมมีความรู้ทางวิชาการที่เหมาะสมสำหรับเตรียมการสอบใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน 1.2.5 การสนับสนุนการดำเนินโครงการเพิ่มพูนทักษะของแพทยสภา โดยการตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลเพิ่มพูนทักษะที่อยู่ในสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) และสนับสนุนด้านวิชาการแก่โรงพยาบาลเพิ่มพูนทักษะในเขตสุขภาพนั้น ๆ นอกจากนี้ ได้มีการจัดสรรทุนแพทย์ประจำบ้านในทุกสาขาและอนุสาขาของแพทยสภาเพื่อพัฒนาให้เป็นแพทย์เชี่ยวชาญตามความต้องการของการบริการของเขตสุขภาพและระบบสุขภาพของประเทศ 1.3 ประเด็นการกำหนดแนวทางความร่วมมือกับภาคเอกชนในการผลิตบุคลากรสาขาแพทย์และสาขาวิชาชีพอื่นที่ยังขาดแคลน รวมทั้งสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ของประเทศ สธ. ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเอกชนในการกำหนดแนวทางและมาตรการให้โรงพยาบาลในสังกัด สป.สธ. เป็นโรงพยาบาลในการจัดการเรียนการสอนของศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก4 โดยมีการดำเนินการแล้ว ได้แก่ มหาวิทยาลัยสยามร่วมกับโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า และมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นร่วมกับโรงพยาบาลกำแพงเพชรและอยู่ในระหว่างการดำเนินการ ได้แก่ มหาวิทยาลัยรังสิตร่วมกับโรงพยาบาลราชวิถีและโรงพยาบาลเลิดสิน 2. สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 ได้ให้ความเห็นชอบโครงการผลิตแพทย์เพิ่มฯ ระยะที่ 2 กรอบวงเงินงบประมาณ 50,608.40 ล้านบาท เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์และการกระจายแพทย์ ตลอดจนขยายศักยภาพการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อตอบสนองความต้องการด้านบริการสุขภาพของประชาชนที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็น Medical Hub เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและรายได้ให้กับประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (ด้านสาธารณสุข) พ.ศ. 2560 - 2579 ของ สธ. ในครั้งนี้ อว. จึงเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการและกรอบวงเงินงบประมาณโครงการผลิตแพทย์เพิ่มฯ ระยะที่ 2 โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้ หัวข้อ รายละเอียด 1. หลักการและเหตุผล - ในปี พ.ศ. 2562 ประเทศไทยมีแพทย์ จำนวน 39,156 คน คิดเป็นอัตราแพทย์ต่อประชากรไทย 1 : 1,674 คน (ข้อมูลของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สธ.) ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ที่ สธ. ตั้งเป้าหมายอัตราแพทย์ต่อประชากรไทยไว้ที่ 1 : 1,200 คน และในภาพรวมยังต่ำกว่ามาเลเซีย (1 : 651) และสาธารณรัฐสิงคโปร์ (1 : 436) ทั้งนี้ สธ. ได้ศึกษาและวิเคราะห์ความต้องการบริการและกำลังคนด้านสาธารณสุขของประเทศในอนาคต พบว่า ในปี พ.ศ. 2570 ประเทศไทยควรจะมีบุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 56,648 คน คิดเป็นอัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรไทยเท่ากับ 1 : 1,209 คน ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ สธ. กำหนดไว้ - การจัดทำโครงการผลิตแพทย์เพิ่มฯ ระยะที่ 2 จะเน้นการพัฒนาหลักสูตรโดยใช้ชุมชนเป็นฐานการผลิต เนื่องจากทรัพยากรที่ทำให้เกิดการเรียนการสอนมีอยู่อย่างจำกัดโดยเฉพาะความซับซ้อนของการเจ็บป่วยและรูปแบบของการดูแลรักษาที่มีความแตกต่างกัน การจัดการเรียนโดยใช้โรงพยาบาลชุมชนเป็นฐาน จึงสอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทที่นักศึกษาแพทย์จะคงอยู่ในชุมชน 2. วัตถุประสงค์ - ผลิตแพทย์เพิ่มให้สามารถรองรับการขยายศักยภาพการให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทยในทุกภาคส่วน รวมทั้งรองรับสังคมผู้สูงอายุและความซับซ้อนของโรคในอนาคต - แก้ไขและบรรเทาปัญหาการกระจายแพทย์สู่ชนบท การสูญเสียบุคลากรทางการแพทย์ และการธำรงแพทย์ให้สามารถอยู่ในระบบ - พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของสถาบันผลิตแพทย์ที่ตรงกับความจำเป็นในแต่ละพื้นที่ - เพิ่มขีดความสามารถในการรับและจัดการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์ที่ตรงกับความต้องการของสถาบัน ความต้องการของพื้นที่ที่สถาบันผลิตแพทย์รับผิดชอบและความต้องการของประเทศ - ลดปัญหาความขาดแคลนแพทย์และการกระจายแพทย์ที่ไม่เท่าเทียมกัน 3. เป้าหมายของโครงการ - อัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรในภาพรวมเท่ากับ 1 : 1,200 ภายในปีการศึกษา 2576 (เมื่อนักศึกษาแพทย์ที่ผลิตเพิ่มรุ่นสุดท้ายสำเร็จการศึกษา) - มีการผลิตแพทย์เพิ่ม จำนวน 13,318 คน ในช่วงปี 2565 ? 2570 ผ่าน 2 โครงการย่อย ได้แก่ (1) โครงการผลิตแพทย์เพิ่มฯ ระยะที่ 2 ภายใต้ความรับผิดชอบของ อว.5 ผลิตแพทย์เพิ่ม จำนวน 6,586 คน งบประมาณรวม 25,026.80 ล้านบาท (2) โครงการผลิตแพทย์เพิ่มฯ ระยะที่ 2 ภายใต้ความรับผิดชอบของ สธ.6 ผลิตแพทย์เพิ่ม จำนวน 6,732 คน งบประมาณรวม 25,581.60 ล้านบาท จากแผนรับนักศึกษาแพทย์ปกติซึ่งผลิตได้ 6,770 คน รวมเป็นการผลิตในภาพรวม 20,088 คน 4. ระยะเวลาดำเนินการ ปีการศึกษา 2565 - 2570 และดำเนินการจัดการเรียนการสอนต่อเนื่องจนนักศึกษารุ่นสุดท้ายสำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2576 5. กรอบวงเงินงบประมาณ 50,608.40 ล้านบาท คิดเป็นอัตรา 3,800,000 บาท/คน แบ่งเป็น (1) งบดำเนินการในการผลิตบัณฑิต ในอัตรา 300,00 บาท/ปี/คน หรือ 1,800,000 บาท/คน รวมจำนวน 23,972.40 ล้านบาท (2) งบลงทุนเพื่อสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานการจัดการเรียนการสอนด้านการแพทย์ในอัตรา 2,000,000 บาท/คน รวมจำนวน 26,636 ล้านบาทโดยเฉลี่ยการจัดสรรงบประมาณเป็นรายปีตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ? 2570 ต่อเนื่องจนนักศึกษารุ่นสุดท้ายสำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2576 6. การรับนักเรียนเข้าศึกษา (ตามโครงการผลิตแพทย์เพิ่มฯ ของ สธ.) แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มลดความเหลื่อมล้ำ เป็นการรับนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในพื้นที่ชายขอบ พื้นที่ขาดแคลน หรือนักเรียนที่มีภูมิลำเนาไม่อยู่ในเขตอำเภอเมือง ทั้งนี้ เพื่อทดแทนการรับนักเรียนตามโครงการกระจายแพทย์ 1 อำเภอ 1 ทุน ซึ่งสิ้นสุดการดำเนินงานในปี พ.ศ. 2560 (2) กลุ่มสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เน้นการรับข้าราชการสังกัด สป.สธ. ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สายวิทยาศาสตร์สุขภาพ เพื่อเข้าศึกษาในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต เนื่องจากพบว่า มีอัตราการคงอยู่ปฏิบัติงานใน สธ. สูงกว่าการรับนักเรียนมัธยม (3) กลุ่มแพทย์เพื่อชุมชน เป็นการรับนักเรียนสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ตามหลักเกณฑ์การรับเดิมของโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทที่ สธ. และมหาวิทยาลัยคู่ความร่วมมือได้กำหนดร่วมกันและมีการรับเข้าตามภูมิลำเนา และคุณสมบัติตามที่มหาวิทยาลัยประกาศ ทั้งนี้ สธ. และมหาวิทยาลัยคู่ความร่วมมือได้มีการกำหนดโควตาและพื้นที่การรับนักเรียนเพื่อเข้าศึกษา และเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วต้องกลับไปปฏิบัติงานในจังหวัดภูมิลำเนาหรือเขตสุขภาพที่ สธ. มีคำสั่งต่อไป 7. หน่วยงานที่รับผิดชอบ - อว. (สถาบันผลิตแพทย์ที่เข้าร่วมโครงการ) - สป.สธ. (สำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท) - กห. (วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า) - สำนักการแพทย์กรุงเทพมหานคร (คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช) 8. ผลที่คาดว่าจะได้รับ - จำนวนแพทย์เพิ่มขึ้น ลดปัญหาความขาดแคลนแพทย์และการกระจายแพทย์ที่ไม่เท่าเทียมกันของประเทศ - ดำรงมาตรฐานการผลิตแพทย์ตามเกณฑ์มาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่กำหนดโดยแพทยสภา - เพิ่มศักยภาพในการผลิตแพทย์ที่ตรงกับความต้องการของพื้นที่ที่สถาบันผลิตแพทย์รับผิดชอบและความต้องการของประเทศ 9. ตัวชี้วัดโครงการ - ผลิตแพทย์ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดและสามารถจัดสรรแพทย์ผู้สำเร็จการศึกษาไปปฏิบัติงานตามพื้นที่ที่ขาดแคลนให้คงอยู่ในพื้นที่ได้อย่างยาวนาน - โครงสร้างพื้นฐานของสถาบันผลิตแพทย์ได้รับการพัฒนาเพื่อให้สามารถผลิตแพทย์ได้อย่างมีคุณภาพมาตรฐาน - สัดส่วนแพทย์ต่อประชากรลดลง ทั้งรายเขตสุขภาพและภาพรวมของประเทศ - อัตราการบรรจุเข้ารับราชการและปฏิบัติงานในหน่วยงานภาครัฐเพิ่มมากขึ้น ลดการขาดแคลนแพทย์ในภูมิภาคและเกิดการกระจายแพทย์สู่ชนบทอย่างเป็นธรรม - เกิดการพัฒนาความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง โรงเรียนแพทย์/โรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัยได้รับการต่อยอดและมีสมรรถนะในการแข่งขันในระดับชาติและนานาชาติมากขึ้น 10. การติดตามและประเมิน ผล หน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการจะร่วมกันติดตามผลการรับนักศึกษาแพทย์และจำนวนผู้สำเร็จการศึกษาในแต่ละปี เปรียบเทียบกับเป้าหมาย รวมทั้งติดตามผลการจัดสรรแพทย์ผู้สำเร็จการศึกษาไปปฏิบัติงานตามพื้นที่ที่ขาดแคลน เพื่อประเมินว่าการดำเนินงานสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในภูมิภาค การกระจายแพทย์สู่ชนบท และสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรที่ลดลง โดยจะนำผลการติดตามและประเมินผลโครงการไปใช้ในการปรับโครงการให้เกิดความเหมาะสม คุ้มค่า ตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการต่อไป 1ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ? 2564 มีผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิตเฉลี่ยปีละ 2,625 คน โดยมีผู้ที่ไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำนวน 171 คน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 231 คน และปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 299 คน 2เขตสุขภาพ (Regional Health) เป็นระบบการบริหารงานส่วนกลางในภูมิภาค โดยการกระจายอำนาจในการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขลงไปในระดับพื้นที่ตามกรอบการบริหารของ สธ. เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการบริการในทุกระดับอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม โดยปัจจุบันได้มีการแบ่งเขตสุขภาพออกเป็น 13 เขต (รวมกรุงเทพมหานคร) แต่ละเขตสุขภาพจะครอบคลุม 4 - 8 จังหวัด ประชากรประมาณ 3 - 6 ล้านคน 3โรงพยาบาลที่แพทยสภาประกาศรับรองให้เป็นสถาบันปฏิบัติงานเพิ่มพูนทักษะจะต้องมีระบบการให้บริการที่เอื้อต่อการให้ความรู้แก่แพทย์ใช้ทุนได้ตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด โดยจะเชื่อมโยงกับการจัดสรรแพทย์ใช้ทุนไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ หากโรงพยาบาลใดไม่ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ที่กำหนดอาจจะไม่ได้รับแพทย์ใช้ทุนไปปฏิบัติงาน ซึ่งจะเป็นผลทำให้สถานบริการทางแพทย์ส่วนภูมิภาคมีการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการแก่ผู้ป่วยและมีการจัดสวัสดิการทางการแพทย์ต่าง ๆ ดีขึ้น 4การจัดการเรียนการสอนในระดับชั้นปรีคลินิก (ชั้นปีที่ 1 ? 3) จะทำการเรียนการสอนที่คณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ส่วนในระดับชั้นคลินิก (ชั้นปีที่ 4 - 6) จะมีการจัดตั้งศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกขึ้นในโรงพยาบาลต่าง ๆ เพื่อบริหารและจัดการเรียนการสอนนิสิตนักศึกษาแพทย์ในโรงพยาบาลต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้เป็นหน่วยงานหนึ่งของโรงพยาบาลนั้น ๆ 5ผลิตแพทย์ผ่านโรงพยาบาลในสังกัดมหาวิทยาลัย รมถึงโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงกลาโหม (กห.) และสำนักการแพทย์กรุงเทพมหานคร 6ผลิตแพทย์ผ่านโรงพยาบาลในสังกัด สธ. 10. เรื่อง ขออนุมัติดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำคลองโพล้ จังหวัดระยอง คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) โดยกรมชลประทานดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำคลองโพล้ จังหวัดระยอง ภายในกรอบวงเงิน 3,561,620,000 บาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 4 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ? พ.ศ. 2568) สำหรับค่าใช้จ่ายในการจัดหาที่ดินและการแก้ไขผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ให้ใช้จ่ายจากรายการค่าซื้อที่ดิน ค่าทดแทน ค่ารื้อย้ายในการจัดหาที่ดิน จำนวน 100,000,000 บาท และรายการค่าใช้จ่ายตามแผนการป้องกัน แก้ไข และพัฒนาสิ่งแวดล้อม จำนวน 8,000,000 บาท ที่ได้จัดสรรงบประมาณรองรับไว้แล้ว ส่วนที่เหลือขอให้กรมชลประทานจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณตามความสามารถในการใช้จ่ายและการก่อหนี้ผูกพันภายในปีงบประมาณที่สอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอย่างเคร่งครัด เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความพร้อม ความจำเป็นและเหมาะสม ตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ สาระสำคัญของเรื่อง กษ. รายงานว่า 1. โครงการอ่างเก็บน้ำคลองโพล้ จังหวัดระยอง เป็นโครงการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรจากการขาดแคลนน้ำในการอุปโภค - บริโภค และเป็นแหล่งเก็บกักน้ำต้นทุนที่จะทำให้มีปริมาณน้ำไหลในคลองโพล้ตลอดทั้งปี โดยโครงการดังกล่าวอยู่ภายใต้โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ปี 2563 - 2580 ที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้มีมติเห็นชอบไว้ ซึ่งสอดคล้องกับกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) และแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) ด้านที่ 2 การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต และด้านที่ 3 การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย โดยมีรายละเอียดโครงการ ดังนี้ หัวข้อ รายละเอียด 1. วัตถุประสงค์และประโยชน์ที่จะได้รับ - เป็นแหล่งเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝน 40 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับช่วยเหลือพื้นที่เกษตรกรรมและการอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้งของราษฎรที่อยู่ในเขตอำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง จำนวน 30,000 ไร่ - ช่วยบรรเทาอุทกภัยในช่วงฤดูน้ำหลากในเขตอำเภอแกลง จังหวัดระยอง - ช่วยยกฐานะความเป็นอยู่ของราษฎรในเขตที่ได้รับประโยชน์จากโครงการให้ดีขึ้น - เป็นแหล่งขยายเพาะพันธุ์ปลาหรือสัตว์น้ำจืดอื่น ๆ ให้ราษฎรได้บริโภคและมีรายได้ - เป็นแหล่งท่องเที่ยวของราษฎรในบริเวณพื้นที่โครงการและพื้นที่ใกล้เคียง - เป็นแหล่งน้ำสำรองสนับสนุนพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 2. ที่ตั้งโครงการ เขื่อนหัวงานของโครงการอยู่ในเขตหมู่ที่ 4 บ้านสีระมัน ตำบลห้วยทับมอญ อำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง 3. องค์ประกอบของโครงการ - เขื่อนหลัก ชนิดดินถมแบบแบ่งโซน ความยาวเขื่อน 1,680 เมตร ความสูงเขื่อน17 เมตร ความกว้างสันเขื่อน 8 เมตร พร้อมอาคารประกอบ ปริมาณน้ำระดับเก็บกัก 40 ล้านลูกบาศก์เมตร - เขื่อนดินปิดช่องเขาต่ำ แห่งที่ 1 ชนิดดินถมแบบเนื้อเดียว ความยาวเขื่อน 1,400 เมตร ความสูงเขื่อน 11 เมตร ความกว้างสันเขื่อน 8 เมตร พร้อมอาคารประกอบ - เขื่อนดินปิดช่องเขาต่ำ แห่งที่ 2 ชนิดดินถมแบบเนื้อเดียว ความยาวเขื่อน 1,160 เมตร ความสูงเขื่อน 8 เมตร ความกว้างสันเขื่อน 8 เมตร 4. การมีส่วนร่วมของประชาชน การจัดทำเวทีประชาพิจารณ์ฯ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน : ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการ โดยราษฎรบางส่วนมีความกังวลด้านการจ่ายค่าชดเชยที่ดินและทรัพย์สิน รวมทั้งไม่มั่นใจการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองโพล้ ซึ่งในประเด็นดังกล่าว กรมชลประทานได้เตรียมมาตรการและงบประมาณในการจ่ายค่าทดแทนที่ดินและทรัพย์สินให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบตามระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นธรรม และยืนยันว่าจะจัดสรรน้ำภาคการเกษตรและการอุปโภค - บริโภค ให้เพียงพอต่อความต้องการและทั่วถึง 5. การวิเคราะห์ผลตอบแทนด้านเศรษฐศาสตร์ (อัตราคิดลดร้อยละ 9) - มูลค่าปัจจุบันตอบแทนสุทธิ (NPV) : 118 ล้านบาท - อัตราส่วนระหว่างผลตอบแทนต่อค่าลงทุน (B/C ratio) : 1.1 - อัตราผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) : ร้อยละ 10.06 6. สถานภาพโครงการ - การศึกษาโครงการ : ดำเนินการศึกษาวางโครงการแล้วเสร็จเมื่อมีนาคม 2549และจัดทำรายการข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม ( Environmental Checklist) แล้วเสร็จเมื่อเดือนธันวาคม 2559 - การสำรวจ - ออกแบบ : แบบก่อสร้างเขื่อนหัวงานและอาคารประกอบแล้วเสร็จ ปี 2563 - การจัดหาที่ดิน : พื้นที่ที่ใช้ในการดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองโพล้ฯ มีพื้นที่ที่ต้องจัดหาเนื้อที่ 8,153-1-70.54 ไร่ ดังนี้ เขตพื้นที่ เนื้อที่ (ไร่ ? งาน ? ตารางวา) การดำเนินการ ที่ผ่านมา (1) ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าบ้านนาและป่าทุ่งควายกิน - ป่าเพื่อเศรษฐกิจ (โซน E1) - ป่าเพื่อการอนุรักษ์ (โซน C2) 5,787-3-78.54 5,765-2-22.11 22-1-56.43 คณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติได้ประชุมพิจารณาเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 มีมติเห็นชอบให้กรมชล ประทานใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าว และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเห็นชอบให้กรมชลประทานเข้าใช้พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติฯ แล้วเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2564 (2) เขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) 2,365-1-92 คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดระยอง ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 ได้มีมติเห็นชอบ ให้กรมชลประทานใช้ พื้นที่ฯ และเลขาธิการ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินอนุญาตโดยหลักการ ให้กรมชลประทานใช้ที่ดินเพื่อก่อสร้าง โครงการฯ แล้วเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2565 [ปัจจุบันอยู่ระหว่างการรังวัดสำรวจแปลง ที่ดินเพื่อจัดทำบัญชีรายชื่อเจ้าของที่ดิน (รว. 43 ก.3) และการตรวจสอบทรัพย์สิน] รวม 8,153-1-70.54 - 7. งบประมาณและระยะเวลาดำเนินการ งบประมาณในการดำเนินโครงการฯ รวมทั้งสิ้น 3,561.62 ล้านบาท ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 - 2568) รายละเอียด ดังนี้ หน่วย : ล้านบาท รายการ งบประมาณ รวม 2565 2566 2567 2568 (1) ค่าซื้อที่ดิน ค่าทดแทน และค่ารื้อย้ายในการจัดหาที่ดิน 100.00 1,900.00 500.00 - 2,500.00 (2) ค่าสิ่งก่อสร้าง - เขื่อนหัวงานและอาคารประกอบ - ค่าก่อสร้างส่วนประกอบอื่น - 196.33 193.33 3.00 335.65 328.65 7.00 444.64 444.64 - 976.62 966.62 10.00 (3) ค่าใช้จ่ายตามแผนการป้องกัน แก้ไข และพัฒนาสิ่งแวดล้อม 8.00 18.86 11.38 46.76 85.00 รวม 108.00 2,115.19 847.03 491.40 3,561.62 8. การจัดทำรายงานการประเมินผล กระทบสิ่งแวดล้อม โครงการอ่างเก็บน้ำคลองโพล้ จังหวัดระยอง ไม่จัดอยู่ในประเภทหรือกิจการที่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2561 เนื่องจากโครงการดังกล่าวมีพื้นที่ชลประทานไม่ถึง 80,000 ไร่ ไม่อยู่ในเขตพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 ไม่มีการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำหลัก 25 ลุ่มน้ำ และการผันน้ำระหว่างประเทศ ไม่ได้ก่อสร้างประตูระบายน้ำในแม่น้ำสายหลัก 23 สาย และพื้นที่ก่อสร้างโครงการไม่ได้อยู่ในทะเบียนรายนามพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติและระดับชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 แต่เนื่องจากพื้นที่ก่อสร้างโครงการบางส่วนอยู่ในเขตป่าเพื่อการอนุรักษ์ (โซน C) ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม กรมชลประทานจึงได้จัดทำรายงานรายการข้อมูลสิ่งแวดล้อม4 (Environmental Checklist: EC) และได้มีการกำหนดแผนการป้องกัน แก้ไข และพัฒนาสิ่งแวดล้อม (EIMP) พร้อมทั้งแผนงบประมาณเพื่อสนับสนุนการดำเนินการข้างต้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ดำเนินการตามแผนงานที่วางไว้ 1พื้นที่ป่าเพื่อเศรษฐกิจ (โซน E) หมายถึง พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่กำหนดไว้เพื่อการผลิตไม้และของป่า รวมถึงพื้นที่เศรษฐกิจตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำและการจำแนกเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าไม้ในพื้นที่ป่าชายเลน ป่าสงวนแห่งชาติที่ถูกกำหนดเป็นป่าค่อนข้างเสื่อมโทรมและใกล้เขตชุมชน ได้แก่ พื้นที่พัฒนาป่าธรรมชาติ 2พื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ (โซน C) หมายถึง พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่กำหนดไว้เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ พันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่มีคุณค่าหายาก การป้องกันธรรมชาติอันเกิดจากน้ำท่วมและการพังทลายของดิน ตลอดจนเพื่อเป็นประโยชน์ในด้านการศึกษา การวิจัย นันทนาการของประชาชน และความมั่นคงของชาติ 3แผนที่ ร.ว. 43 ก. หมายถึง แผนที่และบัญชีรายชื่อเจ้าของที่ดินที่ได้ทำการรังวัดที่ดินหรือรังวัดแบ่งแยกที่ดินเพื่อการชลประทาน 4รายงานรายการข้อมูลสิ่งแวดล้อม (EC) คือ รายงานเกี่ยวกับข้อมูลสิ่งแวดล้อมที่ประกอบไปด้วยการประเมินข้อมูลทรัพยากรปัจจุบัน รายการตรวจสอบข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม การจัดระดับความสำคัญของผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการกำหนดมาตรการในการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อใช้ยื่นประกอบการขอใช้พื้นที่ต่อกรมป่าไม้ในการดำเนินการก่อสร้างโครงการพัฒนาแหล่งน้ำโครงการเขื่อน/อ่างเก็บน้ำที่มีพื้นที่โครงการอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม (โซน C) น้อยกว่า 50 ไร่ 11. เรื่อง ขอความเห็นชอบการจัดสวัสดิการรถจักรยานยนต์เพื่อใช้ในการปฏิบัติงานนอกสถานที่ให้แก่พนักงาน โดยให้พนักงานกู้เงินจากการประปานครหลวงแบบไม่คิดอัตราดอกเบี้ยในวงเงินการจัดสวัสดิการ จำนวน 30 ล้านบาท คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการจัดสวัสดิการรถจักรยานยนต์เพื่อใช้ในการปฏิบัติงานนอกสถานที่ให้แก่พนักงาน โดยให้พนักงานกู้เงินจากการประปานครหลวง (กปน.) แบบไม่คิดอัตราดอกเบี้ย ในวงเงินจัดสวัสดิการ จำนวน 30 ล้านบาท ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ สาระสำคัญของเรื่อง มท. (กปน.) รายงานว่า 1. กปน. เป็นรัฐวิสาหกิจในกลุ่มสาธารณูปโภคมีภารกิจและอำนาจหน้าที่ในการจัดหาแหล่งน้ำดิบเพื่อใช้ในการประปา ผลิต จัดส่ง และจำหน่ายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ รวมทั้งดำเนินธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องและเป็นประโยชน์แก่ กปน. ทั้งนี้ กปน. ได้ดำเนินการจัดสวัสดิการต่างๆ เพื่อเป็นการส่งเสริมและสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติภารกิจให้แก่องค์กร โดยรถจักรยานยนต์เป็นหนึ่งในสวัสดิการที่จัดให้แก่พนักงานของ กปน. เพื่อใช้ปฏิบัติงานนอกสถานที่ ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2525 ด้วยวิธีการเช่าซื้อ โดยใช้เงินจากกองทุนบำเหน็จ* ในวงเงิน 25 ล้านบาท และให้ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราไม่ต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประเภทประจำ 12 เดือน โดยมีการกำหนดคุณสมบัติของพนักงานที่มีสิทธิในการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไว้ ดังนี้ กลุ่ม รายละเอียด กลุ่ม 1 พนักงานผู้ปฏิบัติหน้าที่อ่านมาตร นายตรวจ จัดเก็บและรับเงิน (ปฏิบัติหน้าที่ผูกลวด) กลุ่ม 2 พนักงานที่ผู้บังคับบัญชามอบหมายให้ออกปฏิบัติงานสนามหรือออกพบปะประชาชน กลุ่ม 3 พนักงานผู้ปฏิบัติงานเข้าผลัด และพนักงานที่ปฏิบัติงานล่วงเวลาตามที่ผู้บังคับบัญชาสั่งการ กลุ่ม 4 พนักงานผู้ปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ซึ่งผู้บังคับบัญชาพิจารณาความเหมาะสมแล้วและรับรองว่าเป็นผู้มีสิทธิ หมายเหตุ * ข้อบังคับการประปานครหลวง ฉบับที่ 73 ว่าด้วยการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ พ.ศ. 2525 ข้อ 4 กำหนดให้ กปน. จะจัดหารถจักรยานยนต์ไว้จำนวนหนึ่ง เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานเช่าซื้อสำหรับใช้ในกิจการของ กปน. และข้อ 4 กำหนดให้เงินทุนสำหรับจัดหารถจักรยานยนต์ให้ใช้เงินจากกองทุนบำเหน็จหรือเงินอื่นใดอันพึงมีได้ในและกรณีที่ใช้เงินจากกองทุนบำเหน็จ ให้ กปน. ส่งใช้คืนกองทุนบำเหน็จภายในกำหนดหกปี พร้อมดอกเบี้ยในอัตราที่กองทุนบำเหน็จได้รับจากธนาคาร ซึ่งต่อมาได้ออกข้อบังคับการประปานครหลวง ฉบับที่ 32 ว่าด้วยการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ พ.ศ. 2544 ซึ่งปรับปรุงหลักเกณฑ์การเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่เพื่อความคล่องตัวในการปฏิบัติงานบริการประชาชน 2. การจัดสวัสดิการรถจักรยานยนต์ให้แก่พนักงาน (ตามข้อ 1) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้พนักงานที่มีหน้าที่ให้บริการนอกสถานที่สามารถออกไปให้บริการได้ด้วยความรวดเร็วและทันต่อความต้องการของประชาชนในการแก้ไขปัญหาการดำเนินงานทั้งในภาวะปกติหรือภาวะเร่งด่วนได้อย่างทันท่วงที ประกอบกับ กปน. มีแนวทางดำเนินธุรกิจเสริมในด้านต่าง ๆ อาทิ การตรวจสอบ ออกแบบ และควบคุมงาน งานบริการหลังมาตรวัดน้ำ งานย้ายแนวท่อประปา ซึ่งการจัดสวัสดิการดังกล่าวช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำสูญเสียและแรงดันน้ำอย่างบูรณาการ ลดน้ำสูญเสียตามที่ กปน. กำหนด และระดมการสำรวจจุดรั่วต่าง ๆ ตามพื้นที่เป้าหมาย รวมทั้งเป็นการแบ่งเบาภาระทางการเงินของพนักงานอีกทางหนึ่ง ซึ่งจะเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้แก่พนักงาน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัจจุบันพนักงานที่เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่องและจะหมดไปในอนาคต เนื่องจากพนักงานส่วนใหญ่เข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงาน กปน. แทน ดังนั้น กปน. จึงได้พิจารณาเปลี่ยนแปลงสวัสดิการดังกล่าว จากเดิม ?จัดสวัสดิการจักรยานยนต์เพื่อใช้ในการปฏิบัติงานนอกสถานที่ให้แก่พนักงานด้วยวิธีเช่าซื้อ โดยใช้เงินจากกองทุนบำเหน็จ วงเงินการจัดสวัสดิการ 25 ล้านบาท และอัตราดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประเภทประจำ 12 เดือน? เป็น ?จัดสวัสดิการรถจักรยานยนต์เพื่อใช้ในการปฏิบัติงานนอกสถานที่ให้แก่พนักงาน โดยให้พนักงานกู้เงินจาก กปน. แบบไม่คิดอัตราดอกเบี้ย โดยขยายวงเงินการจัดสวัสดิการจาก 25 ล้านบาท เป็น 30 ล้านบาท? 3. การปรับปรุงสวัสดิการดังกล่าวโดยให้พนักงานกู้เงินจาก กปน. แบบไม่คิดอัตราดอกเบี้ย ในวงเงินจัดสวัสดิการ จำนวน 30 ล้านบาท (เป็นเงินสำหรับรถจักรยานยนต์ จำนวน 25 ล้านบาท และสำหรับอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวก จำนวน 5 ล้านบาท) เป็นการใช้งบประมาณจากรายได้ของ กปน. เอง ดังนี้ หน่วย : ล้านบาท รายการ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 2565 2566 2567 2568 รายได้ของ กปน. 19,438.50 19,457.80 19,514.00 19,693.60 19,889.80 จำนวนผู้ใช้สิทธิ (เมื่อขอใช้สิทธิกู้ยืมจะต้องใช้คืนเงินให้แก่ กปน. จนครบจำนวน) ไม่เกินจำนวนวงเงินที่จัดสรร (30 ล้านบาท) ค่าใช้จ่าย** 30 หมายเหตุ ** ค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะเกิดขึ้นเฉพาะปีงบประมาณที่ดำเนินการจัดสวัสดิการฯ เท่านั้น ทั้งนี้ งบประมาณดังกล่าวเป็นการจัดสรรให้เพียงครั้งเดียวในปีที่เริ่มดำเนินการจัดสวัสดิการเท่านั้น โดยให้พนักงานที่มีคุณสมบัติใช้สิทธิกู้เงินและจ่ายชำระคืนเงินให้แก่ กปน. ตามจำนวนที่กู้ยืมไปจนครบถ้วน ดังนั้น การดำเนินการในลักษณะนี้จึงมีลักษณะเป็นเงินหมุนเวียนซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อภาระงบประมาณของ กปน. แต่อย่างใด และยังคงนำส่งรายได้ให้รัฐได้ตามปกติ โดยรัฐสามารถนำรายได้ดังกล่าวไปใช้ในการบริหารและพัฒนาประเทศเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนได้อย่างต่อเนื่องเช่นเดิม โดยไม่กระทบต่อภาระงบประมาณหรือภาระการสูญเสียรายได้ของรัฐในอนาคต 4. คณะกรรมการการประปานครหลวงในคราวประชุมครั้งที่ 10/2563 เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2563 มีมติเห็นชอบการปรับปรุงสวัสดิการข้างต้นแล้ว (ตามข้อ 2) รวมทั้งเห็นชอบให้ขยายวงเงินการจัดสวัสดิการจาก 25 ล้านบาท เป็น 30 ล้านบาท และให้นำเสนอคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ครรส.) และคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน กปน. ดำเนินการต่อไป ซึ่ง ครรส. ในการประชุมครั้งที่ 6/2564 เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564 มีมติเห็นชอบให้ กปน. กำหนดสวัสดิการรถจักรยานยนต์เพื่อใช้ในการปฏิบัติงานนอกสถานที่ให้แก่พนักงาน โดยให้พนักงานกู้เงินจาก กปน. แบบไม่คิดอัตราดอกเบี้ย และเห็นชอบวงเงินการจัดสวัสดิการ จำนวน 30 ล้านบาท และให้ขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีต่อไป 5. กปน. แจ้งว่า สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) เห็นด้วยในหลักการจัดสวัสดิการรถจักรจานยนต์ดังกล่าวด้วยแล้ว เพื่อเป็นการบรรเทาภาระทางด้านการเงินของพนักงานและเสริมสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และการดำเนินการจัดสวัสดิการดังกล่าวไม่กระทบต่อภาระงบประมาณหรือภาระการสูญเสียรายได้ของรัฐในอนาคต 12. เรื่อง การจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่เพื่อนำไปกำหนดเป็นอัตรากำลังแทนให้แก่ส่วนราชการที่ส่งข้าราชการไปปฏิบัติหน้าที่ในศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) เสนอ ดังนี้ 1. จัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่เพื่อนำไปกำหนดเป็นอัตรากำลังแทนให้แก่ส่วนราชการที่ส่งข้าราชการไปปฏิบัติหน้าที่ใน ศรชล. สำนักนายกรัฐมนตรี รวม 203 อัตรา ตามที่คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2564 มีมติเห็นชอบแล้ว ได้แก่ 1.1 กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม (คค.) รวม 45 อัตรา 1.2 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รวม 45 อัตรา 1.3 กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) รวม 45 อัตรา 1.4 กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง (กค.) รวม 45 อัตรา 1.5 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน (รง.) รวม 23 อัตรา 2. การดำเนินการตามข้อ 1 ให้กรมเจ้าท่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมประมง กรมศุลกากร และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานดำเนินการ ดังนี้ 2.1 เสนอคณะอนุกรรมการสามัญประจำกระทรวง (อ.ก.พ. กระทรวง เพื่อจัดแบ่งงานภายในส่วนราชการกำหนด ?กลุ่มงานปฏิบัติราชการประจำ ศรชล.? สังกัดส่วนกลาง โดยรับผิดชอบรายงานตรงต่อหัวหน้าส่วนราชการและกำหนดตำแหน่งในกลุ่มงานดังกล่าว เป็น ?กรอบอัตรากำลังแทนประจำกรม? เพื่อรองรับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งอัตรากำลังแทนระหว่างที่ไปปฏิบัติหน้าที่ใน ศรชล. 2.2 กำหนดเงื่อนไขไม่ให้นำตำแหน่งดังกล่าวไปใช้ในภารกิจอื่นและไม่ใช้เพื่อเลื่อนระดับตำแหน่งหรือปรับปรุงการกำหนดตำแหน่งเป็นระดับสูงขึ้น รวมทั้งไม่ให้นำไปใช้สำหรับการบริหารทรัพยากรบุคคลในลักษณะเดียวกันกับกรอบอัตรากำลังปกติของส่วนราชการ และเมื่อหมดความจำเป็นตามภารกิจแล้วให้ยุบเลิกกรอบอัตรากำลังแทนประจำกรมดังกล่าว ทั้งนี้ ให้จัดเลขที่ตำแหน่งเรียงต่อจากตำแหน่งเลขที่สุดท้ายของกรมและจัดทำหนังสือขอกำหนดกรอบอัตราข้าราชการตั้ง (กรอบอัตรากำลังแทนประจำกรม) เสนอคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ให้ความเห็นชอบต่อไป 2.3 นำตัวชี้วัดร่วม (joint KPIs) ตามที่ อ.ก.พ. กระทรวงมีมติเห็นชอบแล้วเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เพื่อกำหนดเป็นส่วนหนึ่งของคำรับรองการปฏิบัติราชการประจำปีของส่วนราชการ ทั้งนี้ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง และให้รายงานผลการดำเนินการตามคำรับรองฯ ให้ คปร. และ ก.พ. ทราบด้วย อย่างไรก็ดี ควรประสานงานกับ ศรชล. เพื่อวางระบบการติดตาม ประเมินผลและรายงานผลการดำเนินการประจำปีอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง 2.4 การจัดสรรงบประมาณค่าใช้จ่ายสำหรับอัตราข้าราชการตั้งใหม่ดังกล่าวให้ส่วนราชการขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ (สงป.) และดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ สงป. กำหนด ทั้งนี้ ให้ ศรชล. เตรียมความพร้อมในการจัดทำตัวชี้วัดร่วม (Joint KPIs) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ด้วย 3. จัดสรรอัตราข้าราชการทหารตั้งใหม่เพื่อนำไปกำหนดเป็นอัตรากำลังแทนให้แก่กองทัพเรือ (ทร.) กระทรวงกลาโหม (กห.) ที่ส่งข้าราชการทหารไปปฏิบัติหน้าที่ใน ศรชล. สำนักนายกรัฐมนตรี รวม 652 อัตรา ตามที่สภากลาโหม ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ได้มีมติเห็นชอบแล้ว 4. สำหรับการจัดสรรงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรสำหรับอัตราข้าราชการตั้งใหม่ของส่วนราชการทั้ง 5 ส่วนราชการ (ตามข้อ 1) จำนวน 90,530,880 บาทต่อปี และ ทร. จำนวน 317,409,720 บาทต่อปี เห็นควรให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ สงป. กำหนด สาระสำคัญของเรื่อง ศรชล. รายงานว่า 1. ศรชล. จัดตั้งขึ้นตามมาตรา 17 ของพระราชบัญญัติการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พ.ศ. 2562 มีฐานะเป็นส่วนราชการรูปแบบเฉพาะในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีภายใต้การบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี มีภารกิจและขอบเขตความรับผิดชอบเกี่ยวกับการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล มีลักษณะโครงสร้างแบบผสมผสานและการทำงานแบบเครือข่าย (Networking) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เน้นการบริหารงานแบบบูรณาการที่มีเป้าหมายการดำเนินการร่วมกันทั้งในเชิงภารกิจและเชิงพื้นที่ ซึ่งตามมาตรา 21 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว กำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดส่งเจ้าหน้าที่ของรัฐไปปฏิบัติหน้าที่ใน ศรชล. ตามที่ผู้อำนวยการ ศรชล. ร้องขอ (ระยะเวลาการหมุนเวียนคราวละ 1 - 2 ปี) และให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคลหรือองค์กรอื่นที่มีหน้าที่และอำนาจทำนองเดียวกันของหน่วยงานของรัฐนั้น จัดให้มีอัตรากำลังแทนให้หน่วยงานของรัฐนั้นตามความจำเป็นแต่ไม่เกินจำนวนอัตรากำลังที่จัดส่งไป โดยอาจจัดเป็นรายอัตราหรือเป็นหน่วยก็ได้ ทั้งนี้ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ใน ศรชล. มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งในอัตราที่ได้รับอยู่เดิมต่อไป สำหรับสิทธิประโยชน์อื่นให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น 2. โดยที่ภารกิจของ ศรชล. เป็นภารกิจที่ต้องปฏิบัติงานกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แก่ ประชาชน ชาวต่างชาติ ยานพาหนะทางเรือจากประเทศต่าง ๆ ที่เข้ามาในน่านน้ำไทย ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำกับ ติดตาม และเฝ้าระวังการกระทำผิดกฎหมายในน่านน้ำไทย โดย ศรชล. ได้พิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบแล้วเห็นว่า ภารกิจดังกล่าวเป็นภารกิจที่ต้องใช้อำนาจหน้าที่ของพนักงานตามกฎหมาย จึงจำเป็นต้องใช้ข้าราชการเป็นผู้ปฏิบัติงาน 3. คณะกรรมการต่าง ๆ ได้พิจารณากำหนดอัตรากำลังแทนของส่วนราชการ สรุปได้ ดังนี้ 3.1 ข้าราชการพลเรือน คปร. ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2564 ได้มีมติเห็นชอบการจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่เพื่อนำไปกำหนดเป็นอัตราแทนให้กับส่วนราชการที่ส่งข้าราชการไปปฏิบัติหน้าที่ใน ศรชล. รวมทั้งสิ้น 5 หน่วยงาน จำนวน 203 อัตรา โดยให้หน่วยงานดังกล่าวดำเนินการตามข้อ 2 ด้วย 3.2 ข้าราชการทหาร สภากลาโหม ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 มีมติเห็นชอบกรอบอัตรากำลังแทนของ ทร. เพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ใน ศรชล. จำนวน 652 อัตรา 3.3 ข้าราชการตำรวจ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ในคราวประชุมครั้งที่ 6/2564 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 และคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติในคราวประชุมครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564 มีมติอนุมัติกำหนดตำแหน่งข้าราชการตำรวจประจำกองบังคับการตำรวจน้ำ รวม 47 อัตรา เพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ใน ศรชล. 4. การจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่เพื่อนำไปกำหนดเป็นอัตรากำลังแทนให้กับส่วนราชการที่ส่งข้าราชการไปปฏิบัติหน้าที่ใน ศรชล. จำนวน 6 หน่วยงาน รวม 855 อัตรา จะมีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร รวมทั้งสิ้น 407,940,600 บาทต่อปี จำแนกเป็น (1) ส่วนราชการทั้ง 5 แห่ง จำนวน 90,530,880 บาทต่อปี และ (2) ทร. จำนวน 317,409,720 บาทต่อปี (เงินเดือนข้าราชการ 285,739,320 บาทต่อปี และเงินตำแหน่งและเงินค่าตอบแทนประจำตำแหน่งจำนวน 31,670,400 บาทต่อปี) ส่วนราชการ อัตรา ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรที่เพิ่มขึ้น บาทต่อปี ข้าราชการพลเรือน (5 ส่วนราชการ) 1. กรมเจ้าท่า (คค.) 45 20,289,480 2. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทส.) 45 20,289,480 3. กรมประมง (กษ.) 45 20,289,480 4. กรมศุลกากร (กค.) 45 20,289,480 5. กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (รง.) 23 9,372,960 รวมค่าใช้จ่าย 5 ส่วนราชการ 203 90,530,880 ข้าราชการทหาร - ทร. (กห.) 652 317,409,720 รวมค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรที่เพิ่มขึ้น 855 407,940,600 ทั้งนี้ เงินงบประมาณที่เพิ่มขึ้นจัดเป็นงบรายจ่ายประจำของส่วนราชการตามมาตรา 20 (2) แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยจะผูกพันค่าใช้จ่ายในระยะยาวตามความจำเป็นของภารกิจของแต่ละส่วนราชการ 5. ศรชล. แจ้งว่า ภายหลังจากที่ได้รับจัดสรรอัตรากำลังแทนจะดำเนินการดังนี้ 5.1 เสนอ อ.ก.พ. กระทรวงเพื่อจัดแบ่งงานภายในส่วนราชการกำหนด ?กลุ่มงานปฏิบัติราชการประจำ ศรชล.? สังกัดส่วนกลาง โดยรับผิดชอบรายงานตรงต่อหัวหน้าส่วนราชการและกำหนดตำแหน่งในกลุ่มงานดังกล่าว เป็น ?กรอบอัตรากำลังแทนประจำกรม? เพื่อรองรับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งอัตรากำลังแทนระหว่างที่ไปปฏิบัติหน้าที่ใน ศรชล. 5.2 กำหนดเงื่อนไขไม่ให้ตำแหน่งดังกล่าวไปใช้ในภารกิจอื่นและไม่ใช้เพื่อเลื่อนระดับตำแหน่งหรือปรับปรุงการกำหนดตำแหน่งเป็นระดับสูงขึ้น รวมทั้งไม่ให้นำไปใช้สำหรับการบริหารทรัพยากรบุคคลในลักษณะเดียวกันกับกรอบอัตรากำลังปกติของส่วนราชการ และเมื่อหมดความจำเป็นตามภารกิจแล้วให้ยุบเลิกกรอบอัตรากำลังแทนประจำกรมดังกล่าว ทั้งนี้ ให้จัดเลขที่ตำแหน่งเรียงต่อจากตำแหน่งเลขที่สุดท้ายของกรมและจัดทำหนังสือขอกำหนดกรอบอัตราข้าราชการตั้งใหม่ (กรอบอัตรากำลังแทนประจำกรม) เสนอ ก.พ. ให้ความเห็นชอบต่อไป 6. เพื่อให้การดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลด้านการสร้างความมั่นคงและการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล รวมทั้งการจัดอัตรากำลังเพื่อขับเคลื่อนภารกิจของ ศรชล. สอดคล้องตามพระราชบัญญัติการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พ.ศ. 2562 รวมทั้งเพื่อให้ส่วนราชการสามารถส่งข้าราชการไปปฏิบัติหน้าที่ใน ศรชล. ได้อย่างเต็มกำลัง โดยไม่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการบริหารราชการ เกิดความคล่องตัวในการบริหารตำแหน่งว่างในระหว่างที่ส่งข้าราชการไปช่วยปฏิบัติหน้าที่และสามารถนำตำแหน่งว่างไปใช้ประโยชน์ในการบริหารทรัพยากรบุคคลให้เกิดประโยชน์สูงสุด 13. เรื่อง ร่างยุทธศาสตร์ด้านมาตรฐานทางจริยธรรมและการส่งเสริมจริยธรรมภาครัฐ พ.ศ. 2565 - 2570 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ ดังนี้ 1. เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ด้านมาตรฐานทางจริยธรรมและการส่งเสริมจริยธรรมภาครัฐ เพื่อเป็นกรอบและกลไกในการขับเคลื่อนการดำเนินการรักษาจริยธรรมและส่งเสริมพัฒนาจริยธรรมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ องค์กรกลางบริหารงานบุคคล (ตามมาตรา 3 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562) องค์กรที่มีหน้าที่จัดทำประมวลจริยธรรมและหน่วยงานของรัฐใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนมาตรฐานทางจริยธรรมให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรมฯ 2. ให้หน่วยงานของรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้มีการจัดทำแผนงาน มาตรการ เพื่อส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐรักษาจริยธรรมตามมาตรฐานทางจริยธรรม ประมวลจริยธรรม และข้อกำหนดจริยธรรม ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างสังคม - วัฒนธรรมทางจริยธรรมของข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นคนดี มีความสามารถ และมีคุณธรรม พร้อมเป็นกลไกการปฏิรูปประเทศ สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และยกระดับภาพลักษณ์ประเทศไทยที่บริหารประเทศโดยยึดหลักซื่อสัตย์สุจริตเป็นคุณธรรมสูงสุดเพื่อการมุ่งไปสู่การเป็นประเทศที่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สาระสำคัญของเรื่อง สำนักงาน ก.พ. รายงานว่า 1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 76 วรรคสาม บัญญัติให้รัฐพึงจัดให้มีมาตรฐานทางจริยธรรม เพื่อให้หน่วยงานของรัฐใช้เป็นหลักในการกำหนดประมวลจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ประกอบกับพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรมฯ บัญญัติให้มีคณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรม (ก.ม.จ.) ซึ่งมีหน้าที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การจัดทำยุทธศาสตร์ด้านมาตรฐานทางจริยธรรมและการส่งเสริมจริยธรรมภาครัฐ เพื่อเป็นกลไกในการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรภาครัฐให้เป็นทั้งคนเก่งและคนดี มีการประพฤติปฏิบัติตนอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม ยึดหลัก ?ภาครัฐของประชาชนเพื่อประชาชนและประโยชน์ส่วนรวม? ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคส่วนต่าง ๆ และยกระดับภาพลักษณ์ประเทศไทยที่บริหารประเทศโดยยึดหลักความซื่อสัตย์สุจริตเป็นคุณธรรมสูงสุดเพื่อการมุ่งไปสู่การเป็นประเทศที่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี 2. ร่างยุทธศาสตร์ด้านมาตรฐานทางจริยธรรมและการส่งเสริมจริยธรรมภาครัฐ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจาก ก.ม.จ. และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแล้ว มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้ ประเด็น สาระสำคัญ วิสัยทัศน์ เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นที่เชื่อถือและไว้วางใจได้ พันธกิจ สร้างสังคม-วัฒนธรรมทางจริยธรรมของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐและเน้นย้ำภาพลักษณ์เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นคนดี มีความสามารถ และมีคุณธรรม เพื่อให้ได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชนและความไว้วางใจในระดับนานาชาติ เป้าหมาย ยกระดับตัวชี้วัดนานาชาติและตัวชี้วัดระดับชาติที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมเจ้าหน้าที่ของรัฐและตัวชี้วัดด้านคุณธรรมและความโปร่งใสของการดำเนินงานภาครัฐของประเทศไทย โดยใช้กลไกขับเคลื่อนด้านมาตรฐานทางจริยธรรมเพื่อยกระดับการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ วัตถุประสงค์ (1) เพื่อเป็นกรอบและกลไกในการขับเคลื่อนการดำเนินการรักษาจริยธรรมและส่งเสริมพัฒนาจริยธรรมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยองค์กรกลางบริหารงานบุคคลและหน่วยงานของรัฐใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนงานด้านการส่งเสริมจริยธรรม ภายในระยะเวลา 6 ปี (พ.ศ. 2565 - 2570 ) (2) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนระบบราชการและองค์กรภาครัฐให้บรรลุเป้าหมายตามแผนการพัฒนาชาติระยะยาวตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) และแผนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน และแผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมทั้งเชื่อมโยงกับการขับเคลื่อนงานด้านการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติและงานด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ตัวชี้วัด ตามเป้าหมาย (1) คะแนนด้านธรรมาภิบาลองค์กร (Governance Index Rank) ของ Bertelsmann Foundation Transformation Index (BF-TI) ด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ และด้านธรรมาภิบาลองค์กรของรัฐบาลเพิ่มขึ้นจากค่าคะแนน 4.04 ในปี 2563 เป็น 6.00 ในปี 2570 (2) คะแนนระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน (The Global Competitiveness Index) ในด้านสภาพแวดล้อมหน่วยงานของ World Economic Forum (WEF) เพิ่มขึ้นจากปี 2562 (54.8 คะแนน) (3) อันดับความสามารถในการแข่งขันในส่วนของประสิทธิภาพภาครัฐ (Government Efficiency) ของ IMD World Competitiveness Center สูงขึ้นจากปี 2563 (อันดับที่ 23 จาก 63 ประเทศ) (4) คะแนนผลการประเมินตัวชี้วัดการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment : ITA) หน่วยงานของรัฐไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 (ไม่ต่ำกว่าเดิมหรือสูงขึ้นทุกปี) ประเด็นท้าทาย เชิงกลยุทธ์ (1) ไม่มีข้อยกเว้น สร้างมาตรฐานทางจริยธรรมให้มีมาตรฐานเดียวกันในกลุ่มเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภทโดยไม่มีข้อยกเว้น (2) ไม่มีข้อกังขา สร้างความพร้อมในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ทางจริยธรรม โดยไม่มีข้อกังขาหรือตั้งคำถามกับการดำเนินงาน โดยใช้จริยธรรมเป็นหลังพิงหรือหลักเกณฑ์ในการตัดสินใจและการประพฤติปฏิบัติตนแทนการใช้ดุลพินิจในกรณีที่ไม่มีกฎข้อบังคับมาชี้ขาดเพื่อลดพฤติกรรมสีเทา (3) ไม่สูญเปล่า สร้างระบบการบริหารงานบุคคลที่คำนึงถึงหลักทางจริยธรรม โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีความประพฤติตามมาตรฐานทางจริยธรรมควรจะได้รับการสนับสนุนในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ให้ความพยายามนั้นสูญเปล่า และไม่ปล่อยให้มีที่ยืนสำหรับการกระทำผิดทางจริยธรรมปรากฏอยู่ในระบบการทำงานภาครัฐ ร่วมมือผลักดันให้เกิดการปฏิบัติสังคม-วัฒนธรรมทางจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และสร้างภาพลักษณ์บุคลากรภาครัฐไทยที่เป็นคนดี ยุทธศาสตร์ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมภายในหน่วยงานของรัฐ โดยนำมาตรฐานทางจริยธรรมและประมวลจริยธรรมมาเป็นกรอบแนวทางการปฏิบัติด้านจริยธรรมในองค์กรให้ชัดเจน และการให้ความสำคัญในการสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมให้มีมาตรฐานเดียวกันในกลุ่มเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภท ครอบคลุมทุกหน่วยงานทั้งในระดับรัฐบาล ส่วนราชการ ท้องถิ่น และองค์กร โดย ?ไม่มีข้อยกเว้น? และสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาและข้อขัดแย้งที่เกิดจากคุณค่าทางจริยธรมที่แตกต่างกัน เพื่อให้ ?ไม่มีข้อกังขา? โดยใช้มาตรฐานทางจริยธรรมเป็นหลังพิง หรือหลักเกณฑ์ในการตัดสินใจและการประพฤติปฏิบัติตนแทนการใช้ดุลยพินิจ ในกรณีที่ไม่มีกฎข้อบังคับมาชี้ขาด เพื่อลดพฤติกรรมสีเทา และเพื่อสร้างความพร้อมในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ทางจริยธรรม ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาผลักดันนโยบายและระบบบริหารการส่งเสริมมาตรฐานทางจริยธรรมภาครัฐให้ครอบคลุมทุกหน่วยงานและทุกระดับ โดยมุ่งเน้นพัฒนานโยบายส่งเสริมมาตรฐานทางจริยธรรม เตรียมความพร้อมและความร่วมมือในการร่วมบริหารงานภาครัฐอย่างมีจริยธรรม โดย ?ไม่มีข้อกังขา? หรือตั้งคำถามอันเป็นการพัฒนากลไกการส่งเสริมจริยธรรมทั้งที่มีอยู่เดิมและที่ตั้งขึ้นมาใหม่ให้สามารถขับเคลื่อนทำงานได้อย่างสอดคล้องกันและมีประสิทธิภาพ ยุทธศาสตร์ที่ 3 การส่งเสริมการนำมาตรฐานทางจริยธรรม1ไปใช้ในการบริหารงานบุคคล โดยคำนึงถึงหลักทางจริยธรรม แบบ ?ไม่มีข้อกังขา? และใช้จริยธรรมเป็นหลักเกณฑ์ในการตัดสินใจและการประพฤติปฏิบัติตน เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีความประพฤติที่ดี มีการรักษาจริยธรรม ควรจะได้รับการสนับสนนุในรูปแบบต่าง ๆ ?ไม่ให้ความพยายามนั้นสูญเปล่า? รวมทั้งพัฒนาระบบเครื่องมือต่าง ๆ ที่เอื้อให้มีการนำจริยธรรมไปใช้ในการบริหารงานบุคคลทั้งระบบ ยุทธศาสตร์ที่ 4 การรวมพลังทุกภาคส่วนในการสร้างสังคม-วัฒนธรรมทางจริยธรรม การส่งเสริมจริยธรรมตามหลักจริยธรรม ไม่ควรมองข้ามการเสริมสร้างขีดความสามารถทางจริยธรรมของข้าราชการและกลไกการเสริมสร้างความเข้มแข็งเพื่อสนับสนุนจรรยาบรรณวิชาชีพที่จะต้องมีการใช้เทคนิคใหม่เพื่อสร้างการตัดสินใจเชิงจริยธรรมที่จะส่งเสริมการสร้าง ?วัฒนธรรมจริยธรรม? ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องปลูกฝังเพื่อให้เกิดขึ้นและเหมาะสมกับความต้องการในสังคมไทย ผลักดันให้เกิดการปฏิวัติสังคม-วัฒนธรรมทางจริยธรรมในหมู่เจ้าหน้าที่ของรัฐ สร้างกลไกและเครือข่ายให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมตรวจสอบการกระทำฝ่าฝืนจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ กดดันไม่ให้มีการกระทำฝ่าฝืนจริยธรรมเกิดขึ้น รวมทั้งไม่ปล่อยให้มีที่ยืนสำหรับผู้กระทำผิด ยุทธศาสตร์ที่ 5 การสื่อสารเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและเสริมสร้างทัศนคติเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรมและการกระทำผิด การส่งเสริมให้คนไทยมีจิตสาธารณะและมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวมภาครัฐ ควรมีการสื่อสารและการรณรงค์ด้วยแนวทางใหม่ ใช้เทคโนโลยีสื่อสารอย่างชาญฉลาดควบคู่กับการผลักดันจริยธรรม ใช้การสื่อสารและการรณรงค์สร้างความรู้ ความสำเร็จ และความสำคัญของมาตรฐานทางจริยธรรม การขับเคลื่อนจริยธรรมภาครัฐในระยะต่อไปจะต้องรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ และเปลี่ยนทัศนคติเรื่องการทำผิดจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีเพียงการกระทำที่ผิดหรือถูกเท่านั้น โดย ?ไม่มีข้อกังขา? หรือตั้งคำถามกับการดำเนินงานและต้อง ?ไม่สูญเปล่า? โดยไม่ยอมรับการกระทำผิดสีเทาอีกต่อไป 3. แนวทางการส่งเสริมจริยธรรมและรูปแบบการขับเคลื่อนงานด้านการส่งเสริมจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐ 3.1 การดำเนินการที่สามารถดำเนินการได้ทันทีและสร้างผลกระทบสูง (Quick Win) เช่น การจัดทำคู่มือ Dos&Don?ts เพื่อกำหนดพฤติกรรมที่ควรกระทำและไม่ควรกระทำ ซึ่งจะช่วยลดความสับสนเกี่ยวกับพฤติกรรมสีเทา การจัดทำแบบทดสอบแบบประเมินพฤติกรรมทางจริยธรรมสำหรับผู้เข้ารับการคัดเลือกเข้าสู่ระบบราชการ การจัดทำเครื่องมือการประเมินพฤติกรรมการทำงานภายใต้กรอบจริยธรรม การเลือกประเด็นปัญหาทางจริยธรรมที่ใกล้ตัวประชาชนมาทำแคมเปญรณรงค์เพื่อสร้างทัศนคติใหม่แก่สังคมและเจ้าหน้าที่รัฐ 3.2 การดำเนินการในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น โดยใช้กลไกการบริหารจัดการแผนให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามยุทธศาสตร์ ได้แก่ (1) ระดับส่วนกลาง ปรับปรุงกลไกขับเคลื่อนจริยธรรมให้มีประสิทธิภาพ สามารถทำงานได้บรรลุวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ตามกฎหมาย กำหนดมาตรการ หลักเกณฑ์ และการบูรณาการระหว่างหน่วยงานกลางเพื่อการขับเคลื่อนงานด้านการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และป้องกันการทุจริต (2) ระดับส่วนภูมิภาค ให้สำนักงานจังหวัดส่งเสริมให้มีการปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม มีหน่วยงานทำหน้าที่ให้คำปรึกษา ส่งเสริมและรับเรื่องร้องเรียนพฤติกรรมล่อแหลม โดยใช้กลไกทางจริยธรรมเป็นกลไกการดำเนินการในเชิงป้องกัน และ (3) ระดับส่วนท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งจัดทำข้อกำหนดจริยธรรมของท้องถิ่น คู่มืออธิบาย และกำหนดพฤติกรรมตามมาตรฐานทางจริยธรมกลางเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการติดตามและตรวจสอบ 4. แนวทางการติดตามประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ฯ 4.1 ตรวจสอบติดตามผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ในแผนที่นำทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ (Roadmap) ทุกระยะ โดยเสนอ ก.ม.จ. และคณะรัฐมนตรีพิจารณา 4.2 ให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคลจัดทำรายงานการประเมินผลการดำเนินงานตามแบบรายงานประจำปี ตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรมฯ เพื่อเสนอ ก.ม.จ. 4.3 ประเมินผลสัมฤทธิ์ของการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมตามพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรมฯ โดยใช้เครื่องมือประเมินในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ในประเด็น ดังนี้ (1) ประเมินผลการดำเนินการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ตามยุทธศาสตร์ฯ เพื่อการกำกับและติดตาม และ (2) ประเมินผลลัพธ์/ผลสำเร็จของการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมตามยุทธศาสตร์ฯ 1 มาตรฐานทางจริยธรรม คือ การสร้างมาตรฐานเดียวกันและมีสภาพบังคับทางกฎหมาย มีการกำหนดมาตรการและกลไกในการขับเคลื่อนงานที่มีประสิทธิภาพเพื่อการเสริมสร้างและรักษาจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ 14. เรื่อง ผลการดำเนินงานของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยในปีงบประมาณ 2564 นโยบายของคณะกรรมการ และโครงการและแผนงานของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยในอนาคต คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ผลการดำเนินงานของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในปีงบประมาณ 2564 นโยบายของคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยและโครงการและแผนงานของ รฟม. ในอนาคต (เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติ รฟม. พ.ศ. 2543 มาตรา 73 ที่บัญญัติให้ รฟม. ทำรายงานปีละครั้งเสนอคณะรัฐมนตรี รายงานนี้ให้กล่าวถึงผลของงาน ในปีที่ล่วงมาแล้วและคำชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายของคณะกรรมการฯ โครงการและแผนงานที่จะทำในภายหน้า) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ 1. ผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2564 (ณ วันที่ 30 กันยายน 2564) 1.1 ด้านการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน มีผลการดำเนินการ ดังนี้ โครงการ ผลการดำเนินการ/ความก้าวหน้า โครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง (3 โครงการ) (1) รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม แห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ? งานศึกษาและวิเคราะห์โครงการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 แล้วเสร็จ ? งานก่อสร้างงานโยธา ผลิตและติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าและงานเดินรถมีความก้าวหน้า ร้อยละ 89.70 (เร็วกว่าแผนร้อยละ 0.44) ? คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนมีนาคม 2568 (2) รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ? งานก่อสร้างงานโยธา ผลิตและติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าและงานเดินรถมีความก้าวหน้าร้อยละ 90.70 (เร็วกว่าแผนร้อยละ 1.74) ? คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนกันยายน 2565 (3) รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ? งานก่อสร้างงานโยธา ผลิตและติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าและงานเดินรถมีความก้าวหน้าร้อยละ 84.90 (เร็วกว่าแผนร้อยละ 4.19) ? คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนมิถุนายน 2565 โครงการที่อยู่ระหว่างการประกวดราคา (2 โครงการ) (1) รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ? งานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินมีความก้าวหน้าร้อยละ 37.75 (ตามแผน) ? งานก่อสร้างงานโยธา ผลิตและติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าและงานเดินรถมีความก้าวหน้า ร้อยละ 9.10 (ล่าช้ากว่าแผนร้อยละ 0.73) เนื่องจาก รฟม. ได้มีประกาศยกเลิกประกวดราคางานโยธาเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้น ? คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนธันวาคม 2570 (2) รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์- ศูนย์วัฒนธรรมแห่ง ประเทศไทย ? งานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินมีความก้าวหน้าร้อยละ 17.80 (ล่าช้ากว่าแผนร้อยละ 0.20) ? งานก่อสร้างงานโยธา ผลิตและติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าและงานเดินรถมีความก้าวหน้า ร้อยละ 5 (ตามแผน) ? คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนกันยายน 2570 โครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ (4 โครงการ) (1) รถไฟฟ้าจังหวัดภูเก็ต ? เสนอขอความเห็นชอบรูปแบบการลงทุนฯ มีความก้าวหน้าร้อยละ 20 (ตามแผน) ? คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนธันวาคม 2569 (2) รถไฟฟ้า จังหวัดเชียงใหม่ ? เสนอขอความเห็นชอบรูปแบบการลงทุนฯ มีความก้าวหน้าร้อยละ 24 (ตามแผน) โดยจากการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมพบว่าในระยะเริ่มต้นควรดำเนินการเฉพาะสายสีแดงเพียงเส้นทางเดียว และเห็นควรให้ระบบเทคโนโลยีรถไฟฟ้าทั้ง 3 ทางเลือก1 ยังคงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับโครงการฯ ? คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนกุมภาพันธ์ 2571 (3) รถไฟฟ้า จังหวัดนครราชสีมา ? เสนอขอความเห็นชอบรูปแบบการลงทุนฯ มีความก้าวหน้าร้อยละ 20 (ตามแผน) โดยจากการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมพบว่าในระยะเริ่มต้นควรดำเนินการเฉพาะสายสีเขียวเพียงเส้นทางเดียว และเห็นควรให้ระบบเทคโนโลยีรถไฟฟ้าทั้ง 4 ทางเลือก2 ยังคงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับโครงการฯ ? คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนกุมภาพันธ์ 2571 (4) รถไฟฟ้า จังหวัดพิษณุโลก ? จัดทำร่างขอบเขตของงาน (TOR) และร่างราคากลางงานจัดจ้างที่ปรึกษาแล้วเสร็จ ? คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนกรกฎาคม 2571 นอกจากนี้ ยังมีผลการดำเนินการอื่น ๆ เช่น (1) โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี อยู่ระหว่างการพิจารณาเอกสารเชิญชวนเพื่อคัดเลือกที่ปรึกษาและศึกษาทบทวนและปรับปรุงรายละเอียดความเหมาะสม รวมทั้งจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนสิงหาคม 2570 (2) การก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางบริเวณสถานีสะพานพระนั่งเกล้ากับท่าเรือพระนั่งเกล้า ดำเนินการแล้วเสร็จ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการนำเทคโนโลยี EMV Contactless3 (Europay, Mastercard, Visa) มาใช้กับระบบตั๋วร่วม โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการระบบตั๋วร่วม EMV Contactless อย่างเป็นทางการในสายเฉลิมรัชมงคลและสายฉลองรัชธรรม ในปีงบประมาณ 2565 1.2 ด้านการให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เปิดให้บริการแล้ว 2 เส้นทาง มีผลการดำเนินงาน ดังนี้ เส้นทาง ผลการดำเนินงาน ผู้โดยสารเฉลี่ย (คน-เที่ยว/วัน) เพิ่มขึ้น/ลดลง จากปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 (ร้อยละ) ความพึงพอใจ ของผู้ใช้บริการ (ระดับมาก-มากที่สุด) รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล 176,413 -37.87 ร้อยละ 85.92 (เป้าหมายร้อยละ 84.00) รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม 32,752 -28.98 ร้อยละ 87.11 (เป้าหมายร้อยละ 79.50) 1.3 ด้านการเงิน รฟม. มีผลประกอบการกำไรสุทธิ 1,927.83 ล้านบาท โดยมีรายได้ 16,018.27 ล้านบาท (เงินอุดหนุน 10,434.78 ล้านบาท) และค่าใช้จ่ายรวม 14,090.44 ล้านบาท สามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้ร้อยละ 99.99 [คณะรัฐมนตรีมีมติ (29 กันยายน 2563) เห็นชอบการกำหนดให้รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของวงเงินอนุมัติให้เบิกจ่ายลงทุน] นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากธุรกิจต่อเนื่องจากรถไฟฟ้า มหานครสายเฉลิมรัชมงคล 104.16 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ต่ำกว่าเป้าหมาย 33.48 ล้านบาท และสายฉลองรัชธรรม 24.26 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ต่ำกว่าเป้าหมาย 6.73 ล้านบาท ผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ ร้อยละ 1.20 (เป้าหมายร้อยละ 0.85) รวมทั้งได้จัดทำรายงานการศึกษาโครงสร้างงบกำไรขาดทุนของ รฟม. เสร็จเรียบร้อยแล้ว 1.4 ด้านการพัฒนาองค์กรและทรัพยากรบุคคล รฟม. ได้ดำเนินการตามแผนพัฒนาทรัพยากรบุคคล โดยพนักงานร้อยละ 96.90 มีสมรรถนะตามมาตรฐานที่องค์กรกำหนด (เป้าหมายร้อยละ 96.25) และมีระดับความผูกพันเท่ากับ 4.23 (เป้าหมายเท่ากับ 4.16) นอกจากนี้ ได้มีการดำเนินงานตามแผนต่าง ๆ เช่น การพัฒนาระบบการสร้างความสัมพันธ์และบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้าและการดำเนินการตามแผนพัฒนา องค์ความรู้ด้านการบริหารก่อสร้าง การบริหารโครงการ และการจัดซื้อจัดจ้าง 1.5 ด้านการกำกับดูแลที่ดี รฟม. ได้ดำเนินการตามแนวปฏิบัติในการแสดงความมุ่งมั่นต่อการปฏิบัติตามกฎหมายและมีจริยธรรมของผู้นำระดับสูง เช่น การแสดงรายการรับของขวัญ ของที่ระลึก หรือประโยชน์อื่นใด ตามกรอบเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ ในปี 2564 รฟม. มีผลประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส การดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) อยู่ในลำดับที่ 8 ของรัฐวิสาหกิจสังกัด คค. เท่ากับ 86.52 คะแนน (ปี 2563 เท่ากับ 88.01 คะแนน) 2. นโยบายของคณะกรรมการฯ เพื่อใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติงานและกำกับดูแลการดำเนินงาน เช่น ให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนด้วยความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ตรงเวลา ประหยัด โดยคำนึงถึงความพึงพอใจของผู้ใช้บริการแต่ละกลุ่ม เร่งรัดดำเนินโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จและเปิดบริการได้ตามแผนงาน ศึกษาระบบรถไฟฟ้าในเมืองหลักอื่น ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานและใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนากระบวนการทำงานภายในองค์กร รวมทั้งการสื่อสารเชิงรุกในรูปแบบต่าง ๆ กับผู้ใช้บริการ ผู้ได้รับผลกระทบ และกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญ เพื่อให้ได้รับรู้และเข้าใจถึงความสำคัญของรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน 3. โครงการและแผนงานของ รฟม. ในอนาคต 3.1 ด้านการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รฟม. มีโครงการอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 3 โครงการ อยู่ระหว่างการประกวดราคา 2 โครงการ และอยู่ระหว่างศึกษาและวิเคราะห์โครงการซึ่งคาดว่าจะได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีในปี 2567-2568 จำนวน 5 โครงการ โดยมีเป้าหมายว่าการดำเนินงานจะต้องมีความสำเร็จ ตามแผนและประชาชนร้อยละ 90 ต้องมีความพึงพอใจในระดับมาก-มากที่สุดต่อมาตรการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและจราจรจากการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าฯ นอกจากนี้ ได้มีการเตรียมความพร้อมสำหรับการใช้ระบบตั๋วร่วม โดยจะสามารถเปิดให้บริการระบบตั๋วร่วม EMV contactless ในรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลและสายฉลองรัชธรรมอย่างเป็นทางการได้ภายในปี 2565 3.2 ด้านการให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รฟม. มีแผนที่จะพัฒนาการให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการ โดยมีเป้าหมายความพึงพอใจของผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าและบริการเสริมอื่น ๆ ในระดับมาก-มากที่สุดและการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า ดังนี้ สายรถไฟฟ้า เป้าหมายความพึงพอใจฯ ในปี 2565 (ระดับมาก?มากที่สุด) เป้าหมายการเพิ่มขึ้น ของจำนวนผู้โดยสาร สายเฉลิมรัชมงคล ร้อยละ 87 ร้อยละ 5 ต่อปี สายฉลองรัชธรรม ร้อยละ 88 ร้อยละ 7 ต่อปี 3.3 ด้านการเงิน รฟม. มีแผนที่จะหารายได้จากธุรกิจต่อเนื่อง 134.84 ล้านบาท (สายเฉลิมรัชมงคล 109.37 ล้านบาท และสายฉลองรัชธรรม 25.47 ล้านบาท) และมีผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ ร้อยละ 1.02 นอกจากนี้ มีแผนจะบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินเพื่อลดค่าใช้จ่าย โดยต้องควบคุมค่าใช้จ่ายไม่ให้สูงกว่าปีที่ผ่านมา 3.4 ด้านการพัฒนาองค์กรและทรัพยากรบุคคล รฟม. มีแผนจะพัฒนาบุคลากร โดยบุคลากรร้อยละ 96.61 ต้องผ่านเกณฑ์การประเมินสมรรถนะ และบุคลากรมีความผูกพันที่ระดับ 4.25 มีแผนจะพัฒนากระบวนการทำงานที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งแผนพัฒนาองค์ความรู้ด้านการบริหาร งานก่อสร้าง การบริหารโครงการ การจัดซื้อจัดจ้าง การจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน แผนการจัดการความรู้ ด้านการเดินรถไฟฟ้า และแผนการฝึกอบรมบุคลากรระบบราง 3.5 ด้านการกำกับดูแลที่ดี รฟม. มีแผนจะพัฒนาและส่งเสริมธรรมาภิบาลองค์กรใน 4 มิติ ได้แก่ (1) การมีส่วนร่วม (2) ส่งเสริมการสื่อสารธรรมาภิบาล (3) สร้างมาตรฐานการดำเนินงานด้านการกำกับดูแลที่ดี และ (4) ประเมินประสิทธิภาพการดำเนินงานและพัฒนาแนวทางการประเมินประสิทธิภาพการดำเนินงานในด้านการกำกับดูแลที่ดีโดยมีเป้าหมายในการประเมิน ITA อยู่ที่ร้อยละ 92 4. ความเห็นของ คค. 4.1 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้มีปริมาณผู้โดยสารทุกสายทางลดลง อย่างไรก็ตาม รฟม. ยังคงมีผลการดำเนินงานด้านการเงินที่มีกำไรเติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่ง รวมทั้งสามารถผลักดันการก่อสร้างจนมีโครงการรถไฟฟ้าที่มีกำหนดเปิดให้บริการได้ในปี 2565 จำนวน 2 โครงการ คือโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง รวมทั้งมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการให้บริการ เช่น ระบบที่จอดรถด้วยหุ่นยนต์ 4.2 เพื่อให้การดำเนินการของ รฟม. เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล คค. ได้มอบหมายให้ รฟม. ดำเนินการ เช่น 4.2.1 ด้านการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เช่น ให้เร่งก่อสร้างโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างให้เป็นไปตามแผนงานและให้ควบคุมการก่อสร้างไม่ให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ตามมาตรการที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด และเร่งรัดศึกษาโครงการระบบขนส่งมวลชนในต่างจังหวัดให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว 4.2.2 ด้านการให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เช่น การบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการให้สามารถเข้าถึงบริการได้อย่างสะดวกและปลอดภัยและการให้ความสำคัญกับการจัดระเบียบพื้นที่พาณิชย์ในลักษณะที่ต้องไม่กีดขวางทางเดิน 4.2.3 ด้านการเงิน ให้ความสำคัญกับการหารายได้เชิงพาณิชย์นอกเหนือจากการให้บริการรถไฟฟ้าและใช้แนวทางด้านการตลาด 1 จากการประสานข้อมูลเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2565 ได้รับแจ้งว่า ทางเลือกของระบบขนส่งมวลชนภูมิภาคที่นำมาพิจารณาสำหรับรถไฟฟ้าจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ (1) รถไฟฟ้ารางเบาแบบล้อเหล็ก (2) รถไฟฟ้ารางเบาแบบล้อยาง และ (3) รถไฟรางเบาแบบล้อยางชนิดรางเสมือน 2จากการประสานข้อมูลเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2565 ได้รับแจ้งว่า ทางเลือกของระบบขนส่งมวลชนภูมิภาคที่นำมาพิจารณาสำหรับรถไฟฟ้าจังหวัดนครราชสีมา ได้แก่ (1) รถไฟฟ้ารางเบาแบบล้อเหล็ก (2) รถไฟฟ้ารางเบาแบบล้อยาง (3) รถไฟรางเบาแบบล้อยางชนิดรางเสมือน และ (4) รถโดยสารประจำทางไฟฟ้าด่วนพิเศษ 3EMV Contactless คือ การชำระค่าโดยสารด้วยบัตรเครดิต/เดบิตที่ออกโดยธนาคาร 15. เรื่อง รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนมกราคม 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนมกราคม 2565 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้ สาระสำคัญ และข้อเท็จจริง 1. สรุปสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนมกราคม 2565 การส่งออกของไทยในเดือนมกราคม 2565 มีมูลค่า 21,258.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (708,312 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 8.0 ซึ่งขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ท่ามกลางบรรยากาศการค้าโลก ที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ขณะที่ความรุนแรงของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น จึงส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลกในวงจำกัด นอกจากนี้ IMF ยังมองว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2565 จะยังเติบโตได้ร้อยละ 4.4 เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศหลักทั่วโลก ทั้งการค้า การผลิต การบริโภค และการเดินทาง จะกลับ เข้าสู่ระดับปกติก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และปัญหาด้านสาธารณสุขจะลดลงสู่ระดับต่ำภายในสิ้นปี 2565 จากอัตราการฉีดวัคซีนทั่วโลกเพิ่มขึ้น และการรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงส่งผลดีต่อการส่งออกไทย มูลค่าการค้ารวม มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนมกราคม 2565 การส่งออก มีมูลค่า 21,258.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 8.0 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 23,785.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 20.5 ดุลการค้าขาดดุล 2,526.4 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนมกราคม 2565 การส่งออก มีมูลค่า 708,312.3 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 20.7 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 802,688.8 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 34.5 ดุลการค้าขาดดุล 94,376.5 ล้านบาท ตลาดส่งออกสำคัญ การส่งออกไปยังกลุ่มตลาดสำคัญส่วนใหญ่ยังคงขยายตัว (ยกเว้นทวีปออสเตรเลีย และทวีปแอฟริกา) ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก สรุปได้ดังนี้ (1) ตลาดหลักขยายตัวร้อยละ 9.2 โดยขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ร้อยละ 24.1 จีน ร้อยละ 6.8 ญี่ปุ่น ร้อยละ 0.1 อาเซียน (5) ร้อยละ 13.2 CLMV ร้อยละ 2.3 และสหภาพยุโรป (27) ร้อยละ 1.4 (2) ตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 5.1 ขยายตัวในตลาดเอเชียใต้ ร้อยละ 27.1 ตะวันออกกลาง ร้อยละ 0.2 ลาตินอเมริกา ร้อยละ 5.0 และรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ร้อยละ 16.2 ขณะที่ทวีปออสเตรเลีย และทวีปแอฟริกา หดตัวร้อยละ 4.1 และร้อยละ 9.2 ตามลำดับ และ (3) ตลาดอื่น ๆ ขยายตัวร้อยละ 0.9 2. แนวโน้มและแผนส่งเสริมการส่งออกในปี 2565 การส่งออกปี 2565 คาดว่าจะมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การขยายการส่งออกไปยังตลาดใหม่มากขึ้น เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าให้กับผู้ส่งออกไทย อาทิ ตลาดเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา รัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS (2) การฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง อาทิ ซาอุดีอาระเบีย และอิรัก (3) อุปสรรคการส่งออกเริ่มผ่อนคลาย อาทิ การขาดแคลน ตู้คอนเทนเนอร์ในตลาดโลก คาดว่าจะมีทิศทางดีขึ้น หลังจากรัฐบาลสหรัฐฯ มีนโยบายพยายามแก้ไขปัญหา ตู้สินค้าเปล่าล้นท่าเรือ (4) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกกลับไปสู่ระดับเดิมก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 และ (5) การเติบโตของการค้าออนไลน์ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก แผนส่งเสริมการส่งออก ในปี 2565 กระทรวงพาณิชย์ยังคงสานต่อการดำเนินยุทธศาสตร์ ?ตลาดนำการผลิต? การทำงานรูปแบบเซลล์แมนประเทศและเซลล์แมนจังหวัด เพื่อส่งเสริมการส่งออกสินค้า ที่สร้างรายได้ให้กับคนไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตร อาหารและเครื่องดื่ม และการทำงานใกล้ชิดกับภาคเอกชนผ่าน ?กรอ.พาณิชย์? เพื่อส่งเสริมและแก้ไขปัญหาทางการค้าร่วมกัน ขณะเดียวกัน ยังมีนโยบายหรือแผน การทำงานสำคัญ ประกอบด้วย การส่งเสริมผู้ส่งออกพัฒนาสินค้าตามแนวทางเศรษฐกิจ BCG เพื่อเตรียมรับมือกับการใช้มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของต่างประเทศ การฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการค้าไทย-ซาอุดีอาระเบีย เตรียมผลักดันการส่งออกสินค้าศักยภาพ โดยเฉพาะข้าว ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และเตรียมเสนอจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) เพื่อเป็นเวทีเจรจาส่งเสริมการค้าระหว่างกันอย่างเป็นทางการ การขับเคลื่อนธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ภายใต้ยุทธศาสตร์ Soft Power ดึงดูดผู้ให้บริการสตรีมมิ่งบันเทิงชื่อดังจากทั่วโลกมาเจรจาการค้ากับผู้ประกอบการไทย และส่งเสริมให้ไทยเป็น Hub ของอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ในภูมิภาค การส่งเสริมข้าวไทยในตลาดต่างประเทศตาม ?ยุทธศาสตร์ข้าวไทย 2563-2567? เพื่อผลักดันให้ไทยกลับมาเป็นผู้นำตลาดการส่งออกข้าวอีกครั้ง นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ ยังจะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยลองพิจารณาใช้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟลาว-จีน เพื่อส่งออกและขยายตลาดสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดจีนได้สะดวกมากขึ้น 16. เรื่อง สรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้ สาระสำคัญ และข้อเท็จจริง 1. สรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ดังนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคของประเทศไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2565 อยู่ในระดับ 104.10 เป็นฐานให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 5.28 (YoY) โดยสาเหตุหลักยังคงมาจากราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน รวมถึงสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮฮล์ ที่ปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตและราคาวัตถุดิบ นอกจากนี้ ฐานของดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ต่ำสุดในรอบปี 2564 เป็นอีกสาเหตุที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้สูงขึ้นด้วย สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก) สูงขึ้นร้อยละ 1.80 (YoY) (เดือนมกราคม 2565 สูงขึ้น ร้อยละ 0.52 (YoY)) อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาผู้บริโภค เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สูงขึ้นเพียงร้อยละ 1.06 (MoM) เนื่องจากราคาเนื้อสุกร ผักสด และผลไม้ปรับตัวลดลง ดัชนีราคาผู้บริโภค เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน หรือ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนกุมภาพันธ์ 2565 สูงขึ้นร้อยละ 5.28 (YoY) มีสาเหตุจากสินค้าในกลุ่มพลังงาน ที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเงินเฟ้อ โดยราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน สูงขึ้นร้อยละ 29.22 (YoY) (เดือนมกราคม 2565 สูงขึ้นร้อยละ 19.22 (YoY)) โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและค่ากระแสไฟฟ้า ปรับสูงขึ้นค่อนข้างมาก รวมถึงราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2564 สูงขึ้นร้อยละ 4.51 (YoY) (เดือนมกราคม 2565 สูงขึ้นร้อยละ 2.39 (YoY)) อาทิ เนื้อสัตว์ ไข่ไก่ ผักสด อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน และเครื่องประกอบอาหาร ซึ่งปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตและราคาวัตถุดิบที่แพงขึ้น นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นร้อยละ 5.28 (YoY) ยังมีสาเหตุจากฐานราคาในเดือนเดียวกันของปีก่อนต่ำสุดในรอบปี 2564 อย่างไรก็ดี ยังมีสินค้าสำคัญหลายรายการที่ราคาปรับลดลง ทั้งข้าวสารเหนียว ข้าวสารเจ้า ผลไม้สด เสื้อผ้า ค่าเช่าบ้าน และค่าเล่าเรียน จากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ซึ่งสามารถช่วยบรรเทาปัญหาราคาสินค้าแพงในช่วงระยะเวลานี้ใด้เป็นอย่างดี สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภค เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2565 สูงขึ้นร้อยละ 1.06 (MoM) เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว (เดือนมกราคม 2565 สูงขึ้นร้อยละ 1.13 (YoY)) ตามการลดลงของราคาเนื้อสุกร ผักสด และผลไม้ รวมถึงการสูงขึ้นในอัตราที่น้อยลงของราคาไก่สด ไข่ไก่ และน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นผลจากมาตรการของกระทรวงพาณิชย์ และการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเป็นสำคัญ และเฉลี่ย 2 เดือน (ม.ค.- ก.พ. 2565) เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 4.25 (AoA) นอกจากนี้ ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนกุมภาพันธ์ 2565 สูงขึ้นร้อยละ 9.4 (YoY) (เดือนมกราคม 2565 สูงขึ้นร้อยละ 8.7 (YoY)) เนื่องจากต้นทุนการผลิตและราคาวัตถุดิบปรับเพิ่มขึ้นตามราคาในตลาดโลก โดยเฉพาะราคาสินค้าในกลุ่มปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ และสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง ประกอบกับฐานราคาปี 2564 ค่อนข้างต่ำ ส่งผลให้ดัชนีราคาผู้ผลิตสูงขึ้น ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง สูงขึ้นร้อยละ 6.7 (YoY) (เดือนมกราคม 2565สูงขึ้นร้อยละ 6.1 (YoY)) ตามต้นทุนการผลิตและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตวัสดุก่อสร้างที่ปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะเหล็ก อลูมิเนียม และน้ำมัน ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 44.6 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเงินเฟ้อในเดือนนี้จะปรับตัวสูงขึ้นค่อนข้างมาก แต่ยังมีเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจอื่นที่ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจของไทยปรับตัวดีขึ้น (ข้อมูลล่าสุด ณ เดือนมกราคม 2565) ด้านอุปสงค์ ได้แก่ ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ รายได้เกษตรกร ยอดการจัดเก็บภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ และการลงทุนภาคเอกชน ปรับตัวสูงขึ้น และด้านอุปทาน ได้แก่ กำลังการผลิต และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งเครื่องชี้วัดเหล่านี้ จะเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจของไทยกำลังขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ดี ส่งผลให้มีการสร้างรายได้และเพิ่มกำลังซื้อให้กับภาคธุรกิจและประชาชนได้ในภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน 2. แนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไป เดือนมีนาคม 2565 คาดว่ายังคงอยู่ในระดับสูง ตามราคาพลังงาน (น้ำมันเชื้อเพลิง ค่ากระแสไฟฟ้า) ที่ยังสูงเมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับสูงขึ้น รวมทั้งสินค้าในกลุ่มอาหารสำเร็จรูป และเครื่องประกอบอาหารเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับฐานราคาในช่วงต้นปี 2564 ค่อนข้างต่ำ จะส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มสูงขึ้นได้อีกทาง อย่างไรก็ตาม สินค้าที่เริ่มปรับตัวลดลง อาทิ กลุ่มอาหารสด โดยเฉพาะเนื้อสุกร ผักสด และผลไม้ รวมทั้งมาตรการภาครัฐในรูปแบบต่าง ๆ ที่คาดว่าจะมีอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน จะส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับที่เหมาะสม ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่า เงินเฟ้อในปี 2565 ยังคงมีความเสี่ยงและเคลื่อนไหวในช่วงกว้าง ซึ่งจะประเมินสถานการณ์และปรับตัวเลขคาดการณ์ให้มีความเหมาะสมในเดือนมีนาคม 2565 17. เรื่อง ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้งที่ 7/2565 และผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในคราวประชุมครั้งที่ 8/2565 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและเห็นชอบตามที่เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะประธานกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้เสนอผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ (คกง.) ในคราวประชุมครั้งที่ 7/2565 เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 และผลการพิจารณาของ คกง. ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (พระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564) ในคราวประชุมครั้งที่ 8/2565 เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 ดังนี้ 1. ผลการพิจารณาของ คกง. ในคราวประชุมครั้งที่ 7/2565 1.1 อนุมัติให้มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ (ม.นราธิวาสราชนครินทร์) เปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการ กรณีแผนงานการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) (B044) แผนงานการแก้ไขปัญหาโรคโควิด 19) โดยขยายระยะเวลาดำเนินโครงการ จากเดิมสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2565 เป็นสิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2565 เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างต่อเนื่องและเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคโควิด 19 ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมได้ให้ความเห็นชอบแล้ว 1.2 อนุมัติให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) (โครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) โดย (1) ขยายระยะเวลาดำเนินกิจกรรมพัฒนา Platform การเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล จากเดิมสิ้นสุดเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เป็นสิ้นสุดเดือนพฤษภาคม 2565 และ (2) เปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินในกิจกรรมติดตามความก้าวหน้าโครงการ (รอบ 6 เดือน) จากเดิม 20,450,000 บาท เป็น 21,422,580 บาท เพื่อให้มีความถูกต้องตามข้อเท็จจริง เนื่องจากการคำนวณกรอบวงเงินที่เสนอคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2565 มีข้อผิดพลาด ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมได้ให้ความเห็นชอบตามขั้นตอนแล้ว อย่างไรก็ดี เห็นควรมอบหมายให้ อว. ดำเนินการรวบรวมเอกสารและรายละเอียดการใช้จ่ายของโครงการ โดยเฉพาะรายการงบบริหารจัดการของระบบบูรณาการโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัยระดับประเทศ (National System Integrator) เพื่อรองรับการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป 1.3 เห็นชอบให้จังหวัดชัยนาท จังหวัดราชบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดสกลนครเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการที่ได้รับอนุมัติให้ใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พระราชกำหนดกู้เงินฯ พ.ศ. 2563) ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ให้ความเห็นชอบตามขั้นตอนแล้ว 1.4 เห็นควรมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) กำกับให้จังหวัดและหน่วยงานรับผิดชอบโครงการที่คณะรัฐมนตรีให้ใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดกู้เงินฯ พ.ศ. 2563 เร่งดำเนินโครงการให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ 1.5 มอบหมายให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการตามข้อ 1.1 - 1.3 เร่งแก้ไขข้อมูลโครงการในระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (Electronic Monitoring and Evaluation System of National Strategy and Country Reform : eMENSCR) ให้สอดคล้องกับการปรับปรุงรายละเอียดโครงการโดยเร็ว และเร่งดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จ และปฏิบัติตามข้อ 19 และข้อ 20 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 พ.ศ. 2563 (ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี กู้เงินฯ พ.ศ. 2563) รวมทั้งรับความเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมของ คกง. ไปดำเนินการโดยเคร่งครัดต่อไป 2. ผลการพิจารณาของ คกง. ภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในคราวประชุมครั้งที่ 8/2565 อนุมัติโครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากระดับจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (โครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากระดับจังหวัดฯ) ของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) อว. กรอบวงเงิน 35.6912 ล้านบาท โดยให้ใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงานหรือโครงการกลุ่มที่ 31 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 และมอบหมายให้ วว. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการ และดำเนินการจัดทำความต้องการใช้จ่ายเป็นรายเดือน เพื่อให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะสามารถจัดหาเงินกู้พร้อมทั้งปฏิบัติตามข้อ 15 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 พ.ศ. 2564 (ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี กู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564) อย่างเคร่งครัดตามขั้นตอนต่อไป 1แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค โควิด 19 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับแผนงานหรือโครงการเพื่อรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบการ และกระตุ้นการลงทุนและการบริโภคในระบบเศรษฐกิจของประเทศ 18. เรื่อง การขอเปิดจุดผ่านแดนชั่วคราวเพื่อการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอดังนี้ 1. รับทราบการเปิดจุดผ่านแดนชั่วคราวเพื่อดำเนินการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) ระหว่างบ้านดอนยม ตำบลไคสี อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ ประเทศไทย กับ บ้านก้วยอุดม เมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ทั้งนี้ เมื่อบรรลุวัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดจะต้องปิดจุดผ่านแดนชั่วคราวทันที 2. มอบให้กระทรวงคมนาคม (คค.) ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำเงื่อนไขข้อกำหนด และการควบคุมดูแลไม่ให้มีผลกระทบในด้านต่าง ๆ 3. การดำเนินการใด ๆ จะต้องระมัดระวังมิให้เกิดความเสียหายและผลกระทบต่อความมั่นคง โดยต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2542 (เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการก่อสร้างถนนหรือกระทำกิจการใด ๆ ตามบริเวณชายแดน) และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2548 (เรื่อง การระงับการก่อสร้างถนนบริเวณจุดผ่านแดนถาวรช่องจอม จังหวัดสุรินทร์) อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ให้กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงมหาไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย สาระสำคัญของเรื่อง สมช. รายงานว่า 1. คค. โดยกรมทางหลวงได้ดำเนินการจ้างบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาควบคุมงานและบริษัทผู้รับจ้างก่อสร้าง และได้ลงนามสัญญาจ้างเพื่อการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) เรียบร้อยแล้ว ซึ่งการดำเนินโครงการดังกล่าวมีความจำเป็นต้องเปิดจุดผ่านแดนชั่วคราวระหว่างบ้านดอนยม ตำบลไคสี อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ ประเทศไทย กับ บ้านก้วยอุดม เมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว เพื่อดำเนินการก่อสร้างร่วมอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายบุคลากร ยานพาหนะ เครื่องจักรอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการก่อสร้างดังกล่าว และ คค. ได้มีหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทย (มท.) เพื่อขอให้ สมช. พิจารณาเปิดจุดผ่านแดนชั่วคราวเพื่อการก่อสร้างสะพานดังกล่าว 2. คณะอนุกรรมการพิจารณาการเปิด-ระงับ หรือปิดจุดผ่านแดนประเภทต่าง ๆ (เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นประธานอนุกรรมการฯ) มีข้อคิดเห็นและมติ ดังนี้ 2.1 การก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) จะช่วยพัฒนาการเชื่อมโยงเครือข่ายการคมนาคมขนส่งระหว่างไทยกับ สปป.ลาว ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้า และรองรับปริมาณการเดินทางและขนส่งสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งลดปัญหาความแออัดในการขนส่งสินค้าไปยัง สปป.ลาว 2.2 การก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) ไม่ส่งผลกระทบต่อประเด็นเขตแดน ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติในการพิจารณาเปิดจุดผ่านแดนชั่วคราว ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2559 นอกจากนี้ กรมทางหลวงได้มีการวางแผนรองรับและดำเนินการป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในประเด็นต่าง ๆ อย่างครบถ้วน เช่น การกัดเซาะตลิ่ง และการเปลี่ยนแปลงทิศทางของน้ำ ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามและจัดเก็บข้อมูลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแม่น้ำโขงอย่างต่อเนื่องเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการอ้างอิง เนื่องจากในระยะยาวอาจมีการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์ในแม่น้ำโขงได้ 2.3 คณะอนุกรรมการฯ มีมติเห็นชอบให้มีการเปิดจุดผ่านแดนชั่วคราวเพื่อการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) ระหว่างบ้านดอนยม ตำบลไคสี อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ ประเทศไทย กับ บ้านก้วยอุดม เมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว 19. เรื่อง รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4/2564 และแนวโน้มไตรมาสที่ 1/2565 และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนมกราคม 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4/2564 และแนวโน้มไตรมาสที่ 1/2565 และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนมกราคม 2565 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ดังนี้ สาระสำคัญ ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 4/2564 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ขยายตัวร้อยละ 4.9 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับในไตรมาสที่ 3/2564 ที่หดตัวร้อยละ 0.2 เป็นผลจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศทยอยกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนการระบาด รวมถึงภาคการส่งออกยังคงเติบโตต่อเนื่องตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ทยอยฟื้นตัว อุตสาหกรรมสำคัญที่ขยายตัวในไตรมาสที่ 4/2564 อาทิ การกลั่นปิโตรเลียม จากฐานต่ำในปีก่อนที่ไทยพบการระบาดของเชื้อโควิด-19 ในหลายพื้นที่ รัฐจึงมีมาตรการควบคุมการระบาดมากขึ้น ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง กระทบต่อการใช้น้ำมันสำเร็จรูป แต่ในปีนี้ในเดือนพฤศจิกายน ประเทศไทยเริ่มกลับมาเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาอีกครั้งทำให้การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูปในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ จากความต้องการใช้ในตลาดโลกที่สูงขึ้น เพื่อนำไปใช้ร่วมกับกลุ่มสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น เช่น รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน อุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ ยานยนต์ จากผลของเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว หนุนให้มีความต้องการรถยนต์มากขึ้น ทำให้การส่งออกขยายตัว เฟอร์นิเจอร์ เนื่องจากฐานต่ำปีก่อน จากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ยังรุนแรงทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงในปีนี้ผู้ผลิตได้รับคำสั่งซื้อสินค้าประเภทเฟอร์นิเจอร์โลหะเพิ่มมากขึ้น ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนมกราคม 2565 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ขยายตัวร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากความต้องการซื้อในประเทศและต่างประเทศที่ทยอยฟื้นตัวในหลายสินค้า หลังจากภาครัฐผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนมกราคม 2565 ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนคือ 1. การกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวร้อยละ 9.21 จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด การเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม และการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ทำให้มีการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ได้มากขึ้น 2. ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวร้อยละ 16.76 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามความต้องการสินค้าในตลาดโลกที่เติบโตสูง 3. รถยนต์ ขยายตัวร้อยละ 5.10 จากสภาพเศรษฐกิจในประเทศมีทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการเปิดประเทศและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด หลังการเร่งฉีดวัคซีนในทุกจังหวัด 4. ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ ที่มิใช่ยางล้อ ขยายตัวร้อยละ 9.35 จากการผลิตยางแท่งที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะลูกค้าหลักจากจีน อเมริกา และญี่ปุ่น ที่มีคำสั่งซื้อต่อเนื่อง 5. เบียร์ ขยายตัวร้อยละ 24.74 จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดและการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ทำให้การจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น แนวโน้มอุตสาหกรรมรายสาขาที่สำคัญ ไตรมาสที่ 1/2565 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะมีดัชนีผลผลิตและมูลค่าการส่งออกขยายตัวได้ต่อเนื่องประมาณร้อยละ 5.0 และ 7.0 ตามลำดับ เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและตลาดส่งออกโลกเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมทั้งการขยายโครงข่ายและพัฒนาระบบเทคโนโลยี 5G ทำให้มีความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ผลิตภัณฑ์กระดาษที่ใช้ผลิตกล่องบรรจุภัณฑ์ จะขยายตัวเพิ่มขึ้นตามการบริโภคในประเทศ ขณะเดียวกันบรรจุภัณฑ์กระดาษยังคงได้รับอานิสงส์ตามการใช้งานสำหรับซื้อขายสินค้าทางออนไลน์ สำหรับการส่งออกจะขยายตัวต่อเนื่องในกลุ่มเยื่อกระดาษ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายคาดว่าจะสามารถขยายตัวได้โดยมีโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ของภาครัฐเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยทยอยออกมาเพื่อกระตุ้นความต้องการบริโภคในภาคอสังหาริมทรัพย์มีผลบังคับใช้แล้ว อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง การผลิตยางรถยนต์ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.00 ตามแนวโน้มการขยายตัวของตลาดส่งออก ในส่วนของการผลิตถุงมือยางคาดว่าจะชะลอตัวลงร้อยละ 5.00 เนื่องจากไทยไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ สำหรับการผลิตยางแปรรูปขั้นปฐมคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.00 ตามแนวโน้มความต้องการใช้ของตลาดทั้งในและต่างประเทศที่ปรับสูงขึ้น อุตสาหกรรมอาหาร คาดว่าดัชนีผลผลิตในภาพรวมและมูลค่าการส่งออกจะขยายตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจและการค้าโลกมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีปัจจัยบวกจากเงินบาทอ่อนค่า อย่างไรก็ตามสถานการณ์การผลิตและการส่งออกยังมีความเสี่ยงจากการระบาดของ โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่เกิดขึ้นในประเทศและประเทศคู่ค้า รวมถึงการปรับราคาเพิ่มขึ้นของวัตถุดิบในการผลิตสินค้าอาหาร ซึ่งมีผลต่อต้นทุนภาคอุตสาหกรรมและส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง 20. เรื่อง การกำหนดขอบเขตสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงินสำหรับรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งที่รัฐวิสาหกิจนั้นอาจดำเนินการเองได้ ตามมาตรา 13 (2) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 เกี่ยวกับการปรับปรุงค่าห้องและค่าอาหาร กรณีเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการกำหนดขอบเขตสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงินสำหรับรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งที่รัฐวิสาหกิจนั้นอาจดำเนินการเองได้ ตามมาตรา 13 (2) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 เกี่ยวกับการปรับปรุงค่าห้องและค่าอาหาร กรณีเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล สำหรับลูกจ้างเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น แต่ไม่เกินวันละ 1,500 บาท และสำหรับบุคคลในครอบครัวเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น แต่ไม่เกินวันละ 1,100 บาท ซึ่งสิทธิสำหรับบุคคลในครอบครัวจะต้องเป็นสิทธิที่อยู่เดิมตามมติคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ครรส.) ครั้งที่ 5/2564 เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2564 ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ สาระสำคัญของเรื่อง รง. รายงานว่า 1. จากการกำหนดขอบเขตสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงินที่รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งอาจดำเนินการเองได้ ตามมาตรา 13 (2) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 เกี่ยวกับการปรับปรุงค่าห้องและค่าอาหาร ในกรณีเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล ปัจจุบันพนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 (ณ วันที่ 30 กรกฎาคม 2564) จำนวนทั้งสิ้น 58 แห่ง (แบ่งเป็น 3 กลุ่ม)* มีจำนวนพนักงานและลูกจ้างรวมทั้งสิ้น 261,464 คน ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลรัฐวิสาหกิจเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล กรณีค่าห้องและค่าอาหาร พบว่า มีรัฐวิสาหกิจที่ตอบแบบสำรวจจำนวน 53 แห่ง มีพนักงานและลูกจ้าง จำนวนรวม 254,428 คน มีการจ่ายค่ารักษาพยาบาลสำหรับค่าห้องและค่าอาหารสรุปได้ ดังนี้ 1.1 รัฐวิสาหกิจกลุ่มที่ 1 มีรัฐวิสาหกิจจำนวนรวม 7 แห่ง (ไม่ตอบแบบสำรวจข้อมูล 2 แห่ง ได้แก่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยและบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม) มีพนักงานและลูกจ้าง จำนวน 19,332 คน มีการจ่ายค่ารักษาพยาบาลสำหรับค่าห้องและค่าอาหาร สำหรับพนักงานในอัตรา 1,200 - 3,000 บาท/วัน ลูกจ้างในอัตรา 600 - 3,000 บาท/วัน และบุคคลในครอบครัวในอัตรา 600 - 3,000 บาท/วัน 1.2 รัฐวิสาหกิจกลุ่มที่ 2 มีรัฐวิสาหกิจจำนวนรวม 13 แห่ง (ไม่ตอบแบบสำรวจข้อมูล 1 แห่ง ได้แก่ องค์การทหารผ่านศึก) มีพนักงานและลูกจ้างจำนวน 128,384 คน มีการจ่ายค่ารักษาพยาบาลสำหรับค่าห้องและค่าอาหาร สำหรับพนักงานในอัตรา 600 - 3,000 บาท/วัน ลูกจ้างในอัตรา 300 - 1,500 บาท/วัน และบุคคลในครอบครัวในอัตรา 300 - 3,000บาท/วัน 1.3 รัฐวิสาหกิจกลุ่มที่ 3 มีรัฐวิสาหกิจจำนวนรวม 33 แห่ง (ไม่ตอบแบบสำรวจ 2 แห่ง ได้แก่ สถาบันการบินพลเรือนและการกีฬาแห่งประเทศไทย ไม่แจ้งข้อมูล 1 แห่ง ได้แก่ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร) มีพนักงานและลูกจ้างจำนวน 106,712 คน มีการจ่ายค่ารักษาพยาบาลสำหรับค่าห้องและค่าอาหาร สำหรับพนักงานในอัตรา 800 - 1,200 บาท/วัน ลูกจ้างในอัตรา 600 - 1,200 บาท/วัน และบุคคลในครอบครัวในอัตรา 600 - 1,000 บาท/วัน โดยมีรัฐวิสาหกิจที่จ่ายค่าห้องและค่าอาหารในอัตราตั้งแต่ 1,500 บาทขึ้นไป/วัน จำนวน 8 แห่ง จำแนกเป็น รัฐวิสาหกิจกลุ่มที่ 1 จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และรัฐวิสาหกิจกลุ่มที่ 2 จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด บริษัท ผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น จำกัด บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 2. เนื่องจากปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลง ค่าครองชีพมีการปรับสูงขึ้นทุกปี สถานพยาบาลของทางราชการและของเอกชนมีการปรับเพิ่มค่าห้องและค่าอาหาร พนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจ รวมถึงบุคคลในครอบครัวต้องประสบปัญหาด้านค่าใช้จ่ายในการเข้ารับการรักษาพยาบาลในยามเจ็บป่วยและต้องรักษาตัว ดังนั้น การกำหนดขอบเขตสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงินสำหรับรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งที่รัฐวิสาหกิจนั้นอาจดำเนินการได้เองตามมาตรา 13 (2) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 เกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล จะช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลให้กับพนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจได้เป็นอย่างมากส่งผลให้พนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และจากการสำรวจข้อมูลอัตราค่าห้องและค่าอาหารของสถานพยาบาลต่าง ๆ ณ ปี 2563 พบว่า สถานพยาบาลของราชการมีค่าเฉลี่ยอัตราค่าห้องและค่าอาหารสำหรับห้องสามัญ 633 บาท/วัน ห้องพิเศษรวม 1,450 บาท/วัน และห้องพิเศษเดี่ยว 2,867 บาท/วัน และสถานพยาบาลของเอกชนมีค่าเฉลี่ยอัตราค่าห้องและค่าอาหารสำหรับห้องพิเศษรวม 1,625 บาท/วัน ห้องพิเศษคู่ 2,052 บาท/วัน และห้องพิเศษเดี่ยว 3,009 บาท/วัน ดังนั้น จึงควรมีการปรับปรุงอัตราค่าห้องและค่าอาหารเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้น 3. ครรส. ในคราวประชุมครั้งที่ 5/2564 เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2564 ได้มีมติที่เห็นชอบเกี่ยวกับการปรับปรุงค่าห้องและค่าอาหาร กรณีเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล สำหรับลูกจ้างเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น แต่ไม่เกินวันละ 1,500 บาท และสำหรับบุคคลในครอบครัวเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น แต่ไม่เกินวันละ 1,100 บาท ซึ่งสิทธิสำหรับบุคคลในครอบครัวจะต้องเป็นสิทธิที่มีอยู่เดิม ทั้งนี้ ขอบเขตสภาพการจ้างดังกล่าวไม่ใช่สภาพบังคับที่รัฐวิสาหกิจต้องดำเนินการและหากรัฐวิสาหกิจแห่งใดประสงค์จะดำเนินการปรับปรุงสภาพการจ้างดังกล่าว รัฐวิสาหกิจแห่งนั้นจะต้องคำนึงถึงสถานะการเงิน ผลการดำเนินงานของกิจการ การจัดหารายได้เพิ่มหรือสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายให้ครอบคลุมรายจ่ายที่จะเกิดขึ้นและคงสัดส่วนของรายจ่ายด้านบุคลากรต่อรายได้ให้คงอยู่ในอัตราเดิม และเมื่อรัฐวิสาหกิจใดดำเนินการปรับปรุงสภาพการจ้างดังกล่าวแล้วให้แจ้งการปรับปรุงให้ ครรส. ทราบ เพื่อรวบรวมเป็นฐานข้อมูลในการพิจารณาปรับปรุงสภาพการจ้างของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจในโอกาสต่อไป 4. จากการปรับปรุงค่าห้องและค่าอาหาร กรณีเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลนั้น รัฐวิสาหกิจมีการประมาณการค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากเดิม โดยในปี พ.ศ. 2565และปี พ.ศ. 2566 คาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จำนวน 959.87 ล้านบาท และ 965.81 ล้านบาทตามลำดับ ซึ่งแต่ละรัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการตามระเบียบ ข้อบังคับ และแผนการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ โดยไม่ให้มีผลกระทบต่อภาระงบประมาณ รวมทั้งได้มีการประมาณการรายได้และการประหยัดค่าใช้จ่ายเพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2565 มีการประมาณการรายได้ จำนวน 1,391,354.63 ล้านบาท การประหยัดค่าใช้จ่ายจำนวน 56,701.73 ล้านบาท และในปี พ.ศ. 2566 มีการประมาณการรายได้ จำนวน 1,517,026.90 ล้านบาท การประหยัดค่าใช้จ่าย จำนวน 53,094.57 ล้านบาท หมายเหตุ : รัฐวิสาหกิจกลุ่มที่ 1 รัฐวิสาหกิจที่สามารถดำเนินการกำหนดอัตราเงินเดือนค่าจ้าง ค่าตอบแทนและสวัสดิการต่าง ๆ เองได้ เมื่อคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจนั้นเห็นชอบแล้ว (9 หน่วยงาน) รัฐวิสาหกิจกลุ่มที่ 2 รัฐวิสาหกิจที่ใช้บัญชีโครงสร้างอัตราเงินเดือนค่าจ้างเป็นของตนเอง (14 หน่วยงาน) รัฐวิสาหกิจกลุ่มที่ 3 รัฐวิสาหกิจที่ใช้บัญชีโครงสร้างอัตราเงินเดือนตามประกาศคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (35 หน่วยงาน) 21. เรื่อง สรุปมติที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก ครั้งที่ 1/2565 คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอสรุปมติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 โดยมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน [เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติ คจร. พ.ศ. 2521 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 5 (1) ที่บัญญัติให้ คจร. เสนอนโยบายและแผนหลักต่อคณะรัฐมนตรี] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ 1. คจร. มีมติรับทราบเรื่องต่าง ๆ ดังนี้ 1.1 ความคืบหน้าการดำเนินการที่สำคัญตามมติ คจร. ได้แก่ 1.1.1 ผลการทบทวนการศึกษาความเหมาะสมโครงการขอนแก่น Smart City (ระยะที่ 1) ก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนระบบรางเบาสายเหนือ-ใต้ ต้นแบบในเมืองภูมิภาคจังหวัดขอนแก่น รวมถึงโครงการระบบขนส่งสาธารณะในเขตจังหวัดขอนแก่น เส้นทางนำร่องสายสีแดง (สำราญ-ท่าพระ) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการก่อสร้างดังกล่าวเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อพิจารณาการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) ทั้งนี้ คจร. ได้มอบหมายให้จังหวัดขอนแก่นรับรายงาน EIA ของ สนข. ไปดำเนินการตามขั้นตอนและระเบียบที่เกี่ยวข้องและรายงานให้ คจร. ทราบต่อไป 1.1.2 การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง มีผลการดำเนินงาน เช่น เร่งรัดศึกษาความเหมาะสมและออกแบบโครงการทางพิเศษสายเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ จังหวัดภูเก็ต รวมทั้งจัดทำแผนบูรณาการโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ตกับโครงการพิเศษเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ โดยมีกำหนดเปิดให้บริการในช่วงเวลาที่สอดคล้องกับการจัดงาน Specialised Expo ของจังหวัดภูเก็ต (จัดในปี 2571) ซึ่งในส่วนที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดงาน Specialised Expo นั้น อยู่ในขั้นตอนการเตรียมนำเสนอความพร้อมของประเทศที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพ โดยจะต้องจัดทำ Country Presentation เพื่อนำเสนอประเทศ ณ กรุงปารีส ในเดือนมิถุนายน 2565 และต้อนรับคณะผู้แทนกรรมการจัดงาน ณ จังหวัดภูเก็ต ในวันที่ 11-15 กรกฎาคม 2565 1.1.3 แผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะกลุ่มจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง เพื่อรองรับการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Public Transit Master Plan: EPMP) โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกและ สนข. จะหารือร่วมกับกรมขนส่งทางบก (ขบ.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา เพื่อหาผู้ประกอบการในการเดินรถตามแผนฯ ต่อไป 1.1.4 โครงการศึกษาจัดทำแผนการพัฒนาโรงข่ายทางรถไฟร่วมกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorways-Railways Masterplan: MR-Map) กลมทางหลวง (ทล.) ได้จัดทำร่างแผนการพัฒนา MR-Map แล้วเสร็จจำนวน 10 เส้นทางระยะทางรวม 7,003 กิโลเมตร ทั้งนี้ เส้นทางนำร่อง 3 เส้นทาง ดังนี้ (1) เส้นทาง MR2 กรุงเทพมหานคร/ชลบุรี-หนองคาย ช่วงชลบุรี (แหลมฉบัง)-นครราชสีมา (2) เส้นทาง MR5 กาญจนบุรี-อุบลราชธานี ช่วงนครราชสีมา-อุบลราชธานี และ (3) เส้นทาง MR8 ชุมพร-ระนอง นอกจากนี้ การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยกับ MR-Map เนื่องจากเป็นการลดผลกระทบในการเวนคืนแต่มีข้อกังวล เช่น การตัดเส้นทางผ่านพื้นที่อนุรักษ์และพื้นที่ชุมชน 1.2 รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล สรุปได้ ดังนี้ สถานะโครงการ จำนวน (เส้นทาง) ระยะทาง (กิโลเมตร) ตัวอย่างโครงการ เปิดให้บริการแล้ว 11 211.94 - สายสีแดง (เหนือ) ช่วงบางซื่อ-รังสิต (26.30 กิโลเมตร) - สายสีแดง (ตะวันตก) ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน (15.26 กิโลเมตร) - สายสีทอง ช่วงกรุงธนบุรี-คลองสาน (1.88 กิโลเมตร) อยู่ระหว่างก่อสร้าง 5 112.20 - สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี (34.50 กิโลเมตร) - แอร์พอร์ตลิงค์ ช่วงพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง (21.80 กิโลเมตร) อยู่ระหว่างประกวดราคา 2 37 - สายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (23.60 กิโลเมตร) - สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-บางขุนนนท์ (13.40 กิโลเมตร) อยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน 6 71.49 - สายสีแดง (เหนือ) ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต (8.84 กิโลเมตร) - สายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ (16.25 กิโลเมตร) โครงการส่วนต่อขยายเพิ่มเติม 9 120.78 - สายสีแดง (ใต้) ช่วงหัวลำโพง-มหาชัย (38 กิโลเมตร) - สายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (22.10 กิโลเมตร) 1.3 รายงานความคืบหน้าแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ประกอบด้วย (1) การเพิ่มพื้นที่และความสามารถในการรองรับปริมาณการจราจรบนถนนในจุดที่จำเป็น ได้แก่ การก่อสร้างอุโมงค์ ถนน ทางยกระดับ สะพานข้ามแยก และจุดที่ยังไม่ได้ดำเนินการเชื่อมต่อเส้นทาง (Missing Link) เพื่อแก้ไขปัญหาคอขวดและการขาดความต่อเนื่องของโครงข่ายถนน จำนวน 12 เส้นทาง วงเงินรวม 271,741 ล้านบาท และการบริหารจัดการการใช้ถนนเดิมให้มีประสิทธิภาพ และ (2) การส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพื่อลดปริมาณรถส่วนบุคคลบนถนน วงเงินรวม 1,937 ล้านบาท เช่น การจัดพื้นที่จอดและจรตามแนวขนส่งมวลชน มาตรการส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะและการเพิ่มโครงข่ายเชื่อมต่อเข้าสู่สถานีรถไฟฟ้า ทั้งนี้ มีความก้าวหน้าของโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง เช่น (1) โครงการก่อสร้างทางลอดถนนจรัญสนิทวงศ์กับถนนพรานนก (แยกไฟฉาย) มีความก้าวหน้าร้อยละ 80 (2) โครงการก่อสร้างทางลอดรัชดา-ราชพฤกษ์ มีความก้าวหน้าร้อยละ 64.41 และ (3) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพทางแยกต่างระดับลำลูกกา มีความก้าวหน้าร้อยละ 28.62 1.4 การดำเนินการระบบขนส่งสาธารณะเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางสถานีรถไฟชานเมืองสายสีแดง (สถานีรังสิต) โดยที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงพื้นที่จังหวัดปทุมธานีประสบปัญหาการจราจรติดขัดเป็นจำนวนมากทั้งจากรถยนต์ส่วนบุคคลและรถโดยสารประจำทาง ส่งผลให้เกิดมลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาจราจรและรองรับการใช้งานรถไฟชานเมืองสายสีแดง จึงพิจารณาให้มีการจัดให้บริการเดินรถด้วยระบบขนส่งสาธารณะรอง (Feeder) ที่มีรูปแบบการเดินรถตามตารางเวลาที่สอดคล้องกับการให้บริการของระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง รวมทั้งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและรองรับการให้บริการแก่ทุกคน โดยในปัจจุบันมีการแต่งตั้งคณะทำงานปรับปรุงลักษณะกายภาพบนถนนรังสิต-นครนายก ถนนเลียบคลองเปรมประชากร และถนนพหลโยธิน รองรับระบบขนส่งสาธารณะในการเชื่อมต่อการเดินทางสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง จังหวัดปทุมธานี และคณะทำงาน เพื่อดำเนินการจัดให้มีระบบ Feeder เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบรถไฟฟ้าสายสีแดงที่สถานีรังสิต โดยจะรับฟังความเห็นของประชาชนต่อไป 1.5 แนวทางการพัฒนาระบบเทคโนโลยีด้านการจราจรและขนส่งเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่พัฒนาและนำระบบเทคโนโลยีด้านการขนส่งและจราจรด้วยการติดตั้งระบบกล้องวงจรปิด (CCTV) และระบบกำหนดตำแหน่งบนพื้นโลก (GPS) เช่น ทล.การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และ ขบ. ซึ่งข้อมูลที่ได้จากระบบเหล่านี้สามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์ปริมาณจราจรและความเร็วในการเดินทางของพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม การดำเนินการของหน่วยงานดังกล่าวยังขาดรูปแบบการเชื่อมต่อข้อมูลและการบูรณาการทั้งระบบ ดังนั้น สนข. จึงได้ศึกษาการจัดทำโมเดลการพัฒนาระบบเทคโนโลยีเพื่อการบริการจัดการการจราจร เพื่อนำข้อมูลจากระบบ CCTV และระบบ GPS ของหน่วยงานต่าง ๆ มาใช้ในการบริหารจัดการการจราจร โดยมีการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างหน่วยงานอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีฐานข้อมูลกลางเพื่อใช้ประกอบการบริหารจัดการด้านการจราจร ซึ่งในปัจจุบันพบว่า กล้อง CCTV ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) 473 กล้อง สามารถนำมาใช้ได้ 129 กล้อง ของ ทล. 29 กล้อง สามารถนำมาใช้ได้ 22 กล้อง ของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) 52 กล้อง สามารถนำมาใช้ได้ 52 กล้อง ของ กทพ. 375 กล้อง สามารถนำมาใช้ได้ 33 กล้อง ทั้งนี้ คจร. ได้มอบหมายให้ กทม. ทล. ทช. กทพ. และ ขบ. ให้ความอนุเคราะห์การเชื่อมต่อข้อมูลกล้อง CCTV และ GPS ต่อไป 1.6 สรุปผลการดำเนินงานคณะอนุกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (อจร.) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ซึ่ง อจร. ได้พิจารณาการแก้ไขปัญหาและอุปสรรถด้านการขนส่งและการจราจร 215 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ 73 เรื่อง อยู่ระหว่างดำเนินการ 97 เรื่อง และอยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 45 เรื่อง 2. คจร. ได้พิจารณาเรื่องต่าง ๆ ดังนี้ 2.1 รายงานผลการศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษในภาพรวมทั้งระบบ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านต่าง ๆ เช่น ความจุของทางพิเศษไม่เพียงพอการจราจรติดขัดบริเวณทางลงทางพิเศษ และจุดคอขวดทางกายภาพบนทางพิเศษ โดยผลการศึกษามีการเสนอแนะให้แก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษใน 3 แนวเส้นทางหลัก ได้แก่ (1) ทางพิเศษศรีรัช ช่วงงามวงศ์วาน-พญาไท-พระราม 9 (2) ทางพิเศษเฉลิมมหานคร ช่วงมักกะสัน-ท่าเรือ-บางนา และ (3) ทางพิเศษฉลองรัช แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ดำเนินการในปี 2565-2569 และระยะที่ 2 ดำเนินการตั้งแต่ปี 2570 เป็นต้นไป โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 2.1.1 กลุ่มที่ 1 ดำเนินการในปี 2566 จำนวน 4 โครงการ บริเวณสถานีกลางบางซื่อ ได้แก่ การก่อสร้างทางเชื่อมและการก่อสร้างทางขึ้น-ลง 2.1.2 กลุ่มที่ 2 ดำเนินการในปี 2567 จำนวน 4 โครงการ บนทางพิเศษฉลองรัช ได้แก่ การเปิดใช้ช่องจราจรสวนกระแส การปรับปรุงทางลง และการก่อสร้างทางเชื่อม 2.1.3 กลุ่มที่ 3 ดำเนินการในปี 2568-2569 จำนวน 8 โครงการ บนพิเศษศรีรัช ได้แก่ การก่อสร้างทางยกระดับ การขยายผิวจราจร การก่อสร้างทางเชื่อม และการก่อสร้างทางลง 2.1.4 กลุ่มที่ 4 ดำเนินการหลังปี 2570 จำนวน 5 โครงการ บนทางพิเศษเฉลิมมหานคร ได้แก่ การขยายผิวจราจร การก่อสร้างทางลง และการก่อสร้างทางเชื่อม โดยมีการวิเคราะห์ความคุ้มค่าด้านเศรษฐกิจพบว่า ควรมีการลงทุนทั้งในระยะที่ 1 และ 2 ซึ่งจะทำให้มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 16.35 และร้อยละ 25.77 ตามลำดับ นอกจากนี้มีการเสนอให้พัฒนาโครงการทางพิเศษเพิ่มเติมอีก 11 โครงการ โดยบูรณาการร่วมกับโครงข่าย MR-Map เช่น โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดานคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตกและโครงการทางเชื่อมระหว่างทางยกระดับอุตราภิมุข และทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอก (Missing Link) คจร. มีมติเห็นชอบรายงานผลการศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษในภาพรวมทั้งระบบ 2.2 แผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลและการเชื่อมต่อการเดินทางรูปแบบอื่น โดยได้จัดทำแผนการพัฒนาการเดินทางทางน้ำในปี พ.ศ. 2565-2585 มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทางเลือกในการเดินทางที่มีประสิทธิภาพรองรับการเดินทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล บูรณาการการเดินทางทางน้ำให้เข้ากับการเดินทางรูปแบบอื่นแบบไร้รอยต่อ และเพื่อเพิ่มการใช้ประโยชน์ของการเดินทางทางน้ำในการสัญจรและการท่องเที่ยว รวมจำนวน 14 เส้นทาง มีรายละเอียด ดังนี้ 2.2.1 ระยะเร่งด่วน (พ.ศ. 2565-2570) จำนวน 5 เส้นทาง เช่น (1) เส้นทางเดินเรือในคลองแสนแสบส่วนต่อขยาย ช่วงวัดศรีบุญเรืองถึงถนนสุวินทวงศ์ (ระยะทาง 12 กิโลเมตร) และเส้นทางเดินเรือในคลองบางลำพู ช่วงสะพานผ่านฟ้าลีลาศถึงป้อมพระสุเมรุ (ระยะทาง 1.5 กิโลเมตร) และ (2) เส้นทางเดินเรือในคลองลาดพร้าว ช่วงสายไหมถึงพระโขนง (ระยะทาง 25.7 กิโลเมตร) 2.2.2 ระยะกลาง (พ.ศ 2571-2575) จำนวน 5 เส้นทาง เช่น (1) เส้นทางเดินเรือในคลองลาดพร้าวส่วนต่อขยาย (คลองสอง) ช่วงถนนสายไหม-คูคต ถึงประตูน้ำคลองสอง (ระยะทาง 8.5 กิโลเมตร) และ (2) เส้นทางเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาส่วนต่อขยาย ช่วงปากเกร็ดถึงที่ว่าการอำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี (ระยะทาง 15 กิโลเมตร) 2.2.3 ระยะยาว (พ.ศ. 2576-2585) จำนวน 4 เส้นทาง เช่น เส้นทางเดินเรือในคลองอ้อมนนท์ ช่วงวัดโตนดถึงแยกคลองบางกรวย (ระยะทาง 18.3 กิโลเมตร) โดยหากดำเนินงานตามแผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำฯ คาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารเดินทางทางน้ำเพิ่มขึ้นจาก 193,070 คน/วัน เป็น 354,225 คน/วัน คจร. มีมติเห็นชอบแผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลและการเชื่อมต่อการเดินทางรูปแบบอื่น และมอบหมาย สนข. ผลักดันไปสู่การปฏิบัติในแผนระดับที่ 3 ต่อไป 22. เรื่อง แผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด พ.ศ. 2566-2570 แผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด และข้อเสนอแผนงานโครงการของส่วนราชการที่สอดคล้องกับร่างกรอบแผนพัฒนาภาค พ.ศ. 2566-2570 ที่จะดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการบูรณาการนโยบายการพัฒนาภาค (ก.บ.ภ.) เสนอผลการประชุม ก.บ.ภ. ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 [เป็นการดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2560 ข้อ 5 (4) ที่กำหนดให้ ก.บ.ภ. มีหน้าที่และอำนาจให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด แผนพัฒนาภาค แผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด แผนปฏิบัติราชการประจำปีของกลุ่มจังหวัด คำของบประมาณของจังหวัด กลุ่มจังหวัด และงบประมาณของส่วนราชการที่จะดำเนินการตามแผนพัฒนาภาคตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ แล้วเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ 1. เห็นชอบแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด พ.ศ. 2566-2570 จำนวน 76 จังหวัด และ 18 กลุ่มจังหวัด โดยมอบหมายให้จังหวัด กลุ่มจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำความเห็นและข้อสังเกตของที่ประชุม รวมทั้งข้อเสนอแนะของฝ่ายเลขานุการฯ ไปปรับปรุงแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น (1) ควรปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันและนำมาประกอบการวิเคราะห์เปรียบเทียบทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เห็นศักยภาพของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด รวมทั้งวิเคราะห์เหตุผลหรือปัจจัยสนับสนุนการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนเปรียบเทียบกับพื้นที่อื่นเพื่อให้การกำหนดเป้าหมายและประเด็นการพัฒนาของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดมีความชัดเจนและสอดคล้องกับสถานการณ์มากขึ้น (2) ควรกำหนดตัวชี้วัดที่สามารถวัดความสำเร็จได้ชัดเจน โดยคำนึงถึงการประเมินผลสัมฤทธิ์เพื่อประเมินประสิทธิภาพของแผนพัฒนาและค่าเป้าหมายการพัฒนาที่เหมาะสม และ (3) ควรจัดทำแผนงานโครงการที่มีความเชื่อมโยงในลักษณะห่วงโซ่คุณค่าให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนา ปัญหา และความต้องการของพื้นที่ 2. เห็นชอบแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด จำนวน 76 จังหวัด และ 18 กลุ่มจังหวัด สรุปได้ ดังนี้ คำของบประมาณปี พ.ศ. 2566 โครงการที่เห็นควรสนับสนุนภายในกรอบวงเงิน โครงการที่เห็นควรสนับสนุนเกินกรอบวงเงิน รวมทั้งสิ้น จำนวน (โครงการ) งบประมาณ (ล้านบาท) จำนวน (โครงการ) งบประมาณ (ล้านบาท) จำนวน (โครงการ) งบประมาณ (ล้านบาท) 76 จังหวัด 1,182 20,544.99 386 9,322.40 1,568 29,867.39 18 กลุ่มจังหวัด 227 8,739.24 59 2,215.97 286 10,955.21 รวมทั้งสิ้น 1,409 29,284.23 445 11,538.37 1,854 40,822.60 โดยโครงการและงบประมาณของกลุ่มจังหวัดสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้ รายการ โครงการที่เห็นควรสนับสนุน ในกรอบวงเงิน โครงการที่เห็นควรสนับสนุน เกินกรอบวงเงิน จำนวน (โครงการ) งบประมาณ (ล้านบาท) จำนวน (โครงการ) งบประมาณ (ล้านบาท) ส่วนที่ 1 เพื่อขับเคลื่อนแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดตามความต้องการรายพื้นที่ 148 4,503.37 59 2,215.97 ส่วนที่ 2 เพื่อขับเคลื่อนแผนพัฒนากลุ่มจัหวัด ในลักษณะ Cluster หรือตอบสนองนโยบายสำคัญของรัฐบาลเชิงพื้นที่ระดับกลุ่มจังหวัด 79 4,235.87 - - รวม 227 8,739.24 59 2,215.97 ทั้งนี้ มีโครงการที่สำคัญ เช่น โครงการป้องกันปัญหาฝุ่นควันและไฟป่ากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสร้างสรรค์ โครงการพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โครงการเพิ่มช่องทางการตลาดสินค้าเกษตรสร้างสรรค์ และโครงการยกระดับมันสำปะหลังไทยก้าวไกลสู่ตลาดโลก 3. เห็นชอบในหลักการข้อเสนอแผนงานโครงการของส่วนราชการที่สอดคล้องกับร่างกรอบแผนพัฒนาภาค พ.ศ. 2566-2570 ที่จะดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 937 โครงการ โดยมีกรอบการดำเนินงานของร่างกรอบแผนพัฒนาประกอบด้วย (1) ภาคเหนือ มุ่งเน้นให้เป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ เช่น โครงการเมืองต้นแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้วยการออกแบบใหม่เมืองสร้างสรรค์และโครงการศึกษาออกแบบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ และตราสินค้าในแหล่งท่องเที่ยวชุมชนภาคเหนือ (2) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มุ่งเน้นให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เช่น โครงการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลด้านเการเกษตรพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและโครงการพัฒนาเทคโนโลยีที่ยั่งยืนสำหรับฟาร์มปศุสัตว์ (3) ภาคกลาง มุ่งเน้นให้เป็นฐานการผลิตและบริการมูลค่าสูง เช่น โครงการพัฒนาเกษตรกรโคนมสู่ SMART Farmers และโครงการพัฒนาเครือข่ายเพื่อเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม (4) ภาคตะวันออก มุ่งเน้นให้เป็นฐานเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน เช่น โครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกมหาวิทยาลัยบูรพาและโครงการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมไม้เศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียน (5) ภาคใต้ มุ่งเน้นให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและบริการที่มีคุณภาพ แหล่งผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยและมูลค่าสูงเชื่อมโยงเศรษฐกิจภูมิภาค เช่น โครงการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการบริการข้อมูลนักท่องเที่ยวและโครงการศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน และ (6) ภาคใต้ชายแดน มุ่งเน้นให้เป็นฐานเศรษฐกิจชายแดนที่มั่นคงบนสังคมพหุวัฒนธรรม เช่น โครงการพัฒนาผู้ประกอบการอาหารฮาลาล 5 จังหวัดชายแดนใต้เพื่อการค้าระหว่างประเทศและโครงการขับเคลื่อนการศึกษาเพื่ออาชีพแห่งอนาคต ต่างประเทศ 23. เรื่อง การขอความเห็นชอบการต่อวาระการดำรงตำแหน่งของนายวันชัย รุจนวงศ์ ผู้แทนไทย ในคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิเด็ก คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการต่อวาระการดำรงตำแหน่งของนายวันชัย รุจนวงศ์ ผู้แทนไทย ในคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก [ASEAN Commission on the Promotion and Protection of the Rights of Women and Children (ACWC)]1 ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิเด็ก ต่อไปอีก 3 ปี (วาระตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2565 ถึงวันที่ 6 เมษายน 2565) รวมทั้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในฐานะรัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนาของประเทศไทย (ASEAN Minister in Charge of Social Welfare and Development of Thailand) มีหนังสือแจ้งเรื่องการต่อวาระการดำรงตำแหน่งของนายวันชัย รุจนวงศ์ ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิเด็ก ต่อไปอีก 3 ปี ไปยังสำนักเลขาธิการอาเซียน ในโอกาสแรกภายหลังจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเป็นที่เรียบร้อยแล้วตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ สาระสำคัญของเรื่อง ACWC เป็นกลไกด้านสิทธิมนุษยชนสำหรับสตรีและเด็กในอาเซียน มีสถานะเป็นองค์กรระหว่างรัฐบาลและเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรโครงสร้างอาเซียน มีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมการดำเนินการตามตราสารและข้อตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก กำหนดนโยบาย แผนงาน และยุทธศาสตร์เชิงนวัตกรรม ส่งเสริมให้สาธารณชนมีความตระหนักและรับรู้เกี่ยวกับสิทธิสตรีและเด็กในอาเซียน รวมถึงเสริมสร้างศักยภาพของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกระดับ รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือในการเตรียมรายงานผลการดำเนินงานตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ [Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination against Women (CEDAW)] อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก [Convention on the Rights of the Child (CRC)] และกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ [Universal Periodic Review (UPR)] โดย ACWC ประกอบด้วยผู้แทนประเทศละ 2 คน แบ่งเป็นผู้แทนด้านสิทธิเด็ก 1 คน และด้านสิทธิสตรี 1 คน รวมเป็น 20 คน ซึ่งจะดำเนินการภายใต้ขอบเขตและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก (TOR of ACWC) ซึ่งนายวันชัย รุจนวงศ์ ผู้แทนไทยในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิเด็ก จะหมดวาระการดำรงตำแหน่ง (วาระที่ 2) ในวันที่ 7 เมษายน 2565 ดังนั้น เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของการดำเนินงานและเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทยภายใต้กลไก ACWC กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกผู้แทนไทยใน ACWC เพื่อกำหนดคุณสมบัติและเงื่อนไขการเป็นผู้แทนไทยกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกและดำเนินการคัดเลือกผู้แทนไทย รวมทั้งพิจารณาการดำรงตำแหน่งต่อของผู้แทนไทย ในกรณีที่เห็นว่าจำเป็นและเหมาะสม ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกผู้แทนไทยใน ACWC มีมติเห็นชอบให้นายวันชัย รุจนวงศ์ ดำรงตำแหน่งต่ออีก 1 วาระ เป็นเวลา 3 ปี (วาระตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2565 ถึงวันที่ 6 เมษายน 2568) เนื่องจากเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในประเด็นการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของเด็ก มีประสบการณ์การทำงานที่หลากหลาย และมีผลงานในฐานะผู้แทนไทยด้านสิทธิเด็กใน ACWC ที่โดดเด่นและเป็นที่ประจักษ์มาอย่างต่อเนื่อง เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะรัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนาของประเทศไทยจะได้มีหนังสือแจ้งเรื่องการต่อวาระการดำรงตำแหน่งของนายวันชัย รุจนวงศ์ ไปยังสำนักเลขาธิการอาเซียน ภายหลังจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งการแต่งตั้งผู้แทนไทยในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิเด็ก นอกจากจะเป็นการปฏิบัติตามกฎบัตรอาเซียนอันเป็นธรรมนูญของประเทศสมาชิกแล้ว ยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงภาพลักษณ์อันดีของประเทศไทยในการสนับสนุนส่งเสริมการดำเนินงานตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ที่สมาชิกอาเซียนทุกประเทศได้ให้สัตยาบันเป็นภาคีจึงเป็นการช่วยเสริมสร้างบทบาทของประเทศไทยในการเป็นผู้นำการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านสิทธิเด็กทั้งในและนอกภูมิภาค ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแล้วไม่ขัดข้อง/เห็นชอบตามที่ พม. เสนอ 1ACWC ประกอบด้วยประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย บรูไน กัมพูชา ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย 24. เรื่อง ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน ครั้งที่ 8 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการต่อร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน ครั้งที่ 8 (Joint Statement of the 8th ASEAN Finance Ministers? and Central Bank Governor?s Meeting) (ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ) ทั้งนี้หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน ครั้งที่ 8 ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชย์ของประเทศไทย ให้กระทรวงการคลังดำเนินได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง รวมทั้งอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการทระทรวงการคลังหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังร่วมรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน ครั้งที่ 8 ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ สาระสำคัญของร่างแกลงการณ์ร่วมฯ ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ จัดทำขึ้นบนหลักการพื้นฐานของการเป็นประชาคมอาเซียน คือ การส่งเสริมความร่วมมือและให้ความช่วยเหลือระหว่างกันทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภูมิภาคอาเซียนและการรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียน (ASEAN Centrality) มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้ 1. ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ มีเนื้อหาแสดงถึงเจตนารมณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและ ผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียนในการร่วมกันขับเคลื่อนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียน ตลอดจนการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว โดยมุ่งให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ 3 ด้าน ของราชอาณาจักรกัมพูชาในฐานะประธานอาเซียน ปี 2565 ได้แก่ (1) การฟื้นฟู (Recovery) (2) การสร้างภูมิคุ้มกัน (Resiliency) และ (3) การเดินหน้าไปด้วยกัน (Togetherness) 2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียนได้ตระหนักถึงผลกระทบเชิงลบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและรับทราบถึงสัญญาณการฟื้นตัวจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในภูมิภาคด้วยการเติบโตในเชิงบวกของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของอาเซียนในปีนี้ และพร้อมที่จะใช้เครื่องมือนโยบายที่มีอยู่ทั้งหมดเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม ยั่งยืน และมีภูมิคุ้มกัน 3. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียนได้แสดงความชื่นชมต่อความสำเร็จและความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะทำงานรายสาขาภายใต้กรอบการประขุม AFMM และกรอบการประชุม AFMGM ในด้านต่าง ๆ ประกอบด้วย (1) ด้านการรวมตัวและการเปิดเสรีทางการเงิน (2) ด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน (3) ด้านความเชื่อมโยงด้านบริการทางการเงินและการชำระเงิน (4) ด้านการระดมทุนโครงสร้างพื้นฐาน (5) ด้านการเงินที่ยั่งยืน (6) ด้านการเข้าถึงบริการทางการเงิน (7) ด้านการระดมทุนเพื่อการบริหารจัดการภัยพิบัติ (8) ด้านการสร้างภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์ และ (9) ด้านสินทรัพย์ดิจิทัล แต่งตั้ง 25. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้ 1. นางสาวทัศนีย์ กิตอำนวยพงษ์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขาอายุรกรรม) โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขาอายุรกรรม) โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ ตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2564 2. เรืออากาศเอกหญิง บุษบัน เชื้ออินทร์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) กรมควบคุมโรค ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2564 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป 26. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเสนอแต่งตั้ง นายวิรัตน์ ธัชศฤงคารสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ (ผู้อำนวยการระดับสูง) ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการลงทุน (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้น 27. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการต่างประเทศ) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอแต่งตั้ง นางสุพรรณวษา โชติกญาณ ถัง รองอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป 28. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงสาธารณสุข) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง นายกิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป 29. เรื่อง การแต่งตั้งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชนเสนอการแต่งตั้ง นายสันติ เจริญพรพัฒนา เป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญาจ้างเป็นต้นไป 30. เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการองค์การคลังสินค้า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอแต่งตั้งรายชื่อเป็นคณะกรรมการองค์การคลังสินค้า จำนวน 7 รายชื่อ ดังนี้ 1. นายวิชัย โภชนกิจ ประธานกรรมการ 2. นายศรายุทธ ยิ้มยวน รองประธานกรรมการ 3. นายมงคล เหล่าวรพงศ์ กรรมการ 4. รองศาสตราจารย์อัศม์เดช วานิชชินชัย กรรมการ 5. นายสกล กิตติ์นิธิ กรรมการ 6. นายคมฤทธิ์ กวินอัครฐิติ กรรมการ 7. นายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์ กรรมการ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2565 เป็นต้นไป